บทสัมภาษณ์ -พรทิพย์ สาริกบุตร
วันที่ 25 พค. 2552
สถานที่ มูลนิธิ14 ตุลา
ผู้สัมภาษณ์ : นายชัยวัฒน์ ตรีวิทยา
ตามโครงการของมูลนิธิ 14 ตุลา ในการรวบรวมปากคำของคนที่อยู่ในเหตุการณ์ เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลเพื่อการศึกษาต่อไป
ผู้สัมภาษณ์ : อยากจะเริ่มที่ประวัติส่วนตัวก่อนเลยนะครับว่าพื้นฐานเป็นอย่างไร เกิดที่ไหน เมื่อไหร่ ครอบครัวเป็นอย่างไร การศึกษาอย่างนี้นะครับ
คุณพรทิพย์ : สวัสดีค่ะดิฉันพรทิพย์ สาริกบุตร ดิฉันเรียนตั้งแต่โรงเรียนราชินี และก็มาต่อที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย และก็มีโอกาสสอบเอ็นถึงสามครั้ง ครั้งสุดท้ายก็ไปติดที่คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ พอเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ดิฉันก็ศึกษาอยู่เป็นปีสุดท้าย ปีที่ 4 พอดี ครอบครัวของดิฉันมีพี่น้อง 2 คน มีคุณพ่อ คุณแม่ พี่ชายและก็ดิฉัน ก็ดีใจที่ได้มาเรียนธรรมศาสตร์ พอเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ที่เกิดขึ้น เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ดิฉันจบการศึกษาได้ เพราะว่าเช้าวันที่ 14 ตุลา ดิฉันจำวันไม่ได้แล้วค่ะ เราก็มาเอ๊ะตึกเข้าไม่ได้เพราะว่ามีใครไม่ทราบมาหยอดปูนพลาสเตอร์ไว้ ก็ไปรวมตัวกันที่ลานโพธิ์ค่ะ ที่ลานโพธิ์ก็วุ่นวายไม่ทราบว่าจะมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นมาก่อน ก็เห็นน้องแว่น เสาวนีย์ ลิมมานนท์ เป็นรุ่นน้องนิติศาสตร์ เพราะตอนอยู่วัฒนาวิทยาลัยเคยเป็นหัวหน้าโต๊ะเขานะค่ะ ทานอาหารด้วยกัน ก็เห็นน้องแว่น ก็เอ๊ะทำไมวุ่นวาย สักพักหนึ่งที่เราอยู่กันที่ลานโพธิ์ เขามีอะไรกัน ก็มีท่านๆขึ้นมาพูดกัน ก็มีคุณจีระนันท์ พิตรปรีชา มาที่ลานโพธิ์ผลัดกันพูด เหตุการณ์ไม่สงบนะสิค่ะ เราก็เข้าห้องเรียนไม่ได้ สักพักก่อนเที่ยงก็คิดว่ากลับบ้านดีกว่า เอารถมาด้วยเป็นห่วงรถ ก็เลยรีบกลับ มันก็ชุลมุนแล้วค่ะตอนนั้นฝั่งสนามหลวง เพื่อนๆส่วนหนึ่งเขาก็ไม่ยอมกลับ เขาบอกกลับไปก่อน เขาก็มารวมตัวกันช่วยทำอาหารเลี้ยงคนที่มาร่วมชุมนุมด้วยกัน เพื่อนๆเล่าให้ฟัง ตัวเองนี่ขี้กลัวค่ะ พอรู้แล้วว่ามีเหตุการณ์สิบสี่ตุลานี้เกิดขึ้น ก็ตื่นเต้น อยู่ที่บ้านไม่กล้าออกมาหรอกค่ะ ขี้ขลาดก็รอฟังผล ก็ทราบว่าธรรมศาสตร์นี่เป็นที่ซ่องสุมผู้คน เป็นอุโมงค์ ก็พูดกันไปต่างๆนานา สำหรับเหตุการณ์สิบสี่ตุลา ดิฉันคิดว่าดิฉันโชคดีที่จบภายใน 4 ปี ซึ่งเพื่อนๆนี่หลายคนที่เผชิญชะตากรรม หลายคนที่ได้เกียรตินิยมในเวลานั้น ก็คิดว่าเหตุการณ์สิบสี่ตุลาเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ดิฉันได้เรียน จบเพราะอาจารย์ก็เมตตาก็อนุเคราะห์ให้เราผ่านวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในขณะนั้นก็ยากมากค่ะ เพื่อนๆซ่อมกันเยอะมาก พอดีมันคาบเส้นนะค่ะ แล้วคุณพ่อก็ดูดวงชะตาบ้านเมืองเอาไว้ พอดีคุณพ่อของดิฉันเป็นอดีตโหรฯใหญ่ ตอนนี้สิ้นชีพไปแล้วนะค่ะ ชื่ออาจารย์เทพย์ สาริกบุตร อาจารย์เทพย์ก็เคยดูเหตุการณ์บ้านเมือง ซึ่งวันนี้เรียนคุณแม่ว่าจะมาคุยกับน้องเรื่องเหตุการณ์สิบสี่ตุลา คุณแม่เลยบอกว่าให้มาเรียนเสริมว่าคุณพ่อเคยดูเหตุการณ์บ้านเมืองในตอนนั้น 7-8 วันก่อนสิบสี่ตุลา ว่าเหตุการณ์บ้านเมืองจะมีพลิกผัน มีเปลี่ยนแปลง ซึ่งนักข่าวบางฉบับตอนนั้นไปลงตีพิมพ์ ทำให้มีหลายๆท่านมาติดต่อสัมภาษณ์คุณพ่อที่บ้าน แต่คุณพ่อก็ไม่ได้พูดอะไร เพราะว่าได้พูดไปแล้ว คุณพ่อท่านบอกว่าท่านจะไม่พูดมากค่ะ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่คุณพ่อทำนายทายทักว่า จะมีความผิดปกติในเรื่องของเหตุการณ์บ้านเมืองของเราในยุคนั้น
ผู้สัมภาษณ์ : พี่เกิด พ.ศ. อะไรครับ
คุณพรทิพย์ : ดิฉันเกิดปี พ.ศ. 2492 ค่ะ ปีนี้ก็ 60 พอดี แต่ early มาก่อนค่ะ รับราชการมา 32 ปีนะค่ะ ทำงานอยู่สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เดิมสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี แล้วมาสังกัดกระทรวง วิทยาศาสตร์และการพลังงาน พอต่อมาก็ขึ้นกับกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ก็ปฏิรูปราชการปี 2545 ก็กลายมาเป็นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อยู่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมมาจนได้ early ค่ะ ก่อนหนึ่งปีเมื่อกันยายน 2551 ตอนนี้ถ้าอยู่ก็คงจะเกษียณเดือนกันยายน 2552 ค่ะ ได้เรียนที่ธรรมศาสตร์ค่ะ เพราะว่าสอบเอ็นฯมา 3 ครั้ง ก็ได้ทุกครั้ง
ผู้สัมภาษณ์ : เดิมนี่เป็นคนกรุงเทพเลยหรือเปล่าครับ
คุณพรทิพย์ : เป็นคนกรุงเทพค่ะ ดิฉันเป็นคนกรุงเทพแต่กำเนิด
ผู้สัมภาษณ์ : อยู่แถวไหนครับ
คุณพรทิพย์ : เดิมดิฉันอยู่ซอยหลังสวน และก็ย้ายไปแถวลาดพร้าว และขณะนี้ก็ไปอยู่แถวคู้บอนค่ะ เพราะว่าชีวิตหลังเกษียณเราไปอยู่ไกลได้เพราะว่าการจราจรมาเป็นปัญหา เราไม่ต้องไปทำงานตอนเช้า รถราเราก็ไม่มีเราก็ใช้รถสองแถว รถแท็กซี่เอา และก็เป็นความสุขของเรา ไม่ต้องเครียดตรงการจราจรค่ะ
ผู้สัมภาษณ์ : เริ่มการศึกษาในวัยประถมศึกษาที่โรงเรียนอะไรครับ
คุณพรทิพย์ : เล็กๆก็เรียนที่โรงเรียนราชินีค่ะ คุณแม่ให้อยู่โรงเรียนประจำค่ะ อยู่ประจำมาจนถึง มศ. 3 ของดิฉันโรงเรียนราชินีที่เขาเรียกกันว่า ราชินีปากคลองตลาด หรือราชินีล่าง บางคนคนก็เรียกเต็มยศเป็นผู้ดีหน่อยก็ราชินีสุนันทาลัย คือ จะมีราชินีบนคือบางกระบือ ดิฉันอยู่ราชินีปากคลองตลาดค่ะ ราชินีล่าง
ผู้สัมภาษณ์ : เริ่มเรียนตั้งแต่อนุบาลหรือเปล่าครับ
คุณพรทิพย์ : อนุบาลเริ่มเรียนตั้งแต่ที่อื่นค่ะ เริ่มเข้าประจำโดยประถมหนึ่ง คุณแม่ให้อยู่ประจำตั้งแต่ประถมหนึ่งจนถึงมศ. 6 ในสมัยนั้นนะค่ะ และก็คะแนนไม่ถึงขั้น เขาต้องให้ถึง 65 เราได้ 62 คุณแม่ก็ไปอ้อนวอน คุณแม่เป็นศิษย์เก่า คุณแม่เรียนสมัยแม่คุณแซม ยุรนันท์ นะค่ะ คุณแม่บอกว่าอาจารย์ไม่ให้เพราะว่าเดี๋ยวจะเป็นตัวอย่าง ก็เลยไปสอบเข้าวัฒนาวิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนคริสต์โปแตสแตนท์ ก็สอบได้และไปเป็นบรรยากาศของพวกคริสต์ อยู่จนถึง มศ.5 ค่ะ สมัยก่อนมีแค่ มศ. 5 สอบตกค่ะ แต่ไปติด มช.มนุษยศาสตร์ ปรากฏว่าไปสอบบุคคลภายนอกค่ะ หมายความว่าขณะตก ก็เลือกเอ็นซ์ฯ และติดเอ็นซ์ฯด้วย แต่ตก มศ.5 ค่ะ เอ็นซ์ได้แต่เรียนไม่ได้ก็เลยไปสมัครสอบบุคคลภายนอกและก็สอบใหม่ครั้งที่ 2 ไปติดคณะอักษรศาสตร์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ไปเป็นจูเนียร์ของศิลปากร ที่ศิลปากรก็เรียนไม่ไหว มันยาก ให้อาจารย์เอี่ยม อดีตอธิการมสธ. ที่สอนฝรั่งเศส ตอนนั้นท่านเป็นอธิการของมหาวิทยาลัยสุโขทัย ท่านสอนฝรั่งเศส และฝรั่งเศสอ่อนค่ะ เรียนยาก อักษรศาสตร์นี่ต้องเก่งค่ะแล้วเราก็ไม่เอาไหนเลย
ผู้สัมภาษณ์ : ปีที่เอ็นซ์ฯเป็นปีแรกจำได้หรือเปล่าครับว่าปีไหน
คุณพรทิพย์ : คือตามรุ่นนะค่ะ พอเรียนจบที่ธรรมศาสตร์ก็ปี 2516 ดิฉันคิดว่าปี 2511 ได้นะค่ะ คือดิฉันก็จำไม่ได้ค่ะ เพราะว่าเอ็นซ์ฯสามครั้ง เพื่อนอยู่ปีสาม ดิฉันอยู่ปีหนึ่ง ไปที่ธรรมศาสตร์นี่นะค่ะ เพื่อนอยู่นิติศาสตร์บ้าง อยู่บัญชีบ้าง รัฐศาสตร์บ้าง ปี 16 นี่ก็คือ ปีสี่ ทำให้เราได้จบ เหตุการณ์ตุลาทำให้เราได้เรียนจบ
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นนี้ก็ 15 นี่คือปีสาม 14 นี่ปีสอง 13 นี่ปีหนึ่ง
คุณพรทิพย์ : ก็เอ็นซ์ฯตั้งแต่ 10-11-12 ถูกต้องไหมค่ะ คือตก มศ. 5 แต่ว่าไปติดเอ็นซ์ที่เชียงใหม่ พอสอบมศ. 5 ได้ก็ไปติดคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ปี 11 พอ 12 ก็โดนทายจากศิลปากร คือเรียนหนึ่งปีแล้วก็ออก พอสุดท้ายก็มาสอบวารสารศาสตร์ ที่ธรรมศาสตร์ ก็จำได้ว่า มธ. 5 หรือ มธ.8 นี่นะค่ะ เรามีวิธีการเรียกที่ง่ายๆ คือเขาเรียนด้านฝรั่งเศส แต่ถ้าเป็นนิเทศศาสตร์จุฬา เขาจะเรียนด้านคณิตศาสตร์ ซึ่งเราอ่อนด้านคณิตศาสตร์ แต่เราเผอิญไปปรับปรุงภาษาฝรั่งเศสให้ดี ก็เลยได้วารสารศาสตร์ธรรมศาสตร์ค่ะ
ผู้สัมภาษณ์ : ช่วงในวัยเด็ก ตอนนั้นเรียนโรงเรียนประจำด้วย ตอนนั้นข่าวสารทั่วๆไป ข่าวสารบ้านเมือง ได้รับรู้บ้างหรือเปล่าครับ หรือว่าได้รับรู้ทางไหน
คุณพรทิพย์ : อยู่โรงเรียนประจำมันก็ภาษาวัยรุ่น ก็จะคุย สมัยนั้นไม่เหมือนสมัยนี้ค่ะ การมงการเมือง อินเตอร์เน็ตก็ไม่มี ก็คุยกันเรื่องสับเพเหระค่ะ
ผู้สัมภาษณ์ : ยกตัวอย่างได้ไหมครับ
คุณพรทิพย์ : ยกตัวอย่าง อย่างเช่นเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โรงเรียนราชินีก็จะมีศาลซึ่งเวลาเราจะสอบทีก็จะไปบนบานศาลกล่าวขอให้ฉันสอบผ่านอย่าตก ก็เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นเรื่องราวสับเพเหระ ซึ่งก็ไม่ได้มีประโยชน์ บ้านเมืองนี่ เพื่อนๆในยุคนั้นไม่ค่อยมีไอเดีย แต่ธรรมศาสตร์ก็มีเพื่อนๆที่มีความคิดเยอะเลยค่ะ ตอนนี้มาเป็นนักข่าว
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วรู้ไหมครับ อย่างจอมพลสฤษดิ์ปฏิวัติ ปี 02 อะไรอย่างนี้นะครับ
คุณพรทิพย์ : รู้แต่ว่า ไม่ได้ฝักใฝ่การเมืองเลย ไม่เอาไหนเลย
ผู้สัมภาษณ์ : รับข่าวการเมืองมาจากไหนครับ
คุณพรทิพย์ : ก็คุณพ่อนี่ท่านเป็นโหรฯใหญ่ ท่านก็จะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนประเภทสองค่ะ ท่านมีเพื่อนเป็นนายทหารและก็เป็นท่านที่ดูหมอ ดูดวงชะตาราศีให้ท่านสฤษดิ์ ตอนนั้นเรายังเด็ก เราไม่ค่อยรับรู้หรอกค่ะ แต่ทางคุณพ่อก็พูด
ผู้สัมภาษณ์ : คุณพ่อเป็นโหราจารย์หรือครับ
คุณพรทิพย์ : ค่ะ คุณพ่อเป็นโหราจารย์ ก็เป็นหมอดูนี่แหละ แขกคนนั้นมา คนนี้มา นายทหารใหญ่มาพูดคุยการมงการเมือง เราก็ไม่ค่อยประสีประสากับเรื่องการเมือง ซึ่งไม่เหมือนสมัยนี้ สมัยนี้ลูกชายเราก็รู้เรื่องแล้ว แล้วก็มีข่าวสารแต่ละช่องก็ถี่ยิบเลย ข่าวต้นชั่วโมงอะไรอย่างนี้นะค่ะ ซึ่งไม่เหมือนสมัยก่อนไม่ก้าวหน้า สมัยนี้จะรู้อะไรเร็ว วิจารณ์แบ่งพรรคแบ่งพวก ถ้าเป็นสมัยก่อนยังไม่ค่อยค่ะ ก็เริ่มตอนปีสี่ บางทีก็ฟังเพื่อนวิจารณ์กันไป แต่เราก็ไม่ได้ทำอะไร ซึ่งเราคิดว่าเราซื่อบื้อ เราไม่ค่อยแม่นการเมือง
ผู้สัมภาษณ์ : คุณพ่อก็เป็น สส.ด้วยใช่ไหมครับ
คุณพรทิพย์ : คุณพ่อก็เป็นสส.ประเภทสองค่ะอยู่ในวงหมอดู จอมพลสฤษดิ์ ดิฉันยังเก็บรูปที่ท่านใส่ชุดขาว ผูกไทน์ เป็นสส.ประเภทสอง
ผู้สัมภาษณ์ : ประมาณปีไหนได้ครับ
คุณพรทิพย์ : ดิฉันก็ไม่แน่ใจค่ะว่าปีไหน ลืมดูประวัติท่าน ดิฉันมีหนังสือของท่านด้วย คงประมาณ 2502 ก็คงประมาณนั้นนะค่ะ จริงๆที่ไปเพราะมีพรรคพวกไปค่ะ จริงๆดิฉันไม่ชอบพวกนี้หรอก ดิฉันชอบอิสระอยู่กับบ้าน เรื่องข่าวสารนี่คุณพ่อจะรู้หมด มีสายสืบค่ะ ท่านเป็นเหมือนหน่วยสืบลับ เทียบกับสมัยนี้ก็เหมือนกับหน่วยงานความมั่นคง จะรู้หมด ใครจะเป็นอะไรท่านก็จะพูด พอดีท่านมาทานข้าวที่บ้าน คุณแม่ก็ทำกับข้าว หาอาหารให้ทาน เราก็แผนกเสริฟน้ำ ก็จะรู้จักข่าวสารบ้านเมืองเมื่อมาคุยกับคุณพ่อ คุณพ่อก็จะทำนายเหตุการณ์ได้ เพราะว่าท่านมีพรรคพวกหลากหลายสายค่ะ ตั้งแต่ท่านในวัง นายแพทย์ก็มี นายทหารใหญ่ก็มี คุณพ่อจะรู้หมด แต่เราก็ไม่ค่อยรู้ไม่ค่อยประสีประสา
ผู้สัมภาษณ์ : โทรทัศน์มีหรือเปล่าครับ
คุณพรทิพย์ : ก็มีช่อง 9 อสมท. นี่แหละค่ะ ช่อง 4 วิทยุเราก็ฟังแค่วิทยุ คุณวุฒิ เวนุจันทร์นะค่ะ ก็จะมีทหารอากาศที่มาอ่านข่าว
ผู้สัมภาษณ์ : แสดงว่าชอบฟังข่าวหรือครับ
คุณพรทิพย์ : ชอบค่ะ ชอบฟังข่าว ตอนนี้ก็ยังเป็นแบบขาดไม่ได้ แม้แต่โทรศัพท์มือถือก็รับข่าว
ผู้สัมภาษณ์ : แสดงว่าโดยพื้นฐานชอบรับข่าวหรือครับ
คุณพรทิพย์ : ค่ะ ชอบมากค่ะ ตอนที่เป็นพีอาร์นี่เราก็จะขับรถไปรับหนังสือพิมพ์ พอดีมาซื้อขนมให้ลูกภารโรงนะค่ะ ก็จะประมาณว่ามาเอาหนังสือพิมพ์ไปตัดที่บ้าน คือพอดีเราต้องตัดข่าวสิ่งแวดล้อมนะค่ะ ตอนนี้ก็มีมติชนที่มีการตัดข่าวขายให้หน่วยราชการ ซื้อไปเลยเดือนละสี่หมื่น สามหมื่นอย่างนี้ค่ะ เป็นคนที่รักข่าวแต่ไม่ค่อยฝักใฝ่การเมือง เผอิญตัดข่าวที่เกี่ยวข้องและก็ดูอันอื่นด้วย
ผู้สัมภาษณ์ : ดีครับ ไม่ตกข่าว
คุณพรทิพย์ : ค่ะ เราไม่ตกข่าว ใครจะพูดอะไรมาเราก็พอทัน ถ้าไม่ทันเราก็จะได้รับรู้ แต่พอเอ๊ะทำไมเป็นอย่างนี้เราก็ไปสืบดู คือความรู้สึกตอน 14 ตุลา 2516 ทุกคนจะมองธรรมศาสตร์เป็นที่ที่ไม่ดีเลยค่ะ
ผู้สัมภาษณ์ : อันนี้คือก่อนหรือหลังครับ
คุณพรทิพย์ : หลังค่ะ เรามีโอกาส เราก็เข้าไปดูกัน เราเข้าไปแล้วก็ไปซ่องสุมคุยกันที่บ้านเพื่อน เพราะว่าเพื่อนคนหนึ่งเป็นประชาสัมพันธ์ที่ธรรมศาสตร์ เพื่อนเขาก็บอกว่ามีสันติบาลคนหนึ่งมาคอยตามเขา เพื่อนดิฉัน โย่ง ธวัชชัยก็ยังอยู่นะค่ะ โย่งเขาอายุน้อยกว่าดิฉัน พอดิฉันเข้าไปในหมู่พวกเขา เพราะว่าเพื่อนอยู่ปีสามแต่ดิฉันอยู่ปีหนึ่ง ก็ทันกับน้องๆที่อยู่ปีหนึ่งด้วยกันนะค่ะ รุ่นนั้นก็มีลูกพลเอกสิทธิ์ เศวตศิลาด้วยค่ะ เรื่องการเมืองเป็นคนอ่อนไหวไม่ค่อยเกี่ยวข้อง เพื่อนๆเขาจะมันกว่า แล้วเราจะไปฟังเขาพูด เพื่อนๆจะคือว่าเรื่องการเมืองไม่ได้ จะมีสปิริต ไปช่วยทำกับข้าว บางคนเป็นผู้จัดการพีอาร์รถไฟฟ้าใต้ดินก็มีค่ะ คุณยุพดี และก็ พันธ์ทิพย์ ก็ไปอยู่กรมประชาสัมพันธ์ อยู่สำนักข่าว เพื่อนๆเขาจะเข้มแข็งกว่าเราในเรื่องการเมือง เราก็ฟังเขาคุยกัน เราอ่อนแอ เราไม่ค่อยรู้เรื่อง
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนอยู่มัธยมศึกษาตอนปลาย ตั้งแต่ประถมหนึ่งถึงม. 3 นี่ก็คืออยู่ประจำตลอดเลยใช่ไหมครับ
คุณพรทิพย์ : ใช่ค่ะ ตอนมศ.4-5 ก็เป็นโรงเรียนประจำอีก โรงเรียนประจำสไตล์คริสต์ ก็ได้อีกสังคมหนึ่ง
ผู้สัมภาษณ์ : ไม่ได้เดินทางไปกลับที่บ้าน หรือครับ
คุณพรทิพย์ : ไม่ค่ะ เราไม่มีรถยนต์ คุณแม่มักจะพูดตลกว่าอย่าขึ้นรถเมล์เลย เดี๋ยวไปเบียดเขา หน้าอกโต อยู่โรงเรียนประจำไปเหอะ เดี๋ยววันศุกร์ไปรับกลับรถแท็กซี่ มีคนไปรับ มีบัตรของโรงเรียน ไม่มีเรื่องของด้านการเมือง ไม่ไหวเลย อ่อนแอ ไม่เหมือนเพื่อนๆเขาจะเข้มนะค่ะ เขาก็คุยกัน ต้องไปร่วมนะ ลูกศิษย์คุณพ่อเราขาด้วนเลยเพราะว่าต้องไปร่วมเหตุการณ์อย่างนี้นะค่ะ มีลูกศิษย์คนหนึ่ง คุณพ่อตายไปแล้ว ขณะที่คุณพ่อมีชีวิตอยู่เขาก็จะพานั่งรถกระบะรถอะไรนี่นะค่ะ และก็เข็นรถ พ่อไหว้ครูก็ไป 15 เมษา เขาก็จะมาหาอาจารย์เทพย์นี่ค่ะ เขาบอกน้องเขาได้เผชิญกับเหตุการณ์ 14 ตุลาจนพิการ ดิฉันจำชื่อไม่ได้ ต้องไปถามคุณแม่ ยังอยู่หรือเปล่าก็ไม่รู้มีอยู่คนหนึ่งนะ
ผู้สัมภาษณ์ : เข้ามหาวิทยาลัยครั้งแรกที่ได้เรียนจริงๆคือศิลปากรหรือครับ
คุณพรทิพย์ : ค่ะ ก็ได้ไปอยู่นครปฐม ประจำอีกแล้วเป็นเด็กหอ
ผู้สัมภาษณ์ : ไม่ได้อยู่ตรงนี้ใช่ไหมครับ
คุณพรทิพย์ : ใช่ค่ะ มารับน้องใหม่ที่วังท่าพระ ประจำก็อยู่หอ ไปกินร้านลมโชย ตอนนั้นการเมืองไม่พูดกัน กำลังตื่นเต้นกับระบบซีเนียร์
ผู้สัมภาษณ์ : ระบบโซตัสนี่แรงหรือเปล่าครับ
คุณพรทิพย์ : ไม่แรงมากนะค่ะ พอดีพี่เขาก็บอกว่ารุ่นน้องคนนี้มีแฟนมารับมาส่ง พี่ก็บอกว่ารับหน่อย ก็ไม่แรงมาก รุ่นพี่เขาก็รุ่นๆเดียวกับเรา เพราะเราไปเท่ากับเป็นรุ่นเขาแล้วแต่เราเรียนช้า เขาก็ไปอยู่ปีสองเราอยู่ปีหนึ่ง ซึ่งจริงๆเราเป็นรุ่นเดียวกัน
ผู้สัมภาษณ์ : ต้องเรียกว่าพี่หรือเปล่าครับ
คุณพรทิพย์ : ต้องเรียกสิค่ะ โอ้โหเขาดุค่ะ เขาจะดุ คือซ้อมเชียร์บอกเวลาก็ต้องไปให้ตรงนะ กลัวค่ะก็ทำตามค่ะ เขาตะคอกเสียงใส่เราแบบดังมาก ว้าก มันก็สนุกดีค่ะ ตอนที่รับก็มารับที่มหาวิทยาลัยศิลปากรที่กรุงเทพและก็จะแต่งตัวตามฟอร์ม ก็ตัดเนกไทน์ไปให้มันมีอัตลักษณ์ค่ะ กระโปรงเขียว ก็มีพิธีใส่บาตร เราเป็นรุ่นน้องก็สนุกดีนะ ทำทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี ไม่มีปัญหาค่ะ
ผู้สัมภาษณ์ : ปกติคนที่ผ่านขบวนการรับน้องเขาจะผูกพันกับมหาวิทยาลัยมาก รู้สึกผูกพันไหมครับ
คุณพรทิพย์ : มันผูกพันไม่ได้ เพราะเราเรียนอ่อนเพราะเราตกเยอะ เราก็เฉยๆไม่เสียใจ รู้ว่าเราโดนทาย มีเพื่อนราชินีไปอีกคนหนึ่งเขาก็โดนทาย แต่เราไม่ท้อเราไปสอบอีกครั้งหนึ่ง ก็มาติดสมใจนึก คือมาติดวารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์
ผู้สัมภาษณ์ : คืออยากเข้าวารสารศาสตร์มาตั้งนานแล้ว หรือเปล่าครับ
คุณพรทิพย์ : เปล่าค่ะ ตอนนั้นไม่ค่อยมีใครเลือก ช่วงนั้นยังไม่มี ตอนนี้คะแนนสูงมาก ตอนเข้าทำงานนี่ไม่เห็นหัวของคนเรียนวารสารศาสตร์ นิเทศศาสตร์เลยค่ะตอนเข้ารับราชการ อาศัยคุณพ่อมีลูกศิษย์สำนักงบประมาณ มีคนบอกจบสารสารศาสตร์ต้องมาอยู่กรมประชาสัมพันธ์ จัดรายการก็ทำไปด้วยไม่ชอบเลยค่ะ พอแก่ๆตัวชอบจัดรายการ ก่อนจะออกมานี่จัดรายการวิทยุตามสายให้เขาฟัง คนที่ชอบมีเรื่องมาเล่ามาคุย เรื่องที่เราไปพบเห็นมา คุยแบบธรรมชาติ คนก็ชอบ เปิดเพลงไป
ผู้สัมภาษณ์ : อันนี้คืออยู่ในกระทรวงใช่ไหมครับ
คุณพรทิพย์ : ค่ะ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม มีเครื่องไม้เครื่องมือเสร็จนะค่ะ
ผู้สัมภาษณ์ : เป็นวิทยุหรือเสียงตามสายอย่างไรครับ
คุณพรทิพย์ : ไม่ใช่หรอกครับ เป็นที่ประกาศ ว่าเกิดเหตุการณ์ฉับพลัน ไฟไหม้ หรือลิฟท์ติดอะไรนี่นะค่ะ มีเครื่องมืออยู่แล้วเราใช้ให้เป็นประโยชน์เป็นเสียงตามสายนี่ค่ะ คือเวลาเราเดินไปไหน เขาก็จะอ๋อคนนี้ใช่ไหมค่ะที่จัดรายการ เราก็จะถามว่าผิดหวังหรือเปล่าค่ะ คนจัดรายการแก่ ผิดหวังหรือเปล่า เขาก็จะจำได้ก็จะผูกพันกัน ชอบจัดรายการ ฟังคุณจัดทุกวัน วันไหนขาดคนจัดนี้ก็จะเหงาๆ ถ้าจัดบ่อยๆมันก็จะชินหู อยากให้มาจัดบ่อยๆ แต่ก็มีภาระกิจดูแลคุณแม่ที่ป่วยก็เลยไม่ได้จัดค่ะ และก็มีน้องเขาจบปริญญาโท วารสารศาสตร์ก็ให้เขาทำอยู่ แต่เขาจะวิชาการเกินไป เราก็บอกให้เขาพูดกันเองกับท่านผู้ฟัง สบายๆอย่าเกร็งอย่าเครียดให้คนฟังเขามีความสุข เขาจบปริญญาโทเรียนมากกว่าเรา เราสอบปริญญาโทสามที่ไม่ได้ซักที่หนึ่ง วารสารเปิดครั้งแรกก็ไปสอบ ภาษาอังกฤษไม่ดีก็ตก นิเทศศาสตร์ไปติวก็สอบไม่ได้ แล้วก็ไปสอบเกษตรแต่ก็ไม่ได้ คือไม่ได้อยู่เฉยค่ะ ไปสอบแต่ไม่ได้ ก็ไม่เอา มีโอกาสอยากเรียนเพราะเราไม่แก่ที่จะเรียน ก็สอบแต่ไม่ได้ค่ะ
ผู้สัมภาษณ์ : ทีนี้เรียนที่ศิลปากรได้หนึ่งปี แล้วก็ตอนที่เข้าเรียนที่วารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ พี่ทำอะไรบ้างครับ
คุณพรทิพย์ : ไม่ค่อยทำกิจกรรมเลยค่ะ เพื่อนๆเขาจะทำกิจกรรมเยอะ ค่ายอะไรของเขา คือตัวเองก็ไม่ค่อยรู้หรอกค่ะ ไม่ค่อยทำกิจกรรม ช่วงนั้นมีแฟนแล้วค่ะ แฟนเรียนมหิดล เพื่อนก็บอกอ้วนนี่เขามีแฟนมารับมาส่ง ก็ไม่ดีเท่าไหร่ค่ะ ไม่ประสบผลสำเร็จ
ผู้สัมภาษณ์ : แฟนเรียนที่ไหนครับ มหิดลที่นี่หรือที่ศาลายาครับ
คุณพรทิพย์ : แฟนเรียนสาธารณสุข ตอนนั้นยังไม่มีศาลายาค่ะ เขาเรียนพวกอาชีวะอนามัย ก็ทำให้เขาตก ไปรับส่งกัน เขาเลยไม่ได้เป็นหมอ ก็ fell ค่ะ ชีวิตสมรสก็หย่ากัน เพราะว่าแฟนเขาก็มีแฟน เราก็อยู่กับแม่เราชีวิตสมรสไม่ดี ตอนนั้นเรื่องงานก็โอเค ทำงานมีความสุข
ผู้สัมภาษณ์ : ช่วงที่เข้ามาเพื่อนเขาทำกิจกรรมกัน เราก็ไม่ได้ทำกับเขาหรือครับ
คุณพรทิพย์ : แม้แต่ฝึกงานเพื่อนเขาไป ดิฉันไม่ไปคนเดียว บางกอกโพสต์ เดลินิวส์ มีหลักสูตรค่ะ ดิฉันผ่านมาได้อย่างไรก็ไม่รู้ ทุกคนผ่านการฝึกงานหมด ก็งงแล้วคุณเป็นใครค่ะ แล้วเราก็จบมาได้ หรือเพื่อนๆช่วยก็ไม่รู้ โชคดีได้เพื่อนดีไงค่ะ เพื่อนเขาก็ช่วยเรา เวลาเราไม่ทราบอะไรเขาก็จะติวให้เรา เราจะท่องมาให้ดีแล้วก่อนเข้าห้องสอบเขาก็จะติวให้เรา ไม่ต้องมานั่งดูแล้ว เขามานั่งพูดแล้วเราก็ฟัง แล้วเราก็เอาช่วงเวลาที่ทำวิชาการมาดูมาอ่าน เป็นหนังสือประกอบ คือเราจะเรียนไม่เก่งไงค่ะ เพื่อนๆเขาจะเรียนเก่ง เรียนเกียรตินิยม เรามันหัวขี้เลื่อย
ผู้สัมภาษณ์ : ใช้เวลาอยู่กับแฟน แล้วมาใช้เวลาอยู่กับเพื่อนหรือครับ
คุณพรทิพย์ : ค่ะ บางทีแฟนเขาก็จะมาอยู่กับเพื่อนด้วย เวลาไปเที่ยวต่างจังหวัด แฟนก็ขับรถ
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วตอนนั้นไปทำอะไรกันบ้างครับ อย่างเช่นไปดูหนัง ไปอะไรทำนองนี้นะครับ
คุณพรทิพย์ : ส่วนมากก็จะไปอยุธยาค่ะ ไปไหว้พระ ไปบางปะอิน ไปดูวังอะไรทำนองนี้ ที่บางปะอินจะมีรูปเก่าๆ ไม่ค่อยมีกิจกรรมสังคม แฟนขับรถแล้วเพื่อนๆก็นั่งกันไป อาจจะไปกันคันสองคัน ไปใกล้ๆนะค่ะคือไม่ได้ไปไหน
ผู้สัมภาษณ์ : อย่างไปดูหนัง ไปเที่ยวห้างสรรพสินค้า สมัยก่อนมีบ้างหรือเปล่าครับ
คุณพรทิพย์ : น้อยค่ะ ส่วนมากจะเป็นลักษณะเพื่อนพาไปกินข้าวฉะเชิงเทราบ้างอะไรบ้าง จะเป็นลักษณะแบบนั้น แล้วส่งตัวแทนเรียน ส่งโย่งค่ะเพื่อนที่เป็นประชาสัมพันธ์ธรรมศาสตร์ โย่งจะเรียนแทนพวกเรา
ผู้สัมภาษณ์ : ที่ไปนี่ไม่ใช่เสาร์ อาทิตย์หรือครับ
คุณพรทิพย์ : ค่ะ ที่ไปนี่คือโดดเรียน มีความสุขมาก เบื่อท่าพระจันทร์แล้ว เพื่อนมีรถครั้งแรก เพื่อนเป็นเจ้าของโรงเลื่อย เขาก็มีความสุขนะค่ะ ก็นั่งกันไป รถคันเล็กไม่รู้นั่งกันได้ไง สมัยก่อน
ผู้สัมภาษณ์ : เป็นรถอะไรหรือครับ
คุณพรทิพย์ : รถมันสิ้นยี่ห้อไปแล้วนะค่ะ คันเล็กนิดเดียว นั่งกันไปได้อย่างไรก็ไม่รู้ บางทีเพื่อนอีกคนก็เอาไปอีกคันหนึ่ง บางทีเพื่อนขับไม่ไหวเขาก็ให้เพื่อนอีกคนขับ ก็เบียดกันไป ส่วนมากไปต่างจังหวัด ในช่วงเรียนนี่พ่อแม่ไม่ทราบ
ผู้สัมภาษณ์ : แสดงว่าชีวิตก่อนสิบสี่ตุลานี่ก็จะใช้ชีวิตแบบนี้เป็นหลัก
คุณพรทิพย์ : ใช่ค่ะ ห้องสมุดก็มี ถ้าอาจารย์ให้งานไป แบ่งงานกัน ถ้าแล็กเชอร์บางทีฝากเพื่อนเรียนและก็มาขอจดต่อ ส่วนใหญ่จะเข้าเรียนค่ะ นานๆถึงจะโดด นานๆทีไม่ได้ไปทุกวัน ฉะเชิงเทราใกล้ที่สุด กุ้งเต้น ปทุมธานี ค่ะก็จะใกล้ๆ
ผู้สัมภาษณ์ : ในระหว่างนี้เขาจะมีนักศึกษาส่วนหนึ่งที่ออกมาเริ่มรณรงค์อย่างเช่น รณรงค์ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น ได้รับรู้ไหมครับ
คุณพรทิพย์ : ทราบค่ะ ก็สมัยคุณธีรยุทธ์นะค่ะที่เดินมาดู
ผู้สัมภาษณ์ : ทราบจากไหนครับ
คุณพรทิพย์ : เห็นจริงๆก็เห็น ในข่าวก็เห็น ตอนนั้นเราต้องทำหนังสือพิมพ์ด้วยนะค่ะ เราต้องออกไปสัมภาษณ์ ทำเป็นกลุ่ม ชื่อหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัย แต่เราไม่มีความสามารถค่ะ เพื่อนๆเก่ง เพื่อนถึงได้เกียรตินิยมไงค่ะ
ผู้สัมภาษณ์ : หมายถึงว่าเป็นของคณะหรือว่าอย่างไรครับ
คุณพรทิพย์ : เป็นของคณะค่ะ ปีไหนดิฉันจำไม่ได้แล้ว ก็ผลัดกลุ่มกันทำนะค่ะ ต้องสัมภาษณ์ไปอะไร มีอาจารย์เป็นพี่เลี้ยง พิมพ์ที่โรงพิมพ์ธรรมศาสตร์ ส่วนตัวอ้วนไม่เอาไหนเลยค่ะ อาศัยเพื่อน เป็นผู้หญิงที่ไม่เอาไหนเลย เพื่อนเขาเก่งเขาจะมีเรื่องการเมือง จนถึงเข้ากรมประชาสัมพันธ์ได้เลย เพราะเพื่อนเขาอยู่สำนักข่าวคนหนึ่งนะค่ะ แต่ตัวอ้วนอยู่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เพราะว่ามีเส้นสาย เจ้านายจากสำนักงบประมาณเขาฝากให้
ผู้สัมภาษณ์ : ก็แสดงว่าข่าวในเรื่องของเหตุการณ์สิบสี่ตุลานี่ ก็จะรับรู้ส่วนหนึ่งด้วยตัวเองหรือครับ
คุณพรทิพย์ : พอดีตัวเองอยู่ธรรมศาสตร์ และก็ถามเพื่อนที่อยู่ประชาสัมพันธ์ที่ธรรมศาสตร์ เขาก็จะเล่าให้ฟัง บางทีพวกการเมืองอย่าพูดนะ
ผู้สัมภาษณ์ : หนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่จะมีข่าวอะไรบ้างครับ
คุณพรทิพย์ : จำไม่ได้นะค่ะ ถ้าเป็นตัวเอง clipping ก็จะทราบ ในส่วนงานที่เรารับผิดชอบ งานที่เราทำที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมในตอนนั้น ส่วนมากเพื่อนๆเขาจะมีความคิดเห็นเรื่องการเมืองมากกว่าเรา ก็ฟังเขาคุย บางทีเราก็ไม่ค่อยออกความเห็น เราไม่รู้จะออกความเห็นอะไรในบางครั้ง
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วกับแฟนนี่คุยเรื่องนี้กันบ้างหรือเปล่าครับ
คุณพรทิพย์ : ไม่คุย แฟนเขาก็เรียนอยู่ที่มหิดลนะ เราก็ไม่รู้เหมือนกัน บางทีนั่งกินข้าวด้วยกัน เราก็เห็นเขาเฉยๆนะค่ะ หรือจะมีก็จำไม่ได้ค่ะ เวลาคุยกันเราจะไปบ้านเพื่อน ไปนั่งคุยกันเพราะว่าเรากลัวว่าเพื่อนจะโดนสันติบาลตาม เผอิญเพื่อนเขาเป็นประชาสัมพันธ์ที่ธรรมศาสตร์ เขาจะคอยดูแล เขาอยู่ อมธ. คุณธวัชชัยเป็นประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นะค่ะ ตอนนี้เขาใกล้เกษียณแล้ว เพราะดิฉันก็อายุ 60 แล้ว ก็อยู่ธรรมศาสตร์ พอเรียนจบเขาก็ทำงานที่ธรรมศาสตร์เลย เพื่อนที่ระวังตัวเขาก็จะเล่าว่าเห็นเหตุการณ์ ที่ตึกในธรรมศาสตร์แต่อ้วนจำไม่ได้ เพื่อนเขาจะคุยกันมากเรื่องการเมือง เขาจะคุยกันมันเลยละค่ะ เราก็ได้แต่ฟัง เราก็ตื่นเต้น เข้าไปดูซิหลังจากเขาเคลียพื้นที่แล้ว ใครเป็นอะไรบ้างในธรรมศาสตร์ เราก็เห็นรอยควัน รอยอะไร ควันไฟ เขาก็จะพูดภาพพจน์นี่จะเสียหมดค่ะ มีอะไรอยู่ในหลุม มีอะไรอยู่ใต้ห้องประชุม หอประชุมใหญ่เรา หาว่าเดี๋ยวจะกดระเบิดได้ ก็จะพูดในทางไม่ดี
ผู้สัมภาษณ์ : วันที่ 14 เป็นสอบใช่ไหมครับ
คุณพรทิพย์ : ใช่ค่ะ วันนั้นจำได้เป็นวันสอบวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของอาจารย์มณีมัย นี่ละค่ะ แต่ตอนนี้ไม่ทราบเหมือนกันว่าท่านอายุเท่าไหร่แล้ว ท่านก็เมตตา
ผู้สัมภาษณ์ : สอบเช้าหรือครับ
คุณพรทิพย์ : ไม่แน่ใจ เพราะเข้าห้องสอบไม่ได้ มันสอบไปแล้วหนึ่งวัน สอบ 12 หรือ 13 นี่นะค่ะ
ผู้สัมภาษณ์ : เอาปูนพลาสเตอร์ไปทำอย่างไรครับ
คุณพรทิพย์ : ก็ไม่แน่ใจแต่เพื่อนบอกว่าเขาเอาปูนพลาสเตอร์ไปหยอดรูกุญแจ ตึกมันไม่สวยเหมือนสมัยนี้หรอก ตึกเราโทรม เมื่อก่อนเป็นแผนกหนึ่ง เขาเอาไปหยอดไว้ในรูที่ไขกุญแจ กุญแจก็ไม่สามารถจะไขเข้าไปได้ คือทำวิธีการที่ว่ากุญแจไขไม่ได้ เข้าตึกไม่ได้ก็เดินตามกันไปที่ลานโพธิ์
ผู้สัมภาษณ์ : เขาไม่ได้เอาอะไรมาตัดหรือครับ
คุณพรทิพย์ : ไม่ค่ะ ทำแค่เอาปูนพลาสเตอร์หยอด
ผู้สัมภาษณ์ : หมายถึงว่าส่วนหนึ่งก็ไม่อยากสอบกันอยู่แล้วหรือเปล่า
คุณพรทิพย์ : ก็ไม่ทราบเหมือนกันค่ะ อ้วนก็ไม่ทราบว่าวันนั้นสอบอะไรแต่ว่าอ้วนสอบเสร็จแล้ว หรือว่ายังไม่สอบ หรือว่าเหลือวิชาเดียว อ้วนก็ยังจำไม่ได้ พอเกิดเหตุการณ์นี้ก็ให้กลับไปก่อนแล้วพอสงบก็ให้กลับมาสอบใหม่ จำไม่ค่อยได้
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นพอเข้าไม่ได้ คนเขาอยู่กันเยอะไหมครับ
คุณพรทิพย์ : เยอะมากค่ะ มันจะเยอะมากตรงลานโพธิ์ ทุกคนก็จะเจอกันที่ลานโพธิ์ ไม่รู้เรื่องหรอกว่าเขาทำอะไร ตอนนั้นวันเรียนไงค่ะ
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วเขามีพูดอะไรกันหรือเปล่าครับ
คุณพรทิพย์ : ไม่มีค่ะ ที่เป็นศูนย์กลางก็ตรงลานโพธิ์ เขาจะขึ้นเวที คุณเสกสรร คุณจีระนันท์ หลายคนพูดกันไปที่ลานโพธิ์หน้าคณะเศรษฐศาสตร์นะ
ผู้สัมภาษณ์ : เราก็จะไปสอบ แต่ว่าไม่ได้สอบหรือครับ
คุณพรทิพย์ : ค่ะ ไม่ได้สอบ ก็รู้แล้วละว่าจะมีเหตุการณ์ คือจะรู้มาบ้าง
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วทำไงต่อครับพอไม่ได้สอบแล้ว
คุณพรทิพย์ : ก็ขับรถกลับบ้านสิค่ะ มันวุ่นวาย พ่อแม่ก็เป็นห่วง สมัยนั้นไม่มีมือถือเหมือนตอนนี้
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นมีรถใช้แล้วหรือครับ
คุณพรทิพย์ : ค่ะ มีรถยนต์ค่ะ แต่เพื่อนอีกคนไม่มี แต่ส่วนใหญ่ก็มีรถ และก็กลับเลย ตึกเข้าไม่ได้วันนี้ ไม่เรียน ก็ขับกลับบ้าน แต่ตอนนั้นเพื่อนที่ไม่มีรถก็ไม่แน่ใจว่ากลับไปแล้วหรือว่าช่วยทำกับข้าว เพื่อนเล่ากันนี่ ถึงอยากจะให้เพื่อนเล่าให้ฟังไงค่ะ มีหลายคนค่ะมาช่วยทำกับข้าว ส่งเสบียง เขาจะมีหน่วยอาหาร
ผู้สัมภาษณ์ : พอกลับไปบ้านแล้วทำอะไรครับ
คุณพรทิพย์ : ก็คอยฟังข่าว ตื่นเต้นว่าจะมีอะไร
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นฟังข่าวจากไหนครับแล้วเป็นอย่างไรบ้างครับ
คุณพรทิพย์ : โทรทัศน์ค่ะ ตอนนั้นมีแล้ว มันก็น่ากลัวค่ะ สมัยนั้นเราจะให้ท่านถนอม ท่านณรงค์ลูกชายท่านที่เรากล่าวหาว่าท่านเอาคอปเตอร์มายิงทำร้ายพวกเรา จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้นะค่ะ ว่าท่านณรงค์ กิตติขจรเป็นคนบงการให้ยิงลงมาที่ผู้ชุมนุม อ้วนก็รู้แต่ว่าไม่ได้จริงจัง ในธรรมศาสตร์นี่ศพเกลื่อนเลย
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วภาพในทีวีเป็นอย่างไรบ้างครับ มีคนเจ็บคนตาย อย่างไรบ้าง
คุณพรทิพย์ : ภาพตอนนั้น เท่าที่เห็นก็เห็นมันน่ากลัวนะช่วงนั้น
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นคุณพ่อยังอยู่ใช่ไหมครับ
คุณพรทิพย์ : ยังอยู่ค่ะ คุณพ่อก็คุยกับพวกท่านนายทหาร พรรคพวกท่าน ลูกศิษย์ท่านเยอะไงค่ะ ลูกศิษย์ท่านหลากหลาย โดยเฉพาะท่านนายทหารที่เป็นแบบความมั่นคงภายในนะค่ะ ท่านจะวิจารณ์
ผู้สัมภาษณ์ : มีคนมาขอคำชี้แนะอะไรทำนองนี้บ้างหรือเปล่าครับ
คุณพรทิพย์ : ก็มี คุณพ่อเคยพูดว่าจะเกิดความไม่สงบ เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองการปกครอง ซึ่งท่านดูไว้ก่อนสิบสี่ตุลาแล้วเหตุการณ์ก็เกิดจริงอย่างที่ท่านทำนายไว้ เมื่อเช้าคุณแม่พูดบอกก็เลยมาเรียนให้น้องทราบ คุณพ่อเคยดูไว้แต่เสียดายไม่ได้เก็บหนังสือพิมพ์ฉบับช่วงนั้นไว้ สื่อมวลชนเขาก็สนใจนะค่ะว่าอาจารย์เทพย์ สาริกบุตร ท่านเคยทำนายทายทักไว้ ในเรื่องบ้านเมืองของเรา แต่สมัยนั้นหมอดูไม่ได้มีอิทธิพลเหมือนสมัยนี้ เดี๋ยวนี้มีเยอะมีหลายสำนักด้วย คนก็นิยมกัน
ผู้สัมภาษณ์ : ไม่ได้รับถ่ายทอดวิชามาเลยหรือครับ
คุณพรทิพย์ : ไม่ค่ะ ก็เสียดายค่ะ เพราะว่าคุณพ่อเขาจะอยู่สอนวันเสาร์จะมีทีมงานมา คุณแม่ก็จะทำอาหารมาให้ทาน จะมีท่านดอกเตอร์ที่เป็นศิษย์ประจำ ก็มีพี่คนหนึ่ง
ผู้สัมภาษณ์ : มาเรียนหรือมาทำอะไรครับ
คุณพรทิพย์ : มาเรียนค่ะ มาแชร์ไอเดีย ซึ่งคุณพ่อมีลูกชายตอนนั้นอยู่สำนักงบฯและก็มีเพื่อนคนหนึ่งตอนนั้นอยู่ที่สำนักงบฯ เป็นเพื่อนกับลูกคุณพ่อ คุณพ่อจะมีภรรยาแรกและก็มีลูกสามคน ลูกชายก็เป็นราชการ คนหนึ่งอยู่สำนักงบฯและก็พาท่านดอกเตอร์โกร่งมา คุณพ่อก็ชอบ ชอบคุยกับพวกดอกเตอร์ค่ะ ก็มีคุณหมอ ตอนนี้ก็สิ้นไปหมดแล้ว มีคุณหมอที่มีภรรยาเป็นนางสนองพระโอษฐ์มาบ่อยที่สุด คุณพ่อจะเป็นที่รวมค่ะ ลูกศิษย์ท่านเยอะค่ะ
ผู้สัมภาษณ์ : วันที่ 14 กลับมาดูทีวีอยู่บ้าน ดูกับคุณพ่อหรือว่าดูคนเดียวครับ
คุณพรทิพย์ : ส่วนมากทีวีก็จะอยู่ตรงกลางนะค่ะ ซึ่งเราไม่ได้สนใจและไม่เอาไหนเลยเรื่องการบ้านการเมือง
ผู้สัมภาษณ์ : คิดว่าถ้าดูกับคุณพ่อ คุณพ่อจะวิจารณ์ให้ฟัง อย่างนี้ครับ
คุณพรทิพย์ : คุณพ่อจะพูดเก่งนะค่ะ เพราะว่าคุณพ่อจะมีแขกมาเยอะ วันหนึ่งหัวกระไดบ้านไม่แห้งหรอกค่ะ คนมาคุยเยอะแขกท่านเยอะ ท่านสมัครยังเคยไปเลย คุณสมัครจะเป็นนายก พ่อบอกว่าดวงจะเป็นนายกรัฐมนตรีนะ ท่านสมัครยังบอกเลยว่าอาจารย์เทพย์เคยทำนายไว้ ก็ยังดีนะค่ะที่ยังนึกถึงคุณพ่อ ช่วงนั้นท่านเป็นผู้ว่า กทม. ก่อนแล้วอยู่ๆก็เป็นนายกแป็บหนึ่งใช่ไหมค่ะ คุณพ่อจะเป็นที่รวมของข่าวเรื่องการเมือง คุณพ่อจะมีความคิด มากกว่าเรา ฟังจากลูกศิษย์ลูกหา ผู้ชำนาญต่างๆหลากหลายสาขา บ้านเราเป็นที่รวมเรื่องการเมืองนะค่ะ แต่เราไม่เอาไหนเราไม่สนใจ คงเป็นเพราะมีแฟนมีอะไรทำนองนี้นะค่ะ ก็เลยไม่สนใจ ถ้าเราสนใจหน่อยก็คงจะเข้มแข็งเรื่องการเมืองมากกว่านี้
ผู้สัมภาษณ์ : ก็คือพอเหตุการณ์วันที่สิบสี่พี่ก็กลับบ้านแล้วก็ตามข่าว แล้วพอเย็นวันนั้นนี่เหตุการณ์สงบก็กลับไปธรรมศาสตร์ หรือครับ
คุณพรทิพย์ : วันสองวันก็จำไม่ได้แล้วนะค่ะว่าไปกันตอนไหน ไปนัดเจอกับเพื่อนๆ เราก็กลับไปดูว่ามหาวิทยาลัยเราเป็นอย่างไรบ้าง เราก็ไม่เห็นกลัวอะไรเลย
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นสภาพมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไรบ้างครับ
คุณพรทิพย์ : มันก็ไม่สวยค่ะ มันก็ไม่เหมือนเดิม จะมีตรงนั้นตรงนี้พัง ไปดูกันคิดว่าจะเจออะไรก็ไม่รู้ คิดว่าเป็นคำร่ำลือนะค่ะ เราก็ผ่านๆเข้าไปดูให้ลึกซึ้ง
ผู้สัมภาษณ์ : ไปกันเยอะไหมครับ
คุณพรทิพย์ : เพื่อนๆเราประมาณ 7-8 คน ที่เรียนด้วยกันและก็รักกัน
ผู้สัมภาษณ์ : หลังจากนั้นก็สอบจนเสร็จหรือเปล่าครับ
คุณพรทิพย์ : รับปริญญา ตอนนั้นเราจบแล้วค่ะ
ผู้สัมภาษณ์ : มันต้องมีเทอมสองหรือเปล่าครับ
คุณพรทิพย์ : ไม่แน่ใจ ตอนนั้นอยู่ในเทอมไหนก็ไม่รู้
ผู้สัมภาษณ์ : เพราะว่าสิบสี่ตุลามันน่าจะเป็นปลายๆเทอมหนึ่งอะไรอย่างนี้นะครับ
คุณพรทิพย์ : จำไม่ได้แล้วค่ะ จบแล้วเราก็ไม่เคยไปสัมผัสอีกเลย จบแล้วนะค่ะ แต่ไม่ได้เข้าไปอีกเลย สอบเสร็จแล้วก็เหลือคนที่ซ่อมเพื่อที่จะรับปริญญาด้วยกัน
ผู้สัมภาษณ์ : พอจบเหตุการณ์ก็เรียนจบพอดี แล้วหลังจากนั้นไปทำงานอะไรครับ
คุณพรทิพย์ : ตอนนั้นแต่งงานก่อนค่ะ ลูกศิษย์ท่านอยู่สำนักงบประมาณ ท่านก็พาเราไปฝากไว้ที่กรมประชาสัมพันธ์ เรียนจบแล้วก็แต่งงานเลย ตอนนั้นกรมประชาสัมพันธ์ยังไม่โดนทำลาย สิบสี่ตุลายังคงอยู่เหมือนเดิม ทำงานที่นั่นก่อน
ผู้สัมภาษณ์ : ยังอยู่อีกหรือครับ
คุณพรทิพย์ : ยังอยู่ค่ะ สมัยคุณสุจินดามั้งค่ะ ดิฉันก็จำไม่ได้ค่ะ ดิฉันจะรู้เฉพาะตอนเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 อ้วนก็ทำงานตึกนั้นละค่ะ ตึกที่ตอนนี้เป็นที่ออกล๊อตเตอรี่นะค่ะ ตอนนั้นยังสวยงาม ยังโบราณอยู่ มีนาฬิกา ตรงข้ามกับโรงแรมรัตนโกสินทร์ เราทำงานตึกนั้นชั้น 3 นะค่ะ เป็นตึกโบราณ ยังอยู่ใกล้ธรรมศาสตร์อยู่ คุณพ่อท่านก็ฝากให้ตอนอยู่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จำได้ว่าไปสัมภาษณ์คุณหมอที่กระทรวงสาธารณสุข ก็ยังอยู่ที่นั่น เพื่อนๆเขาก็ย้ายไปอยู่ที่วิภาวดี หลังจากที่โดนทำร้ายพร้อมกรมสรรพากร ที่โดนเผานะ ตอนนั้นโดนเผาหรือยังก็ไม่รู้ กองสลากด้วยค่ะ กองสลากก็มีสำนักงานใหญ่ของเขา ก็จะอยู่ติดกับกรมสรรพากรเลยค่ะ กรมสรรพากรตอนนี้ก็ไปอยู่ในเขตกรมประชาสัมพัธ์และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่อยู่ซอยอารีย์ เช่นกัน
ผู้สัมภาษณ์ : พอหลังเหตุการณ์ข่าวสารที่ได้รับที่บอกว่าไม่ค่อยดีเลย เป็นอย่างไรบ้างครับ
คุณพรทิพย์ : ก็เรียกว่า เหมือนเราเป็นที่ซ่องสุม
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นจบแล้ว แล้วเราได้ยินข่าวทางทีวีหรือครับ
คุณพรทิพย์ : จบแล้วค่ะ แต่ว่าเราก็ต้องถามเพื่อน เขาทำงานอยู่ที่ธรรมศาสตร์ เขาจะพูดให้เราฟัง เจอกันบ่อยกับโย่ง ธวัชชัย ก็ไม่มีอะไรก็แฮปปี้ดีค่ะ ตึกอะไรก็สร้างใหม่ ก็ดีในตอนหลังธรรมศาสตร์ก็ไม่มีอะไร แต่ตอนเหตุการณ์สิบสี่ตุลามันดูน่ากลัว มีคอปเตอร์ลงมายิงแต่เราไม่เห็นเหตุการณ์หรอกได้ยินจากข่าว
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วพอจะทราบหรือเปล่าครับ พอหลังจากเหตุการณ์ก็มีชาวบ้านจากต่างจังหวัดมาร้อง เหมือนกับธรรมศาสตร์เป็นที่ว่าการอำเภอ มีชาวบ้านมาร้องให้นักศึกษา เคยได้ยินข่าวสารนี้บ้างหรือเปล่าครับ
คุณพรทิพย์ : อาจจะเคยแต่ว่าจำไม่ได้ค่ะ แต่ว่าตอนที่เราทำงานแล้ว เราก็ยังมีไปใช้หอประชุมที่ธรรมศาสตร์ หอประชุมใหญ่บ้างหอประชุมเล็กบ้าง เคยมาจัดงานของเอ็นจีโอ ที่กรมอ้วนจะมีเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อม ประชุมใหญ่สมัชชาเรื่องสิ่งแวดล้อม
ผู้สัมภาษณ์ : ปีไหนครับ
คุณพรทิพย์ : ปี 38 หรืออะไรนี่ค่ะ เราก็จะใช้ธรรมศาสตร์ของเราเป็นที่ประชุม เพราะว่าตอนนั้นยังไม่มีที่ประชุมกรมประชาสัมพันธ์ ยังไม่มีเมืองทอง ยังไม่มีอิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี ธรรมศาสตร์เราจะเป็นที่ที่ท่านที่จะมาประชุมในจำนวนเยอะ เราก็จะมีห้องประชุมไว้รองรับ ก็ดีใจเราเคยเรียนที่นี่ เราเคยมาหอประชุมใหญ่ตอนที่ในหลวงมาทรงดนตรี และก็ภูมิใจพระองค์ภา ก็มาเรียนที่คณะนิติศาสตร์ก็เลยภูมิใจใหญ่ ก็โอเคอยู่ในสถานะ สภาพเดิม ก็ขอให้ติดตามข่าวไปเรื่อยๆ มีห้องประชุมสวยงาม ท่านอาจารย์ป๋วย คือไม่ทันรุ่นอาจารย์ป๋วย มีรุ่นพี่ทัน รุ่นพี่ที่เคยอยู่ที่สิ่งแวดล้อมด้วยกัน เขาจบจากเศรษฐศาสตร์คนหนึ่ง จบจากสังคมศาสตร์คนหนึ่ง แต่สมัยก่อนเขาไม่สอบเข้า พี่คนนี้เขาก็เข้าเอง หมายถึงว่าพี่เขาไปทำงานสภาพัฒฯ แต่พอเป็นสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเขาโอนจากสภาพัฒน์ฯ มาอยู่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม มีพี่ๆ หลายคนที่จบและเป็นศิษย์เก่าธรรมศาสตร์
ผู้สัมภาษณ์ : ถ้า ณ วันนี้ให้มองย้อนไปถึงเหตุการณ์สิบสี่ตุลา ภาพที่นึกขึ้นมาได้ทันทีเลยนี่ คือภาพอะไรครับ เป็นความประทับใจหรือว่าเป็นความรู้สึกที่ว่าพอพูดถึงเหตุการณ์นี้มันจะรู้ทันทีเลยว่ามันต้องเป็นแบบนี้นะครับ
คุณพรทิพย์ : เป็นเพราะเราไม่ได้ร่วมเหตุการณ์เราขับรถกลับนะสิค่ะ เราจะเห็นเฉพาะตอนที่เขามาประชุมใหญ่กันตรงลานโพธิ์ จะรู้ว่าตึกเราโดนเอาปูนพลาสเตอร์มาหยอดให้ไขกุญแจไม่ได้ ก็ไม่มีใครไปเปิดหรอก เข้าไม่ได้ก็อย่าเข้าสิ ไม่เห็นมีใครทำอะไรเลย
ผู้สัมภาษณ์ : ได้ไปฟัง ไปดูบ้างหรือเปล่าครับ
คุณพรทิพย์ : ยังไปค่ะ น้องไปทำปริญญาโท ยังไปเป็นที่ปรึกษา ไปเป็นอาจารย์ที่เขาจะต้องไปสัมภาษณ์น้องก่อนจะจบนะค่ะ มีทั้งอาจารย์ที่เป็นหัวหน้าภาคของเรา แล้วเราก็ไป ก็โอ้โหมหาลัยของเรามีห้องเหมือนธนาคารกรุงเทพด้วย น่านั่งจัง สวยงาม ห้องสมัยเรียนไม่เป็นแบบนี้เลย เดี๋ยวนี้ทันสมัย ห้องสมุดก็ทันสมัย มีอะไรดีกว่าสมัยเรา สมัยนั้นมันแบบโบราณๆ ลิฟก็มีน้อยแต่สมัยนี้สวยจัง มีโอกาสกลับไปอีก
ผู้สัมภาษณ์ : สมัยนั้นนิสิตนักศึกษาใช้ลิฟได้ไหมครับ
คุณพรทิพย์ : ไม่แน่ใจค่ะ เพราะส่วนใหญ่จะใช้บันได เราเรียนชั้น 1 ค่ะ และก็ห้องสมุดอยู่ชั้น 2 ห้องน้ำก็มีในชั้น เราไม่ต้องใช้ลิฟค่ะ
ผู้สัมภาษณ์ : รุ่นผมนี่อาจารย์ใช้ได้ นักศึกษาใช้ไม่ได้
ผู้สัมภาษณ์ : ก็คือหลังเหตุการณ์ก็ใช้ชีวิตปกติ แล้วหลังจากนั้นทราบเกี่ยวกับเหตุการณ์หกตุลาหรือเปล่าครับ
คุณพรทิพย์ : ก็เฉยๆค่ะ หกตุลาปีไหนค่ะ
ผู้สัมภาษณ์ : 6 ตุลา 19 ครับ ปีที่มีการล้อมฆ่านักศึกษาในธรรมศาสตร์
คุณพรทิพย์ : ตอนนั้นน่ากลัวค่ะ แต่ไม่เกี่ยวกับโรงแรมรอยัลรัตนโกสินทร์ใช่ไหมค่ะ
ผู้สัมภาษณ์ : อันนั้นสมัยสุจินดาครับ
คุณพรทิพย์ : น่ากลัวค่ะ ตอนนั้นก็มีวิดีโอที่เขาแจกมา ขอเขามา อันนั้นน่ากลัวค่ะ เพราะเราจะประทับใจงานของเรามากกว่า เป็นของนักศึกษา มีเสาวนีย์ มีคุณธีรยุทธแล้วคุณอะไรที่เป็นหัวหน้านะค่ะ เราจะจำแม่นเพราะว่าเป็นช่วง 14 ตุลา 2516 พอมา 19 ก็เฉยๆแล้ว เพราะว่ามันไม่ใช่แล้ว
ผู้สัมภาษณ์ : ที่ทำงานอยู่ใกล้หรือเปล่าครับ
คุณพรทิพย์ : ไม่ใกล้ค่ะ คืออ้วนอยู่กรมประชาสัมพันธ์แค่ปีเดียวเอง แล้วอ้วนก็โอนมาอยู่สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ไปอยู่แถวอาคารสุริโยทัย ใกล้ๆช่อง 5 ไปอยู่แถวสนามเป้าแล้ว ไกลไป เราจะจำสมัย 2516 แต่ก็ไม่ชอบใจนะ ที่ธรรมศาสตร์ด้วย ก็มานั่งคุยกับเพื่อนที่ทำงานที่ธรรมศาสตร์ มีคนตายอย่างนี้นะค่ะ รู้สึกจะปี 19 นะค่ะที่สันติบาลมาประกบพวกเรา เพราะว่าโดนต้อนไป เพื่อนเขาเล่าความไม่ดีของพวกตำรวจนะค่ะ คือทำปู้ยี้ปู้ยำ น้องผู้หญิง เพื่อนเล่าให้ฟังตอนนั้นไปทานข้าวบ้านเพื่อน เรามีสิทธิ์คุยไงเพราะว่าเราไม่มีใครตามมา เราปิดบ้านคุยกัน ปี 19 ฯละค่ะ เพราะเราจะเจอกันบ่อย แต่ตอนนี้ไม่ได้เจอแล้ว
ผู้สัมภาษณ์ : หลัง 19 ก็ยังได้เจอเพื่อนแล้วเพื่อนก็เล่าให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง อย่างนี้หรือครับ
คุณพรทิพย์ : ใช่ค่ะ โดยเฉพาะเพื่อนที่ธรรมศาสตร์ เพิ่งจะโดนต้อนขึ้นรถไปด้วยหรือว่าอย่างไรนี่ละค่ะ เพราะว่าตอนนั้นเพื่อนต้องดูแลงานประชาสัมพันธ์ เพื่อนเป็นผู้ชายเขาก็สะดวกและก็มาเล่าให้ฟัง
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นเพื่อนเป็นเจ้าหน้าที่ของธรรมศาสตร์หรือครับ
คุณพรทิพย์ : ค่ะ เป็นเจ้าหน้าที่ของธรรมศาสตร์นี่ละค่ะ เพื่อนจะส่งข่าว คือเขาต้องรับผิดชอบอยู่ที่นั่น เขาเป็นข้าราชการ เธอทำงานดูแลอยู่ธรรมศาสตร์ เธอก็ต้องอย่าหนีไปไหน เขาจะมาเล่าให้เราฟัง แล้วก็ในปี 2519 ก็จะไม่อะไรแล้ว
ผู้สัมภาษณ์ : ไม่ทราบว่าพี่พอจะให้ความเห็นได้ไหมครับกับเรื่องเหตุการณ์ปัจจุบันในทัศนะมุมมองการเมืองในปัจจุบัน มันเป็นอย่างไรอะไรทำนองนี้นะครับ
คุณพรทิพย์ : อ้วนไม่ค่อยมีความคิดเห็นแต่อ้วนคิดว่า เดี๋ยวก็เหลืองเดี๋ยวก็แดง คนที่อยู่ข้างเสื้อเหลืองก็ไม่ชอบเสื้อแดง และก็หาว่าคุณทักษิณอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ถ้าไปอีกกลุ่มหนึ่ง บางคนเขาก็จะอยู่ข้างคุณทักษิณ เราเป็นกลางนะ เราไม่คุยการเมือง เดี๋ยวจะตบตีกัน เดี๋ยวโดนไล่จากแท็กซี่
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนี้มีกี่สีแล้วผมก็ไม่รู้ ก็มีสีขาวอีก หยุดทำร้ายประเทศไทย
คุณพรทิพย์ : มีสีดำอีก แต่สีดำเป็นพฤษภา สีน้ำเงิน ปวดหัวค่ะ การเมืองบางคนเขาก็บอกว่าเบื่อ เพราะเราไม่ได้เป็นอะไรกับนักการเมือง เราไม่ได้เดือดร้อน ใครจะเป็นอะไร ใครจะใหญ่ขึ้นมา เราก็จะเป็นประชาชนเหมือนเดิม เราก็ยังมีญาติ มีพรรคพวก
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วคิดอย่างไรครับ ที่สังคมไทยมันผ่านเหตุการณ์รุนแรง หลายครั้งมาก
คุณพรทิพย์ : ตอนนี้สภาของเรามันแย่กว่าไต้หวันนะ เราก็ยังมีนะค่ะประชุมกันจะต่อยกันยังต้องห้ามเอาไว้ ทีแรกเราไปหัวเราะเยาะไต้หวัน ตอนนี้เรายิ่งแย่กว่าเขาอีก โดยเฉพาะข่าวพวกนี้ไปเร็วนะคะ ระบบสื่อสารเราเร็ว ก็ไม่รู้นะค่ะมาเจอกับบ้านเรานี่ ไม่คิดว่าแบบนี้มันก็เกินไปแล้ว แต่ก็รักในหลวงนะค่ะ บางทีก็หาว่ามาเข้าข้างเหนือหัว เราไม่รู้แล้วแต่จะกล่าวหา เราไม่รู้จะพูดอย่างไร บางคนเขาชอบอันนี้ บางคนชอบอันนั้น เราเป็นกลาง เราก็ฟังเขาพูด
ผู้สัมภาษณ์ : ปัจจุบันนี้รับแหล่งข้อมูลจากไหนบ้างครับ
คุณพรทิพย์ : ส่วนใหญ่รับทีนิวส์และก็ดูข่าว
ผู้สัมภาษณ์ : ทีนิวส์นี่เป็นอะไรครับ
คุณพรทิพย์ : เป็น sms และส่งผ่านมือถือ เราจะรู้เร็วค่ะ และก็อ่านหนังสือพิมพ์ทุกวัน ข่าวสังคม เราจะรับสองหัว ซื้อแนวหน้า อังคารกับเสาร์ เพราะว่ามีรุ่นพี่แล้วเรามีเพื่อนเป็นคอลัมนิสต์ อันนี้อ่านห้องสมุด แต่ตอนนี้ไม่ได้ทำงานเลยไม่ได้เข้าห้องสมุด ที่ห้องสมุดจะมีทุกเล่มแล้วเราก็เข้าไปอ่านหมด เปิดดู แนวหน้ากับไทยรัฐ และก็สกุลไทย ข่าวสังคม ก็จะเป็นสายให้เขา พิมพ์ๆกับคอมพิวเตอร์และก็ส่งแฟกซ์ไป หน้าสังคมของสกุลไทย หน้าสังคมสองวันของแนวหน้า ของไทยรัฐนี่ดูข่าวสังคมซุบซิบ ตอนนี้ก็จะเป็นคุณคัทลียาหรือเป็นคุณน้องผู้หญิงคนใหม่
ผู้สัมภาษณ์ : เขาให้ค่าตอบแทนไหมครับ
คุณพรทิพย์ : ไม่ค่ะ มีแต่เราให้เขา มีเวลาวันเกิด ญาติเขาเสีย ลูกเขาเป็นอย่างไร เราก็ไปแสดงความยินดีมีสิ่งเล็กๆน้อยๆ เป็นสื่อน้ำใจ ไม่มีใครมาให้เรา เป็นอาสาสมัคร เป็นจิตสาธารณะ ที่จะช่วยเขาเราไม่ได้อะไร พอมีอะไรเราก็ส่งการ์ดส่งของไป หรือบางทีถ้ามีโอกาสเราก็จะเอาไปให้ด้วยตัวเอง ไม่มีได้อะไรจากใคร เราก็ภูมิใจ
ผู้สัมภาษณ์ : อินเตอร์เน็ตอะไรตอนนี้ได้เข้าหรือเปล่าครับ
คุณพรทิพย์ : ตอนนี้ย้ายบ้านไปอยู่คู้บอน ไปติดต่อแล้วมันบอกว่าต้องรอ เพราะว่ายังไม่มีเครือข่ายของ ทศท. มือถือก็ใช้ไม่ได้ค่ะ แต่ไปขอแล้ว ขอของทีโอที ก็จะขอติดอินเตอร์เน็ตด้วยก็เลยแจ้งความจำนง ตัวเองก็มีโน๊ตบุค แต่ว่าลำบากเพราะเราก็เป็นคนแก่ พิมพ์ เขียน ส่ง ทางแฟกซ์ แต่ถ้าสนิทกับคอลัมนิสต์ก็จะใช้โทรเอา สะกดชื่อให้ถูกต้องก็ใช้อย่างนี้ สื่อสารกันได้เร็วขึ้น ดีกว่าสมัยก่อนเยอะ สมัยก่อนนานค่ะกว่าจะรู้เรื่อง
จบการสัมภาษณ์
|