บทสัมภาษณ์ - กัลยา ใหญ่ประสาน
วันที่ 5 กรกฎาคม 2552 เวลา 10:00 น.
สถานที่ ร้านโขงสาละวิน จังหวัดลำพูน
ผู้สัมภาษณ์ : นภาวัลย์ สิทธิศักดิ์
ตามโครงการของมูลนิธิ 14 ตุลา ในการรวบรวมปากคำของคนที่อยู่ในเหตุการณ์ เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลเพื่อการศึกษาต่อไป
ผู้สัมภาษณ์ : เริ่มต้นที่ประวัติส่วนตัวเบื้องต้นของพี่ก่อนเลยนะคะ
คุณกัลยา : พี่เป็นคนลำพูน ปู่กับย่าเป็นคนลำพูน บ้านเดิมอยู่ติดถนนใหญ่ อยู่ข้างวัดสวนดอก ตอนที่เป็นเด็กๆก็จะอยู่ที่บ้านข้างนอก อยู่กับปู่กับย่า พ่อเป็นครูใหญ่ แม่ทำกิจการปั๊มน้ำมัน อยู่ติดกับบ้าน ตอนที่เป็นเด็กนี่จะไม่เหมือนเด็กๆทั่วไปรู้เลยว่า เราคิดอะไรไม่เหมือนเพื่อน ก็คือเคยมีครั้งหนึ่ง มีคนที่เขารู้จักกับแม่ แล้วมาพักที่บ้าน เขาชวนไปเที่ยวในเมือง หน้าตลาด ไปซื้อขนมกลับมา ทุกคนเวลาซื้อขนมกลับมาบ้าน เขาจะชอบใจนะได้กินขนม แต่เรากลับมารู้สึกอยากร้องไห้ ก็คือเราไปเห็นคนแก่คนหนึ่งไปนั่งขายของ และสมัยนั้นเขาจะใช้ตะเกียงนะ อยู่ที่ใกล้ๆกับโรงหนัง เราเห็นคนแก่ไปนั่งขายของแล้วความรู้สึกมันไม่เหมือนคนอื่น รู้สึกว่าทำไมชีวิตของเขาต้องมาทำงานลำบากแบบนี้ ลูกเต้าก็ไม่รู้ไปไหน คนแก่ก็น่าจะได้หยุดพัก ให้คนหนุ่มสาวหรือลูกๆหลานๆเขามาทำมาหากินอะไรอย่างนี้ แล้วตอนที่อยู่กับปู่ย่าเหมือนกัน เวลาไปวัดนี่ก็จะเห็นภาพที่เขาวาดแล้วให้คติเตือนใจเรา มันโดนใจมากเลยนะ คือเรารู้สึกว่าทุกวันนี้ถ้าเราไม่ทำความดีนี่ ชีวิตของเราต่อไปเวลาเราตายไปเราก็จะไปเจอกับนรก เจอกับความทุกข์ทรมาน แต่ถ้าเราทำความดี เราตายไปเราก็จะได้เกิดบนสวรรค์อะไรอย่างนี้ สิ่งที่สำคัญก็คือว่าเวลาเราอยู่กับคนแก่ ย่าพี่ เขาจะเล่าเรื่องเหตุการณ์ในอดีต แล้วเขามาเล่าเรื่องเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 เราตอนนั้น เด็กๆ อยู่เราก็กลัวสงครามมาก เราก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมคนเราต้องมารบราฆ่าฟันกัน แล้วถ้าเราเป็นเหยื่อของสงครามคือถูกระเบิด ถูกฆ่านี่ ชีวิตเราเกิดมาเพื่ออะไรล่ะ เราคิดถึงความตายตั้งแต่เด็กๆ เพราะฉะนั้นในช่วงที่เป็นเด็กก็จะไม่ค่อยสนุกสนานบันเทิงเหมือนเด็กทั่วไป อาจจะมีอยู่บ้าง เช่น ว่าชอบตกปลา ชอบเดินมาทุ่งนา ชอบศึกษาชีวิตชาวบ้าน แล้วสมัยก่อนนี่ยังมีชีวิตที่มีการแลกเปลี่ยนแรงงานนะ เวลาเขาทำงาน ถึงเวลาพักเที่ยงเขาก็จะมานั่งแลกเปลี่ยนกินข้าวล้อมวงกันมีของกินอะไรอร่อยๆมาสู่กันและก็ในลำเหมือง ในที่นานี่ก็จะมีปลา พี่ชอบมาตกปลา แต่ไม่ได้เอาไปกินนะ ตกปลาแล้วก็ยกให้เจ้าของยอที่เขาให้เรามาตกปลา เรารู้สึกว่าเราอยู่กับธรรมชาติแล้วเรามีความสุขมาก ชีวิตในวัยเด็กนี่ เวลาเข้าโรงเรียนจะคิดว่าจะทำอย่างไรให้ดีที่สุด ให้ดีที่สุดต่อครอบครัวและก็ให้ดีที่สุดต่อโรงเรียน เวลาครูบาอาจารย์อยากให้เราเป็นนักแสดง เป็นนักกิจกรรมอะไรต่างๆ เราก็จะอาสาสมัครเป็นกองหน้าอยู่ตลอด ชอบเล่นกีฬา ชอบฟ้อนรำ แสดงละคร ไปตอบปัญหา เป็นตัวแทนของโรงเรียนอะไรแบบนี้จะชอบทำมาก คือไม่ใช่ว่าตัวเองอยากได้หน้าดีเด่นนะ แต่มีความรู้สึกว่าอยากให้พ่อแม่ดีใจ อยากให้ครูนี่มีความรู้สึกดีที่ได้สอนคนเป็นคนดี ชีวิตตรงนี้ทำให้เราได้ก้าวเข้ามามีส่วนร่วมในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สิบสี่ตุลา เพราะว่าพอจบโรงเรียนประถมไปเข้าโรงเรียนมัธยมเป็นโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดเราได้รับคัดเลือกให้เป็นหัวหน้าห้อง แล้วก็พอเราเล่นกีฬาให้เขาด้วย ทำอะไรหลายๆอย่าง เป็นตัวแทนโรงเรียน ไปตอบปัญหาหรือว่าเป็นอาสาสมัครออกไป เป็นเนตรนารีบ้าง เอาข้าวของไปให้หมู่บ้านที่ยากจนอะไรอย่างนี้ ไปกับโรงเรียนนะ เราเป็นหัวหน้าห้อง เราก็ทำบอร์ดข่าว สิบสี่ตุลานี่จะเก็บมาวิพากษ์วิจารณ์กันตามทัศนะงูๆปลาๆของเรานะ แต่เรารู้สึกทึ่งมากที่นักเรียน นักศึกษา ประชาชนของเราสามารถไล่เผด็จการ ซึ่งตอนนั้นเราก็มีความรู้น้อยมากนะ เผด็จการคืออะไร แต่รู้ว่าเขาได้ทำสิ่งที่มีประโยชน์ต่อสังคมมาก แล้วเราก็เห็นพลัง ก็เลยเป็นตัวแทน เรี่ยไรกันทั้งโรงเรียนเลยนะว่าจะเอาเงินไปช่วยประชาชน หลังสิบสี่ตุลานี่เป็นตัวแทนของนักเรียนทั้งโรงเรียนเอาเงินไปให้เขาที่เชียงใหม่
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นพี่เรียนอยู่ชั้นไหน
คุณกัลยา : มศ.3 ทางการบริหารของนักเรียนก็คือตอนนั้นได้รับการคัดเลือกเป็นรองประธานนักเรียน เพราะว่ามันมี มศ. 4-5 แล้วรุ่นพี่เขาเป็นประธานแล้วเราก็เป็นรองประธาน หลังจากเราทำกิจกรรมมาจาก มศ. 1-3 ก็มีคนรู้จักเยอะ พอขึ้นระดับสูงใน ม.ต้นนี่เราก็ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าเขา และอีกอย่างเราสอบได้ที่ 1 มาตลอด คนเขาก็รู้จัก เล่นกีฬาก็ดี เรียนหนังสือก็ดี ทำกิจกรรมเห็นหน้าบ่อย คนนี้ก็เลยได้เป็นรองประธาน พอได้เป็นรองประธานเราก็ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิบสี่ตุลา หนึ่งเรามีความประทับใจอยู่แล้ว สองคือเวลาเราเก็บเงินนี่เราก็เอาไปบริจาคให้ศูนย์กลางนักศึกษาภาคเหนือตอนนั้นเขาระดมเงินเพื่อช่วยเหลือวีรชนคนที่เสียไปแล้วและก็คนที่ได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์ คือมีการระดมกันทั่วประเทศใช่ไหม เราก็เอาไปให้เขาที่เชียงใหม่ ที่นี้ชื่อของเราก็ไปปรากฏอยู่ที่ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาภาคเหนือว่าเราเป็นตัวแทนของโรงเรียน
พอจบ มศ. 3 หลังสิบสี่ตุลา ศูนย์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยร่วมกับทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ เขามีโครงการเผยแพร่ประชาธิปไตยออกสู่ชนบทแล้วเขาก็มีการประกาศรับสมัครนักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศ ทีนี้นักศึกษาที่เชียงใหม่ เขาก็เห็นรายชื่อ เขาก็ส่งข้อมูลมาชวนเราไปเป็นอาสาสมัครเผยแพร่ประชาธิปไตยออกสู่ชนบทโดยการให้เราไปอบรมเป็นอาสาสมัครให้ความรู้ทางการเมืองหรือว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น จุดนี้เองก็เลยเป็นจุดหักเหที่ทำให้นักกิจกรรมทั่วๆไปอย่างเรานี่นะที่ชอบฟ้อนรำ ชอบเล่นกีฬากลายเป็นคนที่อยากออกสู่ชนบท เพราะว่าหลังจากไปเข้าค่ายที่หนองกระทิง ลำปาง เราก็ไปเจอกับตัวแทนนักเรียน นักศึกษาหลายจังหวัดในภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แพร่ น่าน หลายๆคนอยู่ในวัยเดียวกับเราและก็เป็นนักกิจกรรมที่สนใจปัญหาสังคม บางคนก็เคยมีส่วนร่วมตอนเขาเคลื่อนไหวสิบสี่ตุลาในเชียงใหม่ บางคนก็เคยไปร่วมชุมนุมอะไรอย่างนี้ แล้วก็ในการอบรม เขาก็มีวิทยากรรุ่นพี่ๆ เป็นนักศึกษามาจากจุฬาฯ พรรคจุฬาประชาชนบ้าง หรือไม่ก็มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แล้วก็ผู้นำนักศึกษาบางคน เช่น อาจารย์สุริชัย หวันแก้ว ซึ่งเป็นคนลำพูน ตอนนั้นพี่เขายังเรียนที่ญี่ปุ่นนะ เขาก็มาเป็นวิทยากรรับเชิญ มีวิทยากรหลายๆท่านที่มาจากกรุงเทพแล้วเรื่องราวที่เขามาเล่าให้เราฟังนี่ มันทำให้เรามองโลกกว้างออกไปจากสิ่งที่เราสัมผัส คือเราเริ่มรู้ว่าสังคมไทยเป็นอย่างไร มีฐานทัพอเมริกาเข้ามามีการปกครองแบบไหนมาก่อน แล้วทำไมเราต้องเป็นส่วนหนึ่งของการไปช่วยเหลือให้สังคมดีขึ้นและวิธีการที่เราจะทำเป็นอย่างไร ก็คือเราไปได้รับความรู้ ได้รับแรงบันดาลใจ บทเพลงเปิบข้าว คนกับควาย บทกวีดีๆ ผู้หญิงก็คือคนบ่มิจนปัญญายล ฯลฯ อะไรต่างๆที่ไปได้จากในค่าย รู้ไหมอะไรที่เราได้มาวันที่จบปิดค่ายพี่คิดอย่างเดียว ไม่อยากเรียนหนังสือแล้ว จะออกชนบทอย่างเดียว คือเขาก็มีโครงการหลังจากจบการอบรมด้วยการส่งเข้าไปในชนบทมีเบี้ยเลี้ยงด้วยนะ ส่งพวกเราเพื่อไปพบปะชาวบ้าน เราก็เลยหนึ่งได้ไปเรียนรู้กับชาวบ้าน เขาอยู่เขากินเขาทำงานอย่างไร สองก็คือกระแสนักศึกษาในสมัยนั้นแรงมาก นักเรียนอย่างพวกพี่นี่อายุ 15 นี่กำนันผู้ใหญ่บ้านชาวบ้านยกมือไหว้เลยนะ เรียกพวกเราว่าท่านนักศึกษาครับผม มีปัญหามาเล่าทุกข์ให้ฟัง คิดดูนะเรานี่ยิ่งใหญ่มาก ไปเผยแพร่ประชาธิปไตยแต่ได้รับเกียรติภูมิ ได้รับการยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บ้านเมืองคลี่คลายได้ เขาจะเล่าทุกข์ ทุกข์ของเขาคืออะไร หนึ่งเจ้านายรีดนาทาเร้น เวลาพวกในเครื่องแบบเข้าไปต้องหวาดกลัว ก็คือกลัวเจ้านายมาก ก็คือกลัวว่าเก็บภาษี กลัวเขามาไล่จับ บางคนต้มเหล้าไง หรือบางคนก็ไม่รู้ว่าจะโดนอะไร คือคำว่าเจ้านายนี่ชาวบ้านจะกลัวมากๆ แล้วที่สำคัญในสมัยนั้นชาวบ้านเขาเล่าว่ามีพวกบริษัทต่างประเทศเข้ามา ก็ในรูปของตัวแทนเมืองไทยแหละ เช่นโรงงานอาหารกระป๋อง โรงงานบ่มใบยาสูบ ให้ชาวบ้านปลูกยาสูบบ้าง ปลูกมะเขือเทศบ้าง แล้วเขาบอกว่าเขาถูกเอาเปรียบ เอาเปรียบอย่างไรก็คือ เมล็ดพันธุ์ ต้นทุนทุกอย่างอยู่ในมือของบริษัทที่เขาเอามาให้ชาวบ้าน เวลาขายชาวบ้านก็ต้องอยู่ภายใต้อำนาจของเขา เขาจะเป็นคนกำหนดราคาหักต้นทุนออกแล้วก็เหลือเศษนิดหน่อยให้พอประทังชีวิต แม้แต่การชั่ง ชั่งแบบโกงๆ เช่น เวลาชั่งใบยานี่รีบเอาวางๆแล้วยกขึ้น แล้วเขากำหนดมาว่า ต้นทุนเท่านี้นะ ปุ๋ยราคาเท่านี้นะ ต้นกล้าราคาเท่านี้นะ ขายราคาเท่านี้นะ หักทุนแล้วเหลือเท่านี้นะ ชาวบ้านต้องยอมรับในโชคชะตานั้นอย่างเดียว ไม่ว่าจะปลูกยาสูบ ไม่ว่าจะปลูกถั่วลิสง ปลูกมะเขือเทศ ก็เป็นอย่างนี้หมด คือเขาจะบอกเราว่าราคาอยู่ที่บริษัทโรงงาน ค่าแรงอะไรต่างๆก็แค่พออยู่ แค่พอประทังชีพ แล้วสิ่งที่เขาเป็นเป็นอย่างไร ยากจนมาก พี่นี่ก็เคยไปกินอึ่งอ่างคางคก แกงที่มีแต่ปลาร้ากับผัก ชีวิตในชนบทชาวบ้านจนมาก การคมนาคมก็มีแต่ฝุ่น ไฟฟ้าก็ไม่มี แล้วชาวบ้านก็อยู่แบบชนบทกับเมืองมันต่างกันเยอะเลย คือเราเป็นเด็กนี่เราได้ดูทีวีเราอยู่ในเมืองมีความสะดวกสบาย เราได้ดูหนัง เราได้เรียนหนังสือ เรามีความสะดวกสบายทุกอย่าง แต่พอไปอยู่อย่างนั้น เรารู้สึกว่ามันเหลื่อมล้ำต่ำสูงกันมาก แล้วสิ่งที่สำคัญก็คือ ชาวบ้านดีมากๆเลย ชาวบ้านมีอะไรจะเรียกเราเป็นลูกเป็นหลานและก็มีอะไรอร่อยๆก็เอามาให้เรากิน เข้างานนี่เหมือนกันเขาจัดงานอะไรในหมู่บ้าน เหมือนกับอิทธิพลเลยนะ เขาจะเปิดให้เราฟรีเลย มีหนังกลางแปลงฟรี มีรำวง เขาก็พูดชวนกันท่านนักศึกษาครับเชิญเข้าไปร่วมงานได้ เรารู้สึกว่าโอ้โห มันจะอภิสิทธิ์ขนาดไหน ที่นี้หลังจากออกจากชนบทแล้ว เขาจะสรุปงาน เขาก็ถามความเห็นเราใช่ไหม แล้วเราก็บอกว่าสิ่งที่เราเห็นคือความเหลื่อมล้ำต่ำสูงและก็ความยากจนของคนในชนบท เราอยากเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้นข้อสรุปของเราคือ ไม่อยากเรียนต่อแล้ว ขอทำงานในชนบทดีกว่า แล้วยิ่งเราไปอ่านบทกวีของประธานาธิบดี จูเลียส ไนเยเร เคยเห็นบทกวีนี้ไหม
ผู้ใดได้รับอภิสิทธิ์
ผู้นั้นต้องตอบแทนความเสียสละของผู้อื่น
เพราะเขาเปรียบเสมือนผู้กินอาหารทั้งหมด
ซึ่งชาวบ้านผู้หิวโหยมอบให้
ด้วยหวังว่า เขาจะเกิดกำลัง
ดั้นด้นไปหาอาหารจากแดนไกล
ถ้าเขากินอาหารของชาวบ้านหมด
แล้วไม่ช่วยอะไรเลย
เขาคือผู้ทรยศ
อันนั้นมันโดนใจเรามากเลยนะ เรามีความรู้สึกว่าเราเป็นอภิสิทธิ์ชนนะ เราได้เรียนหนังสือ เราได้อยู่อย่างสุขสบาย มีคนผลิตอาหารให้เรา มีคนผลิตข้าวให้เรา มีคนผลิตเสื้อผ้าให้เรา มีคนทำงานหนัก แต่เขามีชีวิตอยู่ที่แร้นแค้นยากลำบาก ยิ่งในตอนนั้นนี่ทุกสิ่งทุกอย่างสังคม ต้องการคนที่เข้าช่วยเหลือ เราก็อยากอาสาเข้าไปด้วยกับเพื่อน แต่เขาก็บอกว่าเฉพาะเรา คนไม่กี่คนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ คุณยังเป็นนักเรียนนักศึกษาอยู่ คุณน่าจะกลับไปยังสถาบันแล้วก็ชักชวนเพื่อนๆให้ออกมามีความคิดอย่างนี้มากขึ้นๆ เฉพาะเราไม่กี่คนยังพลังน้อยไป ก็เลยตกลงกลับไปเรียนหนังสือต่อ ก็กลับไปเรียน มศ. 4-5 แล้วก็ทำงานอย่างไรที่ทำให้เพื่อนนักเรียนเข้าใจสิ่งที่เราคิด ก็เลยตอน ม.ศ. 3 สอบได้ที่หนึ่งของจังหวัดลำพูนเลยนะ แต่ ม.ศ. 4-5 นี่เกือบตกห้าสิบเปอร์เซ็นต์เพราะอะไร เพราะว่าไม่ค่อยเรียนหนังสือแล้ว สิ่งที่อยากจะทำก็คือทำอย่างไร จัดบอร์ด พานักเรียนออกไปเกี่ยวข้าว ไปสัมผัสชีวิตในชนบท หาวิทยากรมาอบรมเพื่อน แล้ววิธีหาทุนก็ไม่ขอใครไม่เหมือนเอ็นจีโอสมัยนี้นะ ที่ลำพูนมีโรงหนังใช่ไหม ก็ทำหนังสือขอเทศบาลยืมรถเคลื่อนกระจายเสียงไปทั่วลำพูน คือหลังจากที่เราเผยแพร่ประชาธิปไตยเสร็จเราก็ตั้งศูนย์กลางนักเรียนจังหวัดลำพูน และสามารถเข้าไปได้ทุกโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นอาชีวะหรือสายสามัญ เราก็ทำกิจกรรมร่วมกันหลายๆโรงเรียน จัดฉายหนัง ขายสติ๊กเกอร์ ขายหนังสือ ไปเอาสติ๊กเกอร์จากพี่ๆมาจาก มช. บ้างธรรมศาสตร์บ้างพอได้ทุนปั๊บเราก็จัดค่ายช่วงปิดสามวันสี่วัน เราก็ติดต่อวิทยากร รุ่นพี่ๆพวก มช. บ้าง กรุงเทพบ้าง คือไม่ทำอะไรเลยนะนอกจากกิจกรรม 4 กรกฎาคม ก็ติดโปสเตอร์ขับไล่ฐานทัพ ทั่วลำพูน
ผู้สัมภาษณ์ : อันนี้คือช่วงปีไหนค่ะ
คุณกัลยา : หลัง 14 ตุลา หลังจากไปเผยแพร่ประชาธิปไตย ก็คือประมาณปี 17-18 ช่วงนี้จะเข้มข้นมาก ก็คือตอนนั้นเรียน มศ. 4-5 สองปีนี้ใช้ชีวิตไม่ค่อยเรียนหนังสือ ส่วนใหญ่โดดและก็จัดกิจกรรมบางครั้งก็จัดงานนักเรียนนะ เช่นจัดงานวันเด็ก แต่ให้พวกเด็กที่ไปเข้าค่ายกับเรานี่มาจัดเป็นชุมนุมภาษาไทย ชุมนุมสังคม ฯลฯ ก็จัดบอร์ด
บอร์ดที่จัดขึ้นก็จะบอกว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคมไทยและก็ทำอย่างไรให้นักเรียนนักศึกษานี่จะสามารถเข้าร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคมบ้างที่เราจัดกิจกรรมมาเนื่องจากตอนหลังมันไปกระทบไปสู่ภาคเกษตรก็ไปกระทบเจ้าที่ดิน คือเราไปช่วยชาวนานี่ เขาตั้งเป็นสหพันธ์ชาวไร่ ชาวนา แล้วสหพันธ์ชาวไร่ชาวนาเขาก็เรียกร้องพระราชบัญญัติ 2493 จากที่เคยทำนาแบ่งครึ่ง ก็แบ่งกันตามผลผลิต เอากฎหมายเข้ามาช่วยเหลือคนยากคนจน แล้วสิ่งที่เราทำอย่างอื่นอีก เช่น การไปต่อสู้เรียกร้องไม่ให้ต่างชาติเข้ามาครอบงำไม่ว่าในเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง เช่นการไปขับไล่ฐานทัพ หรือไปเปิดโปงเรื่องของจักรพรรดินิยม ทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง อย่างอเมริกากับญี่ปุ่นอะไรอย่างนี้ เราก็ถูกเพ่งเล็ง แล้วในที่สุดมันก็มีกระบวนการขวาพิฆาตซ้าย เราก็ถูกกระแสนี้ด้วย เราก็ถูกใส่ร้าย เงินที่เอามาทำกิจกรรมต่างชาติให้มาใช่ไหม มีกระแสบอกว่าพวกนี้เป็นพวกที่ไม่เคารพพ่อแม่ ปล่อยข่าวว่าเราเกิดจากกระบอกไม้ไผ่ คือเอาเรื่องปั้นน้ำเป็นตัวมาใส่ร้ายตลอดเวลา เราชุมนุมกันบางทีข้างบนบ้านพี่นี้มาทำโปสเตอร์เวลาเราจะเคลื่อนไหวอย่าง 4 กรกฎา ขับไล่ฐานทัพ หรือ ช่วยเหลือชาวนาเรียกร้องความเป็นธรรม เขาก็ว่าบ้านเราเป็นที่ซ่องสุมของพวกคอมมิวนิสต์ตอนนี้เริ่มเข้ามาแล้ว บอกว่าเราเป็นพวกที่ได้รับเงินเขามา เป็นพวกที่ทำลายความมั่นคง แล้วเขาก็มาตั้งคนบางส่วนเป็นนวพล เป็นลูกเสือชาวบ้าน เป็นกระทิงแดง อะไรอย่างนี้ ที่บ้านก็โดนวางหรีดสองหน ครั้งแรกมากลางคืนเอาหรีดมาโยนไว้แล้วเขียนว่า ไอ้คนขายชาติไปตายซะ แม่ก็เก็บเผาพอครั้งที่สองมันมาวางกลางวันเลยนะ ถ่ายรูปไปลงหนังสือพิมพ์บอกว่าบ้านนี้เป็นบ้านไอ้พวกขายชาติ เราก็ถูกคุกคามโดยก็จะมีผู้บริหารของโรงเรียนซึ่งไปอบรมเป็นฝ่ายความมั่นคง เขาจะมีคู่มือคอมมิวนิสต์วางไว้บนโต๊ะข้างตัวเลย
แล้วพวกนักเรียนที่ทำหนังสือทำกิจกรรมก็จะถูกเพ่งเล็ง ครูคนไหนที่อยู่ในฝ่ายก้าวหน้า เขาก็จะไปอัดเทปคำพูดที่สอนนักเรียนบ้าง บีบให้ออกบ้าง เราก็รู้สึกไม่ค่อยปลอดภัยนะในช่วง มศ. 4-5 ที่ลำพูนนี่มีชาวนาถูกยิงตายไปหลายคนนะ แล้วกลุ่มครูที่เคยมีบทบาทก็ถูกฆ่าตาย คือมันมีเรื่องที่ทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัยเยอะมากแต่เราก็ยังทำงานอยู่นะ จนช่วงนั้นมีการออกชนบท แล้วที่ลำพูนบ้านแม่สะป๊วด อ.แม่ทา มีเหมืองแร่ที่ปล่อยน้ำเสียลงสู่ไร่นาชาวบ้าน แล้วชาวบ้านรวมตัวกันเรียกร้อง แต่ไม่ได้ผลจนครั้งหนึ่งนายอำเภอเข้าไปในพื้นที่ ชาวบ้านเขาก็ล้อมรถนายอำเภอ ตำรวจ ถามความเห็น ความคืบหน้า ตอนนั้นนายอำเภอก็บอกว่าจะไปตามเรื่องให้ แต่พอหลังจากนั้นนี่เขาก็ออกหมายจับผู้นำชาวบ้านกับตัวแทนนักศึกษา ซึ่งเป็นพี่สาวเราคนหนึ่งด้วย บ้านเราก็เลยโดนค้น พี่สาวเป็นหนึ่งในเก้าผู้นำนักศึกษาชาวนาที่ถูกหมายจับในตอนนั้น เพราะตอนนั้นครอบครัวมีลูกสองคนที่ทำกิจกรรม แต่เราเด็กกว่าเขาไงแล้วเราทำงานแต่ในเมือง ไม่ได้ออกไปกับเขา พอเขาถูกหมายจับบ้านโดนค้น ทีนี้เขาก็เห็นแล้วว่าในบ้านเรานี่มีเอกสารเยอะแยะที่เกี่ยวกับเรื่องของการเคลื่อนไหวของนักศึกษาประชาชน เขาก็เลยเพ่งเล็งกันทั้งคู่เลยในโรงเรียนเขาก็เพ่งเล็งอยู่แล้ว
เพราะฉะนั้นพี่พอหลังจากจบ มศ. 5 เอ็นทรานซ์ ก็บังเอิญไปได้เรียนคณะเดียวกับที่พี่สาวเรียนก็คือพี่สาวเรียนคณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เราก็ไปได้คณะเกษตรฯอีก แต่พี่สาวหลังจากโดนหมายจับคดี 9 ผู้นำนักศึกษาชาวนานี่ เขาหนีเข้าป่าไปเลยนะ ตอนเขาอยู่ปี 1 พอตอนหลังเราไปอยู่คณะฯนี้อีก เราก็ไปทำงานอื่น คือระบบโซตัสของคณะเกษตรตอนนั้นมันยังแรงอยู่ เราเป็นคนไม่ชอบระบบโซตัสมาก ก็พยายามหลบๆไม่เข้าร่วมเชียร์ แต่ออกต่างจังหวัด ไปทำงานเชื่อมนักเรียนนักศึกษาต่างจังหวัด จะไม่ค่อยมีบทบาทในมหาวิทยาลัยแต่จะเป็นบทบาทในระดับพี่เลี้ยงนักเรียน คือตอนนั้นนี่งานของนักเรียนยังมีคนทำต่อเนื่อง คือพอพี่ๆจบเข้ามหาวิทยาลัยก็จะมีรุ่นน้องๆเข้ามารับงานในจังหวัดนั้นต่อ แล้วเราก็วางบทบาทตัวเราว่าให้เราเป็นพี่เลี้ยงให้น้องๆที่เข้ามารับต่อช่วงงาน ก็จะเป็นคนที่ทำงานร่วมกับนักเรียนในเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย เป็นผู้ประสานงานเชื่อม แล้วพอเราไปอยู่ได้ไม่นานมันก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ตอนนั้นกำลังไปเป็นพี่เลี้ยงจัดงานเตรียมระลึกเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ก็ไปช่วยนักเรียนนักศึกษาที่เชียงราย กำลังจะจัดนิทรรศการกันที่วิทยาลัยครูเชียงราย (มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย) พอเกิด 6 ตุลาปั๊บ เห็นรูปในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่มีรูปคนถูกเผานั่งยาง ถูกฆ่าแขวนคอ รับไม่ได้ ตอนนั้นก็เลยบอกกับเพื่อนที่ช่วยเตรียมงานว่า กลับไปสืบสภาพที่เชียงใหม่ซิว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพื่อนที่กลับไปก็ไม่มีใครส่งข่าวกลับมา เราก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นแต่ที่รู้ๆก็คือเห็นภาพแล้วรู้สึกไม่อยากอยู่ในเมืองแล้ว อยากจะออกไปต่อสู้ด้วยอาวุธ คือนักศึกษาที่ทำกิจกรรมตอนนั้นไม่ปลอดภัยแล้ว ก็อยากจะมีที่มั่นในชนบทที่จะสู้กับรัฐบาลว่าอย่างนั้นเถอะ เพราะว่าพอเราไปทำงานช่วยเหลือคนยากคนจนหรือว่าไปทำงานเพื่อทำงานให้ประเทศได้มีเอกราช ประชาชนได้มีประชาธิปไตย เรารู้สึกว่าถูกใส่ร้ายป้ายสี ถูกคุกคาม บางคนถูกฆ่า เรารู้สึกไม่ปลอดภัยแล้วก็อยากจะหาที่ที่เราจะอยู่ได้แล้วก็ทำงานได้ นั่นก็คือเราเริ่มรู้จักเขตชนบทรู้จักกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยผ่านวิทยุ สปท. (สถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย) มีเพื่อนมาเล่าให้ฟัง ตอนนั้นเราก็เริ่มรู้สึกว่าอยากจะไปเพราะตอนนั้นในชนบทนี่พี่สาวไปก่อนแล้วเรามีความรู้สึกว่าอยากจะไปเป็นส่วนหนึ่งด้วย ทีนี้หลัง 6 ตุลาที่หอพักโดนค้นแล้วผู้นำชาวนานักศึกษา ก็ถูกไล่ล่าให้เข้าไปอยู่ในคุก ตอนนั้นจะมีข่าววิทยุออกมาทุกวัน ใครถูกจับไม่ถูกจับแล้วเราเองนี่ มันช่วงปิดเทอมนะก็หลบไปอยู่บ้านญาติ อยู่ตามต่างจังหวัด พอเราได้ยินเรื่องว่า คือเราฟังวิทยุสองด้านทั้งในเมืองและก็ในป่าด้วย หลายๆครั้งเราก็ได้ยินเสียงเพื่อนเราเข้าป่าเขตนั้นเขตนี้ เราก็ยิ่งอยากไปทีนี้พยายามจะต่อสายคนที่เขามีหน้าที่ส่งคน ไม่เจอใครในตอนนั้น เพราะว่ากลับมาเพื่อนที่ทำกิจกรรมไม่รู้ไปไหนกันหมดแล้ว เหลือแต่เราที่สามารถตามๆเพื่อนได้ 2-3 คนเราก็หลบกันเองอยู่พักหนึ่ง พอดีเราไปติดต่อเพื่อนได้ เพื่อนก็ถามว่าเราอยากจะเข้าป่าเขตไหน อยากจะอยู่บ้านใหม่หรือบ้านเก่า พี่ถามเขาว่าบ้านเก่าเป็นอย่างไร บ้านใหม่เป็นอย่างไร เขาก็บอกว่าบ้านเก่าก็คือเขตฐานที่มั่นที่มีทหารเยอะๆ มีโรงเรียนการเมืองการทหารมีที่เขตเขาเรียกว่ากึ่งปลดปล่อย เขตที่รัฐบาลทหารเข้าไปไม่ได้ เขาจะมีการผลิตมีการใช้ชีวิตอยู่ในป่าเป็นกลุ่มใหญ่แล้ว คือค่อนข้างจะมีความมั่นคง ก็คือมีกองกำลังทหารคุ้มครอง แล้วเราก็ถามว่าบ้านใหม่คืออะไร เขาก็บอกว่าเป็นเขตจรยุทธ์ เป็นเขตที่ต้องสร้างขึ้นมาให้เป็นเขตมวลชนที่ก้าวหน้าแล้วจะกลายเป็นที่มีกองทหารไว้ต่อสู้ต่อไป ตอนนั้นฟังวิทยุจากในป่าส่วนใหญ่เพื่อนๆเขาก็ไปเขตเก่ากันหมดแล้ว เราก็เลยเห็นว่าบ้านเก่าคนไปเยอะแล้ว ขอไปบ้านใหม่เลยเขาก็ส่งไปจริงๆ เขาให้เราเก็บตัวอยู่พักหนึ่ง พอวันที่ 5 ธันวานี่ เขาก็ส่งเราไปเขตจรยุทธ์ เรียกกันว่าเขต 7/1 รอยต่อเชียงใหม่แม่ฮ่องสอน ขึ้นไปครั้งแรกก็ไปที่แม่ลาน้อย และก็เข้าไปในเขตแม่แฮใต้อยู่ทางเขตเชื่อมระหว่างอำเภอแม่แจ่มจังหวัดเชียงใหม่กับอำเภอแม่ลาน้อย และอำเภอแม่สะเรียงจังหวัดแม่ฮ่องสอนก็เลยเปลี่ยนสถานะจากเรียกว่านักศึกษา เรียกว่าทหารปลดแอกแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย ก็คือพอเข้าไปในป่าปั๊บ เราต้องเรียนรู้วิถีชีวิตของนักรบของทหารป่าเลย คือเขาก็จะให้เราฝึกใช้ปืน ฝึกใช้ชีวิตแบบทหาร มีวินัยอะไรบ้าง ฝึกภาคปฏิบัติด้วยนะ คือนั่งยิงเป็นอย่างไร นอนยิงทำไง ยืนยิงประทับบ่าซ้าย ประทับบ่าขวา วิธีคลานทำอย่างไร วิธีจะเดินก่อนจะเดินต้องกำหนดรหัสโต้ตอบกันอย่างไร เดินไปแล้วต้องไม่ใช้เสียง ไม่ใช้แสงด้วยนะ ห้ามฉายไฟอะไรอย่างนี้ แล้วก็ถ้ากำหนดจุดว่าเราจะไปจุดไหน ถ้าเกิดแตกกันกลางทางนี่ เราจะต้องมีโค้ดจะไปเจอกันที่ไหนแล้วก็ใช้สัญญาณอย่างไรให้รู้ว่าเป็นพวกเดียวกัน ตอนนั้นก็ต้องฝึกผิวปาก ฝึกรู้กฎเกณฑ์พวกนี้ เพราะว่าอย่างการเดินเขาไม่ให้เดินกลางวันนะ เขาให้เดินกลางคืน แล้ววิธีการเดินกลางคืนที่ไม่ให้หลงทางแตกทาง แล้วก็เดินได้ทั้งบนบกและในน้ำ เพราะว่าการเป็นทหารมันต้องมีระเบียบวินัย เขาบอกให้เราเดินเราก็ต้องเดินใช่ไหม ไปหยุดตรงไหนเราก็ต้องหยุดตรงนั้น เขาบอกเราว่าให้กระจายเข้าข้างทางสมมุติมีคนเดินมาเราก็ต้องเชื่อเขา เราก็ต้องทำตามที่ผู้บังคับบัญชาสั่ง คือเขาจะมีหัวหน้ามาสอนการทหารแล้วก็อบรมการเมือง ก็คือให้รู้ว่าการใช้ชีวิตในป่าต้องมีหน้าที่อะไรบ้าง เช่น ภาระหน้าที่ทำการผลิต ภาระหน้าที่การทำงานมวลชนให้ชาวบ้านเข้าใจ และก็ภาระหน้าที่ในการสู้รบเพื่อที่จะให้เกิดกองกำลังทหารและให้เกิดขวัญและกำลังใจในหมู่ประชาชนแต่จริงๆแล้วตรงนั้นมันเป็นเขตจรยุทธ์ไง เขาก็ให้เราทำสองอย่าง คือทำงานผลิตกับทำงานมวลชน ที่นี้ทำงานมวลชนนี้ทำอย่างไร ปรากฏว่าคนที่อาศัยตรงนั้นส่วนใหญ่เป็นปกาเกอญอและก็เป็นคนลัวะ วิธีการทำงานก็ง่ายมากก็คือใช้ชีวิตให้กลมกลืนกับเขา ตอนนั้นก็ต้องแปลงร่างเวลาไปเจอเขาก็ใส่ชุดปกาเกอญอไปเลย มีปืนสั้นก็เหน็บไว้ข้างในหรือถ้าเป็นปืนยาวก็เก็บไว้ที่ชายป่า ใส่เชวา (ชุดสำหรับผู้หญิงชาวปกาเกอญอ ที่ยังไม่แต่งงาน) เข้าไป เอาเป้เอาอะไรเก็บไว้แล้วเราก็เริ่มเรียนรู้จากเขา
พี่ได้เรียนภาษาปกาเกอญอตั้งแต่ ก.ไก่ ข.ไข่เลย เพราะว่าพื้นฐานที่สุด เราก็ต้องเข้าใจการใช้วิถีชีวิตของชาวบ้าน เรียนรู้ว่าชาวบ้านมีวิถีความเป็นอยู่อย่างไร มีปัญหาอย่างไร แล้วก็สื่อสารสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราทำอยู่ให้เขาเข้าใจ เราก็เลยต้องเริ่มเป็นนักเรียนใหม่ เริ่มไปอยู่ไปกินกับเขา บางทีก็ไปอยู่ในไร่ในนากับเขา และก็เรียนรู้วิถีชีวิต เรียนรู้ภาษา เรียนรู้วัฒนธรรม ประเพณีของเขา แล้วเราก็กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แนวทางนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์แปลเป็นภาษาของเขา เพราะตอนนั้นพอเรารู้ภาษาเราก็เชื่อมโยงสิ่งที่เราคิดสิ่งที่เราจะทำอยู่นี่กับเขาแล้วก็สร้างกลุ่มขึ้นมา พอเราไปทำงานนี่อย่างเช่นว่า เราเรียนการเป็นหมอฝังเข็ม การใช้สมุนไพร เรียนรู้เรื่องของการใช้อาวุธ เรียนรู้เรื่องของการสู้รบ เราก็เอาไปสอนชาวบ้าน ถ่ายทอดให้พวกผู้หญิงแบบหนึ่ง พวกผู้ชายก็อีกแบบหนึ่ง เป็นทหารบ้าง เป็นหมอบ้าง และก็ปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมือง ก็คือทำอย่างไรให้เขานี่รู้จักสิทธิของตัวเองที่จะดูแลและก็ปกครองตนเองอย่างสันติสุข สอนภาษาไทยเขาอยากมีความรู้เรื่องอะไรเราก็ถ่ายทอด และก็มีนโยบายข้อหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ถูกชูมากในตอนนั้นคือ ให้ชนชาติปกครองตัวเองและก็พัฒนาทางการศึกษา วัฒนธรรมและเรื่องของสุขภาพอนามัยให้เขาสามารถดูแลตัวเองได้ ไม่กลืนชาติ อันนี้ก็คือเราใช้เป็นนโยบายหลักในตอนนั้น
เราใช้ชีวิตอยู่ในป่าตั้ง 4 ปีนะ ตั้งแต่ปี 2519 2522 โดยการที่ทำไร่ทำนาอยู่กับเขา ใช้วิถีชีวิตอยู่กับเขา ทำกิจกรรมอยู่กับเขาแต่ก่อนนี่จะเป็นคนแต่งเพลงเพื่อชีวิตให้เขาร้อง จัดค่ายฝึกอบรมการเมืองการทหาร กลางคืนบางทีก็นัดเขามาคุยหรือว่าจะไปพบเขาในป่าในไร่ และก็สอนเขาทางการเมือง การรักษาพยาบาลอะไรต่างๆ อยู่กับเขาจนเป็นเนื้อเดียวกับเขาเลย ทีนี้ที่เราออกมาไม่ใช่เพราะเราทนความยากลำบากไม่ได้ เคยถูกงูกัด เคยเป็นไทฟอยด์เกือบตาย เคยเป็นอะไรที่รักษาตัวเองไม่ได้นะ เคยตกเหว ผจญมาหมดแล้วไม่มีอะไรจะกินก็มีนะ คือแบบว่าชาวบ้านอยู่ทุกข์ยากอย่างไร เราอยู่ได้หมด ชาวบ้านเหนื่อยยากอย่างไรเราอยู่ได้หมด แต่สิ่งที่เราอยู่ไม่ได้ก็คือ ภายในพรรคคอมมิวนิสต์เองมันมีความแตกต่าง คนที่เป็นหัวหน้าเขาจะไม่ค่อยรับฟังความคิดเห็นคนที่ทำงานและก็หลายๆครั้งนี่เรารู้สึกว่าเรื่องที่เราเสนอเป็นสิ่งดีๆนี่ถูกบิดเบือนเป็นเรื่องร้าย มันเข้าแบบตอนก่อนที่เราจะเข้าป่าเลยนะ คือเราทำงานเต็มที่ เราอยากช่วยเหลือชาวบ้าน แล้วเราก็ทุ่มเทอยู่กับชาวบ้านแล้วก็ทำงานเต็มที่ แต่การปฏิบัติงานระหว่างผู้นำกับคนทำงานนี่มีปัญหาอยู่ตลอด มันไม่สามารถจูนเข้าหากันได้ยกตัวอย่างรูปธรรม ฝ่ายนำบอกว่าเขาไม่ให้เราฟังวิทยุรัฐบาล แต่เราบอกว่าเราจำเป็นต้องฟัง เพราะว่าเราจะได้รู้ว่าข้างนอกเป็นอย่างไร สถานการณ์เป็นอย่างไร มีอะไรที่เราจะโต้ตอบได้บ้างเราก็ต้องเรียนรู้ อันที่สองบางครั้งเขากำหนดมาตรการอะไรบางอย่างซึ่งเรารู้สึกว่าเราไม่ค่อยชอบ เช่นให้กินผงชูรสในอัตราเท่านั้นเท่านี้ แล้วคนที่เรียนวิทยาศาสตร์มาเขาก็ตอบโต้ผงชูรสไม่มีประโยชน์อะไรอย่างนี้ คือใครที่เสนอแตกต่างนี้ ไม่ได้ขึ้นขั้นนะเขาไม่ชอบหน้าคือเรามีเพื่อนหลายๆคน ที่ซักถามมาก โต้แย้งมากเช่นพอฝ่ายนำเขาบอกว่าพรรคอมมิวนิสต์เป็นพ่อเป็นแม่และก็ธงพรรคนี่สูงสุดนะจะต้องเคารพเชื่อฟัง เพื่อนคนนี้ยกมือบอกว่าพรรคคอมมิวนิสต์นี่อยู่ที่ตัวบุคคลนะ เกิดไม่ดีเราก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์ได้ และก็อย่างธงพรรคเหมือนกันถ้ามันเก่าแล้วก็เอามาทำผ้าขี้ริ้วได้ มันไม่จำเป็นต้องไปยึดถืออะไรตรงนั้น ปรากฏว่าคนที่เสนอตรงนี้ซึ่งทำงานดีมาก ถูกหมายหัวเลยบอกว่าคนนี้นะไว้ใจไม่ได้ ห้ามให้รับรู้งานภายในองค์กรจัดตั้งของพรรคและก็ไม่ให้บทบาทเขาซึ่งเรามองกลับกันว่าคนนี้เป็นคนที่เอาการเอางานมาก เป็นคนจริงใจและก็จริงจังมาก เราก็เลยเริ่มจะคุยกันมากขึ้น แล้วยิ่งตอนนั้นสถานการณ์สากล พรรคคอมมิวนิสต์จีนยกทัพไปบุกเวียดนามแล้วหลังจากนั้น สปท. (สถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย) มีข่าวถูกปิด
อะไรต่างๆเหล่านี้ มันทำให้เราจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ว่าพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งที่เรารับข่าวมาแล้วที่เราสัมผัสนี่ถูกต้องหรือไม่ ทำให้เรานี่เริ่มมีจดหมายข้ามเขตหรือสัมพันธ์ขวางแล้ว คือตอนแรกนี่เขาให้เราสัมพันธ์เป็นแท่งนะจากเราไปหาฝ่ายนำ จากฝ่ายนำไปหาฝ่ายนำห้ามข้ามหน่วยข้ามเขต เราเริ่มมีคนเดินสารแล้ว ฝั่งโน้นมาถามฝั่งนี้ เริ่มลักลอบไปฝั่งโน้น แล้วเราก็เลยเป็นกองหน้าเรารู้สึกว่าหลอกลวงประชาชนไม่ได้ ถ้าข้างในไม่โปร่งใส พวกเราขอเป็นกองหน้าแก้ปัญหา เราก็ส่งตัวแทนไปประชุมกับฝ่ายนำ ปรากฏว่าเขากลับมาบอกว่าสิ่งที่เราคิดถูกปฏิเสธหมดแล้วยังไม่พอยังตรวจสอบเราอีกว่าทำไมต้องคิดแบบนี้ คิดแบบนี้มันไม่ถูกต้อง เช่น ให้ประชุมร่วมกันทั้งหมดเพื่อสรุปบทเรียน วิเคราะห์สถานการณ์สังคม และก็สรุปบทเรียนที่ผ่านมาว่าจะก้าวไปอย่างไรแค่นี้ที่เราคิดว่าจะยอมรับได้ ปรากฏว่าสะท้อนกลับตรงข้ามไปเลย เราก็เลยวางอาวุธลงมาในเมืองตามหาคนที่รับผิดชอบสูงกว่าว่าเรารู้สึกคลุมเครือไม่กระจ่าง ปรากฏว่ามาในเมืองเจอเพื่อนๆ เพื่อนก็เจอปัญหาที่อื่นเหมือนกัน ต่อสู้กับฝ่ายนำมา บางคนก็ลงมาเจอกันก็อ้าวของเธอก็เป็นเหรอ ของเราก็เป็นเหมือนกัน เราก็เลยสรุปกันว่ามันเป็นปัญหาระหว่างคนเก่ากับคนใหม่หรือเปล่า ปัญหาท่วงทำนองหรือปัญหาอะไรตอนแรกก็ยังคุยกันอยู่นะจะหาวิธีแก้ไขอยู่ ก็คือยังไม่อยากอยู่เมืองไง ก็คือตอนนั้น 66/2523 ยังไม่ประกาศใช้ คุยกันได้กำลังใจจากเพื่อนๆแล้วว่าจะกลับไปต่อสู่เปลี่ยนแปลงใหม่ พอกลับเข้าไปครั้งที่สอง หนักกว่าเก่าอีก เขาปลดอาวุธเราเลย ห้ามติดอาวุธพวกที่ออกมาโดยไม่ผ่านฝ่ายนำ ห้ามทำงานกับชาวบ้าน ห้ามให้บทบาททุกสิ่งทุกอย่าง พวกที่ออกมาก็เลยมาประชุมกันว่ากลับเข้าไปแล้วไม่รู้จะอยู่ทำไม เดี๋ยวเผลอๆเขามายิงเราทิ้ง เพราะเราเป็นแกะดำ คือพอเราออกมากลายเป็นว่าข่าวไปถึงชาวบ้านว่าเราทรยศพรรค ไปถึงเพื่อนๆไม่รู้ว่าเขาไปอธิบายว่าอย่างไร อาจจะโจมตีเป็นเรื่องส่วนตัว ท้อแท้ท้อถอยอะไรต่างๆ มาทบทวนอยู่ระยะหนึ่งก็คือทำงานไม่ได้เพราะว่าไม่มีบทบาท สองคือไม่มีอาวุธเพราะว่าเขายึดอาวุธหมดแล้ว สามคือบทบาทหน้าที่ที่จะไปคุยกับคนอื่น เพราะในช่วงที่เราออกมาเราก็ไม่รู้ว่าเขาไปพูดอะไรไว้ คือสร้างกระแสอะไรไว้หรือเปล่า ทำให้คนไม่อยากเสวนากับเรา เราก็เลยคุยกันในหมู่เพื่อนที่กลับเข้าไป คือถ้าอย่างนั้นเรากลับไปเป็นประชาชนก็ได้ เราไม่ให้คุณไม่ให้โทษกับพรรคคอมมิวนิสต์ และก็ไม่ร่วมมือกับรัฐบาลแต่เราขออยู่เฉยๆกลับมายังคิดว่าจะมาทำก๋วยเตี๋ยวขายหรือว่าทำอะไรกันดี เพราะว่าจะกลับมาเรียนหนังสือคงไม่ไหวแล้ว ตอนนั้นไปปี 1 ใช่ไหมคะ นึกไม่ออกแล้วว่าจะกลับมาเรียนอย่างไร คือมันทิ้งไปนานแล้วไม่รู้ว่าจะมาเรียนต่ออย่างไร คิดอยู่อย่างเดียวว่าจะกลับมาทำงานเพื่อที่จะเลี้ยงตัวเอง ถึงแม้ว่าข้างในป่าหรือฝ่ายบ้านเมืองจะไม่เข้าใจแต่เราก็รู้สึกว่า หนึ่งเราอยู่ตรงนั้นไม่ได้ สองเราคิดว่าถ้าเรายังมีชีวิตอยู่ เราน่าจะยังทำงานช่วยเหลือชาวบ้านได้อยู่ แต่ไม่ใช่ว่าถูกใครชักจูงอีกต่อไปแล้ว ก็ตัดสินใจกลับมาเข้าเมืองโดยมีเพื่อนคนหนึ่งออกมาก่อน ไปหาญาติพี่น้องแล้วมารับเรา เราอาศัยญาติพี่น้องของเพื่อนเราและก็มาอยู่บ้านเขาก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไร
ตอนนั้นก็หนึ่งบัตรประชาชนก็ไม่มี สถานภาพก็ไม่มี กลับบ้านก็ไม่ได้ ที่บ้านก็โดนเพ่งเล็งหมดแล้ว เราก็ไม่รู้จะทำอย่างไรก็อยู่บ้านญาติบ้านเพื่อน คือพี่น้องเขาก็ดีมากนะ เดี๋ยวไปอยู่บ้านพี่ชายคนนั้น เดี๋ยวไปอยู่บ้านพี่สาวคนนี้ก็กลายเป็นคนเร่ร่อน ก็ปรับความคิดว่าเราจะมาใช้ชีวิตทำอย่างไร ตอนนั้นคนอื่นก็ยังไม่ออกมา พอดีว่ามีเพื่อนส่งข่าวว่ามีพ่อของเพื่อนเป็นทนายความอยู่ที่กรุงเทพ ใจดีมาก ให้พวกเราไปอาศัยอยู่ด้วยแล้วคำว่าทนายก็คงจะปกป้องเราได้นะ เกี่ยวกับกฎหมาย ก็เลยไปอยู่บ้านท่าน บ้านคุณพ่อประดับ มนูรัษฎา ลูกของท่านก็เข้าป่าครอบครัวนี้หัวก้าวหน้าทั้งหมด ก็ไปอาศัยท่านถามว่าอยากเรียนหนังสือไหมแล้วก็ให้เราไปสมัครเรียนที่ ม.รามคำแหง ทนายคนนี้แหละที่มาช่วยเหลือชาวบ้านตอนถูกฟ้องร้องตอนต่อสู้กฎหมายค่าเช่านา 2493 และก็ผู้นำชาวนาก็โดนจับโดนใส่ร้าย พ่อก็มาว่าความให้ ที่นี้พอไปอยู่กับพ่อท่านก็ดูแลให้กำลังใจคือพ่อนี่ยังไงท่านก็ยังรักเรา คือท่านมีลูกเข้าป่าเหมือนกัน มีประสบการณ์เหมือนกัน ท่านก็เห็นอกเห็นใจ ท่านเลี้ยงดูเราเหมือนกับลูก พ่อทำงานเหมือนผู้ปิดทองหลังพระ ตอนนั้นเราก็ได้รับแรงบันดาลใจว่าไม่จำเป็นต้องเป็นคอมมิวนิสต์ ไม่จำเป็นต้องเข้าป่าแต่ก็เป็นคนดีในสังคมได้ แล้วอีกอย่างท่านเป็นเพื่อนกับครูองุ่น มาเลิก ครูองุ่นกับพ่อนี่เป็นญาติทางธรรมกัน มีวันหนึ่งพวกเรานี่ สมัยอยู่ในป่ามีเราพละกำลังเยอะ ทำงานเก่งมาก คือเป๊อะข้าวนี่พี่สามถังนะ เดินป่าไม่เคยเหนื่อยคือชีวิตถูกฝึกมาเดินป่า ขึ้นภู แบกของ แบกปืนอะไร คือร่างกายเราจะไม่เหมือนคนเมือง พ่อมีปัญหาว่าบ้านพ่อน้ำประปาไม่ไหล เราก็ขุดบ่อน้ำให้เลยนะ เอาท่อมาลง ขุดบ่อจนพ่อเอาน้ำมาใช้ปลูกต้นไม้รดน้ำในสวนได้ ครูองุ่นไปบ้านคุณพ่อบอก คุณประดับ ใครมาขุดบ่อน้ำให้วันก่อนยังไม่เห็นเลย ก็ลูกสาวกับเพื่อนเขานี่สิ ครูก็บอก งั้นไปช่วยครูทำสวนไหม พวกเราก็ตกงานอยู่ใช่ไหม เราก็ยังไม่รู้ว่าชีวิตจะเป็นอย่างไร ก็เลยไปอยู่กับครูที่ซอยทองหล่อ ครูองุ่นท่านเป็นคนที่ยกที่ให้สถาบันปรีดีใช่ไหม แต่ตอนนั้นนี่ที่ยังเป็นของครูหมด เป็นสวนก็ไปช่วยครูดายหญ้า ตัดกิ่งไม้ครูนี่เคยอยู่ มช. และครูเคยยกที่ดินของครูให้นักศึกษาไปทำกิจกรรมไปใช้ทำเป็นที่ประชุม เป็นบ้านพัก ตอนเราเป็นนักเรียนเราก็เคยไปใช้ประชุมที่สวนอัญญา บางทีเราก็เรียกว่าบ้านริมน้ำ และเราก็ยังมีภาพของครูเป็นผู้หญิงที่ใจดี เรียบง่าย รักเด็ก ใส่บู้ทไปสอนหนังสือ ใส่ผ้าถุง คือเราเคยเห็นสมัยเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ทีนี้พอไปใช้ชีวิตกับท่านก็ยิ่งเห็นความจริงใจ ความรัก ความเอ็นดูที่ครูมีคือครูจะต้องทำกับข้าวให้กินนะ แล้วสอนทำหุ่นจากเศษผ้า ทำตุ๊กตุ่นตุ๊กตาและครูก็มีนโยบายส่งไปให้โรงเรียนในชนบทให้เป็นสื่อสอนเด็ก หรือว่าให้พ่อแม่ได้เล่นกับลูก โดยใช้เศษผ้าขี้ริ้วเอาสิ่งที่ดูไร้ค่ากลับมาให้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ และก็เอามาเป็นสื่อในการทำให้เกิดความรัก ความอบอุ่นในชุมชนเล็กๆ คือมองเห็นครูตรงนี้และก็สรุปได้เลยบอกว่าชีวิตของเรานี่ถ้าช่วยคนทั้งหมดโลกไม่ได้ก็ขอให้เกิดประโยชน์กับส่วนเล็กๆให้ได้ก็พอแล้ว คือยังมีเทียน มีอะไรที่เราจะพอมองเห็นว่าเออ ยังมีแสงสว่างอยู่นะ ทำให้เรายังรู้สึกว่าถ้าไม่นิยามว่าเป็นคอมมิวนิสต์หรือว่าเป็นคนหัวก้าวหน้าอะไรต่างๆ เป็นคนธรรมดาแต่มีจิตใจที่งดงามและก็มีความฝันที่ไม่ริบหรี่เลยนี่นะ ยังมีความฝันที่สุกสกาวแบบครูได้นี่ก็ยังเป็นแบบอย่างให้เราได้ คือตอนนั้นพรรคคอมมิวนิสต์ก็ทำให้เราหดหู่นะ มาอยู่กับสังคมเมืองก็ทำให้เราปรับตัวไม่ได้ ถ้าพูดถึงไปอยู่กับรัฐบาลก็ยิ่งไปใหญ่ใช่ไหม เรายังไม่สามารถที่จะยอมรับเขาได้ แต่เราก็เห็นคนธรรมดาสามัญชนแต่ท่านก็ยังมีไฟให้เราได้เห็นเป็นแบบอย่าง ตอนนั้นไปอยู่กับครู ครูจะพาไปดูคนที่ทำสมุนไพรบ้าง พ่อนี่พาไปสันติอโศกไปดูเขาสวดมนต์กันยังไง เขาตั้งชุมชนช่วยตัวเองอย่างไร แต่ถ้าพูดถึงไปเชื่อมกับเพื่อนที่ทำกิจกรรม เขาปิดประตูเลยนะ เขาบอกว่าไอ้พวกนี้ทรยศประชาชน ทรยศไม่ต้องพูดกับมัน
พอเรากลับออกมาเราไม่เคว้งคว้างนะ คนอื่นอาจจะเคว้งคว้างเพราะว่าหลายคนนี่เขารู้สึกว่าเขาเลิกเรียนแล้วเขาก็ทุ่มเทแล้วเขาก็ผิดหวังเขาก็เสียใจแล้วเขาก็ตั้งตัวไม่ได้ แต่เราโชคดีมากเลยมาเจอคล้ายๆคนที่ท่านมีวัฏปฏิบัติที่ดีงาม อยู่อย่างสมถะ เรียบง่ายและก็ทำตัวทุกลมหายใจท่านคิดแต่เรื่องดีดี อย่างพ่อประดับอย่างนี้นะ ท่านคิดแต่เรื่องช่วยคน ท่านเป็นทนายที่ไม่เรียกร้องผลประโยชน์ ไม่มีการสะสมด้วย แม้ท่านจะทำงานอุทิศชีวิตขนาดนั้น ท่านยังไม่มีบ้านเป็นของตัวเองที่จะอยู่เลยนะ แต่ท่านช่วยชาวนาไม่รู้กี่ร้อยครอบครัวที่ถูกคุกคาม ถูกกลั่นแกล้ง แล้วท่านก็เป็นที่พึ่งให้กับพวกเราได้ใช้บ้าน ท่านมีเงินท่านก็ให้เรารักเราเหมือนลูกเหมือนหลาน คือพอเราไปเห็นคนดีๆแบบนี้มันทำให้เรารู้สึกว่า หนึ่งเราไม่จำเป็นที่จะต้องไปเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เราไม่สามารถจะไปควบคุมได้ สองคือว่าชีวิตที่เหลืออยู่เราอาจจะใช้ประโยชน์ ทำคุณให้เป็นประโยชน์ เป็นแบบอย่างให้คนตัวเล็ก ๆ สามเรายังรู้สึกว่าคนอื่นอาจจะเลิกล้มอุดมการณ์อะไรอย่างนี้นะ แต่เรายังรู้สึกว่าเรายังมีเพื่อน เรายังมีพลัง ทั้งๆที่เขาไม่ต้องผ่านขบวนการทางการเมืองเหมือนเราแต่ยังมีคนแบบนี้อยู่ ทำให้เราตอนหลังเราก็เลิกเรียนนะไม่ลงรามฯอย่างที่พ่อบอก คิดว่ากลับมาใช้ชีวิตที่บ้านดีกว่า เพราะว่าหลังจากนั้นมันก็เกิดเหตุการณ์คลี่คลาย มีการประกาศใช้ 66/2523 แล้วมีเพื่อนหลายๆส่วนเขาก็กลับมาใช้ชีวิตเหมือนกับเราและก็มีบางส่วนนี่เขาก็กลับไปเรียนหนังสือ แต่เรารู้สึกว่าความรู้ที่เคยเรียนมามันลงหม้อไปหมดแล้ว แล้วอีกประการหนึ่ง เรารู้สึกว่าประสบการณ์ที่ผ่านมามันทำให้เรารู้สึกว่าเราเชื่อมั่นว่าเราเอาตัวรอดในสังคมได้โดยไม่ต้องผ่านมหาวิทยาลัย เราอย่าเข้าไปอยู่ในกรงอีก เราอยากเรียนรู้โลกกว้าง มหาวิทยาลัยของเราน่าจะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชีวิต ซึ่งเราได้ผ่านประสบการณ์อะไรมาแล้วเรารู้สึกว่ามหาวิทยาลัยชีวิตนั้นยิ่งใหญ่มาก ก็ปฏิเสธการเข้ามหาวิทยาลัยก็กลับมาอ่านหนังสือทบทวนตัวเอง ไปเจอหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ เงามฤตยู ของสภาวิจัยฯ เคยอ่านหรือเปล่า ราเชล คาร์สัน ที่เขาพูดถึงการใช้สารเคมีที่เข้มข้นในอเมริกา แล้วเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร
อีกประการหนึ่งคือว่าเราอยู่กับชนเผ่าปกาเกอญอเขาก็รักเราเหมือนลูกเหมือนหลาน เขามีวิถีชีวิตที่เป็นไปอย่าง เรียบง่าย พึ่งตัวเอง สร้างชุมชนแบบอยู่เย็นเป็นสุขเป็นพี่เป็นน้องกันทั้งหมู่บ้าน มีความรักความสามัคคีกัน ไม่ต้องมีกฎหมายไม่ต้องมีตำรวจไม่ต้องมีคุกตาราง เขาอยู่กันมาได้อย่างไร เราก็คิดฝันจะสร้างชุมชนแบบนี้บ้างก็เลยกลับมาคุยกับญาติกับพ่อกับแม่บอกว่า ไม่เรียนหนังสือนะขอที่ดินพ่อได้ไหม พี่น้องก็ใจดีนะ ที่ดินของพ่อยังมี พ่อได้รับมาจากปู่ พ่อก็เลยยกให้ลูกสามคน เราเป็นคนที่ลำบากกว่าเพื่อน พี่สาวก็เรียนจบแล้วได้ทำงาน เขาก็เลยให้เราได้ที่ด้านหน้า เราก็กลับมาทำสวนตรงหัวไร่ปลายนาที่น้ำขึ้นไม่ถึงนี่ให้มันเป็นสวน โดยมีแรงบันดาลใจจากเงามฤตยูนี่แหละ ก็คือไม่ใช้สารเคมีอยากทำอะไรด้วยตัวเองแล้วก็ทำให้ชีวิตครอบครัวเล็กๆเป็นตัวอย่างให้คนอื่นได้ในเรื่องของการมีอาหารเพื่อสุขภาพกิน หรือทำอะไรที่ลดการใช้เงินได้ ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับชีวิตธุรกิจมาก อยากจะมีชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ช่วงแรกๆ ก็กลับมาเลี้ยงลูกอยู่ในสวนโดยที่ตอนนั้นพ่อของเด็กไปเป็นนักเขียน เป็นผู้สื่อข่าวเป็นอะไรที่ต้องออกไปทำงานข้างนอก ส่วนเราก็เป็นคนที่ดูแลลูก ทำไร่ทำนาอยู่ในสวน ก็ลองหาครกมาตำข้าว ปลูกข้าว ปลูกพืช ปลูกผัก ทำมันสารพัด ตอนแรกก็เอากระถินยักษ์มาลงก่อน เอาพวกพืชตระกูลถั่วมาหว่านทำให้ข้างในนี่เป็นสวนกระถินกับทองหลาง คือตอนแรกสุดนี่เอากล้วยมาปลูก มันตายหมด อยู่ไม่ได้ ปลูกอะไรก็ตายหมด เขาเรียกว่ามันเป็นที่ที่ดินมันตายแล้ว ปลูกอะไรก็ไม่ได้ มาบุกเบิกตอนนั้นปี 2524 ที่ตรงนี้ยังเป็นที่นาโล่ง ดินตายไม่มีแม้แต่หญ้าและไส้เดือน ไม่สามารถจะปลูกพืชผักอะไรได้ ก็ใช้แนวคิดเงามฤตยู ไม่ใช้สารเคมี มีเพื่อนเอาเมล็ดกระถิน หรือต้นถั่วเซนโตรซิม่า นี่เป็นถั่วที่มันเป็นพวกตระกูลเลื้อยคลุมดินไป เราก็เรียนรู้ตรงไหนที่มีพืชตระกูลถั่วนี่จะทำให้ดินดีขึ้น มีไส้เดือนเกิดขึ้น ตอนแรกเอาจอบมาขุดดินมันไม่เข้าเลยนะ ดินมันแข็ง แต่พอหน้าฝนมันลื่นไถล มะละกอนี่ล้มหมดเลยดินไม่สามารถระบายน้ำได้ก็เลยทำเป็นคูขึ้นมาแล้วปล่อยให้พืชตระกูลถั่วขึ้นเต็มเลย ทำเป็นสวนป่าไม่มีต้นไม้อย่างอื่นที่กินได้ มันเกิดอะไรขึ้นรู้ไหม มีงู มีหนู กิ้งก่า จะเอาประเภทไหน คอแดง คอสีเขียว แบบมีปีกนิดๆหรือว่าอะไร คือมันเป็นวงจรของชีวิตพืชสัตว์อะไรในนี้หมดเลย ตอนนั้นยังทดลองทุกรูปแบบให้มันฟื้นตัวด้วยตนเอง คือเรามีความเชื่อว่าสมัยอยู่ในป่าเราใช้เข็มเป็นหมอรักษาโดยใช้เข็ม ใช้อาหารแบบกินข้าวกล้อง กินพืชผัก พืชสมุนไพร ก็มีความรู้สึกว่าถ้าสมมุติคนเราสร้างภูมิต้านทานของตัวเองให้เข้มแข็งโดยการกินอาหารที่เป็นประโยชน์ อยู่กับธรรมชาติ และก็จิตใจไม่ทุรนทุรายไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่เห่อเหิมกับสังคม ให้อยู่แบบพออยู่พอกิน มันก็น่าจะดูแลสุขภาพได้ หนึ่งไม่รับสารพิษ สองดูแลตัวเองให้ปกติ สามก็คือดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับวิถีของธรรมชาติ ก็คิดว่ามันน่าจะรักษาความปกติสุขของชีวิตได้ ก็ทำแนวนี้ ตอนนั้นก็เริ่มปลูกอะไร ตอนหลังพอมีกระถินยักษ์มากขึ้นก็เริ่มแทรกแซงแล้ว เริ่มฟันกระถินมาใช้ประโยชน์ทำห้างนาทำอะไรอย่างนี้ แล้วก็เริ่มแทรกแซงปลูกอย่างอื่น ต้นไม้แต่ละต้นที่ปลูกมีประวัติหมดนะ จนมันกลายเป็นสวนผสม คือเราคิดว่าทำสวนอย่างไรเราไม่ต้องไปซื้อของกินข้างนอก มีของกินในนี้เอง มีไม้ใช้สอย มีสมุนไพร มีอะไรที่จำเป็น พอตอนหลังเราก็เริ่มทดลองทำร้านเล็กๆให้เราอยู่ได้ เริ่มเปิดตั้งแต่ปี 40 แต่ก่อนหน้านั้นก็พยายามทดลองทำบ้านตรงนี้ให้เป็นโรงเรียน ที่เรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ อยู่แบบธรรมชาติจริงๆ เก็บผัก ทำไร่ ทำนา แต่ไม่เคยใช้ปุ๋ยให้ผืนดินฟื้นตัวเอง ทำนาก็ปลูกถั่วสลับเมื่อก่อนใช้ครกตำข้าว แต่ตอนนี้ใช้เครื่องสีแล้วเป็นก้าวที่สอง ก้าวแรกนี่อยู่แบบธรรมชาติมาก ทีนี้ช่วงเปลี่ยนผ่านพอดีเลิกกับพ่อของลูก เขาไม่อยากอยู่เมือง แต่เราไปไม่ได้เขาก็ไปมีครอบครัวใหม่เป็นพ่อของต้นข้าวที่ออกรายการคนค้นคน ทีนี้เราอยู่ตรงนี้ เราก็เสียดายที่เราได้สร้างอะไรมาแล้ว ก็อยากจะทำอะไรต่อไป
ผู้สัมภาษณ์ : พี่เล่าเก่งมากเลยค่ะ หนูไม่ต้องถามเลย
คุณกัลยา : พี่ไปเข้าสโมสรฝึกการพูดแห่งลานนาไทยเชียงใหม่มา เป็นกรรมการและสมาชิกเขาได้ 6-7 ปี หลังจากมีหุ้นส่วนชีวิตใหม่ พี่ภาณุพงศ์นี่ไปเข้าเป็นสมาชิกก่อน ช่วงหลังพอเรามาชีวิตในเมืองมากๆเข้า เรารู้สึกว่าเราต้องการสร้างชุมชนที่มีความหลากหลาย มีความเคารพซึ่งกันและกันและก็เอาสิ่งดีดีที่มีอยู่ในตัวแต่ละคนมาร่วมมือกันทำให้สังคมเป็นปกติสุข คือมุมมองที่เคยมองว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมต้องมีแต่ชนชั้นกรรมาชีพ มีแต่ชนชั้นคนยากจนเปลี่ยนไปหมดเลยนะ หลังจากล้มเหลวจากพรรคคอมมิวนิสต์นี่ก็ไม่ได้มองสังคมเป็นแบบทฤษฎีหรือหลักการแบบตายตัวเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไปมุมมองของพี่เองนี่เปลี่ยนไปตามความรับรู้ก็คือหลังจากที่เรามาใช้ชีวิตและก็มีปัญหาครอบครัวเลิกกับสามีด้วยนี่ เราก็ต้องครองชีวิตให้อยู่ได้ ทำให้เรามองโลกตามธรรมชาติที่เป็น ก็คือมองทุกคนเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตาย แล้วก็มองว่าโลกมันประกอบมาจากสรรพชีวิตสมัยก่อนเราจะถูกจำกัดมุมมองว่ามีนายทุน มีกรรมาชีพ มีคนจนอะไรอย่างนี้นะ แต่โลกที่เรารับรู้จากการเปลี่ยนแปลงของชีวิตเราเอง ทำให้เรารู้ว่าธรรมชาติคือการอยู่ร่วมกันของสรรพชีวิตและมันเป็นการอยู่ร่วมกันแบบช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ไม่มีสิ่งใดแยกตัวอยู่โดดเดี่ยว และไม่มีสิ่งใดที่เป็นสิ่งเดียวที่อยู่ได้ คือมันต้องเป็นแบบมีคนไทย มีคนฝรั่ง มีคนผิวดำ มีคนผิวขาว มีคนพูดภาษานี้ภาษานั้น เป็นคนทุกเผ่าพันธุ์ เป็นคนทุกชนชาตินอกจากมีคน มีสัตว์มีต้นไม้ มีสิ่งที่เราต้องมองโลกแบบองค์รวม มีความหลากหลายต้องอยู่ร่วมกันแล้ว วิธีคิดในการมองโลกมองสังคมก็จะปรับเปลี่ยนไป เมื่อเราต้องการที่จะทำงานเพื่อสังคมนี่ วิธีการทำงานของเราคือจะต้องทำอย่างไรที่จะร่วมมือกับคนที่มีความดีความงามอยู่ในตัว ไม่ว่าคุณจะถูกนิยามว่าเป็นนักการเมือง เป็นเอ็นจีโอ เป็นฝ่ายซ้าย เป็นพวกออกป่า เป็นนายทุน เป็นกรรมกร เป็นชาวนา คุณจะถูกนิยามจากใครต่อใครว่าเป็นพวกไหนๆ แต่เราจะไม่มีพวกเรามีแต่เพื่อน เพื่อนที่มีความหวังดีต่อโลก ต่อสังคม มาร่วมมือกันทำงาน เพราะฉะนั้นพอนิยามของเรามันเปลี่ยนไปวิธีการทำงานก็จะเปิดกว้างมาก เปิดกว้างให้คนทุกเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ ทุกฐานะเข้ามาเรียนรู้ร่วมกับเรา และก็ทำให้เราเป็นส่วนหนึ่งของโลก ของสังคม โดยไม่มีการกีดกั้น ไม่จำกัดว่าคุณเป็นรัฐบาลเราไม่ร่วมด้วย คุณเป็นนักการเมืองเราไม่ร่วมด้วย สมมุติเราทำงานในเรื่องของการใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ คิดค้นวิธีการอยู่แบบพออยู่พอกิน และก็ให้สิ่งที่เราเรียนรู้มันเป็นประโยชน์ต่อสังคม ใครมาแนะนำอะไรดีๆเราก็จะรับฟัง คือเราคิดมาจากว่าเราเรียนรู้ธรรมชาติ เราน่าจะเอาความดีความงามในตัวทุกคนมาร่วมกัน อย่าไปพูดเลยความต่างมันต่างกันอยู่แล้ว ครอบครัวเดียวกันพี่น้องกันมันก็ต่างกัน มันไม่จำเป็นว่าต้องคิดเหมือนกัน แล้วแต่เหตุปัจจัย สิ่งที่หล่อหลอมเรามามันแตกต่างเพราะฉะนั้นเราต้องมองให้มันไปสู่เนื้อหาข้างในก็คือมีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตายมั้ย เมื่อเราเข้าใจแล้ว เราต้องทำหน้าที่ของเรา ณ ปัจจุบันนี้ให้ดีที่สุด ถ้าเรารู้แค่นี้ ทุกคนก็เป็นเพื่อนกันได้แล้ว มันทำให้โลกทำให้บ้านเมืองดีได้ คือมันมีหลายช่องทางที่จะไปบรรลุ เราต้องยอมรับว่าทุกคนสามารถที่จะสร้างสรรค์ชีวิตของตัวเองแต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือไปถึงจุดหมาย ให้เกิดสังคมที่อยู่เย็นเป็นสุข นี่คือข้อสรุปสุดท้ายที่ได้จากชีวิตที่ผ่านมา เลยเกิดโครงการสหวิถีเพื่อชุมชนยั่งยืน มูลนิธิไชยวนาครูองุ่น มาลิก ขึ้นมาที่มีพี่ภาณุพงศ์ ไชยวรรณ์ อาจารย์มนัส จินตนะดิลกกุล และ เพื่อนๆศิษย์ครูองุ่น มาช่วยกันทำงานนี้
ผู้สัมภาษณ์ : อยากให้พี่นิยามจากความรู้สึกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
คุณกัลยา : คือมองว่าสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นมันเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ มันมีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิด เรามองอดีตก็ขอให้เป็นการเรียนรู้ทำความเข้าใจ ไม่ใช่ลบอดีต เพราะเราไม่สามารถลบอดีตได้ เราไม่สามารถใช้ปัจเจกของเรานี่ไปห้ามหรือว่าไปตัดสินสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ มันมีเหตุและปัจจัยในการเกิดและการดับไป เรามีหน้าที่ที่จะเรียนรู้ เข้าใจและก็ร่วมมือให้เกิดการคลี่คลายไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น นั่นคือว่าศึกษาจากอดีตและนำมาปรับใช้ในปัจจุบันเพื่อสร้างอนาคตให้ดีขึ้น หลายคนอาจจะรู้สึกผิดหวังล้มเหลวแต่พี่ไม่นะ พี่รู้สึกว่าการเกิด 14 หรือ 6 ตุลามันก็ไม่ใช่เกิดลอยๆ ด้วยมันมีคุณูปการมาตั้งแต่ปี 2475 ตั้งแต่คณะราษฎร มีเสรีไทย มีคนที่คิดเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมรุ่นแล้วรุ่นเล่า เสรีไทยก็มีประโยชน์ต่อสังคมไทยมีการก่อคุณูปการให้กับเราทำให้เราได้บ้านเมืองที่เรายังมีอิสรภาพ ทำให้คนชั้นกลางสามารถมีการศึกษา ท่านปรีดีนี่ผลักดันให้ลูกคนยากคนจนได้เรียนหนังสือ ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ก็เปิดช่องทางให้ชนชั้นกลางได้เรียนรู้ ชาวไร่ชาวนาที่ต้องต่อสู้กับความยากจนความแร้นแค้นของชีวิตก็ได้มีโอกาสได้พัฒนาตัวเองทำให้เป็นอิสรชนขึ้นมา เราต้องมองการอธิบายสังคมทั้งกระบวน เราไม่ได้มองแบบการตัดยอดเฉพาะส่วน เพราะฉะนั้นคุณูปการของ 14 ตุลา หรือ 6 ตุลา หรือหลังจากนั้นก็ดีนี่ มันเป็นสิ่งที่คิดว่าทำให้เกิดผลดีกับบ้านเมือง คนไทยค่อนข้างจะมีอิสรภาพในการเรียนรู้ในการรับรู้ ในการใช้ชีวิต ในการเลือกทางเดินแตกต่างจากเพื่อนบ้านหลายประเทศ เป็นเผด็จการนะ สู้ไม่ได้เลยนะ ปราบหมดอะไรอย่างนี้ หรือบางประเทศผู้นำกับประชาชนคนละเรื่องเลย หลอกลวงกันได้อยู่ แต่ของเรานี่ว่าเขาได้ มีอิสระที่จะมีช่องวิพากษ์วิจารณ์ ถึงแม้หลายๆอย่างจะไม่ลงตัว กฎหมายต้องคลี่คลายอะไรต่างๆ แต่เรามองว่าถึงที่สุดแล้วการเปลี่ยนแปลงมันต้องเริ่มจากคนเล็กๆเท่านั้น เพราะฉะนั้นคิดว่าการกำหนดระเบียบ กฎหมายหรือการเปลี่ยนแปลงจากบนลงล่างอะไรต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นนี่ก็ยังเชื่ออยู่ดีว่าฐานรากที่ดีนั้นอยู่ที่แต่ละคนนี่แหละอยู่ที่สำนึกพื้นฐานของแต่ละส่วนของสังคมไม่ว่า คุณจะเป็นนักเรียนนักศึกษา เป็นสามัญชน หรือว่าจะเป็นคนที่มีตำแหน่ง มีฐานะอะไรต่างๆ หากตระหนักรู้ถึงการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ดีงามได้นี่ให้มาสร้างสรรค์ร่วมกัน คือเราเอาอดีตทั้งหมด ตั้งแต่เราต่อสู้เรียกร้อง เดินขบวน เข้าป่าไปจับอาวุธ โค่นล้มมาคือมีรูปแบบหลายๆอย่างเอามาเป็นบทเรียนว่าถึงที่สุดแล้วการเปลี่ยนแปลงมันน่าจะเริ่มต้นจากข้างในของแต่ละคนก็เริ่มต้นจากสิ่งที่เป็นไปได้จริง เริ่มต้นจากการร่วมไม้ร่วมมือจากทุกคนในชุมชนก็จะสามารถเข้ามาเกาะเกี่ยวกัน เห็นว่าควรจะทำอะไรที่ดีงามในชุมชนในสังคม น่าจะสร้างพลังจากส่วนเล็กๆ นี่ขึ้นมาและต่อเชื่อมโยงกันเป็นฐานที่มั่นคงดีงามของสังคม คือตอนนี้เราไม่สามารถสร้างไทยที่เป็นอิสระ ภาคเหนือก็เป็นอิสระไม่ได้ เราต้องเปิดกว้างเป็นสากลเลย ก็คือร่วมมือกับทุกๆชาติเชื้อเผ่าพันธุ์ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกความเชื่อไม่มีข้อสรุปเดียวที่ถูกต้องหมดไม่ใครดีอยู่คนเดียว ถูกต้องอยู่คนเดียว เราเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ก็ทำส่วนนั้นๆให้ดีที่สุด เป็นความงดงาม ความหลากหลายที่งดงาม
จบการสัมภาษณ์
|