หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกได้เข้าสู่ยุคสงครามทางอุดมการณ์ระหว่างค่ายคอมมิวนิสต์ที่มีสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำ กับค่ายทุนนิยมเสรีที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ สงครามดังกล่าวถูกเรียกขานกันในนามว่า “สงครามเย็น” ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่เข้าไปพัวพันกับสงครามเย็นอย่างลึกซึ้งผ่านสงครามอินโดจีน บวกกับการเข้ามาของทหารสหรัฐฯ จำนวนมากเพื่อตั้งฐานทัพในประเทศ นับตั้งแต่เกิดการปฏิวัติสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นเมื่อปี 2492 รัฐบาลไทยก็ได้นำพาประเทศเข้าไปผูกพันกับสหรัฐฯ มากขึ้น มีการสร้างกลไกและหน่วยงานต่าง ๆ ขึ้นมามากมาย เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ รวมทั้งออกกฎหมายป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ในปี 2495 เมื่อจอมพลสฤษดิ์ขึ้นมามีอำนาจเบ็ดเสร็จหลังทำรัฐประหารยึดอำนาจของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์และระดับความสัมพันธ์กับรัฐบาลอเมริกันก็ได้พัฒนาไปอย่างลึกซึ้งในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยสฤษดิ์ได้จัดระบบในสำนักนายกรัฐมนตรีเสียใหม่เพื่อกระชับอำนาจในการวางนโยบายและควบคุมข้าราชการให้เข้ามาอยู่ในความดูแลของนายกรัฐมนตรีอย่างเต็มที่ ส่งผลให้นโยบายการต่อต้านปราบปรามคอมมิวนิสต์ถูกรับไปปฏิบัติโดยหน่วยงานต่าง ๆ อย่างมีเอกภาพมากขึ้น สถานการณ์การลุกขึ้นปลดแอกของขบวนการประชาชนในอินโดจีน ทำให้ไทยมีความสำคัญต่อการวางนโยบายของสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้นตามทฤษฎี “โดมิโน” ซึ่งจะต้องปกป้องไทยไม่ให้กลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์รายต่อไป ในฐานะพันธมิตรแนวหน้าร่วมขบวนการต่อต้านคอมมิวนิสต์ สหรัฐฯ ได้ส่งกำลังอาวุธจำนวนมากให้ไทย ช่วยฝึกทหารไทยและให้ความช่วยเหลือด้านการทหารเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สหรัฐฯ จึงผลักดันให้มีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อทำให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นบนพื้นฐานทุนเอกชน และสนับสนุนช่วยให้ผู้นำทางการทหารมีอำนาจเพื่อจะได้มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง ยิ่งผู้นำทหารแสดงการต่อต้านคอมมิวนิสต์มากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้พวกตนได้รับเงินสนับสนุนและตอบแทนมากขึ้นเท่านั้น เมื่อจอมพลสฤษดิ์ทำการปฏิวัติและประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญในปี 2501 สหรัฐฯ ก็ออกแถลงการณ์ว่า การรัฐประหารที่เกิดขึ้นจะกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ในต้นทศวรรษ 2500 เมื่อเกิดสงครามกลางเมืองในลาว รัฐบาลไทยให้ความร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งค่ายทหารฝึกชนเผ่าแม้วเพื่อรบให้ฝ่ายขวาของลาว รวมทั้งฝึกหน่วยพลร่วมและนักบิน รัฐบาลไทยยังได้สนับสนุนการขนส่งเสบียงและยุทธสัมภาระในการสู้รบ ยินยอมให้สหรัฐฯ ส่งเครื่องบินจากฐานทัพในไทยไปลาดตระเวนทางอากาศเหนือดินแดนของลาว นอกจากนี้ไทยก็ได้ส่งกองทหารเข้าไปในลาวภายใต้แผนยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ อีกด้วย ปฏิบัติการในลาวส่งผลให้ความร่วมมือทางด้านความมั่นคงระหว่างไทยกับสหรัฐฯ กระชับมากยิ่งขึ้น จนมีการออก “แถลงการณ์ร่วมถนัด-รัสก์” เมื่อเดือนมีนาคม 2505 ซึ่งผูกมัดว่า สหรัฐฯ จะช่วยเหลือไทยทันทีเมื่อถูกรุกราน ถัดจากนั้น สถานการณ์วิกฤตในเวียดนามและการเข้าไปพัวพันในสงครามเวียดนามของสหรัฐฯ ก็ยิ่งทำให้ความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐฯ เข้มข้นที่สุดในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน สหรัฐฯ ได้เข้ามาสร้างและขยายปรับปรุงฐานทัพในประเทศหลายแห่ง เพื่อสนับสนุนการขนส่ง ปฏิบัติการด้านข่าวกรองและระบบเตือนภัย เป็นฐานสำหรับเครื่องบินขับไล่สู้รบทางอากาศและเครื่องบินทิ้งระเบิด และเป็นฐานสำหรับควบคุมสงครามสู้รบทางอิเลกทรอนิกส์ เริ่มตั้งแต่ติดตั้งระบบควบคุมอากาศยานและระบบเตือนภัยที่สนามบินดอนเมือง และสร้างสนามบินที่ตาคลี นครสวรรค์ ในปี 2504 มีการพัฒนาฐานทัพที่โคราชในปี 2505 มีการปรับปรุงฐานทัพอากาศที่นครพนมในปี 2506 ฐานทัพที่อุดรธานี ซึ่งเป็นกองบัญชาการของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ถูกสร้างขึ้นในปี 2507 ฐานทัพที่อู่ตะเภาสร้างเสร็จในปี 2509 และมีการปรับปรุงสนามบินที่ อ. น้ำพอง จ. ขอนแก่น ก็ได้รับการปรับปรุง ในปี 2515 เพื่อรองรับหน่วยบินทิ้งระเบิดของสหรัฐฯ ที่ย้ายมาจากเวียดนาม นอกจากนี้ ทหารไทยจำนวนหนึ่งก็ถูกเกณฑ์เพื่อร่วมทำสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ในเวียดนามกับทหารอเมริกัน มีการสร้างและปรับปรุงท่าเรือที่สัตหีบสำหรับเรือรบ มีการติดตั้งสถานีเรดาร์หลายจุดเพื่อสืบหาและจารกรรมข้อมูลข่าวสาร โดยสถานีเรดาร์ที่ค่ายรามสูร จ. อุดรธานี มีเครื่องมือสื่อสารและการข่าวทันสมัยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกในขณะนั้น ทุกอย่างในค่ายเป็นความลับสุดยอด เจ้าหน้าที่ของไทยไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในบริเวณดังกล่าว ช่วงปี 2509 ที่กระแสสงครามเวียดนามขึ้นสูงสุด จำนวนเที่ยวบินที่ออกจากฐานทัพไทยไปทิ้งระเบิดในเวียดนามอยู่ระหว่าง 875-1,500 เที่ยวต่อสัปดาห์ ระหว่างปี 2508-11 เฉพาะเครื่องบินจากฐานทัพโคราชและตาคลี ได้ทิ้งระเบิดในเวียดนามเหนือมากถึง 75 ตัน ขณะที่จำนวนทหารสหรัฐฯ ในไทยเพิ่มสูงขึ้นถึงประมาณ 48,000 นาย ในปี 2512 ในยุคสงครามเย็น รัฐบาลเผด็จการยังได้เข้าควบคุมเสรีภาพในการรับรู้และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของประชาชนอย่างเข้มงวด การโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลร่วมกับสหรัฐฯ เพื่อสร้างความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ดำเนินไปอย่างกว้างขวาง มีการจัดหน่วยข้อมูลเคลื่อนที่ไปยังชนบทเพื่ออบรมและฉายภาพยนตร์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ มีการจัดรายการทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์เพื่อความมั่นคง มีการผลิตนิตยสาร หนังสือ และโปสเตอร์เผยแพร่เรื่องภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ไปทั่วประเทศ นอกจากนั้น รัฐบาลไทยยังปกปิดและไม่ยอมรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปฏิบัติการทางการทหารในสงครามเวียดนามที่มีมาตลอด เงินและทรัพยากรที่สหรัฐฯ สนับสนุนให้ไทยเพื่อใช้ต่อต้านคอมมิวนิสต์จำนวนมหาศาล ได้ช่วยสร้างความมั่นคงและเสริมกำลังให้กองทัพและชนชั้นนำไทยมีอิทธิพลสูงขึ้นเป็นอย่างมาก