บทสัมภาษณ์ -นิวัติ แก้วล้วน
วันที่ 17 ก.ค. 2552 เวลา : 13.10 น.
สถานที่ สภาทนายความ กรุงเทพมหานคร
ผู้สัมภาษณ์ : ชัชชล กาญจนกิตติ และ วาสิฏฐี บุญรัศมี
ตามโครงการของมูลนิธิ 14 ตุลา ในการรวบรวมปากคำของคนที่อยู่ในเหตุการณ์ เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลเพื่อการศึกษาต่อไป
เริ่มสัมภาษณ์
ผู้สัมภาษณ์ : อาจารย์เกิด ปีไหนครับ
คุณนิวัติ : ผมเกิดปี พ.ศ. 2497 ที่ขอนแก่น ผมเป็นคนขอนแก่น
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้น ทางบ้านประกอบอาชีพอะไรครับ
คุณนิวัติ : ทำนา
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วอาจารย์เริ่มเข้ารับการศึกษา ที่ไหนครับ
คุณนิวัติ : ก็เรียนที่หมู่บ้านครับ ชื่อ โรงเรียนบ้านหนองตูมวิทยาคม พอจบ ป.4 แล้วก็บวชเป็นเณร
ผู้สัมภาษณ์ : ครับ
คุณนิวัติ : ปี พ.ศ.2510
ผู้สัมภาษณ์ : บวชเป็นเณรที่นั่นเลยหรอค่ะ
คุณนิวัติ : ครับ ที่ตัวจังหวัดขอนแก่น
ผู้สัมภาษณ์ : ครับ
คุณนิวัติ : พ.ศ. 2513 ก็เข้ามาอยู่กรุงเทพ
ผู้สัมภาษณ์ : ครับ
คุณนิวัติ : อยู่วัดนาคกลาง
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นเข้ามาอยู่คนเดียว หรือว่า..
คุณนิวัติ : มาอยู่กับพี่ชาย
ผู้สัมภาษณ์ : ก็คือบวช บวชมาด้วยกัน
คุณนิวัติ : ครับ บวชมาด้วยกัน พี่ชายเขาเป็นเปรียญธรรม เป็นครูสอนนักธรรมบาลี ที่วัดนาคกลางแล้วก็ตอนนั้นเขาเอามาอยู่ด้วย
ผู้สัมภาษณ์ : ก็คือได้เรียนวิชาความรู้ต่างๆ ทางวัดจัดสอน
คุณนิวัติ :ในช่วงนั้นก็จะเป็นตอนที่ผมบวชก็เรียนพวกนักธรรมบาลีก็ไม่ประสบความสำเร็จคือไม่ได้เป็นมหาเปรียญ
ผู้สัมภาษณ์ : ค่ะ ครับ
คุณนิวัติ : และมีเวลาว่างก็ไปเรียนวิชาอื่น ๆ และได้เข้าเรียนวิชาวาดเขียน
ผู้สัมภาษณ์ : ที่สอนในวัดหรอค่ะ
คุณนิวัติ : ไม่ครับ ที่โรงเรียนไทยวิจิตรศิลป์ ตอนนั้นเป็นโรงเรียนกวดวิชา
ผู้สัมภาษณ์ : ครับ
คุณนิวัติ : พอเราเรียนโรงเรียนกวดวิชาสมัยก่อน มันมีสอบวาดเขียน ตรี โท เอก ของกรมอาชีวะศึกษา
ผู้สัมภาษณ์ : ครับ
คุณนิวัติ : ก็ไปสมัครสอบเป็นชุด ผมสอบอยู่ 3 ปี ก็ได้วาดเขียนโท แล้วก็พอปี 2518 ผมก็สึก
ผู้สัมภาษณ์ : ระหว่างที่เติบโตอยู่ในขอนแก่น กับได้มาเล่าเรียนกับทางวัดในกรุงเทพมหานคร ลักษณะบ้านเมืองตอนนั้น แตกต่างกันไหมค่ะ สองที่นี้
คุณนิวัติ : คือ สภาพขอนแก่น ก็ยังเป็นสภาพชนบท
ผู้สัมภาษณ์ : ครับ
คุณนิวัติ : ที่บ้านผมน่ะครับ ก็ยังเป็นการพึ่งพาอาศัยกัน ไม่ค่อยจะได้ซื้ออะไรกินเท่าไหร่ แต่ที่กรุงเทพ สภาพบ้านเมืองตอนที่เข้ามาอยู่กรุงเทพแล้วเนี่ย
มันก็มีอยู่ประเด็นเดียว ที่เค้าเรียกร้องกันก็คือ ต่อต้านเผด็จการ แล้วก็ให้มีรัฐธรรมนูญ ตอนนั้นที่โค่นล้ม คือ รัฐบาลถนอม ประภาส อะไรเนี่ย
ตอนนั้นที่เราอยู่ในวัด ก็ได้รับรู้ ได้รับรู้แค่นี้ ช่วงก่อนเกิด 14 ตุลา
ผู้สัมภาษณ์ : ครับ
คุณนิวัติ : ที่นี้ในช่วงที่เป็นเณรอยู่ ในช่วงปี 13 , 14 , 15 เนี่ย ช่วงนี้อ่ะนะ ทางวัดเนี่ย เวลาวัดต่าง ๆ เค้าจัดงาน ส่วนมากพระ เณรที่อยู่ในกรุงเทพ
จะเป็นคนทางภาคอีสาน กับภาคใต้เยอะ อย่างวัดที่ผมอยู่เอง จะเป็นคนปราจีนบุรี เพราะว่าเจ้าอาวาสเป็นคน ปราจีนบุรี เป็นคนที่พูดภาษาลาว
เค้าเรียกพวกลาวปราจีน พวกอำเภอประจันตคาม ส่วนมาก งั้นเวลาจัดงานในวัดนี่ คนที่ถูกเชิญไปพูดในวัดค่อนข้างจะเยอะ ส่วนมาก คือ คุณไขแสง สุกใส ในยุคนั้นนะครับ
ผู้สัมภาษณ์ : ครับ
คุณนิวัติ : เพราะเค้าเป็นคนอีสาน และเค้าก็จะพูดเรื่องธรรมะนั่นแหละ เค้าก็แทรกเรื่องความไม่เป็นเสรีภาพของการเมืองเข้าไป เผด็จการ ก็เลยได้รับรู้ รับฟัง
ผู้สัมภาษณ์ : คือเคยได้รับการฟังแบบตัวต่อตัวมาเลย
คุณนิวัติ : เป็นเวทีอภิปราย สมัยก่อนเค้าใช้ คำว่า อภิปรายเชิงโต้ คล้ายๆ ว่าไปโต้แย้งกัน ทางวัดก็จะจัดงานแบบนี้ ก็จะได้รับรู้ข่าวการเมืองผ่านในลักษณะนี้ ทางทีวี ข่าว เนี่ยก็น้อย ไม่เหมือนทุกวันนี้
ผู้สัมภาษณ์ : มีมาแบบกระแสอย่างนี้อย่างเดียวเลยเหรอค่ะ หรือว่ามีฝ่ายอื่นออกมาในวัด ออกมาให้ความรู้ด้วย
คุณนิวัติ : คือว่า จะไม่ค่อยชัด ฝ่ายอื่นก็จะเป็นข่าวตามวิทยุ การที่จะออกไประดมคน หรือการจัดอภิปราย อย่างต่อต้านกันทั้งสองฝ่าย ยังไม่ชัดเจน
ผู้สัมภาษณ์ : ช่วงนั้นก็คือก่อน 14 ตุลา
คุณนิวัติ : ก่อน 14 ตุลา ช่วง ปี 2514 2515
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วอย่างพวกกิจกรรมของนักศึกษา มีไหมค่ะ
คุณนิวัติ : ช่วงนั้นผมยังไม่รับรู้ แต่เท่าที่รู้ เหตุการณ์นักศึกษา เท่าที่ไปร่วมฟัง ตอนเป็นเณร ก็เคยมาฟัง การอภิปรายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มันก็จะเป็นลักษณะพูดเชิงสังคมมากกว่า ก็จะไม่ชัดเจนถึงว่า การเมืองจะไปในทิศทางไหน แต่เป็นเพียงว่า ทางสังคม ทำไมเรามีคนเสียเปรียบ ได้เปรียบ ยังไม่ถึงที่ว่า การเมืองเท่าที่มาฟังนะ อย่างคู่อภิปรายหลักๆ ก็จะมี พวกสมัยก่อน ก็มี อาจารย์เสฐียรพงษ์ ส่วนมากก็จะเป็นพวกมหาเปรียญ
เป็นคนมาอภิปรายให้พระ เณรฟังเนี่ยนะครับ ถ้าเป็นนักการเมืองที่เรามองว่าเป็นนักการเมืองจริงๆ ก็จะมี อาจารย์ ไขแสง สุกใส ไม่งั้นก็เป็นนักการเมืองทางอีสาน
ผู้สัมภาษณ์ : กลุ่มไหนค่ะ
คุณนิวัติ : กลุ่มซ้ายนั้นแหละ ถ้าจะพูดไปทางนั้นแล้ว ก็จะเป็นกลุ่มสังคมนิยม
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วพออย่างได้รับฟัง สิ่งเหล่านี้เนี่ย เริ่มมีการจับกลุ่มพูดคุยประเด็นแบบนี้กันบ้างไหมครับ
คุณนิวัติ : คือ ช่วงที่เป็นเณร ช่วงนั้นจริง ๆ เข้ามาพูดเรื่องความแห้งแล้ง เรื่องความเสียเปรียบ เรา แทบไม่จำเป็นต้องรับฟังเลย
เพราะเราเผชิญความเป็นมาอย่างนั้นอยู่แล้ว เรารู้อยู่แล้วว่าความทุกข์ยาก ของคนชนบทเป็นยังไง
ผู้สัมภาษณ์ : ค่ะ
คุณนิวัติ : เพราะบ้านเราก็เป็น พอน้ำมาก็ท่วม พอถึงหน้าแล้งก็แล้ง มันก็เป็นปกติอยู่แล้ว นั่นคือประเด็นของปัญหา จริงๆ ก็เข้าใจดีอยู่แล้ว
การเสียเปรียบทางสังคมมันชัดเจน ในช่วงนั้นนะ เราก็เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหว ของบุคคลที่เคลื่อนไหว เพียงแต่ว่าเรายังมองออกไม่ชัดเจนโดยรวม ในภาพรวม คนที่บวชเป็นเณรในช่วงนั้น ผมก็มีอายุ 15-16 ปีเองนะครับ พอจบ ป.4 มาเนี่ยนะครับก็อายุประมาณ 7 ปี 8 ปี
ผู้สัมภาษณ์ : เอามาเรื่องของในเมืองนี่แหละค่ะ บรรยากาศในวัดที่พี่บอกว่าเป็นการส่งเสริมเรื่องเหตุการณ์บ้านเมือง
คุณนิวัติ : มันไม่ใช่ส่งเสริมคล้ายๆว่า เขาจะจัดงานประจำปี
ผู้สัมภาษณ์ : ให้เขารู้ว่า
คุณนิวัติ : ก็จะมีการอภิปราย ในการอภิปรายก็จะนิมนต์พระ เชิญโยม ที่เป็นฆราวาสเนี่ยนะ มาเป็นองค์ปาฐก เพราะฉะนั้นพระที่ มีความคิดก้าวหน้าในสมัยก่อนเนี่ยนะ อย่างอาจารย์ เสฐียรพงศ์ บางทีเวลาพูดก็จะถูก ฝ่ายทางบ้านเมืองท้วงติง คือบางที ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพระหนุ่มเณรน้อยในสมัย ก่อนจะมี คำว่า กลุ่มยุวสงฆ์
ผู้สัมภาษณ์ : ยุวสงฆ์
คุณนิวัติ : ยุวสงฆ์นี่ก็คือ กลุ่มเคลื่อนไหว ในสมัยที่มีการถอดยศพระพิมลธรรม ก็จะมีการเคลื่อนไหวให้คืนยศพระพิมลธรรม กลุ่มก็รวมตัวกันที่มีการชุมนุมของพระสงฆ์สามเณรที่วัดมหาธาตุ กลุ่มนี้ก็จะถูกมองว่าเป็นพระคอมมิวนิสต์ แต่จริงๆแล้ว กลุ่มนี้ เค้าออกมาต่อต้านเรื่องฐานันดรของพระ คือไม่เห็นด้วยที่จะมีเจ้าคุณ พระไม่ควรที่จะมียศ มีตำแหน่งว่างั้น นี่คือ เงื่อนไขของกลุ่มยุวสงฆ์ ที่ลุกขึ้นมาต่อต้าน
ผู้สัมภาษณ์ : ค่ะ
คุณนิวัติ : หรือถ้ามี เคยต่อต้านถึงขนาดเถระสมาคม ควรจะมีการเกษียณ นี่คือการเมืองภายในวัด ใช่ไหม เพราะในวัดเนี่ย ไม่รู้ว่าพวกเรารู้กันรึเปล่า ว่าในเมืองไทยเนี่ย มีมหานิกายกลุ่มหนึ่ง ธรรมยุตกลุ่มหนึ่ง คือ มี 2 นิกายหลัก ๆ
ผู้สัมภาษณ์ : ค่ะ
คุณนิวัติ : ตอนนั้นมันมี อยู่ 2 นิกาย ถ้าเป็นธรรมยุต ก็เป็นมหาวิทยาลัยมหามกุฎฯ ถ้าเป็นมหานิกาย ก็จะเป็นมหาวิทยาลัยจุฬาฯ ก็จะแยกกัน
ในกลุ่มพระที่เป็นพระหนุ่ม พระที่มีความคิด ในส่วนที่ประพฤติ ปฏิบัติธรรมวินัย ก็จะแยกกันไป แต่ถ้าในทางการศึกษา ก็จะไม่แยก คือไม่มีเหตุ
นี่คือลักษณะ เพราะฉะนั้นเวลาการประสาน เวลาการเคลื่อนไหว มันถึงเป็นลักษณะการเคลื่อนไหว ถ้าพูดไปแล้ว ในมุมมองของพระผู้ใหญ่บางท่าน
ก็จะมองว่า นั่นคือการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่กลุ่มพระที่เคลื่อนไหวมองว่า เป็นการปรับโครงสร้างทางสังคมของตัวเอง เพราะฉะนั้นพระกลุ่มนี้
ก็จะมีการส่งเสริมให้มีการเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ขยายเครือข่ายการเรียนออกไป อย่างของมหาวิทยาลัยจุฬาฯ เนี่ย ก็จะขยายเครือข่ายเร็ว
นี่คือลักษณะหนึ่ง การทำงานของพระในยุคนั้นที่ผมได้ร่วมงานกับเค้าน่ะนะ พอเราเคลื่อนไหวจุดนี้ หนักๆ พระผู้ใหญ่ท้วงติงว่าไม่เหมาะสม
ในส่วนของงานนักศึกษาเอง ในยุคนั้น ที่ติดตาม ก็จะมีในส่วนงานของอาจารย์ป๋วย
ผู้สัมภาษณ์ : บัณฑิตอาสาออกสู่ชนบท
คุณนิวัติ : อืม พวกบัณฑิตอาสาออกสู่ชนบท โครงการนี้ก็จะถูกต่อต้าน ก็จะมีนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่จะออกไปสู่ชนบท ก็จะเหมือนกับการออกค่ายของนักศึกษาในทุกวันนี้
ผู้สัมภาษณ์ : ไอ้นี่ก็จะเหมือน ช่วงหลัง 14 ตุลา
คุณนิวัติ : ก่อนครับ พวกนี้เกิดมาก่อนทั้งนั้น
ผู้สัมภาษณ์ : พวกบัณฑิตอาสาเนี่ยนะ
คุณนิวัติ : จิตอาสาเกิดมาก่อนทั้งนั้น เพียงแต่ว่า มันไม่ได้แยกคณะนะครับ เพียงแต่ว่ามันเป็นจุดที่แต่ก่อนไม่มีใครรับรู้ การทำงานเชิงลึก สมัยก่อนเราเรียกว่าเป็นงานจัดตั้ง
ผู้สัมภาษณ์ : นี่คือมีการพูดคุยกันก่อน 14 ตุลา
คุณนิวัติ : ตั้งแต่เป็นเณรแล้ว คือกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ในกลุ่มพวกผม จะมีพวกมหาเปรียญอะไรเนี่ยเยอะ ที่เป็นกลุ่มกัน เพียงแต่ว่ามันก็เป็นส่วนหนึ่ง
เราก็คุยได้ในเฉพาะกลุ่มนี้
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วอย่าง14ตุลานี่พี่ได้รับรู้พัฒนาการ อย่างไรบ้าง
คุณนิวัติ : คือ14 ตุลานี่ เท่าที่เรารับรู้เนี่ยเราก็รับรู้จากข่าวหนังสือพิมพ์ที่รับรู้ในวันเกิดเหตุจริงๆเนี่ย เราก็รู้ว่า มีการยิงกันตาย เพียงแต่ว่าภายหลังจากที่ เหตุการณ์สงบ หลังจากวันมหาวิปโยค ที่ในหลวงว่าเนี่ย ในวัดก็จะมีการอภิปรายในลักษณะที่มากขึ้น คนที่ไปพูดในวัด ก็จะมีคุณ จีรนันท์ พิตรปรีชา ตอนนั้นเรียนอยู่ธรรมศาสตร์ คุณเสกสรรค์ ประเสริฐกุล คุณ ธีรยุทธ บุญมี คุณเสาวนีย์
ผู้สัมภาษณ์ : เสาวนีย์
คุณนิวัติ : เสาวนีย์ ลิ้มมานนท์ พวกนี้จะถูกเชิญมาพูดในวัด ในฐานะนักศึกษา เพื่อไปเล่าเหตุการณ์ให้ฟัง ตอนนี้แหละ ก็จะเริ่มที่จะมีทั้งสองฝ่าย บนเวทีเดียวกัน เค้าก็จะมีข้อมูลในเชิงทหาร เห็นได้ชัดว่าสังคมเวลามีข่าวจะมีข้อมูลลักษณะ ในเชิงคัดค้าน และเชิงเห็นด้วย แต่มันไม่มีลักษณะโต้แย้งกันชัดเจน
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นก็คือ อย่างตอนเกิด 14 ตุลา โดยส่วนตัวอาจารย์ เห็นด้วยกับการที่เค้าขับไล่รัฐบาล หรือ การเคลื่อนไหวของนักศึกษาในครั้งนี้
คุณนิวัติ : คือช่วงนั้นน่ะนะ เราเห็นด้วยเกี่ยวกับแนวคิด เกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาชนบท เพราะเรามาจากชนบท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทำนาไม่ได้ผล
สินค้าการเกษตรเข้าสู่ในเมืองได้ไม่สะดวก คือในช่วงโน้น มันมีแนวคิดอยู่ครับ ที่เวลาเราไปซื้อของเนี่ย เราก็กำหนดราคาไม่ได้ พอเราทำนา
เราจะขายข้าวเราก็กำหนดราคาไม่ได้ มันก็ทำให้เราเกิดความคิด ว่าสิ่งที่เค้านำเสนอเนี่ยมันเป็นไปได้ แต่ช่วงนั้นยังไม่ได้พูดถึงพรรคคอมมิวนิสต์อะไรเลยนะ
เพียงแต่ว่าพูดถึงความเป็นธรรมในสังคม เรื่องการแก้ไขปัญหาเท่านั้นเอง
ผู้สัมภาษณ์ : ข่าวเรื่อง 14 ตุลา จะรับรู้ข่าวจากสื่อต่างๆ
คุณนิวัติ : ครับ และจากเวทีอภิปราย สมัยก่อนถ้าเราจะหาความรู้ ที่ไม่ใช่ไปเรียนหนังสือเนี่ยนะ เพราะส่วนมากตอนเป็นเณร วันอาทิตย์ก็จะหยุด
เค้าก็จะจัดอภิปราย อย่างเช่น โรงบาลสงฆ์ก็จะจักเรื่องนี้ ธรรมศาสตร์ก็จะจัดเรื่องนี้ เราก็จะตามไปฟัง ว่าเรื่องนี้เราสนใจ หรือไม่สนใจ ก็จะมีแหล่งที่เรียนคือ วัดโพธิ์ วัดมหาธาตุ
ผู้สัมภาษณ์ : เรียนวิชาการ
คุณนิวัติ : ไม่ใช่ เค้าเรียกว่า เรียนทางโลก ระดับ 3 ระดับ 4 คือ ป.7 ม.ศ.3 บางคนก็จะไปเรียนภาษาอังกฤษ ตรงระเบียงวัดมหาธาตุ
เพราะที่วัดมหาธาตุเนี่ย เค้าจะมีเรียนภาษาอังกฤษ มีเรียนหมอดู มีเรียนเยอะแยะไปหมด ก็จะเลือกไปเรียนแบบนั้น ถ้าใครเลือกเรียนบาลี
ก็จะมีสำนักเรียนอยู่ในวัดต่าง ๆ อย่างวัดนาคกลาง ก็จะมีสำนักเรียนเป็นของตัวเอง
ผู้สัมภาษณ์ : อย่างบรรยากาศล่ะค่ะ ช่วงที่คอยสังเกตการณ์ ก่อน 14 ตุลา และ หลัง 14 ตุลา มันแตกต่างกันไหม รู้สึกว่ามันมีอย่างที่เค้าบอก เสรีภาพมันเบ่งบานรึเปล่า
คุณนิวัติ : คือตอนช่วงโน้น ผมว่ามันชัดเจน ชัดเจนตรงที่ว่า รัฐบาลมาจากทางทหาร มาจากการแต่งตั้ง มาจากคำสั่ง เสร็จแล้วเนี่ย คนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านเนี่ย เท่าที่เรามองเห็นนะ มันเหมือนนักศึกษาลุกขึ้นมาต่อต้านเอง เพราะเราไม่รู้กลไกจริง ๆ ว่าใครคือผู้จัด แต่ในการที่เราออกมาร่วมเนี่ย เรามาร่วมในลักษณะว่าเป็นนักศึกษาจัดกันเอง อาศัยกันเอง เคลื่อนไหวกันเองนะครับ คือต่อมาเนี่ย ในช่วงก่อน 14 ตุลา เป็นลักษณะ อย่างนั้นจริง ๆ เป็นช่วงการเคลื่อนไหว แต่คนที่เข้ามาจริงๆ ก็คือ มี พี่ไขแสงคนเดียวที่ผมพอจำได้ ที่เข้ามาค่อนข้างจะชัดเจน ก่อนการเคลื่อนไหว 14 ตุลา ไม่ว่าจะเป็นเวทีไหน มักจะเป็นพี่เค้าหมด ไม่ว่าจะเป็นเวทีพระ เวทีนักศึกษา เวทีโยม ที่ไหน ก็จะมีพี่ไขแสง ก็จะถูกเชิญไป สาเหตุที่เชิญพี่ไขแสง ผมก็มองว่าพี่เค้าก็ไม่ได้มีอุดมการณ์อะไรมากมายนะในยุคนู้น เพียงแต่ว่า แกเป็นคนพูดสนุก คือแกพูดแล้วคนอยากไปฟัง แต่ทีนี้ในความสนุกของแก ลึกๆก็คือ สิ่งที่แกนำเสนอ คือส่วนมากที่พี่ไขแสง แกจะเสนอความเป็นคนอีสาน ความเป็นตัวตนของบุคคล คนเรามีศักดิ์ศรีทุกคน อะไรทำนองนี้ มันก็เหมือนการไปทำให้คนลุกขึ้นมาเพื่อต่อสู้ เพราะฉะนั้น พอแกพูดไปถึงจุดหนึ่ง คนเราเมื่อมีศักดิ์ศรี ก็ต้องมีเสรีภาพ ต้องมีอิสระ ใช่มั๊ย มีสิทธิ์ที่จะคิด มีสิทธิ์จะปกครองตัวเอง ก็จะเป็นในรูปนี้
ผู้สัมภาษณ์ : ขอย้อนกลับไปก่อนเกิดเหตุการณ์นะค่ะ กรณีที่จับ 13 คน ที่เป็นกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ แล้วมีชื่อของ คุณไขแสงอีกด้วย
บรรยากาศภายในวัดที่เคยรับรู้มันเปลี่ยนแปลงไปยังไงเพราะเป็นคนที่เคยรู้จักกันมา
คุณนิวัติ :คือที่วัดเนี่ยนะบรรยากาศภายในวัด ถ้าเป็นพระหนุ่ม เณรน้อย ที่มีอายุน้อย ก็จะค่อนข้างเห็นด้วย แต่ก็จะถูกห้ามปราม จากพระผู้ใหญ่
ซึ่งเป็นระดับเจ้าอาวาสหรือเป็นฝ่ายปกครองวัดนั้น ๆ เพราะท่านถือว่า พระเณรเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ได้ ถ้าใครออกไปเคลื่อนไหว
ก็จะถูกให้ออกจากวัด จะเป็นกฎของวัด เพราะฉะนั้น สิ่งที่รับรู้ก็คือ พูดคุยกันได้ แต่จะจัดงานเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ไม่ได้ แต่ในช่วงก่อน 14 ตุลาเนี่ย
วัดจัดในลักษณะที่จัดอภิปรายไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นถึงเป็นการจัดโต้วาที กันเป็นส่วนมาก คือในช่วงก่อนที่จะเกิดเหตุ 14 ตุลา ในวัดต่าง ๆ
ส่วนมากจะไม่จัดอภิปราย เพราะถ้าจัด พวกที่มีความคิดใหม่ก็จะเข้าไป ซึ่งพระผู้ใหญ่ก็ไม่ยอมก็เลยเป็นการโต้วาที ส่วนมากจะจัดเป็นการโต้วาที
สมัยก่อนก็จะเชิญ หม่อมอภินพ เนาวรัตน์ อาจารย์สนิท สีสำแดง พวกที่เค้าจะมีคนที่พูดเรื่องการเมืองเชิงสังคมก็จะมี อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปรก
อาจารย์เสถียร พรรณรังษี พวกนี้ก็จะเป็นพระที่มีความคิดในเชิงสังคม มากกว่าพระที่เป็นเจ้าคุณทั่วๆ ไป เพราะว่าพระบางรูปพอเป็นเจ้าคุณ
ไปสวด ไปฉัน เป็นหมอดู อะไรพวกนี้ แต่พระในกลุ่มที่เป็นพระนักศึกษา เป็นพระในส่วนที่มีความคิดพัฒนาการแก้ปัญหาสังคม
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วการโต้วาที เลยจัดกันเป็นหัวข้อออกทางสังคมด้วยหรือเปล่าค่ะ หรือว่า...
คุณนิวัติ : ก็ทั่วไปนะ เช่น กินเหล้าดีกว่าเข้าวัด ขี้ดีกว่าทอง แต่จะไม่มีหัวข้อทางการเมือง แต่เพียงว่าคนไปพูดมันก็จะมีเนื้อหาของแต่ละคน
มันไม่ได้ถูกปิด หรือบางที การไปโต้จริง ๆ บางทีก็เหมือนการอภิปราย
ผู้สัมภาษณ์ : หลังจากบรรยากาศ 14 ตุลา ที่มีหนังสือของฝ่ายซ้าย ที่ออกมาเยอะแยะอย่างมากมาย ในวัดได้มีการเข้าถึงของส่วนนี้รึเปล่า
คุณนิวัติ : ก็มีการซื้อ บางทีในงาน ก็มีคนไปขาย คือ ส่วนมาก เท่าที่ผมสัมผัส อย่างสมัยหลัง 14 ตุลาเนี่ย วัดต่างๆ ก็เข้าใจว่าลูกวัด
คือ พระ เณร หรือเด็กวัด ส่วนมากจะเป็นพวกหัวซ้ายที่เข้าไปอาศัยนอนในวัด
ผู้สัมภาษณ์ : ครับ
คุณนิวัติ : อย่างที่เรารู้ๆ เด็กวัดมี อย่างที่วัดมหาธาตุมีกลุ่มคุณสมศักดิ์
ผู้สัมภาษณ์ : ใครนะค่ะ
คุณนิวัติ : สมศักดิ์ คุณเงิน ที่เคยเป็น ส.ส. ขอนแก่น แต่ก่อนเค้าก็มาเป็นเด็กวัดมหาธาตุ เค้ามาเรียนที่ธรรมศาสตร์ เค้าก็มาตั้งกลุ่มอีสานธรรมศาสตร์
พวกพี่อดิศร ก็จะก่อตั้งกันมา ที่พวกเรามาสัมผัสได้ ก็คือ หนึ่งได้รับรู้จากเด็กวัด ที่เป็นนักศึกษาและก็คือเขามีหนังสือ บางทีหนังสือก็ได้จากนักศึกษา
ที่เป็นเด็กวัดเนี่ยแหละที่ได้ไปอ่าน เพราะสมัยก่อน การซื้อหาหนังสือแบบนี้ สนามหลวง พระแม่ธรณี จะเปิดตลอดจะเป็นซุ้มหนังสือ
หนังสือที่นี่จะมีหนังสือทุกประเภท ตั้งแต่สื่อลามก อนาจารสมัยก่อนเรียกหนังสือปกขาว แล้วก็หนังสือที่เป็นคัมภีร์ สมัยก่อนหนังสือที่ถูกห้ามคือหนังสือปิศาจ ก็ถูกห้าม แผ่นดินเดียวกันของรพีพร ก็ถูกห้าม ฟ้าบ่กั้น ของลาวคำหอม ลูกอีสานเงี้ย จะเป็นหนังสือที่ไม่ให้ขาย เพราะฉะนั้นหนังสือพวกนี้จะมาหาได้ในซุ้มนี้ มันก็จะมีเล่มขาดบ้าง ไม่ขาดบ้าง แต่พอหลัง 14 ตุลา ก็จะมีสำนักพิมพ์ นำหนังสือพวกนี้ไปพิมพ์ ก็จะหาง่ายขึ้น ส่วนมากกลุ่มที่เป็นพระ เป็นเณร จะชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว ก็ซื้อ หรือบางทีก็ยืมกันอ่าน ก็มีบางที บางคนก็สนใจ บางคนก็ไม่สนใจ แต่ถ้าตัวผมเอง สมัยก่อนๆ ก็จะชอบอ่าน หนังสือ อย่างปีศาจ พวกฟ้าบ่กั้น อะไรพวกนี้ ก็จะอ่านหนังสือพวกนี้ พอในยุคนั้น ก็มีหนังสือ ในเชิงพัฒนาตนเอง เกี่ยวกับความรัก แล้วก็หนังสือเกี่ยวกับการปฎิบัติของคอมมิวนิสต์ เค้าเรียกหนังสือทฤษฎี หนังสือเล่มนี้ถูกห้ามหนัก ช่วงหลังๆ14 ตุลา ก็จะนำมาพิมพ์เยอะขึ้น
ผู้สัมภาษณ์ : พวกเด็กวัดที่มาพักในวัดเนี่ย เค้ามาทำ หรือมาจัดกิจกรรมอะไรกันรึเปล่า
คุณนิวัติ : ไม่มีครับ เค้ามาเรียนหนังสือ
ผู้สัมภาษณ์ : อ๋อ มาเรียนหนังสือและอาศัยวัด
คุณนิวัติ : ใช่ มาเรียนหนังสือ แล้วก็อาศัยที่วัด ถ้าส่วนมาก ถ้าเป็นคนใต้ถ้าย่านนี้นะครับ คนใต้มาเรียน จะพักที่วัดพระนครธรรม วัดวิเศษการ วัดอรุณอัมรินทร์ ถ้าเป็นคนทางอีสานเนี่ย จะพักที่วัด ที่คนอีสานเป็นเจ้าอาวาส มีวัดนาคกลาง ก็จะเป็นคนอีสาน วัดดาวคะนอง เค้าเรียก วัดลาวคะนองเลยนะ สมัยก่อน เพราะเจ้าอาวาสเป็นคนอีสาน ถ้าเป็นคนที่มาจากอีสาน รับไม่อั้น ถ้ามีที่นอน ก็นอนเลย คือ เพียงแต่ว่าเช้าก็ไปเรียนหนังสือ แค่มีที่นอน เย็นมีข้าวกิน ก็จะเป็นลักษณะอย่างนี้ของการเข้ามาในกรุงเทพในยุคนั้น
ผู้สัมภาษณ์ : ตัดสินใจสึกตอนปี 2518
คุณนิวัติ : ผมสึกตอนปี 18 ตอนที่ผมสึกเนี่ย ผมสอบได้วาดเขียนโทแล้ว สอบเทียบ พอสอบได้วาดเขียนโทแล้วเนี่ย มันจะต้องได้ เค้าเรียกว่ามศ.3 สมัยก่อน ผมก็เลยสึกมาเพื่อไปทำงานแล้วก็สอบเทียบ ตอนที่ผมสึกมา ในช่วงปี 18 เนี่ย ผมก็ไปทำงานที่โรงหนังเอเชีย โรงหนังเจ้าพระยาเป็นคนเขียนป้าย เขาเรียกช่างเขียน แล้วก็ไปเรียนศึกษาผู้ใหญ่ที่วัดธาตุทอง พอไปเรียนเนี่ย มันก็เริ่มที่จะได้สัมผัสกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง ของกลุ่มสหภาพแรงงาน ตอนนั้นก็จะรู้จักพี่ อารมณ์ พงศ์พงัน ตอนนั้นเค้าเป็นประธานสหภาพแรงงานการประปา คุณไพศาล ที่เป็นประธานสหภาพแรงงานการไฟฟ้า
เพราะตอนนั้นผมคิดจะจัดตั้งสหภาพแรงงานคนทำงานโรงหนัง ก็เลยเข้ามาสัมพันธ์เพื่อขอความรู้จากพี่ ๆ
ผู้สัมภาษณ์ : เพื่อเรียนรู้
คุณนิวัติ : พอเราไปเรียนวัดธาตุทอง ผมก็เป็นประธานนักศึกษาผู้ใหญ่วัดธาตุทอง ในกิจกรรมในช่วงนั้นก็คือ กิจกรรมช่วยเหลือเวลาเกิดน้ำท่วม เวลาฝนแล้ง คือเป็นการรับบริจาคเงิน สิ่งของนี้เป็นกิจกรรมของนักศึกษาอย่างหนึ่ง ที่ทำในยุคนั้นๆ ที่ทำได้ โดยไม่มีการต่อต้าน เสร็จแล้วพอ ปี19 เนี่ย
ก็มีเพื่อนหลายคนมาดูหนังแล้วก็มาชวน ว่าผมสามารถไปเรียนรามคำแหงได้ ก็เลยเอาวุฒิวาดเขียนโทไปสมัครเรียน
ผู้สัมภาษณ์ : ครับ
คุณนิวัติ : ก็เลยได้เข้าไปเรียนรามคำแหง ปี 19 เรียนนิติศาสตร์
ผู้สัมภาษณ์ : เข้าเรียนช่วง ปี 19 มิถุนายนหรอค่ะ
คุณนิวัติ : ผมไม่แน่ใจผมเข้าเทอมแรก หรือเทอม 2 แต่เข้าไปเนี่ย ผมรหัส 19 คือ พอไปเรียนเนี่ย มันก็แทบไม่อยากเรียน ไปถึงก็มีเพื่อนที่เข้าไปก่อน ส่วนมากก็ไปจากพระจากเณรเยอะ พวกที่ได้เปรียญก็ไปเรียนได้เลย เข้าไปเรียนอยู่ก่อนบ้าง พอเข้าไปก็รู้จักกัน จึงทำให้เกิดการรวมกลุ่ม พอไปเรียนรามคำแหง เพื่อนก็ชวนไปอยู่ ชมรมอีสาน มันก็มีวงดนตรี เป็นวงดนตรีอีสาน เค้าก็ให้ไปร้องเพลง
ผู้สัมภาษณ์ : เป็นนักร้อง
คุณนิวัติ : ครับ เป็นนักร้อง ไปหัดร้องเพลง แล้วก็ออกไปแสดง ออกไปเคลื่อนไหวทางการเมือง
ผู้สัมภาษณ์ : เป็นเพลงเพื่อชีวิตใช่ไหมครับ
คุณนิวัติ : เป็นเพลงแปลงนะครับ ไม่ถึงกับเป็นเพลงเพื่อชีวิต
ผู้สัมภาษณ์ : แนวเซิ้งอีสาน
คุณนิวัติ : มันก็พวกเซิ้งอีสาน ส่วนมากจะเป็นเพลงที่มาจากป่า เพลงจดหมายจากชาวนา เพียงแต่ว่าก็จะตัดเนื้อหาบางตอนที่เกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์ออก
ผู้สัมภาษณ์ : ทำนองเดิม
คุณนิวัติ : แต่เนื้อหาที่เป็น ลักษณะต่อสู้ก็จะเอาออก ตัดออก พอเข้าไปเรียนปุ๊บเนี่ย ตอนนั้น ของรามคำแหง ก็จะมีการเคลื่อนไหวเรื่อง การลดค่าหน่วยกิจ ที่นักศึกษาค่อนข้างที่จะเห็นด้วย คือไปเรียนตอนแรกหน่วยกิตของรามคำแหงเนี่ย 25 บาท แล้วก็ไปเคลื่อนไหวให้ลดค่าหน่วยกิตเหลือ 15 บาท เหลือ 10 บาท
ก็ต่อลองกันไปมา ก็ได้ 18 บาท เค้าลดให้ 18 บาท มร. 30 นี่เคยขายเล่มละ 5 บาท ก็แจกฟรี ข่าวรามฉบับเป็นตารางสอบเนี่ย ขายเล่มละ 5 บาท ก็แจกฟรี จากการเรียกร้อง ที่นี้ พอเราเข้าไปอยู่ในกลุ่มคน ก็เลยกลายเป็นกลุ่มคนเคลื่อนไหว ในช่วงปี 19เนี่ย เฉพาะ ที่รามคำแหง ถือว่าเป็นขุมกำลังมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นด้านจำนวนคน ด้วยความเป็นอิสระในการเรียนคือการเรียนที่รามไม่ได้ถูกกำหนด ว่าจะเรียนเวลาไหน คือ ผมไปเรียนไม่ค่อยได้เข้าห้องเรียน ตอนนั้นผม ก็ทำงานอยู่ด้วย พอช่วงปี 19 ช่วงก่อนเกิด 6 ตุลา 19 เอ่อ สถานการณ์บ้านเมือง เริ่มมีฝ่ายต่อต้าน
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วอย่างกระทิงแดง
คุณนิวัติ : เริ่มมีกระทิงแดง เริ่มมีกลุ่มนวพล ที่รามคำแหงก็มีพรรคปฎิรูป กับพรรคสัจธรรม พรรคปฎิรูปคือ พวกขวา สัจธรรมคือพวกซ้าย
สภาพในรามคำแหงตอนนั้น มันยังเป็นป่า เค้าเรียกดงตาล ก็จะมีนักเลง ผลประโยชน์ก็คือ คุมบ่อนการพนัน มีการเล่นการพนัน คุมวินรถ จะมีรถ
รถด่วนราม รถบัส มาวิ่งเป็นรถด่วน ซึ่งรับนักศึกษารามมาส่งที่สนามหลวง แล้วก็จะมีรถสองแถว ที่วิ่งจาก พระโขนง ไปบางกะปิ ผ่านราม
กลุ่มพวกนี้ก็จะเป็นกลุ่มคนคุมผลประโยชน์ ในรามกลุ่มนี้ ก็จะเป็นกลุ่ม เหมือนนักศึกษานักเลง ก็จะคุมส่วนนี้ ปัญหาประเด็น กลุ่มนี้ก็จะเป็นจุดรวมพลัง
ในช่วง 6 ตุลา เนี่ย ในการเคลื่อนไหว เริ่มจะมีลักษณะการปะทะ ถ้าเราไปดูประวัติศาสตร์จริงๆเนี่ย หลังจาก 14 ตุลา มันก็จะมีการปะทะที่
สถานีตำรวจแถวพลับพลาไชย ครั้งใหญ่หลังจาก 14 ตุลา สมัยก่อน พอหลังจากช่วงนั้น ตรง 6 ตุลา ที่ในรามเองเนี่ยก็เริ่มที่จะทะเลาะกัน
เวลาจัดงาน ในกลุ่มในราม ชมรมก็จะแยกเป็น 2 ส่วน กลุ่มชมรมที่เป็นแนวร่วม ส่วนมาก คือ ชมรมของภาค อย่างพวกค่าย แต่ถ้าเป็นชมรมดนตรี
ชมรมกีฬาเนี่ย จะไปอยู่กับพวกนึง จะค่อนข้างชัดเจน เวลาจัดงานก็จะมีการป่วนกัน ในช่วงก่อน 6 ตุลา ช่วงที่เข้ามาเคลื่อนไหวเอง ผมเนี่ย
ผมไปเรียนตอนเปิดเทอม 2 ผมพึ่งไปเรียนปีแรกเลยเพราะเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในกลุ่มที่เป็นพระเณรนักพูด ออกไป บางทีกลายไปเป็นตัวนำ
โดยไม่ได้ตั้งใจ เค้าก็จะมีการจัดการ์ด พอเราเคยเคลื่อนไหว การ์ดของเราไม่ใช่การ์ดปะทะสมัยก่อนเค้าจะมีการ์ดอยู่ 2 กลุ่ม การ์ดปะทะ
ป้องกันกำลัง การ์ดอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ การ์ดที่ทำความเข้าใจต่อผู้ร่วมชุมนุมคือเวลามีเหตุ การ์ดจะเข้าไปช่วย เข้าไปพูดคุย
เราก็จะอยู่ในการ์ดกลุ่มนั้น ตอนนั้นเราก็ร่วมกับกลุ่มชมรมอีสาน ก็จะมีเพื่อนเป็นกลุ่มคนอีสาน เป็นหลัก แล้วงานที่เข้าไปรับรู้อย่างมาก
ก็เหตุที่ว่าตัวเองเขียนหนังสือเก่ง เพราะงานวาดเขียน เวลาทำป้าย ทำงานขบวนเนี่ยนะ เราทำให้ได้เลย เพราะเวลาเราเขียนป้ายโรงหนัง
เราเขียนแบบฟรีแฮนด์ จับพู่กันเขียนเลย ไม่ต้องใช้ดินสอร่างเหมือนคนอื่น ก็เลยเป็นคนที่เข้าไปช่วยงาน ที่นี้ในรามคำแหง
ในช่วงก่อน 6 ตุลา เนี่ยนะ ถ้าไม่ได้ไปที่รามเนี่ยนอนไม่หลับเลยนะ บางทีไปทำงานของตัวเองเสร็จ ก็ต้องกลับมาที่ราม สมัยก่อนอย่างของราม
เค้าจะมีชมรมปาฐกถาโต้วาที มีอาจารย์สุรวงศ์ วัฒนกุล เป็นประธาน ที่นี้ในช่วงโน้น ในกลุ่มของชมรมโต้วาที ก็เป็นกลุ่มที่ค่อนข้างจะไปทางขวา
เพราะว่างานชมรมฝึกพูดเนี่ย มันเป็นงานคล้ายๆ งานเจ้าสำอางค์ มันไม่ใช่ลุยๆ ๆ เหมือนพวกค่าย มันก็จะออกมามีความขัดแย้ง
ช่วงที่มันเกิด 6 ตุลา เนี่ย ที่มันน่ากลัว ก็คือ มันน่ากลัวเพราะกลุ่มกระทิงแดงค่อนข้างจะชัดเจน แล้วการแยกสลายศูนย์รวมไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปแทรกแซง
กลุ่มวิทยาลัยครู ในสมัยก่อน กลุ่มครู จะขวาหมด ถูกยึดครองไว้หมดเลย ก็จะเห็นว่าพวกจ่าสิบเอก พวกนายสิบของทหารบก จะได้ทุนไปเรียน
ในมหาวิทยาลัยจนสอบได้ปริญญาตรี ก็มีหลายๆ คน อย่างคนที่เป็นพันโท ที่ยิงผู้ว่าฯปรีษณะ เค้าก็เข้าไปเรียนสวนสุนันทา กลุ่มกระทิงแดง
เค้าก็ส่งคนไปจัดตั้งในช่างกลฯ นักเรียนอาชีวะ นักศึกษาตามวิทยาลัยครูต่าง ๆ นั้นกลุ่มก่อน 6 ตุลา กลุ่มนักศึกษาจริงๆ ยึดได้แค่พระราม 6 เองนะ
ที่เป็นฐานกำลัง คือพระจอมเกล้า ที่นนทบุรีน่ะ ก็มีช่างกลพระรามหกที่ยังมารวมกลุ่มกับนักศึกษา ถ้าวิทยาลัยครูก็ทั่วประเทศเลยที่จะต่อต้านขบวนการนักศึกษา
แล้วก็มหาวิทยาลัยที่เป็นกลุ่มกำลัง อย่างธรรมศาสตร์ ราม จุฬา ก็ยังเป็นแหล่งกำลังหลัก เพราะกลุ่มต่อต้านนักศึกษาจะน้อยกว่า แต่ว่าถ้าเกษตรเนี่ย
ผมเคยไปแสดงดนตรีที่เกษตร แสดงไม่ได้เลย เค้าไม่ให้เราร้องเพลงแนวเพื่อชีวิตเลย ร้องเพลงธรรมดาได้ หรือเทคนิคกรุงเทพ ก็ไปเล่นไม่ได้
เค้าจะล้อมห้องประชุมเลย แต่ครั้งก่อนนู้น มันดีตรงที่ว่า ไม่ถึงเนื้อ ถึงตัวกัน ตอนนั้นมหาวิทยาลัยหลักอย่างขอนแก่น เชียงใหม่ ก็จะพื้น ๆ
มีคนมาน้อย เพราะฉะนั้นเวลาที่ถูกเชิญไปพูด มหาลัยพวกนี้ก็จะถูกต่อต้านในยุคโน้น จนช่วงที่ถูกจับ ช่วงที่มีงาน 6 ตุลาจริง คือ ตัวผมเองก็มีพรรคพวก
คือตอนนั้นราม รู้สึกจะสอบ หรือสอบวันสุดท้าย ผมจำไม่ค่อยได้ ก่อนที่จะเกิดเหตุ 6 ตุลา เค้าก็ชุมนุมใหญ่ที่สนามหลวง ตอนนั้นรู้สึกจะต่อต้านถนอม
แรกๆ ประภาสเข้ามารักษาตาก่อน ต่อมาที่หนักคือ ถนอม ไปบวชเณรเข้ามา เลยต่อต้าน มันก็จะมีกลุ่มต่อต้านอย่างรามคำแหง เค้าเรียกรถด่วนราม
ตอนนักศึกษาเลิกเรียนประมาณบ่ายๆ เนี่ย เค้าก็ให้ขึ้นรถด่วนรามฟรี แล้วก็เอารถมาจอดปิดสนามหลวงเลยนะ แล้วก็จับมือเดินเข้ามาในสนามหลวง
คนก็เต็มสนามหลวง คือเกิดเหตุจริงๆ ก็ชุมนุมกันหลายวัน มีการปะทะกัน มีการก่อกวน มีการเอางูมาปล่อย ไม่ใช่งูพิษนะ คือ ทำให้ตกใจเฉยๆ
ก็มีระเบิดขวด ยุคนั้นจะฮิตมาก แต่จะไม่มีสะเก็ดระเบิด และมีกลุ่มต่อต้านมาปิดล้อม จนมันมีลักษณะล้อมกรอบ จนได้ย้ายเข้าไปสู่ใน
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พวกที่เข้าไปอยู่ในมหาวิทยาลัย เราก็เดินเข้าเดินออก กันตามสบาย แต่คืนที่ผมถูกจับเนี่ย พวกที่เป็นการ์ด
ที่ทำความเข้าใจกับกลุ่มนักศึกษา ก็จะผลัดกันมาชุมนุม ก็จะรู้ว่าคนไหนมาไม่มา คืนวันที่ 5 ผมก็ไปทำงาน ที่โรงหนัง สอง สามแห่ง
คือ ผมไปเขียนป้าย ผมไม่ต้องไปทุกวัน ไปเขียนโปรแกรมหนังที่จะฉาย ผมก็เลยกลับมาที่ธรรมศาสตร์ในคืนนั้น
ผู้สัมภาษณ์ : ปกติ อาจารย์เข้าชุมนุมทุกวัน หรือว่าอย่างไรครับ
คุณนิวัติ : เกือบทุกวันก็ว่าได้ มีงานชุมนุมที่ไหน ก็ไปที่นั่น บางทีก็ไปช่วยเค้าจัดขบวน อะไรประมาณนี้ แรกๆตัวผมก็ไม่ได้เข้าไปอยู่ในกลุ่มเท่าไหร่
ส่วนมากผมจะอยู่ในกลุ่มเขียนบอร์ด มากกว่า เพราะงั้นข้อมูลที่ได้ จึงเป็นข้อมูลที่เรานำเสนอฝ่ายการเขียนลงในบอร์ด พอ 6 ตุลา 19 เนี่ย
ที่มองว่ามันจะรุนแรง สมัยก่อน มันมีพรรคแนวร่วมรามประชา แต่ก็เป็นกลุ่มนักศึกษาต่างจังหวัด ผมก็จะอยู่ในกลุ่มนี้ เค้าก็จะแบ่งโซนที่สนามฟุตบอล
ธรรมศาสตร์ เพราะเวลาเกิดเหตุจะได้คุมกันถูก เราก็อยู่ตรงถังน้ำประปา จะตั้งเวทีตรงหลังโดม หันหน้าเวทีมาทางสนามหลวง ประมาณ 5 ทุ่ม 6 ทุ่ม
มีเพื่อนมาบอกว่า จะกลับบ้านก็กลับได้ เพราะพวกคุณสุธรรม ที่ออกไปพบนายก กลับมาไม่ได้แล้ว คือคนที่เป็นแกนจริงๆ รู้ตั้งแต่หัวค่ำแล้ว
ว่าจะมีการล้อมปราบ แต่ที่นี่ทางกลุ่มเอง เค้าไม่เชื่อ เค้าออกไปเจรจาเองกับหม่อมเสนีย์ไปพบนายก ว่าเค้าถูกล้อมไว้ พร้อมหม่อมเสนีย์
ที่นี้ก็จะมีกลุ่มแกนนำ ถ้าใจไม่ถึงเนี่ย เค้าจะให้ออก เพราะมันจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี ที่นี้มีคนมาบอกว่า ถ้าจะออกก่อน สี่ทุ่ม
ถ้าหลังจากนั้น จะปิดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว คือ ปิดทั้งส่วนนักศึกษาไม่ให้ออก และปิดป้องกันคนที่จะเข้ามาด้วย หมายถึง
ก็ไม่อยากให้คนเข้ามาในธรรมศาตร์เพิ่ม และก็ไม่อยากให้ออกไป กลัวได้รับอันตราย ผมก็บอกไม่เป็นไร ผมอยู่ได้ เท่าที่ผมรู้
วงดนตรที่ผมร้องเพลงจะเล่น ประมาณ หกทุ่ม วงแคนอีสานเนี่ย ปรากฏว่า คนที่เล่นออร์แกนเนี่ย ไปเดินสายกับวงดนตรีสัจธรรม
ก็เลยไม่ได้ขึ้นเล่น พอไม่ได้เล่น เค้าก็เลยเอาวงดนตรีเสียงกรรมกรมาเล่น ในขณะที่เค้าเล่น ซักประมาณเที่ยงคืนไปแล้ว ก็มีการยิง M79 เข้ามา
แต่ไม่มีหัวระเบิด แต่มันโดนเพื่อนผม สองคน บาดเจ็บธรรมดา ธงชัยวินิจกุล ขึ้นไปประกาศว่าไม่ให้ยิงเข้ามา พอตอนการ์ดเริ่มเคลียร์คน
เพื่อจะขึ้นไปตามตึก มันห่างกันไม่แน่ใจ ว่าถึงชั่วโมงรึเปล่า มันก็ยิงเข้ามาอีก สองลูก แต่สองลูกหลังเนี่ย มันระเบิด
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นมีคนเริ่มเสียชีวิตแล้วรึยังครับ
คุณนิวัติ : คือเราไม่รู้ แต่รู้ว่ามีหัวระเบิด เพราะมีคนบาดเจ็บ ข้างนอกก็จะเริ่มมีการเผายางรถยนต์ ในกลุ่มการ์ดนี้ ก็จะมีคนส่งข่าวตลอด
ว่าสถานการณ์ข้างนอกเป็นอย่างไรบ้าง กลุ่มนั้น กลุ่มนี้ จะบุกเข้ามาแล้วนะ คือคล้ายๆ ว่ามาช่วยไม่ให้พวกเราแตกตื่นตกใจ ไม่ให้กลุ่มเราวิ่งออกไป
เพราะว่า วิ่งออกไปไม่ค่อยรอด เพราะฉะนั้น กลุ่มที่ออก ก็ออกสองทาง กลุ่มที่ออกไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา ก็ข้ามไปที่ศิริราช ก็พอรอด แต่บางคนก็เข้าวัดมหาธาตุ
รอดเยอะ พอ M79 สองลูกหลังลง ก็เริ่มมีกลุ่มคนเคลื่อนเข้ามาในธรรมศาสตร์ ที่นี่ ไม่ใช่พวกกระทิงแดงอย่างเดียว ก็เป็นกลุ่มทหาร ประมาณตีสี่
ผมถูกเคลียร์ขึ้นไปที่ตึกนิติศาสตร์ คือจะมีตึกบัญชีที่คนวิ่งไปน่ะนะ ตึกวารสารศาสตร์ ทหาร ตำรวจเข้ามาทุกทิศทาง ตอนนั้นใครเป็นใคร
เป็นสมาชิกพรรคพลังใหม่ สังคมนิยม แนวร่วมสังคมนิยม ค่ายชมรมต่างๆ ในมหาวิทยาลัย เค้าก็ให้เก็บไว้แต่บัตรนักศึกษา กับบัตรประจำตัวประชาชน
บัตรสมาชิกอื่น ๆ นอกนั้นให้ทิ้งหมด
ผู้สัมภาษณ์ : คือมีการประกาศยังไงในกลุ่มนักศึกษาครับ
คุณนิวัติ : พอเราถูกเคลียร์อยู่บนตึก จะมีแกนนำขึ้นไปบอกแต่ละห้อง ทีละห้อง ว่าสถานการณ์ตอนนี้เป็นยังไงแล้ว คล้ายว่าบอกทุกคนให้รับรู้
คือมันยิงเข้ามา สาเหตุที่คนไม่ตายเยอะ เพราะว่าพวกผมเคลียร์คนขึ้นไปบนตึกก่อน พอยิงเข้ามาตอนแรกก็ไม่คิดว่าจะรอด เพราะเราขึ้นตึกช้ากว่าคนอื่น
มันยิงแบบดาหน้าเข้ามา เราก็คิดในทางที่ดีนะ เราไม่ตายเยอะ มันคงไม่ยิงใส่พวกเราหรอก เพราะว่ายิงใส่ คงตายเป็นเบือ พอขึ้นไปอยู่บนตึก
ก็ยังมีการยิงเข้ามาผมยังเห็นกระสุนปืนมันวิ่งผ่านกระจกหน้าต่างอยู่หลายนัด เท่าที่ผมรู้ที่ตึกผมเอง เค้าก็สั่งให้ถอดเสื้อ พอพวกเราถูกควบคุมแล้วเนี่ยนะ
คือไม่มีคนตามขึ้นไปบนห้องพวกเรานะ เพียงแต่ว่าคนที่เป็นแกน เค้าถูกสั่งให้บอกนักศึกษาผู้ชายถอดเสื้อ แล้วก็ลงมาจากตึก จะมีตำรวจ
ทหารคุมเวลาลงมา เค้าก็ให้เอามือไขว่ไว้บนหัว ลงมาปุ๊บ เค้าก็ให้ผู้หญิงถอดเสื้อ เหลือแต่ยกทรงแต่ก็ไม่มีใครกล้าโวยวาย เพราะมันใช้ปืนจ่อหัวพวกเรา
ตามแนวตึกที่เราเดินผ่านยังเห็นเพื่อนนอนตาย กลิ่นคาวเลือดยังมีอยู่ตลอดทางที่เดินผ่าน จำได้ว่าลงมานอนที่สนามฟุตบอล เป็นช่วงเช้า ไม่ หกโมง
ก็ตีห้า เค้าให้นอนราบกับพื้น เอามือไขว่กันวางบนหัว มีเสียงในทำนองว่า ผู้หญิงไม่ต้องถอดเสื้อก็ได้ ประมาณว่า เค้าคุยกัน ก็จะเห็นได้ว่าผู้หญิงที่ลงมาชุดแรก ถูกถอดเสื้อหมด เพราะผู้หญิงจะอยู่ตึกบัญชีเยอะ จะถูกเคลียร์ออก จะถูกถอดเสื้อ ตอนที่อยู่สนามฟุตบอล จำได้ว่าฝนตก เที่ยงก็แดดออก เราก็อยู่อย่างนั้นตลอด ประมาณ ห้าหกโมงเย็น เราก็ถูกจับขึ้นรถ แต่ไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน ตอนขึ้นรถก็จะถูกเตะบ้าง ทุบบ้าง ก็จะถูกด่าว่าพวกคอมมิวนิสต์ พวกญวน พวกขายชาติ ผมถูกจับไปไว้ที่กองร้อยสี่ ชลบุรี เป็นโรงเรียนพลตำรวจ ไปถึงตอนนั้นน่ากลัวมาก ตอนนั้นมันยึดทรัพย์สินทุกอย่างไปหมด เหมือนเราไม่มีตัวตน เหลือแต่บัตรประจำตัวประชาชน ตอนเราไปถึงที่ชลบุรี มันก็มืด ไม่รู้ว่าเราอยู่ที่ไหน สมัยก่อนเพลงข้าฯ วรพุทธเจ้า เราร้องได้ แต่เพลงสดุดีมหาราชาเราไม่เคยร้อง ตอนนั้นถูกบังคับให้ร้อง พอไปถึงที่ชลบุรี ก็ร้องได้เลย ร้องได้จนถึงทุกวันนี้ ตำรวจที่คุมไปพาร้อง ในขณะที่อยู่ในรถมีคนนั่งบนเบาะรถส่วนหนึ่งอยู่ตรงทางเดินเต็มจนไม่มีช่องว่าง พวกตำรวจเดินจากประตูหน้าไปประตูหลัง เดินเหยียบบนบ่าบนหัวเรา ผมนั่งอยู่ทางเดิน มันเหยียบหัวผมไปเลย มันไม่มีขอโทษ มันหยาบมาก ๆ มันเก็บทรัพย์สินพวกเราใส่หมวกมันเต็มหลายใบ พวกเราไม่มีใครได้คืน ผมถึงบอกว่าการที่เราได้บวชมาเนี่ย ก็คือเราได้เปรียบทางด้านจิตใจ จิตใจคนเราสามารถพลิกผันได้ บางคนก็ด่าตัวเอง โดยเฉพาะนักเรียนที่ถูกจับไปด้วย ชอบด่าตัวเอง ประณามตัวเอง ที่มาร่วมอย่างนี้ เราไปถึงที่ชลบุรี ถูกถีบถูกซ้อมสารพัด เราไม่ได้กินข้าวถึงตอนเช้า ตั้งแต่ที่มาอยู่ อยู่ที่ชลบุรีเราก็ไม่มีเสื้อ ตอนเช้ากินข้าววันแรก คือเช้าวันที่ 7 เสร็จแล้วเค้าก็เอาเสื้อมาแจก แล้วก็มีนายทหารจิตวิทยามาคุย เค้าหยาบคายมาก พวกเราแทบไม่เชื่อ ว่าเค้าเป็นนายทหาร เค้าชอบพูดในทำนองว่า พวกมึงคงสนุกกันน่าดูเลยนะ กูเห็นถุงยางอนามัยเพียบ อย่างเนี้ย คือ เค้าพูดนะครับ เสร็จแล้ว บางคนก็บอกว่าเรามาชุมนุมเพื่อสมสู่นะ พวกมึงใครเป็นแกนนำนะ เค้าเข้ามาพูด เสร็จแล้ว จะมีชมรมแม่บ้านทหารมาแจกของ หลังจากวันที่ 7 ที่ 8 เริ่มมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามา แล้วก็จะมีลูกคนมีชื่อเสียง พออ่านนามสกุล พวกเราก็จะรู้ว่า พ่อเป็นตำรวจ ยศนายพลเอกก็มี นายทหารก็มี พวกนี้จะถูกแยกไปสอบสวนก่อน คือก่อนที่จะให้ประกันตัว เค้าจะสอบสวนก่อน ที่นี้เพื่อนเราก็จะหายไปเรื่อย ต่อมาก็จะเหลือแต่กลุ่มเด็กบ้านนอกอย่างพวกผม เค้าก็จะเอามารวมกัน จนเหลือน้อยที่สุดอย่างผมเนี่ย กว่าทางบ้านจะหาเจอ ผมก็ถูกส่งตัวมาที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน กรุงเทพแล้ว พอคนเหลือน้อย เค้าก็จะรวมตัวส่งเข้าโรงเรียนพลตำรวจบางเขน กรุงเทพหมดเลย ในช่วงประกันตัว มันจะมีคนรับจ้างประกันตัว ถ้าเป็นเด็กจุฬา ธรรมศาสตร์ ค่าจ้างก็จะแพง จะอยู่ที่หนึ่งหมื่นบาทต่อคน ถ้าเป็นเด็กราม ก็ห้าพันบาทต่อคน คือว่าจ้างให้เค้าเอาหลักทรัพย์เข้ามาประกันตัวให้ แต่อย่างคนที่บ้านผมเนี่ย เค้าเอาพี่ชายมาประกัน เป็นพวกไปรษณีย์ เอาตำแหน่งมาประกัน จนถึงที่สุด รามคำแหงถูกจับเยอะที่สุดเลย และไม่ยอมประกันตัว เพราะไม่มีใครมาประกัน จนถึงที่สุด เค้าขอร้องให้อธิการบดีรามฯ ประกันตัวนักศึกษาออกมาทั้งหมด นั่นคือช่วงที่เข้าไปอยู่ในเรือนจำ สองสามวันแรก ที่ถูกขังอยู่ที่ชลบุรีไม่คิดว่าจะรอด เพราะว่าเดี๋ยวไฟดับ อย่างนี้อย่างนั้น เราจะได้ยินเสียงเค้าระดมพล มันก็จะมีเสียงขึ้นนกปืน อยู่แถวๆเรานั่นแหละ ก็จะมีเสียงสั่งให้เราอยู่ในความสงบ ห้ามลุก ห้ามเดิน ห้ามออก อยู่ประมาณ สองสามครั้ง สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดว่า คนเรานี่ เวลาตกอยู่ในสถานการณ์คับขัน คนที่ไม่มีประสบการณ์จะลำบาก อย่างเราเป็นเด็กที่มาจากบ้านนอก ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเราเคยลำบาก แต่ถ้าเป็นลูกคนมีเงินมีชื่อเสียง พ่อแม่เข้ามา ก็ไม่ได้เข้ามาธรรมดา
เค้ามาเนี่ย สะเทือนทั้งกองร้อยเลยนะ ตำรวจจะวุ่นวายไปหมด มันจะมาคัดตัวกันเลย ว่าอยู่แถวไหน ตรงไหน ผมก็จะคุยกับเพื่อน
บางคนจะลุกขึ้นด่าตัวเอง พอดึกๆ มันจะลุกขึ้นด่า เพื่อนมันก็ จะสะกิด ให้ไปคุยกับมันหน่อย ผมก็ไปคุยเพราะเราเคยบวชเป็นเณร เราก็บอกว่า
ยกตัวอย่างเป็นเพลงต้นมะขามสนามหลวง คือจากเนื้อหาสาระแล้ว คือจับนายทุนเนี่ยแหละมาแขวนคอประจาน ผมบอกการเมือง ถ้าเขาได้เปรียบมึง
เขาก็แขวนคอมึงก่อน ก็คุยกันสนุก ที่จริงมันไม่ได้ลำบาก มันไม่ใช่ข้อผิดพลาด ก็คือเวลาเราไปอยู่ที่นั่นนะ คือสิ่งหนึ่งที่เขาเรียกถังเมล์ เวลาเราถ่ายหนัก ก็คือถ่ายลงถัง ใช่ไหม พอตื่นเช้ามาก็ต้องหามไปทิ้ง ในห้องนอนของโรงเรียนพลตำรวจไม่มีส้วม เขากั้นห้อง ที่เขาเรียกถังเมล์
เพราะว่าคือถังถ่ายหนักถ่ายเบานี่แหละ บางคนแค่เอาถังขี้ไปทิ้งนี้นะ มันก็ทุกข์แล้ว เพราะมันไม่เคยทำ หรือบางคนแค่ ได้กลิ่นมันก็อ้วกแล้ว
แต่ที่นี้เราก็เฉยๆ เราไม่มีอะไรทำ เราก็ไปนั่งคุยกัน คือคนที่มีประสมการณ์ จะนิ่งกว่า เวลาที่คับขันเค้าได้เปรียบ
ผู้สัมภาษณ์ : ที่นั่นอยู่กันเยอะไหมครับ
คุณนิวัติ : กองร้อยที่ผมอยู่วันแรกที่เข้าไป ผมว่าไม่ต่ำกว่า 300-400 คน แต่ว่าหลังจากสอบสวนเสร็จแล้ว มันก็จะหายไปเรื่อยๆ
แต่ตอนที่ย้ายมา โรงเรียนพลตำรวจบางเขนเหลืออยู่ประมาณ 50-60 คน กองร้อยผมเนี่ย ผมเกือบเอาตัวไม่รอด เพราะว่าวันที่เค้าเอาเสื้อไปแจก
มันมีเสื้อ ชาลี แชปปลิ้น ตอนนั้นกำลังดัง เสื้อยืดที่เป็นรูปชาลีผู้ชายผอม ๆ เดินถือไม้เท้า ผมก็เลยบอกเพื่อนว่า เพื่อจำกันให้ง่ายขึ้น
พวกเราก็เรียกกองร้อยชาลีแล้วกัน ก็คือคุยกัน เขาก็เลยเรียกกองร้อยชาลี วันที่ตำรวจมาสืบสวนผมเนี่ย มันก็ถามว่า
เนี่ยเขาบอกว่ามึงเป็นคนตั้งชื่อกองร้อยชาลี ผมก็ตั้งตามชื่อของเสื้อที่แจกมา ผมไม่ได้มีอะไร มึงแน่ใจนะว่ามึงไม่รู้อะไร
ผมก็ไม่รู้จริงๆ นะ จนผมมาคุยกับพรรคพวกหลายคนที่เค้าเคยเคลื่อนไหวงานในป่า เขาบอกว่าเป็นชื่อจัดตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์ผมไม่รู้จริง ๆ
แต่พอเรามาดูประวัติของชาลีเนี่ย เขาเป็นนักปฎิวัติคนนึงนะ เพราะการแสดงตลกของเค้าเนี่ย เขาบอกว่าเป็นการปฏิวัติตลกหลวง
มันก็เค้นผมน่าดูเลย มันบอกว่าผมเนี่ยเป็นคนจัดตั้งเข้ามา ผมบอกว่าไม่มี คือประวัติในตัวเราว่าเราเป็นอะไรต่าง ๆ เนี่ย
เค้าจะไม่ให้เราพูดอยู่แล้วว่า เราเคยอยู่ชมรมไหน สมาชิกพรรคไหน ในช่วง 6 ตุลาเนี่ย ก็จะเป็นตัวเคลื่อนไหวตัวหนึ่ง
เพียงแต่ว่าการเคลื่อนไหวของผม ที่จริงๆจะถามว่ามีอุดมการณ์ไหม ไม่มีอ่ะ ตัวผมเอง ช่วงนั้นผมก็ยอมรับ คือ ตัวผมเองก็ไม่ได้มีอุดมการณ์ใด ๆ
เพียงแต่ว่าพวกที่เป็นนักศึกษาจะต้องร้องเพลงพวกนี้ได้หมด คนกับควาย เพลงลุกขึ้นสู้ อะไรพวกเนี้ย จะต้องร้อง กลอนเนี่ยท่องได้หมดทุกคน
ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย ของวิทยากร เชียงกูล ไปเล่าให้ใครฟัง ก็เล่าได้หมด สำหรับพวกที่อยากเป็นนักเคลื่อนไหว
จนถึงกับมีเพื่อนบางคนเนี่ยมันไม่ได้มีอะไรเลย แต่มันท่องจำเก่งเฉยๆ ก็ไปกับเพื่อน แต่พอไปเจอปัญหา หลังจากถูกจับหลัง 6 ตุลามา
เจอหน้ามัน มันด่าเราด้วยซ้ำ มันหาว่าเราหลอกมันไป อย่างเงี้ยก็มี หรือบางคนไม่พูดถึงที่ตัวเองถูกจับ 6 ตุลา ด้วยซ้ำ
ผมถือว่าเป็นช่วงเลวร้ายช่วงหนึ่งของชีวิต คือไม่เคยถูกจับเลยนะ มาถูกจับตอน 6 ตุลา
ผู้สัมภาษณ์ : ได้อยู่ประมาณกี่วันครับ
คุณนิวัติ : ผมอยู่ประมาณ 7-8 วันเอง เพราะว่าไปอยู่ที่ชลบุรีประมาณนี้ พอผมมาถึงโรงเรียนพลตำรวจบางเขนเนี่ย ญาติผมก็หาชื่อเจอ
ตามที่เค้าประกาศทางหนังสือพิมพ์ เค้าก็มาประกันตัวออก
ผู้สัมภาษณ์ : ออกมาแล้ว คิดจะทำอะไรต่อครับ คิดจะหนีเข้าป่า หรือว่ายังไง
คุณนิวัติ : คือเพื่อนชวนเข้าป่า เพื่อนชวนเยอะเลย แต่ตอนนั้น ผมมีความคิดอย่างหนึ่ง คือผมบอกเพื่อนทุกๆคนเลยนะ มึงไม่เอากระดาษแผ่นนี้ออกไป
มึงจะลำบากในอนาคต ใช่ไหม แต่ว่ามึงมีน่าที่เล่าเรียน คุณต้องเอากระดาษนี้ออกไปให้ได้ หนึ่งกลัวเรียนไม่จบ ผมนี้ยอมรับเพราะทางบ้าน ไม่ได้ส่งผมเรียนนะ ผมเขียนป้ายโรงหนังส่งตัวเองเรียน สองนี่ เถ้าแก่เค้ารักเรามาก ถ้าเราไปนี่ เค้าจะหาคนเขียนป้ายที่ไหน อย่างนี้ เราก็ยังห่วงงาน ผมก็เลยไม่ไป พอไม่ไปพอหลังจากออกมา เดิมนี่ผมเช่าบ้านอยู่ แถวซอยบางมะเขือ พระโขนง ตอนนั้น ผมเขียนป้ายอยู่ สอง สามแห่ง เค้าให้ค่าจ้าง แห่งละ 700 ก็คือเงินเดือนอ่ะนะ สมัยก่อนผมมีเงินเดือนอยู่ 2000 กว่าบาท เนี่ยที่ว่าโก้มากเลย เพราะค่ารถเมล์ไปราม ห้าสิบตังค์เองตอนนั้น ข้าวจานละ สองบาท ที่เรียนรามแล้วก็เป็นห่วงว่างานจะเสีย ก็เลยไม่ไป เพื่อนก็บอก ห้องพักเนี่ยที่ผมพักอยู่เนี่ย เริ่มไม่น่าอยู่ เพราะเพื่อนที่อยู่ด้วยกันกับผม มันพากันย้ายออกไปหมด ผมถูกจับ มันย้ายออกไปเลย มันย้ายแล้ว เอาหนังสือของเราไปเผาหมดเลย เพื่อนที่อยู่ด้วยกันน่ะครับ คือทำงานอยู่ที่โรงหนังด้วยกัน มันเป็นเด็กเดินตั๋วหนัง แต่ผมเป็นช่างเขียน มันก็มาอาศัยผมอยู่ พอผมออกมา มันก็บอกผมว่า กูอยู่กับมึงไม่ได้หรอก ตำรวจมาทุกคืน คือตอนที่ผมถูกจับ มันบอกว่าตำรวจมาทุกคืน กูอ่านข่าวในหนังสือพิมพ์ มันหาว่ามึงเป็นคอมมิวนิสต์ เพื่อนผมมันบอก หนังสือมึงกูเลยเอาไปเผาหมด กูเห็นตำรวจมา เพื่อนผมมันเผาหนังสือทิ้งหมด หนังสือ สมัยก่อนเล่มละ 15 บาท ก็ถือว่าแพงนะ เสร็จแล้วเมื่ออยู่ไม่ได้ ห้องเช่าไม่ได้ พรรคพวกในกลุ่มก็เลยชวนไปอยู่วัดลาดพร้าว ไปเป็นเด็กวัดที่วัดลาดพร้าว ในกลุ่มที่ไปอยู่ที่มีความสัมพันธ์ตอนนั้นก็มี ยนต์ กำลังวรรณ ตอนนี้ก็เป็นนักข่าว แล้วก็มีคุณ สุรินทร์ ทาซ้าย น้องชายคุณสุนทร ทาซ้าย ตอนนี้เป็นทนายความอยู่นางรอง พวกนี้ที่เข้าไปอยู่ที่วัดลาดพร้าว ประมาณ สิบกว่าคน ตอนเช้าบิณฑบาตรกับพระกับเณร สายมาไปเรียนที่ราม ส่วนการเคลื่อนไหวเราก็เคลื่อนไหวเหมือนเดิม
ผู้สัมภาษณ์ : คือหลัง 6 ตุลาเนี่ย ก็ยังออกมาทำงานเหมือนเดิมเหรอครับ
คุณนิวัติ : คือในกลุ่มนี้ ทำงานในเชิงจัดตั้ง ในช่วงหลังค่อนข้างที่จะหนัก ที่จริงคำพูดคำนี้ ถ้าไม่เกี่ยวกับสถาบันสูงนะ
ผมบอกได้เลยว่าคนที่อยู่ในกลุ่มฝ่ายจัดตั้ง เป้าหมายหลักก็คือโค่นล้มศักดินา โค่นล้มนายทุน ศักดินาก็หมายถึงสถาบันทั้งหมด
กลุ่มทุนก็นายธนาคาร กลุ่มทุนข้ามชาติ เป้าหมายในช่วงนั้นก็คือ ถ้าล้มกลุ่มนี้ไม่ได้ ประเทศก็ไม่พัฒนา นั่นคือ สิ่งที่ได้เรียนรู้ที่ได้
เข้าไปอยู่ในกลุ่มจัดตั้ง เพราะฉะนั้นในการจัดตั้ง ก็จะมีการพูดคุย คือเขาเรียกว่าการขยายแนวร่วมขยายการจัดตั้ง สมมุติว่าในรามเนี่ย
คนนี้แหละเป็นฝ่ายจัดตั้ง วันนี้เรียกคนนี้มา อีกวันเรียกคนนี้มา คนที่ถูกเรียกมาก็จะมีการพูดคุยที่สูงขึ้น สมมุติว่าวันนี้ผมชวนน้องไปด้วย
แต่น้องที่ไปก็ไปคุยธรรมดาๆ ก็ไม่มีอะไร ถ้าไป 2-3 ครั้ง ไม่มีปฏิกิริยาอะไรต่อต้าน ก็จะพูดเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ สมัยก่อนเค้าเรียก
พวกจัดตั้งในเมืองกับพวกจัดตั้งในป่า ที่เค้าเรียกเมืองประสานป่า คือเราเห็นด้วยแต่เรายังไม่เห็นด้วยถึงขั้นที่ว่าจะเข้าป่าต่อสู้
ในความคิดผมนะ ในเมืองยังต่อสู้ได้ ยังสามารถให้การศึกษาเรียนรู้ได้ ก็เคลื่อนไหวมาตลอดและอีกสิ่งที่เป็นการเคลื่อนไหวหลักก็คือ
คดีคนถูกจับ 6 ตุลา พอเคลียร์หมดนะ ผมเคยไปให้ปากคำ 2 ครั้ง เขาก็สั่งไม่ฟ้อง มันก็เหลือคุณสุธรรม แสงประทุม ไปดูการพิจารณาคดี
แล้วก็คุณมหินทร์ตันบุญเพิ่ม 6 คนหรือ 7 คน เนี่ยผมจำไม่ได้ ผมก็จะถูกให้รับงานเชิญชวนนักศึกษาไปฟัง
กลุ่มผมอยู่ในกลุ่มตั้งแต่การเขียนแถลงการณ์ การพิมพ์แถลงการณ์ การแจกแถลงการณ์ การทำโปสเตอร์
ทำสติกเกอร์อะไรพวกเนี้ย ผมไม่รู้ว่าใครเป็นคนเอามาน่ะ ก็จะมีคนมาบอกว่าเนี่ย มีเงินให้มึงพิมพ์สติกเกอร์
คือ สมัยก่อนผม พอหลัง 6 ตุลา ช่วงหลังผมก็เริ่มทำงานโรงหนังน้อยลง ผมก็มาทำงานตามร้าน ร้านตัดสติกเกอร์ เสื้อยืด ชื่อร้าน
คือ ร้านสัจจะศิลป์ อยู่หน้าราม พอเขาจะเคลื่อนไหวอะไร เค้าก็จะมาหาผมอย่างจะทำสติกเกอร์ไปติดในห้องน้ำอย่างเนี้ยแต่ก่อนเราจะใช้ห้องน้ำ
เป็นฐานของการสื่อสาร การประชาสัมพันธ์ ในการเข้าไปเขียนบางที่มันยาก เขาก็เลยมีความคิดว่า ทำเป็นสติกเกอร์ไปติด เขาก็จะมีคนมาบอกว่า
มีเงิน 1000 เนี่ย มึงทำสติกเกอร์ให้ได้ 500 ชุด ในสติกเกอร์ก็จะบอกว่ามีนัดพิจารณาคดี 6 ตุลาเชิญไปร่วมฟัง บางทีก็จะมีคำพูดที่เขาต้องการกระจาย
ที่เขาต้องการด่าใครว่างั้น จนครั้งสุดท้ายเนี่ย ผมว่าสติกเกอร์มันลอกง่าย ผมเลยเอากระดาษกาวที่เป็นแผ่นใหญ่ๆ พิมพ์สีเดียวส่วนมาก
พิมพ์เสร็จปุ๊บก็ม้วนพับ พอครบแล้วปิดฉีกได้เยอะ ก็เนี่ยเพิ่งมาทำ ก็มีรุ่นพี่อยู่ 2-3 คน มันไม่ได้มีผมอยู่คนเดียวนะ บางทีก็มีสติกเกอร์ ออกไป
บางทีเราไปดูแล้วไม่ใช่ของเรา ก็แสดงว่างานนี้กระจายทำสติกเกอร์ตัวนี้นะ คนลงทุนคนทำเนี่ย ไม่ได้กำไร เพราะเราต้องเผาทิ้งคือ
เพราะต้นแบบที่เราทำมันมีสีติดนะ เราก็จำเป็นต้องเผาทิ้ง คือฉีกออกมาเขาก็เอาไปเผาทิ้ง ทั้งที่เฟรมของเรา สามารถทำงานได้ทีเยอะๆ
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วการเคลื่อนไหวอันนี้เนี่ย เกี่ยวข้องกับทาง พทท. หรือเปล่าครับ เกี่ยวข้องกับคดีของผู้ร้ายรึเปล่า
คุณนิวัติ : คือตัวผมเอง ผมไม่ได้ไปไกลขนาดนั้น คือ ในส่วนที่ผมได้รับการจัดตั้งเป็นเพียงการจัดตั้งพูดคุย เขาเรียกจัดตั้งเพื่อการศึกษา เขาใช้คำว่า
ให้การศึกษาแนวร่วมในเมือง แต่ผมไม่ได้ถูกจัดตั้งว่าเป็นแนวร่วมรบอะไรทำนองนี้ ไม่ถึงขั้นนี้ พวกตัวหลัก สมัยก่อนที่ผมสัมผัสเนี่ย
ทุกวันเนี่ยที่ออกมาเจอกันก็ยอมรับแหละเขาเข้าไปถึง เพียงแต่โดยภาพรวม เขาเป็นพวกนักเคลื่อนไหว เดี๋ยวนี้เขาก็ยังเคลื่อนไหว
เพียงแต่การเมืองเขาเปลี่ยน ในการถูกชวนเข้าไปร่วมรบกับคอมมิวนิสต์ เพื่อนชวนทั้งนั้นแต่ที่จริงถ้าเป็นกลุ่ม เท่าที่ผมไปสัมผัสมันก็จะมีทั้งฐานจริงและฐานหลอก
บางทีก็เจอฐานจริง เมื่อเข้าไปในป่า
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วอย่างก่อน 6 ตุลาเนี่ย เริ่มมีการมาจัดตั้งหรือ เคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์กับนักศึกษา บ้างไหมครับ
คุณนิวัติ : คือ ผมรู้ว่าการจัดตั้งนั้นมี แต่ผมไม่รู้ว่าเป็นพรรคคอมมิวนิสต์หรือเปล่า ในความเข้าใจของผม คือการให้การศึกษา คือมันจะมีรุ่นพี่ที่เรียนอยู่ก่อน
หรือคนที่จบไปแล้ว มีการมีงานทำ แล้วเขาก็จะนัดในเวลาเย็นๆ สมัยก่อนนี้แหล่งที่ไปพบตลอดคือซอยศาสนาของอาจารย์ประเสริฐ ทรัพย์ สุนทร
บ้านอาจารย์ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร สมัยก่อนพลเอกชวลิต เนี่ย ก็เป็นแค่พันโท แล้วก็ที่คุยสมัยก่อน ส่วนมากเป็นยังไง บ้านเมืองเป็นยังไง ก็มาคุยกัน
เราก็จะคิดว่าเราได้ความรู้ สมัยก่อน พี่วีระ เขาคุยกันทุกวันศุกร์ สิ้นเดือนนี้ แกบอก พวกมึงมีเพื่อนไหมนัดมาคุย ตอนนั้นแกนอนโรงแรมฟลอริดา
บางกลุ่มก็สนามหญ้าที่รามคำแหง ที่อินดอร์ฯ จะนัดกันประมาณ 20-30 คน ไปนั่งคุยกัน ในมุมมองของผม ผมมองว่าเป็นความรู้เป็นการให้การศึกษา
แต่ก่อนเราจะรู้หมดเลยนะตัวเลข อย่างตัวเลขงบของกระทรวงกลาโหม มีงบลับเท่าไหร่ อะไรพวกนี้ มันจะมีแล้วเขาจะแยกขนาดที่ว่าทหาร
แต่ละกลุ่มขึ้นต่อสายไหน มันจะเรียนรู้กันไปหมด เรียนละเอียดมากนะ ที่เขาไปเรียน อย่างย้ายทหารปุ๊บเนี่ย ใครบ้างคุมกำลัง แล้วหน่วยไหนสำคัญ
กว่าหน่วยไหน แล้วหน่วยไหนขึ้นต่อเบื้องบน แยกตารางมาให้ดู แทบจะจำได้หมดเลยนะ ระดับผู้บัญชาการ แม่ทัพภาค ทหารม้า
พลร่มใครเป็นคนคุมเนี่ย จะมีการเรียนรู้กัน
ผู้สัมภาษณ์ : อย่างนี้มีการวิเคราะห์ไหมครับว่า ใครอยู่เบื้องหลัง 6 ตุลา
คุณนิวัติ : คือ ตอนนั้น 6 ตุลาจริงๆ ผมตั้งข้อสังเกตไว้ว่า สาเหตุหนึ่งที่เขาประโคมข่าวว่า ส่วนมากนักศึกษาหนีเข้าป่า ผมว่าเขายิงทิ้งแล้วเอาไปทิ้ง
ที่สูญหายเนี่ย แล้วเขาบอกว่าเข้าป่าแล้วก็ตายในป่า จริงๆ ภาพรวมคนที่เข้าป่าน้อยกว่าคนที่ตาย ตายก็มีตัวตน มันก็มีคนที่ เขาไปก่อนจริงๆ
ที่มันจะเกิดโรคระบาดมีฐานอยู่แล้วคือพอไปก็ตายเลยไปถึงตายเลยใช่ไหม คือเราเห็นหลายคนไปเรียนเมืองนอก เพราะ 6 ตุลานี่
ก็ได้ไปเพราะเงินทุนของมูลนิธิต่าง ๆ ที่ให้หรือทุนของตัวเองเนี่ย หรือว่าคุณเสกสรรค์ เอง หรือของตัวนักศึกษาที่เข้าไปเรียนต่างประเทศเนี่ย
ก็เพราะว่าแรงเหวี่ยงทางการเมือง แม้แต่คุณสมชาย หอมลออ เขาได้ไปเรียนเมืองนอก เพราะเขาได้ถูกคุกคามในเมืองไทย
คนพวกนี้ไปอยู่ไหนก็ยังเป็นนักเคลื่อนไหว เมื่อกลับมาก็ทำงานเหมือนเดิม ยังเป็นนักเคลื่อนไหวเหมือนเดิม มันเป็นลักษณะอย่างนี้
หลัง 6 ตุลาเนี่ย มีการจัดตั้งจริงๆ เนี่ยค่อนข้างกระจายนะ เป้าหมายหลัก ก็คือ ล้มศักดินา พวกนายทุน เปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ได้
นั่นคือความคิดในช่วงนั้น ตัวผมเองเนี่ย เกลียดแม้กระทั่งพระผู้ใหญ่ ที่เรามองว่าเป็นศักดินาพระอะไรอย่างนี้
แม้กระทั่งเจ้าอาวาสที่มีประวัติการปราบนักศึกษา เรามีตัวละคร ว่าคนนี้เคยทำอะไร คือก็เหมือนที่เราศึกษา
ถ้าเกิดอะไรขึ้นคนพวกนี้เราเอาไว้ไม่ได้ เลย นั่นคือว่า ทำไมเราให้การศึกษา พอช่วงหลัง 6 ตุลาเนี่ย ค่อนข้างที่จะเข้ม
ผู้สัมภาษณ์ : ถามรวบยอดความคิดนะค่ะ ย้อนกลับไป 14 ตุลา นะค่ะ ในฐานะ ที่เป็นคนรับรู้เรื่องราว ข่าวสารอยากจะให้ลองสรุปความสั้นๆ นะค่ะ
ว่ามันเกิด อะไรขึ้นกันแน่ อาจารย์ว่ายังไงคะ
คุณนิวัติ : คือผมมอง14 ตุลา เนี่ย ผมว่ามันไม่ได้เกิดการแย่งชิงอำนาจ ระหว่างประชาชน กับกลุ่มเผด็จการ มันเป็นการแย่งชิงอำนาจของคน
ที่มีอำนาจที่อยู่ข้างบนมากกว่า เป็นการแย่งชิงอำนาจของกลุ่มขุนศึก ที่เขาเรียกว่าการแยกกลุ่มอำนาจ เพราะฉะนั้นพวกกลุ่มไหนพลาดเนี่ย
ก็เสียอำนาจ กลุ่มที่ได้อำนาจก็จะเป็นฝ่ายปกครองคือยึดครองอำนาจ ยึดครองทุน
ผู้สัมภาษณ์ : หมายถึงมีการช่วงชิงสถานการณ์หรือค่ะ
คุณนิวัติ : มีการช่วงชิงกันอยู่แล้ว พอสถานการณ์มันพลิกผัน กลุ่มที่เสียเปรียบเนี่ย ก็จะมาอยู่กับกลุ่มที่ถูกมองว่าอยู่ข้างประชาชนมากกว่า
แล้วก็ดึงตัวเองขึ้นมาได้เปรียบคือมีอำนาจบวกประชาชนเห็นด้วย มีคำพูดหลายๆ คำพูดว่า 14 ตุลา ปฎิวัติเสร็จแล้วชนะแล้ว
แต่ประชาชนหาผู้บริหารผู้กุมอำนาจปกครองของตนไม่ได้ เพราะจริงๆ มันชนะแต่ไม่รู้เลยว่ามันจะชนะ ผมเปรียบเทียบ 14 ตุลาเนี่ยนะ
เหมือนสมัยที่มีสงครามเย็น อเมริกาไม่คิดว่าจะชนะรัสเซียง่าย ๆ ขนาดนั้นนะ พอชนะ ตัวเองก็ทำอะไรไม่ถูกเลย
รัสเซียล่มสลาย อเมริกากลายเป็นว่าสิ่งที่ตัวเองทำไว้หาประโยชน์ไม่ได้ หรืออเมริกากับอิรัก เนื่องจากอิรัก ตั้งป้อมไว้มโหฬาร
อยู่ ๆ อิรักเปิดประตูให้อเมริกาวิ่งเข้าเฉยเลย ผมมองจากเหตุการณ์ที่เรารู้กับเหตุการณ์ที่เรามาศึกษา
ผมเชื่อว่ามันเป็นการยืมฐานซึ่งกันและกันเสร็จแล้วล้มอีกฝ่ายหนึ่ง พอล้มได้เนี่ย ฝ่ายที่เขายึดคุมสังคมได้มากกว่าเขาก็ได้เปรียบ
แต่กลุ่มนักศึกษาเนี่ย ยึดคุมอะไรไม่ได้เลย ถึงมาถูกปราบ 6 ตุลา 19 ผมมองว่าสมัยก่อนที่เราไม่สามารถยึดกุมอำนาจได้เนี่ย
เพราะว่าเรา ไม่เข้าใจโครงสร้าง ที่แท้จริงของระบบอำนาจ พอได้มาแรก ๆ ก็จะเห็นได้ว่ากลุ่มของคุณ เสกสรรค์ เองกับกลุ่มของธีรยุทธ
พวกเนี้ย ก็จะไม่ไปทางเดียวกัน ก็จะมีหน่วยงานของตัวเองกลุ่มสหภาพแรงงานก็จะไปอีกทางหนึ่ง กลุ่มนักศึกษาก็จะไปทางหนึ่ง
พอกลุ่มนักศึกษาที่เป็นแกนนำ 14 ตุลาเรียนจบ จบออกมาก็มีงานทำ บางคนก็ไปอยู่ในเครือข่ายของกลุ่มทุนอะไรพวกเนี้ย
กลุ่มที่ถูกปราบปราม 6 ตุลาเนี่ยไม่น่าเชื่อว่า สิ่งที่ฝ่ายอำนาจที่ยกขึ้นมาที่อ้างเพื่อเอามาปราบขบวนการนักศึกษา
เพราะไม่จงรักภักดี ทั้งที่เหตุการณ์ 14 ตุลา เป็นเหตุการณ์ จงรักภักดี แต่พอมา 6 ตุลาเนี่ย เป็นเรื่องคนไม่จงรักภักดี
ผมจึงบอกตลอดว่า เวลากลุ่มเขาทะเลาะกัน เรากลายเป็นเหยื่อ ผมพูดกับเพื่อนเสมอว่า ถ้าคุณไปเคลื่อนไหวทางการเมือง
คนที่ถูกฆ่าไป ส่วนมากเป็นเหยื่อ ผมบอกเพื่อนว่า วีรชนคือคนที่ตายทุกคน ในความคิดของผม พอมาถึง 6 ตุลา
ผมถึงบอกว่ามันเป็นการเคลื่อนไหวที่ออกมาจากขบวนการของประชาชนจริง ๆ มันจึงแพ้ พอพ่ายแพ้แทนที่จะอยู่ในเมือง
เรากลับเข้าป่า ผมเชื่อว่าประเทศที่เป็นคอมมิวนิสต์ไม่ล่มนะ มันก็คงไม่จบ มันไม่ใช่นโยบาย แล้วทำให้จบหรอก มันไม่ใช่
เพียงแต่ว่าโครงสร้างของสังคมโลกเนี่ยมันเปลี่ยน พอคนพวกนี้กลับมาแต่ละคนจะยึดผลประโยชน์เป็นหลัก ผมถึงบอกทุกคน
คนที่เขียนหนังสือ 6 ตุลา เขาเป็นคนที่อยู่ในเหตุการณ์จริง ๆ หรือไม่ คนที่คลุกอยู่ในธรรมศาสตร์จริงๆ เนี่ย ยังไม่มีใครเขียนหนังสือออกมา
จะมีคนที่อยู่เบื้องหลังจริงๆ ที่เขียนมาก็คือคุณวิสุทธิ์ เท่านั้นแต่ผมไม่เคยอ่านหนังสือของเขา ที่จริงๆ ผมเห็นด้วยนะ ที่จะมาเรียนรู้กับคนไม่มีชื่อเสียง
เพราะว่า คนที่อ้างตัวเองว่าเป็นคนเดือนตุลา รบกันเองและใช้ทฤษฎีเดียวกันตอนเนี้ย เพราะว่ามันรู้ถึงวิธีการทำลายม็อบและสร้างม็อบ
การเคลื่อนไหวการจัดการ ทุกคนรู้มาเหมือนกันหมด ผมคุยให้เพื่อน ฟังสมัยเจ้าอ้วน ที่เขาคุมทำเนียบ พวกกลุ่มพันธมิตร เดินขบวนไปเขาต้องการให้เป็นเหตุ
หัวขบวนเค้าก็บอกให้ชาวบ้านไปทำเนียบ แต่คนนำม็อบเขาปล่อยเพื่อให้ม็อบขาดหัว ขาดการควบคุม แต่พอไปถึงทำเนียบรัฐบาล
แทนที่มันจะปิดประตูมันก็เปิดประตูให้เดินเข้าไปเฉยๆ ทำให้ไม่เกิดการต่อต้าน ไม่เกิดการต่อสู้ของทั้งสองฝ่าย ก็ไม่มีเหตุอะไรเนี่ย นี่คือการรู้เท่ากันนะ
ผู้สัมภาษณ์ : ครับ
คุณนิวัติ : จะสังเกตไหมว่าการทำม็อบ เขาจะไม่ให้ม็อบปะทะกัน เพราะทั้งสองฝ่ายรู้อยู่แล้วตำรวจก็รู้ ตำรวจรู้เลยว่ามึงเดินมาถึงจุดไหน แล้วหยุด
เพราะว่าทุกคนใช้ทฤษฎีเดียวกัน คือทุกวันเนี้ยมันดี กว่าก่อนโน้น คือ ข่าวสาร เพราะข่าวสารมัน ถึงกันไปได้หมด ถ้าพูดถึง 6 ตุลา กับขบวนการต่อสู้
ในเชิงระลึกหลัง 6 ตุลานะ จะเป็นการศึกษาจริง คนที่จะเป็นแกนนำในยุคผมนะ จะถูกควบคุมความประพฤติ ด้วยทฤษฎีเหล็กจริงๆ คือหนึ่งเนี่ย
คนที่ดูดบุหรี่กินเหล้าก็แทบจะขึ้นมาเป็นผู้นำอยากถือว่าเป็นความประพฤติไม่ดีอย่างหนึ่ง เรื่องกินเหล้า เรื่องผู้หญิง รวมอยู่ในนั้นหมด ไม่เหมือนทุกวันเนี้ย
อย่างเข้าไปในรามเนี่ยนะ ผมแซวรุ่นน้องเลยว่าประชุมงวดนี้ ใช้แบล็กเลยเหรอ เพราะสมัยก่อนคนที่จะทำงานฝ่ายซ้ายหรือกิจกรรมนักศึกษาต้องมีวินัย
ต้องมีระเบียบ เขาจะมีกฎอยู่ว่า ต้องไม่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน ไม่ทำให้ที่บ้านเดือดร้อน ไม่ทำให้เพื่อนฝูงเดือดร้อน อะไรพวกเนี้ย ผมคุยกับเพื่อนว่าทุกวันนี้
ม็อบมันน่ากลัว เพราะว่า มันเป็นม็อบไม่บริสุทธิ์ มีแต่ผลประโยชน์ทั้งนั้นเลย ไม่เหมือนสมัยที่ผมทำนะ คือมันเป็นม็อบที่เหมือนบริสุทธิ์นะ อย่างการจัดการม็อบหลังๆ
เนี่ยนะ ผมเชื่อว่ามันอันตรายมันต้องการไปหาเรื่องเอง คือใครจะทำอะไรก็ได้ วิ่งออกจากกลุ่มไปด่าใคร องค์กรใดก็ได้ ไปด่าชาวบ้านก็ได้ ทำอะไรก็ได้
มันไม่มีระเบียบนะ เพราะฉะนั้น ที่ผมบอกว่ามันน่ากลัว ก็เพราะว่ามันคุมคนในม็อบไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราต้องการทำงานกับคนกลุ่มนี้จริงๆ
สิ่งที่ต้องคิดก็คือว่า เราต้องคุมคนให้ได้ ที่ผมไม่เห็นด้วยในม็อบปัจจุบัน ก็คือการใช้วาจาหยาบคายมาก ผมไปฟังตลอดแหละ ทั้ง สีเหลือง สีแดง
มันไม่เหมือนสมัยก่อน สมัยก่อนก็มีคุณไพศาล ธวัชชัยนันท์ ที่เสียงดัง แกจะพูดไม่ค่อยเพราะ แต่ไม่หยาบ แต่ทุกวันนี้หยาบคายมาก ๆ
เหมือนรัฐมนตรีต่างประเทศบางคน เนี่ยผมไม่รู้ว่าเขาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศได้อย่างไร เวลาพูดสัมภาษณ์เนี่ยมันไม่ใช่ ทุกวันนี้ที่มันลำบากคือ
ความขัดแย้งมันสูง แล้วมันเป็นความขัดแย้งที่หาจุดจบไม่ได้ เพราะมันขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ ผมมีความคิดว่าสถานการณ์ตัวนี้ มันจะมียุบสภา
จะมีการเลือกตั้ง หากเลือกตั้ง ได้พรรคใดพรรคหนึ่งพรรคเดียวแล้วตั้งรัฐบาล ก็จะไม่จบ หมายถึงว่าพรรคการเมืองอาจจะกระจาย การที่พรรคใดพรรคหนึ่ง
เนี่ยจะชนะขาดและมีคนสั่งการได้ แต่จะคุมอำนาจไม่ได้ แล้วจะมีการยุบสภา แล้วก็จะไปเลือกตั้งใหม่ ต่อไปการเมืองไทยมันก็จะเปลี่ยน
เพราะชาวบ้านรู้แล้วว่าการทำผิด แล้วลาออกเป็นการแสดงสปิริต ไม่ใช่เป็นการไม่รับผิดชอบ ผมคาดหวังว่าหากมีการเลือกตั้งอีกสัก 2-3 รอบ
เราน่าจะเข้าที่เข้าทาง ถ้าทนได้นะ ผมกลัวอย่างเดียว กลุ่มที่มันมีกำลังทนไม่ได้ พวกมันจะทำให้บ้านเมืองของเราพัง กำลังที่ผมพูดถึงคือ กำลังอาวุธ
กำลังเงิน อย่างอื่นผมก็ไม่มีอะไร
ผู้สัมภาษณ์ : ในวันนี้ก็ขอขอบคุณนะครับ ขอบคุณค่ะ
จบการสัมภาษณ์ |