บทสัมภาษณ์ -
ผศ.ดร.ผดุง พรมมูล
วันที่ 17 มีนาคม 2552 เวลา 10.00 น.
สถานที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏ สวนดุสิต
ตามโครงการของมูลนิธิ 14 ตุลา ในการรวบรวมปากคำของคนที่อยู่ในเหตุการณ์ เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลเพื่อการศึกษาต่อไป
คุณผดุง : โปรเจ็คนี้เป็นการชำระประวัติศาสตร์หรือเปล่าครับ หรือเป็นการเก็บข้อมูล
ผู้สัมภาษณ์ : เก็บรวบรวมข้อมูลเป็นจุดประสงค์หลักครับ
คุณผดุง : เก็บไปใช้เป็นส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษามั้ยครับ
ผู้สัมภาษณ์ : ก็จะเก็บไว้เป็นฐานข้อมูลนะครับ ถ้าหากว่าผู้ให้ข้อมูลอนุญาตก็อาจจะทำการเผยแพร่ผ่านทางอินเตอร์เน็ต หรือตีพิมพ์รวบรวมต่อไป
คุณผดุง : อ๋อ วัตถุประสงค์หลักของเราคือการเก็บข้อมูลในวันเวลาที่ผ่านมาในเหตุการณ์ครั้งนั้น แล้วก็ตามเจาะหาคนทั้งหลายที่พอจะให้ข้อมูลได้ แล้ววันหน้าใครจะไปใช้ก็มาสืบค้นตรงนี้
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนี้ก็มีการจัดทำเป็นห้องจดหมายเหตุเพื่อเปิดให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้ได้ครับ
คุณผดุง : ดีครับ แต่พวกเราไม่ได้คิดไปถึงว่าจะเป็นงานวิจัยของเราอีกชิ้นนึง หรืออย่างไรครับ
ผู้สัมภาษณ์ : อันนี้มันจะเป็นคล้ายๆ ฐานข้อมูลที่จะเก็บไว้สำหรับงานวิจัยในอนาคต อย่างในตอนนี้ก็มีอาจารย์บางท่านที่เคยทำงานสิบสี่ตุลาก็เรียนถามมาเหมือนกันว่ามีการสัมภาษณ์ใคร อย่างไรบ้าง เช่น อาจารย์พีระดา เกียรต์บุญชู ก็ได้ถามผมครับ
คุณผดุง : ตอนนี้ไปตามเก็บสัมภาษณ์มาได้กี่คนแล้วครับ
ผู้สัมภาษณ์ : ก็ต้องเรียนอย่างนี้นะครับ ประสบการณ์เดิม เคยทำในปี 2548-2549 เป็นของคุณพัฒนชัย วินิชกุล ซึ่งเป็นผู้จัดการคนเก่า และก็เก็บรวบรวมไว้ครับ ช่วงนั้นเท่าที่ปรากฏก็คือจะลงในหนังสือพิมพ์เนชั่นมติชนครับ ก็ตามข่าวคนเล็กๆ ในภาพ เราจะเห็นว่าในภาพจะเป็นคนถือธง ดังนั้นในช่วงนั้นเราก็จะเก็บข้อมูลของคนต่างๆได้ประมาณหนึ่งก็คือประมาณสามสิบคนครับผม
คุณผดุง : หลักๆ คือเจาะลึกแกนหัวใจสำคัญเลย หรือครับ
ผู้สัมภาษณ์ : ใช่ครับ ในช่วงหลังมานี้ โครงการได้เริ่มตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฏาคมปีที่แล้ว
คุณผดุง : อืม ต่อเนื่องมาเรื่อยๆ เอามาทำต่อ ก็ยังตามเก็บข้อมูลให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นใช่มั้ยครับ
ผู้สัมภาษณ์ : ครับก็ยังดำเนินต่อตามโครงการเดิม
คุณผดุง : ก็เน้นการเก็บข้อมูลก่อน หาข้อมูลที่เกี่ยวข้องครอบคลุมประเด็น
ผู้สัมภาษณ์ : ครับ
คุณผดุง : ตั้งเป้าบุคคลไว้เท่าไหร่
ผู้สัมภาษณ์ : จริงๆ มีประมาณหนึ่งร้อยคนครับ
คุณผดุง : ใช้เวลาที่วางไว้ในโปรเจ็คนี้กี่วัน
ผู้สัมภาษณ์ : ประมาณหนึ่งปีนับจากกรกฎาคมปีที่แล้วครับ
คุณผดุง : ก็จบกรกฎาที่จะถึงนี้นะ แล้วได้ซักห้าสิบคนหรือยัง
ผู้สัมภาษณ์ : ก็ได้เกือบประมาณห้าสิบคนแล้วละครับ
คุณผดุง : ผมเป็นคนที่เท่าไหร่
ผู้สัมภาษณ์ : (ยิ้ม)
คุณผดุง : ถามเล่นๆนะครับ แซวเล่นเฉยๆ ร้อยคนนะครับ แล้วการสุ่มบุคคลเหล่านี้ มีวิธีการสุ่มอย่างไร
ผู้สัมภาษณ์ : ในส่วนหนึ่งเราจะตาม คือในช่วงปี 16 หลังเกิดเหตุการณ์สิบสี่ไม่นาน หนังสือพิมพ์ต่างๆก็เปิดให้เขียนจดหมายเข้าไปเล่าเรื่องเหตุการณ์ ส่วนหนึ่งเราก็เอาชื่อจากตรงนั้น และก็บางส่วนก็มาจากคนที่เคยร่วมเหตุการณ์หรือจากการสัมภาษณ์คนโน้นคนนี้ ก็มีการแนะนำเพิ่มว่าคนนี้ก็เป็นเพื่อนเขาที่อยู่ในเหตุการณ์คนนั้นก็ไปด้วยกัน และก็โยงใยกันไปเรื่อยๆจากหลายทิศทางนะครับ อีกนิดนึงนะครับในส่วนของอาจารย์ ถ้าเกิดจำได้จะมีช่วงที่ให้เขียนจดหมายไปถึงมูลนิธิว่าเคยทำอะไรบ้าง เข้าใจว่าจะเป็นแบบสอบถาม ลิบเบอตัล ลิเคอเต้ นะครับ เพราะว่าหลายๆคนที่บอกก็คือว่าได้ข้อมูลมาจากตรงนั้น อันนั้นจะทำขึ้นในช่วงปี 48 หรือ 49 ครับ และก็เราเองก็ได้ใช้จากฐานข้อมูลเก่า
คุณผดุง : แสดงว่าผมได้ไปเขียนอะไรไว้ตรงนั้นใช่เปล่าหรืออย่างไร
ผู้สัมภาษณ์ : อาจจะเป็นไปได้ทั้งสองส่วนครับ
คุณผดุง : หรืออาจจะมีคนพาดพิงถึง
ผู้สัมภาษณ์ : ใช่ครับ
คุณผดุง : คงจะมีคนพาดพิงมากกว่านะครับ
ผู้สัมภาษณ์ : เพราะว่ามีชื่ออาจารย์ปรากฏอยู่ในฐานข้อมูลที่โครงการเดิมได้จัดทำเอาไว้นะครับ ทางเราซึ่งมารื้อฟื้นโครงการใหม่ ก็พยายามจะติดต่อทุกคนที่มีชื่อครับ
คุณผดุง : หนังสือที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ที่มูลนิธิมีหนังสืออะไรบ้างครับ มีบ้างมั้ย หนังสือสมัยเหตุการณ์ 14 ตุลา เพราะว่าได้ถูกเผาไปเยอะเลย
ผู้สัมภาษณ์ : ครับ ก็มีรวบรวมเก็บไว้
คุณผดุง : หนังสือในยุคนั้นนะ โดยเฉพาะหนังสือที่บันทึกสรุปการณ์เชิงประวัติศาสตร์
ผู้สัมภาษณ์ : ก็รวบรวมเก็บไว้ครับ ไปตามหามาตามร้านหนังสือเก่า และก็มีผู้บริจาคมาให้บ้าง บางส่วนทางทีมงานเดิมก็ได้รวบรวมไว้จากหลายที่ครับ
คุณผดุง : หนังสือหลักที่ใช้อ้างอิงเลย ที่เป็นมาตรฐานของเราชื่อหนังสืออะไร มีหรือเปล่า เช่น สมมติว่ามีคนมาค้นเรื่องเหตุการณ์ เราจะต้องพูดถึงเล่มนี้
ผู้สัมภาษณ์ : คือถ้าหนังสือเล่มที่รวบรวมทั้งรูปภาพและข้อมูลไว้อย่างรอบด้านมากที่สุดในตอนนี้ ผมคิดว่าคงเป็นหนังสือชื่อขบวนการประชาชนนะครับ
คุณผดุง : อ๋อ หนังสือเล่มหนาๆ ที่เป็นรูปทหารถือปืนกับคุณประพัฒน์ ถือไม้ ปกแลกซีนสีเข้มๆตีตัวทองไว้ ในรองปกก็จะมีรูป
ผู้สัมภาษณ์ : ใช่ครับ ก็จะมีรูปภาพข้อมูลในแง่ของเอกสารชั้นต้น นะครับ คำแถลงการณ์ต่างๆ รวมถึงบอกเป็นเวลาแบบจุดบางจุด ว่าเก้าโมงเช้าเกิดอะไรขึ้นบ้าง สิบโมงเช้าเกิดอะไรขึ้นบ้าง
คุณผดุง : เล่มนั้นจะเก็บไว้ลำดับเหตุการณ์ มันมีหนังสืออะไรนะ มีหนังสือเป็นหนังสือคำสั่งอะไรต่ออะไรอยู่ในนั้นด้วยนะครับ
ผู้สัมภาษณ์ : ครับ
คุณผดุง : ขบวนการประชาชนนี่ มีหลายเล่มมั้ย
ผู้สัมภาษณ์ : ที่มูลนิธิก็มีแค่เล่มเดียวครับ
คุณผดุง : ใช่มั้ย เพราะว่าตอนนั้นมีการยึดและเผาทำลายหนังสือไปซะเยอะ
ผู้สัมภาษณ์ : ครับ
คุณผดุง : นะทั้งๆ ที่เล่มนั้นมีหนังสือที่ลงพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่ด้วยใช่มั้ย
ผู้สัมภาษณ์ : ครับ ใช่ครับ
คุณผดุง : แล้วหนังสืองานศพขบวนการสิบสี่ตุลา งานพระราชทานเพลิงศพ ก็มีอยู่นะครับ
ผู้สัมภาษณ์ : ครับ มีครับ มีทั้งแบบปกแข็ง ปกอ่อน และหลังจากนั้นก็มีหนังสืองานศพของคุณจิระ บุญมาก ทางมูลนิธิก็ได้เก็บไว้
คุณผดุง : แต่เล่มขบวนการสิบสี่ตุลานี่ค่อนข้างจะเป็นข้อมูลที่สดทั้งเรื่องราวและภาพถ่าย เพราะว่ายังไม่ได้สังเคราะห์นะ เป็นข้อมูลที่เก็บรวบรวมหลังเหตุการณ์ก่อนที่ข้อมูลจะสูญหายหรือสืบค้นยาก
ผู้สัมภาษณ์ : ครับ มีทั้งภาพและก็ข้อมูล
คุณผดุง : แต่มีบางภาพเล็กๆ ตัดต่อนิดหน่อย แต่ไม่ได้ตัดต่อให้เสียนะ ตัดต่อรักษาสภาพเดิมนั่นแหละ เป็นเทคนิคการพิมพ์ แต่ทุกอย่างนั้นยังค่อนข้างสดใหม่ ทีนี้เริ่มประเด็นของเรา ดูเวลาตอนนี้สิบโมงครึ่งมีเวลาถึงสิบเอ็ดโมงครึ่งโดยประมาณ และเราก็คุยแบบโต้ตอบกันได้ ไม่เอาสัมภาษณ์แบบแข็งๆ นะ
ผู้สัมภาษณ์ : อ๋อ ไม่ครับ ทางเราก็ต้องการจะให้เป็นลักษณะของการพูดคุยมากกว่า และก็ประเด็นเราไม่ได้อยู่ว่าต้องเป็นเรื่องนี้เท่านั้น ก็คือเรามองว่าประสบการณ์ด้านอื่นๆ ก็มีคุณค่าต่อคนรุ่นหลังนะครับ ไม่ว่าเกี่ยวกับการเมืองหรือไม่ก็ตาม
คุณผดุง : และผมจะพูดตามสภาพจริง ที่ตนเองเป็นอยู่ร่วมเหตุการณ์ในเวลานั้น โดยจะพยายามทบทวนว่าตัวผมเองได้เข้าไปเกี่ยวพันเหตุการณ์อย่างไร แต่ไม่ได้ถึงกับว่าเป็นบุคคลแกนนำ
ผู้สัมภาษณ์ : ครับ ก็อยากให้อาจารย์เริ่มที่ประวัติส่วนตัวของอาจารย์ก่อนเลยนะครับ
คุณผดุง : ชื่อผดุง พรมมูล นะครับ ผมเป็นชาวจังหวัดลำปาง เข้ามาอยู่กรุงเทพเมื่อปี 2511 เรียนเพาะช่าง เป็นนักเรียนศิลปะนะครับ
ผู้สัมภาษณ์ : อาจารย์เกิดปีไหนครับ
คุณผดุง : เกิดปี 2494 เดือนกรกฎาคม แบบสมัยนั้นเด็กบ้านนอกจะมีความฝันก็คือเข้ามาเรียนหนังสือในเมืองนะครับ ชีวิตความเป็นอยู่เกี่ยวข้องกับวัดซะเยอะ ตอนอยู่บ้านนอกก็เป็นเด็กวัด และก็ทำมาหากินตั้งแต่เล็กๆ ขายไอศครีม รับจ้างเขียนถ้วยชามตราไก่ เก็บเศษครั่งขาย แบกของอยู่หน้าสถานีรถไฟ และก็จะคลุกอยู่กับคนชั้นล่าง กรรมกร แรงงานรายวัน พ่อแม่ก็เป็นคนพื้นบ้านธรรมดา คือมันมีภูมิหลังที่อยู่กับชีวิตคนบ้านๆ เราจะเข้าใจชีวิตคนและสะเทือนใจกับเหตุการณ์อะไรที่มันเกิดขึ้นกับชีวิตคน โดยเฉพาะเรามาจากครอบครัวเกษตร แม่ทำสวนทำผัก รับจ้างเรื่อยไป พ่อก็สานแข่งใส่ถ้วยชามตราไก่ การที่อยู่กับชีวิตเกษตรเป็นชีวิตที่เอื้ออาทร มีแต่การช่วยเหลือ รากเดิมผมเป็นมาอย่างนี้ ตอนเล็กๆก็อยู่วัด เพราะไปอาศัยกินข้าววัด เรียนหนังสือ และมาเรียนเพาะช่างก็มาขออาศัยอยู่วัดโพธิ์ ท่าเตียน รู้จักมั้ย
ผู้สัมภาษณ์ : รู้จักครับ
คุณผดุง : ตอนเข้ามานั้นชีวิตมันมาก เรามาขออยู่ พระท่านไม่เต็มใจจะรับ เพราะลูกศิษย์ท่านมีหลายคนคือ เลี้ยงคนนี่ไม่ใช่เลี้ยงง่ายนะ ไหนต้องดูแลอาหารการกิน ต้องนอนเบียดกันในกุฏิ พอเรามาขออยู่ท่านก็แทบไม่มองหน้า เรารู้สึกกดดัน ต้องล้างจาน ถูกุฏิ แลกการขออาศัยอยู่เต็มๆเลยเพื่อขอกินข้าวสักเล็กน้อย นี่เป็นความรู้สึกที่อยู่ในตัวเรา แล้วเป็นนักเรียนเพาะช่าง เรียนทางศิลปะเป็นวิชาปฏิบัติ ชีวิตปฏิบัติกับกิจกรรมจะไปด้วยกัน เราชอบทำกิจกรรมใครก็รู้ทำโน่นทำนี่หาเรื่องทำและทำ ใจรักสนุก อยากเรียนรู้ และก็อีกอย่างมันมีข้าวมีน้ำกิน บางครั้งเราไม่มีเพื่อนก็มี เรามีแบ่งเพื่อน แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นหลักนะ โดยพื้นนิสัยเป็นเด็กชอบกิจกรรม ติดมาตั้งแต่เรียนมัธยมแล้ว โรงเรียนประจำจังหวัดที่ลำปาง ก็จะชอบอยู่ชมรมทำงานช่วยเหลือครับ ตอนอยู่เพาะช่างการที่เป็นนักเรียนกิจกรรม เมื่อมองสิ่งต่างๆรอบตัว คือชอบคิดว่ามันน่าจะเกิดอย่างนั้น น่าจะเป็นอย่างนี้ มองอะไรอยากให้มันดีขึ้น ไม่รู้สมองส่วนไหนมันคิดนะ ก็แปลกที่ไม่มีวิชาสอน แต่ก็ชอบนั่งคุยกับเพื่อน ไปๆมาๆ ปีที่ใกล้จะจบ ผมได้รับเลือกให้เป็นประธานสภานักศึกษาของเพาะช่าง แต่ยุคนั้นด้านการเมืองเป็นบรรยากาศของเผด็จการ เพราะว่าท่านจอมพลถนอมเป็นนายกรัฐมนตรี จอมพลประภาสเป็นรัฐมนตรีกระทรวง มหาดไทย คุณณรงค์ กิตติขจรเป็นนายทหาร ตอนนั้นเป็นพันเอกณรงค์นะ คือพันตรี พันโท ขึ้นเร็วมากเลย จึงเป็นฐานอำนาจที่มั่นคงนะครับ ที่เริ่มรู้สึกเพราะว่าครั้งหนึ่งคุณณรงค์ กิตติขจรเป็นลูกศิษย์ของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สวนกุหลาบตอนนั้นเขาบูมมาก และเพาะช่างติดกับสวนกุหลาบ ทางสมาคมสวนกุหลาบก็เลยอยากจะได้ที่เพาะช่างมาเป็นของสวนกุหลาบโดยใช้อิทธิพลหรือบารมีของทางผู้ใหญ่ โดยเฉพาะคุณณรงค์ กิตติขจร เพื่อจะยึดที่เพาะช่าง ไม่ใช่ยึดหรอกครับ ขอ และก็ให้เพาะช่างไปอยู่ที่อื่น อันนั้นมันเป็นความรู้สึกที่ว่าถูกรุกราน เพราะโรงเรียนเพาะช่างถือว่าเป็นโรงเรียนมีตำนาน มีประวัติศาสตร์ ลูกศิษย์มีความผูกพัน พวกศิลปะก็รู้อยู่ เป็นพวกอ่อนไหว ผูกพัน สะเทือนใจอะไรอย่างนี้ ทำให้เกิดกระบวนการที่ต่อต้าน ไม่เห็นด้วยไม่ยอม แต่ความรุนแรงนั้นไม่ได้มีอยู่ในหัว เพียงแต่ว่า เขียนเป็นโปสเตอร์ วาดรูปลายเส้นการ์ตูนรูปตึกอาคารกลางที่มีเสาหกต้นด้านหน้าถูกรื้อ ถูกถอนโดยพวกที่มีอำนาจอิทธิพล มันก็เป็นบรรยากาศที่สื่อสารด้วยภาษาภาพ
ผู้สัมภาษณ์ : ช่วงนั้นอาจารย์เรียนอยู่ปีไหนแล้วครับ
คุณผดุง : อยู่ปี 5 เป็นประธานนักศีกษา มันเชื่อมตั้งแต่ ปี4- ปี5 เลยเกิดการรวมตัวกัน รุ่นน้องเขาก็มาร่วมด้วย มันเป็นตัวต่อกัน พอเราทำได้ดี รุ่นน้องทำได้ดี ศิษย์เก่าก็เริ่มเข้ามาให้ความสำคัญ นั้นคือความรู้สึกแรกที่ได้รับรู้และเกี่ยวข้องกับการเบียดเบียนและการใช้อำนาจอิทธิพลของผู้บริหารบ้านเมือง ที่จริงผมเองในเรื่องความคิดทางด้านการเมืองแทบจะไม่ปรากฏ ตอนที่เป็นประธานนักศึกษาก็ไม่รู้ทำอะไรดีมากน้อย เพราะพวกเชียร์บ้าง ยุส่งบ้าง ก็เราเป็นพวกนักกิจกรรมนะครับ แต่ในการศึกษาเจาะลึกเราไม่มี รู้แต่ว่าประเทศไทยมีการปฏิวัติบ่อย สมัยนั้นมันเปลี่ยนอยู่เสมอเลย ไล่เรียงตั้งแต่ปี 2475 ที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง และก็จะพบว่ามีการโค่นล้มอำนาจช่วงชิงกันมา เราก็จะรับรู้ประมาณนั้น แต่ไม่ได้ศีกษาเจาะลึกและก็มาสะดุดอีกช่วงหนึ่ง ก็ช่วงจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชน์ที่เป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นรัฐมนตรีสายเผด็จการ ที่รู้เพราะว่าตอนนั้นเรื่องยิงเป้ามีเยอะ ไฟไหม้กับการยิงเป้าเป็นของคู่กัน ฝิ่นนี่ยิงบ้างอะไรบ้าง แต่ไฟไหม้เป็นที่รู้กันเลยว่าถ้าจับได้ยิงเป้า และก็ตอนที่ท่านเสียชีวิต เรื่องส่วนตัวก็ปรากฏขึ้น ก็คือเรื่องภรรยา สมัยนั้นคุณหญิงวิจิตรา ธนะรัชน์เป็นภรรยาที่ออกสังคม นอกนั้นก็มีอีกหลายๆคน จนเป็นข่าวฮือฮามากจนได้รับฉายาว่า จอมพลผ้าขะม้าแดง ใช่มั้ย ก็ไม่เข้าใจหรอกว่าผ้าขะม้าแดงคืออะไร จนปัจจุบันนี้ครับ และก็ยังมีเรื่องคอรัปชั่นที่ผมรับรู้ในยุคนั้นว่าหลักร้อยล้านนั้นเป็นเงินที่เยอะมาก และเกิดคำถามว่านายกรัฐมนตรีมีเงินขนาดนั้นเลยหรือและเป็นเงินที่เขาใช้คำว่าคอรัปชั่น ซึ่งคนที่ตายแล้วมันก็เล่นกันได้นะครับ แสดงว่ามันมีรากกันมาที่ชัดเจนที่รับรู้ผ่านสื่อ ก็สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชน์เรื่อยมา ใครนะที่มีส่วนสมคบกับท่าน และเรื่องราวของท่านปรีดี ก็รู้บ้างเล็กน้อย ที่ผูกพันมากก็สมัยจอมพลถนอม ประพาส ที่ผมจะรับรู้มาก ทีนี้ตอนที่มาเป็นเด็กวัดโพธิ์มันมีอยู่สองสถานะ สถานะหนึ่งคือเป็นลูกศิษย์วัดที่ต้องเรียนรู้เรื่องศาสนา โดยสภาพแวดล้อม ก่อนนอนต้องสวดมนต์ ตื่นเช้ามาต้องถูกบังคับให้อ่านหนังสือสวดมนต์อีก กล่อมเกลาให้เป็นคนดี และก็ไม่ให้ก้าวร้าว ไม่ให้ไปคบคนไม่ดี ฉะนั้นการเพาะเชื้อทางด้านการเมืองไม่ได้เกิดขึ้นโดยตรง การศึกษาวงกว้าง นอกเหนือจากศาสตร์ด้านศิลปะเราก็ไม่มีเท่าไหร่ มีกิจกรรมที่ทำกับโรงเรียน เพียงแต่ว่าในสมัยนั้น ผมจำได้ตั้งแต่ปี พ.ศ.12 -14 เป็นต้นมานี่ หนังสือพิมพ์ที่มีอิทธิพลต่อความคิดของคนหนุ่มสาวในสมัยนั้น คือหนังสือพิมพ์สยามรัฐ โดยเฉพาะคอลัมน์ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่มีอิทธิพลต่อผู้อ่านมาก ผมก็สงสัยว่าทำไมเขาอ่านเล่มนี้กันนะ ไทยรัฐ เดลินิวส์ก็มีอยู่ แต่ทำไมเขาอ่านเล่มนี้ เราก็เลยลองไปอ่านดูและก็เริ่มถูกเพาะแนวคิดทางการเมือง อีกเล่มหนึ่งเป็นหนังสือชาวกรุงในเครือสยามรัฐ ก็มีคอลัมน์เกี่ยวกับสังคม คอลัมน์ของปัญญาชน คอลัมน์เหตุการณ์บ้านเมืองที่เขียนสไตล์สบายๆ โดยเฉพาะมีกลุ่มนักคิดนะ นักคิดของกระบวนการนักศึกษาที่เด่นๆ ที่ผมได้ติดตาม อยู่ค่ายศิลปากร ก็มีสุจิตต์ วงษ์เทศกับขรรค์ชัย บุนปาน เป็นนักศึกษาไม่ใช่นักศึกษาทางศิลปะโดยตรง เป็นนักศึกษาทางโบราณคดี พวกโบราณคดีเขาเป็นนักคิดนักเขียน เขาก็เขียน และเป็นนักศึกษาที่มีความคิดแบบนอกกรอบ เขียนเรื่องราวที่อ่านแล้วมันนะ คือมันมีชีวิต ไม่ได้เขียนแบบนักวิชาการ เพ้อเจ้อ แต่เขียนเอาชีวิตออกมาถ่ายทอด มันเลยทำให้ได้เรียนรู้ว่าบ้านเมืองเป็นอย่างนี้นะ สังคมเป็นอย่างนี้นะ แล้วเขาสะท้อนภาพชีวิตนิสิต-นักศึกษาออกมา ของคุณสุจิตต์ วงษ์เทศเขียนเกี่ยวกับการรับน้องใหม่ ซึ่งเป็นทั้งเรื่องจริงและเสียดสี เจ็บปวดแต่ขำขัน ขณะเดียวกันฉุกให้คิดว่า เราเป็นคนหรือเป็นสัตว์กันแน่นะ มีการเพาะกระบวนการทางสิ่งแวดล้อม ถ้าอ่าน สยามรัฐนั้น คนอื่นผมจำไม่ค่อยได้เท่าไหร่ แต่ชอบใจคอลัมภ์ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมทย์มาก พอยิ่งอ่านยิ่งพบว่า โอ้โหมนุษย์ท่านนี้ เป็นอะไรหลายอย่างในคนๆเดียว บูรณาการ สามร้อยหกสิบองศาแห่งองค์ความรู้ท่านและพอช่วงการเมืองมันแย่ๆ ท่านก็เขียนถึง จะมีแง่มุมที่ให้คนได้คิดเพราะว่าตอนนั้นพูดตรงไม่ได้ ท่านก็จะมีวิธีซ่อนแนวคิดชังธงรบ ผ่านกระบวนการสื่อสารด้วยภาษา ถ้าจะพูดภาษาวิชาการ เรียกว่าการสื่อสารทางการเมือง แต่ใช้หลักของนิเทศศาสตร์และวรรณศิลป์ ท่านเป็นคนเปรียบเทียบเปรียบเปรย ใช้สถานการณ์ไปเล่นแก็ก มันมาก คนฮากันทั้งเมืองเลย แต่รู้เป็นนัยว่าผู้คนต่อต้านถนอม ประภาสและเผด็จการ อย่างนี้นะครับ
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วอาจารย์ได้คุยเกี่ยวกับเรื่องราวที่อ่าน กับเพื่อนคนอื่นๆ หรือเปล่าครับ
คุณผดุง : ได้คุยครับ ได้คุยตอนนั้นในเพื่อนร่วมรุ่น ที่เขาสนใจในเรื่องแบบนี้ อย่างเช่น สุองค์ หย่างเจริญ ตอนนี้ไปเป็นศิลปินอยู่ในอเมริกา แต่อีกคนหนึ่งที่แรงขึ้นไปอีก ก็สิงห์น้อย ฟูสถิตย์สถาพร เป็นคนสุพรรณ คนนี้เขายิ่งแรงกว่าผม แรงก็คือเขาจะเป็นคนเฉยๆเงียบๆ ไปไหนก็ถือหนังสือพิมพ์สยามรัฐเป็นประจำ บุคคลคนนี้ที่ทำให้ผมต้องชำเลืองดูว่าทำไมเขาถึงอ่านสยามรัฐ เขาเรียนคนละแผนกกับผม ในเพาะช่าง ตอนนั้นมีรุ่นพี่ที่เริ่มสนใจเรื่องการบ้านการเมืองที่โดดเด่น ก็มี นิเวศน์ กันไทยราษฎร์ เป็นนักเขียน ตอนนั้นสถาบันต่างๆ จะมีโครงการบ่มเพาะและเคลื่อนไหวทางความคิด โดยผ่านวารสาร หรือหนังสือของสถาบัน ของวิทยาลัยเทคนิคก็มีของเขา ธรรมศาสตร์ไม่ต้องพูดถึงเลย เป็นคลังความคิดสารพัด ทั้งแผ่นปลิว หนังสือ เอกสาร รามคำแหงเกิดขึ้นเมื่อปี 2512 เพาะช่างก็มีวารสารดำแดงปริทรรศน์ ตอนนั้นคุณนิเวศน์ กันไทยราษฎร์ มาเป็น บ.ก. อยู่ กับคุณรงค์ สุรินทร์วงศ์ ก็เป็นทีม กระบวนการจะคล้ายๆเป็นคลื่นเดียวกัน คลื่นความคิด เขาก็อยู่เป็นแก๊งค์เป็นอะไรต่ออะไรกัน และไม่มีเงินที่ไหนมาสนับสนุนนะ ควักกระเป๋ากันเอง และหาสปอนเซอร์แถววังบูรพา ผมเรียนมาทางสายครู ก็ออกวารสารคุรุศิลป์ ไม่ใช่ครุปริทรรศน์ ขอโทษครับ คุรุศิลป์ อันนั้นมันออกโดยมีวัฒนา หอมสมบัติ เป็นหัวหอก คล้ายว่าเป็นการมีฝักฝ่าย อยู่ในโลกเดียวกัน แต่ก็เป็นกระบวนการทางความคิด เคลื่อนไหว ก็เลยทำให้เพาะแนวคิดคนมา เพราะว่าในหนังสือมันไม่ได้พูดถึงศิลปะอย่างเดียว แต่จะมีเรื่องการเมือง เรื่องอะไรเข้าไปแทรกด้วย นี่คือกระบวนการทางสังคมที่เป็นบริบทในช่วงเวลานั้น ทางเชียงใหม่ก็จะมีกลุ่มนักคิด ที่มีชมรมมีอะไรต่อมิอะไร ฉะนั้นเมื่อก่อนเรื่องชมรมนี่ดีมากๆ ทำให้งานกิจการนิสิตนักศึกษาเข้มแข็ง นับตั้งแต่ชมรมระดับภูมิภาค ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคใต้ และก็มีชมรมที่ตามวิชาชีพแล้วแต่ความสนใจ เช่น ชมรมภาษาไทย ชมรมพัฒนาชนบท ชมรมศิลปะ ชมรมดนตรี ชมรมสันทนาการ สารพัดชมรมเลย รามคำแหงนี่เป็นแหล่งเพาะการพัฒนาคนผ่านชมรม สุดยอด ช่วงนั้นถ้าใครเข้าไปรามคำแหงนี่เหมือนกับจตุจักร คือจะเป็นซุ้มๆเต็มไปหมด แล้วแต่ละซุ้มก็จะเขียนป้าย จะหนักไปทางชมรมทางสังคม ชมรมพัฒนาชนบท ชมรมชาวใต้ ชมรมชาวเหนือ ชมรมภาษา ตรงนี้ดีมากนะ และก็เพาะช่างเองก็มีสภานักศึกษา เป็นโรงเรียนศิลปะแต่ก็ทันสมัย และก็มีชมรมต่างๆ มีงบประมาณให้ ตอนนั้นผมก็ไปสร้างระบบอะไรต่ออะไรไว้ ทำให้สภาค่อนข้างมีบทบาท และเป็นตัวคานอำนาจกับผู้บริหารและอาจารย์ในโรงเรียนโดยไม่รู้ตัว เราก็ไม่รู้หรอก แต่ความสำคัญทำให้เกิดการเรียนรู้ที่นอกเหนือหลักสูตร ทำให้เกิดการเชื่อมโยงและหมุนเวียนในกระบวนการนักศึกษาตามธรรมชาติ สมัยก่อนหน้านั้นกระบวนการนักศึกษาคือการสังสรรค์เฮฮาปาร์ตี้ เช่นงานบอลถ้าเกิดเป็นคนหนุ่มสาวสมัยก่อนธรรมศาสตร์ก็งานบอล จุฬาก็บอล เพาะช่างยังมีบอลกับเขาด้วย เมื่อก่อนถ้ามองแล้วชีวิตเป็นอยู่อย่างบันเทิงรื่นเริง แต่ขาดจิตสำนึกทางสังคมที่ชัดเจน จริงๆมันมีแต่มันไม่ถูกกระบวนการผลักดันตรงนี้ ถ้างานบอลก็แห่ไปกินเหล้า เต้นรำ สมัยนั้นนี่ หนุ่มสาวคนไหนไม่กินเหล้าสูบบุหรี่นี่เชยมาก ไม่สูบบุหรี่นี่ตกสมัยเลย ต้องเต้นลีลาศเป็น ดนตรีก็ยุคสมัยนั้น งานบอลที่ฮิตมากก็เพลงของสุนทราภรณ์ ถัดมาก็วง The impossible เห็นมั้ย เห็นกลไกจากไม่มีสาระเป็นมีเนื้อหาสาระผ่านกระบวนการชีวิตนักศึกษา ที่ผ่านตรงนี้เพราะว่าแต่ละสถาบันนั้นมีความหลากหลายของคนที่เข้าไปอยู่รวมกัน ทั้งเหนือ ใต้ อีสาน อะไรต่ออะไร ตอนนั้นทางผู้ใหญ่ไม่คิดหรอกว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น แล้วก็เอาเรื่องราวของชีวิตมาเล่า ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ทำให้เข้าใจกัน เข้าใจคนต่างภูมิภาคและมีโอกาสไปเที่ยวกัน ไปเที่ยวตามบ้านเพื่อน เพราะสมัยก่อนไม่มีที่เที่ยวแบบทุกวันนี้ ไม่มีเทค บาร์ ผับ แหล่งมอมเมาที่ทำให้คนงี่เง่า ทำให้คนไร้สาระ นี่พูดแรงไปนิด แต่เมื่อก่อนเรื่องพวกนี้มันน้อย และก็ยังไม่มีทุนกู้ยืมเรียน ไม่มีอะไรมากมาย ก็กลายเป็นว่าการไปเที่ยวบ้านเพื่อนเป็นอะไรที่สุดยอด การโบกรถไปบ้านเพื่อนจังหวัดนั้นจังหวัดนี้สนุกท้าทาย สมัยนั้นสังคมยังปลอดภัยและเชื่อถือกันอยู่ ชีวิตที่ถูกบ่มเพาะทั้งโลกทัศน์ทางสังคมและการเมืองมันเกิดขึ้นได้โดยกลไกมันเอง ตอบยาวเลยนะ สิบห้านาที
ผู้สัมภาษณ์ : ไม่เป็นไรครับ ดีแล้วครับ
คุณผดุง : เดี๋ยวออกนอกประเด็นไป เชิญถามครับ
ผู้สัมภาษณ์ : ช่วงที่จอมพลถนอมปฏิวัติตัวเองในปี 14 นั้น อาจารย์ได้พูดคุยหรือว่าเคลื่อนไหวอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือเปล่าครับ
คุณผดุง : ปฏิวัติตัวเอง น่าจะเป็นผู้รับฟังมากกว่า เสพย์ข้อมูล และก็มาคิด ผมก็คิดอยู่นั่นนะ คิดแบบขำๆว่า เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่แล้วทำไมปฏิวัติ เอารถถังมา ตอนนั้นมันงง คนที่เขารู้ก็จะรู้พวกธรรมศาสตร์ พวกจุฬา แต่ตอนนั้นผมไม่รู้จริงๆ ก็มารู้ว่าการเมืองการปกครองมีรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญของเราก็จะเขียนโดยผู้มีอำนาจ สาระก็เป็นไปตามที่เขาต้องการ การแต่งตั้งรัฐมนตรีทั้งหลายอำนาจอยู่ที่ข้างบน ไปดูรัฐมนตรีสมัยก่อนจะมียศทหาร ตำรวจ ข้าราชการ ขุนศึก ศักดินา เกิดขึ้นตั้งมายกแผงเลย ฉะนั้นถ้าเห็นรูปรัฐมนตรีจะต้องมีใส่อินธนูใส่ชุดขาวและมีสายสะพาย นายกอะไรก็เช่นกันเป็นภาพของเครื่องเคราเต็มยศ รัฐธรรมนูญนี่ก็ปฏิวัติบ่อย มันมีปฏิวัติ 11 ปีอะไรนี่ เลข 11 นี่ผมก็จำได้นะ มันมีอะไรอยู่ช่วงหนึ่ง
ผู้สัมภาษณ์ : เอ่อ ตอนนั้นน่าจะเป็นช่วงที่ประกาศรัฐธรรมนูญปี 12 แล้วก็มีการเลือกตั้งขึ้นมาเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี
คุณผดุง : เออ ใช่นี่แหละ และก็คนก็ไปฮือฮากันนะ และก็ปี 14 ที่มีการปฏิวัติตัวเอง เพราะว่าพอใช้รัฐธรรมนูญคนก็มีปากมีเสียง โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ ตอนนั้นก็มีหนังสือพิมพ์เด่นๆ ก็มี ไทยรัฐ เดลินิวส์ สยามรัฐ ดาวสยาม ดาวสยามนี่เราจะเรียกว่าหนังสือฝ่ายขวา และก็หนังสือจตุรัสที่เกิดขึ้นทีหลัง เป็นของคุณสนธิ หนังสือพิมพ์ก็จะวิพากษ์การเมือง สยามรัฐนี่ตอนนั้นก็ไม่ต้องพูดถึง ฉะนั้นผู้นำที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ เขาจะรำคาญการวิพากษ์ เขาก็เลยปฏิวัติแต่เหตุการณ์ย่อยอย่างอื่น ผมจำไม่ได้จริงๆว่าตอนนั้นมีใครไปกวนอารมณ์เขาที่จะปฏิวัติตัวเอง เพราะว่างบประมาณจะไปลงในเรื่องการทหารเยอะ การพัฒนาประเทศทั้งหลายตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชน์ ขอคุยนอกรอบหน่อยนะ
ผู้สัมภาษณ์ : ได้ครับ
คุณผดุง : เมื่อก่อนสังคมไทยเป็นสังคมที่เป็นไปตามธรรมชาติ แม้ว่าจะมีการปกครองโดยระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้วมาเปลี่ยนในปี 2475 ก็ยังมีรากเดิมอยู่ คืออยู่แบบเกษตรกรซะเยอะ ร้อยละ80เป็นเกษตรกร เขาก็อยู่กันได้ มีกิน แม้ว่าไม่มีเงินในบ้าน ก็มีกินมีอยู่ อยู่กันได้อย่างมีความสุข พอมาถึงสมัยของจอมพลสฤษดิ์ก็มีการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับแรกเรียกว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจเฉยๆ ก็เป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน และใช้โครงการเงินกู้ของธนาคารโลก แต่ไม่รู้โครงการเงินกู้ สมัยนั้นมีเรื่องเล่าว่า โครงการเงินกู้จะมีเงินปากถุง สมมุติว่าเราไปกู้มาร้อยล้านก็จะได้มาสักก้อน แล้วก็จะไปลงที่เรื่องของไฟฟ้า ถนน เป็นต้น สังคมเราเริ่มเปลี่ยนตรงที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ผ่านไปแผนหนึ่งสี่ปี เน้นแต่เศรษฐกิจสังคมเริ่มจะเสีย ก็เลยมาเติมเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้นที่แผนที่สี่ ผมไม่แน่ใจลองไปเช็คดูนะ กระบวนการเลยเริ่มทำให้คนเปลี่ยนแปลง และพอไปธนาคารโลก ก็เริ่มเอาเงินไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการศึกษา เริ่มส่งคนไปเรียนต่างประเทศ มันมีได้มีเสียนะกับการส่งคนไปเรียนต่างประเทศ คนไทยเรารับอะไรต่ออะไรมาง่าย แต่ขาดการวิเคราะห์เพื่อนำมาปรับใช้ โดยเฉพาะในแวดวงการศึกษาผมขอวิพากษ์นิดนึงว่า เอาความคิดอย่างฝรั่งมาใส่ในกระบวนการศึกษาไทย ทำให้คนบ้านเราคิดแบบฝรั่ง ที่สำคัญเริ่มละทิ้งวิถีวัฒนธรรมไทย หรือความแข็งแกร่งของวิถีไทย ทำให้เราเริ่มเบี่ยงเบนไป และก็พอมาส่วนหลักๆก็เริ่มจิตแตกกันไปเรื่อยๆ และเมื่อครู่เราพูดถึงประเด็นการปฏิวัติสมัยหนึ่งสี่ใช่มั้ยครับ พอเหตุการณ์ปฏิวัติสมัยหนึ่งสี่ ในตอนนั้นคนก็เริ่มที่จะรับรู้แล้ว ปฏิวัติตรงนั้นเชื่อมกับกระบวนการนิสิตนักศึกษา เพราะว่ารามคำแหงเริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี12 รามคำแหงเป็นหัวหอกการเคลื่อนไหวทางการเมืองในสมัยนั้น ที่จริงแรงกว่าธรรมศาสตร์นะ ใช่มั้ย
ผู้สัมภาษณ์ : ครับผม
คุณผดุง : เขาเริ่มอึดอัด ทนไม่ได้ โดยเฉพาะคนใต้มาเรียนเยอะ คนใต้นี่การเมืองอยู่ในสายเลือดไม่ว่าจะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความคิดเห็น แล้วถ้ามองทางจิตวิทยาสังคมใน สมัยนั้นนะคนที่เรียนรามคำแหงจะถูกสังคมดูถูก ถูกมองข้าม พวกที่เรียนรามคือพวกที่สอบเอ็นทรานไม่ได้มาชุมนุมกัน พ่อแม่บางคนก็ไม่ยอมให้ลูกหลานเรียน มาเรียนกันยังไง มาห้องเรียนก็ไม่ได้เข้า นั่งเรียนกันไปเรื่อยเปื่อย เรียนก็ได้ ไม่เรียนก็ได้ สังคมไทยรับไม่ได้ แต่ก็มีคลื่นของเยาวชนที่พลาดเอ็นทรานไปอยู่ตรงนั้นหลายหมื่นคน รุ่นแรกเนี่ยใครติดตราพ่อขุนรามไปที่ไหน ไม่มีใครยอมรับนะ น่าเห็นใจมากเลย เพราะค่านิยมของบ้านเรามันชูคนเก่งและชูสถาบัน ต้องจุฬา-ธรรมศาสตร์เท่านั้น ทางสายครูก็ยังโอเคอยู่ แล้วรามคำแหงไม่ต้องพูดถึงเลย จิตวิทยาสังคมที่ถูกเก็บกด ก็ต้องหาทางออกด้วยการสร้างความเด่น ด้วยทางการเมือง ชมรม การออกไปพัฒนาชนบท รามคำแหงก็เป็นข่าวอยู่เรื่อยๆข่าวในทางบวกด้วยนะ นานๆจะมีข่าวฉกชิงวิ่งราวโดยนักศึกษารามคำแหงซึ่งก็เป็นที่ฮือฮามาก เห็นมั้ยๆๆ แต่ความดีส่วนใหญ่ที่คนเป็นหมื่นทำนี่ จริงๆแล้วคนที่พลาดเอ็นทรานซ์นี่มีคนระดับครีมอยู่ในนั้นเยอะ เพราะระบบของเรา มันเป็นระบบทำช่องแคบน่ะ คนจบมาสองแสนคนแล้วรับแค่เจ็ดหมื่นคน ใช่มั้ย แล้วข้อสอบก็ไม่ได้วัดคนได้ทุกมิติ ฉะนั้นคนที่เหลือนี่โอ้โห เพชรพลอยอยู่ในนี้ตั้งเยอะ คนเก่งนี่เป็นทั้งนักคิด นักต่อสู้ นักดิ้นรน โดยเฉพาะคณะนิติศาสตร์นี่เห็นมั้ย ตอนหลังสอบเนติฯสอบอะไรเนี่ยเป็นอันดับหนึ่งติดๆกัน จนกระทั่งสะเทือนไปทั้งวงการเลย มีสิงห์ตัวใหม่เกิดขึ้น ดังนั้นเมื่อเกิดการปฏิวัติหนึ่งสี่ก็เลยทำให้เกิดการเก็บกด นักคิดวัยหนุ่มสาว นักเคลื่อนไหวทางการเมือง นักอะไรต่ออะไรเยอะมาก แล้วตอนนั้นมันมีกระแสหนังสือต้องห้ามเริ่มออกมาได้ ทำไมมันออกมาได้นะช่วงนั้น ปีหนึ่งสี่ถึงสิบสี่ตุลาหนึ่งหก ช่วงสองปีนี่เกิดการท้าทายอำนาจรัฐแล้ว โดยกระบวนการนิสิตนักศึกษาและนักคิดปัญญาชน ผ่านผู้นำความคิดที่อยู่ตามสื่อมวลชนโดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ เพราะว่าการสื่อสารการเมืองหรือทางสังคมจะผ่านหนังสือพิมพ์ข้อเขียน คนที่เป็นหัวหอกนักคิดที่จบเมืองนอกมาที่เด่นๆ อย่างคุณ ส.ศิวรักษ์ เป็นนักคิดนักเขียนสมัยนั้น
ผู้สัมภาษณ์ : เขาทำสังคมศาสตร์ปริทัศน์ด้วยครับ
คุณผดุง : ใช่ หนังสือนี่มีบทบาทมาก สังคมศาสตร์ปริทัศน์ เป็นหนังสือที่ให้ความคิดในทางการเมืองด้วย และก็หนังสือที่เป็นที่นิยมมากก็คือหนังสือที่พิมพ์ขายหรือแจกในการอภิปราย ตามเวทีอภิปรายต่างๆ การตื่นตัวของนักศึกษาช่วงนั้นน่าชื่นใจนะ มีคุยกันแลกเปลี่ยนความคิดกัน มีพูดที่ไหนบรรยายที่ไหนก็จะตามไปฟังกัน อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เท่าที่จำได้ ส.ศิวรักษ์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ขรรค์ชัย บุนปาน สุจิตต์ วง์เทศ และก็อีกหลายคนนะ เวลาเขาขึ้นเวทีทุกครั้ง ความทันสมัยของนักศึกษารุ่นนั้นต้องไปฟังให้ได้ หอประชุมธรรมศาสตร์นี่แน่นเลย
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วอาจารย์ได้ตามไปฟังด้วยหรือเปล่าครับ
คุณผดุง : ไปฟังเป็นส่วนใหญ่นะ หอประชุมกรมประชาสัมพันธ์มีก็ไปฟัง และก็ที่ไหนที่มีไฮปาร์คก็ต้องหาโอกาสไปร่วมฟัง เช่น สนามหลวง บรรยากาศที่สนามหลวง ซึ่งเมื่อก่อนสนามหลวงก่อนที่จะย้ายไปอยู่ที่สวนจตุจักรก็คือตลาดนัดวันเสาร์-อาทิตย์ คนรู้จักกันทั่วประเทศและโดยเฉพาะกรุงเทพ เพราะฉะนั้นเวลาจะไฮปาร์คนี่ต้องสนามหลวง มันจะคล้ายๆ ไฮปาร์คในลอนดอนนะ ผมไปฟังนี่มันมากเลย
ผู้สัมภาษณ์ : ส่วนใหญ่เป็นหัวข้อทางด้านไหนบ้างครับ
คุณผดุง : การเมือง ต้องการเมืองเลย ยิ่งไม่มีการเลือกตั้ง ประชาชนก็อยากจะแสดงความคิดเห็น แบบท้าทายอำนาจรัฐ เขาก็พูดผมก็จะไปฟัง สิ่งที่เขามาพูดนี่มันแทนความรู้สึกที่เราอยากจะพูดแทนความรู้สึกที่อยู่ในใจเรา การไฮปาร์คมีพวกที่เก่งๆ อย่างเราก็ไม่รู้จะพูดยังไง คนที่ไปพูดนี่ก็จะมีข้อมูล มีวิธี กระบวนการจิตวิทยามวลชน เอาคำนี่มาใช้คำโน้นมาใช้ ซ่อนคำนี้ แต่ก็อัดอยู่ข้างบนนั้นแล้ว
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วตอนนั้นรัฐบาลมีท่าทีอย่างไรบ้างครับ
คุณผดุง : เขาเรียก wait and see เฝ้ามอง แต่ก็จะมีกระบวนการเรื่องสันติบาล เราจะรู้กันในนามตำรวจ สันติบาลที่คอยแทรกตัวไปในที่ต่างๆ ถึงขั้นว่าในสถาบันอุดมศึกษาทั้งหลายนี่จะมีสันติบาลปลอมตัวไปปะปน เพาะช่างเองก็มีคนกระซิบบอกว่า ระวังนะ เขาเริ่มสำรวจอะไรต่ออะไร รามคำแหง จุฬา-ธรรมศาสตร์นี่ไม่ต้องพูดถึง รามคำแหงนี่เพียบ แล้วทางรัฐบาลก็ค่อยๆสะสมอำนาจ เครื่องมือทางด้านการปราบปราม ก็คืออาวุธยุทโธปกรณ์ ในข่าวการอนุมัติงบประมาณ งบประมาณที่ใช้ทางอาวุธจะเยอะแต่เราก็พูดอะไรมิได้ แล้วประชาชนก็มองว่าทำไมไม่ไปลงทางด้านการศึกษา การศึกษาขั้นพื้นฐานมันอ่อนแอนะ โรงเรียนมันแย่นะ ชีวิตประชาชนยังยากจน สลัมเยอะ แต่ทำไมคุณไปอนุมัติด้านอาวุธ ตอนนั้นนั่งดูการอนุมัติอาวุธ หลักหมื่นล้านเป็นเงินใหญ่มาก ซื้อฝูงบิน ซื้อรถถัง ซื้อจรวด ซื้อลูกปืนบ้าง แต่ละลูกนี่แพง ไว้ทำอะไรไว้ยิงซ้อมรบกัน แล้วไว้เวลาปฏิวัติก็หันหน้าเข้าหาประชาชน สื่อมวลชนจึงกล่าวว่า ภาษีอากรของประชาชนคุณก็เอาไปซื้ออาวุธและก็เอามาเข่นฆ่าประชาชน
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นรัฐบาลอ้างภัยคอมมิวนิสต์ด้วยหรือเปล่าครับ
คุณผดุง : คำถามนี้ดี มันมีความต่อเนื่องกับเหตุการณ์ข้างนอก เพราะตอนนั้นเราเป็นนอมินีของอเมริกา เขามีสองค่าย จีนคอมมิวนิสต์กับอเมริกาทางด้านการเมือง ตอนนั้นเราก็รู้อยู่อเมริกากล่าวหาว่าคอมมิวนิสต์จนน่ากลัว เขาเป็นฮีโร่ในโลกแล้วไทยเรานี่ก็เกาะสายอเมริกา อย่างที่ผมบอกตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติส่งคนเข้าไปเรียน เพื่อไปรู้ว่าวิธีพัฒนาให้เจริญเป็นอย่างไร เมื่อไปอยู่อเมริกาก็จิตอ่อนไปรับของเขามา ไม่ว่าจะเป็นสายทหารที่ไปเรียน สายครูบาอาจารย์ สายที่พำนักอยู่ตามกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ มันก็เอาอเมริกาเป็นแบบอย่าง แต่วิธีคิดก็คิดแบบอเมริกา คือบริโภคนิยม วัตถุนิยมและก็ข้าพเจ้าต้องเป็นที่หนึ่ง ข้าพเจ้าคือฮีโร่นะ ถ้าคุณรู้จักคนอเมริกันจริงๆ การมองคนอื่นนี่คืออยู่ด้อยกว่าเขาเท่าที่ผมได้สัมผัสมา หรืออ่านหนังสือมา ฉะนั้นตรงนี้เนี่ยเราต้องจัดซื้ออาวุธมาสะสมและก็ถูกโฆษณาชวนเชื่อว่าคอมมิวนิสต์มาอย่างโน้นอย่างนี้ เราก็จะเกิดความหวาดกลัวและก็กลัวมาก กลัวคอมมิวนิสต์ ดังนั้นใครคิดสวนทางรัฐบาลถูกป้ายสี ง่ายที่สุดข้อหาคอมมิวนิสต์เพราะตอนนั้นในกระแสสังคมเริ่มจะศึกษางานของนายผี นายผีนี่เค้าคือใครนะ
ผู้สัมภาษณ์ : อัศนี พลจันทร์
คุณผดุง : อัศนี พลจันทร์ มีบทบาทมาก จิตร ภูมิศักดิ์ หนังสือเล่มโฉมหน้าศักดินาไทย ผมอ่านแล้วมีความรู้สึก เฮ้ย นั่นแหละคือประวัติศาสตร์ทางสังคมของนักปกครองที่ดีเยี่ยม
ผู้สัมภาษณ์ : อาจารย์ได้อ่านเล่มนี้ตอนช่วงก่อนหรือหลังสิบสี่ตุลาครับ
คุณผดุง : ช่วงก่อนนะ ก่อนสิบสี่ตุลา กระบวนการหนึ่งหก ประมาณหนึ่งห้านี่ผมได้อ่าน ผมไปธรรมศาสตร์นะ เวลาไปฟังไฮปาร์ค ไปฟังอภิปราย มันจะมีแผงหนังสือที่ทำโดยนิสิต นักศึกษา จากรามคำแหงบ้างจากธรรมศาสตร์บ้างที่ชมรมต่างๆนำมาขาย หนังสือของเชกูวาร่า ฟิโดล คาสโตร ของเหมาเจ๋อตุง ของลีโอ ตอลสตอย อัลแบร์ กามู ฯลฯ หนังสือที่ให้คิดอย่างคนนอก คิดอย่างวิพากษ์ หนังสือไดอะเร็คติกของคาล มาร์ก อะไรทั้งหลาย เป็นหนังสือฮิตในแผง แล้วก็หนังสือไทยก็จะมีโฉมหน้าศักดินาไทย และก็มีวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ไทยโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ คราวนี้พอเราอ่านรวมๆกันนี่มันทำให้เห็นภาพ ความเป็นมาเป็นไปของการเมืองการปกครองและสังคมไทย กระบวนถูกทำร้ายกดขี่เป็นอย่างไร เริ่มซึมซับเข้าไปในจิตวิญญาณของคนหนุ่มสาวที่เป็นวัยแสวงหา วัยกล้าได้กล้าเสีย อยากเรียนรู้ คำถามมันเยอะมาก ในที่สุดเราก็มาวิพากษ์กระบวนการมอมเมาทั้งหลายในสังคม เมื่อก่อนจะมีวิธีการปกครองตั้ง 5-6เรื่องด้วยกัน ทำให้โง่แล้วปกครอง แบ่งแยกแล้วปกครอง มอมเมาแล้วปกครองอะไรต่ออะไรสารพัด แล้วมันคืออย่างนั้นจริงๆนะ ทำให้โง่ก็คืออะไรที่พัฒนาให้คนฉลาดก็ตัดออก ไปใช้เงินไปทุ่มทางด้านอาวุธปืน แทนที่จะให้การศึกษาอะไรที่ดีๆ และก็พิพิธภัณฑ์ แหล่งเรียนรู้ทั้งหลายที่ควรจะทำก็ไม่ทำ สวนสาธารณะ หอสมุดแห่งชาติ อันนี้งบกระเบียดกะเสียร แต่อาวุธนี่ลงเพียบ การตอบแทนตำแหน่งทางสายทหาร ใครเป็นทหารในตอนนั้นเงินเยอะแยะไปหมด ยิ่งปฏิวัติก็จะได้เงินที่เป็นเงินช่วงปฏิวัติอีกเท่าหนึ่งของเงินเดือน กี่เปอร์เซ็นต์ก็ไม่รู้นะ แม้แต่น้ำมันยังเบิกกันใช้ฟรีเลย นั่นเห็นมั้ยมันทำให้เกิดที่เขาเรียกว่าห้องเรียนระดับประเทศ ห้องเรียนทางด้านการเมืองการปกครอง
ผู้สัมภาษณ์ : ช่วงนั้นอาจารย์เรียนอยู่ปีสุดท้ายหรือว่าจบแล้วครับ
คุณผดุง : ยังไม่จบนะที่เล่านี่ยังไม่จบ ขอโทษครับ ผมจบเพาะช่างปี 2515 และก็ไปเรียนต่อที่ประสานมิตร ปี16- 17 เป็นช่วงที่เพาะความคิดทางการเมืองโดยบังเอิญ โดยสถานการณ์สิ่งแวดล้อม พอปี16 ก็ไปเรียนประสานมิตร แล้วก็เกิดเหตุการณ์ สิบสี่ตุลา หนึ่งหก
ผู้สัมภาษณ์ : ก่อนหน้านั้นก็มีเหตุการณ์ทุ่งใหญ่นเรศวร
คุณผดุง : ทุ่งใหญ่นเรศวร คุณณรงค์ กิตติขจร เป็นสายล่อฟ้าที่ดีมากเลย เพราะเขาจะเป็นนายทหารที่มีอิทธิพล เป็นจิ๊กโก๋ในเครื่องแบบ ต้องเข้าใจนะพ่อเป็นนายกฯ พ่อตาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย เป็นจอมพลทั้ง 2 คน คือ จอมพลถนอม จอมพลประภาส และเครือข่ายเขาอีก เครือข่ายของอำนาจนี่มันแน่นมาก ฉะนั้นอะไรๆก็เกิดขึ้นได้ หลายๆ เรื่องมันไม่มีความเป็นธรรม แต่มันมีเรื่องไม่เข้าท่า ตรงที่เมื่อเอาข้อมูลมารวมกันแล้วรู้ว่า ความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นในสังคม การกดขี่ข่มเหงเกิดขึ้น การคอรัปชั่น แสวงหาผลประโยชน์ในหมู่พวก มันชัดเจนหมดเลย มันมีหลายๆคำตอบ และชอบทิ้งคนรากหญ้า ชาวบ้าน พอผมไปอยู่ประสานมิตร ยิ่งมันมากกำลังวัยคะนอง วัยเหมือนพวกเรานี้นะครับ อายุประมาณ 22-24 จะเปรี้ยวมาก แล้วลองคิดดูว่าคนร้อยพ่อพันแม่มาเรียนรวมกันอยู่ ผมมาเรียนศิลปศึกษาต่อ ความที่เป็นนักกิจกรรม ก็มาจับกลุ่มอีก ในรุ่นมีสามสิบกว่าคน ต้องทำงาน เรียนก็เรียนไปแต่มันต้องมีกิจกรรม พลังของเรามันเหลือเฟือเพราะเราไม่ใช่พวกที่เที่ยวผับเที่ยวบาร์ มันไม่ใช่นิสัยของพวกเรา จึงเกิดความคิดว่าเราควรจะมาทำอะไรนอกจาก art exhibition ตามวาระแล้ว ทำหนังสือ พอดีมีครูที่ดีในกลุ่มพวกเราอยู่ อาจารย์วิรุณ ตั้งเจริญ , อำนาจ เย็นสบาย กลุ่มอาจารย์ฝ่ายซ้ายของประสานมิตรสมัยนั้น เป็นกลุ่มผู้นำทางความคิด สังคมข้างนอกก็จะมีสุชาติ สวัสดิ์ศรี, ส.ศิวรักษ์, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และก็ใครต่อใคร สุจิตต์ วงศ์เทศ แต่ละสถาบันก็จะมีอาจารย์ที่เป็นฝ่ายผู้นำทางความคิดที่เข้าแทรกอยู่ แต่ในสถาบันเขาก็ต้องระวังกันด้วย แต่เราเข้าไปนี่เราสดครับ เราไม่ได้มีหมู่มีพวก มันรู้สึกถูกจริต ทำหนังสือกับอาจารย์วิรุณนี่ ทำหนังสือใต้เส้นระนาบ ตอนเรียนปี16 อาจารย์ให้ทำหนังสือเป็นพอกเก็ตบุ๊ค เรื่องสั้นใต้สันระนาบจำได้ว่าปกสีม่วงๆ ลองไปหาดูนะ
ผู้สัมภาษณ์ : อาจารย์ได้ร่วมเขียนด้วยมั้ยครับ
คุณผดุง : ไม่ได้เขียน แต่เป็นคนทำหนังสือ ที่เขียนมี มานพ ถนอมศรี คนนี้เรียนด้วยกันนะ เขาเป็นนักเขียน ชอบเขียน นิเวศน์ กันไทยราษฎร์, วิรุณ ตั้งเจริญ, อำนาจ เย็นสบาย, อารี สิทธิพันธ์, ครูเหล่านี้เป็นนักเขียน ผมก็จะเป็นพวกนักกิจกรรม พวกทำเล่ม งานศิลปะ และก็ประสานโรงพิมพ์ ผมทำหนังสือตั้งแต่สมัยอยู่เพาะช่างแล้ว ทำอนุสรณ์กับสูจิบัตร ก็จะขลุกอยู่กับโรงพิมพ์ เป็นสิ่งที่ชอบ โรงพิมพ์นี่เป็นห้องเรียนที่ใครได้อยู่ทำ art work ทำหนังสือนี่จะสุดยอดไปเลย มันเป็นเสน่ห์มาก หลังจากนั้นก็จะทำเรื่องคนใหม่ และก็เริ่มมองกระบวนการนักศึกษา ว่าเราจะอยู่แบบเดิมๆ อยู่แบบหายใจทิ้งไปวันๆ อยู่แบบจบแล้วไปกินเงินเดือนอย่างนั้นหรือ มาเริ่มคิดว่า คนยุคใหม่มันต้องรับผิดชอบอย่างไร กับตัวเอง กับสังคม เราต้องมีบทบาทอย่างไร จึงตั้งชื่อหนังสือ คนใหม่ เป็นหนังสือรับน้องนะ เมื่อก่อนหนังสือรับน้อง เขาจะตั้งหวานๆ และก็ทำโชว์รูป แต่เรามาจัดทำเป็นพอกเก็ตบุ๊ค และรูปที่เขาโชว์ใหญ่ๆก็เหลือรูปเล็กๆ
ผู้สัมภาษณ์ : มีปฏิกิริยาอะไรจากคนอื่นๆ หรือเปล่าครับ ในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ
คุณผดุง : ไม่มีครับ เขาเฝ้ามอง คือเขายอมรับกระบวนการกลุ่มของเราด้วย คนใหม่นี่ทำโดยพวกนักศึกษาศิลปะที่เข้าไปอยู่ในองค์การนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ผมนี่จะอยู่ในกลุ่มสารานียากร มานพ ถนอมศรี, ผดุง พรมมูล, ธนา เหมวงษา ก็ไปอยู่ในสโมสรนักศึกษาและก็ตอนเรียนเวลาว่างนอกจากกิจกรรมอื่นๆแล้ว ผมเป็นคนชอบเขียนหนังสือและก็วาดรูปการ์ตูน และรุ่นผมก็มีนักเขียนการ์ตูนหลายคน อย่างเช่น องอาจ ศรียะพันธุ์, โชคชัย เฟื่องกาญจน์, มานพ ถนอมศรี, ปราโมทย์ แสงพลสิทธิ์ มารวมตัวกัน ก็เริ่มจากการเขียนล้อกันก่อน เขียนล้อในกลุ่มเพื่อน เขียนเป็นการ์ตูน เวลาเรียนหนังสือก็ส่งให้กัน ดูสนุกๆ และก็ใส่ subject ลงไป เริ่มล้ออาจารย์ เริ่มเอาคำพูดอาจารย์ ที่ขำๆมาเขียน เขียนลงในกระดาษรายงานนี่แหละ และแลกกันอ่านไปอ่านมา จนมีเรื่องราวเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ ก็เริ่มแตกไปเป็นการเมืองโดยไม่รู้ตัว แลัวแทนที่จะดูกันเองก็เริ่มจัดเป็นงานแสดงการ์ตูนล้อ หน้าคณะซึ่งเป็นที่ๆคนจะเดินผ่าน ก็เอาบอร์ดอะไรมาตั้ง เอาการ์ตูนของเรามาติด ก็ปรากฏว่าเป็นมุมที่คนชอบดูกันมากเลย เขาไม่เคยเห็นกัน เลยเกิดคำถามขึ้นมาว่าคนกลุ่มนี้ทำอะไรกัน เขาก็ขำกัน และตอนหลังๆก็เริ่มใส่เรื่องราวทางสังคมการเมืองไปมากขึ้น จนกระทั่งไปเชื่อมกับเหตุการณ์สิบสี่ตุลา ตรงนี้ก็เป็นกระบวนการเคลื่อนไหวเรื่องเผด็จการ เรื่องอะไรก็ถูกแทรกไปในการ์ตูนเหล่านั้น อาจารย์ที่กดขี่ข่มเหง อาจารย์ที่คิดไม่เข้าท่าก็จะถูกนำมาเขียน แต่ไม่ได้ผิดกฎหมาย เพราะเราจะมีแง่มุมที่นำมาเขียน ก็เริ่มมีการเฝ้ามองว่าพวกนี้ทำอะไรกัน อาจารย์อารี สุทธิพันธุ์ก็สนับสนุนเต็มที่ อาจารย์วิรุณนี่ไม่ต้องพูดถึง ท่านชอบให้นักศึกษาแสดงออกอยู่แล้ว เดี๋ยวนี้ ศ.ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ เป็นอธิการมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒใช่มั้ย
ผู้สัมภาษณ์ : อาจารย์ได้ทำกิจกรมร่วมกับศูนย์นิสิต หรือเปล่าครับ
คุณผดุง : นี่แหละๆ จะเข้าประเด็นนี้พอดี ก็เริ่มมีแมวมองว่ามหาวิทยาลัยไหนมีกลุ่มไหนเป็นนักกิจกรรม กลุ่มผมก็คือตอนนั้นจะเป็นนายกสโมสรที่ไปเชื่อมกับกลุ่มของคุณปริญญา แต่ผมจำนามสกุลไม่ได้ และก็อีกคน สุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เขาเป็นครูประถมจากลพบุรี สุรินทร์จะเป็นครูประถมแบบซำเหมา ใส่เสื้อแขนสั้น รองเท้าเก่า แต่บุคคลคนนี้เป็นนักกิจกรรมตัวยงเลย เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เชื่อมกับการเคลื่อนไหวเหตุการณ์สิบสี่ตุลา ผมเริ่มงงแล้วเล่าไปเล่ามา แต่สุรินทร์นี่เขาจะเป็นรุ่นพี่ผม ทีนี้ถ้ากลับเข้ามาเหตุการณ์สิบสี่ตุลา สำหรับหนึ่งหกเนี่ย พอหนึ่งห้ากระบวนการก็เริ่มสุกงอมแล้ว นี่ขนาดผมพวกกลุ่มศิลปะยังคิดกันอย่างนี้นะ ธรรมศาสตร์-จุฬา เขาเป็นเครือข่าย เริ่มตั้งศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย คนแรกที่เป็นเลขาธิการ คือคุณธีรยุทธ บุญมี ใช่หรือเปล่า
ผู้สัมภาษณ์ : คนแรก เป็นคุณโกศล ก่อนนะครับ แต่ว่าศูนย์เริ่มเป็นที่รู้จักแก่ประชาชนทั่วไปในช่วงของคุณธีรยุทธ
คุณผดุง : ใช่ ผมไม่รู้จักสมัยคุณโกศลนะครับ ศูนย์กลางนิสิต-นักศึกษาแห่งประเทศไทยตอนแรกเริ่มต้นขึ้นจากการต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น ตอนนั้นเกิดคำถามว่า มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมญี่ปุ่นถึงได้เอาเปรียบมากๆเลย มันไม่ยอมให้เงินมันรั่วไหล เกิดศัพท์เป็นสัตว์เศรษฐกิจหรืออะไรซักอย่าง กระบวนการนักศึกษาและประชาชนเริ่มเคลื่อนไหว ทีนี้การเคลื่อนไหวมีทั้งในไทยและต่างประเทศ ในอเมริกายุค 60มา ก็เริ่มมีกระบวนการฮิปปี้ กระบวนการพวกแสวงหาคำตอบใหม่ ชีวิตใหม่ เริ่มประท้วง ตั้งแต่หลายๆประเทศ ตั้งแต่อเมริกาใต้ คลื่นเหล่านี้ก็มาสู่ประเทศไทย ตอนนั้นการสื่อสารของเราไม่เร็วอย่างนี้นะ มันช้า เราไม่รู้หรอก นานๆ เราจะได้เห็นทางหนังสือพิมพ์ สิบสี่ตุลาหนึ่งหกโดยกระบวนการของนิสิตนี่สุดยอดเลย เขาจัดวางองค์กรได้ดี คุณธีรยุทธ์นี่เขาเรียนมาทางวิศวะ จุฬาฯ และก็เป็นพวกนักคิดอย่างมีอุดมการณ์ เป็นเด็กต่างจังหวัดที่มีการรับรู้คลื่นทางสังคมได้ดี และทางรามคำแหงก็มีหลายคน ทางธรรมศาสตร์ก็มีคุณเสกสรรค์ ประเสริฐกุล นี่รุ่นไหนนะ
ผู้สัมภาษณ์ : เสกสรรค์ รุ่น 14 ตุลา ครับ
คุณผดุง : รุ่นธีรยุทธ นะ
ผู้สัมภาษณ์ : เป็นรุ่นน้องครับ แต่อายุนี่เท่ากันครับ
คุณผดุง : เขาเป็นทีมนะแต่ไม่ได้เป็นผู้นำในตอนนั้น
ผู้สัมภาษณ์ : ครับผม
คุณผดุง : เป็นแค่มือขวา เป็นทีมมี ธีรยุทธ, เสกสรรค์, เสาวนีย์ และก็มีคุณจีระนันท์ ที่เด่นๆ นะ และก็ทางรามคำแหงนี่ใครนะ มีหลายคน
ผู้สัมภาษณ์ : วิสา คัญทัพ
คุณผดุง : นึกชื่อไม่ออก เขาจะมีกลุ่มนักคิด นักเคลื่อนไหว เขาก็วางแผนอะไรต่ออะไร เริ่มจากเช็คกระบวนการกดขี่ข่มเหงทางสังคม และไล่ไปหลายๆเรื่อง เรื่องทุ่งใหญ่นเรศวรและก็ไปกระทบกับพันเอกณรงค์ กิตติขจรหรือเปล่า เมตตา รุ่งรัตน์ นี่แหละเป็นสายล่อฟ้าในเหตุการณ์ครั้งนั้น
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นหลังจากเหตุการณ์ทุ่งใหญ่ จะมีเหตุการณ์ที่นักศึกษารามคำแหงเขียนหนังสือล้อเลียนนะครับ เกี่ยวกับการต่ออายุของจอมพลถนอม และถูกถอนชื่อ นักศึกษาจึงร่วมกันประท้วง เกิดขึ้นก่อน 14 ตุลา
คุณผดุง : ผมและเพื่อนๆเข้าสู่กระบวนการเป็นรูปธรรมก็คือ ช่วงการอภิปรายที่ลานโพธิ์และก็ออกมาที่สนามฟุตบอล
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นที่นิสิตนักศึกษาโดนจับไปใช่มั้ยครับ
คุณผดุง : โดนจับไปแล้ว ก็มีคุณธีรยุทธ, ชัยวัฒน์, วิสา, สุเทพ วงศ์คำแหง คุณชัยวัฒน์นี่เคยสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับท่าน สมัยนั้นท่านเป็นเด็กหนุ่ม ผอมๆ ใส่แว่น และก็รูปที่คลาสสิคมากเป็นรูปที่เขายืน ที่ถูกปล่อยมาสิบสองคนเป็นรูปประวัติศาสตร์นะรูปนั้น ตอนนั้นไฮปาร์คที่ธรรมศาสตร์เริ่มมีความแรงแล้ว
ผู้สัมภาษณ์ : อาจารย์ไปตั้งแต่วันแรกที่เขาชุมนุมเลยใช่มั้ยครับ
คุณผดุง : ไม่น่าจะใช่วันแรก แต่ก็รับรู้อย่างใกล้ชิดเพราะผมอยู่วัดโพธิ์ พอตอนมันแรงขึ้นเรื่อยๆ เรียนหนังสือเสร็จ ก็ต้องไปธรรมศาสตร์ ความรู้สึกของหนุ่มสาวนิสิต-นักศึกษาในสมัยนั้น ใครไม่ไปจะถือว่าแย่มาก เรียกว่าตกกระแสของมวลชนเลยในตอนนั้น เลิกเรียนสามสี่โมงก็จะนั่งรถไปธรรมศาสตร์เลย นั่นคือห้องเรียนการเมืองที่ดีมากๆ แล้วเราก็ทึ่งในคนพวกเดียวกันในระดับอุดมศึกษา ทำไมเขาเก่ง ทำไมเขารู้ ทำไมเขากล้า ทำไมเขามีข้อมูลเชิงลึก เวลาเขาพูดก็จะมีกลยุทธ์ในการจัดการบริหารอย่างดีเยี่ยม เหมือนกับที่พันธมิตรเอามาใช้นี่แหละ พูดเสร็จก็มีดนตรี สมัยนั้นรามคำแหงก็มีดนตรี ธรรมศาสตร์ก็มีดนตรี พอมันพีคขึ้นมากๆ ศิลปะก็มี บทบาทศิลปินก็มี สมโภชน์ อุปอินทร์, ลาวัลย์ (ดาวราย) อุปอินทร์ ทางศิลปิน สิงห์น้อย ฟูสถิตย์สถาพร คุณสถาพร เป็นมือออกแบบในวงการธุรกิจ ถกลปรียาคณิตพงษ์, กำจร สุนพงษ์ศรี, สินธุสวัสดิ์ ยอดบางเตย,โชคชัย เฟื่องกาญจน์, และก็วสันต์ สิทธิเขตต์ ก็มีกลุ่มเหล่านี้และก็พิทักษ์ ปิยะพงษ์ กลุ่มศิลปินก็จะรวมตัวกันทำโปสเตอร์ปิดถนนราชดำเนิน เป็นภาษาภาพ เป็นสัญลักษณ์ เป็นโปสเตอร์ที่แรงมาก เป็นรูปที่แทงใจตั้งแต่ขุนศึกศักดินา แต่ตอนนั้นเป้าหมายเราเพื่อสังคมที่เป็นธรรมนะ ไม่ได้หวังอำนาจบาตรใหญ่ใดๆ นักศึกษาต้องการความเป็นธรรม ต้องการประชาธิปไตย ต้องการรัฐธรรมนูญที่เป็นแกนหลักในการปกครองประเทศ หลังมีกระบวนการม็อบ เฮลิคอปเตอร์ก็เริ่มบินมาสำรวจ อีกคนหนึ่งที่เป็นคนจุดประกายและก็รายงานกระแสทางด้านสังคมได้อย่างจับใจ เป็นการ์ตูนล้อหนึ่งกรอบแบบสื่อภาษาภาพแก่สังคมที่ดีมาก คือการ์ตูนของคุณประยูร จรรยาวงษ์ สุดยอดเลย ตอนนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชเป็นงานเขียนบทความ ประยูร จรรยาวงษ์เป็นการให้ภาษาภาพ ที่บอกว่าภาพเดียวมันอธิบายได้ชัดแจ๋วเลย รูปที่ผมจำได้นะ ก่อนหน้านั้นที่กระบวนการขัดแย้งกับรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศที่ผู้สื่อข่าวรายงาน ประยูร จรรยาวงษ์ ทำรูปคุณถนัด คอมันตร์เตะปี๊บ ซึ่งไม่รู้ว่าตอนนั้นผู้สื่อข่าวหรือนักหนังสือพิมพ์ไปต่อว่าอะไรท่าน ภาพนี้จะอยู่ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และก็เขียนบอกว่า ยิ่งเตะยิ่งดัง ผมจำได้เลย แต่รูปการ์ตูนที่เป็นไฮไลท์ของท่านประยูร คือตอนที่ท่านเขียนรูปของจอมพลถนอม ซึ่งท่านใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านในสมัยก่อน คือการวัดใจโดยการดำน้ำ อีกคนเป็นนักศึกษาและเขียนว่า ใครอึดกว่ากัน รูปนี้เป็นรูปที่ใกล้วันที่เริ่มเดินขบวนครั้งใหญ่ สุดยอดปัญญาท่าน คือเอาเกมส์พื้นบ้านแล้วมาใส่เนื้อหาการเมือง และสังคมก็มองเห็นว่าใครจะอยู่ใครจะไป แต่ก่อนหน้านั้นก็มีรายงานภาษาภาพ คนอื่นๆก็มีพิจารณ์ ตังคไพศาล อรุณ วัชรสวัสดิ์ ช่วงนั้นการ์ตูนค่อนข้างจะมาแรง และตอนนั้นการป้ายข้อหาคอมมิวนิสต์ แต่ยังไม่กล้าป้ายความรุนแรง เพราะว่าเป็นลูกหลานนักศึกษาอยู่นะ เนื่องจากว่ายังไม่เคยมีกระบวนการที่นักศึกษาลุกฮือและล้มล้างผู้มีอำนาจได้ เขาก็เลยคิดว่ายังไงเขาก็จัดการได้ รุ่งขึ้นประชาชนก็มากันเต็มถนนราชดำเนินมืดฟ้ามัวดินเพื่อขับไล่รัฐบาล
ผู้สัมภาษณ์ : อันแรกเราเรียกร้องให้ปล่อยตัวและก็เรื่องรัฐธรรมนูญ ลาออกนี่รู้สึกว่าจะมาเสนอช่วงภายหลังเดินไปแล้ว
คุณผดุง : เอ๊ะ ช่วงนั้นอะไรที่ทำให้ต้องตัดสินใจเดินขบวน
ผู้สัมภาษณ์ : เท่าที่ผมเคยอ่านมาว่า ในวันที่สิบสองนี้ ผู้นำประท้วงได้ยื่นคำขาดกับรัฐบาลว่าภายในเที่ยงวันที่สิบสาม ถ้าไม่ให้คำตอบจะดำเนินการขั้นเด็ดขาด
คุณผดุง : เรื่องอะไรแล้วนะ
ผู้สัมภาษณ์ : เรื่องที่ว่าจะปล่อยตัวนักศึกษาครับ
คุณผดุง : ตอนนั้นยังไม่ได้ปล่อยใช่มั้ย
ผู้สัมภาษณ์ : ครับ และก็เรื่องที่ว่าจะให้รัฐธรรมนูญภายในเมื่อไหร่
คุณผดุง : สองประเด็นนี้นะ
ผู้สัมภาษณ์ : ครับ และก็เที่ยงยังไม่ให้คำตอบ ก็เลย
คุณผดุง : ดูซิว่าใครอึดกว่ากัน มาจากการต่อรองตรงนี้ และก็มีชุมนุมกันนะ ตอนนั้นมีข้าวแจกซึ่งผมก็ไปทุกคืน เพราะผมอยู่วัดโพธิ์ ตรงที่พูดถึงเด็กวัดก็คือเด็กวัดบางวันจะไม่มีกินนะ ก็ไปฟังกันมีข้าวกินด้วย ทีนี้ยิ่งฟังยิ่งมันอย่างที่ผมบอกว่าเป็นห้องเรียนการเมืองอย่างดีเลย และก็ชื่นชมพวกเดียวกัน ผมก็มาฟังทุกๆวันก็ได้ฟังดนตรีด้วย ตอนนั้นสิบสี่ตุลามันก็เริ่มเข้าหนาวคือเย็น ฝนตกก็ยังอยู่กัน ปลายฝนต้นหนาวมันเริ่มเข้ามาแล้ว หนุ่มสาวทั้งหลายนี่ได้อารมณ์มาก เรื่องโลกียะก็ไม่ปรากฏ คนเมื่อก่อนนี่ใส จะมาก็มา เหมือนม็อบตอนหลังที่มีถุงยาง แบบนี้ไม่มีนะครับ เขามากันด้วยหัวใจจริงๆเลยหนุ่มสาวถูกเพาะอุดมการณ์มาอย่างเยี่ยม ก็หนังสือที่อ่านอย่างที่บอกนะครับ กระบวนการประชาชนนี่สุดยอด แล้วพอตอนเที่ยงๆยังไม่ได้คำตอบ ก็เคลื่อนขบวน มีรถนำ มีธงชาติแล้ววางแผน ข้างหน้าเอาเด็กมัธยม คงไม่มีประถม ต่อมาอาชีวะจะเป็นรั้วอยู่ข้างนอก อุดมศึกษาจะคอยตามรถ รถไฮปาร์คจะอยู่ตรงกลาง ตามด้วยขบวนนักศึกษาและประชาชน ออกจากธรรมศาสตร์ สนามหลวง เข้าถนนราชดำเนิน ไม่รู้คนมาจากไหน เต็มถนนราชดำเนิน แน่นจริงๆ ลองไปดูจากรูปได้ และก็เคลื่อนไหวกันไป คนไฮปาร์คเขาก็ดี เขาพูดเก่ง คุณเสาวนีย์ ลิมมานนท์ พูดผลัดกันกับ เสกสรรค์ วิสา คัญทัพ เสกสรรค์จะเป็นหน่วยคุมขบวนและจะมีหน่วยเชื่อมกับการควบคุมการต่อรองนั้นอยู่ตลอด และสุดท้ายก็เดินทางไปที่ลานพระรูปคืนนั้น ผมจำไม่ได้ว่าเรากินข้าวกันที่ไหน พยายามนึกอยู่นะ ทั้งคืนนี่ไม่รู้ว่ามีข้าวแจกหรือเปล่า หรือหาซื้อกินกันเองนะ เพราะว่าไปกันหลายคน มีนักศึกษาธรรมศาสตร์ด้วยในตอนนั้น และก็ตอนกลางคืนก็ไปหยุดกันอยู่ที่ข้างสวนจิตรฯ ตรงถนนพระราม 5 คำตอบก็ยังไม่มา เขาปล่อยตอนไหนก็ไม่รู้
ผู้สัมภาษณ์ : คือตอนนั้นรัฐบาลก็ปล่อยตัวไปแล้วครับ แต่มันผิดพลาดเรื่องการประสานงาน
คุณผดุง : การสื่อสาร ใช่มั้ย
ผู้สัมภาษณ์ : ครับ มวลชนยังไม่รู้ว่ามีการปล่อยตัว
คุณผดุง : กลางคืนนี่ ผมกับเพื่อนๆ ยังอยู่ที่ข้างสวนจิตรฯ ไม่ได้กลับ ยังไงก็ต้องเอาให้ถึงที่สุดละครับ โดนกักตัวอยู่ตรงนั้นเลย แยกตรงนั้นมันเป็นแยกที่อยู่ระหว่างเขาดินกับสวนจิตรฯ ใช่มั้ย ในตอนนั้นต้นมะขามก็ยังร่มรื่นอยู่ ข้างๆก็มีคูน้ำรอบๆสวนจิตรฯ อยู่จนถึงเช้า ตอนนั้นก็รอฟังข่าวกันอยู่ว่า จะมีการปล่อยหรือยัง รอคำตอบแต่ก็ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เท่าที่จำได้นะ ก็นอนกันอยู่แถวนั้นจนกระทั่งสาย ได้คำตอบว่าโอเค มีการปล่อยตัวแล้ว ก็เลิกรากลับกันได้ ประกาศให้กลับ คนก็เริ่มทยอยกลับบ้านกัน ผมเห็นเฉพาะในถนนที่ผมอยู่ด้วยก็เริ่มทยอยกัน ผมกับพรรคพวกก็เริ่มกลับที่พัก น่าจะซักประมาณเจ็ดโมงเช้า
ผู้สัมภาษณ์ : ช่วงเช้าตรู่
คุณผดุง : ครับ หลังจากกลับ ตอนนั้นผมอยู่บ้านเพื่อนที่ราชเทวี มาหยุดอยู่ที่นั่นก่อน ยังไม่ได้กลับวัดโพธิ์นะ ปรากฏว่าพอถึงที่บ้านเพื่อน ก็มีข่าวทางวิทยุว่ามีการยิงปะทะกัน ตรงที่เราอยู่ตรงนั้น ยิงกันเพราะว่าฝ่ายคุณมนต์ชัย พันธ์คงชื่น นายตำรวจคนนี้ที่คุมตำรวจกั้น เกิดนึกอะไรขึ้นมาผมก็ไม่รู้ ยิงนักศึกษา เอากระบองไล่ตี ผมก็งงเพราะตอนแรกก็แยกย้ายกันแล้ว เด็กก็ตกน้ำตกคู ว่ายข้ามไปฝั่งสวนจิตรฯ ไม่รู้ว่าปีนข้ามรั้วไปหรือเปล่านะครับ แต่ตอนนั้นคงเป็นเรื่องที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น เกิดการรุม พอรุมปั๊บ นักศึกษาก็ฮือมารวมตัวกัน และก็คุณจิระ บุญมากเนี่ยนะซักผ้าอยู่ที่บ้าน ฟังข่าวจากวิทยุ ตำรวจทำร้ายประชาชนก็ทิ้งงานซักผ้าเลย นั่งรถเมล์มาและก็ลุยกัน ต่อมาคุณจิระก็โดนยิง คุณจิระก็บอกว่า อย่าไปทำนักศึกษา ประชาชน ตอนนั้นเรียนปริญญาโทที่นิด้า จิตสำนึกเรื่องปกป้องประชาชนรุนแรง พอไปตรงนั้นก็ปลุกระดม พอฆ่าพอยิงกันก็เกิดกระแสข่าว เรียกคนที่กลับไปให้กลับมา ก็ต่อสู้กันผมจำได้ว่าผมก็กลับมาที่วัดโพธิ์วันที่14 ตุลา หลังจากสายๆแล้วก็มาดูที่วัด มาดูว่ามีอะไร ไม่ไปที่ธรรมศาสตร์ แถวนั้นทหารเต็มไปหมดแล้ว กับเพื่อนคนหนึ่งที่มาด้วยกัน ชื่อธนา เหมวงษา พอเดินมาจะมาดูขบวนการต่อสู้ เพราะตอนนั้นรถเริ่มวิ่งรอบวัด สนามหลวง รถเป็นของนิสิตนักศึกษาที่ยึดมาต่อสู้กับทหาร
ผู้สัมภาษณ์ : ที่เป็นรถเมล์หรือครับ
คุณผดุง : รถเมล์ด้วย สิบล้อด้วย ถือธงและมัดศีรษะ แบบว่าลุยไม่กลัวตาย ผมกับเพื่อนออกมาก็ได้อยู่ขบวนการเคลื่อนไหวอย่างนี้นะครับ มาแล้วทหารก็ยังยิงปืนใส่ ยิงมาเป็นชุด ผมกับเพื่อนวิ่งหันหน้าเข้าวัดแต่ก็โดนล้อมไว้ ผมก็ตกใจเพราะว่ายังไม่เคยเจอนะครับ พอออกมาผมก็นั่งคุยกับทหารคนหนึ่งที่กำแพงวัดโพธิ์ ที่นั่งคุยเพราะว่าเขาเป็นครูสอนนักศึกษาวิชาทหาร แต่ไม่ได้สนิทกันหรอกนะ ผมถามว่า พี่ถือปืนมาจะยิงใครครับ เขาก็ตอบว่า ยิงหมดแหละ เขาสั่งให้ยิงก็ยิง ผมจำประโยคนี้ได้แม่นเลย ผมก็บอกว่า ขอโทษนะครับ สมองคุณมันกลวงหรือยังไง ไม่มีจิตวิญญาณ ไม่มีวิจารณญาณ ไม่มีความสำนึกของการเป็นคนไทยเลย ยิงทุกคนที่สั่งให้ยิง หลังจากนั้นกำแพงวัดโพธิ์นี่ก็ตัวใครตัวมัน คำว่าตัวใครตัวมันก็คือ พูดกันไม่รู้เรื่องแล้วและก็ที่ถนนราชดำเนินก็มีการสู้กัน คุณประพัตน์ที่ถือกระบองนี่สู้กับทหาร 2-3 คนนี่ถือปืนก็ยิงกัน รถถังก็ออกมา เฮลิคอปเตอร์ตระเวนสังเกตุการณ์ พอนักศึกษาสู้หนักเข้า เขาก็ยึดรถเมล์ ตอนนั้นนักศึกษาก็เริ่มเผาและก็ไปสู้กับตำรวจสันติบาลซึ่งเป็นหน่วยปราบปรามอยู่ตรงสะพานผ่านฟ้า แล้วก็เผา กตป. เผากองสลาก ตอนนั้นคุมกันไม่อยู่แล้ว ไฟแดงก็โดนทุบหมดเลย ต้องให้จลาจลให้ได้ ยุทธศาสตร์ของนักศึกษา ต้องทำให้มันสับสนและวุ่นวายให้ได้ คุณถนอมไปตรงไหนนะ ออกนอกประเทศไปเลยหรือ
ผู้สัมภาษณ์ : ก่อนหน้านั้นเย็นวันที่ 14 พอพระมหากษัตริย์มีพระราชดำรัสและหลังจากนั้นก็เข้าเฝ้า ตอนแรกลาออกจากตำแหน่งก่อน ก็คือลาออกจากนายก แต่นักศึกษามองว่ายังคุมทหารอยู่ ก็เลยยังไม่หยุดนะครับ จนตอนหลังวันที่ 15 เขาก็ออกนอกประเทศกันไปทั้งสามคน
คุณผดุง : ออกเลยใช่มั้ยครับ
ผู้สัมภาษณ์ : ครับ ตอนวันที่15
คุณผดุง : 15 ตุลา เป็นวันที่เหตุการณ์รุนแรงมากๆใช่มั้ย และก็ตอนนั้น เรารู้สึกว่านายทหารที่อยู่ฝ่ายเรา ก็คือพลเอกกฤต สีวะรา และตอนหลังท่านก็เสียชีวิตอย่างไรผมไม่ทราบครับ เป็นปริศนาจนปัจจุบัน เพราะพลเอกกฤต ท่านจะสวนกับคุณถนอมและคุณประภาส แต่ตอนนั้นก็ไม่ทราบรายละเอียด พอทั้งสามคนบินออกนอกประเทศไปแล้ว ก็นับว่าเป็นชัยชนะของนิสิต นักศึกษาและประชาชน เป็นของประชาชนเลย ยังไม่เคยเห็นอะไรที่งดงามขนาดนั้นเลยในขบวนการประชาชน ใจทุกคนรวมเป็นหนึ่งเพื่อต่อสู้และขับไล่เผด็จการ ความไม่เป็นธรรมและคืนประชาธิปไตยให้กับบ้านเมือง ไม่มีใครมองเรื่องของการแอบแฝงผลประโยชน์ ไม่มีใครอยากเป็นโน่นเป็นนี่ อยากเป็นรัฐมนตรีนั้นไม่มี และมันคือการเป็นผู้นำของนักศึกษา อย่างคุณธีรยุทธก็เป็นฮีโร่ คุณเสกสรร คุณจิระนันท์ คุณเสาวนีย์ และอีกหลายๆคน บทบาทของนักศึกษาในขณะนั้นมีมากและก็นายสัญญา ธรรมศักดิ์ก็เป็นนายกพระราชทาน ท่านเป็นประธานศาลฎีกา และท่านก็เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง ใจเย็น สุขุม พอไปดูข่าวในโทรทัศน์ที่พระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสแก่นายกสัญญา ธรรมศักดิ์เพื่อออกมาพูดให้บ้านเมืองสงบ นักศึกษาก็เริ่มจัดการเก็บกวาดขยะและอะไรต่อมิอะไรร่วมกับประชาชน ตอนนั้นประชาชนรวมใจเป็นหนึ่ง ไฟแดงที่แตก รั้วกั้นการจราจร อะไรที่เกะกะก็ช่วยกัน และนักศึกษาก็ออกมาโบกเป็นจราจรกัน เพื่อให้ทุกอย่างดีขึ้น เป็นฮีโร่มาก ผมไปที่ไหนแล้วเจอพวกจิ๊กโก๋หรือพวกที่มีอิทธิพล เมื่อเขาเห็นว่าเราเป็นมาดนักศึกษา เขาก็จะหลีกทางให้เลยนะครับ อันนั้นคือหลัง 14 ตุลา ปี 16 นักศึกษาเป็นฮีโร่ องค์กรนักศึกษาชัดเจน เข้มแข็ง ประชาชนยกย่อง เป็นภาพที่ดีมากและขบวนการนิสิตนักศึกษาก็ดำเนินการต่อไป เพื่อจะต้องจัดการกับเรื่องผู้ที่เสียชีวิต เรื่องการเอาคนผิดมาลงโทษ เรื่องจัดการบ้านเมืองและอีกส่วนหนึ่งก็คือการชำระประวัติศาสตร์ จะเรียกว่าชำระก็ไม่ถูกนะ เขาเรียกบันทึก รวบรวม ยังไม่เป็นประวัติศาสตร์หรอกครับ แต่ก็รีบทำก่อน คนที่ทำนั้นหลังจากที่ธีรยุทธหมดวาระไป คุณสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ก็เข้ามาต่อ และก็คุณสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ คุณครูประถมที่ผมพูดถึงนะครับ ก็เข้าร่วมงานกับคุณสมบัติ ธำรงธัญวงศ์เลย คุณสุรินทร์เขาเห็นว่าตอนที่ผมอยู่ประสานมิตร เป็นนักเคลื่อนไหว นักกิจกรรมทำหนังสือ ก็พอดีที่จะมีพิธีพระราชทานเพลิงศพผู้เสียชีวิต จึงเชิญผมและเพื่อนให้ไปร่วมกันทำหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ ประมาณ 60-70 ชีวิต นะครับ จะต้องไปตามหาข้อมูลและก็นำมาแก้ไข ออกแบบทำงานศิลป์ ปกนั้นอาจารย์วิรุณ ตั้งเจริญเป็นคนออกแบบให้ เป็นรูปดอกไม้ร่วง
ผู้สัมภาษณ์ : มันจะมีสองปกนะครับ ปกแข็งจะเป็นสีทอง รูปเป็นกรอบใบไม้ร่วง ถ้าเป็นปกอ่อนจะเป็นสีม่วง
คุณผดุง : ครับๆ พอพวกเราไปทำก็มีความรู้สึกร่วมไปกับงานนะครับ ก็มีมานพ ถนอมศรี, ธนา เหมวงษา, รักเกียรติ เลิศอุสาหกูล, ผดุง พรมมูล, โชคชัย เฟื่องการ, สมศิริ อรุโณทัย เป็นต้นครับ ปราโมทย์ แสงพลสิทธิ์ เป็นกลุ่มที่ทำสื่อ และช่วยดูแลจนกระทั่งถึงงานพระราชทานเพลิงศพ ก็ได้เข้าไปอยู่ใกล้ชิด เจอคุณสมบัติ คุณวิสา
ผู้สัมภาษณ์ : ทำไมงานพระราชทานเพลิงศพถึงล่าช้ามาครับ
คุณผดุง : คือเขาจะดึงเกมส์ไง ตอนนั้นพอตั้งตัวได้ เขาไม่อยากจะยกย่องคนเหล่านี้ให้เป็นวีรชน สายขุนศึกศักดินาเขาจะสถาปนาตรงนี้ขึ้นมา ตอนนั้นผมเข้าไปในกระทรวงกลาโหมครับประชุมกับคณะกรรมการและนิสิตนักศึกษา ถึงกระบวนการว่าจะดำเนินการที่ไหน อย่างไร
ผู้สัมภาษณ์ : ได้ยินว่ามีปัญหามากในตอนนั้นนะครับ
คุณผดุง : มี เกือบจะไม่ได้พระราชทานเพลิงศพครับ แม้แต่งบประมาณที่จะทำหนังสือยังต้องย้ายถึงสองครั้งครับ ต้องมีการโยกย้ายกัน เพราะว่าเราเป็นคนทำนะครับก็สงสัยว่าทำไมไม่บอกวัน เวลามาซักที ทำไมไม่บอกงบประมาณ ไทยวัฒนาพาณิชย์เขาก็ดีนะ เขาจัดห้องให้เราทำเพราะตอนนั้นนักศึกษาเป็นฮีโร่นะครับ และในช่วงนั้นที่ทำหนังสืออยู่ คุณกร กรมัง ในหนังสือขบวนการประชาชน ชื่อจริงกฤษณะ สัมพันธ์เมนะสูต ไม่ทราบว่าหายไปไหนแล้วนะครับ เขาเป็นเพื่อนกับคุณสมบัติ ธำรงค์ธัญญวงศ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รุ่นเดียวกัน บุคคลคนนี้เป็นคนที่ถูกมอบมาให้ทำข้อมูล กฤษณะเขาจะมาดจิ๊กโก๋ครับเท่าที่ผมจำได้ ใส่กางเกงยีนส์รัดรูป เสื้อตัวใหญ่ๆ ไม่รู้ว่าชีวิตผมกับคุณกฤษณะมาเจอกันได้อย่างไร นอนอยู่โรงพิมพ์กรุงสยามด้วยกันค่ำมืดดึกดื่น เอาโรงพิมพ์กรุงสยามมาเป็นบ้านเลย เพราะต้องทำหนังสือขบวนการประชาชน มันจึงเป็นเหตุให้เรื่องราวต่างๆเกิดขึ้น คุณสุรินทร์ บอกผมให้มาช่วย ตอนนั้นมีงบอยู่เท่าไหร่ผมก็ไม่ทราบนะครับ งบที่ทางศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาจัดให้ คือทำเต็มที่เลย ผมจำได้หนังสือเล่มใหญ่เป็นงานบันทึกเหตุการณ์ทั้งเล่มเลยครับ พิมพ์ปกแข็ง มีปกอ่อนด้วย กฤษณะกลางวันเขาจะหายไปแต่กลางคืนก็จะมาเจอกัน ที่เขาหายไปก็คือจะไปตามหาข้อมูล แม้แต่หนังสือคำศัพท์ หนังสือราชการ หนังสือสัมภาษณ์ หนังสือต่างๆและรูปที่เขาไปหาจากสื่อมวลชน จากหนังสือพิมพ์ จากใครที่ถ่ายไว้เพราะเมื่อก่อนไม่ได้มีกล้องถ่ายภาพได้สะดวกรวดเร็วหรือกล้องดิจิตัลเหมือนในขณะนี้ เป็นกล้องฟิล์มจริงๆ การจะได้รูปมาไม่ใช่เรื่องง่ายเลยและรูปบางรูปเป็นรูปเนื้อๆเลย รูปบนเฮลิคอปเตอร์ก็ยังมีครับ และรูปที่ตรงสระน้ำที่ผมจำได้ มันไม่ลงบล๊อคพอดีผมเลยขยับนิดนึง แต่ก็ไม่ได้เบี่ยงเบนเหตุการณ์หรอกครับ เพราะรูปตอนนั้นสำคัญต้องรักษาเอาไว้ให้ดี การตักฉากที่ไม่ได้ทำลายเนื้อหา ผมก็ทำประเภทงานศิลป์ตั้งแต่หน้าที่หนึ่งจนถึงหน้าสุดท้าย ผมกับคุณสมศิริ อรุโณทัย รับผิดชอบทำอาร์ตเวิร์ค นอกจากนั้นก็มี คุณรักเกียรติ์ คุณธนา ผมก็ไม่แน่ใจ ต้องนอนโรงพิมพ์กรุงสยามซึ่งเป็นโรงพิมพ์ที่ดีมากในตอนนั้น
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนี้สิบเอ็ดโมงครึ่งแล้วจะเป็นการรบกวนอาจารย์หรือเปล่าครับ
คุณผดุง : ไม่เป็นไรครับ ได้ครับ นี่ก็คือต้นเรื่องมาจนถึงพระราชทานเพลิงศพ แล้วหนังสือขบวนการประชาชนก็เกิดขึ้น ผมเป็นคนออกแบบปก ก็เล่นเท่าที่จะเล่นได้ ผมเศร้าใจมากรูปที่นำมาลงบนปกนั้นแต่กฤษณะบอกว่าจะเอารูปเหมือนไม่ได้เพราะว่ากลัวจะถูกฟ้อง ผมก็เลยทำเป็นเทคนิคหน่อยก็คือแบบเนกาทีฟ ดำจัดขาวจัด ด้วยความที่เราอ่อนด้อย กฤษณะนี่เขาจะระมัดระวังมากกว่าผมนะ เขาจะไม่ใช้ชื่อจริงแต่จะใช้นามว่า กร กรมัง ส่วนผมนี่ใช้ชื่อจริงเลย และที่บอกว่าคุณกร กรมังหรือฤษณะ สัมพันธ์เขาคิดป้องกันไว้เพราะว่าในเหตุการณ์ 16 ตุลา ปี 19 หลังจากนั้นเกิดการไล่ล่าฆ่าแกงบุคคลที่มีชื่อต้องสงสัยทั้งหลายครับ นึกออกใช่มั้ยครับ กร กรมังนี่หายไปเลยส่วนผมก็ต้องหลบๆซ่อนๆ เพราะมีชื่อในหนังสือที่โดนไล่ล่า ผมก็พูดตามประสาชาวบ้าน ก็หนังสือเล่มนี่มีสาส์นของในหลวงทรงลงพระปรมาภิไธย แล้วทำไมต้องเป็นหนังสือที่ต้องห้าม ถ้าขึ้นโรงขึ้นศาล ผมก็คงจะใช้ประเด็นนี้ในการต่อสู้นะครับ แต่ตอนนั้นไล่ล่าจริงๆผมเองต้องขนหนังสือเผาไปซะเยอะเลยครับ เพราะถ้าใครอยู่ในเหตุการณ์มันน่ากลัวมาก คือเก็บเลยนะครับ จับเข้าคุกขังลืม หนีเข้าป่ากันอุตลุต อาจารย์อำนาจ เย็นสบายนี่บอกว่า เฮ้ย พี่คงจะไม่อยู่แล้วนะ พี่คงต้องไปแล้ว ตอนนั้นก็ยังไม่ได้แต่งงานนะครับ และเขาก็บอกเส้นทางว่าจะไปที่ไหน อย่างไร มันมีชื่อกรุงชิง ภาคอีสานก็จะเป็นแถวอำนาจเจริญครับเท่าที่ผมจำได้ แถวขอบชายแดน ตอนนั้นเขาวางแผนที่ไว้ในบอร์ดแล้ว แต่ผมคิดว่าผมยังอยู่ปลายแถว แต่จะเก็บตัวมากไม่ไปไหน เพราะกระบวนการนักศึกษาหลังจากชนะแล้วก็อ่อนแอลง ไม่มีคนมาวางยุทธศาสตร์ต่อ บทที่สองนี่เป็นบทที่เขาได้เรียนรู้แล้วเขาตีกลับอย่างรุนแรง โดยเฉพาะใช้กระบวนการป้ายสีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ แล้วใช้เทคนิควิชามาร เช่นการต่อภาพ ลาวัณย์ อุปอินทร์นี่เป็นศิลปินแท้ๆ แต่กลับเป็นเหยื่อเบอร์หนึ่ง ถ้าไม่ใช่เพราะว่ามีผู้อยู่เบื้องหลังที่อยู่ข้างบนในเครือข่ายของอาจารย์ลาวัณย์ก็คงจะถูกเก็บนะ คนที่โดนตีใต้ต้นมะขามรูปนั้นน่าเศร้ามาก นักศึกษาโดนยิงในธรรมศาสตร์แบบปิดประตูฆ่ากันเลยนะครับ ปิดประตูตีแมว รูปทั้งหลายที่ลงมันโหดสุดๆ เลย ในตอนนั้นกระบวนการตีกลับโหดร้ายทารุณมาก
ผู้สัมภาษณ์ : คือช่วงนั้นที่นักศึกษาชุมนุมกันเพราะว่า จอมพลถนอมบวชพระกลับมา แล้วก็มีช่างไฟฟ้าไปแจกใบปลิวต่อต้านที่นครปฐมด้วย แล้วต่อมานักศึกษาก็กลายเป็นศพแขวนคอ นักศึกษาเลยคิดว่าเป็นฝีมือของตำรวจจึงนำมาทำเป็นละครล้อเลียน หลังจากนั้นวันรุ่งขึ้น วันที่ดาวสยามเอาไปลงกับบางกอกโพสต์ ก็เลยกลายเป็นเรื่องของวันที่ 6 พวกกระทิงแดงและก็นวพล
คุณผดุง : ใช่ๆ ผมเริ่มจำไม่ได้แล้ว มันมีกระบวนการหลังจากนั้น มีพวกกะทิงแดงขึ้นมาเป็นของคุณสุดสาย เขาจะเป็นตัวร้ายมากเลย ไม่รู้เสียชีวิตไปหรือยัง
ผู้สัมภาษณ์ : ครับ เขาก็เสียชีวิตไปแล้วนะครับ
คุณผดุง : ต้องขออภัย คุณอุทาน เสนีวงศ์ ณ อยุธยา, ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ โดยเฉพาะคุณสมัคร เมื่อก่อนนี่ฟังวิทยุแล้วอยากจะไปที่สถานีวิทยุแล้วไปถล่มมันนะครับกระบวนการนั้นเขาเล่นกระบวนการจิตวิทยา ซึ่งเป็นจิตวิทยาสงครามแล้ว และนักศึกษารู้ไม่เท่าทัน โดนกันแหลกราญระเบิดเถิดเทิง
ผู้สัมภาษณ์ : และช่วงนั้นหนังสือที่ซ้ายๆ ก็ออกกันมามากด้วย ใช่มั้ยครับ
คุณผดุง : ออกมาเยอะครับ เปิดเผยตัวตนกันมาก เค้าก็เริ่มทำ เพื่อจะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นคณะ ก็มีลูกเสือชาวบ้าน เริ่มวางยุทธศาสตร์ กระทิงแดง นวพล ลูกเสือชาวบ้าน เครือข่ายตำบล ทำให้กระบวนการนักศึกษาอ่อนแอให้แตกแยก ภาวะการคอรัปชั่นเงินที่ประชาชนบริจาค พอเริ่มมีอย่างนี้แกนนำก็เริ่มออกไป ตอนหลังต้องเข้าป่ากัน ไล่เรียงเหตุการณ์มาตั้งแต่หลัง 14 ตุลานะครับ ไม่รู้ว่าตรงเป้าหมายหรือเปล่า ผมโม้ซะยาวเชียว
ผู้สัมภาษณ์ : ครับ ได้ครับนอกจากจะได้ข้อมูลทางเหตุการณ์ยังเป็นข้อมูลทางด้านประสบการณ์และความรู้สึกด้วยครับ เรียกได้ว่ามีคุณค่าต่อคนรุ่นหลังต่อไปครับ
คุณผดุง : คือมันต้องฉายภาพบริบทให้เราเห็นนะครับและก็ประวัติศาสตร์การเมืองการปกครอง ผมไล่เรียงตั้งแต่สมัยจอมผลสฤษดิ์การปกครองแบบเผด็จการ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและก็การเปลี่ยนวิธีคิดโดยการรับวิธีคิดแบบตะวันตกเข้ามา และก็การเปลี่ยนแปลงการปกครอง การมอมเมาแล้วปกครอง แบ่งแยกแล้วปกครอง ทำให้โง่แล้วปกครอง และกระบวนการนักศึกษาที่จุดประกายจากความอึดอัดเลยเกิดการเคลื่อนไหวขึ้นเป็นยุคแสวงหาคำตอบ เหมือนกวีบทหนึ่งของคุณวิทยากร เชียงกูล อะไรแล้วนะครับ
ผู้สัมภาษณ์ : ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย
คุณผดุง : กวีบทนั้นเป็นบทที่ปลุกใจนิสิตนักศึกษายุคนั้นได้ดี บวกกับ สื่อต่างๆ เครือข่ายของนักศึกษา เหตุการณ์ที่มันเต็มที่การเคลื่อนไหวต่อสู้และได้รับชัยชนะ แต่ไม่เท่าไหร่ก็โดนกระบวนการตีกลับเพราะว่าล้างอำนาจได้ไม่ถึงรากถึงโคน มันมีเชื้อซึ่งเราไม่รู้นะครับ เราอ่อนด้อย อย่างนี้เป็นต้น คนอื่นไก็น่าจะมีแง่มุมที่น่าสนใจ ลองไปหาดูนะครับ อาจารย์วิรุณ ตั้งเจริญ คุณอำนาจ เย็นสบาย ก็สามารถไปหาข้อมูลมิติอื่นๆได้อีก และคุณพิทักษ์ ปิยะพงษ์ ครับเข้าไปเจาะได้ ค่อนข้างน่าสนใจ ก็มีศิลปินกลุ่ม วสันต์ สิทธิเขตต์ ผมไม่แน่ใจ ก็เป็นเรื่องที่ต้องไปตามดูครับ และอีกหลายๆคนที่เราจะไปตามเก็บข้อมูลได้
ผู้สัมภาษณ์ : ขอโทษนะครับ ขอเป็นคำถามสุดท้ายจะได้มั้ยครับ
คุณผดุง : ครับ ได้ครับ
ผู้สัมภาษณ์ : ถ้าจะให้อาจารย์พูดถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา ภายในประโยคเดียว อาจารย์อยากจะบรรยายว่าอย่างไรครับ
คุณผดุง : ผมอยากจะบอกว่าเป็นการรวมใจของประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วถ้าเป็นเหตุการณ์ 6 ตุลาละครับ
คุณผดุง : 6 ตุลานั้นเป็นเหตุการณ์ที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรม
ผู้สัมภาษณ์ : อีกนิดนึงนะครับ หลังจากประเมินเหตุการณ์สิบสี่ตุลาปีหนึ่งหก อาจารย์คิดมาก่อนรึเปล่าครับว่าเหตุการณ์อย่างสิบสี่ตุลาจะเกิดขึ้น
คุณผดุง : ตอนนั้นไม่ได้คิดนะครับ หมายถึงว่าพอหลังจากเหตุการณ์ไม่ได้คิด แต่เมื่อเกิดกรณีเข้าข่ายก็ได้คิดแล้ว เพราะผมสะดุดที่การวางเครือข่ายของกลุ่มคณะที่สูญเสียไป โดยเฉพาะเขาใช้สงครามจิตวิทยาผ่านสื่อ เพราะผมเริ่มมองเห็นกระบวนการของกระทิงแดงเนี่ยครับก็รู้ว่าต้องมีการล้างบางกัน กระทิงแดงนี่ชัดมาก และก็นวพล ลูกเสือชาวบ้าน ลูกเสือชาวบ้านตอนนั้นมีสัญญาณนะว่าเป็นการสร้างม็อบจากชาวบ้านเลย ที่ผมจำได้เพราะว่าพ่อผมไปเป็นลูกเสือชาวบ้าน ผมหงุดหงิดมากเลย แต่พ่อก็ไม่รู้เพราะว่าเป็นชาวบ้านนะครับ ส่วนผมนี่เริ่มรู้แล้วและสุดท้ายที่รู้ว่าสัญญาณอันตรายเกิดขึ้นก็คือ 3 คนออกไปพูดในรายการวิทยุทุกวัน ทุกอย่างมันไม่ใช่แล้ว คุณอุทาน เสนีวงศ์ ณ อยุธยานี่เป็นนักจิตวิทยาสังคมที่เก่งมาก ตอนนั้นเอาเทปรายการมาเปิดแล้วผมรู้สึกโกรธมาก ถ้าเป็นฝ่ายตรงข้ามนะครับ แต่ถ้าเป็นฝ่ายเขา จะรู้สึกลุกฮือ เขาเก่งมาก เขาหยอดคำพูด เขารู้จังหวะ เห็นมั้ยพ่อแม่พี่น้อง เขาจะพูดไปเรื่อย กรอกหูผู้ฟังไปเรื่อยๆ และอุทิศ นาคสวัสดิ์มาอีกคนนึง อุทิศนี่ผมศรัทธามากเป็นครูดนตรีไทยครับ แต่ตอนหลังผมเปลี่ยนใจ คุณสมัคร ตอนแรกก็อยู่คอลัมน์ของเขานะ แต่ทำไมถึงได้มาเลือกเส้นนี้ผมก็ไม่ทราบครับ ก็ยังขัดเคืองใจอยู่เมื่อก่อนท่านก็เป็นปัญญาชนคนหนึ่ง เป็นศิษย์เก่าธรรมศาสตร์
ผู้สัมภาษณ์ : ก็ต้องขอบคุณอาจารย์มากนะครับ และขอโทษที่รบกวนเวลาครับ
คุณผดุง : ด้วยความเต็มใจและขอบคุณมากนะครับที่ยังหากันจนเจอ |