๑. โครงการรวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖
มูลนิธิ ๑๔ ตุลา ในฐานะผู้บริหารจัดการพื้นที่และอาคาร พยายามอย่างยิ่งที่จะแสวงหาแนวทางให้อนุสรณ์สถาน
๑๔ ตุลา สามารถอำนวยประโยชน์แก่คนหมู่มาก และเป็นประโยชน์แก่การศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยภาคประชาชน
เพราะเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งต่อพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยไทยและการมีส่วนร่วมของประชาชน
อาจกล่าวได้ว่าเสรีภาพและความเป็นประชาธิปไตยตลอดจนการมีส่วนร่วมของประชาชนได้กลายมาเป็นพื้นฐานสำคัญของความก้าวหน้าด้านสุขภาวะในทุกระดับ
ดังจะเห็นได้จากหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา นับเป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดสิทธิของประชาชนทางด้านสาธารณสุขพื้นฐานไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปีพุทธศักราช
๒๕๑๗ และยังเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลประกาศนโยบายรักษาพยาบาลฟรี นอกจากนั้นยังมีการส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจกับปัญหาสุขภาพอย่างกว้างขวางอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ดังนั้นอุดมการณ์ประชาธิปไตย จึงเป็นรากฐานสำคัญยิ่งต่อการสร้างสุขภาวะทั้งในระดับปัจเจกและต่อสังคมโดยรวม
การได้สืบสานและเรียนรู้ประสบการณ์จริงของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖
จึงเป็นปัจจัยหนึ่งในการช่วยกันสร้างเสริมสุขภาวะให้แก่สังคมไทย
วิธีการดำเนินการ
๑. สำรวจเอกสาร หลักฐาน หนังสือ หนังสือพิมพ์
ภาพถ่าย โปสเตอร์ สิ่งพิมพ์อื่น ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงมาสู่เหตุการณ์
๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เท่าที่มีการเผยแพร่และเก็บรักษาไว้ให้ครอบคลุมมากที่สุด จากแหล่งข้อมูลต่าง
ๆ อาทิ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์, ศูนย์ข้อมูลของหนังสือพิมพ์
๔ แห่ง ได้แก่ ไทยรัฐ เดลินิวส์, เดอะเนชัน และบางกอกโพสต์ และเอกสารอื่นๆ
ที่บุคคลในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา เก็บรักษาไว้เช่น แผ่นปลิว, ภาพถ่ายส่วนบุคคลของผู้อยู่ร่วมเหตุการณ์
ฯลฯ
๒. จัดหมวดหมู่ตามระเบียบวิธีทางจดหมายเหตุเพื่อให้ประชาชน เยาวชน นิสิตนักศึกษา
ที่สนใจสามารถสืบค้น, ค้นคว้าได้ พร้อมกันนี้จัดทำให้อยู่ในรูปดิจิตอล เพื่อเตรียมไว้สำหรับการจัดเก็บและเผยแพร่ในระบบอินเตอร์เน็ตต่อไป
๓. กำหนดสิ่งของสำคัญที่ต้องการจัดเก็บหรือทำจำลองไว้เพื่อเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์
|
๒. โครงการรวบรวมข้อมูลจากปากคำของผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ โดยมุ่งที่คนเล็กคนน้อยเป็นหลัก
เนื่องจากเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ผ่านมาถึง ๓๓ ปี แม้จะเป็นช่วงเวลาที่สั้นมากในเชิงประวัติศาสตร์
แต่ก็ยาวนานพอสมควรที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในสังคมไทย ได้มีเวลาตั้งสติคิดทบทวน
และตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของประเทศครั้งนี้จนตกผลึกอย่างดี
และขณะนี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจำนวนมากต่างมีอายุล่วงเข้าสู่ปัจฉิมวัย ซึ่งวัยและสังขารจะต้องเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา
ถ้าไม่รีบดำเนินการรวบรวมสิ่งของและบันทึกคำบอกเล่าของผู้อยู่ในเหตุการณ์ตลอดจนผู้ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาสำคัญทางประวัติศาสตร์ไว้
หลักฐานมีค่าจำนวนไม่น้อยอาจสูญหายไป ความทรงจำต่าง ๆ ก็อาจจะลืมเลือนไป ซึ่งหากปล่อยไปก็นับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง
วิธีการดำเนินการ
๑. กำหนดบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่จะติดต่อขอสัมภาษณ์เพื่อบันทึกคำบอกเล่า
โดยรวบรวมข้อมูลจากความทรงจำ (๑๔ ตุลาจากคำบอกเล่า) การสัมภาษณ์บุคคลที่ปรากฏในรูปถ่าย
และบุคคลสำคัญที่เข้าร่วมอยู่ในเหตุการณ์ในจุดต่างๆ (โฟกัสกรุ๊ปและการสัมภาษณ์เจาะลึกเป็นรายบุคคล)
ติดต่อขอสัมภาษณ์บุคคลที่น่าสนใจอื่น ๆ นอกเหนือจากข้อ ๑ ตลอดจนแบบสัมภาษณ์เจาะเฉพาะบุคคล
รวมทั้งรณรงค์ขอรับบริจาคสิ่งของและข้อมูลทุกประเภทให้มากที่สุด
๒. รวบรวมสิ่งของจากเหตุการณ์ตามคำแนะนำของผู้อยู่ในเหตุการณ์ และที่ปรากฏในภาพถ่าย
๓. จัดทำข้อมูลปากคำทั้งหมดตามระเบียบวิธีทางจดหมายเหตุ พร้อมกันนี้จัดทำให้อยู่ในรูปดิจิตอล
ที่พร้อมสำหรับการประมวลผลให้จัดเก็บอยู่ในระบบอินเตอร์เน็ต เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่
ประชาชน นิสิตนักศึกษาที่อยู่ห่างไกล สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้เหล่านี้ได้
๔. ในกระบวนการเหล่านี้จะนำอาสาสมัครเยาวชนรุ่นใหม่ร่วมกระบวนการ เพื่อเรียนรู้และซึมซับ
เรื่องราว วิธีคิด อุดมการณ์ประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง รวมถึงจิตใจอาสาคนหนุ่มสาวในยุคนั้น
|
|