Hollister France

Hollister France

Hollister France

Hollister France

Hollister France

Hollister

Hollister

Hollister

Hollister

Hollister

Hollister

Hollister

Woolrich Outlet

Woolrich

hogan

hogan

hogan

Hogan Sito Ufficiale Hogan Scarpe Hogan Outlet Hogan Scarpe Hogan Hogan Scarpe Hogan Interactive Hogan Donna Scarpe 2013 Hogan Scarpe Outlet Hogan Vendita Hogan Hogan Scarpe 2013 Hogan Scarpe Hogan Scarpe Hogan Hogan Outlet Hogan Scarpe Outlet Hogan Scarpe Donna Hogan Scarpe Hogan Outlet Scarpe Hogan Hogan Sito Ufficiale Scarpe Hogan2013 Hogan Hogan Scarpe Donna Hogan Scarpe Donna Hogan Interactive Hogan 2013 Hogan Online Hogan Italia Hogan Scarpe
woolrich ASK Hollister Hollister abercrombie abercrombie abercrombie abercrombie woolrich parka Hollister Holliter France Hollister Hollister France Magasin Vetement Hollister Hollister Soldes Hollister Pas Cher Pas Cher Hollister Hollister Vente Hollister En ligne Hollister 2013 Hollister France Hollister France 2013 Hollister Hollister Hollister Magasin Hollister Vente Hollister Homme Hollister Pas Cher Hollister T Shirts Hollister Paris Boutique Hollister Vetements Boutique Hollister Pas Cher Pas Cher Hollister Hollister Hommes Hollister France Vente Hollister Hollister sortie 2013 Pas Cher Hollister Hollister Pas Cher
บทสัมภาษณ์ - ชมัยภร แสงกระจ่าง

วันที่ : 8 สิงหาคม 2552
เวลา : 14.00 น.
สถานที่ : สมาคมนักเขียน กรุงเทพ
ผู้สัมภาษณ์ : (ไม่ได้บอกชื่อผู้สัมภาษณ์) : ชาย

ตามโครงการของมูลนิธิ 14 ตุลา ในการรวบรวมปากคำของคนที่อยู่ในเหตุการณ์ เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลเพื่อการศึกษาต่อไป


เริ่มสัมภาษณ์

ขอทราบภูมิหลังของอาจารย์
ชมัยภร: ดิฉันเกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ที่อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี  ถือได้ว่าเป็นคนบ้านนอก บ้านอยู่ในสวน   พ่อมีอาชีพทำสวนเงาะสวนทุเรียน  ส่วนแม่มีอาชีพเป็นครูประชาบาล  ถือว่าเป็นครอบครัวชนชั้นกลาง  พอจำความได้  ก็จำได้ว่าเป็นยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม  จำเรื่องคนแก่ถูกห้ามกินหมาก  กับเรื่องการต้องใส่เสื้อให้เรียบร้อยได้  มีผู้ใหญ่หลายคนบอกว่ากลัว  หรือแสดงอาการกลัว  บางทีเราไปซื้อของที่ร้าน ก็เห็นเจ้าของร้านรีบใส่เสื้อ  เพราะเดิมเคยถอดเสื้อหรือใส่เสื้อกล้าม  จะทำอย่างเดิมก็ไม่ได้แล้ว  การนุ่งผ้าโจงกระเบนก็นุ่งไม่ได้แล้ว อะไรทำนองนี้ 
                ภาพเหล่านี้ทำให้เด็กในวัยเราจับได้อย่างหนึ่งว่า  รัฐบาลนี่เป็นศูนย์กลางที่น่ากลัวมาก  ยายหรือแม่จะใช้คำว่า “หลวง”  หลวงสั่งอย่างโน้นสั่งอย่างนี้  และสมัยนั้นวิทยุเป็นสื่อเดียวที่มี(สำหรับบ้านนอก) ศูนย์กลางของหลวงจึงอยู่ที่วิทยุ     
                ต่อมาเมื่อโตขึ้นอีกก็พบว่า  ข่าวสารดูมีอิทธิพลมากขึ้น  บ้านนอกสมัยนั้นมีหนังกลางแปลงมาฉาย  มีบางครั้งที่มีหนังเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ให้ดู  แสดงให้เห็นถึงความร้ายกาจของพวกคอมมิวนิสต์ เรากลัวจนไม่กล้าอ่านหนังสือในบ้านของพ่อเล่มที่ชื่อ หลงทางสิบแปดปี เลย เพราะหน้าปกมันเป็นรูปคนจีบถูกถีบลงหลุมเหมือนที่ปรากฏในหนังกลางแปลง  เรียกว่ากลัวคอมมิวนิสต์จับใจมาแต่เด็ก
ดิฉันเกิดมากับหนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ และนิตยสารชาวกรุง  นิตยสารชัยพฤกษ์ และวิทยาสาร ดังนั้น  จึงรับความคิดของค่ายหนังสือพิมพ์ของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช  เต็มกำลัง  เป็นการรับเอาความคิดเชิงสุนทรีย์ ความคิดแบบเริงรมย์ มาเต็ม ๆ ซึ่งเราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเป็นการรับเอานโยบายเริงรมย์ของจอมพลสฤษดิ์เข้าไปเต็มที่  แนวความคิดทางการเมือง  หรือความคิดเชิงอุดมคติที่ถูกตัดตอน หรือถูกดองในช่วงนั้น  เด็กรุ่นดิฉันในตอนนั้นไม่มีโอกาสจะรับรู้เลย  การถูกจับกุมคุมขังปัญญาชนหรือการปิดกันเสรีภาพทางความคิด  การแบ่งค่าย  การเข้ามาของทหารอมริกัน  เหล่านี้ไม่มีใครมองเห็นเป็นปัญหา  เพราะการอยู่ไกลจากศูนย์กลางของประเทศทำให้ปัญหาของประเทศดูห่า
ไกลลางเลือนและมองไม่เห็นแม้กระทั่งว่ามีปัญหาอยู่
               
อาจารย์ได้รับทราบข่าวสารบ้านเมืองทางไหน  การเมืองเป็นอย่างไร
ชมัยภร:บ้านดิฉันก็จะเหมือนบ้านส่วนใหญ่ในสังคมไทย  คือมีพ่อเป็นศูนย์กลาง พ่อจะคอยอ่านข่าว ฟังวิทยุ  แล้วมากำหนดคนในบ้าน  คือแม่และลูกสาวสามคน บ้านเราเป็นลูกสาวหมด เพราะฉะนั้นพ่อเขาจะเอาอะไรต่างๆ มากำหนดเรา หรือบางที บางเรื่อง คนบางคนที่โด่งดังในสังคม พ่อก็จะชี้ให้เป็นตัวอย่าง
ในเรื่องการเมือง  พ่อก็จะเป็นคนบอกว่าเกิดอะไรขึ้นที่ไหน อย่างไร อะไรที่เป็นเรื่องของปัญญาชน  ของผู้รู้  พ่อก็จะเก็บมาบอกลูก ๆ จำได้ว่า สมัยนั้น   พ่อมีคนโปรดอยู่สองคน  คนหนึ่งก็คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช  เจ้าของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ชาวกรุง  กับอีกคนหนึ่งคือ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์  หรือ ส.ศิวรักษ์ ตอนนั้นอาจารย์ยังเป็นหนุ่มมากเลย   พ่อบอกว่าต่อไปในอนาคตข้างหน้า คน 2 คนนี้ต้องได้เป็นนายกรัฐมนตรี เราก็ขำไม่ได้คิดอะไรตอนนั้น ไม่นึกว่าพ่อจะมาทำนายได้ถูกตั้งหนึ่งคน แปลกนะ ทำไมพ่อถึงทันสมัยมากขนาดนั้น   อาจเป็นเพราะเขาชอบอ่านหนังสือ เขาเป็นนักกลอนด้วย  เขาจะท่องกลอนสุนทรภู่ ท่องกลอนต่างๆได้เยอะ  ดิฉันเติบโตมาในบ้านที่เป็นบ้านของนักอ่าน บ้านของคนที่พยายามที่จะเรียนรู้  การอ่านสยามรัฐ  ก็มีความคิดทางการเมืองอยู่พอสมควร ตอนนั้นเราไม่รู้หรอกว่าการเมืองเหล่านี้คัดกรองแล้ว ไม่ใช่ความคิดทางการเมืองที่เป็นอิสระเต็มที่ แต่เราก็รู้สึกว่านี่ทันสมัยสุด ณ ตอนนั้น ตอนนั้นเราก็คิดว่ามันดีที่สุดแล้ว

ผู้สัมภาษณ์ : แล้วบรรยากาศในโรงเรียนล่ะครับ
ชมัยภร : ในโรงเรียนนี่ไม่มีเลยนะ มีแต่เรื่องการอ่านอย่างเดียวเลย การอ่านก็เป็นการอ่านแบบเชิงอนุรักษ์ เพราะคุณครูก็เป็นครูภาษาไทย ๆ ก็จะแนะนำหนังสือดีๆ เลย โดยที่คุณครูภาษาไทยก็ไม่ได้พูดเรื่องการเมืองอะไรเลย ในห้องเรียนไม่มีเรื่องการเมืองเลย การเมืองที่ทันสมัยสุดก็ได้ยินมาจากพ่อ แม่เขาก็จะไม่พูดเหมือนกันเพราะว่าแม่เป็นครู เป็นครูประชาบาลสอนชั้นประถม เพราะฉะนั้นบทบาทของแม่ก็ไม่มีอยู่แล้ว

ผู้สัมภาษณ์  :  พออาจารย์เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ในชั้นมัธยมปลาย มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
ชมัยภร : พอจบ ม.ศ. 3 ดิฉันก็สอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไทได้ พอมาเรียนโรงเรียนเตรียม มันเหมือนกับเปิดโลกไปอีกโลกหนึ่ง โลกเรากว้างขึ้น เราเข้ามาอยู่ใกล้ศูนย์กลางการศึกษามากขึ้น ใกล้ศูนย์กลางทางการเมืองมากขึ้น ตอนเรียนโรงเรียนเตรียมเราจะรู้สึก สนใจว่าจุฬาจะทำอะไร มีกิจกรรมอะไรที่หอประชุม หรือ พี่เขาจะเอาหนังสือวรรณศิลป์จุฬาฯ มาขายหน้าประตูมหาวิทยาลัย   เราก็จะซื้อมาอ่าน มันก็จะมีการเสียดสีล้อเลียนการเมืองอะไรอยู่นิดๆ หน่อย ๆ  ก็สนุกดี    เด็กมัธยมแค่อยากรู้อยากเห็นมันก็ได้เยอะ ครูก็ไม่เปิดโอกาสอะไรมากเพราะว่าโรงเรียนเตรียมนี่มันแข่งกันเรื่องเรียน จะเน้นไปที่เรื่องเรียนอย่างเดียว เพราะฉะนั้นเราก็ไม่เปิดไปในด้านอื่น     อ่านหนังสือก็อ่านในห้องสมุดโรงเรียนเตรียม อ่านเยอะมาก แต่ก็เป็นการอ่านแบบนักอ่านที่สะสมการอ่าน  ยังไม่เป็นการอ่านเพื่อที่จะได้คิดอะไร

ผู้สัมภาษณ์ : อาจารย์สอบเข้าอักษรศาสตร์  จุฬาฯ ประมาณปีอะไรครับอาจารย์  เข้ามหาวิทยาลัยแล้วมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางความคิดอย่างไร
เข้าจุฬาฯปี ๒๕๑๑  และที่นี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงความคิด  จุดที่ทำให้เปลี่ยนความคิด หรือได้ความคิดใหม่มาเป็นค่ายบูรณะชนบท  ซึ่งเป็นค่ายของนักคิด  ที่มาจากหลายมหาวิทยาลัยรวมกัน ไม่ใช่ของมหาวิทยาลัยใดมหาวิทยาลัยหนึ่ง  คนที่เป็นนักคิดในค่ายนั้น อาทิ  คุณสุริชัย  หวันแก้ว  คุณประทีป นครชัย   คุณจรัล  ดิษฐาภิชัย คุณพิรุณ ฉัตรวณิชกุล  คุณชาญณรงค์ เตชะรัชต์กิจ  ฯลฯ  ดิฉันจำได้ว่า  คนเหล่านี้จะอ่านหนังสือเมืองนิมิต ร  ของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล  นวรัตน อ่าน เช เกวาร่า   อ่านจิตร ภูมิศักดิ์  อ่านศรีบูรพา อ่านเสนีย์ เสาวพงศ์   ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นหนังสือที่เราไม่เคยอ่านมาก่อน   เพราะเราเคยอ่านแต่นวนิยายของค่ายสยามรัฐฯ ชาวกรุง ซึ่งมีลักษณะเน้นบันเทิงและสะท้อนภาพชีวิตทั่วไป  แต่ที่ค่ายนี้อ่านหนังสือของคนที่มีอุดมการณ์  คนที่ทำงานเพื่อคนอื่น ค่ายนี้เป็นค่ายที่เข้าถึงประชาชนมากเลย คือนิสิตนักศึกษาหลาย ๆสถาบันไปรวมตัวกันแล้ว  ไม่ได้ไปสร้างถาวรวัตถุอย่างเดียว  หากแต่เป็นการทำค่ายความคิดด้วย  คือเมื่อสร้างแล้วในขณะสร้างต้องทำให้ชาวบ้านรับด้วย และชาวบ้านต้องเข้าใจความคิดด้วยว่าเรากำลังจะทำอะไร แล้วชาวบ้านต้องพัฒนาตนเองด้วย เป็นค่ายที่สระบุรี  ชาวบ้านเป็นพวกยวน หรือโยนก  พูดภาษาเหนือ แต่อพยพมาอยู่สระบุรี 
จำได้ว่า มีพี่ผู้ชายมาถามดิฉันว่า  คุณมีอุดมการณ์หรือเปล่า         ตอนนั้น  ดิฉันตกใจมาก เพราะไม่คิดว่าจะมีใครมาถามคำถามแบบนี้  ทำให้ต้องคิดหนักว่าทำไมเขาจึงถามแบบนั้น  เผอิญค่ายนั้นเป็นค่ายที่มีการออกค่ายต่อเนื่อง  และเน้นที่ประโยชน์ที่ชาวบ้านจะได้มากกว่าประโยชน์ที่ชาวค่ายจะได้รับ  ยังจำได้ว่า  ดิฉันเป็นคนที่เข้ากับชาวบ้านได้ดีเพราะเป็นคนบ้านนอก  พอหมดค่ายปิดเทอม  เสาร์อาทิตย์เราก็ยังนั่งรถออกไปติดตามผลที่เราทำกับชาวบ้านอยู่  เรียกว่าไปจนเป็นที่รักของชาวบ้าน 
หลังจากกลับมาแล้ว  วันธรรมดาตอนเย็นเราก็จะไปเจอกัน พูดคุยกันที่สถานที่ที่เราขอใช้เป็นที่ตั้งของค่ายบูรณะชนบทในสมัยนั้น ก็คือที่สำนักงานกลางนักเรียนคริสเตียน ที่สะพานหัวช้าง  ซึ่งก็ไม่ไกลจากจุฬาฯเท่าไหร่  ดิฉันก็ไปทุกวัน ทำให้ได้พบเจอเพื่อนต่างสถาบันเสมอ ไปทุกวัน คือมันติดไง มันเหมือนเด็ก มันตื่นเต้น เพื่อนไปคุยเราก็ไปคุยไปนั่งคุยกัน ไปสัมมนา ไปประชุมกันอยู่อย่างนั้น กินข้าว  คุยกัน ปรับทุกข์ ผูกมิตรกันอยู่ที่ตรงนั้น และค่ำๆ ค่อยกลับบ้าน (กลับหอพัก)
การได้พูดคุยกันอยู่เรื่อย ๆ ทำให้เรากลายเป็นคนอีกแบบหนึ่ง  ไม่หลงใหลในสุนทรีย์ของวรรณศิลป์อย่างเดียว  แต่คิดทำงานเพื่อสังคม เพื่อคนอื่นด้วย
ประโยคเด็ดของคนค่ายสมัยนั้นคือ การบอกว่า ที่เราเรียนมหาวิทยาลัยนี้เพราะเราเอาภาษีประชาชนมาเรียน  เราจึงต้องอุทิศตนเพื่อประชาชนด้วย
เวลามีกิจกรรมอภิปรายบนเวที  เราก็จะไปฟัง  ใครพูดอะไรต้องไปฟัง มันเป็นการพัฒนาความคิดของนักศึกษา และพอถึงเวลาปิดเทอมเราก็ไปค่าย ทำอย่างนี้ 4 ปี ดิฉันจะทำกิจกรรมอยู่ 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องชมรมวรรณศิลป์จุฬา ซึ่งทำเกี่ยวกับเรื่องการเขียนโดยเฉพาะ และก็ไปค่ายโดยเฉพาะ เพราะฉะนั้นค่ายจะให้ความคิดทางการเมือง วรรณศิลป์จุฬาให้ความสุนทรีย์   ดิฉันทำ  2 อย่าง คือเขียนหนังสือ  ส่วนใหญ่เป็นกลอน พวกค่ายก็จะบอกว่าเพ้อฝัน พอเราไปอยู่กับพวกวรรรณศิลป์ เราก็จะรู้สึกว่า   เราไม่ค่อยเหมือนพวกเขา  เพราะเราห้าวหรือมีความคิดทางการเมืองปนอยู่ เรียกว่าเป็นการผสมพันธ์ทางความคิดที่แปลกๆ สำหรับดิฉัน

 ผู้สัมภาษณ์  :  ตอน 14 ตุลา อาจารย์เรียนจบรึยังครับ
ชมัยภร : จบแล้วค่ะ 14 ตุลา 2516 นี่จบแล้ว  ทำงานแล้วด้วย และกำลังท้องลูกคนแรกอยู่  ตอนนั้นทำงานรับราชการอยู่  ในบ้านก็มีน้องสาวสองคนกำลังเรียนชั้นมัธยมปลาย  พอเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น  พวกเราก็ตระหนกตกใจกันมาก  เพราะเราไม่เคยเห็นเหตุการณ์รุนแรงอย่างนี้มาก่อน  เราไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ ไม่เคยศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่มีคนแก่ที่ผ่านเหตุการณ์รุนแรงในอดีตอยู่ในบ้าน  เหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๑๖ จึงทำให้เราช็อคกันมาก น้องสาวสองคนร้องไห้กันใหญ่ ไม่รู้จะทำอะไร  เผาพริกเผาเกลือสาปแช่งคนที่ฆ่าประชาชน ตอนที่พวกเรารู้เรื่องนั้นก็คือวันที่ ๑๕ ตุลาคมแล้ว  ตอนนักศึกษาเดินขบวนเราก็เห็นแล้วว่าเป็นเด็ก ๆทั้งนั้น  พอเกิดเหตุการณ์ประชาชนก็ใจสลายเลย
ความจริงดิฉันเคยผ่านเหตุการณ์เดินขบวนเล็ก ๆครั้งหนึ่ง  สมัยที่เรียนอยู่ปี ๒ จุฬาฯ  ตอนนั้นมีการเดินขบวนประท้วงผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่คอรัปชั่น  เดินไปที่ทำเนียบ  จำอารมณ์เดินขบวนได้ว่าเต็มไปด้วยความใสซื่อ มือเปล่า และเหตุการณ์ผ่านไปด้วยดี พวกเดินขบวนได้เข้าไปนั่งในตึกสันติไมตรีด้วย  และก็มีผู้ใหญ่ของบ้านเมืองออกมาคลี่คลาย  เราก็กลับมหาวิทยาลัย  นั่นเป็นบรรยากาศที่เหมือนเป็นการซ้อมของนิสิตนักศึกษา  แต่เป็นการซ้อมที่ผลออกมาดี 
ด้วยเหตุที่ภาพเดิมเป็นอย่างนั้น  พอเกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ที่มีคนตาย มีภาพปรากฏผ่านสื่อมากมาย ภาพคุณจิระ บุญมาก ภาพคุณก้านยาวสู้กับคนในเครื่องแบบ  ภาพคนเจ็บถูกหามวิ่ง  รวมทั้งภาพรถเมล์วิ่งชนรถถัง   ภาพนักศึกษาถูกตีตกน้ำหน้าวังสวนจิตร  อะไรเหล่านี้    มันทำให้ประชาชนตื่นตกใจ  พวกเราก็ตื่นตกใจ นึกไม่ออกมาเกิดอะไรขึ้นในบ้านเมือง  จนกระทั่งสมเด็จพระราชชนนี  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ออกโทรทัศน์  ทุกอย่างก็สงบลงไปได้เป็นอย่างดี
แต่นั่นก็เป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นชัยชนะของนักศึกษาประชาชน  ดิฉันก็พลอยอิ่มเอมไปด้วย  ทุกคนอิ่มเอมไปหมดกับชัยชนะ  จึงไม่รู้ว่ามีผู้แพ้ มีผู้สูญเสียรอจะแก้แค้นอยู่  เขาก็ไม่รู้ตัวเหมือนกัน 

ผู้สัมภาษณ์  หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาแล้วเป็นอย่างไรครับ
ชมัยภร:ตอนนี้แหละที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยอย่างเห็นได้ชัด  แม้แต่ตัวเราเอง  ดิฉันเองก็ค้นพบความเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่าง  แรกทีเดียวเรื่องของภายใน  เรามีความอิ่มเอมเปรมใจ และมองเห็นประเด็นทางสังคมชัดเจนขึ้น  รู้สึกฮึกเหิมในการอุทิศตนเพื่อคนอื่นและสังคมมากขึ้น  แม้แต่การอ่านก็เปลี่ยนไป  ดิฉันจำได้ว่า บทกวีที่อ่านแล้วตื่นเต้น ประหลาดใจ และพลิกโลกใหม่ออกมาให้มองก็คือ บท เปิบข้าว  ของจิตร ภูมิศักดิ์
เปิบข้าวทุกคราวคำ                              จงสูจำเป็นอาจินต์
เหงื่อกูที่สูกิน                                      จึงก่อเกิดมาเป็นคน
ข้าวนี้นะมีรส                                       ให้ชนชิมทุกชั้นชน
เบื้องหลังสิทุกข์ทน                               และขมขื่นจนเขียวคาว
ตกใจมากเพราะเรากินข้าวทุกวัน  เป็นของปกติในชีวิต  อยู่ ๆวันหนึ่ง  กวีบอกว่า  ข้าวที่เธอกินน่ะ ไม่ใช่ข้าวนะ  แต่เป็นเหงื่อของผู้ทุกข์ทน  ของชาวนา  แรก ๆ เราก็เอาแต่ครุ่นคิดว่า  ก็เราเอาเงินไปซื้อมาแล้วนี่นา  แลกกันแล้วนี่นา  แต่ก็ยังสงสัยต่อไปอีกว่า  กวีเขาไม่ได้คิดแค่นี้แน่นอน  มันก็เกิดการทำความเข้าใจขึ้นเรื่อย ๆ  ซึมซับขึ้นเรื่อย ๆ เออ ชีวิตมันไม่ใช่แค่เอาเงินมาแลกไปแค่นั้น ถ้าชาวนาเขาไม่เอาเงิน เขาไม่ปลูกข้าว  แล้วเราจะกินอะไร  ภาพในจินตนาการก็กระจ่างชัดขึ้นเรื่อย ๆ จากชิ้นหนึ่งไปสู่อีกชิ้นหนึ่ง  ไปสู่อีกชิ้นหนึ่ง  จากบทกวีไปเรื่องสั้น  จากเรื่องสั้นไปนวนิยาย  เราก็อ่านด้วยสายตาของนักอ่านคนใหม่  มันไม่ใช่สุนทรียศาสตร์แบบที่เคยเรียนในโรงเรียนกับในมหาวิทยาลัยแล้วนี่นา  ยิ่งอ่านก็ยิ่งพบ  ยิ่งขุดก็ยิ่งเจอ
ตอนนั้นบ้านเมืองมีความเปลี่ยนแปลงมาก สมัยก่อนเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา  เราจะรู้ว่ามีหนังสือต้องห้าม  ห้ามพิมพ์ ห้ามอ่าน  แต่ไม่รู้ว่าเล่มไหนบ้าง  และเรื่องเมืองจีนก็ลึกลับ  ไม่ค่อยรู้ข่าวสาร เหมือนว่าเป็นเมืองคอมมิวนิสต์ ห้ามแตะห้ามต้อง  แต่พอหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาฯ ปรากฏว่า  มีการจัดพิมพ์หนังสือต้องห้ามนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง  มีการอภิปราย  มีการจัดกิจกรรมแสดงความคิดเห็นใหม่ ๆ รวมทั้งความคิดเห็นทางการเมืองตลอดเวลา  มีเพลง มีเรื่องแต่ง  ทุกอย่างล้วนเต็มไปด้วยอิสระเสรี      
จำได้ว่าครั้งหนึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดงาน  มีรูปประธานเหมา เจ๋อ ตง ใหญ่เบ้อเร่อ  เราตกใจมาก เพราะนี่เป็นสิ่งต้องห้ามอย่างที่สุดก่อนหน้านั้น  นักศึกษาประชาชนหัวก้าวหน้าก็เริงร่ากันใหญ่  สามีดิฉันทำงานโฆษณาก็ลาออกจากงานโฆษณาเลยเพราะเห็นว่า งานโฆษณามันมอมเมาประชาชน  ออกมาเป็นนักแปล  รายได้ต่างกันราวฟ้ากับดิน แล้วตอนนั้นลูกยังเล็ก พ่อก็อุ้มเข้าไปฟังอภิปราย ฟังดนตรี ทุกวัน     
ชมรมต่าง ๆในมหาวิทยาลัยตื่นตัว ก้าวหน้า กันหมด  มีความคิดใหม่ ๆกันหมด  ฮึกเหิมกันทั่วหน้า  ต่อมาดิฉันก็ไปช่วยน้อง ๆที่ชมรมวรรณศิลป์จุฬาฯ ทำนิทรรศการชื่อ วรรณกรรมแนวประชาชน วิเคราะห์ว่านักเขียนคนใหม่สร้างสรรค์งานที่เป็นงานแนวประชาชน  ตอนนั้น ใช้นามปากกาวิเคราะห์ชื่อว่า นศินี วิทูธีรศานต์  จัดนิทรรศการปี ๒๕๑๘  ต่อมามีสำนักพิมพ์ขอไปรวมเล่มตอนปี ๒๕๑๙ ชื่อ “วิเคราะห์วรรณกรรมแนวประชาชน”  หนังสือออกมาได้ไม่กี่เดือนก็เกิดเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙

ผู้สัมภาษณ์  :  มองว่าในแวดวงวรรณกรรมมีการเปลี่ยนแปลงมากไหมครับ
ชมัยภร : ก็อย่างที่บอกแหละค่ะ ช่วงนั้นก็ถือเป็นช่วงเปลี่ยนแปลงเลยทีเดียว  เหตุการณ์ 14 ตุลา ๒๕๑๖ ได้ ทำให้เกิดคำว่า “วรรณกรรมเพื่อชีวิต”  เป็นการย้อนกลับมาอีกครั้งจากสมัยปี ๒๔๙๒ พอเกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาขึ้น  ทุกอย่างก็ย้อนกลับมาเร็วมาก เหมือนลูกโป่งที่แฟบอยู่ถูกเป่าจนพองกลม  เป่ากันเร็ว ๆ เป่ากันทุกคน  เร็วเกินไป  ไม่มีเวลาแม้แต่จะหยุดมองว่าผิวลูกโป่งบางใสจนจะแตกปริแล้ว  หากเราเป่าช้ากันกว่านี้อีกนิดหนึ่ง  ดิฉันคิดว่า ลูกโป่งก็จะประดับอยู่ในสังคมไทยอย่างงดงาม  เป็นยุคสมัยแห่งเสรีภาพทางความคิดที่งดงาม  แต่นี่กลายเป็นยุคสมัยแห่งเสรีภาพที่พองโป่งจนกระทั่ง  มีคนเอาเข็มไปจิ้มโป๊ะเดียวแตกเลยค่ะ

ผู้สัมภาษณ์  :  ผมถามเกี่ยวกับมุมมองต่อ 14 ตุลานิดหนึ่ง  ก่อนกับหลัง 14 ตุลา มีความต่างกันอย่างไรต่อ สังคม ชาวบ้าน ประชาชน
ชมัยภร : ต่างมาก  ความจริงสังคมก่อน ๑๔ ตุลา ๑๖ ในสายตาของชาวบ้าน  ทุกอย่างดูปกติ  ไม่มีอะไรในสังคม ไม่มีความเคลื่อนไหวใด ๆ แต่ความจริงแล้วนิสิตนักศึกษาปัญญาชนถูกจำกัดไว้ในกรอบหนึ่งมาโดยตลอด  ไม่ได้ถูกจำกัดเมื่อโต  แต่เป็นการถูกกำหนดมาแต่เยาว์วัย  โดยระบบการศึกษา  โดยระบบความคิดในสังคม โดยกระบวนการของสิ่งที่มีอยู่ในสังคม มีฐานมาตั้งแต่รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์มีการประกาศใช้คำขวัญ “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” ลองคิดดูซิ  เราจะไม่ว่ายวนอยู่ในเรื่องของเงินได้อย่างไร  เด็ก ๆ รุ่นดิฉันมีอเมริกันเป็นขวัญใจ เป็นฮีโร่ เราดูแต่หนังอเมริกัน อ่านแต่หนังสือที่ยกย่องเทิดทูนอเมริกัน ดูข่าวหรือหนังสงครามโลกไม่สงสารญี่ปุ่น กลัวจีน  เกลียดจีนเพราะกลัวคอมมิวนิสต์ ไม่รู้เรื่องสงครามเวียดนาม  ไม่รู้แม้กระทั่งว่าเรามีทหารไทยไปรบเวียดนาม หรือถึงรู้ก็คงไม่สะดุ้งสะเทือนอะไรนัก  ไม่เคยมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและระหว่างประเทศในฐานะมนุษย์กระทำต่อมนุษย์เลย  จนกระทั่งหลัง ๑๔ ตุลา ๑๖  เราก็ถูกปลุกให้ตื่นให้เห็นความจริงหลายอย่าง  เห็นภาพประเทศต่าง ๆจากอีกมุมหนึ่ง  เห็นประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น  สหรัฐอเมริกา  เริ่มมีมุมใหม่ ๆให้เห็น และก็เป็นไปได้ด้วยว่า นี่ก็เป็นการสวิงกลับ บางมุมก็เกิดจากอคติสุดขั้ว จากที่เคยถูกบังับให้มองในมุมอคติอีกด้านหนึ่งมาก่อนเหมือนกัน  แต่ก็นับว่าเป็นการขยายโลกของเราออกไป 
หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖  เราไม่มีเวลาจะหยุดคิด พิจารณาหรือไตร่ตรองสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมเลย  มีความเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาปัญญาชนแบบรุดหน้า  เราก็เข้าไปอยู่ในกระบวนการนั้นด้วย  ในขณะที่การเคลื่อนไหวแบบรุดหน้านั้นก็อาจจะกลายเป็นเครื่องมือใครบางกลุ่ม  หรือถูกใช้โดยไม่รู้ตัว  ก็อาจเป็นไปได้  ทุกคนมีแต่ความบริสุทธิ์ใจ  แต่ในขณะเดียวกันก็ไปกดดันคนอีกกลุ่มหนึ่งในสังคมให้อึดอัด  และสงสัย  คลางแคลงใจ  และแทนที่คนสองกลุ่มในสังคมนี้จะหันมาพูดจากันดี ๆ แทนที่คนที่เป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมืองจะมองเห็นปัญหาในอนาคต  ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองก็กลับหันมาคิดแผนที่จะควบคุมนิสิตนักศึกษา  ข่าวออกมาภายหลังถึงขนาดว่ายอมสูญเสีย  ก็คือยอมให้มีการตายเกิดขึ้นคิดเป็นเปอร์เซ็นต์  อะไรทำนองนี้  ซึ่งนับเป็นการแก้ปัญหาที่เลวร้ายมาก แบบที่เหมือนลูกตุ้มเหวี่ยงกลับไปอีกด้านหนึ่งเหมือนเดิม  ตกลงเราก็เอาแต่เหวี่ยงไปเหวี่ยงมา  เวลาเราไปอยู่บนลูกตุ้มด้านใด เราก็เอาแต่โกรธกัน  โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เรากำลังอยู่บนปลายของลูกตุ้มที่เหวี่ยงมาจนสุดกู่ เวลาผ่านไปนาน ๆ แล้วย้อนกลับมามองแล้ว เราจะรู้สึกหดหู่มาก  และเชื่อว่า ถ้าเราไม่นำเอากรณีลูกตุ้มเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาเป็นบทเรียนแก่ตัวเองและสังคมแล้ว เราก็จะเจอลูกตุ้มเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาไม่มีที่สิ้นสุด

ผู้สัมภาษณ์  :  แล้วหนังสือเล่มนั้นที่ชื่อ วิเคราะห์วรรณกรรมแนวประชาชนของอาจารย์เป็นยังไงครับถูกเก็บหรือถูกอะไรยังไง
ชมัยภร : ก็ถูกประกาศเป็นหนังสือต้องห้ามสิ  เพราะมีคำว่าประชาชน วิเคราะห์วรรณกรรมแนวประชาชน ก็ต้องห้ามอยู่แล้ว  เพราะมีคำว่าประชาชนไม่ได้ ปกก็สีแดงลายเหลือง  ตอนนั้นบ้านเมืองสับสน ต่างฝ่ายต่างถูกยั่วยุจนเป็นศัตรูกันไปหมด  คนในเครื่องแบบก็เข้าใจแบบเหมาเอาทั้งหมดเลยว่า นิสิตนักศึกษาปัญญาชนเป็นคอมมิวนิสต์  จึงกระทำต่อนิสิตนักศึกษาปัญญาชนอย่างรุนแรง  เหตุการณ์หลังวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ซึ่งนิสิตนักศึกษาปัญญาชนเต็มไปด้วยความเฟื่องฟู  มีความคิดใหม่  ๆเข้ามา  มีการคิดว่าจะทำให้บ้านเมืองดีขึ้นได้ด้วยมือของพวกเขา  ด้วยการโค่นล้มอำนาจเผด็จการ  ต่างฝ่ายต่างไม่ได้มองความเป็นจริงของสังคม ไม่ได้มองความเป็นมนุษย์  ต่างฝ่ายต่างกระทำต่อกันอย่างรุนแรง เรียกว่าเป็นเหตุการณ์พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินนั่นแหละ

ผู้สัมภาษณ์  :  เหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ มีผลอย่างไรบ้าง
ชมัยภร : ตอนนั้นน่ากลัวมาก  มีการกระทำอันรุนแรง การจับกุมคุมขังทั่วไปหมดเลยค่ะ  ชีวิตเราหดหู่จนบอกไม่ถูก  ตอนนั้นดิฉันมีลูกสาวอายุได้ประมาณสองขวบ  เราสองคน ดิฉันกับสามี รู้สึกเหมือนแทบทนไม่ได้  มีข่าวสารตลอดเวลา เดี๋ยวจับคนโน้น เดี๋ยวจับคนนี้  เราเองก็ไม่รู้ว่าจะมาถึงเมื่อไหร่  พบกันก็ไม่ได้  คุยกันก็ไม่ได้ ใครเป็นตายร้ายดีบ้างก็ไม่รู้  คุยกันทางโทรศัพท์ก็ไม่ได้ เพราะกลัวถูกดักฟัง มือถือสมัยนั้นก็ไม่มี  ออกไปเจอันเกินห้าคนก็ถูกจับอีก  คำสั่งที่รัฐบาลประกาศออกมาแต่ละครั้งล้วนสร้างความสลดหดหู่ให้แก่สังคมไทย  ซ้ำร้ายน้องสาวเราทั้งสองคนก็ถูกจับกุมคุมขัง  น้องสาวดิฉันคนหนึ่ง  น้องสาวของสามีคนหนึ่ง  ต้องไปประกันตัวออกมา  เห็นสภาพแล้วยิ่งเศร้า  มีเด็ก ๆถูกจับกุมคุมขังเป็นจำนวนมาก  สายตาของพวกเขาเต็มไปด้วยความแค้น  สายตาเหล่านั้นบอกเราว่านี่คือความไม่สงบ  ในขณะที่สายตาและท่าทีของคนอยู่ในเครื่องแบบก็คือผู้ชนะ  มันมีคนพ่ายแพ้  มันมีคนชนะ มันมีความแค้น  มันมีความขัดแย้ง  มันกระจายไปทั่วสังคม  ปัญญาชนทยอยกันเข้าป่า  น้องสาวของดิฉันก็ขอเข้าป่าไป  แม่ก็ยิ่งโศกเศร้า  สังคมเต็มไปด้วยความเศร้า  ไม่ใช่แม่เราคนเดียว  แม่ของเพื่อนน้อง ๆ ก็ดั้นด้นมารู้จักกัน  พร่ำรำพันในเรื่องเดียวกัน  และตอนนั้นมันก็ไม่รู้ด้วยว่าเหตุการณ์มันจะยืดยาวไปแค่ไหน  พวกเราทุกคนล้วนถูกข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคง  เรารู้สึกมืดมนมากต่อสิ่งที่คณะปฏิวัติประกาศ มันดูเหมือนโลกมืด เหมือนเราถอยหลังเข้าคลอง สารพัด มีคนตาย หลังจากนั้นมีความคลี่คลายเกิดขึ้นนิดหน่อย  มีการตั้งรัฐบาลใหม่  แต่เรามองไปก็ไม่เห็นใครอยู่แล้ว  รู้สึกเหมือนสังคมว่างเปล่า  ดิฉันทำงานด้านวรรณกรรมรู้สึกว่ามันว่างไปหมด กับสามีก็เลยตัดสินใจชักชวนน้องวรรณศิลป์จุฬาฯซึ่งเป็นคนรักวรรณกรรมด้วยกันมาจัดตั้งเป็นกลุ่มวรรณกรรมพินิจ  ประมาณปี ๒๕๒๑  และสำรวจเรื่องสั้นและบทกวีที่มีอยู่ตามหน้านิตยสารต่าง ๆ เพื่อสร้างความเคลื่อนไหวในสังคม
และเราก็สร้างความเคลื่อนไหวได้สำเร็จ  ดิฉันตั้งนามปากกาว่า “ไพลิน  รุ้งรัตน์”  เพราะตอนนั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะใช้ชื่อจริงในการสร้างสรรค์งาน  เพื่อนสามีที่เป็นบรรณาธิการสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ก็ชวนไปคุมคอลัมน์  เราก็เลยได้คอลัมน์ “วรรณกรรมพินิจ” และ “วิจารณ์หนังสือ”  สามารถสร้างความเคลื่อนไหวในสังคมได้อย่างที่เราต้องการ  โดยแรก ๆคนในกลุ่มวรรณกรรมพินิจต้องช่วยกันเขียน  และได้ทำคอลัมน์นี้ยาวนานมาจนกระทั่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ถึงแก่อนิจกรรม ถึงได้เลิกรากันไป

ผู้สัมภาษณ์  :  จากมุมมองของอาจารย์  เกี่ยวกับคนเดือนตุลา เกี่ยวกับนักเขียนด้วยแล้วกัน ก็คือว่า เหมือนเมื่อก่อนนักเขียนฝ่ายซ้าย นักเขียนเพื่อชีวิต ถือว่าเป็นก้อนเดียวกันเหมือนเป็นกลุ่มเดียวกัน แต่ปัจจุบันนี้ก็คือพอเกิดเหตุการณ์เหลืองแดง ก็มี 2 ส่วน อาจารย์มองปรากฏการณ์นี้ยังไงที่มีนักเขียน 2 ส่วน มีคนเดือนตุลา 2 กลุ่ม
ชมัยภร : ก็คงเป็นเหตุการณ์ปกติ  คิดว่าอาจเป็นเพราะมุมมองที่แตกต่างกัน  แต่ก็วิเคราะห์ไม่ได้ชัดเจนว่าเพราะอะไร  และเหตุการณ์ก็กำลังอยู่ในช่วงที่ยังเคลื่อนไหวอยู่  กำลังเป็นอยู่  เลยไม่รู้ว่าถ้าผ่านไปสัก 10 ปีให้หลัง  เราจะสรุปเหตุผลให้สิ่งที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร  เราจะเห็นไหมว่า เกิดอะไรขึ้น คนในสังคมไทยซึ่งมาจากเหง้าความคิดเดียวกัน  มาจากการต่อสู้ด้วยกัน กินน้ำขันเดียวกัน  กินข้าวหม้อเดียวกัน ทำไมจึงคิดได้แตกต่างกันชัดเจนขนาดนี้

ผู้สัมภาษณ์-เราควรจะทำอะไร
ขณะนี้ที่เราอยู่  เราทำได้ก็แต่พยายามทำให้ความคิดที่ต่างกันมารวมกันให้ได้   เราต้องไม่พยายามจิ้ม ไช จี้ หรือว่าแคะ แกะเกา  หรือว่าทำอะไร ๆให้ภาพที่แตกแยก  แตกแยกขึ้นไปอีก   ไม่พยายามบอกว่าคนนี้เป็นแดง คนนั้นเป็นเหลือง   ต้องไม่พยายามใช้คำที่เขาฟังแล้วสะเทือนใจ พยายามไม่พูดอะไรที่เป็นการตัดเขาออกไป ไม่พยายามทำอะไรที่เป็นการดึงใครคนใดคนหนึ่งมาเป็นพวก แต่เราจะทำให้ทุกอย่างเป็นปกติเหมือนเดิม วันหนึ่งเมื่อความแตกแยกในสังคมเลื่อนผ่านไปแล้ว ความรักอันเดิม ความผูกพันอันเดิมมันจะยังคงอยู่  มันก็จะหันกลับมามองหน้ากันได้  หากเราไปพยายามกระตุก หรือกระตุ้น หรือปลุกเร้ามันตอนนี้  มันก็จะแตกกันออกมาๆจริง ๆ  แล้วเราจะหันไปมองหน้ากันตอนไหน   สบตากันตอนไหน  เพราะพอถึงตอนนั้น  อันเป็นเวลาที่เราจะกลับมาดีกันปรากฏว่าแผลมันใหญ่เกินไป เลือดไหลออกมากไปแล้ว  จะกลับมาดีกันไม่ได้แล้ว   ทุกวันนี้ที่ดิฉันทำอยู่ก็คือ  พอเจอคนที่คิดไม่ตรงกัน พี่จะพยายามทำให้มันเป็นเรื่องปกติ พูดกันก็ได้ ไม่พูดกันก็ได้ คืออย่าไปกันถึงขนาดว่าไม่ให้พูดเลย มันเป็นไปไม่ได้ ให้พูดเป็นปกติ ล้อบ้าง อะไรบ้างก็ได้ แต่อย่าให้กระเทือนใจ อย่าให้ถึงขนาดว่าฉันจะไม่มางานนี้อีกเลย ต้องระวังอย่าทำให้แผลมันใหญ่ขึ้น มีเท่าไหร่ทำเท่านั้น รักษาได้รักษาเลย

ผู้สัมภาษณ์  :  อาจารย์ก็มีมุมมอง บทเรียนจากการเคลื่อนไหวเยอะมากเลยนะครับ มีคำถามหนึ่งที่อยากจะถามก็คือว่าความหวังต่อสังคม ต่อประเทศไทย ต่ออะไรประมาณนี้ ซึ่งดูเหมือนอาจารย์ก็คิดว่าอนาคตมันยังไงก็ต้องกลับมาคุยกันอยู่แล้ว
คุณชมัยภร : อนาคตมันต้องผ่านไป มันต้องคลี่คลาย ดิฉันเชื่อในความเปลี่ยนแปลงของสังคม เชื่อว่ามันต้องผ่านไปได้  ถึงบอกว่าถ้าเราเชื่อว่ามันจะผ่านไปได้ เราต้องไม่ทำแผลให้มันใหญ่เกินไป ทำทุกอย่างให้เป็นปกติ  ดิฉันไม่เคยคิดว่าใครเป็นซ้ายสุดหรือเป็นขวาสุด   ไม่เคยคิดเลยเพราะว่าเห็นมากับตา เลยว่าขวาสุดก็กลายเป็นซ้ายสุด และซ้ายสุดก็กลายเป็นขวาสุด  ได้ยินมากับหูเลยว่า คุณหมอ ซึ่งในอดีตตอนยุค 14 ตุลานั้น  เป็นหมอขวาสุด บัดนี้คุณหมอขวาสุดกลุ่มนี้เป็นคุณหมอกลุ่มเดียวที่ออกไปชนบท ในขณะที่คุณหมอซ้ายสุดในสมัยก่อน ซึ่งคือคุณหมอผู้เสียสละสุดขีด บัดนี้ได้มาเสพสุข กลายเป็นคุณหมอที่ไม่เสียสละ นี่คือวัฏจักรปกติมากเลย   อาจพูดได้ว่า ทุกอย่างอยู่ที่จิต  อยู่ที่ข้างใน ถ้าจิตข้างในไม่ถูกขัดโดยอะไร  เป็นจิตแท้ๆ ถ้าจิตแท้เดิมมีความเมตตา มีความเข้าใจสังคมอยู่ มีความพร้อมจะเสียสละอยู่ ต่อให้คุณเป็นซ้ายหรือเป็นขวาคุณก็เสียสละ ต้องกลับมาที่จุดนี้ หลังจากที่พายุอะไรมันผ่านไป พายุการเมืองมันพัดไปพัดมา แล้วคุณก็ยืนอยู่ที่เดิม 
ดิฉันประทับใจ  ประโยคของกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา ตอนนั้นท่านเขียนไว้ในบทนำ หนังสือพิมพ์ประชามิตรสุภาพบุรุษ ฉบับแรก วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๗  ท่านบอกว่า  
“ในเวลาสงบ ท้องฟ้าโปร่งสว่างจ้าด้วยแสงตะวัน ใครๆ ก็แลเห็นว่าเรายืนอยู่ที่ไหนเวลาพายุกล้าฟ้าคะนอง ผงคลีฟุ้งตลบไปในอากาศ ไม่เห็นตัวกัน  ต่อพายุสงบฟ้าสว่าง ใครๆ ก็จะเห็นอีกครั้งหนึ่งว่าเรายืนอยู่ที่เดิมและจะอยู่ที่นั่น”
          ท่านพูดเอาไว้ตั้งแต่ ๖๐ กว่าปีมาแล้ว  ยังสามารถใช้ได้กับสถานการณ์ปัจจุบัน  คือถ้าเรายืนอยู่ที่เดิม พอฝุ่น ควันนั้นจางไป  เราก็จะพบว่าเรายังยืนอยู่ที่เดิม แต่ส่วนใหญ่เรามักเผลอไปวิ่งตามฝุ่น วิ่งไปวิ่งมาเลยไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ตรงไหน แต่ถ้าเรายังมั่นใจในจุดยืนของเราอยู่ ยังยืนยันมั่นคงอยู่ที่เดิม ฝุ่นมันจะตลบแค่ไหนจงอยู่ที่เดิม พอฝุ่นจางเราก็รักและภูมิใจในตัวเองได้ว่าเรายังอยู่ที่เดิม
ดิฉันชอบมาก เพราะว่าบางทีมันเครียด ๆ   โทรไปคุยกับสามี ตอนนี้สามีอยู่ต่างจังหวัด บอกว่าปวดหัวจังเลย ไม่รู้มันมีอะไรกันนักหนา สามีก็จะบอกว่าลืมแล้วหรือว่าศรีบูรพาพูดว่าอะไร เราก็จะบอก  ใช่ๆ อยู่ที่เดิม  และดิฉันก็ยังเชื่อมั่นประโยคนี้มากเลย ทุกวันนี้ก็อาศัยคำกล่าวนี้ของศรีบูรพา เยียวยาจิตใจอยู่เสมอ         

ผู้สัมภาษณ์  :  โอเคครับ ผมขอจบที่ศรีบูรพาตรงนี้แล้วกัน



จบการสัมภาษณ์
ปฤณ เทพนรินทร์ <printep@gmail.com>