บทสัมภาษณ์ -
สามารถ วงศ์นิยม วันที่ 1 พฤษภาคม 2552 เวลา : 15.45น. สถานที่ สำนักทนายความสามารถ วงศ์นิยม จ.นครราชสีมา ผู้สัมภาษณ์ : โชติศักดิ์ อ่อนสูง ตามโครงการของมูลนิธิ 14 ตุลา ในการรวบรวมปากคำของคนที่อยู่ในเหตุการณ์ เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลเพื่อการศึกษาต่อไป ผู้สัมภาษณ์ : เกิดปีอะไรก่อนคร่าวๆ ก่อนแล้วกันครับ สามารถ วงศ์นิยม : ผมเกิดเมื่อวันที่28 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ที่อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด ซึ่งสมัยนั้นเกาะช้างก็เป็นชนบท เรียกว่าเป็นชนบทบ้านนอกไม่ได้เจริญเหมือนกับปัจจุบันนี้ ผู้สัมภาษณ์ : เกาะช้างหมายถึงไปอยู่เกาะจริงๆ เลยหรือครับ สามารถ วงศ์นิยม : อยู่เป็นเกาะจริงๆเลย เดียวนี้มันบูมมันเจริญมาก แต่สมัยนั้นเนี่ยถือว่าเป็นชนบทที่ถือว่าค่อนข้างจะล้าหลัง ผมเกิดในครอบครัวที่มีบิดา มีเชื้อสายเป็นคนจีน ในยุคนั้นพอจำความได้ก็รู้ว่า บิดาที่มีเชื้อสายจีนนั้นก็ถูกแรงกดดัน จากฝ่ายผู้มีอำนาจของรัฐอย่างเช่นว่า ขู่ว่าจะเนรเทศ คนจีนกลับประเทศจีนบ้าง ห้ามมิให้ใช้แซ่บ้าง ดูเหมือนกับว่าไม่ค่อยได้รับความเป็นธรรมเท่าไหร่นัก แต่ก็ต้องอดทนกัน อำเภอเกาะช้างสมัยนั้นเนี่ยค่อนข้างกันดาน เวลาที่จะข้ามมาแผ่นดินใหญ่ คือที่อำเภอแหลมงอบนั้นจะต้องนั่งเรือโดยสารซึ่ง สมันนั้นเป็นเรือไม้ ใช้เวลานั่งประมาณ 1ชั่วโมง ซึ่งต่างจากสมัยนี้ที่เป็นเรือเฟอรี่ สมัยนี้ก็เจริญมากกว่าสมัยนั้น คนละเรื่องคนละราวแล้วล่ะ ผู้สัมภาษณ์ : เกาะช้างนี่มันใหญ่ขนาดไหนยังไงครับ พอดีผมไม่มีความรู้เรื่องเกาะช้างเลย สามารถ วงศ์นิยม : เกาะช้างนี่จำพื้นที่ไม่ได้แต่ทราบว่าเป็นเกาะที่ใหญ่อันดับสองรองจากเกาะภูเก็ต แต่จำจำนวนพื้นที่ไม่ได้ ผมก็เป็นเด็กบ้านนอกแต่ได้รับการกระตุ้นจากมารดาแล้วก็ได้กลายเป็นเด็กที่ทะเยอทะยาน ผู้สัมภาษณ์ : กระตุ้นยังไงครับ สามารถ วงศ์นิยม : กระตุ้นให้มุ่งที่จะเรียนให้สูงๆจะได้พ้นจากความยากลำบาก ผู้สัมภาษณ์ : แม่นี่เป็นคนไทยหรือเปล่าครับ สามารถ วงศ์นิยม : แม่เป็นคนไทย ผู้สัมภาษณ์ : แล้วตอนนั้นนี่พ่อไม่มีสัญชาติไทยหรือครับ สามารถ วงศ์นิยม : ไม่มีสัญชาติไทย เป็นคนจีนมาจากเมืองจีน ผู้สัมภาษณ์ : พอแต่งงานแล้วไม่ได้สัญชาติไทย? สามารถ วงศ์นิยม : ก็ รู้สึกสมัยนั้นยังไม่ได้ ยังไม่ได้สัญชาติไทยนะ ผู้สัมภาษณ์ : มีพี่น้องกี่คนครับ สามารถ วงศ์นิยม : มีพี่น้องทั้งหมด7คน เอ่อผมเป็นคนที่6 แต่พี่น้องทั้ง5คนเสียชีวิตไปหมดแล้ว เพราะว่าในยุคที่ผมเติบโตมานั้นสาธารณสุขยังไม่ค่อยที่จะเจริญก้าวหน้า ที่เกาะสมัยนั้น ยังไม่ได้ยกฐานะเป็นอำเภอ ก็มีไข้มาเลเลีย แพร่ระบาดหนักรุนแรงมาก พี่ผมห้าคนก็เสียชีวิตด้วโรคไข้มาเลเรีย ผู้สัมภาษณ์ : ตั้งแต่เด็กๆ? สามารถ วงศ์นิยม : ครับ ก็เหลือผมกับน้องสาว อีกสองคน เสร็จแล้วด้วยแรงที่แม่กระตุ้นให้มุ่งมั่นในการเรียนหนังสือนั้น ผมก็ข้ามฝังมาแผ่นดินใหญ่ มาพักที่อำเภอแหลมงอบ ผู้สัมภาษณ์ : อันนี้ตอนเรียนไหนครับ สามารถ วงศ์นิยม : เรียนจบประถมปีที่สี่แล้ว ผู้สัมภาษณ์ : แล้วตอนเรียนประถมล่ะครับ สามารถ วงศ์นิยม : ประถมก็เรียนที่บนเกาะช้างนั่นเอง ผู้สัมภาษณ์ : แล้วตอนนั้นบนเกาะมีพวกข้าราชการ อนามัยโรงเรียน? สามารถ วงศ์นิยม : โรงเรียนมีแล้ว แต่ส่วนข้าราชการอันอื่นไม่มี ถึงว่ามันค่อนข้างจะกันดาร ไม่เหมือนสมัยนี้ สมัยนี้มีอนามัย มีโรงพยาบาล แล้วเดี๋ยวนี้มีชุมชน เหมือนกับเกาะสมุยหรือเกาะภูเก็ตไปแล้ว ตอนนั้นเรายังอยู่ในยุคยังกันดารยังลำบาก ผู้สัมภาษณ์ : แล้วคนที่อยู่บนเกาะคนในพื้นที่เป็นคนไทย? สามารถ วงศ์นิยม : คนพื้นที่เป็นคนไทย ผู้สัมภาษณ์ : แล้วทางครอบครัวของพี่ทำอาชีพอะไร? สามารถ วงศ์นิยม : ก็อาชีพ เอ่อ รับจ้างเป็นส่วนใหญ่ แล้วก็ทำสวนบ้างเล็กน้อยเพราะว่า คนจีนถูกจำกัดไม่ให้มีที่ดิน ก็เพียงแต่ทำการเกษตร ปลูกเงาะปลูกทุเรียนบ้างเล็กน้อย ผู้สัมภาษณ์ : บนที่ของแม่ด้วยหรือเปล่า สามารถ วงศ์นิยม : ครับๆ บนที่ดินของแม่ ผู้สัมภาษณ์ : แล้วที่พ่อไปโดนตำรวจขู่อะไรนี่ หมายถึงไปทำงานข้างนอก หรือพี่เคยเห็นเรื่องนี้ไหมครับ สามารถ วงศ์นิยม : ก็ตำรวจเวลาไปติดต่อทางราชการ อาจจะไปต่อทะเบียนต่างด้าว ต้องไปต่อที่สถานีตำรวจ ตำรวจก็จะขู่มาอะไรอย่างนี้นะครับ หรือเวลาที่ตำรวจข้ามมาตรวจงานตรวจอะไรที่เกาะก็จะขู่อย่างนี้เสมอ บางทีตำรวจมาก็ต้องหลบ เตี่ยผมก็ต้องหลบไม่ให้ตำรวจเห็น ผู้สัมภาษณ์ : แล้วทีนี้พอมาเรียนในเกาะยาว? (บนแผ่นดินใหญ่) สามารถ วงศ์นิยม : เรียนผมก็ใช้ความมานะพยายาม อยู่วัดบ้างรับใช้พระ แล้วก็เรียนไปอยู่วัดไปรับใช้พระไป จนกระทั้งจบ มัธยมปีที่หกพอจบป.4ก็ต่อม.1ม.1ถึง ม.3 แล้วก็ ม.4ถึง ม.6 ที่จังหวัดตราด ผู้สัมภาษณ์ : ม.ต้นกับ ม.ปลาย นี่โรงเรียนเดียวกันหรือเปล่าครับ สามารถ วงศ์นิยม : ไม่โรงเรียนเดียวกัน ม.1ถึง ม.3 นี่โรงเรียนมัธยมแหลมงอบ ม.4 ถึง ม.6 นี่โรงเรียนการช่าง ในตัวจังหวัด ผู้สัมภาษณ์ : แล้วระหว่างนั้นก็พักกับที่วัดบ้างอะไรประมาณนี้? สามารถ วงศ์นิยม : อยู่กับญาติบ้าง ช่วยเขาทำงาน ช่วยเขาทำงานตอนเย็นอย่างเนี่ยนะฮะ ช่วยทำงานบ้านอย่างเช่นว่า ช่วยเขาหุงข้าวทำกับข้าว ตักน้ำ ถูบ้าน สารพัด นะครับ ผู้สัมภาษณ์ : แล้วพอมาอยู่ในตัวจังหวัดแล้วอะไรอย่างนี้สภาพทั้งที่อำเภอ ที่จังหวัด สมัยนั้นสภาพเป็นยังไงครับ สามารถ วงศ์นิยม : สมัยนั้นจังหวัดตราดก็ยังไม่เจริญเหมือนสมัยนี้การคมนาคมค่อนข้างจะไม่สะดวก เพราะเป็นจังหวัดที่ติดชายแดนเป็นจังหวัดสุดท้ายทางภาคตะวันออก ที่จะติดต่อกับประเทศเขมร สมัยนั้นก็เหมือนว่าเป็นเมืองปิด เป็นเมืองสุดท้าย แล้วก็ยังไม่ได้รับการส่งเสริมเป็นเมืองท่องเที่ยวเหมือนกับปัจจุบัน ผู้สัมภาษณ์ : เมื่อก่อนไม่มีไฟฟ้าแน่นอนแต่ในตัวจังหวัด? สามารถ วงศ์นิยม : ในจังหวัด ในเขตเทศบาลมีอยู่ ผู้สัมภาษณ์ : แล้วเรื่องทีวี วิทยุการสื่อสาร หนังสือพิมพ์ อะไรอย่างนี้ สามารถ วงศ์นิยม : ไม่สะดวก การสื่อสารมวลชน อะไรอย่างนี้ไม่สะดวกส่วนใหญ่จะฟังจากวิทยุเป็นส่วนใหญ่ หนังสือพิมพ์ต้องข้ามวัน หนังสือพิมพ์จากกรุงเทพหรือส่วนกลาง ออกวันนี้พรุ่งนี้ถึงจะได้อ่านอะไรอย่างนี้ ไม่ได้วันต่อวัน ไม่ค่อยอัพเดทเท่าไหร่หรอก ไม่ได้ทันสมัยเท่าไหร่ ผู้สัมภาษณ์ : ที่นี้พอมาเรียนในตัวจังหวัดนี้เรียนอะไรนะครับ สามารถ วงศ์นิยม : โรงเรียนการช่าง ผู้สัมภาษณ์ : เรียนสาขาอะไรครับ สามารถ วงศ์นิยม : ก็ มันเรียนรวบรวม ตอนนั้นยังไม่แยกเป็นช่างไม้ ช่างยนต์ ช่างกลโรงงานอะไรไม่ได้แยกนะครับ เรียนรวม ผู้สัมภาษณ์ : คือเรียนทุกอย่าง สามารถ วงศ์นิยม : เรียนทุกอย่าง ผู้สัมภาษณ์ : พอจบจากที่นั่นแล้วทำอะไรต่อครับ สามารถ วงศ์นิยม : พอเรียนจบจากที่นั่นแล้วก็เข้ากรุงเทพ ก็ความตั้งใจ ก็เห็นว่าเป็นคนบ้านนอกคนหนึ่ง ก็พอดีมี ญาตินะ อยู่ที่กรุงเทพ เขามีอาชีพเป็นช่างไฟฟ้า ที่เก่ง แต่อย่าไปเอ่ยสถานที่หรือชื่อเขา แต่ว่าเขาถือว่าประสบความสำเร็จ เราเห็นว่าเขาเก่งเราเลยอยากจะไปขอฝึกวิชาช่างไฟฟ้า แล้วก็ตั้งใจว่า เดี๋ยวเราเก่ง เราจะซ่อม วิทยุ โทรทัศน์ เตารีด เตาไฟฟ้าอะไรพวกนี้เป็นต้น แล้วเราก็จะมาเปิดร้านที่จังหวัดตราด ซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้า หาเลี้ยงชีพ ก็ตั้งเป้าหมายไว้ตอนแรกเพียงเท่านั้น แต่ว่าสิ่งที่เราไปขอพบเค้าก็คือว่า ญาติเขาก็บอกว่า เขามีภาระมาก มีลูก มีภรรยาที่จะต้องเลี้ยงดู เขาไม่สามารถที่จะอุปการะเลี้ยงดูเราได้หรือไม่สามารถที่จะช่วยเหลือเราได้ว่างั้นเถอะ ผมก็น้อยใจ แต่นึกไม่ออกว่าตอนนั้นจะไปที่ไหนแต่ในใจก็ทะเยอทะยานเรื่อยไป เลยคิดว่าญาติเขาไม่สนับสนุนเราเขาไม่ช่วยเหลือเราก็ไปสอบเข้าโรงเรียนช่างกลนนทบุรี ช่างกลปทุมวัน ช่างกลพระนครเหนือก็กลัวว่าไม่มีเส้นสายอะไรที่จะสู้เขาก็เลยไปโรงเรียนช่างกลนนทบุรีไปสอบเข้าก็ได้ที่หนึ่ง ผู้สัมภาษณ์ : อันนั้นนี้ หมายถึงว่ารู้ข่าวการไปสอบเข้าได้ยังไง สามารถ วงศ์นิยม : เอ่อก็เป็นอันรู้กันอยู่ทั่วไปแล้วว่าถ้าจะเรียนพวกช่างไฟฟ้าก็ต้องช่างกลปทุมวัน ในเครือช่างกลเขาเก่ง ยังไม่ได้ตั้งใจเลยนะครับว่าจะมาเรียนธรรมศาสตร์ ยังไม่ได้คิด ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นปีอะไรหรือครับ สามารถ วงศ์นิยม : ก็ประมาณปี 2506-07 ประมาณนี้นะครับ ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นก็ปลายๆ สฤษดิ์ ธนะรัชต์? สามารถ วงศ์นิยม : ย้อนไปซักนิดนึง สมัยนั้นผู้ทำชื่อจอมพลป. พิบูลสงคราม ยังไม่ใช่จอมพลสฤษดิ์ ก็รู้สึกชาตินิยมจัด นะครับ ผู้สัมภาษณ์ : พอสมัยจอมพลสฤษดิ์ก็เบาบางลง? สามารถ วงศ์นิยม : สมัยจอมพลสฤษดิ์ก็รู้สึกจะเบาบางลงนะครับ แต่ตอนนั้นเท่าที่จำได้มีปัญหาทะเลาะกับเจ้านโดม สีหนุ การพิพาททางชายแดน จำได้ว่ามีเหตุการณ์ยิงปืนใส่กัน ผู้สัมภาษณ์ : แล้วกระทบกับคนที่อยู่ชายแดนอย่างครอบครัว อย่างพี่อะไรไหม? สามารถ วงศ์นิยม : ยังอยู่ไกลพอสมควร ครอบครัวผมที่อยู่เกาะช้างเนี่ย อยู่ห่างจากประเทศเขมรเนี่ยเยอะเลย ผู้สัมภาษณ์ : หมายถึงว่าบรรยากาศหรือการค้าขายอะไรอย่างนี้ครับ สามารถ วงศ์นิยม : โอยตึงเครียดต้องเอาเรือรบไปเฝ้าระวังชายแดนหรือหมู่บ้านหรือตำบลหรืออำเภอ ผู้สัมภาษณ์ : หมายถึงมีทหารไปบนเกาะ? สามารถ วงศ์นิยม : ที่บนเกาะไม่มีครับมันอยู่ไกล แต่ที่ทหารไปประจำการคือที่บ้านหาดเล็กตำบลคลองใหญ่ อำเภอคลองใหญ่จังหวัดตราด อันนั้นอยู่ติดชายแดนเลย ทหารต้องตรึงกำลังกันเรือรบไปจอดอยู่เลย แล้วก็ทหารเรือก็ไปตรึงกำลังอยู่ชายแดนแล้วก็มีการยิงลูกกระสุนปืนใหญ่ บางทีมาตกในเขตประเทศไทยถูกราษฏรบางอะไรบ้าง สัมพันธภาพ ระหว่างไทยกับเขมรก็ไม่ค่อยดี โดยเฉพาะปัญหาเขาพระวิหารน่ะ ซ้ำซากๆ พอเข้าโรงเรียนได้ก็มีปัญหาว่าจะไปอยู่ที่ไหนก็เลยสมัครเป็นเด็กวัดที่วัดท้ายเมืองติดกับโรงเรียนศรีบุณยานนท์ ผู้สัมภาษณ์ : ก็คือใกล้ๆ ที่เรียน สามารถ วงศ์นิยม : ใกล้ที่เรียน เดินเอา ไม่มีเงินเดินเอา ก็เรียนอยู่สองปี เสร็จแล้วก็มุ่งเรียนทะเยอทะยานใฝ่ฝันเรียนก็ได้สองปี ตอนนั้นเขาให้สอบเทียบแผนกทั่วไปได้ ก็สอบ ม.ศ.5แผนกทั่วไปได้ อันนั้นจริงๆคือต้องเรียนสามปี เรียนได้สองปีก็สอบเทียบ ม.8 ยังไม่เรียก ม.ศ.5 สอบเทียบ ม.8 ได้ เมื่อสอบเทียบได้แล้วก็คิดว่าลองสอบธรรมศาสตร์ดู สมัยนั้นเขาแยกเป็นสอบเข้า ธรรมศาสตร์ครั้งนึงก็ได้ จุฬาครั้งนึงก็ได้ เกษตรครั้งนึงก็ได้ ผู้สัมภาษณ์ : อ๋อหมายถึงยังไม่มีระบบเอนท์รวม? สามารถ วงศ์นิยม : ยังไม่มีระบบเอนท์รวม เลยใช้วุฒิ ม.8 ทั่วไปเนี่ยไปสอบเข้าธรรมศาสตร์ได้ ผู้สัมภาษณ์ : ขอถามย้อนนิดนึงนะครับ โอเคเราไปอยู่วัด เรามีข้าวกินเรามีที่พัก แต่หมายถึงค่าเทอมค่าเรียนอะไรอย่างนี้ครับ? สามารถ วงศ์นิยม : ค่าเทอมค่าเรียนก็ได้จากทางบ้านบ้าง แล้วปิดเทอมไปรับจ้างทำงานเคยจำได้ว่าทำที่ร้านอาหารศรแดง ที่ศึกษาภัณฑ์ ที่แถวราชดำเนิน ไปกับไอ้เจ้าเล็กเพื่อนคนใต้ด้วยกันเรียนโรงเรียนช่างกลด้วยกันแล้วก็ไปขายหนังสือ ไอ้เจ้าเล็กเดี๋ยวนี้ไปอยู่ไหนแล้วก็ไม่รู้ต่างคนต่างไป ผู้สัมภาษณ์ : พอจะจำชื่อจริงได้ไหมครับ? สามารถ วงศ์นิยม : ก็เรียกๆ กันเล็กๆ จำชื่อจริงไม่ได้ ผู้สัมภาษณ์ : แล้วตอนสอบธรรมศาสตร์เป็นที่แรกรึป่าวครับ ? สามารถ วงศ์นิยม : ครับเป็นที่แรกครับ ผู้สัมภาษณ์ : แล้วตอนนั้นคือหมายถึงว่ามหาลัยสอบเองนี่คือก็ต้องสอบเข้าแต่ละคณะหรือว่ามีการลือกอะไรยังไง? สามารถ วงศ์นิยม : เอ่อเลือกได้สี่อันดับ แต่ละมหาวิทยาลัยนะฮะเลือกได้สี่อันดับ ผู้สัมภาษณ์ : แล้วไปสอบที่ไหนบ้างครับ? สามารถ วงศ์นิยม : ก็สอบที่จุฬา สอบที่ธรรมศาสตร์ ผู้สัมภาษณ์ : แล้วผลเป็นยังไงครับ? สามารถ วงศ์นิยม : ก็ได้ที่ธรรมศาสตร์ ผู้สัมภาษณ์ : เลือกคณะอะไรเป็นอันดับหนึ่ง? สามารถ วงศ์นิยม : เลือกนิติเป็นอันดับแรก ผู้สัมภาษณ์ : ทำไมถึงเลือกนิติ ในเมื่อเราเรียนมาอีกสายหนึ่ง? สามารถ วงศ์นิยม : ก็ตอนนั้นเนี่ยมืดมนมาก จุดใหญ่ก็คือว่าไม่ได้เรียนเพื่อจะว่ามุ่งหมายจะมีอุดมคติอุดมการณ์อะไรหรอก คำถามแรกก็คือ เรียนคณะนี้แล้วจะไปทำอะไร จะไปประกอบอาชีพอะไรเป็นหลักยังไม่มี แนวความคิดทางการมงการเมือง ทางอุดมคติ อุดมการณ์อะไรยังไม่มี ที่เลือกเรียนนิติเนี่ยสอบถามจากผู้รู้ รุ่นพี่ทั้งหลายแล้ว ถ้าเรียนนิติเนี่ยเป็นปลัดอำเภอก็ได้ เป็นตำรวจก็ได้ เป็นอัยการก็ได้เป็นผู้พิพากษาก็ได้ เป็นทนายก็ได้ เป็นนักการเมืองก็ได้ แต่ใจที่ชอบ มีนิติกับรัฐศาสตร์ แต่พอถามไปแล้วรัฐศาสตร์จบไปเป็นปลัดอำเภอ นักการทูต ดูมันเหมือนจะแคบกว่า เออพอพูดไปแล้วเล็กๆเนี่ย ตอนสมัยเล็กๆเนี่ยตอนที่เขาสมัครส.ส. กันเนี่ยจะเห็นผู้สมัครใส่เสื้อครุย เนติบัณฑิต แล้วก็ส่วนใหญ่มีอาชีพทนายความ แล้วก็มาสมัคร สส ใครเป็น สส เดี๋ยวก็ไปเป็นเลขานุการรัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรีอะไรอย่างเนี้ย ตอนเล็กๆก็ใฝ่ฝันเหมือนกัน ตอนอยู่ที่เกาะช้างเล็กๆแล้วเนี่ย คิดฝันว่า เอ้ถ้ามีโอกาสเป็นทนายความ แล้วไปเป็น สส ไปเป็นเลขาไปเป็นรัฐมนตรีก็ดีเหมือนกัน ก็คิดในใจอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเวลาเลือกได้ก็เอานิติอันดับหนึ่งจุดมุ่งหมายก็ว่ามันสามารถประกอบอาชีพได้หลากหลาย ครับเนี่ยจุดมุ่งหมาย ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นประมาณ พ.ศ อะไรครับตอนปีหนึ่ง? สามารถ วงศ์นิยม : ปี 2509 ครับ ผู้สัมภาษณ์ : พอเข้าไปเรียนเป็นยังไงบ้างครับ? สามารถ วงศ์นิยม : พอไปเรียนแล้วที่นี้ก็ ก็มีปัญหา คือไม่มีที่อยู่ ทีนี้จะทำไง เผอิญมีเพื่อนอยู่คนหนึ่งชื่อไอ้เจ้า สุธน ไม่รู้นามสกุลอะไร เป็นคนใต้รู้สึกจะเป็นคนปากพนัง ก็เรียนช่างไฟฟ้าที่โรงเรียนช่างกลนนทบุรีมาด้วยกันก็ค่อนข้างจะสนิทกัน สุธนบอกถ้าหาที่อยู่ไม่ได้ นายก็มาอยู่ที่ คณะ๒๑วัดมหาธาตุ สนามหลวงนั่นแหละ ติดกับธรรมศาสตร์นั่นแหละ เดินซักสองสามร้อยเมตรก็จะถึงแล้ว ก็สุทนก็พามาฝากกับเจ้าคณะในนั้นมีแต่คนใต้ทั้งนั้นจนกระทั่งผมเนี่ยพูดภาษาใต้ได้แบบคนเขาเรียกทองแดง พูดแบบทองแดงพูดไปทุกวันๆก็พอไปได้ พอไปอยู่ก็ค่อนข้างเดินทางสะดวกอยู่ แต่ว่าอาหารการกินก็ลำบากอยู่นิดหน่อย ครับ นะก็เข้าไปเรียนธรรมศาสตร์ ถามว่าเริ่มสนุกไหม เริ่มสนุก เพราะว่าเริ่มมีกิจกรรมทางการมงการเมือง แล้วพอไปเรียนหนังสือเข้าเนี่ยมันก็เริ่มมีความคิดทางการเมืองเข้ามาแล้ว เรียนคณะศิลปะศาสตร์นี่มันก็จะมี อารยะธรรมตะวันออก อารยะธรรมตะวันตกนะฮะ โอโหไอ้วิชาปรัชญา รัฐในอุดมคติอะไรเนี่ย แล้วก็มีอะไรต่อมิอะไรทำให้มีความคิดกว้างกวางกว่าเก่าขึ้นเยอะ ทำให้มีความรู้สึกเร่าร้อนทางการเมืองขึ้นมา ผู้สัมภาษณ์ : อันนี้หมายถึงได้จากห้องเรียน? สามารถ วงศ์นิยม : ได้จากห้องเรียน ส่วนในทางปฏิบัตินั้นตั้งแต่สมัยที่เรียนธรรมศาสตร์อยู่สี่ห้าปีนั้นก็ได้ร่วมกิจกรรมทางการเมืองแทบทุกปี สมัยนั้นมันก็จะมีอะไรหลายๆอย่างแม้แต่เดินขบวนต่อต้าน ไม่ให้ขึ้นค่ารถเมล์ ก็เดินนะ ไม่ให้ขึ้นค่าหน่วยกิต ตอนนั้นก็จะรู้สึกว่าธรรมศาสตร์เราจะใจแคบไปหน่อย มีคนอื่นอยากจะเข้ามาเรียนเราก็ต่อต้านว่าเป็นอภิสิทธิ์ ผู้สัมภาษณ์ : หมายถึงยังไงครับ? สามารถ วงศ์นิยม : คือเขาจบจากที่อื่นมาเข้าธรรมศาสตร์แล้วไม่ต้องสอบไง มีนักเรียนโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เขาก็อยากมาเรียนกฎหมาย เรียนอะไรอย่างนี้นะ เขาก็อยากได้ความรู้เรื่องกฎหมายเพื่อที่จะได้ไปสอบสวนอะไรอย่างนี้ครับ จำได้มีนักเรียนโรงเรียนนายร้อยตำรวจหลายคนจะมาเรียนต่อ คือเขามาเทียบหน่วยกิต ตรงไหนที่เทียบได้ เขาก็เรียนต่อจนจบ โหตอนนั้นก็ เราก็แอนตี้ ว่าเขาเป็นอภิสิทธ์ไป ตรงข้ามเดี๋ยวนี้ เทียบเกรดเทียบอะไรกัน แล้วก็เรียนเฉพาะเท่าที่แตกต่างกัน ตอนนั้นเราก็คับแคบไปนิดหน่อย ผู้สัมภาษณ์ : พอจะจำ พ.ศ ได้ไหมว่าเหตุการณ์ ค่ารถเมล์ เรื่องต่างๆ เนี่ยปีไหน สามารถ วงศ์นิยม : อยู่ในระหว่างปี 09 10 11 ผู้สัมภาษณ์ : ก็คือก่อนที่มีการเลือกตั้งเทศบาล? สามารถ วงศ์นิยม : นี่แหละ แต่ที่สนุกก็คือบางทีเลกเชอร์ไป สมัยนั้นก็ ดร.หยุด แสงอุทัยเวลาที่เลกเชอร์เนี่ยก็จะมีตำรวจสันติบาลมาฟังว่าอาจารย์จะเลกเชอร์แล้วพูดถึงรัฐบาลยังไงบ้าง ผู้สัมภาษณ์ : นี่เฉพาะตัวอาจารย์หยุดหรืออาจารย์ทุกๆ คน? สามารถ วงศ์นิยม : อาจารย์หยุดเนี่ยจะหนักกว่าเขา อาจารย์หยุดสอนกฎหมายอาญา ผู้สัมภาษณ์ : หมายถึงทุกคนก็รู้ว่านี่คือตำรวจ? สามารถ วงศ์นิยม : ไม่รู้ ไม่รู้ เขาแต่งตัวเหมือนกับนักศึกษาทั่วๆไป แต่อาจารย์หยุดก็จะพูดว่า ผมก็รู้นะว่าในนี้มีสันติบาล มาจดคำบรรยายของผมไป แต่ว่าผมมีหน้าที่ต้องสอน อะไรที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็ต้องแนะนำ ให้ลูกศิษย์ลูกหามีความรู้ ผมไม่กลัวผมทำตามหน้าที่ ผู้สัมภาษณ์ : หมายความว่า ดร. หยุด มีอิทธิพลทางความคิดของพี่พอสมควร ? สามารถ วงศ์นิยม : โอ้ เยอะ อาจารย์นี่มีหลายคน อาจารย์มี ดร. ธวัช มกรพงศ์ สอนวิชาอาระยะธรรมตะวันออก ตะวันตก นะครับอันนี้ ก็มีอิธิพล แกก็เล่าว่าแกไม่ได้รับความเป็นธรรม จบรัฐศาสตร์มาจากเมืองนอก ได้ ดร. แต่ว่าไม่เอารัฐบาล โจมตีรัฐบาล รัฐบาลก็ส่งไป อ.สว่างแดนดิน จ. สกลนคร ส่งไป อ.อมก๋อย จ. เชียงใหม่ สว่างแดนดินก็คือไม่เห็นเดือนเห็นตะวันเลย อ.อมก๋อยก็กันดารเลย เราก็มีความรู้สึกว่า โอ้เมืองไทยความยุติธรรมมันเป็นอย่างนี้หรืออะไรอย่างนี้แหละ มันโอ้โฮหลายอย่างเข้าไปในธรรมศาสตร์เนี่ยมันทำให้เราเร่าร้อนหรือเรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพอะไรต่างๆทั้งคำขวัญทั้งอะไรต่ออะไร ประวัติการต่อสู้อะไรต่ออะไร มันค่อยๆหล่อหลอมเข้าไปในจิตใจ ฉันรักธรรมศาสตร์เพราะธรรมศาสตร์สอนให้รักประชาชน ตอนแรกๆมันก็ไม่ค่อยเข้าใจนะแต่ต่อๆไปเนี่ยโอ่มันก็ค่อยๆซึมซับเข้าไปแต่ที่ ปี 2512 นั่นนะปีสุดท้ายที่จะจบ ตอนนั้นรู้สึกมันจะมีการประท้วงรัฐบาลจอมพลถนอม จอมพลประภาส แล้วก็พันเอกณรงค์ สามคนนี้สมัยนั้นเขาเรียกว่าทรราชคืออำนาจในการผูกขาดในการปกครองประเทศเนี่ยคืออยู่ในสามคนนี้ นักศึกษาก็ดี หนังสือพิมพ์ก็ดี ประชาชนที่รักความก้าวหน้าก็ดี พยายามกระทุ้งว่าเนี่ยคือรัฐบาลเผด็จการ ปกครองโดยอำนาจทหาร กระทุ้ง โจมตี กันเรื่อย ผู้สัมภาษณ์ : หมายถึงวิธีการของนักศึกษามีการชุมนุม เขียน หรือว่ายังไงครับ? สามารถ วงศ์นิยม : นักศึกษาบางทีก็เขียนบทความแพร่กระจายไป หรือบางคนก็เอาไปลงหนังสือพิมพ์บ้าง จัดเสวนากันบ้าง อภิปรายกันบ้าง จับกลุ่มย่อยบ้าง มันเริ่มจากมองดู เอ๊ะนี่ประเทศเราปกครองกันท่าไหนปกรองกันไม่มีรัฐธรรมนูญเลย ไม่มีอะไรเลย ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นก็คือไม่มีรัฐธรรมนูญเลย ? สามารถ วงศ์นิยม : ไม่มี! ปกครองโดย ธรรมนูญการปกครอง ทีนี้พอมีปฏิกิริยามากๆเข้า จอมพลถนอม จอมพลประภาส แล้วก็พันเอกณรงค์ คงจะอายๆ ก็เลยคลายให้เลือกตั้ง เอ่อเทศบาลกรุงเทพมหานครก่อน *ที่ว่าเมื่อเอามาให้ดูนั่นแหละ เริ่มให้มีการเลือกตั้งเทศบาล (หยิบรูปมาให้ดู)* ก็เป็นที่มาที่เราจับกลุ่มกัน *(บรรยายใต้รูป-สมาชิกสภาเทศบาลนครกรุงเทพและธนบุรี )* เราก็ไม่ได้ทำเฉพาะธรรมศาสตร์นะครับ (ใช้คำว่านักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนี่ยก็ไม่ถูกหรอก เพราะว่าความจริงแล้วเราก็รวบรวม ไปเรียกเพื่อนทั้งหลาย กว่า30 สถาบัน ทั้งจุฬา ทั้งธรรมศาสตร์ ทั้งมหิดล ทั้งเกษตร ทั้งนิด้า ทั้งมหาวิทยาลัยเอกชน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ รวมกันแล้ว30สถาบัน แล้วก็จัดตั้งขึ้นเป็นกลุ่มนิสิตนักศึกษาอาสาสังเกตการณ์เลือกตั้ง เราก็ไม่นิยมหรอกที่ว่าจะให้ผูกขาดเฉพาะธรรมศาสตร์ แต่ธรรมศาสตร์อาจจะจุดพลุ สมัยนั้น อ่าถ้าการเมืองก็ต้องธรรมศาสตร์จุดพลุกันแล้วค่อยกระจายไปที่อื่น ก็รวมกันได้นักศึกษาสมัครสมานสามัคคีกันดีมากช่วยกันทำ ได้ประมาณสามพันกว่าคน เสร็จแล้วก็ขอใช้สิทธิขอเข้าไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งทั่วกรุงเทพและธนบุรีหน่วยละสามคนเพื่อที่จะไม่ให้มีการโกงการเลือกตั้ง เราคิดว่ารัฐบาลคงโกง เพราะอำนาจอยู่ในมือเขา ปืนอยู่ในมือเขา โดยเฉพาะกำลังทหารตบเท้าออกจากหน่วยเลือกตั้งเราไม่ไว้วางใจเลย ระแวง ไม่เหมือนทหารสมัยนี้ค่อยเป็นประชาธิปไตยขึ้น แต่สมัยนั้นเราไม่ไว้วางใจหรอก แล้วก็รู้สึกว่าจะมีภาพของความไม่สมานฉันท์นิสิตนักศึกษาประชาชนกับทหาร สมัยนั้นอยู่ฝ่ายตรงข้าม โดยกฎหมายเปิดช่องว่าผู้สมัครมีสิทธิ์ที่จะแต่งตั้งตัวแทนเข้าไปอยู่ในคูหาการเลือกตั้งสังเกตการณ์เลือกตั้งได้ แล้วก็มีเรื่องแถวเกียกกาย เขตทหาร เข้าไปสังเกตการณ์ได้แต่ออกไม่ได้ เพราะว่าจะถูกยำ ไปประท้วงเขาว่า เอ๊ะเมื่อกี้ ก็ลงแล้วก็กลับไป แล้วทำไมตอนนี้มาอีก รู้สึกจะไปประท้วงเขา ก็เกิดปฏิกิริยาว่าประท้วงได้แต่อกไม่ได้ สมัยนั้นก็ มีพลเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ ซึ่งถ้าจะว่ากันไปแล้วตอนนั้นก็รู้สึกจะเป็น เจ้ากรม ป.ต.อ. แถวเกียกกาย รู้สึกจะเป็นนายทหารที่พุดกับนิสิตนักศึกษารู้เรื่อง จะว่าเป็นนายทหารที่ก้าวหน้า ก็ไม่รู้ได้รึป่าว รู้สึกจะพูดกับนิสิตนักศึกษา รู้สึกจะเป็นอธิบดีกรม(*ตำรวจด้วย) ต้องใช้วิธีโทรไปแจ้งให้ท่านทราบว่าตอนนี้ นิสิตนักศึกษาจะถูกทำร้าย แล้วท่านก็จะคุมอยู่แถวเกียกกายด้วยท่านก็เลยให้ลูกน้องมาเคลียร์ก็ปลอดภัยไป แต่ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้ซะเป็นส่วนใหญ่ ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นพี่อยู่ส่วนไหนครับที่ไปสังเกตการณ์? สามารถ วงศ์นิยม : เอ่อพี่อยู่ส่วนกลาง เพราะว่าเป็นกรรมการกลางก็ต้องคอยอยู่ที่ศูนย์ ศูนย์รู้สึกถ้าจำไม่ผิดเราจะใช้ สมาคมผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ เราก็จะคอยประจำอยู่ที่นั่นนะครับ เสร็จแล้วก็เขาก็โทรเข้าส่วนกลางแล้วเราก็ประชุมว่าจะแก้ไขอย่างไร ก็อยู่กับปกรณ์นั่นแหละ ปกรณ์นี่ทำงานก้มหน้าก้มตา คัดชื่อ แต่ละสถาบันเขาก็ส่งชื่อมา ชื่อนี้นามสกุลนี้ อยู่คณะอะไรปีไหน ก็คัดลอกลงส่วนกลาง ปกรณ์ทำงานอย่างเดียว ไม่พูด ก็ประทับใจเขา ผู้สัมภาษณ์ : เป็นรุ่นเดียวกันหรอครับ? สามารถ วงศ์นิยม : ครับเป็นรุ่นเดียวกัน แต่เรียนคนละคณะ ปกรณ์เขาเรียนเศรษฐศาสตร์ พี่เรียนนิติแต่ก็ไม่ไกลกันเท่าไหร่หรอก ผู้สัมภาษณ์ : ผมขอย้อนนิดหนึ่งเรื่องเมื่อกี้ เรื่องคัดค้านการขึ้นรถเมล์อะไรประมาณนี้ครับ มันจะเรียกว่าอะไร การก่อรูป การนำอะไรอย่างนี้มันเกิดขึ้นได้ยังไง? สามารถ วงศ์นิยม : ก็ส่วนใหญ่ที่เกิดจากการนำก็เกิดจากการ คือเห็นว่าไม่เป็นธรรม หรือเห็นความเดือนร้อนของประชาชนก่อน ก็จะจัดกลุ่มย่อยก่อนกลุ่มละ สิบ ยี่สิบ แล้วหลายๆกลุ่มมารวมกันพอร่วมกันเข้าเสร็จแล้วก็เข้าหอประชุมส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนั้น แล้วก็จะเข้าหอประชุมใหญ่ หอประชุมใหญ่ก็จะมี Leader มีผู้นำ มีอะไรอย่างนี้ ผู้สัมภาษณ์ : พอจะจำผู้นำสมัยนั้นได้ไหมครับ? สามารถ วงศ์นิยม : ในจำนวนนี้ก็จะมี อ.สุขุม นวลสกุล รวมอยู่ด้วย แต่ อ.สุขุมจะเรียนอยู่คณะรัฐศาสตร์ แล้วก็มีพี่อะไรอีกคนหนึ่งแก่เสียชีวิตไปแล้ว ชื่อพี่อะไร ตอนหลังไปเป็นนายอำเภอแล้วแกก็เสียชีวิตไป แต่อันนั้นเขาก็รุ่นพี่เราเราก็อยู่ห่าง แต่ว่าสำหรับกลุ่มพวกเราเราก็สนิทกัน อันนั้นเขาก็รุ่นพี่เราเราก็ไม่ได้ไปสัมพันธ์โดยตรงเท่าไหร่ เราไปร่วมกลุ่ม ไปเป็นstaff แค่นี้นะครับ ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นคือกลุ่มมันเป็น กลุ่มเพื่อน กลุ่มธรรมชาติเลยรึป่าว หรือว่ารวมกลุ่มแบบตั้งชื่อกลุ่ม ตั้งเป็นกรรมการกลุ่ม เป็นอะไร? สามารถ วงศ์นิยม : ส่วนใหญ่ก็มากหลายกลุ่ม กลุ่มอาสาพัฒนาชนบทออกค่าย ก็มีนักศึกษาหน้าโดม ก็มีกลุ่มวรรณศิลป์ ก็มีกลุ่มวรรณกรรม อย่างของพี่รู้สึกจะเป็น กลุ่มวรรณกรรมในคณะ นักศึกษาที่ทำวารสารเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ของคณะบ้าง เขียนบทความไปติดที่บอร์ด แรกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนๆบ้าง หลายๆกลุ่มถึงเวลาก็มารวมๆกัน ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นมันมีการตั้งชมรมอะไรไหมครับ? สามารถ วงศ์นิยม : โอ้มีๆ มีอยู่แล้ว ก็มีชมรมปาถกฐา-โต้วาที ชมรมพุทธศาสตร์ ชมรมเชียร์ ชมรมวรรณศิลป์ ผู้สัมภาษณ์ : แล้วชมรมทางด้านการเมือง? สามารถ วงศ์นิยม : มันไม่มีโดยตรง ก็ไม่รู้เค้ามีนโยบายไม่ให้มี แต่มันเป็นโดยธรรมชาติ แต่เรียกได้ว่ามันแทรกไปทุกกลุ่มอยู่แล้ว พวกธรรมศาสตร์รู้สึกจะมีลมหายใจออกไปในทางการเมืองซะมากหน่อย ผู้สัมภาษณ์ : ทีนี้พอปี 12 หลังเลือกตั้งก็คืออันนี้ตอนเป็นนักศึกษาก็หลังจากนั้นก็จบ? สามารถ วงศ์นิยม : ก็ขอเน้นอยู่นิดหนึ่งไปทำกิจกรรมทางการเมืองไม่ว่าจะเดินขบวน ไปชุมนุมประท้วงบรรดาผู้นำประเทศอะไรเนี่ย จะว่าไปแล้วก็ได้อิทธิพลความคิดมาจากการเรียนตอนปีหนึ่งนั่นแหละ พวกอารยะธรรมตะวันออก ตะวันตก พวกลัทธิการเมืองอะไรต่างๆ พวกลัทธิมาร์ก ลัทธิสังคมนิยม ลัทธิประชาธิปไตย พอมันเรียนมันก็เกิดความคิด แล้วตอนนั้นมันก็ค่อนข้างรุนแรง อะไรที่มันดูไม่เป็นบรรทัดฐาน มันไม่ตรงกับหลักการ มันก็ออกจะแรงๆไปซะหน่อย ผู้สัมภาษณ์ : แต่ว่าตอนนั้นเป็นรัฐบาลทหารออกไปชุมนุมไม่รู้สึกว่ามันอันตรายหรือครับ? สามารถ วงศ์นิยม : ก็กลัว แต่ในเมื่อมัน อย่างที่ว่าอิทธิพลของการเรียนนะ ความรู้ที่เราเรียนมามันออกไปในทาง Utopia คือในทางอุกมการณ์ อุดมคติ ว่าเฮ้ย ประชาธิปไตยจริงๆนะมันจะต้องฟังเสียงของคนส่วนใหญ่ ใช่ให้ทหารมาปกครอง เอาปืนมาปกครอง มันเรียนแล้วก็รู้สึกมันต่อต้าน พอต่อต้านแล้ว มีเพื่อนมีอะไรมากๆเข้าไปด้วยกันก็เกือบๆจะหายกลัว (หัวเราะ)เดินไปในถนนราชดดำเนิน เดินไปประท้วงการขึ้นรถมงรถเมล์ก็ออกไปบนถนนใหญ่ๆเลยรอบๆสนามหลวง ราชดำเนิน ไปสนามพระบรมรูปทรงม้าอะไรอย่างนี้ ไปกันไม่ได้กลัว ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นทหารยังไม่มีการปราบไม่มีอะไร? สามารถ วงศ์นิยม : ยังๆไม่ถึงกับใช้ปืนยิง เพียงแต่ว่าเค้าก็ขู่ๆ เค้าก็มีหน่วยข่าวกรอง ทำเป็นว่าคนนั้นหัวเอียงซ้ายอะไรอย่างนี้ ระวังจะถูกอุ้มถูกเก็บอะไรอย่างนี้ หรือมีชื่อไปติดแบล็กลิสต์ ของสันติบาล หรือไปติดแบล็กลิสต์ของหน่วยสืบราชการลับ ก็กลัวๆ เหมือนกันไม่ใช่ไม่กลัว (หัวเราะ) ผู้สัมภาษณ์ : แล้วของชื่อของพี่หล่ะ? สามารถ วงศ์นิยม : ไม่รู้ๆ เราไม่ทราบ แต่ก็น่าจะติดไปบ้างนะครับ แต่เราก็ไม่ได้ห่วงตรงนั้นเท่าไหร่ ตอนนั้นมันอุดมการณ์ อุดมคติ แล้วมันตัวคนเดียว ก็อยู่วัดน่ะ ตอนนั้น เอ้..ประชาชนมันเดือดร้อนนี่หว่า แม้แต่ขึ้นค่ารถเมล์จาก50สตางค์ เป็น 75สตางค์ เราก็มีความรู้สึกว่าประชาชนเค้าเดือนร้อน ก็ไปในทางอุดมการณ์อุดมคติซะส่วนใหญ่ ผู้สัมภาษณ์ : ที่นี้พอเรียนจบแล้วพี่ทำอะไรต่อ? สามารถ วงศ์นิยม : พอจบแล้วก็ยังเข้าไปในธรรมศาสตร์ ทีนี้ก็ตรียมตัวที่จะเรียนเน สอบ เนติบัณฑิต ก็ดูหนังสือที่ธรรมศาสตร์นั่นแหละ โดยเฉพาะที่คณะเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ที่ติดอยู่กับคณะศิลปศาสตร์นั่นแหละ ตึกใต้โดม ปีกที่ติดกับทางท่าพระจันทร์ นั่นแหละห้องสมุดเขาอยู่ตรงนั้น ก็เรียกว่าอาศัยไปดูหนังสือมันเย็นดีไง ถ้าไปห้องสมุดใหญ่มันดูเคว้งคว้างเกินไป ห้องสมุดเศรษฐศาสตร์มันดูแน่นหนาแล้วมันทำให้กระตือรือล้นดี ก็จบปีหนึ่งสามเสร็จแล้วก็เตรียมหนังสือสอบเนฯ แล้วก็มีเหตุการณ์ที่ไปชุมนุม ดูหนังสือไปมันก็ไม่ค่อยมีสมาธิ ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนี้ปีไหนแล้วครับ? สามารถ วงศ์นิยม : ปี 16 ไง 14 ตุลา ที่น้องว่าอยู่ มูลนิธิ 14 ตุลา เนี่ยคือ 16 นั่นแหละ พี่จบแล้วสามปี เขาเริ่มกันที่ลานโพธิ์ พี่ไม่ได้ไปร่วมกับเขาหรอก เพราะว่ากลางวันจบแล้วก็หางานทำไงแต่ตอนกลางคืนเขาก็จะชุมนุมกันที่สนามฟุตบอล เสียงมันก็เข้ามา ในห้องสมุดก็ไม่ค่อยมีสมาธิเท่าไหร่หรอก ก็ออกไปฟังเขาอะไรเขา โอ้โฮตอนที่ยิง ตอนที่ล้อมปราบอะไรนั่นรู้สึกวันนั้นไม่ได้อยู่หรอก รู้สึกตอนนั้นจะเริ่มสอนหนังสือที่โรงเรียนดุสิตพาณิชยการ มันเหนื่อยหรือไงก็ไม่รู้ วันนั้นก็ไม่ได้ไปตอนนั้นก็เลยไม่ถูกเขายิงอะไรเข้าไปด้วย ผู้สัมภาษณ์ : ก็คืออาจจะไปวันที่ 8 ที่ 9 อะไรประมาณนี้ คือตอนไปช่วงกลางคืน แล้วบรรยากาศตอนนั้นนอกจากมีเวทีแล้วมีอะไรอีกไหมครับ มีกิจกรรมรอบๆ อะไรไหมครับ? สามารถ วงศ์นิยม : ไม่มี ก็ไปร่วมกับเวทีกลางที่สนามฟุตบอลซะส่วนใหญ่ นั่งฟังเขาซะส่วนใหญ่ ผู้สัมภาษณ์ : แต่พอวันเดินขบวนออกจากธรรมศาสตร์พี่ก็ไม่ได้อยู่? สามารถ วงศ์นิยม : ไม่ได้อยู่ เพราะว่าเรายังมีอาชีพต้องสอนหนังสือ ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นยังพักอยู่ที่วัด? สามารถ วงศ์นิยม : ยังอยู่ที่วัด ผู้สัมภาษณ์ : แล้วพี่มารู้ว่ามีเหตุการณ์ยิงกันอะไรตอนไหนครับ? สามารถ วงศ์นิยม : ก็รู้ในคืนนั้น ตอนนั้นรู้สึกว่าไปพักบ้านเพื่อนแถววิสุทธิ์กษัตริย์นะ ก็ฟังข่าวอะไรอยู่ที่นั่นแหละ ไม่ได้เข้าไปหรอก ตอนนี้ปอดแล้ว พอเริ่มทำงานทำอะไรก็ชักกลัวๆ ก็ติดตามดูสถานการณ์อะไรไป ก็โอโฮ อยู่ตอนกลางคืนเนี่ยลูกกระสุนมันตกบนหลังคา กราวๆ ไปหมดเลย ในแถบแถวที่พักนั่นแหละ แถววัดบวรอะไรเต็มไปหมดเลย ไปกล้าเข้าไปวัดมหาธาตุ ก็พักอยู่กับเพื่อนแถวนั้น เพราะว่าวัดมหาธาตุมันใกล้มาก ก็ติดตามข่าวอะไรอยู่อย่างนั้นแหละ บางทีก็แอบบริจาคอะไรไปบ้างแต่ไม่ได้ไปเดินขบวนเหมือนตอนเป็นนักศึกษาแล้ว เพราะว่าเราเริ่มมีภาระหน้าที่ แยกกำลังกายอะไรไปบางส่วนแล้วแหละ ผู้สัมภาษณ์ : ผมขอย้อนนิดนึงคือสอนนี่ระหว่างที่เรียนเนไปด้วยก็สอนด้วย? สามารถ วงศ์นิยม : ครับผม ผู้สัมภาษณ์ : คือตั้งแต่จบใหม่ๆ? สามารถ วงศ์นิยม : ตอนนั้นเราก็รู้สึกจะได้ทุนในระหว่างเรียนเนี่ยเราก็ได้ทุนมูลนิธิช่วยเหลือเด็กยากจนในบรมราชินูปถัมภ์ ด้วย แล้วทีนี้ก็ได้จากแม่บ้าง พ่อแม่ส่งไปบ้าง ปิดเทอมก็ไปทำงานบ้างที่นี้พอเราจบก็ไม่ได้แล้วทุน แล้วเราก็อายใจตัวเองว่ายังจะมาแบมือขอเงินพ่อแม่อยู่อีก ก็เลยไปสมัครเป็นอาจารย์สอนหนังสือ ผู้สัมภาษณ์ : สอนด้านอะไรครับ? สามารถ วงศ์นิยม : สอนด้านกฎหมายนี่แหละโรงเรียนดุสิตพาณิชยการ ของคุณ ประชุม รัตนเพียร กฎหมายธุรกิจเบื้องต้น กฎหมายแพ่งพาณิชย์สัญญาซื้อขาย นิติกรรมสัญญา ขายฝากจำนองอะไรพวกนี้ กฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจเบื้องต้นทั้งหลาย ก็ตรงกับวิชาที่เรารียนอยู่ ครับก็พอได้เงินมาใช้ไม่ต้องรบกวนพ่อแม่ ผู้สัมภาษณ์ : เนฯ นี่ต้องไปเรียนไปอะไรด้วยรึป่าว สามารถ วงศ์นิยม : ไม่จำเป็นซื้อหนังสืออ่านเองก็ได้ครับ ส่วนใหญ่เราก็ไม่มีเวลาไปฟังเล็กเชอร์ เพราะเราทำงานไง ผู้สัมภาษณ์ : กลางวันทำงานกลางคืนอ่านหนังสือ? สามารถ วงศ์นิยม : อ่านหนังสือวันเสาร์อาทิตย์ หรือมีเวลาว่างก็อ่านไปอะไรอย่างนี้ ผู้สัมภาษณ์ : ทีนี้พอเกิดเหตุการณ์14ตุลาแล้วเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรไหมครับ? สามารถ วงศ์นิยม : เห็นการเปลี่ยนแปลงไหม ก็ตอนนี้เราอยู่วงนอกแล้ว เราไม่ได้อยู่ในศูนย์กลางของนิสิตนักศึกษาแล้ว ก็ได้แต่ฟัง มันก็รู้สึกเกิดความคิดอ่านในวงกว้างในวงของประชาชน ที่จะต่อต้านทางรัฐบาลมากขึ้นไปอีก รู้สึกความไม่พอใจต่างๆมันก็จะตีวงกว้างออกไป หนังสือพิมพ์ก็เสนอข่าวในทางที่เป็นปรปักษ์ต่อรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น หรือบางครั้งเราสอนหนังสือเราก็แทรกให้ลูกศิษย์เหมือนกัน (หัวเราะ) เนี่ยมันไม่เป็นธรรมยังไงๆเราก็อดพูดไม่ได้ก็มีอยู่เหมือนกัน ผู้สัมภาษณ์ : แต่ก็เหมือนกับว่ามันเปิดกว้างมากขึ้น? สามารถ วงศ์นิยม : มันก็เปิดกว้างมากขึ้น วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้มากขึ้น แล้วก็เกิดแรงกระตุ้นที่จะให้เกิดรัฐธรรมนูญต่อมา แล้วก็รู้สึกว่าอำนาจเก่าถูกทลายไปถูก พลเอก กฤษณ์ สีวะรา ปฏิวัติ จอมพลถนอม จอมพลประภาส พันเอกณรงค์ อะไรเนี่ย ต่อมาพรรคประชาธิปัตย์กับพลเอกกฤษณ์ก็จับมือกันนี่แหละ ผู้สัมภาษณ์ : แล้วตอนนั้นพี่สอบเนปีอะไรครับ? สามารถ วงศ์นิยม : ก็เราจบออกมาปี13 ก็ประมาณปี 14 -15 ผู้สัมภาษณ์ : ก็คือก่อน14 ตุลา ปีสอบเนฯ เสร็จแล้ว? สามารถ วงศ์นิยม : ยังไม่ได้ มันสอบแล้วมันไม่ได้ พอลงทะเบียนแล้วก็เป็นนักศึกษาได้เลย เสร็จแล้วก็สอบได้เลย แต่ไม่ต้องสอบเข้า แต่คุณจะได้ไม่ได้อีกเรื่องนึง มันเป็นแบบแนวเปิด พอจบนิติแล้วก็ใช้สิทธิ์นิติหรืออนุปริญญาไปสมัครได้เลย เขาก็ออกบัตรนักศึกษาอะไรให้ให้แต่จะสอบได้ไม่ได้อีกเรื่องนึง มันก็ยากสอบไม่ได้ ผู้สัมภาษณ์ : แล้วสอนที่ดุสิตพาณิชยการจนถึงปีไหนครับ? สามารถ วงศ์นิยม : สอนอยู่ประมาณสักสามปี 13 14 15 แถวๆ14ตุลานี่แหละ จากนี้ก็ไปทำงานกับบริษัทเซาท์อีสเอเชียก่อสร้าง มันก็คือบริษัทซีคอนสแควร์ต่อมา พวกตะกูลนี้เนี่ยตอนนั้นเขาอยู่ตรงข้ามวัดหัวลำโพง โปรเจคใหญ่ของเขาก็คือก่อสร้างศูนย์การค้า สยามสแควร์ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นศูนย์การค้าแรกของประเทศไทยเป็นที่ดินของจุฬา แต่ตอนนั้นจุฬายังไม่คิดหาประโยชน์จากพื้นที่ ผู้สัมภาษณ์ : หมายถึงอะไรครับ? สามารถ วงศ์นิยม : ยังไม่คิดหาประโยชน์ จอมพลประภาสเขาเป็นอธิการบดี ผู้สัมภาษณ์ : อันนี้คือก่อน 14 ตุลา? สามารถ วงศ์นิยม : หลังแล้ว หลัง14 ตุลา ผู้สัมภาษณ์ : จอมพลประภาสต้องก่อน? สามารถ วงศ์นิยม : ไม่ใช่ คือ จุฬาอาจไปทำสัญญาให้กับบริษัทวังทองนี่เช่าที่ดินของจุฬาแถวสยามสแควร์ทั้งหมด ดูมันก็มหาศาลนะตอนนั้นนะ แล้ววังทองก็ให้ผลประโยชน์กับจุฬาให้ไม่กี่สิบล้านหรอกแต่ไม่ได้เขียนสัญญาห้ามมิให้บริษัทวังทองไปให้เช่าช่วง บริษัทวังทองก็เอาไปให้บริษัทเซาท์อีสท์เอเชียก่อสร้างจำกัด โดย คุณกอบชัย ซอโสธิกุล เช่าช่วงต่อ ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นพี่ก็อยู่ฝ่ายกฎหมาย? สามารถ วงศ์นิยม : อยู่ฝ่ายกฎหมาย นั่นแหละก็ไปควบคุมดูแลเก็บค่าเช่า ค่าช่วยก่อสร้าง เขาเขียนสัญญาว่าช่วยก่อสร้าง สยามสแควร์ทั้งหมด บะหมี่หยกเขียวๆ บะหมี่โคคา ร้านเสริมสวยขวัญใจ ร้านใหญ่ๆดังๆสมัยนั้นน่ะเริ่มจากสยามสแควร์ ก็ไปอยู่ที่นั่นประมาณซักสามปี หลังจากนั้นก็เลี้ยงรุ่น นิติ09 ทีนี้ก็ไปพบกับ คุณจำลอง ครุฑขุนทด ที่เขาเคยเป็น สส. เป็นรัฐมนตรีช่วย ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นประมาณปีอะไรครับ? สามารถ วงศ์นิยม : มันก็เลี้ยงทุกปีแหละนะ แต่ปีที่ว่ามีการจะต้องเปลี่ยนสถานที่จากกรุงเทพาอยู่โคราช ประมาณปี18 นี่แหละ มาอยู่โคราช มาอยู่ฝรั่งก็ออก ฝรั่งที่มันมาทำสงครามกับเวียดนามน่ะ มันใช้โคราชเป็นฐานทัพด้วย รู้สึกตอนนั้นจะต่อต้านรัฐบาลแล้วก็ต่อต้านอเมริกันด้วย เสร็จแล้วจำได้พอมาอยู่ได้สักพักนึงฝรั่งก็ออกไป ผู้สัมภาษณ์ : ชาวบ้านที่นี่เขาต่อต้านด้วยไหมครับ? สามารถ วงศ์นิยม : ก็มีส่วนอยู่ด้วยมีส่วนอยู่บ้าง เขียนบทความโจมตี บางคนก็เดินขบวนบ้าง ผู้สัมภาษณ์ : ในโคราชมีการเดินขบวนไหมครับ? สามารถ วงศ์นิยม : นิดหน่อยๆ ไม่ค่อยมากเท่าไหร่หรอก ส่วนใหญ่จะเป็นนิสิตนักศึกษาจากส่วนกลางซะส่วนใหญ่ ในพื้นนี้มีส่วนน้อย ส่วนใหญ่ก็มาสายสังคมนิยม ผู้สัมภาษณ์ : แล้วอเมริกาออกไป แล้วพี่อยู่เป็นทนายหรือครับ? สามารถ วงศ์นิยม : ก็มาอยู่มาเป็นทนายกับคุณจำลอง อยู่ บ.ข.ส.เก่า ก็กะว่าจะเป็น ส.ส. ไง คือว่าถ้าจะเป็น สส ที่จังหวัดตราดมันมีคนเดียว มีผู้แทนอยู่คนเดียว แล้วคุณประชุม รัตนเพียร หนึ่งเขาเป็นผู้บริหารของดุสิตพาณิชการ หนึ่งก็คือเหมือนไปสู้กับผู้มีพระคุณของเราเนาะ สองก็คือเขามีทุนมหาศาล เขาถือว่ารวย เราไม่มีทางสู้เขาได้ ก็เลยคิดว่ามาอยู่กับคุณจำลองช่วยกันว่าความ แล้วเดี๋ยวจำลองได้แล้วเราก็จะเกาะ จำลองว่างั้นเถอะ ก็เลยย้ายจากบริษัทมาอยู่โคราช เริ่มเป็นทนายความ มาอยู่กับคุณจำลองสองคน สมัยนั้นทนายก็ไม่ได้เยอะอะไรหรอก จำลองก็ออกไปหาเสียง ผมก็ไปว่าความ ก็คุณจำลองก็ สอบตกๆๆ อะไรอย่างนี้ สอบตกซะตั้งเจ็ดแปดครั้ง ก็เป็นหนี้เป็นสินแบงค์ อะไรจนกระทั่งผมก็ชักเบื่อดวงมันจะไม่ได้เป็น แล้วต่อมาก็เลยแต่งงาน แต่งงานประมาณปี21 กับแฟนแต่ก็ยังไม่ได้ออกจากคุณจำลอง แต่ต่อมาพอมีลูกมีอะไร ซักระยะนึง เอ้ท่าอยู่กับจำลองเราก็ไม่โตเราก็เลยจับมือกันพูดกันดีๆแล้วก็แยกมาตั้งทำสำนักงานเอง พอออกมาตั้งเองก็ยังติดใจเรื่องการเมืองก็เลยลองไปสมัครเทศบาลดู โอโหมีความมุ่งมั่น ไอ้ความคิดที่ว่ามันเป็นรัฐ Utopia จะต้องมีคุณงามความดีผู้ปกครองต้องมีความเสียสละเห็นประโยชน์ต่อประโยชน์ส่วนรวม เราก็คิดว่ามันน่าจะเป็นอย่างนั้นนะ ผู้ปกครองต้องเป็นอย่างนั้นไปใช้ไปโกงไปคอรัปชั่น ก็เดินหาเสียง ปิดสำนักงานตอนนั้นยังไม่มีลูกน้อง ค่ำแต่บ่ายสามโมงเย็นถึงสองทุ่ม สามทุ่มก็มีเดินหาเสียงกับชาวบ้าน ชาวบ้านก็บอกว่าต้องเลือกกลุ่มพวกคุณโดยเฉพาะคุณด้วย คุณมีความรู้ดียังเป็นคนหนุ่ม ตอนนั้นก็สามสิบกว่าๆนิดหน่อยสามสิบเอ็ดสามสิบสอง ต้องเลือกคุณนะ จะได้ผู้แทนที่ดีจะได้สมาชิกเทศบาลมาพัฒนาเทศบาลเราให้ดีอะไรอย่างนี้ เข้าไปในชุมชนต่างๆมีเยอะเราไม่ได้เข้าใจอะไรเลย ก็มองโลกในแง่ดี ก็เข้าไปหาเขาดีๆขอคะแนนเขาดีๆคงไม่มีปัญหาก็มีกำลังใจนะตอนนั้นนะ หาเสียงกันสามเดือนเดินกันผิวดำเลย เสร็จแล้วพอถึงวันเลือกตั้งเราก็ขับรถ ตอนนั้นใช้ Toyota 1300 คันเล็กๆ แล้วก็เราก็ไม่ได้ซื้อเสียงไม่ได้อะไรเลยนะเดินอย่างเดียว เดินจนเมื่อย แล้วก็อย่าลืมนะ ที่รับปากผมไว้ ช่วยผมด้วยนะครับ โอโหผู้นำในชุมชนชูบัตรประชาชน ว่าผมมีบัตรประชาชนอยู่ร้อยใบสองร้อยใบ กลุ่มนู้นก็ให้ผมร้อยนึงแล้วสิบแปดคนก็ให้ผมร้อยนึง กลุ่มคุณจะให้เท่าไหรจะให้มากกว่าเค้าไหมจะได้ลงคะแนนให้ โอโหผมนี่มึนเป็นไก่ตาแตกเลยนะไม่ได้นึกถึงอย่างนี้เลยเนี่ย โอโหปวดหัวจี๊ดขึ้นมาเลย ต้องขับรถกลับบ้านไปกินยาแล้วก็ไปทุกชุมชนก็เป็นอย่างนี้ทั้งนั้น ผลออกมาก็คือเกือบได้ ไม่ใช่เกือบตกนะเกือบได้ พอไม่ได้ก็นึกถึงสัจจะแล้วหล่ะ ถ้าไม่มีเงินซื้อเสียงก็ไม่มีทางได้ มันก็คือความจริงที่เราประสบ หลังจากนั้นก็ติดตามดูทุกสมัยมันก็เป็นอย่างนี้ต้องมีเงิน ต้องใช้หัวคะแนนอะไรถึงจะจัดตั้งอะไรได้ คนที่มีอุดมคติ มีความรู้ไม่ได้ พออย่างนี้มันก็ไม่ไหวแล้ว แฟนก็บอกถ้าอย่างนี้นะมัวแต่ไปเล่นการเมืองเห็น สส ที่โคราชหลายคนหมดเนื้อหมดตัวไม่มีเงิน เป็นคนล้มละลายบ้าง ไม่มีเงินให้ลูกเรียนหนังสือหนังหา เลยตกลงกันว่าก็สนใจแต่อย่าสมัครอีกเลย เพราะฉะนั้น ที่ใจที่ปรารถนา ทำอย่างไรที่จะให้คนหนุ่มคนสาวเข้ามามีส่วนในการเลือกตั้งในการปกครองประเทศ ทำยังไงให้มีการเมืองแบบใหม่ไม่ให้มีการซื้อเสียงไม่ต้องใช้เงิน ให้คนดีๆเข้ามาจะได้ไม่ถอนทุนจะได้ไม่ต้องไปโกงไม่ต้องไปคอรัปชั่น เนี่ยแหละตรงนี้อยากจะได้ ที่วันนี้เปิดอกคุยกันก็อยากจะเสนอเท่านี้ อยากจะให้ระบบการซื้อเสียง ระบบหัวคะแนน ระบบที่ได้ผู้แทนจากการโกงจากการคอรัปชั่นจากการซื้อเสียงเนี่ยหมดไป เพราะเดียวนี้มันคอรัปชั่นเชิงนโยบาย ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนี้ในโคราชก็ยังมี? สามารถ วงศ์นิยม : มี ไม่อ่ะ ยังไม่หายเลย ยังไม่นั่นเลย น้อยคน หนึ่งในร้อยคนละมั้งที่ต่อสู้มาได้ด้วยความดี ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนี้ปัจจุบันมีพรรคอะไรบ้างครับ? สามารถ วงศ์นิยม : พรรคใหญ่ก็คือพรรคเพื่อแผ่นดิน ประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้เลยเนาะ พูดตามจริงเราก็ลงให้ประชาธิปัตย์ เข้าไปในคูหาเราเป็นใหญ่ สามนาทีเราเป็นใหญ่ประเทศไทยอยู่ในมือเราจะเลือกอย่างนี้แหละไม่ได้ก็ไม่ได้ เราจะเลือกคนดีมีคุณภาพไม่ซื้อเสียงประชาธิปัตย์เขาก้ไม่ซื้อเสียง เอานโยบายเอาคนดีมาว่ากัน อือก็อยากจะพูดต่อไปเพราะว่าได้ศึกษาเหมือนกันว่าวิธีที่จะแก้ไม้ให้มีการซื้อเสียง ไม่ใช้ระบบหัวคะแนน ไม่ใช่เอาคนที่มีเงินมีอิทธิพลมาเป็นผู้แทนก็คือ มีข้อเสนอแนะว่า ต้องให้รัฐบาล องค์กรที่มีอำนาจเนี่ยใช้ ฟรีทีวี คือช่อง 3 5 7 9 itv ช่องอะไรต่อมิอะไรซึ่งจะเสนอละครน้ำเน่าอะไรก็เสนอไปแต่ว่าควรจะมี โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจวันละครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมง ให้ความรู้ว่าต้องเลือกผู้แทนที่ดี มีคุณภาพเข้าไป แล้วจะก่อให้เกิดประโยชน์ยังไงถ้าได้คนโกงเข้าไป จะทำให้เกิดผลเสียหายให้กับประเทศชาติของเราจะอยู่ในน้ำเน่าเดินวนอยู่ในวงจรอุบาทที่ไม่มีที่สิ้นสุดอย่างนี้ ต้องทำยังไงต้องให้รัฐบาลทำให้ได้ถ้าทำไม่ได้ก็ยังอยู่ในน้ำเน่าอยู่อย่างนี้ วิธีแก้ไม่ได้ยากเย็นอะไรเลย เพราะได้สังเกตดูว่า ความจริงเราก็ศึกษาข้อเท็จจริงอะไรต่างๆ ศึกษาจากทุกฝ่าย เสื้อสีเหลืองเราก็ศึกษาดู astv dtv เราก็ดู ฟรีทีวีเราก็ดูไอ้ฟรีทีวีน้ำเน่าเนี่ยเราก็ดูเราก็เห็น ปรากฏว่า astv มันเผยแพร่อยู่ไม่นานเท่าไหร่โอโหพลพรรคเสื้อสีเหลืองเขาก็อาจมีความคิดแตกต่างกับเราบ้างเราก็ไม่รู้ แต่ว่าเขาติดอาวุธทางปัญญาได้ดีมากๆซึ่งทำให้เราคิดว่าไม่ใช่รัฐบาลทำไม่ได้ รัฐบาลจะทำจริงๆ ทำได้ ให้ประชาชนฉลาด ติดอาวุธทางปัญญาทางความคิดแล้ว ไม่ต้องไปเลือกคนที่ซื้อเสียง มีอิทธิพล แต่เลือกคนที่มีคุณธรรม มีความรู้ ทำได้ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ เพียงแต่ว่ารัฐบาลจะทำรึป่าว เพราะรัฐบาลที่มาก็ ไม่ค่อยจะดี รัฐบาลทรราช เพราะฉะนั้นเป็นรัฐบาลทรราชก็พยายามแสวงหาผลประโยชน์ เพราะฉะนั้นแสวงหาผลประโยชน์จะไปเปิดเผยขอเท็จจริงที่เป็นปรปักษ์กับตัวเองก็ไม่ได้ ผู้สัมภาษณ์ : ถ้าพันธมิตรตั้งพรรคหล่ะครับ? สามารถ วงศ์นิยม : พันธมิตรตั้งพรรคถามว่าจะไปร่วมมั้ย ถามว่าพี่จะไปร่วมมั้ยใช่ไหมครับ ผู้สัมภาษณ์ : เอาแค่คิดก่อนว่า เห็นด้วย ไม่เห็นด้วยอ่ะ? สามารถ วงศ์นิยม : พันธมิตรตั้งพรรคเห็นด้วยหรือไม่พี่ว่า ถ้าไปเป็นพรรคการเมืองแล้วก็คงทำอะไรเพื่อประโยชน์ของคุณแล้ว ประโยชน์ของพรรคคุณ ของกลุ่มคุณ แล้วทีนี้สมาชิกหรือว่าคณะบริหารของพรรค ไม่รู้ว่าจะแสวงหาผลประโยชน์อะไรกันรึป่าว เพราะผลประโยชน์อำนาจมันไม่เข้าใครออกใคร สู้อยู่กลุ่มกลางๆ คอยเป็นกระจกฝ่ายที่เสนอข้อมูลข้อเท็จจริงอะไรต่างๆให้ความรู้ที่ถูกต้องกับสังคมจะดีกว่า ในความเห็นของพี่ว่าอย่างนั้นเถอะ แถมอีกนิด ไม่รู้ถ้าเข้าเมรุแล้ว ประเทศไทยตั้งแต่เกิดมาจนจำความได้จนถึงบัดนี้ เราอายุหกสิบสาม เดือนมิถุนานี้หกสิบสามการเมืองจะมีการเปลี่ยนโฉมเป็นไปอย่างที่เราอยากจะได้รึป่าวก็ไม่รู้ ถ้าเป็นแบบนี้ไม่มีทางประเทศไทยก็ ต่อไปก็ เมื่อก่อนนี้เราเคยเจริญก้าวหน้ากว่ามาเลเซีย จนตอนนี้มาเลเซีย ก้าวหน้านำหน้าเราไปแล้ว เมื่อก่อนเราเคยนำหน้าเวียนนามไปหลายช่วงเดี๋ยวอีกไม่กี่ปีเวียดนามคงจะนำหน้าจากเราไปแล้ว เมื่อก่อนนี้รู้สึกเราจะส่งทหารออกไปรบที่เกาหลี แต่ตอนนี้การเมืองหรือภาคประชาชนเกาหลีเข้มแข็งมาก นั่นแหละก็อยากจะให้ได้แบบเกาหลีอะไรอย่างนี้ แต่ทีนี้ว่าวัฒนธรรมประเพณีคงไม่ได้เข้มแข็งดุเดือดแบบเกาหลี อ่า เราแบบไทยเรา คุณอภิสิทธิ์ก็เป็นความหวังเล็กๆแต่ไม่รู้ว่าต่อไปจะถูกครอบด้วยอะไรหรือไม่ยังไง ก็ยังหนักใจแทน ผู้สัมภาษณ์ : ส่วนงานสามสี่เดือนนี้ก็ยังคงเห็น? สามารถ วงศ์นิยม : เอ่อเฉพาะตัวคุณอภิสิทธ์ยังพอรับได้ แต่พรรคร่วมรับไม่ได้ ขึ้นมาไม่ทันไรก็จะไปเช่ารถ ngv อะไรหกพันคันว่าเอาไปเช่าแพงกว่าซื้อซะอีกแล้วเมืองไทยก็อู่ต่อรถพวกนี้ทำได้ อย่างเช่น นครราชสีมาทำได้ บ้านโป่งราชบุรีทำได้ พวกนี้จะทำในเมืองไทยนี่ทำได้เค้าต่อตัวทังรถทัวร์เค้ายังต่อได้ คันหนึ่งก็ไม่เกินสามล้านแล้วนั่นซื้อรู้สึกถึงจะเป็นสิบล้านเช่าก็เป็นสิบล้านแล้วผูกพันอะไรอีกมันน่าเกลียดมากๆ ฉะนั้นนี่อย่างนี้ก้รับไม่ได้ๆ ก็ลงตรงนี้แหละ นะ อยากจะได้ตรงนี้แหละทำไงถึงจะช่วยกันทุกวันนี้ก็ยังติดตามการเมืองอยู่ตลอดเวลา เพื่อนฝูงที่เคยทำงานกันมาก็ยังประสานติดต่อกันอยู่ไปมาหาสู่กันอยู่ มีอะไรก็ปรึกษาหารือกันอยู่ ครับเราก็คงในรูปปรึกษาหารือกันเป็นครั้งเป็นคราว ผู้สัมภาษณ์ : คนรุ่นเดียวกันกับพี่อยู่กันทั้งสองฝ่ายเลยหรือเปล่า? สามารถ วงศ์นิยม : อยู่ทั้งสองฝ่ายเลย เป็นที่งงมากๆ ไอ้ตอนที่เรียนก็มีอุดมการ์อุดมคติต่อสู้เผด็จการเหมือนกัน เมื่อกี้เนี่ยยกตัวอย่าง คุณคงไม่รู้จักหรอก อย่างโกศล ธีรนุช ธวัชไอ้นี่เสื้อเหลือง แต่นี่โอโหไอ้สุนทร เทพูปถัม ไอ้นี่สีแดงเป็นเครือข่ายของคุณ สุดารัตน์ ไปคนละเรื่องเลยทั้งๆ มันก็เป็นเพื่อนกันนะเป็นเพื่อนสนิทกันด้วย ผู้สัมภาษณ์ : แล้วเพื่อนมีมาชวนไปร่วมฝ่ายนี้มั้ยร่วมฝ่ายนู้นมั้ย? สามารถ วงศ์นิยม : อ๋อมาชวนหรอ ก็ถ้าพวกเดียวกันก็ชวนกัน คนละพวกมันก็ไม่ชวนอย่างเช่นไอ้สุนทรมันก็ไม่เคยชวนผมไปสีแดง เวลามันกินข้าวกันทีเถียงกันวงจะแตก ไอ้บางคนก็เชียร์ทักษิณอย่างนู้น บางคนก็ว่าโกงอะไรถึงขนาดว่าขายของไม่เสียภาษีแม้แต่บาทเดียว เราว่าความเราก็ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายนะ ว่าความให้กับบริษัทห้างร้าน 3%เราก็ถูกหักนะที่จ่าย อาแป๊ะขายโอเลี้ยงขายกาแฟขายก๋วยเตี๋ยวยังถูกเก็บภาษี แม้แต่ที่เจ็บปวดมากบางคนบอกว่าก็ผู้นำก็โกงทุกคน ใครเป็นนายกก็โกงทุกคน นอกจากวงข้าว วงเพื่อนร่วมรุ่นก็ยังมีหลายความเห็นอีก พวกพ่อค้า พวกลูกความบางคนก็มีความเห็นอย่างนี้ เราก็บอกว่าการที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมามันโกง เราต้องเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่จะต้องเริ่มแนวทางว่า ฉันไม่โกง ฉันก็รวยเพียงพอแล้ว ฉันขายของไปเจ็ดหมื่นกว่าล้านเสียภาษีไปสองหมื่นกว่าล้านก็ยังเหลืออีกประมาณสี่หมื่นกว่าล้านก็ยังเหลือกินไปทั้งชาตินึงก็ไม่หมดแล้ว ให้ประกาศเลยว่าผมเนี่ยเป็นตัวอย่างว่าเลิกโกงกันเถอะประเทศไทย โดยเฉพาะผมเป็นนายก ผมขายของได้ประมาณเจ็ดหมื่นล้านผมยอมเสียภาษี30-40%ก็ประมาณสองหมื่นกว่าล้านเหลืออีกสี่หมื่นกว่าล้านผมพอเพียงแล้วผมใช้ไม่หมดหรอก เรามาช่วยเสียสละเพื่อประเทศนะต่อไป เราพยายามอย่าโกงภาสงภาษีบ้านเมืองให้มันน้อยลงหน่อย เพื่อจะมาเสียสละกัน ถ้าคุณทักษิณทำอย่างนี้ได้นะ เค้าจะเป็นวีรบุรุษเลือกตั้งได้ทุกยุคทุกสมัย ผู้สัมภาษณ์ : แต่ก็มีฝ่ายซ้ายอยู่ในเสื้อเหลืองเยอะหลายคนเหมือนกัน? สามารถ วงศ์นิยม : ฝ่ายซ้ายในเสื้อเหลืองก็มี แต่ทีนี้ไปอยู่ในเสื้อเหลืองมันก็เปลี่ยนไปเหมือนกันนะแต่เขาก็ยังมีความเป็นธรรมแต่จุดมุ่งหมายเขาจุดเขาก็เป็นอย่างนั้น ก็หลายคนอย่าง ประพันธ์ คูณมี ประสาร มฤคพิทักษ์ ประพันธ์ คูณมี นี่ก็เวลาที่เขาพูด เวลาที่เขาปราศรัยโอโหต้องฟังเขานะ เขาเป็นคนที่ปราศรัยแล้วข้อมูลมันเพียบ เนื้อหาสาระเพียบ คุณสิริโชค ที่เป็น สว. โคราชเนี่ย คนใต้เหมือนกันนะ แต่มาใหญ่ที่โคราชนะ ก็มีความคิดความอ่านที่ดีแต่ว่าแน่นสู้คุณประพันธ์นี่ยังไม่ได้ ประพันธ์นี่รู้ว่ามากี่โมงนี่ ผมต้องหยุดทำงานนะ เสื้อเหลืองนี่ว่ากันเรื่องเสนอแนะข้อมูล ข้อมูลข่าวสารความเป็นประโยชน์ต่ประชาชนเขาเนี่ย ระหว่างเนื้อหาสาระเสื้อแดงเสื้อเหลือง สู้เสื้อเหลืองเขาไม่ได้หรอก เนื้อหาสาระปรัชญงปรัชญาสู้เขาไม่ได้ แล้วก็มีผู้หญิงอีกคน อัญชลี ไพรีรัตน์ โหนี่พูดจนลิงตกต้นไม้เลยรึป่าวก็ไม่รู้ ไม่รู้น้องโชติศักดิ์อยู่ฝ่ายไหน หรืออยู่มูลนิธินี้ต้องเป็นกลาง แล้วในส่วนตัวนี่ชมชอบอะไร ผู้สัมภาษณ์ : ถ้าอย่างนั้นผมคงต้องหยุดเทปไว้ก่อนนะครับ (หัวเราะ) สามารถ วงศ์นิยม : เดี๋ยวมันจะไปติดใช่มั้ย ผู้สัมภาษณ์ : พี่มีอะไรจะทิ้งท้ายหรือเพิ่มเติมไหมครับ ? สามารถ วงศ์นิยม : ก็ที่พี่ต้องการนั่นแหละพี่ทิ้งท้ายไปแล้ว อยากจะได้อะไรที่เป็นอนาคตของประเทศชาติและวิธีแก้ได้เสนอแนะไปแล้ว มองดูแล้วไม่มีทางอื่นเลยนอกจากการศึกษา การศึกษารัฐบาลต้องเป็นตัวนำหรือไม่เช่นนั้น ถ้าคุณใจเป็นกลางคุณต้องให้โอกาสองค์กร อาจจะเป็นมูลนิธิ14ตุลา คุณก็ให้งบประมาณเขาไป แล้วให้เค้าไปทำสปอตแล้วไปออกฟรีทีวีหรือขอความร่วมมือเคเบิลทีวีให้การศึกษาไปว่าเรา ต่อไปนี้เราเลือกผู้แทนเราเลือกยังไงถึงจะได้คนดีได้คนดีก็จะได้รัฐบาลดี ได้รัฐบาลดีเขามาเป็นคนที่เสียสละ ร่วมมือร่วมใจกันทำงานอย่างคุณ อลงกรณ์ พลบุตร คุณอภิสิทธิ์ คุณอลงกรณ์ประวัติท้ายไม่รู้เป็นอะไรนะแต่ภาพที่ออกมาเป็นคนที่ต่อต้านคอรัปชั่นใช้ได้ คุณอภิสิทธิ์ก็โอเคคนอื่นก็ยังไม่ค่อยเห็นเท่าไหร่ จบการสัมภาษณ์ |