บทสัมภาษณ์ - สุทิน บรมเจต
วันที่ 22 กรกฏาคม 2552 เวลา 14.00 น.
สถานที่ สภาทนายความ
ผู้สัมภาษณ์ :ชัชชล กาญจนกิตติ และ วาสิฎฐี บุญรัศมี
ตามโครงการของมูลนิธิ 14 ตุลา ในการรวบรวมปากคำของคนที่อยู่ในเหตุการณ์ เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลเพื่อการศึกษาต่อไป
ผู้สัมภาษณ์ : ไม่ทราบว่าพี่เกิดปี พ.ศ.อะไรครับ
คุณสุทิน : 2499
ผู้สัมภาษณ์ : เกิดที่ไหนครับ?
คุณสุทิน : ทุ่งสง นครศรีธรรมราช
ผู้สัมภาษณ์ : ตัวอำเภอเลยหรอคะ
คุณสุทิน : เปล่านอกอำเภอ
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นที่บ้านประกอบอาชีพอะไรครับ?
คุณสุทิน : ค้าขาย
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วพี่เริ่มเข้าเรียนอะไรที่ไหนครับ?
คุณสุทิน : ประถม 1-4 เรียนโรงเรียนเอกชนเจริญวิทยา
ผู้สัมภาษณ์ : ใกล้บ้านหรอครับ?
คุณสุทิน : ใกล้บ้านครับ เดินไปได้ประถม 5-7 เรียนที่โรงเรียนเทศบาลวัดชัยชุมพล ตอนเข้าเรียนมีถึง ป.7 พอเรียนถึงชั้น ป.6 ขึ้น ป.7 ก็ยุบชั้นที่มีเพียงป.4 ให้ไปเรียนที่โรงเรียน เทศบาลวัดท่าแพ จึงไปจบชั้น ป.7 ที่โรงเรียนเทศบาลวัดท่าแพ แล้วก็ มศ.1-3 เป็นโรงเรียนทุ่งสง โรงเรียนประจำอำเภอ แล้ว มศ.4-5 เรียนที่อำนวยศิลป์ พระนคร
ผู้สัมภาษณ์ : ที่กรุงเทพหรอครับ?
คุณสุทิน : กรุงเทพ
ผู้สัมภาษณ์ : เอาช่วงเวลาที่อยู่ที่ทุ่งสงก่อนนะคะ ช่วงนั้นรับรู้ข่าวสารกันเยอะไหม?
คุณสุทิน : รับรู้ข่าวสารทางหนังสือพิมพ์ ทางการสื่อสารระหว่างคนต่อคน ทางวิทยุ
ผู้สัมภาษณ์ : ทางวิทยุของรัฐหรือเปล่าครับ?
คุณสุทิน : วิทยุของส่วนกลาง วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์
ผู้สัมภาษณ์ : พอย้ายเข้ามาอยู่ที่กรุงเทพ บรรยากาศมันต่างกันยังไงบ้าง?
คุณสุทิน : ก็แตกต่างกันหลายส่วน ช่วงที่อยู่ มศ.3 นั้นที่ทุ่งสงโทรทัศน์ยังไม่มี เริ่มมีตอนใกล้จบ มศ.3 แต่ยังเป็นเม็ดฝนอยู่ มากรุงเทพก็มีโทรทัศน์ขาวดำ มีไม่กี่ช่อง เทคโนโลยีเปลี่ยนไป แต่ถ้าจะบอกว่าเห็นความแตกต่างชัดเจนก็ไม่ชัดเท่าไหร่เพราะว่าสภาพที่อยู่ที่อำเภอทุ่งสงเป็นสภาพกึ่งเมือง กึ่งตลาด แต่ว่าที่กรุงเทพแออัดมากกว่า
ผู้สัมภาษณ์ : แสดงว่าที่ทุ่งสงก็เจริญ?
คุณสุทิน : ครับ มันเป็นชุมทาง ทุ่งสงเป็นตลาดใหญ่เลย มีศูนย์กลางตลาดเล็กจะมาที่นั่นเยอะ
ผู้สัมภาษณ์ : เข้ามาเรียนที่กรุเทพปีอะไรคะ?
คุณสุทิน : 2515
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นมาอยู่คนเดียวหรอครับ?
คุณสุทิน : อยู่กับพี่ชายอาศัยเขาอยู่ อยู่หลังโรงพักพญาไท ใกล้โรงเรียนด้วย
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วทำไมมาเรียนที่กรุงเทพคะ?
คุณสุทิน : ก็ยังไม่รู้เหมือนกัน อาจจะเพราะเป็นวัฒนธรรมที่ต่อกันมาตั้งแต่พี่ชายมาเรื่อยๆ ในเมื่อมีทิศทางก็เอา ในช่วงหลังนี่รุ่นเรามันไม่มีทิศทางไม่มีคนแนะนำ คนที่เรียนไม่เก่งก็ไปเรียนที่ในตัวจังหวัด คือวิทยาลัยครูปัจจุบันเป็นราชภัฎ คนที่เก่งระดับหนึ่งก็จะเข้ามาเรียนช่าง แต่ถ้าสูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่งคะแนน 70% ขึ้นไปก็จะมาเรียนสายสามัญตามๆกันมา ก็คล้ายๆวัฒนธรรมของรุ่นพี่ที่เข้ามาเรียนก่อน ระดับคะแนนอย่างงี้ควรจะเรียนอันนี้ พอ มศ.4 ผมก็เลยมาเรียนสายวิทยาศาสตร์
ผู้สัมภาษณ์ : เรียนสายวิทยาศาสตร์หรอครับ?
คุณสุทิน : ครับผมเรียนสายวิทยาศาสตร์ครับ แต่ว่ามาสอบเรียนของสายศิลป์
ผู้สัมภาษณ์ : ช่วงปี 14 ที่รัฐบาลทำการปฏิวัตินั้นมีการรับรู้อะไรบ้างไหมครับ?
คุณสุทิน : ก็ได้ฟังอยู่แต่ก็ไม่รู้เรื่องอะไร เพรามันก็รู้ตรงจาก ก็เรียนรู้จากการเลือกตั้งในเทศบาลพอมีการยึดอำนาจก็ไม่มีการเลือกตั้ง
ผู้สัมภาษณ์ : พอเข้ามาในกรุงเทพได้ใกล้ชิดกับกิจกรรมของนักศึกษาไหมครับ?
คุณสุทิน : ไม่มีเลย มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ย้ายบ้านเยอะมากช่วง มศ.5 ได้พบกับรุ่นพี่ที่เรียนที่ธรรมศาสตร์ก็เลยได้รู้เรื่องกิจกรรม ตอนนั้นปี 16 แล้ว
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วรุ่นพี่ที่ธรรมศาสตร์เขามาพบเจอ พี่ได้รับรู้กิจกรรมด้านไหนครับ?
คุณสุทิน : เขาไม่ได้พูดถึงกิจกรรมแต่เขาชอบอ่านหนังสือพิมพ์ เขาก็เลยเอาหนังสือพิมพ์มาให้เราอ่านเกี่ยวกับความเป็นไปของบ้านเมือง
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วตอนนั้นเริ่มมีความสนใจมาทางด้านนี้บ้างไหมครับ?
คุณสุทิน : ไม่มีเลย
ผู้สัมภาษณ์ : ช่วงต้นปี 16 เริ่มมีกิจกรรมของนักศึกษาที่โด่งดังขึ้นมา?
คุณสุทิน : รามคำแหง เรื่องสภาสัตว์ป่า
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นพี่ก็ติดตาม?
คุณสุทิน : ที่รู้คือมีรุ่นพี่ที่เรียนที่รามคำแหงอยู่
ผู้สัมภาษณ์ : เขามีมาชักชวนไหมคะ?
คุณสุทิน : ไม่มี
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วตอนนั้นพอจับบรรยากาศความรู้สึกของคนต่อปฏิกิริยาของข่าวได้ไหมคะ?
คุณสุทิน : เรียนหนังสือก็ไมได้มีการรคุยอะไรกัน ก็แค่ทราบข่าวแต่ความตื่นตัวหรือปฏิกิริยาทางความคิดก็ไม่เกิดอะไรขึ้น
ผู้สัมภาษณ์ : ก็คือความไม่พอใจรัฐบาลก็คือยังไม่เกิดขึ้น?
คุณสุทิน : ก็ไม่มี เฉยๆ
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วเรื่องกิจกรรมอื่นล่ะครับ?
คุณสุทิน : มีเรื่องทุ่งใหญ่ก่อนที่จะมาประท้วงรัฐบาล มันมีการลบชื่อนักศึกษาออกจากมหาวิทยาลัยใช่ไหมครับ มันก็มีเรื่องที่ข้าราชการใช้เฮลิคอปเตอร์ของราชการไปล่าสัตว์ เราก็รู้สึกไม่ค่อยพอใจเท่าไหร่นักที่เขาทำอย่างนั้น
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วเรื่องต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น?
คุณสุทิน : กระแสที่มันมาถึงเราโดยตรงก็คือตอนนั้นเรานิยมผ้าไทย ก็มากระทบตรงนั้นเอง เรื่องการรณรงค์สินค้าไทยต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น เพราะเราก็ไปเดินเที่ยวอยู่บ่อยๆ
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนรณรงค์ทำกิจกรรมของนักศึกษาเข้าถึงเด็กนักเรียนไหมคะ เท่าที่พี่เจอมีบ้างไหม?
คุณสุทิน : มันไม่เข้าถึงทางตรงมันเข้าทางอ้อมมากกว่า จะเข้าถึงทางตรงช่วงหนึ่งก็คือช่วงที่ผมอยู่ มศ.5 ช่วงที่ผมย้ายไปอยู่ย่านคลองประปาสามเสน มันมีหลากหลายทั้งที่เรียนที่รามคำแหงเขาจะมานั่งคุยกัน เราก็จะมาฟัง ประมาณก่อน 14 ตุลานิดหนึ่งจะมานั่งคุยกัน กินเหล้า จะมีนักอ่านหนังสือมานั่นมาเล่า ก็เริ่มได้เรียนรู้
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วอย่างกลุ่มในโรงเรียนมีกลุ่มที่คุยเรื่องนี้ไหมครับ?
คุณสุทิน : ไม่มีเลย ก็มีแค่ช่วงมศ. 5ที่เราจะไปสอบเข้าเรียนต่อ ก็มีแต่ของวถีชีวิตที่ตามระบบ วัฒนธรรมการเรียนรู้ที่เลียนแบบกันมา
ผู้สัมภาษณ์ : ก่อนหน้า 14 ตุลาพี่มีส่วนเข้าร่วม หรือเรียนรู้อะไรมาบ้างไหมครับ?
คุณสุทิน : ก็มีรับรู้จากที่อ่านจากหนังสือพิมพ์ แล้วก็มีวันหนึ่งในโรงเรียนไม่รู้นักเรียนรู้สึกยังไง อยากจะเดินไปที่ธรรมศาสตร์ก็เดินไปร่วมชุมนุม
ผู้สัมภาษณ์ : คือรู้ข่าวการชุมนุมแล้ว?
คุณสุทิน : รู้ แล้วรู้สึกวันนั้นจะเป็นวันก่อนวันสุดท้าย
ผู้สัมภาษณ์ : ออกจากธรรมศาสตร์วันที่ 13 ใช่ไหมครับ?
คุณสุทิน : ก็ไม่รู้ใครมาชักชวนไป นักเรียนทั้งหมดก็เดินตามกันไป นักเรียนทั้งหมดก็เดินออกจากโรงเรียนก็มีปัญหากับครูมาก เพราะครูก็คัคค้านไม่อยากให้มา เดินจากแยกศรีอยุธยามาที่ธรรมศาสตร์ก็หลายร้อยคน
ผู้สัมภาษณ์ : ผู้นำตอนนั้นเป็นนักเรียนเองหรอว่ายังไงครับ?
คุณสุทิน : ไม่มีผู้นำเลยตอนนั้น ไม่รู้ใครมาชักชวนด้วยเพราะเดินตามๆกันออกมา ผมว่ามันมีกระแสมากกว่าว่าตอนนี้มันมีการชุมนุมโรงเรียนนั้นก็ไปโรงเรียนนี้ก็ไป เราก็เลยไปกันครับ
ผู้สัมภาษณ์ : พี่ติดตามตั้งแต่มีการจับ 13 กบฎพี่ติดตามจาก
คุณสุทิน : ส่วนใหญ่จากสื่อหนังสือพิมพ์สื่อตรงไม่ค่อยมี
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนที่เดินออกมาจากโรงเรียนนี่มีชูประเด็นเหมือนคนอื่นไหมคะ?
คุณสุทิน : ไปแบบไม่รู้ว่าจะไปอะไร เพื่ออะไร รู้ว่าไปเรื่องเดียวต่อต้านรัฐบาล รัฐบาลนี้มีการครองอำนาจมายาวนานไม่มีการเลือกตั้งซักที อารมณ์ร่วมก็คือการจับกุมโดยไม่มีสาเหตุ แค่นี้ก็จับ
ผู้สัมภาษณ์ : อันนี้คือความรู้สึกส่วนตัวของพี่?
คุณสุทิน : ครับ คือเข้าไปดู
ผู้สัมภาษณ์ : เข้าไปเจออะไรบ้างครับ กิจกรรมบนเวทีหรือบรรยากาศรอบๆ?
คุณสุทิน : บรรยากาศรอบๆมากกว่าครับ เข้าไปก็ได้นั่งฟังเรื่องที่ผู้นำนักศึกษาพูด ได้รับรู้ต่างจากห้องเรียน เหมือนการเข้าโรงเรียนการเมืองห้องใหญ่มันก็มีส่วนกระตุ้นเหมือนกัน
ผู้สัมภาษณ์ : ประเด็นใหม่ๆที่พี่เจอตอนนั้นมีอะไรบ้างคะ?
คุณสุทิน : ประเด็นเรื่องความไม่เป็นธรรมของรัฐบาล รัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย รัฐบาลไม่ยอมให้มีการเลือกตั้ง รัฐบาลเผด็จการ ความรู้หลักๆก็คือมีการจับ 13 คนที่เรารู้ก่อนหน้านั้นคือไปแจกใบปลิวแล้วจับ ทำไมต้องจับด้วยแล้วรัฐบาลเองหลังจากมีการยึดอำนาจด้วยการรัฐประหารตัวเองก็ไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งเลย
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วพอเข้าไปแล้ววันนั้นเป็นช่วงวันไหนครับ?
คุณสุทิน : คืนก่อนที่จะออก ผมก็อยู่ที่นั่นทั้งคืน พอเขาเดินออกผมก็ออกมาด้วย
ผู้สัมภาษณ์ : อยู่ส่วนไหนของขบวนคะ?
คุณสุทิน : คือเขาก็มีจัดขบวนแต่เราก็ไม่ได้จัดขบวน คือตอนนั้นก็ไปอยู่ในส่วนการ์ด ก็ไปดูก็เดินตามคล้องแขนกันไปโดยที่ไม่มีการจัดการอะไร
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นรู้สึกกลัวไหมครับ?
คุณสุทิน : รู้สึกปกติเฉยๆ คือเราก็ไม่มีความรู้สึกว่าจะมีการใช้ความรุนแรงมันก็เป็นกระแสส่วนหนึ่งจากการไปอยู่ที่นั่น กระแสจากการเรียกร้องเสรีภาพบ้างอะไรบ้าง เราก็ไปตามกระแสไปตามสภาพแวดล้อม
ผู้สัมภาษณ์ : ถ้าดูเรื่องการบริหารจัดการจากขบวนที่เดินออกไปหรือว่าที่อยู่ในมหาวิทยาลัย พี่ว่ามีการจัดการที่ดีไหมหรือว่าวุ่นวาย?
คุณสุทิน : ในส่วนระบบผมก็ไม่ได้เข้าไปโดยตรงแต่ว่าตอนที่อยู่ภายในนี่มีการแนะนำตลอด สิ่งที่เราจะต้องเผชิญกับการถูกฉีดน้ำเราควรจัดการยังแล้วก็แก๊สน้ำตาเราควรทำยังไง อีกอย่างทางบนเวทีก็ไม่ได้เสนอให้ใช้ความรุนแรงแนะนำให้ใช้วิธีการสันติวิธีดีกว่า
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วอย่างพวกสวัสดิการล่ะครับ อาหาร?
คุณสุทิน : เขามีแจก
ผู้สัมภาษณ์ : พี่เดินออกไปเจออะไรบ้างคะ ระหว่างทางช่วยเล่านิดหนึ่ง?
คุณสุทิน : ระหว่างทางก็ไม่เจออะไรก็เดินไปเรื่อยๆ ระหว่างทางก็เขาจะมีการจัดขบวนเดินไปเรื่อยๆ ระบบเขามีจัดอยู่แล้วมีทีมแล้วก็มีทีมอาชีวะทำหน้าที่ตรงนี้โดยตรง มีส่วนนักศึกษาที่มาจัดริ้วขบวนโดยตรง ผมก็ไม่มีส่วนตรงนั้นเราเดินไปที่ลานพระรูปแล้วผมก็เดินกลับบ้านต่อ
ผู้สัมภาษณ์ : พอมาถึงลานพระรูปพี่ก็เดินกลับบ้าน?
คุณสุทิน : ครับ เดินกลับบ้านไม่ได้นั่งรถเมลล์
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วเพื่อนๆที่ไปด้วยกันล่ะครับ เดินด้วยกันไหม?
คุณสุทิน : ไม่รู้กระจัดกระจายไปไหนหมดไม่เจอกันเลย ตอนหลังมาเจอเพื่อนที่ ที่เรียนห้องเดียวกันชั้น มศ.4 เขาก็เล่าว่า ยังอยู่ด้วยกันแต่เราไม่เจอกัน
ผู้สัมภาษณ์ : พอกลับไปบ้านเป็นไงต่อ?
คุณสุทิน : วันที่ 13 ก็เป็นวันที่ออกเดินมา ก็มาฟังข่าวที่บ้านก็เลยออกจากบ้าน
ผู้สัมภาษณ์ : ออกมาดูหรอครับหรือว่ายังไง?
คุณสุทิน : ออกมาดู ออกมากับรุ่นพี่ที่อยู่บ้านเดียวกัน
ผู้สัมภาษณ์ : มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง?
คุณสุทิน : ออกมาก็ไม่มีอะไร เพราะว่าตอนที่เราออกมามันก็เงียบตอนนั้นพักอยู่ที่สามเสน รถเมล์ก็ไม่มี มาก็ไม่เจออะไรแต่ระหว่างทางที่เดินมาถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก็มีข่าวเรื่อยๆว่าผู้นำคนนั้นถูกยิงบ้าง ผู้นำคนนี้ถูกยิงบ้าง
ผู้สัมภาษณ์ : เป็นข่าวจากวิทยุหรอครับ?
คุณสุทิน : พูดต่อกันมาตอนที่เราเจอคน
ผู้สัมภาษณ์ : พี่มาเจอตอนที่เกิดความรุนแรงไหมคะช่วงที่เผาตึกหรือว่า....
คุณสุทิน : ก็มาทันตอนที่หน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ ที่เขายิงเพราะตอนนั้นผมอยู่หน้าโรงแรมพอดี เขายิงเราก็หมอบลง ก็เห็นตอนที่ธีรยุทธ
ผู้สัมภาษณ์ : ธีรยุทธ บุญมี
คุณสุทิน : ไม่ใช่ธีรยุทธผู้นำ ธีรยุทธที่ตาย
ผู้สัมภาษณ์ : อ๋อ ธีระ บุญมาก
คุณสุทิน : เราก็หมอบอยู่ ซักพักตอนนั้นแหละมันก็เริ่มวุ่นวายทั้งเสียงปืนก็ดัง ก็เห็นทหารออกมา
ผู้สัมภาษณ์ : ทหารหรือว่าตำรวจ?
คุณสุทิน : ทหารเขาก็ยิง เราก็หมอบ
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วทำไมไม่กลับบ้านคะ?
คุณสุทิน : ก็คนก็ยังเยอะอยู่ ไม่กลับบ้านกันแล้วก็อยากดูอยู่
ผู้สัมภาษณ์ : มีการตอบโต้ไหมครับ?
คุณสุทิน : ก็เห็นคนเอารถยนต์ขับไปชนรถถังอะไรอย่างงี้ หลายคนก็ขับไปชน บางคนก็เหยียบคันเร่งแล้วปล่อยรถไป กองสลากในปัจจุบันนี่ตอนนั้นเป็นสหกรณ์ ตอนนั้นชลมุนก็มีเหตุการณ์สารพัดมากมาย วุ่นวายตลอดเวลาแล้วมีไฟไหม้ที่สหกรณ์ ถัดไปก็เป็นกรมประชาสัมพันธ์ก็มีไฟไหม้ ไฟลุกเราก็ไปดูก็ยังไปหัวเราะกับเพื่อนๆ ที่เห็นคนเข้าไปหิ้วของกัน ตอนนั้นสหกรณ์ร้านค้าไง เห็นคนหิ้วของออกมา ออมาเจอ กตป.ที่เป็นที่ของ ณรงค์ กิติขจร เป็นเป้าหมายแล้วก็เลยโดนเผา แต่ว่ามีคนติดอยู่ข้างบนเราก็วิ่งไปล้อมให้เขากระโดดลงมาแล้วเรารอรับข้างล่าง เขาไม่ยอมกระโดดลงมาสุดท้ายก็ถูกย่างสดก็ตาย เหตุการณ์ก็ชุลมุนไปหมด มีการเจอศพก็เอาศพมาโชว์แล้วสุดท้ายก็เอาศพขึ้นไปไว้บนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วตอนนั้นมีผู้นำนักศึกษาที่พูดพยายามรวมกลุ่มไหมครับ?
คุณสุทิน : ไม่เห็นเลยครับ สภาพการนำตอนนั้นนี่ไม่มีเลย ประชาชนก็สู้กันไป
ผู้สัมภาษณ์ : ในความรู้สึกของพี่ตอนนั้นมันรุนแรงมากไหมคะ แบบว่ามันจะจบหรือเปล่า?
คุณสุทิน : ยังไม่รู้สึกว่าจะจบหรือเปล่ายังไงไม่รู้เพราะว่าอ่านภาพไม่ออกในตอนนั้น รู้แค่ว่ารัฐบาลก็ควรเจอยังงี้ ทำอะไรมากมันก็เป็นสภาพอย่างนั้น
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วอยู่ตรงนั้นถึงเมื่อไหร่ครับ?
คุณสุทิน : อยู่ถึงช่วงเย็นก็กลับ
ผู้สัมภาษณ์ : พอเหตุการณ์มันจบลงพี่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงบ้างไหมคะ บรรยากาศรอบข้างเปลี่ยนไปไหม?
คุณสุทิน : มันเป็นเร็วและแรงมากหลังเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลามันเกิดความชิงชังทหารก็มาก การตอบรับประชาชนที่คัดค้านทหาร ทหารเองก็ไม่กล้าแต่งเครื่องแบบในช่วงนั้นไปเร็ว สำหรับเผมเองก็อยู่ในช่วงที่เข้าไปเรียนหนังสือ
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นเหตุการณ์นี้มีส่วนกระตุ้นให้พี่สนใจทางสังคมมากขึ้นไหมครับ?
คุณสุทิน : ทางสังคมนี่ไม่เท่าไหร่นะ แต่สนใจทางการเมืองมากขึ้นมากกว่าเรื่องการเมืองต้องมีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยเป็นหลัก แล้วก็เรื่องเนื้อหาประชาธิปไตยเราก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าประชาธิปไตยก็ต้องมีการเลือกตั้ง แล้วก็มีความชิงชังทหาร มันทำให้เราไม่เรียน รด.เลยเลือกเรียน รด.เลยออกกันเลย
ผู้สัมภาษณ์ : มีเพื่อนทำเยอะไหมคะที่ไม่เรียน รด.?
คุณสุทิน : คือในกลุ่มนักศึกษาเองมันก็ไม่ได้แลกเปลี่ยนอะไรเลยอะไรมาก เป็นเรื่องของเฉพาะตัวไปไม่ได้แลกเปลี่ยนว่าต้องทำอะไรต่อ
ผู้สัมภาษณ์ : หลังจบ มศ.5 แล้วทำอะไรต่อคะ?
คุณสุทิน : ไปศึกษาต่อที่รามคำแหง แล้วก็มีอิทธิพลทางความคิดที่เราไม่สอบเอนทรานซ์
ผู้สัมภาษณ์ : มีกระแสเรื่องไม่สอบเอนทรานซ์หรอคะ?
คุณสุทิน : ไม่มี เราเองไม่อยากไปสอบเพราะหลัง 16 มันก็เกิดกระแสกบฎเริ่มขึ้น กบฏต่อสิ่งเดิม แนวคิดแนววัฒนธรรมเดิม กระแสการแข่งขันมันก็ถูกเลิก เพราะช่วงหนึ่งที่มันปลายหลัง 14 ตุลาแล้วที่บ้านผมจะมีนักศึกษารามคำแหงเขาจะมานั่งคุยกันเรื่องไปสอนหนังสือตามดอย ออกจากห้องเรียนแล้วส่วนหนึ่งกระแสความคิดนี้ก็เข้ามา
ผู้สัมภาษณ์ : บรรยากาศกิจกรรมตอนนั้นมีอย่างอื่นอีกไหมคะที่พี่ได้รับจากนักศึกษาราม?
คุณสุทิน : ไม่มี ก็มีอีกอย่างหนึ่งคือกระแสของเด็กอาชีวะ กระแสในด้านบวก ด้านการตีกันมันก็คลี่คลายลง เมื่อก่อนที่เรียนอำนวยศิลป์ มันก็มีไพศาลศิลป์ที่เจอกันแล้วต้องตีกันต้องใช้กำลังเข้าประสานกัน หลังจากเหตุการณ์นั้นมันทำให้นักเรียนเลิกตีกัน อย่างไพศาลศิลป์ที่เคยตีกับอำนวยศิลป์ เขาก็มาเยี่ยมที่โรงเรียนเรา ก็เกิดความสามัคคีกันแต่เราก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น คงเกิความสามัคคีในอารมณ์รักชาติมากกว่า เป็นด้านหลักก็เป็นได้ นี่แหละคือภาพบวกของนักเรียนอาชีวะในรุ่นนั้นที่สามารถทำงานร่วมกันได้ กลายเป็นนักเรียนอาชีวะรวมตัวกัน กระแสความคิดที่ดีในสังคมมันเกิดเยอะอ่ะ เราเคยเจอตอนหลังเรานั่งรถเมล์ พอมีคนแก่ขึ้นมาไม่มีใครลุกให้นั่งมีนักเรียนบางคนที่ไปสะกิดให้ลุกให้นั่ง กระแสการทำงานเพื่อสังคมเพื่ออะไรมันก็มีผลเหมือนกัน จากเหตุการณ์นี้
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วหลังจากเข้าเรียนในรามพี่ได้เข้าร่วมกิจกรรมนักศึกษาไหมครับ?
คุณสุทิน : ช่วงแรกไม่ได้ร่วม ร่วมก็เฉพาะที่เป็นประโยชน์กับเราโดยตรง คืออย่างประท้วงเรื่องค่าหน่วยกิจอย่างเช่น 25 บาทเราจะให้ลดเหลือ 18บาทเพื่อให้มันลดลงไป เพราะเราเองก็ไม่ได้ฐานะดีอะไร อย่างสมัยที่เราเรียน 400-500 บาทก็เรียนได้แล้วอย่างกระแสนำของนักศึกษาด้านบวกมีผลต่อเราส่วนหนึ่งเลยนะครับ เรื่องลดค่าหนังสือ เพราะรามคำแหงมีโรงพิมพ์เอง 100% จากที่เราเคยซื้อ 100 บาทเหลือแค่ 50 บาทอย่างงี้ สิ่งที่เราเข้าร่วมโดยตรงก็เพราะมีส่วนต่อเศรษฐกิจของเราโดยตรง
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนพี่เรียนรามคำแหงนี่ใช่ปี 2517 หรือเปล่าคะ ภายในรามคำแหงมีการเกิดกลุ่มอย่างงี้พอเป็นรูปธรรมไหมคะ ที่เป็นกลุ่มแนวนี้ที่พี่เห็น?
คุณสุทิน : มีกลุ่มกิจกรรมทางการเมือง มันจะมีส่วนที่เราเห็นชัดก็คือกลุ่มการบริหารที่แบ่งเป็นสองกลุ่มคือ สมัยก่อนเขาเรียกปีกซ้ายกับปีกขวา ก็มีการต่อสู้การเลือกตั้งกัน การเลือกตั้งในรามคำแหงค่อนข้างก้าวหน้าอยู่ เลือกตรงกับระบบสัดส่วน ตอนนั้นในประเทศไทยยังไม่ได้ทำแต่ว่ารามคำแหงเขามีแล้ว ก็มีคือเลือกในสภานักศึกษามีสภานักศึกษาฝ่ายซ้าย อย่างเราเข้ามหาวิทยาลัยนี่กระแสความคิดด้านบวกทำประโยชน์ให้ประชาชนนั้นแรงอยู่ เราเจอเราเข้าไปถึงเราก็เจอคำกลอน เพียงหวังจะเฟื่องฟุ้งฤาจึง มุ่งมาศึกษา เพียงแค่ใบปริญญา เอาตัวรอดเท่านั้น แท้ควรฤา สหายติดและตั้งจิตรวมศึกษา รับใช้ประชา คือ ปลายทางเราที่เล่าเรียน คือมุ่งให้เราศึกษามาเพื่อรับใช้ประชาชน แล้วก็มีคำหนึ่งที่วิทยากรเชียงกูรเขียนไว้ ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย... สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว มันก็เลยความคิดที่เราแตกแนวความคิดไปมากกว่าที่เคยเป็นไม่ใช่เรียนแค่ไปประกอบอาชีพ แต่เราควรเรียนเพื่อรู้เอาไปรับใช้สังคม แต่เราก็ถูกปลูกฝังว่าสิ่งที่เราเรียนมาจากภาษีของประชาชน เราเรียนก็ควรไปรับใช้สังคม
ผู้สัมภาษณ์ : สิ่งเหล่านี้อาจารย์เป็นคนปลูกฝังหรอคะ หรือบรรยากาศ?
คุณสุทิน : บรรยากาศในการทำกิจกรรม อาจารย์ที่สอนที่สอนชัดๆก็จะมีอาจารย์ที่สอนรัฐศาสตร์ เราเรียนวิทยาพื้นฐานและเรียนวิทยาศาสตร์รัฐศาสตร์ทั่วไป เท่าที่จำได้ก็อาจารย์ วรพจน์ ในปัจจุบันเห็นว่าเปลี่ยนชื่อไปแล้ว ท่านสอนรัฐศาสตร์แล้วก็สอนแนวคิดเพื่อสังคม ท่านเอาคำพูดของนักการเมืองอเมริกามาพูด ที่ว่า อย่ามัวเรียกร้องจาก มร. ขอ แต่ได้รู้จักให้ มร.บ้าง อย่าว่างเว้นอะไรพวกนี้ ทฤษฎีการเมืองอย่างงี้
ผู้สัมภาษณ์ : พี่ก็เรียนนิติศาสตร์เหมือนกันหรอคะ?
คุณสุทิน : นิติศาสตร์
ผู้สัมภาษณ์ : ทำไมเลือกเรียนนิติศาสตร์?
คุณสุทิน : ก็เขาให้เลือกตั้งแต่ตอนสมัครก็เลือกเรียนก็นิติศาสตร์แล้วก็เรียนเลย เราเลือกว่าจะเรียนอะไร ส่วนใหญ่เพื่อนที่รู้จักก็ไปเรียนเศรษฐศาสตร์ มีความรู้สึกว่าอยากรู้เรื่องเศรษฐกิจอะไร แต่เราไม่อยากรู้เราเลยเรียนนิติศษสตร์ดีกว่า เพราะว่าเรียนก็ไม่ได้มุ่งหวังว่าจะไปทำอะไร
ผู้สัมภาษณ์ : อย่างที่พี่บอกว่าในมหาวิทยาลัยก็มีการต่อสู้ระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา ของฝ่ายซ้ายในมหาวิทยาลัยนี่ พี่ได้รับรู้แนวคิดหรือว่ามีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับสายนี้บ้างหรือเปล่า?
คุณสุทิน : เขาก็มีกิจกรรมอย่างกีฬาเขาก็จะชูคำขวัญ น้ำใจเป็นหลักชัยชนะเป็นรอง
ไม่ใช่การแข่งขันเพื่อเอาชนะกัน กระแสของเพลงก็มาจากการอ่านหนังสือมากขึ้น พี่ก็เลยเข้าห้องสมุดแล้วไปได้อิทธิพลหนังสือของจีนมา ปฏิวัติสังคมจีนว่าเขาสร้างชาติเขายังไง เวียดนามที่เขาต่อสู้กับฝรั่งเศสยังไง เดียน เบียน ฟู กระแสรักชาติส่วนหนึ่ง ผู้สัมภาษณ์ : นี่คือเข้าไปหาอ่านเองหรือจับกลุ่มศึกษา?
คุณสุทิน : อ่านเอง ปี 1-3 ผมไม่ได้จับกลุ่มกับใครเลย ตอนนั้นมีเพื่อนรุ่นพี่ที่รู้จักกันส่วนใหญ่เขาเองก็ไปสอนหนังสือที่ภาคเหนือแล้วพวกนี้ก็จะจัดค่ายฝึกกำลังคน บางคนนี่ออกจากนักศึกษาเลยแล้วไปเป็นกะเหรี่ยง คือสมัยนั้นกระแสคิดกบฏมันเยอะ
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วความคิดส่วนตัวของพี่นี่คือทางไหนคือทางที่ควรจะเดินในตอนนั้น?
คุณสุทิน : ความคิดของพี่ก็คือรับใช้ประชาชน รักความเป็นธรรม ทางซ้ายเขาต้องซ้ายพี่ก็ต้องซ้าย การรับใช้สังคมการเรียนไปเพื่อจบแล้วก็ต้องคืนสู่สังคม คอรรัปชั่นพวกนั้นก็มีอยู่เราเองก็ไม่ค่อยชอบบวกกับความรู้สึกส่วนตัวเดิมที่มีอยู่ด้วย
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วลักษณะกระแสที่เขาบอกว่ามันเป็นเสรีภาพที่เบ่งบานขึ้นมาช่วงหลัง 14 ตุลาถึง 6 ตุลา พี่ได้รับรู้กระแสของนักศึกษาหรือว่าชาวบ้านอะไรบ้างไหมคะ?
คุณสุทิน : ช่วงหลัง 14 ตุลาคมมันกระแสสังคมการประท้วงเกิดขึ้นมากมหาศาลเลย ไม่ว่าจะเป็นกรรมกร ชาวนา สถาบันชาวไร่ชาวนา การประท้วงของกรรมกรฮาร่า มันเข้ามาในการรับรู้ตลอดเวลา มันก็เกิดขึ้นมาถ้าเราคิดย้อนกลับไป มันก็เหมือนประชาธิปไตยที่ไร้ขอบเขต แต่มันก็เป็นสิ่งหนึ่งคือปัญหาของชนบทถูกส่งเข้ามาให้เรียนรู้ในเมือง ชาวนาเริ่มประท้วง กระแสเพลงสมัยนั้นก็คนกับความ กระแสเพลงสมัยนั้นที่เขาร้องที่เกี่ยวกับข้าวที่ว่าข้าวที่กินควรคิดถึงชาวนา แล้วมันหลั่งไหลมันมากโดยเฉพาะธรรมศาสตร์เขาจัดกิจกรรมไม่หยุดแล้วหนังสือวัฒนธรรมมันก็มาให้อ่าน ส่วนกิจกรรมที่ผมเข้าร่วมมันก็จะเป็นช่วง 18 ก็ปี 2 ก็เข้าไปออกค่ายไปร่วมกับกลุ่มกิจกรรมผมเรียนนิติศาสตร์แต่ไปร่วมกับเศรษฐศาสตร์ ก็มีคนถามว่าทำไม ที่รามมันจะมีตึกหนึ่งที่เป็นตึกกิจกรรมโดยเฉพาะเลยใช่ไหม มันเต็มไปหมดเลยเช่นกลุ่มครูช่วยสอน กลุ่มศึกษาปัญหาชาวเขา กลุ่มที่ผมเข้าคือแนวร่วมเศรษฐศาสตร์เพื่อประชาชน ที่จริงก็ไม่ได้ทำเรื่องเศรษฐศาสตร์หรือศึกษาเศรษฐศาสตร์แต่เขาให้เราไปอยู่กับชาวนา
ผู้สัมภาษณ์ : พี่ไปค่ายที่ไหนจังหวัดอะไร?
คุณสุทิน : นครราชสีมา ก็ไม่เชิงเป็นค่ายแต่เป็นชาวนาที่ต้องใช้เวลาเดินหลายช่วงโมง ได้ไปอยู่กับชาวนา ไถนาร่วมกันทำนาร่วมกัน สุดท้ายก็คือว่าเราก็มาศึกษาการใช้แรงงาน แล้วเราจึงจะรู้ชีวิตจริงจากที่เรารับรู้จริงๆหรือที่เห็นจริงๆ
ผู้สัมภาษณ์ : ลักษณะกิจกรรมการออกค่ายแนวนี้เป็นการออกค่ายไปรับรู้ปัญหาชนบทเป็นส่วนใหญ่หรอคะ?
คุณสุทิน : คือมันตอนนั้นเองเป็นกลุ่มที่ออกไปสร้างโรงเรียนเราไปรว่มนี่ไม่ใช่ทำโรงเรียน กลุ่มคนที่เขาเรียนร่วมนี่เขาจะแบ่งคนไปอยู่บ้านกับชาวบ้าน ทุกคนก็ต้องใช้ชีวิตแบบชาวบ้านเลยบ้านไหนชาวไปทำนาเราก็ไปกับเขา พอกิจกรรมรวมของหมู่บ้านเราก็ไปกับเขา อย่างขุดบ่อเราก็ไปบ้านไหนทำอะไรเราก็ต้องทำจริงๆไปอยู่เป็นลูกหลานเขา
ผู้สัมภาษณ์ : ไปออกต่างจังหวัดอย่างนี้ได้เจอกลุ่มที่เขาเรียกว่าคนในป่าบ้างไหมคะ?
คุณสุทิน : ยังไม่เจอ แต่กระแสของสังคมนิยมของคอมมิวนิสต์เริ่มเข้ามาร่วมๆกัน
ผู้สัมภาษณ์ : ในหมู่ของนักศึกษาหรอคะ?
คุณสุทิน : ครับ มันมีความคิดทฤษฎีคติพจน์เหมาเจ๋อตุง สรรนิพนธ์เหมา เจ๋อตุงเริ่มเกิดขึ้นในหมู่นักศึกษาแล้วจะศึกษากัน
ผู้สัมภาษณ์ : ก็คือตอนนั้นมีการจัดตั้งบ้างไหมครับ?
คุณสุทิน : จัดตั้งในขณะนั้นยังไม่รู้ แต่มารู้ตอนหลังว่ามันมีอยู่แล้วเขาจะมีคนเข้ามาทำงานตอนทำงาน ตอนถนอมก็มี
ผู้สัมภาษณ์ : มาถึงช่วง 6 ตุลาล่ะกันครับตอนนั้นจอมพลถนอมบวชเณรเข้ามาพี่มีความรู้สึกอย่างไงบ้าง นักศึกษาที่พี่เข้าร่วมได้แสดงออกยังไงบ้าง?
คุณสุทิน : ก็มีการต่อต้านจอมพลถนอมไม่ให้เข้ามา ก็มีการชุมนุมก็มีการเข้าชุมนุม เราก็ค่อยๆเข้าร่วมตอนนั้นเราเริ่มเข้าร่วมขบวนแต่ผมไม่ได้เป็นตัวแทนของกลุ่มแต่เป็นคนเข้าร่วม แล้วก็มีตัวแทนกลุ่มของเราเข้าร่วม ปรึกษาหารือกับคณะเรื่องการจัดการชุมนุมเริ่มต้นเราก็ชุมนุมที่สนามหลวงก่อน หลังจากนั้นก็เข้าที่ธรรมศาสตร์
ผู้สัมภาษณ์ : ถ้าจะให้ลองเปรียบเทียบขบวนระหว่างตอน 14 ตุลากับ ขบวนตอน 6 ตุลาพี่เห็นว่ามีความต่าง ข้อดีข้อเสียต่างกันอย่างไรบ้าง เช่นการจัดการ การนำ?
คุณสุทิน : คือ 14 ตุลานี่เราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งแต่ 6 ตุลาเราเป็นส่วนหนึ่งเรื่องการจัดการเราก็จะเห็นภาพชัดว่ามันมีการส่งคนไว้คิดส่วนหนึ่งในที่ชุมนุมด้วยกันยังไง ในส่วนของเวทีมันก็ชัดเจนในการใช้เวทีเป็นตัวสื่อสารในที่ชุมนุม ขณะเดียวกันมันก็มีคนจัดรูปการ คนเข้าร่วมก็ส่วนหนึ่งใครทำหน้าที่อะไรดูแลอะไร แต่ก็รู้ไม่ทั้งหมด
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วอย่างกระแสตอบรับจากชาวบ้านหรือประชาชนล่ะครับ เพราะรู้สึกว่าอย่าง 14 ตุลากับ 6 ตุลานี่ประชาชนจะเอาน้อยกว่า 14 ตุลา?
คุณสุทิน : คงเป็นการสะสมหลัง 14 ตุลาอย่างการเคลื่อนไหวของนักศึกษา ของสังคมมันเฟ้อมันมีมาก มากจนความรู้สึกร่วมของคนมันน้อยลง อย่าง 6 ตุลามันเป็นภาพชัดก็คือมันเป็นเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์มันเป็นภาพออกไปเป็นภาพของพระบรมแล้วเกิดการปล่อยข่าวว่านักศึกษาหมิ่นพระมหาษัตริย์มันก็เลยแบ่งกระแสอยู่ข้างนอก แต่ว่าเราอยู่ข้างในเราไม่รู้เรื่องแต่ว่าการแขวนคอนี่ เกิดขึ้นก่อนแล้วที่นครปฐม เกิดการแจกใบปลิวเกิดการแขวนคอ คือก่อน 6 ตุลากระแสความรุนแรงมันเกิดขึ้นก่อนแล้ว การฆ่ากัน การเคลื่อนไหวของนักศึกษาถูกบีบ ในที่ชุมนุมมีคนโดนระเบิดไปเยอะ อย่างเช่นการเดินขบวนต่อต้านอเมริกา ก็มีการขว้างระเบิด ดังนั้นมันเป็นกระแสให้นักศึกษาถูกบีบมีกรอบคิด จะบอกว่ากระแสการเคลื่อนไหวในสังคมไทยมีส่วนไหม มันก็มีมันก็เลยบีบให้แคบเข้าในส่วนนี้ แล้วที่เราอยู่ร่วมในที่ชุมนุมมันก็ถูกขว้างระเบิด อย่างกระแสความคิดอย่างนี้มันก็กว้างกว่ากับที่เคยเป็น มันก็ถูกบีบเข้าไปเรื่อย
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วตอนนั้นละครที่เล่นเรื่องช่างไฟฟ้าพี่ได้อยู่ดูไหมครับ?
คุณสุทิน : ไม่ได้อยู่ดู
ผู้สัมภาษณ์ : แต่ว่าได้ทราบข่าวตอนที่ดาวสยามออก?
คุณสุทิน : เพราะตอนนั้นเราอยู่ในธรรมศาสตร์เราไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ตอนนั้นเราฟังวิทยุยานเกราะมันเลยฮือฮา เขาจะชี้นำฝ่ายกระทิงแดงตลอดเวลาแล้วควบคุมนักศึกษาที่ว่าเป็นอีกกลุ่มหนึ่งแล้วมีกลุ่มกระทิงแดงที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเผด็จศึกซ้าย เราก็รู้จักหลายๆคนที่เป็นนักเรียนที่มันไปรับจ้างก็มี
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วหลังจากทราบข่าวทางหนังสือพิมพ์ว่ามีการป้ายสีนักศึกษา ตอนนั้นทางนักศึกษาเองพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือว่ามีท่าทีเกี่ยวกับประเด็นนี้ยังไงบ้าง คิดไหมว่าประเด็นนี้จะถูกใช้เป็นประเด็นในการล้อมปราบ?
คุณสุทิน : ก็เกิดจากการเรียนรู้มีหลัง เพราะว่าตอนนั้นเหตุการณ์มันไปเร็ว ส่วนตัวผมเองก็อยู่กับเพื่อนในที่ชุมนุม อีกสิ่งหนึ่งที่เราไม่มีประสบการณ์เราก็ไม่เอะใจ แต่ส่วนคนที่เขามีประสบการเขาก็ออกจากธรรมศาสตร์ไป ในคืนก่อนถูกล้อมปราบ ผมก็ฟังวิทยุอยู่ แต่ว่าเราก็มีประสบการณ์อยู่อย่างหนึ่งคือทุกครั้งที่วิทยุยานเกราะชี้นำนี่คนเชื่อจริงๆเลย ตอนนั้นที่เราอยู่ในธรรมศาสตร์นี่ช่วงดึกแล้ว วิทยุยานเกราะออกข่าวแล้วว่ามีการบุกเข้าธรรมศาสตร์ เพื่อจับกุมนักศึกษาที่ไม่จงรักภักดีที่หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เราก็ไม่เชื่อว่ามันจริง พอเช้ารุ่งขึ้นก็เริ่ม
ผู้สัมภาษณ์ : วันเจออะไรบ้างครับ?
คุณสุทิน : ช่วงรุ่งขึ้นก่อนที่เขาจะโจมตี เราก็อยู่ในสนามหญ้าก็ M 79 ลงก่อนสองลูกรู้สึกว่าคนที่อยู่ในที่นั่นมันคงเหมือนอยู่ในสงคราม คนตื่นตระหนกก็วิ่งกันไปหมด เหลือแต่คนที่อยู่ชุมนุมระเบิดลงหลายครั้งก็ไม่มีอาการแตกตื่น หลายคนก็นิ่งหมดแล้วช่วยกันขนคนที่เจ็บออก แบกคนที่เจ็บออกไป ข่าวก็เริ่มมาเวทีก็เริ่มแยกคนออกจากสนาม คนก็เริ่มมาอยู่หน้าตึกบัญชี ส่วนหนึ่งก็แยกไปอยู่ฝั่งคณะนิติศาสตร์แล้วก็ฝั่งกลางสนามฟุตบอล กระแสก็เริ่มจะสว่างมันก็ยิงไม่หยุด ในขณะที่อยู่บนเวทีก็มีธงชัย วินิจกุลอยู่บนเวทีพูดทางไมโครโฟนก็ขอร้องตำรวจเรื่องคนเจ็บให้เอาคนเจ็บออกไปให้ได้ เอาออกไปรักษา เสียงปืนมันเหมือนสงครามดังจนเรา แว็บแรกที่เห็นนี่คือเพื่อนเจ็บ เราอยู่หน้าตึกบัญชี ช่วงที่นั้นยิงกราดต่ำแล้วเพราะคนมันอยู่เต็มเลย แล้วยิงตึกบัญชีข้างบนมันเป็นกระจก แล้วกระจกหล่นบาดคน ตอนนั้นเพื่อนเจ็บแล้วมีคนหามไปไหนไม่รู้ เราก็เลยอยู่ตรงนั้นแล้วหนีกันระมัดระวังหน้า
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วพี่ได้ออกจากมหาวิทยาลัยไหมคะ?
คุณสุทิน : ผมถูกจับเป็นผู้ต้องหาเพราะอยู่ในตึกบัญชี เพื่อนผมที่เสียชีวิตสองคนตอนที่เห็นเขายังไม่เสียชีวิต ก็แบกเข้าไปดูแลหลังจากถูกคุมขัง 6 วัน ประกันตัวออกมาแล้ว ถึงได้รู้ว่าเพื่อนเสียชีวิต
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นถูกจับไปที่ไหนครับ?
คุณสุทิน : ผมไปอยู่นครปฐม โรงเรียนตำรวจตอนนั้นมีแยกไปนครปฐม ชลบุรี โรงเรียนพลตำรวจบางเขนที่ตอนหลังเปลี่ยนเป็นกรมตำรวจแถววิภาวิดี
ผู้สัมภาษณ์ : อ๋อสโมสรตำรวจ แล้วตอนที่ถูกส่งตัวไปอยู่ที่นครปฐมตอนนั้นเจออะไรบ้างครับ?
คุณสุทิน : ก็ถูกรุมซ้อมอยู่ ก็ตั้งแต่ยิงเกือบสายแล้วไม่รู้ว่าอะไรต่ออะไรแล้วบุกเข้าไปกวาดต้อนเราให้มานอนกลางสนามหญ้าก่อน ผู้ชายก็ถูกบังคับให้ถอดเสื้อ ผู้หญิงก็ถูกบังคับให้ถอดเสื้อแล้วให้นอนคว่ำหน้า ช่วงนั้นก็จะมีกลุ่มที่เข้าไปทำร้าย ผมก็โดนตบไปหมัดหนึ่ง พี่ชายโดนตีหัวแตกโดนจับทั้งพี่ทั้งน้อง พี่ชายเรียนอยู่รัฐศาสตร์จุฬาฯ ก็โดนตากแดดแล้วพาขึ้นรถแล้วพาออกมา ผมโชคดีตรงที่ว่าชุดที่คุมตัวไปส่งที่โรงเรียนตำรวจ นครปฐม ให้รับตัวต่อเขามีการซ้อมตามแถวบังเอิญยังไม่ถึงแถวผม ชุดนี้ถูกเรียกตัวกลับก่อนเลยรอดตัวไม่งั้นถูกซ้อม แต่ว่ากลุ่มที่รับตัวเราเขาก็ปฏิบัติต่อเราดี
ผู้สัมภาษณ์ : ถูกสอบสวนไหมครับ?
คุณสุทิน : ผมถูกสอบเป็นคนแรก พอดีนับแถวไปมาผมเป็นคนที่หนึ่ง ผมถูกเรียกไปก่อน เพื่อนที่อยู่ข้างบนคิดว่าเรียบร้อยไปแล้ว เขาก็สอบปากคำธรรมดา เขาพยายามถามว่าเห็นคนตายไหม เราก็บอกว่าเห็น แล้วเขาก็พยายามบ่ายเบี่ยงว่ามาจากไหน เราก็บอกว่ามาจากตำรวจทหารที่ยิงเข้ามา เขาก็บอกว่างั้นไม่ต้องพูด
ผู้สัมภาษณ์ : เหตุการณ์มันสงบลงไปแล้วพี่อยู่ที่กรุงเทพต่อหรือว่ายังไง?
คุณสุทิน : ผมก็ถูกพี่มารับตัวกลับบ้านต่างจังหวัด
ผู้สัมภาษณ์ : ไปอยู่นครหรอคะ?
คุณสุทิน : ใช่ แล้วกลับมาเรียนบ้าง แต่ว่าเพื่อนส่วนหนึ่งที่เรารู้จักก็อยู่ต่ออยู่ทำงานจัดตั้ง ส่วนหนึ่งเพื่อนเขาก็จะเข้าป่าอยู่เขตใต้ อยู่ทางพัทลุง ตรัง สตูล
ผู้สัมภาษณ์ : นี่คือส่วนที่พี่ได้รับรู้ว่ามีการจัดตั้งหรือเปล่าคะ?
คุณสุทิน : ไม่ ตอนหลังถึงมารู้ว่าอยู่นั่น บางชุดก็มีจัดตั้งเหมือนกัน
ผู้สัมภาษณ์ : คือเขาไม่ชวนไปอยู่ด้วยหรอคะ?
คุณสุทิน : ไม่แต่เขาก็มีชวนไปเที่ยวบ้าง
ผู้สัมภาษณ์ : วันเดียวอย่างนี้หรอคะ?
คุณสุทิน : อื่อ ไปบ้างเป็นบางครั้ง
ผู้สัมภาษณ์ : เขตไหนคะ?
คุณสุทิน : ทางสตูล
ผู้สัมภาษณ์ : ไปเจออะไรบ้างข้างใน?
คุณสุทิน : เห็นกองกำลังอาวุธ ซึ่งก่อนหน้านั้นเราก็เลือกทางกันแล้วว่าสู้กับรัฐบาล เราต้องสู้ด้วยกำลังอาวุธเพราะเราเห็นว่าได้ แต่ว่าต้องเป็นหน้าที่ในป่าแต่ว่าทางความคิดก็เป็นหน้าที่ในเมืองต่อไปเรื่อยๆ
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วพอเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาขึ้นหลังจากนั้นพี่มีการคุยกับเพื่อนหรือวิเคราะห์เองบ้างไหมว่าใครอยู่เบื้องหลังบ้าง?
คุณสุทิน : มันก็มีเอกสารแจกเอกสารสื่อสาร
ผู้สัมภาษณ์ : เอกสารของพรรคหรอคะ?
คุณสุทิน : ไม่ใช่เอกสารทั่วไป ทั้งจากหนังสือพิมพ์สื่อแล้วก็วิเคราะห์ร่วมกัน
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วเอกสารเหล่านั้นมาจากฝ่ายไหนคะ?
คุณสุทิน : ก็ส่งต่อๆกันมา
ผู้สัมภาษณ์ : มันเป็นเนื้อหาแนวเดียวกันไหมคะ?
คุณสุทิน : แต่มันไม่พูดถึงชัดเจน เป็นวิเคราะห์เป็นเอกสารวิเคราะห์มากกว่า ว่าสิ่งทีมันเกิดขึ้นเกิดจากอะไร ใครได้ประโยชน์ เกิดขึ้นได้ยังไงอะไรพวกนนี้
ผู้สัมภาษณ์ : พี่พอจะบอกได้ไหมคะว่ารายละเอียดเป็นยังไง เพราะไม่มีเอกสาร?
คุณสุทิน : จำไม่ได้ละเอียด เขาก็จะบอกว่าส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากกระบวนการที่ตะต้องปราบปรามนักศึกษา ส่วนหนึ่งมันคือกระแสบุกเพราะนักศึกษาเองก็ไม่ใช่ว่าศรัทธาในลัทธิคอมมิวนิสต์ทั้งหมด นักศึกษาส่วนหนึ่งก็รักความเป็นธรรมแต่ถูกบีบคั้นให้เข้าไปเจอกับสิ่งที่คิดว่ามันใช่ก็เลยเข้าไปร่วม
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วพอเรียนจบก็เข้ามาทำงานเป็นทนาย ตั้งแต่แรกเริ่มเลยหรอคะ?
คุณสุทิน : ครับ
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วได้ร่วมกิจกรรมทางการเมืองอย่างพฤษภาหรอว่า?
คุณสุทิน : ไม่ค่อยได้รวมกลุ่มแต่ว่ากิจกรรมทางการเมืองก็ยังติดต่อติดตามอยู่นะครับ
ผู้สัมภาษณ์ : พี่ทำงานในเมืองหรอคะหรือว่ายังไง?
คุณสุทิน : ครับ ทั่วไป
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนี้สรุปนิดหนึ่งให้พี่ย้อนไปมองเหตุการณ์ 14 ตุลา พี่คิดว่าในตอนนั้นกับตอนนี้นี่พี่อาจจะมีการทบทวนใหม่ เราเข้าใจผิดไปไหมในลักษณะเหตุการณ์หรือว่ายังไง?
คุณสุทิน : คงไม่ได้เข้าใจผิด เพราะว่าส่วนของเหตุการณ์มันเกิดขึ้นจากการปราบปรามทางสังคมในการปราบปรามมันมาจากส่วนไหนบ้างที่ชัดเจน ก็อยากทราบ
ผู้สัมภาษณ์ : คือตอนนี้ยังไม่รู้หรือคะหรือว่ายังไง?
คุณสุทิน : ไม่ ยังไม่รู้ไม่แจ่มชัด แต่ถ้าอยากให้แจ่มชัดที่สุดลองดู พลเอกสืบสายท่านเขียนเผยแพร่กี่ปีแล้ว คือช่วงนั้นก่อนจะมีการปราบปรามนักศึกษา 14ตุลา 6 ตุลามันมีกระแสต่อเนื่อง กระแสมันชัดว่ากระแสมันชัดอยู่แล้วว่าจะทำร้ายกระบวนการนักศึกษา กระแสมันแรงอยู่แล้วเขาจึงมีการจัดตั้งกลุ่มกระทิงแดงขึ้นมา อย่างส่วนนักศึกษาก็ถูกผลักเข้าไปสู่คอมมิวนิสต์
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วอย่างลูกเสือชาวบ้าน?
คุณสุทิน : ลูกเสือชาวบ้านผมก็เชื่อว่าเป็นส่วนของพลังส่วนหนึ่งของพลังบริสุทธิ์ที่เข้ามาแล้วใช้ความจงรักภักดีผมว่าเขาใช้การรับรู้แบบอีกด้านหนึ่งมากกว่า
ผู้สัมภาษณ์ : ในส่วนตัวของพี่คิดว่าเหตุการณ์ 14 ตุลา หรือว่า 6 ตุลาส่งผลอะไรต่อตัวพี่ในรูปธรรมบ้างไหมคะ?
คุณสุทิน : 14 ตุลามันให้ทางความคิดรักความเป็นธรรม ส่งผลมาถึง 6 ตุลาให้พลังความคิดอีกแบบหนึ่ง เกี่ยวกับแนวทางการต่อสู้ เพื่อความเป็นธรรมในสังคม
ผู้สัมภาษณ์ : ขัดแย้งกันหรือเปล่าคะ?
คุณสุทิน : มันไม่ขัดแย้ง ขึ้นอยู่กับว่าเรารับยังไงแต่ทั้งสองส่วนนี่คือประสบการณ์ตรงทั้งหมด คือว่าถ้าผมเดินทาง คนที่ทำงานเพื่อสังคมนี่ส่วนหนึ่งก็เติบโตมาจาก 14 ตุลาซึ่งส่วนหนึ่งเราก็รู้จักอีกส่วนหนึ่งเราก็ไม่รู้จัก แต่ว่าเราไปพูดคุยเราจะบอกได้ว่าล้วนแต่มีประสบการณ์ความคิดเห็นจากช่วงนั้นอยู่ มติหนึ่งจะบอกว่ามาทางนี้หมดก็ไม่ใช่ไปอีกทางหนึ่งก็มี ประสบการณ์เกี่ยวกับสังคมในช่วงวัยของชีวิตมันก็เริ่มอยู่กับความเป็นจริงมากขึ้น มันก็อยู่กับ 6 ตุลาหรือ 14 ตุลาเชิงความฝัน เชิงอุดมการณ์มันก็อีกส่วนหนึ่ง อุดมคติมันต้องมี อุดมการณ์มันต้องมีเราตกผลึกทางความคิดทางสังคมมาก ทำให้เราอยู่ใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น บางคนที่เราเชื่อว่าเป็นคนดีจริง ปรากฎว่าสิ่งที่เราคิดไม่ถึงก็มี เพราะฉะนั้นคำโบราณที่บอกว่า ระยะทางพิสูจน์ม้ากาลเวลาพิสูจน์คนนั้นก็ยังใช้ได้อยู่ บอกว่าวันนี้เรายังมีอุดมการณ์ก็ไม่ใช่ แต่ว่ามันอาจจะเป็นกระแสคิดเดิมที่รักความเป็นธรรม หรืออีกส่วนหนึ่งอาจจะเป็นจริตของคนช่วงนั้นก็ได้ อย่างเพื่อนผมคนหนึ่งที่มาด้านนี้ก็ไปอยู่ในชนบท ก็เข้าป่า ปัจจุบันก็แต่งงานกับคนในชนบท
ผู้สัมภาษณ์ : มีเยอะไหมคะอย่างนั้น?
คุณสุทิน : ไม่เยอะ วันนี้ไปใต้ก็ยังไปเยี่ยมอยู่
ผู้สัมภาษณ์ : ขอบคุณพี่สุทินมากค่ะ
คุณสุทิน : ด้วยความยินดีครับ
จบการสัมภาษณ์
|