บทสัมภาษณ์ -
สุวัฒน์ ตันพานิช วันที่ 27 พฤษภาคม 2552 เวลา : 11.00 น. สถานที่ The Park 9 ศรีนครินทร์ ผู้สัมภาษณ์ : : ชัยวัฒน์ ตรีวิทยา ตามโครงการของมูลนิธิ 14 ตุลา ในการรวบรวมปากคำของคนที่อยู่ในเหตุการณ์ เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลเพื่อการศึกษาต่อไป ผู้สัมภาษณ์ : ก็ขอเริ่มเรื่องส่วนตัวนิดหนึ่งนะครับ คุณสุวัฒน์ : ครับผม ผู้สัมภาษณ์ : อยากจะถามพื้นเพนะครับว่าเกิดปี พ.ศ. อะไร? ที่ไหน? ที่บ้านเป็นยังไง? มีพี่น้องกี่คน? อะไรอย่างนี้ ตอนเด็กๆ คุณสุวัฒน์ : ก็ความจริง พื้นเพทางพ่อแม่ก็มาจากทางใต้นะครับ แต่ว่าตอนที่ผมเกิดนี่มาเกิดที่จันทบุรี เพราะว่าคุณพ่อย้ายมาทำกิจการ ทำธุรกิจด้านยางพาราแถวจันทบุรี เกิดเมื่อปี 2496 การศึกษาเบื้องต้นก็เรียนอยู่ที่ต่างจังหวัด ผู้สัมภาษณ์ : ที่ไหนครับ? คุณสุวัฒน์ : ที่จันทบุรีครับ ผู้สัมภาษณ์ : โรงเรียนอะไร? คุณสุวัฒน์ : โรงเรียนลาซาลมารดาพิทักษ์ แล้วก็เปลี่ยนมาเป็นลาซาล ซึ่งมีสาขาอยู่ที่บางนาด้วย ที่นครสวรรค์ด้วย หลังจากนั้นก็มากรุงเทพฯ เมื่อสมัย ม.ศ.2 ก็มาต่อที่ลาซาล บางนา, ม.ศ.3 ก็ไปอยู่ที่เซนต์คาเบรียล, ม.ศ.4-5 ก็เข้าที่วัดเบญจฯ นะครับ แล้วก็มาเริ่มการศึกษาขั้นปริญญาตรีที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2514 ครับ ผู้สัมภาษณ์ : ครับ อ๋อ คุณสุวัฒน์ : พี่น้องก็ 3 คน มีพี่สาวคนหนึ่ง น้องสาวคนหนึ่งครับ ผู้สัมภาษณ์ : เป็นคนกลางนะครับ? คุณสุวัฒน์ : ครับ เป็นคนกลางครับ ผู้สัมภาษณ์ : ชีวิตในวัยเด็กเป็นยังไงบ้างครับ? คุณสุวัฒน์ : ก็... ผู้สัมภาษณ์ : คือคุณพ่อนี่เป็นคนที่ไหนนะครับ? คุณสุวัฒน์ : ความจริงเป็นคนสตูลนะครับ ผู้สัมภาษณ์ : คนสตูล แต่ว่าพอมาเกิดแล้วพี่ก็กลายเป็นคนจันทบุรีเลย? คุณสุวัฒน์ : ใช่ครับ ผู้สัมภาษณ์ : ชีวิตในวัยเด็กเป็นยังไงบ้างครับ? ตอนที่อยู่จันทบุรี คุณสุวัฒน์ : ก็ปกตินะครับ มันก็ไม่ได้มีอะไร ก็เรียนในโรงเรียนคาทอลิก เพราะฉะนั้นก็เลยจะคุ้ยเคยกับทางด้านศาสนาคาทอลิกพอสมควร อยู่หอพักเป็นโรงเรียนประจำก็อาศัยอยู่กับพวกซิสเตอร์ พวกบราเดอร์ส อะไรพวกนั้นนะครับ พวกคุณพ่อ แล้วก็สักพักก็เข้ามากรุงเทพฯ นะครับ ตอนเด็กๆ ก็คือเหมือนเด็กต่างจังหวัดทั่วๆ ไป ธรรมดาครับ ผู้สัมภาษณ์ : มีการรับรู้ข่าวสารบ้านเมืองบ้างไหมครับ? ช่วงเป็นเด็ก คุณสุวัฒน์ : ช่วงวัยเด็กก็ไม่ได้สนใจตรงนี้ ก็มีหน้าที่คือเรียนอย่างเดียวครับ ผู้สัมภาษณ์ : พวกเกี่ยวกับรู้ว่าทหารเข้ามาปกครองบ้านเมือง นี่ไม่รู้เลย? คุณสุวัฒน์ : ไม่ ไม่มีไอเดียเลย ไม่ได้สนใจไม่ได้อะไรเลย ผู้สัมภาษณ์ : ไม่ได้สนใจเลย? Blank เลย? คุณสุวัฒน์ : ไม่ได้นั่นเลยครับ ผู้สัมภาษณ์ : แล้วชีวิตเป็นยังไงบ้างครับ? ตอนที่เรียนโรงเรียนประจำนี่เป็นยังไงครับ? ลองเล่าบรรยากาศ คุณสุวัฒน์ : มันก็ค่อนข้างที่จะแบบทุกอย่างก็ตรงตามกำหนดที่เขาให้ไว้ เวลานี้ทานข้าว เวลานี้อาบน้ำ เวลานี้นอน เวลานี้ทำการบ้าน อะไรอย่างนี้นะครับ ยกเว้นก็ช่วงเสาร์-อาทิตย์ ที่เป็นวันหยุดอะไรอย่างนี้ บางทีทางคุณพ่อก็มารับกลับไปบ้าน ตอนนั้นจะอยู่ที่ระยองครับ แต่ไปเรียนที่จันทบุรี ผู้สัมภาษณ์ : ยังไงครับ? ตอนแรกคุณพ่อไปอยู่จันทบุรี... คุณสุวัฒน์ : อ่า อยู่จันทบุรี แล้วตอนหลังเขาก็ย้ายมาอยู่ระยอง ผู้สัมภาษณ์ : ที่อำเภออะไรครับ? คุณสุวัฒน์ : ตอนที่อยู่ที่จันทบุรีนี่... ก็เริ่มเข้าเรียนตอนนั้นรู้สึกจะย้ายมาอยู่ที่ระยอง อยู่ที่อำเภอแกลง ผู้สัมภาษณ์ : อ๋อ ครับ คุณสุวัฒน์ : ทำการค้าอยู่ที่นั่น แต่ว่าส่งผมไปเรียนประจำอยู่ที่จันทบุรี เพราะว่าในละแวกนั้นตอนนั้นโรงเรียนนั้นก็น่าจะเป็นโรงเรียนที่ดีที่สุดในภาคตะวันออก ตรงนั้นนะครับ พอหลังจากนั้นก็จะมีที่อัสสัมชัญ ระยอง มาเปิด แต่ตอนผมก็โตแล้ว ผู้สัมภาษณ์ : อืม แล้วตอนที่กลับมาที่บ้านที่ระยองนี่ทำอะไรบ้างครับปิดเทอม? คุณสุวัฒน์ : ก็ไม่ได้ทำอะไรเป็นกิจจะลักษณะนะครับ เราก็ยังเด็กอยู่ ก็ไม่ได้มีความรับผิดชอบอะไร ก็อยู่บ้าน เรื่องการค้าของคุณพ่อก็ยังเด็กเกินไปที่จะช่วยทำงาน ช่วยเหลือ หรือดูแลหรืออะไรครับ ผู้สัมภาษณ์ : ครับ ส่วนใหญ่ทำอะไรครับ? ไปยิงนก? (หัวเราะ) คุณสุวัฒน์ : ก็จะประมาณอย่างนั้นน่ะ ก็อยู่ใกล้แหลมแม่พิมพ์ บางทีก็ขี่จักรยานไปเที่ยวบ้างอะไรบ้าง เพราะมันก็ลำบากนิดหนึ่งชีวิต เพราะว่ากับเพื่อนละแวกบ้านเราก็ไม่ค่อยสนิท เพราะว่าเราไปเรียนประจำใช่ไหมครับมันก็เลยไม่ค่อยมีความคุ้นเคยกับเขา จะเจอกันบางทีเสาร์-อาทิตย์ หรือช่วงปิดเทอม อะไรประมาณนั้นเท่านั้นเองนะครับ ก็เลยไม่ค่อยจะมี Activities กับเพื่อนฝูงอะไรมากมายครับ ผู้สัมภาษณ์ : ไปเที่ยวก็ไปเที่ยวคนเดียวเหรอครับ? หรือว่ายังไง? คุณสุวัฒน์ : ก็ไม่เชิง คือไม่ค่อยได้ไปไหนมากกว่า เพราะว่าด้วยอาจจะความแตกต่าง อันนี้ก็ไม่ได้ว่าดูถูกคนน่ะนะครับ แต่ว่าฐานะของเรากับฐานะเพื่อนๆ บ้าน มันแตกต่างกัน มันก็เลยทำให้เหมือนกับ common interest มันไม่เหมือนกัน ผู้สัมภาษณ์ : ครับ คุณสุวัฒน์ : เราจะไปยิงนกตกปลา พ่อแม่เราก็อาจจะไม่ค่อยอยากให้เราไปอย่างนี้ แต่เด็กกลุ่มนั้นเขาก็จะแบบว่า... ประมาณว่าชอบชีวิต วิถีชาวบ้านแบบต่างจังหวัดอะไรอย่างนี้ พี่ชอบอย่างนั้นมากกว่า ผู้สัมภาษณ์ : อ๋อ แล้วอย่างนี้ผ่านเสาร์-อาทิตย์ ยังไงครับ? ดูทีวีหรือว่าอะไร? ทำการบ้านหรืออะไร? (หัวเราะ) คุณสุวัฒน์ : ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยได้ทำอะไร เพลงก็ฟังบ้างนิดหน่อย แต่ก็ไม่มีอะไรเป็นพิเศษน่ะ ไม่มีอะไรโดดเด่นหรือสนใจอะไรเป็นพิเศษหรืออะไรยังไงนะครับ ก็อยู่ที่บ้าน ผู้สัมภาษณ์ : พอดีถามเพื่อจะดู... คุณสุวัฒน์ : background? ผู้สัมภาษณ์ : background ครับ คุณสุวัฒน์ : บางทีถ้าพูดไป เดี๋ยวถ้าไปถึงตอนที่โตขึ้นมาจะเห็นว่าของผมนี่มันค่อนข้างที่จะไม่ได้เรียกว่าพลิกผันอะไรน่ะนะครับ จริงๆ แล้วเป็นเรื่องเกี่ยวกับฐานะทางบ้านส่วนหนึ่งแล้วก็ชีวิตด้วย จากเคยอยู่สบายๆ ตอนหลังนี่มีปัญหาทางบ้านการค้าของพ่อ ก็เลยทำให้ชีวิตผมต้องเปลี่ยนแปลงไป ผู้สัมภาษณ์ : อืม คุณสุวัฒน์ : ทำให้คล้ายๆ ว่าจากเด็กที่เรียบร้อย แบบไม่ค่อยจะมีอะไรตื่นเต้น มันต้องมาช่วยตัวเองมากขึ้นอะไรอย่างนี้ มันก็เลยเปลี่ยนแปลงจากเด็กที่ค่อนข้างจะแหย พูดง่ายๆ นะครับ ไม่กล้าสู้คนไม่อะไร ก็เป็นเด็กที่เรียนดีพอใช้ได้ แต่พอเข้ากรุงเทพฯ ปุ๊บต้องมาอยู่ตัวคนเดียวอะไรอย่างนี้ ทำให้ชีวิตมันเปลี่ยนแปลงไป เราต้องช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น ต้องทำทุกอย่าง ผู้สัมภาษณ์ : ก็คือเรียนจบ ม.ศ.... คุณสุวัฒน์ : ม.ศ.1 ที่จันทบุรี แล้วก็มาต่อลาซาลที่บางนา นี่ ม.ศ.2 แล้ว ม.ศ.3 ก็เข้าที่เซนต์คาเบรียล ผู้สัมภาษณ์ : ม.ศ.2 นี่มาอยู่กับใครครับ? คุณสุวัฒน์ : ตอนนั้นก็มาอยู่กับอาที่แถวฝั่งธนฯ ผู้สัมภาษณ์ : ฝั่งธนฯ แล้วมาเรียน... (หัวเราะ) คุณสุวัฒน์ : ใช่ สมัยนั้นต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 ตี 5 ผู้สัมภาษณ์ : ครับ โอ้โห คุณสุวัฒน์ : นั่งรถเมล์สาย 2 ตั้งแต่ปากคลองตลาดยันสำโรงเนื่องจากโรงเรียนไกลมาก ผู้สัมภาษณ์ : ครับ ใช่ คุณสุวัฒน์ : โรงเรียนก็แทนที่จะเรียน 5 วัน ทั่วๆ ไป ก็จะเรียน 6 วัน แต่ลดวันหนึ่งเหลือ 5 ชั่วโมง ตอนนั้นเรียนก็ได้หยุดวันอาทิตย์วันเดียว ผู้สัมภาษณ์ : นี่หมายถึงว่าเฉพาะคนเดียวใช่ไหมครับ? คุณสุวัฒน์ : ไม่ ไม่ครับ ทุกคน ผู้สัมภาษณ์ : ทุกคนเป็นอย่างนั้นหมดเลย? คุณสุวัฒน์ : ทุกคนเป็นอย่างนั้นหมด คือโรงเรียนรู้ว่าการเดินทางไม่สะดวก ก็ย้อนหลังไปประมาณปี 10 11 อะไรประมาณนั้นน่ะนะครับ ตอนนั้นแถวนี้ก็ยังไม่เจริญเลย เพราะฉะนั้นการคมนาคมก็ไม่สะดวก ผู้สัมภาษณ์ : อืม คุณสุวัฒน์ : โรงเรียนถ้าเรียนวันละ 6 ชั่วโมง เหมือนทั่วๆ ไป นี่นักเรียนกว่าจะกลับถึงบ้านก็ค่ำ แต่เพื่อนผมบางคนที่เจอกันอยู่บางแคอย่างนี้ ยิ่งหนักกว่าผมอีกนะครับ เราก็เลยต้องเรียนวันละ 5 ชั่วโมง แต่เป็น 6 วัน ก็กลายเป็นว่าก็ต้องใช้ชีวิตอย่างนั้น 6 วัน อาทิตย์หนึ่งก็จะหยุดวันอาทิตย์วันเดียว ผู้สัมภาษณ์ : มาอยู่กับอาใช่ไหมครับ? คุณสุวัฒน์ : ครับ มาอยู่กับอา ผู้สัมภาษณ์ : แล้วตอนช่วงที่มาอยู่นั้นเป็นยังไงบ้างครับ? ก็คือแบบ... คุณสุวัฒน์ : มันก็ปรับตัวพอสมควร เพราะจากเด็กต่างจังหวัดเข้ากรุงเทพฯ เราก็ต้องช่วยเหลือตัวเองมากขึ้นใช่ไหมครับ จากอยู่โรงเรียนประจำสบายๆ ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปเยอะ แล้วก็มันstruggle ขึ้นเยอะน่ะ ผู้สัมภาษณ์ : ปรับตัว คุณสุวัฒน์ : จากที่แบบถึงเวลากินก็กิน ถึงเวลานอนก็นอน มันปรับตัวพอสมควร เหนื่อย เหนื่อยแล้วก็ไม่มีเพื่อนไม่มีอะไรด้วยอย่างนี้ใช่ไหมครับ มันก็เลยทำให้ต้องปรับตัวมาก ผู้สัมภาษณ์ : กิจวัตรนี่คือตื่นกี่โมง? คุณสุวัฒน์ : โอ ตื่นตั้งแต่ก่อนตี 5 น่ะครับ ผู้สัมภาษณ์ : ก่อนตี 5? คุณสุวัฒน์ : ครับผม ผู้สัมภาษณ์ : พอตี 5 นี่ก็คือมาขึ้นรถแล้ว? คุณสุวัฒน์ : ครับ ก็จะอยู่วัดกุฎีจีน ผู้สัมภาษณ์ : อะไรนะครับ? คุณสุวัฒน์ : วัดกุฎีจีนนะครับ แล้วก็ข้ามเรือมาปากคลองตลาด มาขึ้นรถเมล์ต้นทางสาย 2 มาลงปากซอย แล้วก็นั่งรถโรงเรียนเข้าไปในซอยถึงโรงเรียนอีกทีหนึ่งครับ ผู้สัมภาษณ์ : แล้วตอนเย็นนี่เลิกกี่โมง? คุณสุวัฒน์ : ก็เหมือนกันน่ะ ตอนเย็นก็เลิกประมาณบ่าย 2 โมงครึ่งอะไรอย่างนี้ แล้วก็ตอนกลับก็ย้อนเส้นทางเดิม ผู้สัมภาษณ์ : รถติดมากไหมครับสมัยนั้น? คุณสุวัฒน์ : สมัยนั้นเขาก็นับว่าโอเคนะ ไม่ติดนะ แต่ว่าโดยความที่ตื่นเช้าแล้วอาทิตย์หนึ่ง 6 วัน เราก็เหนื่อย นั่งบนรถนี่ก็แบบ... ขามานี่ก็แทบจะเรียกว่าหลับมาตลอดนะครับ ส่วนขากลับอาจจะดีหน่อยเพราะมีเพื่อนกลับเส้นทางเดียวกันใช่ไหมครับ ก็นั่งคุยกันไป หลับกันไป ก็เลยจะทำให้ค่อนข้างที่จะชำนาญเส้นสุขุมวิทมากๆ ผู้สัมภาษณ์ : (หัวเราะ) คุณสุวัฒน์ : รู้ตลอดเส้นทางว่ามาจากสุขุมวิทติดทางซอยไหน มีอะไร แต่ว่าเดี๋ยวนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปเยอะ ผู้สัมภาษณ์ : แล้วตอนนั้นได้ค่าขนมมาเรียนเท่าไหร่ครับ? คุณสุวัฒน์ : จำไม่ได้แล้วครับว่าเท่าไหร่ อะไรยังไง ผู้สัมภาษณ์ : ก็เป็นอย่างนี้อยู่... คุณสุวัฒน์ : 1 ปี ผู้สัมภาษณ์ : 1 ปี เลย? คุณสุวัฒน์ : พอขึ้น ม.ศ.3 พอดีอาก็มีคนรู้จัก ก็ฝากให้เข้าไปที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ซึ่งปกติแล้วกลางปีอย่างนี้เขาไม่รับ ผู้สัมภาษณ์ : อ๋อ เข้ากลางปี? คุณสุวัฒน์ : ไม่ใช่หมายความว่ากลางเทอมหรืออะไรอย่างนี้ แต่หมายความว่าเขาจะรับตั้งแต่ ป.1 อะไรอย่างนี้ หรือชั้นประโยคน่ะใช่ไหมครับ ผู้สัมภาษณ์ : ครับ คุณสุวัฒน์ : ซึ่งไปเข้าตอนนั้นนี่ ปกติเขาไม่รับนะครับ แต่นี่ด้วยอาศัยบารมีของบางท่าน อาเขาก็รู้จักมักจี่กัน เขาก็เลยฝากเข้าให้ที่เซนต์คาเบรียลครับ ผู้สัมภาษณ์ : ครับ คุณสุวัฒน์ : ก็ชีวิตก็เปลี่ยนไปอีกแบบหนึ่ง ผู้สัมภาษณ์ : ยังไงครับ? ลองเล่า คุณสุวัฒน์ : ก็คือตอนนั้นก็ออกมาอยู่เองด้วยนะครับ ก็ไม่ได้อยู่ที่บ้านอาแล้ว ผู้สัมภาษณ์ : อ๋อ อยู่บ้านอาปีหนึ่ง? แล้วออก คุณสุวัฒน์ : อ่า ออกมาก็มาเช่า อาก็ให้ไป... คล้ายๆ กับบ้านแบ่ง ห้องแบ่งให้เช่าน่ะ ห้องหนึ่งก็แชร์กันอยู่หลายๆ คนอะไรอย่างนี้ ผู้สัมภาษณ์ : คือเป็นบ้านหลังหนึ่งแต่ว่า... คุณสุวัฒน์ : อ่า เจ้าของบ้านเขาก็มีอยู่ห้องหนึ่ง เขาก็เลยแบ่งให้พวกนักเรียนอะไรอย่างนี้ใช่ไหมครับ ก็มาเช่าแล้วก็อยู่ร่วมกันอะไรประมาณนี้ อยู่แถวราชวัตรครับ ผู้สัมภาษณ์ : ราชวัตรนะครับ คุณสุวัฒน์ : ก็เป็นกึ่งๆ สลัมนิดหน่อยนะครับ ผู้สัมภาษณ์ : เดือนเท่าไหร่ครับเช่า? คุณสุวัฒน์ : จำไม่ได้เหมือนกัน ตอนนั้นอาเขาก็ดูแลให้ครับ ผู้สัมภาษณ์ : ครับ คุณสุวัฒน์ : แล้วก็ไปเรียนที่เซนต์คาเบรียล ก็ด้วยความที่เด็กต่างจังหวัดเพิ่งเข้ากรุงเทพฯ มาได้ปีหนึ่งข้อที่หนึ่ง ข้อที่สองก็คือความแตกต่างระหว่างชนชั้น ฐานะ ในความรู้สึกของเราเองว่าเซนต์คาเบรียลก็เป็นพวกผู้ดี พวกลูกคนรวยๆ กันทั้งนั้นน่ะนะครับ มันก็รู้สึกอยู่เหมือนกันครับ แล้วก็บวกกันกับว่าด้านการเรียนด้วย เซนต์คาเบรียลวิชาเขาค่อนข้างที่จะแข็ง เข้มอะไรอย่างนี้ เรามาถึงแม้จะเคยเรียนดีมา แต่พออยู่เซนต์คาเบรียล ก็รู้สึกว่าตัวเองแทบจะไม่ค่อยรู้อะไรมากเหมือนกับที่เพื่อนๆ เขารู้กันนะครับ ก็ต้องถีบตัวเองพอสมควรเหมือนกัน ผู้สัมภาษณ์ : ครับ คุณสุวัฒน์ : เสร็จแล้วหลังจากนั้นก็จาก ม.ศ.3 ขึ้น ม.ศ.4 เนื่องจากว่าคะแนนไม่ดี ไม่ได้สิทธิ์ต่อที่เซนต์คาเบรียล ก็เลยต้องออก ออมาเสร็จ... ผู้สัมภาษณ์ : พ.ศ. อะไรได้นะครับตอนนั้น? คุณสุวัฒน์ : เอ่อ 12 น่ะ ประมาณนั้น 2512 ผู้สัมภาษณ์ : 12 นี่คือจบ ม.3 คุณสุวัฒน์ : 12 นี่จบ ม.ศ.3 สมัยนั้นเป็น ม.ศ.3 ก็ต่อ ม.ศ.4-5 ที่วัดเบญจฯ ก็สอบเข้าเตรียมอุดม สอบเข้า วัดเบญจฯ ก็ไม่ได้ อาก็ฝากเข้าไปที่วัดเบญจฯ อีกนะครับ ผู้สัมภาษณ์ : อ๋อ คุณสุวัฒน์ : โดยที่เป็นเด็กต่างจังหวัดก็อยู่ตัวคนเดียว ไม่ได้มีใครเป็นที่ปรึกษา ก็ไม่ทราบว่าจบ ม.ศ.3 แล้วนี่มันสามารถที่จะไปเรียนอาชีวะได้ หรือจะต่อ ม.ศ.4-5 นี่อาจจะเป็นสายวิทย์ สายศิลป์หรืออะไร มีทางเลือกหลายทาง ผู้สัมภาษณ์ : ครับ คุณสุวัฒน์ : ส่วนอาเองก็ไม่ได้คุ้นเคยกับระบบการเรียนของประเทศไทย เพราะว่าสมัยอาเด็กๆ เขาก็เรียนอยู่ที่ปีนังครับ ซึ่งก็นิยมกัน คนทางใต้ที่มีตังค์ก็จะส่งลูกหลานไปเรียนที่ปีนังนะครับ เขาก็เลยไม่รู้ระบบทางคนไทยเหมือนกัน แต่ว่าโอเค รู้จักก็คนพาเข้าไปที่วัดเบญจฯ ได้ ฝากเข้าไปผมก็มีหน้าที่เรียน ก็เรียนวิทยาศาสตร์ ผู้สัมภาษณ์ : ยังพักอยู่ที่เดิมหรือเปล่าครับ? คุณสุวัฒน์ : ก็ยังพักอยู่ประมาณแถวที่เดิมน่ะนะครับ แต่ว่าก็มีการย้ายบ้างนิดหน่อย จากราชวัตรก็ย้ายไปอยู่แถวซังฮี้อะไรอย่างนี้ ก็ไปเจอพวกญาติๆ จากต่างจังหวัดมา ก็เลยไปเช่าอยู่รวมกันอะไรประมาณนั้นครับ ก็ย้ายไป ม.ศ.4-5 2 ปีที่วัดเบญจฯ ก็... ผู้สัมภาษณ์ : เป็นยังไงครับ? คุณสุวัฒน์ : เป็นอะไรอีกแบบหนึ่ง เพราะว่าจริงๆ แล้วจากเด็กๆ มาก็จะคุ้นเคยกับทางด้านศาสนาคริสต์ตลอด พอเข้าวัดเบญจฯ ก็เข้าวัดไทยพุทธไปเลย วัดพุทธไปเลยอะไรอย่างนี้ ผู้สัมภาษณ์ : (หัวเราะ) แต่โดยส่วนตัวนี่นับถือศาสนาอะไรครับ? คุณสุวัฒน์ : พุทธครับ ผู้สัมภาษณ์ : พุทธใช่ไหมครับ? คุณสุวัฒน์ : ศาสนาพุทธครับ ผู้สัมภาษณ์ : อ๋อ คุณสุวัฒน์ : ก็ ม.ศ.4-5 / 2 ปีที่เบญจฯ ก็เป็นอะไรอีกแบบหนึ่งนะครับ ที่ความเสมอภาคทางด้านฐานะอะไรก็เออ ดูดีไม่เหมือนกับเซนต์คาเบรียล ใกล้เคียงกันหน่อยครับ แล้วประสบการณ์ที่ดีว่า จากที่เราคาทอลิกมาตั้งแต่เด็ก มาอยู่วัดเบญจฯ ก่อนเข้าเรียนก็ต้องสวดมนต์กันทุกเช้าอะไรอย่างนี้นะครับ หรือมีกิจกรรมทางศาสนาอะไรก็ต้องเข้าไปร่วมด้วยครับ ก็ดีครับ ชีวิตช่วงนั้นก็รับผิดชอบเรื่องเรียนซะส่วนใหญ่ ก็อาก็ยังช่วยดูแลให้อยู่ครับ ผู้สัมภาษณ์ : ก็คือพอย้ายมาอยู่คนเดียวนี่ ตอน ม.3 ใช่ไหมครับ? คุณสุวัฒน์ : ม.ศ.3 ครับ ผู้สัมภาษณ์ : ม.ศ.3 ม.ศ.5 นี่ ช่วงนี้นอกจากเรียนแล้วทำอะไรบ้างครับ? คุณสุวัฒน์ : ก็ยังเหมือนๆ เดิมน่ะนะครับ คือความที่เราคิดว่าเราเป็นเด็กต่างจังหวัด เพราะฉะนั้นหนึ่งก็ไม่ทันเด็กกรุงเทพฯ อยู่แล้ว ข้อที่สองด้วยฐานะที่ว่าเราก็... อาก็ให้ใช้จ่ายค่อนข้างจะจำกัด เราก็เลยไม่มีเงินพิเศษอะไรที่จะไปทำกิจกรรมอะไรอย่างอื่นครับ ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นที่บ้านไม่ได้ส่งมาเหรอครับ? คุณสุวัฒน์ : คือที่บ้านตอนนั้นก็ยัง... ที่แจ้งก่อนหน้านี้ว่ามีปัญหาเรื่องการค้าอะไรประมาณนี้นะครับ ก็เลยไม่ได้มีเงินที่จะส่งเสียให้ตอนนั้น ผู้สัมภาษณ์ : อ๋อ ก็คือส่วนหนึ่งที่ย้ายจากจันทบุรีมาอยู่กรุงเทพฯ... คุณสุวัฒน์ : ใช่ ก็คือเพราะเหตุผลของ... ผู้สัมภาษณ์ : อืม ก็คือชีวิตประจำวันก็... คุณสุวัฒน์ : ก็ไม่มีอะไรตื่นเต้นน่ะนะครับ ผู้สัมภาษณ์ : แล้วแบบพวกข่าวสาร พอโตขึ้นมาหน่อยนี่ได้รับอะไรบ้างหรือเปล่า? คุณสุวัฒน์ : ช่วงนั้นก็ยังไม่ได้สนใจเรื่องนี้ เรื่องการเมืองนี่พูดจริงๆ คือไม่ได้... ผู้สัมภาษณ์ : แล้วสังคมช่วงนั้นล่ะครับ? มีข่าวอย่างอื่นไหมครับที่พอจะจำได้? คุณสุวัฒน์ : เอ่อ จำไม่ได้เลยพวกนั้น พูดจริงๆ ว่าจำไม่ได้เลยว่ามีอะไร ด้วยความที่อาจจะไม่ได้สนใจด้วยนะครับ เพราะคงมีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบเรื่องการเรียน ก็จะมุ่งเน้นไปตรงนั้นนะครับ ก็อย่างที่บอกคือมีความรู้สึกว่าเราด้อยกว่าคนกรุงเทพฯ เด็กกรุงเทพฯ เขา อะไรๆ ก็ต้องมุ่งเน้นไป จริงๆ แล้วอาจจำเป็นต้องนั่น ก็คือขนาดมีสาวๆ มาอะไรอย่างนี้ เราก็ยังไม่สนใจไม่อะไรเลย ผู้สัมภาษณ์ : อ๋อ ไม่มีแฟน? (หัวเราะ) คุณสุวัฒน์ : ไม่มีๆ แล้วก็ความจริงแล้วที่อยู่ก็มีสาวๆ มาสนใจเราอะไรอย่างนี้ เราก็ยังไม่ได้ให้ความสนใจมาก เป็นคนที่รู้สึกว่าต้องรับผิดชอบเรื่องเรียนให้ได้เต็มที่มากที่สุดครับ เพราะว่าตอนนั้นจริงๆ ตอนใกล้จบ ม.ศ.5 ก็ยังไม่รู้อีกว่าจบ ม.ศ.5 แล้วต้องทำอะไรต่อ ผู้สัมภาษณ์ : (หัวเราะ) คุณสุวัฒน์ : คือไม่รู้น่ะ ว่าต้องเข้ามหาลัย ต้องอะไรอย่างนี้นะครับ ไม่รู้เรื่องเลย ผู้สัมภาษณ์ : คือเรียนเฉพาะหน้าไป... คุณสุวัฒน์ : อ้า เป็นวันๆ เหมือนกับแทบจะเรียกเป็นวันๆ ไปก็ได้นะครับ ก็คือเอาตัวรอดเป็นเทอมไปอะไรประมาณนั้น วัดเบญจฯเองช่วงนั้นพูดถึงก็เคี่ยวพอสมควรนะครับ ผู้สัมภาษณ์ : แล้วไม่มีครูแนะแนวว่า เอ๊ะ จบนี้ต้องไปต่อนั้น? คุณสุวัฒน์ : ความจริงสมัยนั้นคงยังไม่เหมือนสมัยนี้น่ะนะครับ แต่ก็มีเหมือนกับว่ามีรุ่นพี่ที่จบการศึกษาไป เข้ามหาลัย ไปเขาก็มาให้คำแนะนำอยู่บ้างเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้เป็นกิจจะลักษณะ เป็นลักษณะแบบว่าสนิทกับใครหรืออะไรอย่างนี้ อย่างเช่นเราอยู่ ม.ศ.4 ก็มีพี่ ม.ศ.5 พอเราขึ้น ม.ศ.5 พี่ ม.ศ.5 ก็จบเข้ามหาลัยไป แล้วก็อาจจะกลับมาเยี่ยมเยียนหรืออาจจะติดต่อกันอยู่ สมัยนั้นอย่างโทรศัพท์มือถือมันก็ไม่มี อย่างบ้านอยู่ที่ผมพักอาศัยก็ไม่มีโทรศัพท์อะไรอย่างนี้ใช่ไหม ก็เลยติดต่อกับใครนอกเหนือจากเวลาที่... นอกจากจะเจอกันต่อหน้า หรือที่โรงเรียน นอกจากนั้นก็คงเป็นไปได้ยากใช่ไหมครับ ก็เลยไม่ค่อยได้นั่นกับใคร ผู้สัมภาษณ์ : แล้วติดต่อที่บ้านบ่อยไหมครับช่วงนั้น? คุณสุวัฒน์ : ก็ไม่ค่อยบ่อย ตอนช่วงนั้นนี่พอดีก็ย้ายมาอยู่แถวถนนจันทร์ ก็ไปเช่าบ้านอยู่ ผู้สัมภาษณ์ : พอพี่ย้ายมาจากจันทบุรีแล้ว หลังจากนั้น... คุณสุวัฒน์ : แล้วพ่อแม่ก็ลงไปอยู่ทางใต้อะไรประมาณนั้นครับ ช่วงปิดเทอมบางทีผมก็ลงไปอยู่ที่ใต้เหมือนกัน ที่สตูล ผู้สัมภาษณ์ : คือช่วงที่พี่มาเรียนกรุงเทพฯ นี่เขาก็ย้ายกลับไปอยู่ที่ใต้กันแล้ว? คุณสุวัฒน์ : อ่า ก็ย้ายจากจันทบุรีออกมา ก็ลงไปอยู่ทางใต้กัน ส่วนผมเองก็ปิดเทอมบางครั้งก็เรียนต่อบ้าง บางทีก็ลงไปอยู่กับพ่อแม่ที่ทางใต้ที่สตูลครับ ตอนหลังก็โอเค พอช่วง ม.ศ.4-5 ปลายๆ พอดีพี่สาวก็เริ่มจบ เริ่มทำงาน ก็เริ่มมีรายได้พอๆ ฐานะก็ดีขึ้นนะครับ ก็ขยับขยาย อ้อปลายๆ ก็ยังอยู่ที่ตรอกจันทร์อยู่ โชคดีว่ามีเพื่อนที่เคยเรียนจันฯ ด้วยกันแล้วก็มาเจอกันที่วัดเบญจฯ อีก เขาก็ค่อนข้างที่จะคล่อง เพราะว่าตอนที่แยกกันที่จันฯ เขาไปเรียนที่อัสสัมฯ ศรีราชาตอนช่วง ม.ต้น ตอนม.ปลายมาเจอกันที่วัดเบญจฯ ก็เลยสนิทกัน เขาก็เป็นคนแนะนำให้ว่า เฮ้ย มึงต้องเลือกอย่างโน้นอย่างนี้ อะไรอย่างนี้ไหมครับ ผู้สัมภาษณ์ : ตอนจะเอนฯ ใช่ไหมครับ คุณสุวัฒน์ : ตอนจะสอบเอนทรานซ์ ใช่ จริงๆ แล้วเขาเป็นคนเขียนให้ผมหมดซะด้วยซ้ำ เลือกให้ผมหมดซะด้วยซ้ำนะครับ ผู้สัมภาษณ์ : (หัวเราะ) อ๋อ แล้วอย่างตอนที่กลับไปเยี่ยมบ้านที่ใต้ตอนปิดเทอมนี่เป็นยังไงครับ? เพราะเราเป็นคนต่างจังหวัดด้วย แล้วมาอยู่กรุงเทพฯ แล้วกับไปอยู่... สภาพสังคมเป็นยังไงครับ? คุณสุวัฒน์ : จริงๆ ไปอยู่ตรงนั้นนี่มันก็คงไม่ค่อยได้เห็นอะไร แล้วก็วัดอะไรลำบาก ถ้าจะบอกไปก็คือไปอยู่บนเกาะ ผู้สัมภาษณ์ : เกาะอะไรครับ? คุณสุวัฒน์ : เกาะปูยู ผู้สัมภาษณ์ : เกาะปูยู? คุณสุวัฒน์ : อ่า ชื่อเกาะปูยู อยู่ตรงเขตของจังหวัดสตูลครับ จากสตูลนั้นต้องนั่งเรือไปบนเกาะอีก บนเกาะก็จะไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ ไม่มีอะไรเลย มันเป็นเตาเผาถ่านไม้โกงกาง ผู้สัมภาษณ์ : อ๋อ ตอนนั้นไปอยู่ไปทำอะไรครับ? เป็นที่ส่วนตัวไหม? คุณสุวัฒน์ : ความจริงพ่อไปช่วยเพื่อน เพื่อนเขาไปสัมปทานได้ป่าไม้โกงกางมาเพื่อเผาถ่าน ส่งออกปีนังไปนะครับ ก็ไปช่วยอยู่เพื่อจะพอมีรายได้บ้าง ปิดเทอมผมก็เลยไปอยู่ที่โน่น ผู้สัมภาษณ์ : อืม คุณสุวัฒน์ : ก็ค่อนข้างลำบาก เพราะไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ ไม่มีอะไร มันไม่ค่อยสะดวก ผู้สัมภาษณ์ : ปัจจุบันนี้คงเป็นที่ท่องเที่ยว (หัวเราะ) คุณสุวัฒน์ : เอ่อ ปูยูเองนี่ยังไม่แน่ใจเหมือนกัน ผมก็ตั้งแต่นั้นก็ไม่เคยได้กลับไป ก็เลยไม่ทราบว่าเจริญไปถึงไหน ขนาดไหนยังไงแล้ว ผู้สัมภาษณ์ : ครับ ทีนี้พอได้เอนฯ ตอน... คุณสุวัฒน์ : กลับนั่นแหละ ผู้สัมภาษณ์ : เอนฯ ตอนปี? คุณสุวัฒน์ : 14 ครับ ผู้สัมภาษณ์ : เป็นยังไงครับ? ตอนนั้นเอนฯ เข้าคณะอะไรครับ? คุณสุวัฒน์ : ก็อาจจะโชคดี ดวงดี ฟลุ๊คอะไรหลายๆ อย่างน่ะนะ เพราะว่าก็สอบเข้าที่เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ได้ครับ ก็มีเพื่อนวัดเบญจฯ เข้ามาด้วย 2-3 คน แล้วขณะเดียวกันก็ไปเจอเพื่อนเซนต์คาเบรียลสมัยเรียน ม.ศ.3 ด้วยกัน ก็เข้ามาอีกประมาณเกือบ 10 คน ก็เลยมีเพื่อนหน่อยครับ แต่ก็ปรับตัวไปได้เยอะแล้วตอนนั้น หลังจาก 4 ปีที่มาอยู่กรุงเทพฯ แล้วก็เข้ามหาลัยก็ เรียนที่นี่ก็ความรู้สึกที่แตกต่างอะไรหลายๆ ด้าน ก็คงน้อยลงไปเยอะ เพราะที่นี่เป็นธรรมศาสตร์ ค่อนข้างที่จะให้ความเสมอภาค ก็ทำให้รู้สึกสบายใจขึ้น ผู้สัมภาษณ์ : อยากให้ช่วยเล่าบรรยากาศตอนที่เรียนปี 1 น่ะครับ เป็นยังไงบ้างครับที่ธรรมศาสตร์? คุณสุวัฒน์ : ก็มากันหลากหลาย จาก ม.ปลาย หลายโรงเรียนอะไรอย่างนี้ใช่ไหมครับ แต่ก็ค่อนข้างที่จะเข้ากันได้ดี ที่คณะก็มีอยู่ 150 คน ภาคปกติ แล้วก็มีภาคค่ำอีก ผมไม่แน่ใจว่ากี่คนนะครับ แต่ว่าภาคค่ำนี่สมัยนั้นก็คือจริงๆ แล้วเปิดขึ้นมาเพื่อจะให้ผู้ทำสำเร็จการศึกษาแล้ว ทำงานแล้วนี่ได้มาเพิ่มวิทยฐานะ มาเรียนเอาปริญญาตรีอะไรประมาณนั้น แต่ก็มีบางคนที่จบรุ่นเดียวกับเราแต่ว่าสอบเข้าภาคปกติไม่ได้ แต่ก็ได้ภาคค่ำ เพราะฉะนั้นพวกนี้ก็จะไม่มีงานทำกลางวัน ก็เป็นรุ่นๆ เดียวกัน ส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกมีอายุแล้วที่มาเสริมใช่ไหมครับ ก็จะเป็นอยู่กลุ่มหนึ่งซึ่งจบมาพร้อมกับเรา เพราะฉะนั้นกลางวันก็ไม่ได้ทำงาน ก็อาศัยมาเรียนกลางคืนอย่างเดียวนะครับ เพราะฉะนั้นกลางวันก็ว่างก็ไปที่คณะ ก็ทำให้เกิดความสนิทสนมกันขึ้นกับภาคค่ำ ซึ่งจริงๆ แล้วเราแทบจะแยกกัน ไม่ค่อยได้สุงสิงกัน แต่เรามีโอกาสที่ได้เจอ เพราะฉะนั้นด้วยความที่แบบเรียนปี 1 ความจริงมันก็ไม่ได้มีอะไรมาก แล้วก็... ผู้สัมภาษณ์ : มีกิจกรรมรับน้อง มีอะไรอย่างนี้ไหมครับ? คุณสุวัฒน์ : ก็เรื่องปกตินะครับ ก็มีอยู่ปกติ แล้วก็ด้วยความที่ไม่เคยทำกิจกรรมตอนเรียนมาอะไรมานะครับ แล้วก็ไม่มีใครมาควบคุมดูแล ไม่อะไร ก็ทำให้เราเจอโลกอีกโลกหนึ่งครับ เป็นโลกใหม่ ก็ค่อนข้างที่จะใช้ความอิสระเต็มที่ เหมือนธรรมศาสตร์นี่ก็แบบ... ผู้สัมภาษณ์ : ทำอะไรบ้างครับ? ที่บอกว่าอิสระเต็มที่ (หัวเราะ) คุณสุวัฒน์ : ก็นอกจากเรียนแล้ว ก็นี่แหละเพื่อนฝูงมาสนุกสนานกันนะครับ เตะตะกร้อเล่นกันบ้าง ความจริงตอนปี 1 นี่ก็ยังไม่ได้ทำอะไรเท่าไหร่ ก็จะเป็นห่วงว่าเดี๋ยวการเรียนจะเสียอะไรประมาณนั้น ก็พยายามมุ่งเรื่องเรียนอยู่นะครับ ผู้สัมภาษณ์ : กิจกรรมก็ไม่ได้ทำ? คุณสุวัฒน์ : กิจกรรมก็จะมีกับเพื่อนฝูงนิดๆ หน่อยๆ อะไรอย่างนี้ ก็ยังไม่ได้ร่วมกิจกรรมของมหาลัย หรือของคณะที่เป็นชมรมอะไรต่างๆ ยังไม่ค่อยได้ทำตรงนั้น คืออยู่ระหว่างช่วงที่ศึกษาดู ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนฝูงหรือกิจกรรมหรืออะไรประมาณนั้น ก็มีบังเอิญไปช่วยทางด้านชมรมเชียร์อยู่นะครับ ก็ดูในส่วนของเรื่องรหัสแปรอักษรในฟุตบอลประเพณี แล้วก็รักบี้ประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ อะไรประมาณนั้น ผู้สัมภาษณ์ : อันนั้นไปเป็น Staff หรือว่าเป็นยังไงครับ? คุณสุวัฒน์ : ก็เข้าไปช่วยเขาทุกอย่างครับ เขาให้ทำอะไรก็ช่วยหมดทุกอย่าง ผู้สัมภาษณ์ : เข้าไปได้ยังไงครับ? คุณสุวัฒน์ : ก็จะมีพวกรุ่นเดียวกันนี่เขาสนิทกับรุ่นพี่ เขาก็ชวนๆ แล้วก็จะมีพวกภาคค่ำนี่ด้วยแหละ กลางวันเขาว่างเขาก็มาช่วยงานอะไรอย่างนี้ใช่ไหม เราคุยๆ ไป เฮ้ย กูทำนี่ เอ้า ก็เข้าไป ความจริงแล้วก็คือจะเรียกว่าไปแลกข้าวกินก็ยังได้ ผู้สัมภาษณ์ : (หัวเราะ) ยังไงครับ? คุณสุวัฒน์ : ก็คือหมายความว่าไปช่วยงานเขานี่ เขาก็มีข้าวเลี้ยงให้อะไรให้อย่างนี้น่ะนะครับ ผู้สัมภาษณ์ : อ๋อ คุณสุวัฒน์ : เราก็เลย เออเฮ้ย ตรงนี้ก็ดีเหมือนกัน ไม่ต้องเสียเงินซื้อข้าวกินใช่ไหมครับ ก็ไปช่วยเขาทำ ผู้สัมภาษณ์ : (หัวเราะ) คุณสุวัฒน์ : แต่ก็ทำอยู่ได้ปีเดียวน่ะ ปี 1 ที่ไปช่วย ก็สนุกดี ก็ทำให้มีความรู้ชอบมากขึ้น ทำให้รู้จักเพื่อนฝูงมากขึ้น ต่างคณะ รุ่นพี่ อะไรประมาณนั้น ความจริงแล้วช่วงนั้นก็เรียกได้ว่ากินนอนอยู่ธรรมศาสตร์ กินนอนอยู่ที่นั่นเลย ไม่ได้กลับบ้านเลย ผู้สัมภาษณ์ : ก็คือนอนที่ชมรมเชียร์เหรอครับ? คุณสุวัฒน์ : อ้า เขาจะมีห้องที่จะทำตรงนี้นะครับ ผู้สัมภาษณ์ : อันนี้เป็นเหมือนขาประจำแบบ... (หัวเราะ) คุณสุวัฒน์ : ก็ประมาณอย่างนั้นครับ เพราะว่าด้วยเหตุผลฐานะทางบ้าน ก็ยังไม่ดีเท่าไหร่ ก็เลย... ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นนี่ยังพักอยู่ที่แถวถนนจันทร์? คุณสุวัฒน์ : อยู่ที่ตรอกจันทร์ครับ อยู่ตรอกจันทร์ ผู้สัมภาษณ์ : ตรอกจันทร์อยู่เหมือนเดิม คุณสุวัฒน์ : ก็ถ้าเผื่อว่าวันไหนตื่นเช้าแม่มีตังค์ก็ขอ 10 บาท ผู้สัมภาษณ์ : อืม มหาลัย นี่นะครับ? (หัวเราะ) คุณสุวัฒน์ : ถ้าไม่มีก็ขอ 50 สตางค์ - 50 สตางค์ นี่ก็เพราะว่าจากตรอกจันทร์สะพาน 2 ครึ่ง ก็เดินมาถึงเจริญกรุง จากเจริญกรุงก็นั่งรถเมล์สาย 1, สาย 75 มาลงท่าช้าง แล้วก็เดินจากท่าช้างต่อไปธรรมศาสตร์ครับ ผู้สัมภาษณ์ : อืม คุณสุวัฒน์ : แต่ผมก็อาจจะโชคดีหลายๆ อย่างนะครับ ตรงที่ว่ามีเพื่อนที่ดี นี่เป็นสิ่งที่คิดว่าได้จากที่ธรรมศาสตร์ครับ ก็ได้เพื่อนดีๆ เยอะที่ช่วยกัน คือที่ขอ 50 สตางค์ นี่เราก็หายไปเดือนหนึ่งเลย ไม่กลับบ้านเลย ผู้สัมภาษณ์ : 50 สตางค์นี่นะครับ? คุณสุวัฒน์ : อืม ผู้สัมภาษณ์ : ก็ไปอยู่? คุณสุวัฒน์ : ก็อยู่นั่นแหละ กินนอนอยู่ธรรมศาสตร์แหละครับ ผู้สัมภาษณ์ : เสื้อผ้าอย่างนี้ล่ะครับ? คุณสุวัฒน์ : เสื้อผ้าก็นั่นล่ะมีอยู่ชุดสองชุด หรือของใครแขวนๆ ไว้อะไรก็หยิบใส่กันไป ทุกคนก็จะรู้กันหมดครับ เราก็จะโชคดีน่ะตรงที่ว่ามีเพื่อนดีๆ ผู้สัมภาษณ์ : แล้วคนที่ทำอย่างพี่มีเยอะไหมครับ? หรือว่าเป็นเอกลักษณ์ปัจเจกบุคคล? (หัวเราะ) คุณสุวัฒน์ : ก็มี แต่ผมว่าอาจจะด้วยหลายๆ เหตุผลนะครับ คงจะแตกต่างกันไป อย่างผมเองก็อย่างที่รู้ก็คือเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจอะไรตรงนี้นะครับ ก็คิดว่าถ้ากลับไปบ้านก็ไปเพิ่มภาระให้กับพ่อแม่ เรื่องน้ำ เรื่องไฟ เรื่องข้าว เรื่องอะไรประมาณนี้ ความจริงก็สงสารเขาเหมือนกันคิดย้อนหลังไปน่ะนะ พอเดือนหนึ่งก็กลับบ้านทีหนึ่ง ก็เมื่อก่อนมันไม่มีมือถือ ไม่มีอะไร ตอนนั้นเขาก็เลยไม่รู้ว่าเราไปอยู่ไหน อะไรยังไงใช่ไหมครับ ก็ติดต่อไม่ได้ แต่เขาก็คงจะชินพอสมควรเหมือนกันที่เห็นเราหายไป ผู้สัมภาษณ์ : แล้วที่ชมรมเขามีข้าวเลี้ยงทุกมื้อเลยเหรอครับ? (หัวเราะ) คุณสุวัฒน์ : ครับๆ คือทางประธานชมรมนี่... เปรียบเทียบกันไม่ทราบว่าจะอ้างอิงสถาบันอื่นได้ไหม เขาบอกถ้าเป็นของจุฬาฯ นี่จะรวย แต่ของธรรมศาสตร์นี่จบมาแล้วทำงานอีก 10 ปี ก็ยังใช้หนี้ไม่หมด เพราะว่าเงินสนับสนุนจากมหาลัย น้อยมากนะครับ แล้วปีนั้นเป็นปีที่ทางประธานชมรมเชียร์ทำอะไรที่ค่อนข้างจะใหญ่มากๆ ใช้เงินเยอะ อะไรเยอะนะครับ ก็เลยทำให้... แต่ผลงานออกมาแล้วทุกคนก็เป็นที่กล่าวขวัญนะครับตอนนั้น ผู้สัมภาษณ์ : อืม คุณสุวัฒน์ : ก็ได้หน้าได้ตาไป ปีนั้นก็... ไม่ได้ไปทับถมเขานะ แต่ว่าเราชนะเขาขาดเลยเรื่องแปรอักษรอะไรอย่างนี้นะครับ เป็นอะไรที่ทุกคนทึ่งน่ะ แต่เราก็ทุ่มเทกันเยอะนะครับ ทำกันแบบว่าไม่ได้กินไม่ได้นอนอะไรประมาณนั้นน่ะนะครับ ก็หมกตัวอยู่ที่นั่นน่ะ คือเย็นนี่ถ้านั่งใต้คณะใต้ตึกเขาเรียก Common Room ใต้คณะจะเป็นที่ว่าง เป็นโต๊ะเก้าอี้ให้นั่งอะไรอย่างนี้ เพื่อนที่สนิทๆ จะรู้เลยว่าเห็นผมนั่งอยู่นี่ เขาจะชวนแล้ว เฮ้ย ไปนอนบ้านกู เฮ้ย ไปกินข้าวบ้านกู ก็เจอเพื่อนดีๆ บางคนก็ไปนอนบ้านเขาเสร็จ เช้าเขาก็ เฮ้ย เอ้า เสื้อผ้า มึงดูสิ มีตัวไหนใส่ได้มึงก็เอาไปอะไรประมาณนี้ ผู้สัมภาษณ์ : อ๋อ คุณสุวัฒน์ : จะพูดถึงได้ก็คือคุณชนินทร์ ซึ่งเป็น CEO ของบริษัท บ้านปู จำกัด มหาชน ผู้สัมภาษณ์ : อ๋อ เห็นพี่ประเสริฐพูดถึงครับ คุณสุวัฒน์ : อ้า สำหรับเขาแล้วมันแทบจะจิ๊บจ๊อยน่ะใช่ไหมครับ แต่สำหรับเรา เออเฮ้ย มันเป็นอะไรที่มัน... คือเพื่อนจะรู้ว่าตกเย็นมานี่... มีเพื่อนอยู่กลุ่มหนึ่งก็หลายคนพอสมควรที่จะรู้ว่าเราเป็นยังไง อะไรยังไงใช่ไหมครับ หรือตอนเย็นๆ ก็ เฮ้ย ไปกินเหล้ากัน บอกกูไม่มีตังค์ เขาว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวกูออกให้ อะไรประมาณนี้ สมัยนั้นไปกินกันหลังสวน 10 บาท ก็เมากันแปร้แล้ว ผู้สัมภาษณ์ : (หัวเราะ) คุณสุวัฒน์ : ก็ค่อนข้างจะใช้ชีวิตที่แตกต่างไปจากที่เดิมๆ ที่เคยทำมา ผู้สัมภาษณ์ : พี่สังเกตไหมครับว่ามีคนแบบคล้ายๆ พี่บ้างไหมครับ? คุณสุวัฒน์ : เอ่อ ก็พอมีน่ะนะ แต่ว่าก็ที่สนิทๆ กันอะไรอย่างนี้ เขาจะเป็นไม่ใช่ว่าด้วยเหตุผลเดี๋ยวกับผมมากกว่า ผมคิดว่านะ คือเหตุผลที่เขาอาจจะชอบกิจกรรมจริงๆ อะไรอย่างนี้ใช่ไหมครับ แต่ผมนี่อาจจะมี hidden agenda อยู่บ้างนิดหน่อยอะไรประมาณนั้นนะครับ ผู้สัมภาษณ์ : (หัวเราะ) คุณสุวัฒน์ : ก็แม้แต่เงินลงทะเบียนเอย อะไรเอย ก็กว่าจะลงทะเบียนอะไรทีก็ต้องหากันพอสมควร บางทีก็ไปทำงานพิเศษ ผู้สัมภาษณ์ : ครับ ทำอะไรบ้างครับ? คุณสุวัฒน์ : อยู่ที่สนามกอล์ฟกรุงเทพกรีฑา น่ะ สมัยนั้นก็มีคนเขาชวนมา ทำเฉพาะเสาร์-อาทิตย์นะครับที่จะทำ ก็มาเป็นเด็กเสิร์ฟ ได้วันละ 50 บาท สมัยนั้นก็นับว่าเยอะมาก ผู้สัมภาษณ์ : โอ เยอะครับ เยอะมาก คุณสุวัฒน์ : เราก็ต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 ตี 5 มา ก็อย่างที่รู้ว่ากอล์ฟก็คือเอากันแต่เช้า แต่วันไหนถ้าเขามีแข่งกันอะไรอย่างนี้ ตอนเย็นเลี้ยงแจกถ้วยก็ต้องอยู่ต่อ ผู้สัมภาษณ์ : มีโอทีไหม? (หัวเราะ) คุณสุวัฒน์ : ไม่มีน่ะ มีแต่บี้ทิป ก็คือจริงๆ ทิปก็ได้วันหนึ่งก็สัก 30-40-50 อะไรก็แล้วแต่คนแล้วแต่วัน บางทีเป็นร้อย แต่ก็ได้เฉพาะเสาร์-อาทิตย์ ผู้สัมภาษณ์ : ครับ คุณสุวัฒน์ : แล้วก็มีอีกช่วงหนึ่งที่ปิดเทอมก็ไปเป็นพนักงานขายที่ Central สมัยนั้นก็เป็น Central สีลม ก็ได้วันละ 25 บาท ผู้สัมภาษณ์ : โอ น้อยกว่ากอล์ฟอีกนะครับ? คุณสุวัฒน์ : อ้า วันละ 25 บาท แต่ก็มีข้าวให้ทานมือหนึ่งอะไรประมาณนั้น แต่เป็นช่วงสั้นๆ ช่วงปิดเทอม จำได้ว่าเป็นประมาณเดือนตุลา สมัยนั้นก็ยังมีประมาณสัปดาห์สินค้าไทยอะไรอย่างนี้ แล้วเขามีกิจกรรมพิเศษ มีบูธเพิ่มเติมมาอะไรมา ก็เลยต้องการพนักงานชั่วคราว ก็เคยทำอยู่เดือนหนึ่ง ผู้สัมภาษณ์ : แล้วค่าเทอมประมาณเท่าไหร่ครับ? คุณสุวัฒน์ : ค่าเทอมสมัยนั้นนี่หน่วยกิตละ 25 บาท เทอมหนึ่งก็เรียนประมาณสัก 20 กว่าหน่วยกิต ก็ 500 กว่าบาทครับ ไปพูดถึงตรงนี้แล้วนี้บางทีด้วยความที่มันไม่พร้อมในหลายๆ ด้าน มันก็เลยทำให้ไม่มีแผน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเงิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคำแนะนำ รวมทั้งความอิสระที่เราได้มา บางทีอาจจะอยู่กับพ่อแม่แต่ว่าก็ค่อนข้างอิสระ อย่างที่บอกเดือนหนึ่งก็ไม่ได้กลับบ้านอะไรอย่างนี้ใช่ไหมครับ ก็เลยทำให้การเรียนไม่ค่อยดี ผู้สัมภาษณ์ : อ่า get แล้วครับ คุณสุวัฒน์ : เพราะไม่ค่อยได้เรียนนะครับ ไม่ค่อยได้เรียนก็เพราะหลายอย่าง ก็คืออาจจะกิจกรรมบ้าง เตลิดเปิดเปิงไปกับเพื่อน ก็ตอนปี 3 ก็ไปออกค่ายที่โคราช ของโรตาแรคท์ ผู้สัมภาษณ์ : ปี 3 นี่ปีไหนแล้วครับ? คุณสุวัฒน์ : เอ่อ 14-15-16 ผู้สัมภาษณ์ : เข้า 14-15 อ๋อ 16 ก็ช่วงเหตุการณ์พอดี คุณสุวัฒน์ : เอ่อ ก็ใครชวนไปทำกิจกรรมอะไรอย่างนี้ เห็นว่า เออ มันน่าทำ สนใจ สนุก อะไรก็ไป ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายอะไรเป็นกิจลักษณะนะครับ ผู้สัมภาษณ์ : อืม คุณสุวัฒน์ : แต่พูดถึงค่าหน่วยกิตนี่ จะว่าไปบางทีผมเรียน 4 ปีก็เกรดเกิน 2 หน่วยกิตก็เกินที่กำหนดแต่ไม่จบ เพราะติดอยู่ข้อหนึ่งก็คือว่า เฉพาะวิชาคณะนี่ต้องได้ 2 ผมติด D อยู่ตัวหนึ่งก็เลยไม่จบ พอไม่จบปุ๊บนี่ เพื่อนฝูงมันจบกัน ตอนนั้นก็คิดแบบบ้าๆ บอๆ ตามสไตล์ กะว่าไม่เป็นไรเรียนปี 5 ผู้สัมภาษณ์ : (หัวเราะ) คุณสุวัฒน์ : เพราะตอนนั้นก็ไว้ผมยาวด้วย อะไรด้วย ก็อิสระเต็มที่ ก็กะว่าจะเรียนปี 5 ต่ออีกปีหนึ่งแค่วิชาเดียวนี่นะ ปรากฏว่าเพื่อนที่เข้ามาด้วยกันนี่เขาก็ไม่ยอม เขาบอกว่าไม่ได้ มึงเข้าพร้อมกู มึงต้องออกพร้อมกู เขาว่าอย่างนี้ใช่ไหมครับ ผู้สัมภาษณ์ : อืม ครับ คุณสุวัฒน์ : ก็ความจริงประกาศเกรดไปเรียบร้อยหมดแล้วนะครับ ลงทะเบียน summer ก็ลงไปเรียบร้อยหมดแล้ว แต่เขาเปิดสิทธิ์ให้สำหรับคนที่จะจบ ยังสามารถที่จะลงได้ ผมติดอยู่วิชาเดียวจริงๆ ผู้สัมภาษณ์ : ลงไหน? ลง Summer เหรอครับ? คุณสุวัฒน์ : อ่า ลง summer เขาปิดลงไปแล้ว แต่คนที่มีสิทธิ์จบนี่เขาก็ยังเปิดโอกาสให้ใช่ไหมครับ เพื่อนรู้ก็เลยลากไปบอก มึงจะเรียนวิชาไหน มึงจิ้มมา ผมบอก กูไม่มีเงิน เขาบอก มึงจิ้มไป เดี๋ยวกูออกเงินค่าลงทะเบียนให้เอง ผู้สัมภาษณ์ : Summer นี่แพงกว่าปกติไหมครับ? คุณสุวัฒน์ : จำไม่ได้ คิดว่าไม่น่าจะนะ แต่แพงก็คงไม่แพงกว่าเท่าไหร่ ถ้า 3 หน่วยกิตก็ประมาณ... ผมว่าจะแพงกว่ายังไงก็คงระดับ 100-200 บาทเต็มที่นะครับ เพราะภาคปกติหน่วยกิตละ 25 บาท ผู้สัมภาษณ์ : ครับ คุณสุวัฒน์ : ก็เพื่อนลงจัดการให้หมด ออกเงินให้เสร็จเลย เพราะผมไม่มีเงินนะครับ เพื่อนก็จัดการให้ ความจริงเราจบมาได้ก็เพื่อนช่วยเยอะนะครับ แล้วความจริงจบมาก็รับปริญญาก็แทบจะเป็นคนสุดท้ายของคณะ ผู้สัมภาษณ์ : (หัวเราะ) คุณสุวัฒน์ : เพราะ summer ด้วย แล้วก็เกรดแค่ 2.17 ด้วยอะไรอย่างนี้ ผู้สัมภาษณ์ : อ๋อ เขาไม่ได้เรียงอักษรเหรอครับ? คุณสุวัฒน์ : เขาเรียงเกรดจากเกียรตินิยมมาก่อน เรียงเกียรตินิยมก่อนแล้วไม่แน่ใจ... แต่ว่ายังไงก็ตาม summer ก็มาต่อท้าย ผมจำไม่ได้ รู้สึกจะเรียงตามเกรดล่ะมั้ง ผู้สัมภาษณ์ : เกียรตินิยมรับก่อน แต่ว่าพอพวกต่ำกว่าเกียรตินิยมนี่ก็จะไปตามเกรด ? คุณสุวัฒน์ : อ่า จำไม่ได้แน่นอนน่ะนะครับ แต่ว่ายังไงซะก็จบ 4 ปีก่อน ต่อ summer อีกอะไรประมาณนั้นแหละ เท่าที่จำได้นะครับ เพราะฉะนั้นผมก็แทบจะเป็นคนท้ายๆ ของคณะ ทีหลังมาก ผู้สัมภาษณ์ : ช่วงพอปี 1 หลักๆ ก็คือทำกิจกรรมไปด้วยใช่ไหมครับ? แล้วก็มากินมานอน อาศัยอยู่กับเพื่อนอะไรอย่างนี้? คุณสุวัฒน์ : ใช่ๆ ผู้สัมภาษณ์ : แต่ว่าเกรดก็เกิน 2 อยู่? คุณสุวัฒน์ : อ้า เพราะว่าตอนปี 1 มันเรียนวิชาพื้นฐาน ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ยากเท่าไหร่ครับ ผู้สัมภาษณ์ : ช่วงปี 1 นี่นอกจากกิจกรรมของชมรมเชียร์แล้ว ตอนนั้นรู้สึกว่ามันจะเริ่มมีการรณรงค์ของนักศึกษาที่เกี่ยวกับเรื่องของต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น คุณสุวัฒน์ : อ้า ใช่ๆ ก็มีทั้งต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น ก็มีทั้งพวกภาษา อย่างเช่นว่าป้ายบริษัทอะไรอย่างนี้ ถ้าเป็นภาษาอังกฤษตัวใหญ่ๆ นี่ก็จะโดนนักศึกษาเขาไปต่อต้านอะไรกันใช่ไหมครับ ก็เริ่มเห็นกลิ่นไอของการประท้วงนะครับ สิทธิเสรีภาพต่างๆ ก็คงไม่ต้องออกไปไกล เฉพาะในธรรมศาสตร์เองก็มีให้เห็น เพราะว่ารุ่นพี่ผมนี่... ผมเข้าปี 14 รุ่นพี่ปี 13 นี่ความจริงทางมหาลัยก็ประกาศว่าจะใช้ระบบหน่วยกิต เพราะก่อนหน้านั้นจะเป็นระบบเปอร์เซ็นต์นะครับ ปี 13 นี่เป็นปีแรกที่ใช้ระบบหน่วยกิต แต่ปรากฏว่าก็โดนพวกนักศึกษาบางส่วนไม่เห็นด้วย ก็มีการเดินขบวนประท้วงกัน ถือป้ายต่อต้านหรือว่าต่อว่าทางมหาวิทยาลัยอะไรประมาณนั้น ผู้สัมภาษณ์ : นี่ของธรรมศาสตร์? เฉพาะธรรมศาสตร์? คุณสุวัฒน์ : ภายในเองเลย ภายในธรรมศาสตร์เองเลยนะครับ สุดท้ายก็เลยมีการสรุปกันว่า โอเค ถ้าอย่างนั้นปี 13 นี่ให้เลือกกันเองแล้วกัน ว่าคุณจะเอาระบบเปอร์เซ็นต์หรือจะเอาระบบหน่วยกิต เลือกได้ ผู้สัมภาษณ์ : เฉพาะรหัส 13? คุณสุวัฒน์ : อ้า เฉพาะรหัส 13 ผู้สัมภาษณ์ : อืม คุณสุวัฒน์ : แต่ผมปีเข้า 14 นี่ถ้าจะพูดไปก็ถือว่าเป็นหน่วยกิตรุ่นแรกเลยที่บังคับ คือไม่ให้เลือกแล้วนะครับ ผู้สัมภาษณ์ : สรุปแล้วปี 13 นี่เขาเลือกเปอร์เซ็นต์หรือเลือกหน่วยกิต? คุณสุวัฒน์ : ไม่แน่ใจเหมือนกันครับ ก็เป็นรุ่นพี่เลยไม่ทราบเขาว่าอะไรยังไง ผู้สัมภาษณ์ : ครับ คุณสุวัฒน์ : ก็ปีนั้นก็พอดีปี 14 จำได้ว่าจะเป็นปีแรกที่รามฯ เปิดมหาลัย พอดีนะครับ ผู้สัมภาษณ์ : ครับ ใช่ คุณสุวัฒน์ : เพราะฉะนั้นเปิดมาใหม่ๆ มันก็เป็นอะไรที่ของใหม่อะไรอย่างนี้ใช่ไหมครับ พวกสอบเอนทรานซ์ไม่ได้ทั้งหลายแหล่ก็ไปเรียนต่อกันที่รามฯ แล้วสถาบันก็มีการรวมกลุ่ม รวมอะไรกันขึ้นมา แล้วเขาก็มีจัดตั้งชมรม ก็เหมือนมหาลัย ปิดทั่วๆ ไปน่ะนะครับ เพียงแต่ว่าคนก็มากกว่าแล้วก็ activities อะไรต่างๆ เขาก็ค่อนข้างที่จะเจอ เพราะว่าเปิดมหาลัย เปิด เรียนก็ได้ ไม่เรียนก็ได้ เอาให้มันผ่านก็แล้วกันอะไรอย่างนี้ใช่ไหม มันก็อาจจะมีบางส่วนที่เข้าไปเพื่อไปหา connection เพื่อไปจุดกระแสอะไรประมาณอย่างนั้น มากกว่าที่จะตั้งใจเข้าไปเรียนจริงๆ อะไรประมาณนั้น ก็ช่วงนั้นก็เบ่งบานนะครับประชาธิปไตย ผู้สัมภาษณ์ : แล้วโดยส่วนตัวนี่ พอมีกระแสอย่างนี้มานี่พี่สนใจไหม? คุณสุวัฒน์ : ก็เริ่มสนใจ ผู้สัมภาษณ์ : ตั้งแต่ปี 1 เลยไหมครับ? คุณสุวัฒน์ : ก็เริ่มสนใจว่า... ผู้สัมภาษณ์ : ได้เข้าร่วมบ้างไหมครับ? หรือว่ายังไง? คุณสุวัฒน์ : ก็ความจริงแล้วยังไม่ได้เข้าร่วมอะไรมากมายทางด้านการเมืองน่ะนะครับ แต่จะมีทางด้านกิจกรรมภายในของธรรมศาสตร์มากกว่า ผู้สัมภาษณ์ : แล้วที่พี่เห็นว่ามันเริ่มมีคนออกมาต่อต้านสินค้า รณรงค์เรื่องโน้นเรื่องนี้นี่ รับรู้จากไหน? จากเห็นประจักษ์? หรือว่าหนังสือพิมพ์? หรือว่าเพื่อนมาบอก? คุณสุวัฒน์ : หนังสือพิมพ์จริงๆ แล้วก็ไม่ได้อ่าน ก็ได้จากฟังข่าว หนังสือพิมพ์ก็บ้าง แต่ว่าได้รับรู้จาก... ผู้สัมภาษณ์ : หลักๆ นี่คือ? คุณสุวัฒน์ : จากในภายในมหาลัย เองครับ ผู้สัมภาษณ์ : อืม คุณสุวัฒน์ : ก็จะมีโปสเตอร์ติดใช่ไหมครับ รณรงค์อะไรกันประมาณนั้น ก็เลยได้รับทราบตรงนั้นบ้าง ผู้สัมภาษณ์ : แล้วมีพวกจับกลุ่มพูดคุยแบบไฮด์ปาร์กแล้วยังครับตอนนั้น? คุณสุวัฒน์ : ช่วงนั้นก็ไม่มีน่ะครับ ไม่มี ผู้สัมภาษณ์ : เป็นโปสเตอร์เป็นหลัก? คุณสุวัฒน์ : อ้า เป็นโปสเตอร์เป็นหลัก แล้วก็อาจจะมีการบรรยายอะไรประมาณนั้นนะครับ ขึ้นอยู่กับชมรมที่เขาจะจัดกันอะไรกันครับ แต่ว่าใน public จริงๆ ผมไม่ค่อยเห็นนะ อาจจะไม่ได้สนใจด้วยอะไรยังงั้น ไม่เห็น ผู้สัมภาษณ์ : แล้วพอขึ้นปี 2 ล่ะครับ? คุณสุวัฒน์ : ปี 2 เองก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากปี 1 มากมาย แต่ว่าความเข้มข้น ความสนใจอะไรก็เริ่มมีมากขึ้นนะครับ ก็อย่างที่รู้คือประกอบกับฐานะทางบ้านอะไรอย่างนี้ มันก็เลยทำให้เราไม่ค่อยจะมีกะจิตกะใจที่จะเรียนเท่าไหร่ ก็เลย... ผู้สัมภาษณ์ : แต่เห็นบอกว่าชมรมเชียร์ที่เคยอยู่ 1 ปีนี่ พอปี 2 ก็ไม่อยู่แล้ว คุณสุวัฒน์ : อ่า ปี 2 นี่ก็ออกมาแล้วครับ ผู้สัมภาษณ์ : เป็นเพราะอะไรครับ? คุณสุวัฒน์ : ก็อยากจะไปหาอะไรอย่างอื่นทำมากกว่า คือทำเชียร์นี่ทำ 2 ส่วนเลย พอปี 2 นี่มาทำเชียร์คณะ ผู้สัมภาษณ์ : อ๋อ กลับเข้ามาเชียร์คณะ? คุณสุวัฒน์ : อ่า ครับ ทำเชียร์คณะของเศรษฐศาสตร์เอง ก็ไป train รุ่นน้องปี 1 ผู้สัมภาษณ์ : แล้วนอกจากทำเชียร์คณะแล้ว ทำอย่างอื่นอีกไหมครับ? คุณสุวัฒน์ : ตอนนั้นเท่าที่จำได้ก็ไม่ค่อยได้ทำอะไร ผู้สัมภาษณ์ : นี่เริ่มปี 15 แล้วใช่ไหมครับ? คุณสุวัฒน์ : มันจะคาบเกี่ยว 14 ถึง 15 15 ถึง 16 ครับ ผู้สัมภาษณ์ : กิจวัตรประจำวันก็คือเป็นอย่างนี้... คุณสุวัฒน์ : ไปเฮฮาเป็นหลัก ไปโน่นไปนี่ ผู้สัมภาษณ์ : แล้วเพื่อนเริ่มมีการพูดกันไหมครับว่า เฮ้ย บ้านเมืองมันอย่างนี้ๆ เริ่มมีคนพูดบ้างไหมครับในกลุ่ม? คุณสุวัฒน์ : จริงๆ แล้วนี่ก็ไม่ได้โดยตรง แต่ในภาพรวมที่ได้ยิน ก็อย่างเช่นเริ่มมีการประท้วงกันเป็นขบวนมากขึ้น แล้วก็ได้ข่าวอย่างในท้องที่ของ สน.ชนะสงคราม ที่ธรรมศาสตร์อยู่ในท้องที่ สน.ชนะสงครามใช่ไหมครับ ก็ได้ยินแว่วๆ มา เขาก็พูดๆ กันอะไรอย่างนี้ว่า เฮ้ย ธรรมศาสตร์นี่มันหัวเอียงซ้าย อะไรกันประมาณนั้นนะครับ เราบอก คณะไหนวะ นิติฯ หรือ รัฐศาสตร์ บอกไม่ใช่ ไอ้พวกเศรษฐศาสตร์น่ะแหละ ผู้สัมภาษณ์ : อ้าว คุณสุวัฒน์ : อาจจะเป็นเพราะว่าเรียนเศรษฐศาสตร์มา ก็เลยรู้เรื่องสังคมนิยม เรื่องคอมมิวนิสต์ เรื่องประชาธิปไตยอะไรประมาณนั้นใช่ไหมครับ แล้วก็เห็นข้อแตกต่าง เพราะว่าเรียนมานี่ต้องรู้ว่ามันแตกต่างกันยังไง อะไรเป็นยังไงใช่ไหมครับ ความจริงพวกเสกสรรค์ พวกอะไรอย่างนี้ก็เห็นหน้ากันอยู่ ก็พวกแกนนำ 14 ตุลา ทั้งหลายแหล่ ช่วงนั้นก็เห็นหน้ากันอยู่ประจำ เพราะเรียนคณะก็ใกล้ๆ ผมว่าก็คงจะหลายๆ ส่วนน่ะนะครับ หนึ่ง กระแสตรงนั้น สอง ความที่เป็นธรรมศาสตร์ ซึ่งก็เป็นมหาลัยที่ค่อนข้างจะอยู่ในส่วนร่วมกับทางการปกครอง อาจจะเนื้อหาวิชาที่เรียนมามันเป็นลักษณะนิติฯ อะไรพวกนี้น่ะนะครับ แล้วก็อาจจะเป็นด้วยแกนนำช่วงนั้น เหมือนกับมีความอิสระทางความคิดมากขึ้น ที่เดิมๆ นักศึกษาก็จะเป็นเด็กมหาลัย ที่เชื่อฟังอาจารย์อะไรนะครับ หลายๆ อย่าง แล้วก็บรรยากาศของนักศึกษาเองที่มีการให้ข้อมูลข่าวสารตรงนี้ ปลุกเร้ากันอยู่เรื่อยๆ อะไรอย่างนี้นะครับ แล้วพวกแกนนำก็เป็นพวกที่เหมือนกับว่าเราจับต้องได้น่ะ เหมือนเห็น อ๋อ เสกสรรค์ เออ อยู่ตรงนี้ อะไรอย่างนี้ใช่ไหมครับ มันก็ทำให้ความที่จะเชื่อเขา หรือทำตามเขา หรือเข้าร่วมกันเขานี่มันง่ายขึ้นเร็วขึ้นใช่ไหมครับ ถ้าเป็นคนนอกเหรอ เสกสรรค์เหรอ ใครก็ไม่รู้ เขาเป็นใครอะไรอย่างนี้ใช่ไหม อาจจะเข้าไม่ถึง หรืออาจจะยังไม่เชื่อว่าเขาเป็นยังไง แต่นี่เราได้เห็นตัวตนเขา เรารู้ว่าเขามายังไง อะไรยังไงใช่ไหมครับ เขาทำเพื่ออะไร ตามความเข้าใจของเราสมัยนั้นน่ะนะ ผู้สัมภาษณ์ : แล้วอย่าง ฉันจึงมาหาความหมาย ของวิทยากร เชียงกูล นี่ได้อ่านไหมครับ? ได้เจอบ้างไหมครับ? คุณสุวัฒน์ : (หัวเราะ) ความจริงช่วงนั้นก็ไม่ได้อ่าน ไม่ค่อยได้อ่านหนังสือ เพราะว่าตำราเรียนยังไม่ค่อยได้อ่านเลย พวกนี้คงไม่ได้อ่าน คงจะรู้กับการที่ได้คุยกับเพื่อน หรือจากการที่เวลาเขามีไฮด์ปาร์กหรือปาฐกถาหรืออะไรอย่างนี้ก็ได้ฟังบ้าง ผู้สัมภาษณ์ : อ๋อ คุณสุวัฒน์ : จริงๆ แล้วผมว่ามันไม่ได้โดยตรงแหละ อาจจะเป็นบรรยากาศแล้วก็การซึมซับ แล้วก็กระแสข่าวไปนะครับ ผู้สัมภาษณ์ : ก็คือโดยส่วนตัวแล้วนี่ก็ยังไม่ได้เข้าร่วมขบวนการสักเท่าไหร่? คุณสุวัฒน์ : อ่า ตรงนั้นคงไม่ได้โดยตรงนะครับ ผู้สัมภาษณ์ : ปี 2 ก็ยังไม่ได้เข้าร่วม? คุณสุวัฒน์ : อ่า ครับ ผู้สัมภาษณ์ : ก็ใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ? คุณสุวัฒน์ : ครับ ผู้สัมภาษณ์ : นอกจากเชียร์ในคณะแล้วนี่ ไปค่ายไปอะไรกับที่อื่นบ้างไหมครับ? กิจกรรมอื่น คุณสุวัฒน์ : ก็มีตอนจบปี 3 ก็ไปออกค่ายที่โคราช ผู้สัมภาษณ์ : แล้วตอนปี 2? คุณสุวัฒน์ : ตอนปี 2 นี่ไม่ได้ทำอะไรครับ ผู้สัมภาษณ์ : ก็ประคองตัวไป? คุณสุวัฒน์ : ครับผม ก็ปิดเทอมบางทีก็ต้องหางานทำบ้างอะไรบ้าง สำหรับเปิดเทอมหรือค่าหน่วยกิตอะไรประมาณนั้นครับ ผู้สัมภาษณ์ : ทีนี้พอขึ้นปี 3 สถานการณ์เริ่มรุนแรงแล้ว คุณสุวัฒน์ : ใช่ๆ ก็เริ่มรับรู้มากขึ้นว่าทางฝ่ายรัฐบาล พวกนายพลทั้งหลายแหล่อะไรยังไง ก็รับรู้ข่าวสารมากขึ้นว่าเขาทำ... คล้ายๆ ว่ากดขี่ข่มเหงยังไง ไม่ยุติธรรมยังไง เสวยสุขยังไง อะไรประมาณนั้นน่ะนะครับ ก็เป็นข่าวสาร อาจจะเป็นด้านเดียวน่ะนะ เพราะว่าก็เป็นธรรมศาสตร์ก็คงเหมือนกับอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลอยู่แล้ว ก็คงจะเอาข่าวสารทางด้านลบของทางฝ่ายรัฐบาล... ผู้สัมภาษณ์ : อันนี้คืออะไรครับ? ข่าวสารนี่คือมาจากหนังสือพิมพ์หรือว่ามาจากไหนครับ? คุณสุวัฒน์ : ก็จากมีการพูดคุยกันนะครับ ก็คือจากความเคลื่อนไหวของทางแกนนำนักศึกษาทั้งหลายแหล่ ก็เริ่มมีการติดโปสเตอร์มากขึ้น ต่อต้านมากขึ้น ปาฐกถาเอยอะไรเอย ประมาณนี้น่ะนะครับ เราก็เริ่ม... มันก็ซึมๆ ซับๆ เข้าไปเรื่อยๆ ผู้สัมภาษณ์ : พี่ได้เข้าร่วมฟังบ้างไหมครับ? ปาฐกถา คุณสุวัฒน์ : ก็บ้าง แต่ไม่มาก ส่วนใหญ่ก็จะเป็นโปสเตอร์อะไรมากกว่า แล้วก็คุยกับเพื่อน มีการจับกลุ่มคุยกันแหละว่า เฮ้ย กลุ่มนี้ สมัยนั้นเขาเรียกว่า ทรราช อะไรประมาณนี้นะครับ ว่ากดขี่ขมเหงยังไง แล้วก็เสวยสุขยังไง คอรัปชั่นเอาทั้งตระกูล จะทำให้ประเทศชาติมันล่มจมเสียหายอะไรประมาณนั้น ผู้สัมภาษณ์ : ย้อนไปตอนปี 14 นี่ถนอมก็ปฏิวัติตัวเองใช่ไหมครับ? คุณสุวัฒน์ : ผมจำไม่ได้ ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นนี่ก็คือยังไม่สนใจใช่ไหมครับ? คุณสุวัฒน์ : ใช่ๆ ยังไม่นั่น ผู้สัมภาษณ์ : แต่ว่าพอขึ้นปี 3 นี่มันมากขึ้นแล้ว เริ่มรับรู้เรื่องนี้มากขึ้นใช่ไหมครับ? คุณสุวัฒน์ : ใช่ บางทีมันก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อเราโดยตรงเท่าไหร่นะครับข้อหนึ่ง ข้อที่สองก็อย่างที่บอกไปคือเรื่องส่วนตัว ผมไม่มีเวลาไปสนใจพวกนั้นมากกว่าที่จะ เฮ้ย ทำยังไงถึงจะมีรายได้มาเลี้ยงตัวเอง เรียนหนังสือหรืออะไรแค่นั้น ผู้สัมภาษณ์ : คือแสดงว่าบรรยากาศในช่วงนั้นนี่ นอกจากคนที่เป็นนักศึกษาที่ขับเคลื่อนจริงๆ นี่ คนอื่นๆ เขาจะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องไกลตัวใช่ไหมครับ? เรื่องทหารที่เป็นอย่างนี้ ที่กดขี่อย่างจากข้อมูลที่ว่ามานี่ รู้สึกไกลตัวไหมครับ? คุณสุวัฒน์ : คือถ้าแบ่งเป็นส่วนๆ ภายในมหาลัย เองนี่นะครับ ผมคิดว่าก็คงจะเริ่มรับกันมากขึ้น ด้วยความปลุกเร้าของทางนักศึกษากันเอง สนนท.เอย อะไรประมาณนั้น ก็มีการรวมกัน สมัยนั้นมันมี อ.ม.ธ. องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วจุฬาฯ เขาก็มีของเขา รู้สึกจะเป็นช่วงแรกที่เริ่มมารวมตัวกัน ทุกๆ สถาบันมารวมตัวกันเป็น สนนท. สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย อะไรประมาณนั้น ผู้สัมภาษณ์ : ศูนย์กลางฯ ช่วงนั้นยังเป็นศูนย์กลางฯ คุณสุวัฒน์ : อ้า เพื่อจะขับเคลื่อนไปในทางเดียวกัน เพราะจะทำให้อำนาจการต่อรองหรือเสียงมันดังขึ้นจากต่างคนต่างพูดอะไรประมาณนั้นใช่ไหมครับ ก็มีการพูดกันค่อนข้างเยอะนะครับ มีการพูดคุยกันหรือมีกิจกรรมอะไรต่างๆ ผู้สัมภาษณ์ : ช่วงปี 3 นี่ก็เริ่มมีสถานการณ์คุกรุ่นขึ้น... คุณสุวัฒน์ : ครับ คุกรุ่นขึ้น ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นนี่ได้เข้าร่วมไปบ้างแล้ว แล้วยังไงต่อครับ? คุณสุวัฒน์ : ก็รับรู้ข่าวสารมาตลอดนะครับ แล้วก็ได้ซึมซับบรรยากาศ ซึมซับข้อมูลอะไรไปเรื่อยๆ นะครับ จนกระทั่งจริงๆ แล้ววันที่ 7 ตุลา ผมกำลังไปสอบวันแรก ช่วงนั้นช่วงตุลาก็เป็นช่วงสอบภาคแรกพอดีนะครับ ผมจะไปสอบวันแรกก็ไปถึงที่คณะก็ปรากฏว่า... ตอนนั้นก็ได้รับทราบข่าวว่าพวกบรรดาอาจารย์ถูกจับไปหลายท่าน ที่มีอาจารย์ทวี หมื่นนิกร อะไรพวกนั้นนะครับ ถูกจับไป แล้วก็วันที่ 7 ผมจะสอบ ก็ปรากฏว่าไปถึงคณะก็ห้องสอบโดยล็อค เอาโซ่คล้องไว้หมดเลย ใส่กุญแจ เข้าสอบไม่ได้ ทีนี้เข้าสอบไม่ได้เขาก็บอกให้ไปรวมตัวกันที่ลานโพธิ์อะไรประมาณนั้นใช่ไหมครับ เราก็ยังพะว้าพะวงเพราะว่าคนที่บอกมันก็ไม่ได้เป็นอาจารย์ใช่ไหมครับ ก็เลย เฮ้ย ถ้าผมไป เกิดเขาเปิดห้องให้สอบขึ้นมาจะทำยังไง เราก็ขาดสอบไปอะไรไปใช่ไหมครับ ก็พะว้าพะวงก็เลยไปไหนไม่ได้ ต้อง hang อยู่แถวๆ นั้น อยู่แถวๆ นั้น ก็เลยอยู่มาจนถึงวันที่ 13 คือ 7-13 ผู้สัมภาษณ์ : อ๋อ ก็คือวันที่ 7... คุณสุวัฒน์ : อ้า ครับ ก็อยู่นั่นเลย ผู้สัมภาษณ์ : อยู่นั่นเลย? คุณสุวัฒน์ : อยู่เลย เพราะโดยปกติอย่างที่ทราบก็คือบางทีก็ไม่ค่อยได้กลับบ้านอยู่แล้ว บางทีก็นอนธรรมศาสตร์อยู่แล้วอะไรอย่างนั้น แต่ปีหลังๆ ก็ไม่ค่อยได้นอนแล้วน่ะนะครับ เพราะมีรุ่นน้องมา เขาทำทางด้านเชียร์เราก็ปล่อยให้เขาทำไป ผู้สัมภาษณ์ : แล้วตอนนั้นไปอยู่ไหนครับ? คุณสุวัฒน์ : ก็อยู่บ้านที่ตรอกจันทร์ ผู้สัมภาษณ์ : ไม่ค่อยได้นอนแล้ว แต่ว่าพอเหตุการณ์นี้ก็เลยนอนเลย? คุณสุวัฒน์ : อ้า ก็เลยอยู่ที่นั่น เพราะถือว่าหนึ่งก็คือว่าก็เป็นถิ่นเราน่ะ พูดง่ายๆ ใช่ไหมครับ แล้วข้อสองก็ได้เห็นประชาชน เขาก็ร่วมด้วยเยอะ ผู้สัมภาษณ์ : อืม คุณสุวัฒน์ : ก็เริ่มจากนักศึกษาใช่ไหมครับ ที่ธรรมศาสตร์ ที่ลานโพธิ์ แล้วก็เริ่มมีบุคคลภายนอก ประชาชนเข้ามาร่วมด้วย เห็นด้วยอย่างนี้ใช่ไหมครับก็เข้ามาฟังมาอะไรอย่างนี้ ก็เหมือนอยู่กันในนั้นตลอด นั่งๆ นอนๆ กันอยู่ ผู้สัมภาษณ์ : กิน อยู่ หลับ นอน ทำยังไงครับ? คุณสุวัฒน์ : อ้า ครับ ก็อยู่ตรงนั้นเลย ผู้สัมภาษณ์ : นอนตรงไหนครับ? คุณสุวัฒน์ : ก็นั่งๆ หลับๆ เอาประมาณนั้นน่ะ อยู่ที่ลานโพธิ์นี่ ผู้สัมภาษณ์ : เขาก็มีกิจกรรมกันตลอดเวลา? คุณสุวัฒน์ : อ้า ก็จะมีเหมือนกับสมัยนี้ที่ทางพันธมิตร 24 ชั่วโมง นั่นแหละ เดี๋ยวนี้เขาออกอากาศด้วย ผู้สัมภาษณ์ : อ๋อ แนวเดียวกัน? คุณสุวัฒน์ : ก็จะมีคนมา ก็ร้องเพลงบ้างอะไรบ้าง ก็ปลุกเร้าอยู่ตลอด ขึ้นมาพูดอะไร มาไฮด์ปาร์กอะไรกัน ผู้สัมภาษณ์ : อย่างพี่นี่ก็คือไปร่วมนั่งฟังตรงนั้น? คุณสุวัฒน์ : ไปนั่งฟังเลยครับ ไปฟัง ผู้สัมภาษณ์ : ไม่ได้เป็น Staff ไปโน่นไปนี่? คุณสุวัฒน์ : อ๋อ ไม่ๆ ครับ ก็ไปนั่งฟังเขานะครับ ผู้สัมภาษณ์ : แล้วอาหารการกินล่ะครับ? คุณสุวัฒน์ : เขาก็มีให้ ผู้สัมภาษณ์ : คือฟรีใช่ไหมครับ? คุณสุวัฒน์ : อ้า ก็ฟรีน่ะ ก็คือมีคนให้ ประชาชนเริ่มมาบริจาค ผู้สัมภาษณ์ : อ๋อ มีคนมาร่วมบริจาค? คุณสุวัฒน์ : ครับ ประชาชนให้เงินบ้าง ซื้อข้าวมาให้บ้างอะไรบ้าง ผู้สัมภาษณ์ : แสดงว่ามีตั้งแต่สมัยนั้นนะครับ? (หัวเราะ) คุณสุวัฒน์ : อ้า ใช่ ก็ไม่ค่อยมีตังค์กินข้าวอยู่แล้ว ก็เลยถือโอกาส (หัวเราะ) ผู้สัมภาษณ์ : (หัวเราะ) คุณสุวัฒน์ : เมื่อก่อนทำงานเชียร์แลกข้าว เดี๋ยวนี้นั่งฟังชุมนุมแลกข้าว ผู้สัมภาษณ์ : (หัวเราะ) เขามีประกาศบนเวทีไหมครับว่า คนนี้มาบริจาคข้าวกี่กล่อง? คุณสุวัฒน์ : ก็มีครับ มี ก็มีบริษัทเอกชนบ้างอะไรบ้าง พวกนี้น่ะนะครับ ก็คงเป็นพวกไม่เห็นด้วยกับทางฝ่ายรัฐบาลที่ปกครองลักษณะนั้นนะครับ ก็อยู่มาเรื่อย แล้วพอดีเพื่อนเขาก็มีหอพักอยู่ตรงตรอกโรงไหม ตรงใกล้ๆ ท่าพระอาทิตย์ บางทีก็อาศัยมาอาบน้ำบ้างอะไรบ้าง มาพักตรงนั้น แต่ก็จะกลับไป ก็กลับไปร่วมชุมนุม ก็จากบริเวณลานโพธิ์ที่มันคับแคบ แน่นขึ้น ไม่พอรองรับ ก็ย้ายมาอยู่สนามฟุตบอลในมหาลัยธรรมศาสตร์นะครับ ช่วงนั้นก็มีการ... เวลาชุมนุมเขาก็จะบอกว่า เฮ้ย เตรียมกันพร้อมกันนะ ตรงนี้อาจจะมีโดนลุยเข้ามาหรืออะไรอย่างนี้ ก็เป็นปลุกเร้ากันไปอะไรกันไปครับ ผู้สัมภาษณ์ : แล้วช่วงที่อยู่นี่มีเหตุการณ์แปลกๆ มีคนมาป่วน มีอะไรไหมครับ? คุณสุวัฒน์ : มันก็ไม่มีนะ แต่มันก็จะมีในส่วนของที่ตรงตั้งแต่ลานโพธิ์แล้วก่อนที่จะย้ายมาสนามฟุตบอล จะมีการแสดงละครอะไรกัน แล้วที่จำได้คือที่จัดมีคนแขวนคอนักศึกษาคนหนึ่ง ที่หมายความว่าในการแสดง เสร็จแล้วหนังสือพิมพ์ก็มาตีข่าวกัน มาถ่ายรูปว่าคนนี้นี่หน้าตาเหมือนกับ... ผู้สัมภาษณ์ : ฟ้าชาย คุณสุวัฒน์ : อ่า มันก็เลยเป็นเรื่องทำให้... ผู้สัมภาษณ์ : เอ่อ ตอนแขวนคอนี่ 16 หรือ 19 ครับ? ผมไม่แน่ใจ คุณสุวัฒน์ : ถ้าจำไม่ผิดน่ะจะเป็น 16 นะ ผู้สัมภาษณ์ : ถ้าจำไม่ผิดนะครับ? โอเค ไม่เป็นไร คุณสุวัฒน์ : อ่า เพราะว่าหลังจากนั้นนี่ผมจบมาแล้ว 6 ตุลา ผมจะจบมาแล้ว แต่ก็ยังเข้าไปนิดหน่อย เพราะมีเพื่อนรุ่นเดียวกันซึ่งน้องก็เรียนอยู่ธรรมศาสตร์ ก็เป็นรุ่นน้อง หายตัวไปอะไรอย่างนี้ ก็ไปตระเวนดูตามหาน้องเพื่อนอยู่เหมือนกันนะครับ แต่ตอนนั้นก็ทำงานแล้วก็เลยไม่ได้ไปอะไรมากมาย ผู้สัมภาษณ์ : ในห้วงที่เข้าไปนั่งฟังนั่งอะไรอย่างนี้ก็ปกติเลยใช่ไหมครับ? ตั้งแต่วันที่ 7-8-9-10-11-12-13 คุณสุวัฒน์ : ครับ 7-8-9-10-11-12-13 ครับ ผู้สัมภาษณ์ : โห อยู่ 7 วัน อาทิตย์หนึ่งเลยนะครับ คุณสุวัฒน์ : ครับ ผู้สัมภาษณ์ : ไปนั่งกับใครครับ? นั่งคนเดียวหรือว่ามีเพื่อน? คุณสุวัฒน์ : ก็มีเพื่อน ก็หมุนเวียนกันไป เพราะเราเจ้าของที่อยู่แล้ว เดี๋ยวไปเจอเพื่อนโน้นเพื่อนนี้มาก็นั่ง ก็จะรู้กันว่า เออ อยู่ประมาณแถวๆ นี้อะไรอย่างนี้ หรือไม่พอเจอก็ทักทายอะไรกัน มานั่งฟังกันอะไรกัน ผู้สัมภาษณ์ : ได้แลกเปลี่ยนกันบ้างไหมครับ? คุณสุวัฒน์ : ก็คุยกันแหละครับ ว่าสถานการณ์มันจะเป็นยังไง อะไรยังไงใช่ไหมครับ ก็เป็นห่วงเรื่องการเรียนของตัวเองด้วย ก็มันไม่ได้สอบจะทำยังไงน่ะใช่ไหมครับ มันจะมีผลกระทบอะไรกับทางด้านการเรียนเรามากน้อยขนาดไหนอะไรยังไงใช่ไหมครับ ความจริงแล้วก็ตั้งใจจะอยู่ต่อไปเรื่อยๆ แต่บังเอิญวันที่ 14 นี่พอดีพี่สาวจะไปต่างประเทศ วันที่ 13 ก็ด้วยอารมณ์โกรธที่ว่า... เขาบอกจะดำเนินการมาตรการขั้นสุดท้าย ก็มีการเดินออกมาจากสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ ถ้าจำไม่ผิดประมาณเที่ยงหรือประมาณนี้ กลางวันนี่ แล้วก็มายึดอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จอดอยู่แค่นั้น ผู้สัมภาษณ์ : อืม คุณสุวัฒน์ : ด้วยความที่ เฮ้ย อะไรวะ แค่นี้เองเหรอ มาตรการขั้นเด็ดขาดนี่ ผู้สัมภาษณ์ : (หัวเราะ) คุณสุวัฒน์ : เราไม่ได้เป็นแกนนำ เราก็ไม่รู้ว่าเขามีแผนการต่อไปยังไง อะไรยังไงใช่ไหมครับ แต่เท่าที่จำได้ตอนนั้นก็คนเต็ม เยอะนะครับ เดินออกจากธรรมศาสตร์ถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มองไปก็มีแต่คนทั้งนั้นตลอด ถ้ามองย้อนไปนะครับ ผู้สัมภาษณ์ : ครับ คุณสุวัฒน์ : ด้วย 2 เหตุผลน่ะนะ ก็คือที่รับรู้มาก็จะมีแนวหน้าถือธงถืออะไรไป แล้วเขาบอกเจอพวกสุนัขตำรวจอะไรพวกนั้นน่ะนะครับ ที่ทางฝ่ายรัฐบาลเอามาทำลายขบวนอะไรประมาณนั้น เขาบอกให้เตรียมพริกไทย เกิดสุนัขตำรวจมาก็เอาพริกไทยโรยใส่อะไรไปประมาณนั้น ก็เดินมาถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแล้วก็หยุดอยู่แค่นั้น ก็เลยด้วย 2 เหตุผล คือหนึ่งอย่างที่บอกว่า เฮ้ย อะไรวะ แค่นี้เองเหรอ มันไม่สะใจ มันไม่มันส์ใช่ไหม ผู้สัมภาษณ์ : อารมณ์ค้าง (หัวเราะ) คุณสุวัฒน์ : อ่า มันอะไรวะ ใช่ไหม กะลุยเต็มที่อะไรอย่างนี้ เหตุผลที่สองก็คือพอดีพี่สาวจะไปต่างประเทศด้วยใช่ไหมครับ ก็เลยกลับบ้าน วันรุ่งเช้าไปส่งพี่สาวก็ได้ฟังข่าวทางวิทยุว่า เมื่อคืนนี้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วอะไรแล้วประมาณนั้นใช่ไหมครับ ผู้สัมภาษณ์ : แล้วทำยังไง? คุณสุวัฒน์ : ก็พ่อแม่ก็เลยล็อคตัว ผู้สัมภาษณ์ : อ๋อ คุณสุวัฒน์ : อ่า ผมก็เลยจบแค่นั้นน่ะ ถูกล็อคตัวไว้ก็เลยกลับไปร่วมกับเขาไม่ได้นะครับ แล้วก็เหตุการณ์มันรุนแรงขนาดนั้นด้วยใช่ไหมครับ อาจจะไม่คุ้ม แล้วถ้าจะไปมันไม่เหมือนสมัยนี้ ถ้ามีมือถือ เฮ้ย มึงอยู่ไหน อะไรยังตามไปสมทบกันได้ หรือไปก็ไม่รู้จะไปตรงไหน ไปทำอะไรยังไงอย่างนี้ใช่ไหมครับ มันก็เลยไม่ได้ไป ผู้สัมภาษณ์ : ก็เลยตามข่าว? คุณสุวัฒน์ : อ้า ก็เลยตามฟังข่าวทางวิทยุ ทางหนังสือพิมพ์อะไร ผู้สัมภาษณ์ : แล้วหลังจากนั้นเป็นยังไงบ้างครับ? คิดว่าเหตุการณ์มันเปลี่ยนแปลง มันพลิกผัน มันอะไรมากน้อยแค่ไหน? คุณสุวัฒน์ : มันก็รู้สึกเหมือนกับว่า โอเค เราก็ได้ชัยชนะนะครับ ทางฝ่ายนั้นก็หนีออกนอกประเทศไปอะไรไป ก็มี 2 อารมณ์ คือหนึ่งก็คือ โอเค รู้สึกถึงชัยชนะนะครับ อารมณ์ที่สองก็คือเรื่องความสูญเสีย ที่จนทุกวันนี้ผมก็ไม่รู้ว่าความจริงมันเป็นยังไง เพราะว่าก็โดนปิดข่าวอะไรกัน แต่เท่าที่รู้นี่มันก็สูญเสียกันไป เสียชีวิตกันไปหลายคนนะครับ ถึงขนาดว่าเอา ฮ.มาบินร่อนรอบสนามหลวง แล้วก็เอากระสุนจริงยิงลงมาอะไรประมาณนั้นนะครับ ผู้สัมภาษณ์ : ครับ คุณสุวัฒน์ : แต่ภาพข่าวที่พอเห็นอะไรนั่น ก็พอเห็นล่ะว่ามีคนเสียชีวิต มีอะไร แต่พอดีอย่างที่บอกก็คือพี่สาวไปต่างประเทศ แล้วเขาก็ไปเห็นข่าวในหนังสือพิมพ์ต่างประเทศนี่ เขาก็เห็นเลยว่า โห มันเยอะน่ะใช่ไหมครับ คนที่เสียชีวิต แม้แต่ต้นมะขามสนามหลวงนี่ยังเอามาแขวนกัน แล้วก็ทำลาย ทำร้าย แล้วก็ตีกัน ตายแล้วอะไรอย่างนี้ก็ยังนั่นกันนี่ ผมก็ไม่รู้... ช่วงนั้นก็ยังมีพวก กระทิงแดง ไง ผู้สัมภาษณ์ : อืม คุณสุวัฒน์ : กลุ่ม กระทิงแดง ก็เป็นพวกได้รับสนับสนุนจากทางการ เป็นพวกนักเรียนช่างกลอะไรอย่างนี้ ซึ่งช่วงนั้นก็พอๆ กับช่วงนี้ ที่ปทุมวันกับอุเทนถวายนี่ก็ โห ประจำใช่ไหมครับ ผู้สัมภาษณ์ : (หัวเราะ) แล้วพอปี 4 นี่กลับมาเรียนตามปกติ? คุณสุวัฒน์ : ครับ ผู้สัมภาษณ์ : พี่ว่าธรรมศาสตร์เปลี่ยนไปไหมครับ? ในมุมมองปี 4 คุณสุวัฒน์ : ในความรู้สึกน่ะนะครับ มันก็รู้สึกภูมิใจมากขึ้นตรงที่เหมือนกับว่าเราก็เป็นส่วนหนึ่ง หมายความว่าธรรมศาสตร์นะ ไม่ใช่ตัวผมเอง เป็นส่วนหนึ่งในการที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการที่จะทำให้ทุกอย่างมันมีความยุติธรรมมากขึ้น ไม่ใช่โดนกดขี่โดยฝ่ายปกครองโดยที่ไม่มีสิทธิ์กระทำอะไรเลย มันจะทำอะไรก็ต้องยอมเขาอะไรประมาณนั้นใช่ไหมครับ ก็รู้สึกถึงกลิ่นไอของชัยชนะ กลิ่นไอของประชาธิปไตยที่มากขึ้นนะครับ ผู้สัมภาษณ์ : แล้วสังเกตไหมครับว่า... คือช่วงนั้นมันจะมีชาวบ้านไปที่ธรรมศาสตร์บ่อย บางคนบอกว่าเหมือนกับเป็นที่ว่าการอำเภอเลย ชาวบ้านไปร้องทุกข์อะไรอย่างนี้ สังเกตบ้างไหมครับช่วงนั้น? คุณสุวัฒน์ : ก็ได้รับข่าวเหมือนกันนะครับ ก็ไปคุยกับทาง สนนท. เขาประมาณนั้น ไปคุยกับทางโน้น ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นพี่ปี 4 นี่ทำอะไรบ้างหรือยังครับ? คุณสุวัฒน์ : ความจริงปี 4 วิชาเรียนก็น้อยลงแล้วนะครับ ก็เลยไม่ค่อยได้มีอะไรมากมาย เตรียมตัว... ผู้สัมภาษณ์ : กิจกรรมก็ไม่ได้...? คุณสุวัฒน์ : ใช่ ก็เริ่มลดลงอะไรลง เพราะว่าเตรียมตัวว่า เฮ้ย จะจบแล้วจะต้องทำอะไรยังไงต่อไปกับชีวิตใช่ไหม ผู้สัมภาษณ์ : ครับ แล้วเห็นตอนปลายปี 3 นี่ไปค่าย Rotaract คุณสุวัฒน์ : ครับ ผู้สัมภาษณ์ : ที่ไหนครับ? คุณสุวัฒน์ : ที่โคราช ผู้สัมภาษณ์ : เป็นค่ายเกี่ยวกับอะไรครับ? คุณสุวัฒน์ : คือปีนั้นเป็นปีแรกที่ทาง Rotaract ธรรมศาสตร์ไปออกค่าย มันก็เป็นช่วงสั้นๆ ที่เราตั้งโครงการมาค่อนข้างกะทันหันอะไรอย่างนี้ ก็เลย... ผู้สัมภาษณ์ : เป็นคนทำใช่ไหมครับ? คุณสุวัฒน์ : ครับ ก็ไปด้วย ก็มันเริ่มจากหาทุนไง มันต้องหาทุนก่อนอะไรด้วยอย่างนี้ใช่ไหมครับ ก็ได้ทุนมาไม่มากเท่าไหร่ ก็เลยไปต่อเติม... ห้องเรียนนี่เขาทำเสา ทำตอม่ออะไรไว้เรียบร้อยแล้ว เราก็ไปต่อเติมเป็นอาคารขึ้นมา 2 ห้อง เขามีอยู่แล้วประมาณ 6 ห้อง ก็ไปต่อให้เสร็จอีก 2 ห้อง ก็ไปอยู่เดือนหนึ่งครับ ผู้สัมภาษณ์ : อืม ตอนนี้ก็จะเป็นหลังเหตุการณ์ แล้วพอปี 4 ก็ใช้ชีวิตปกติ? คุณสุวัฒน์ : ก็ปกติครับ เรียนปกติ ตอนนั้นพอดีย้ายมาอยู่ที่วัดตะกล่ำ ผู้สัมภาษณ์ : อะไรนะครับ? คุณสุวัฒน์ : ย้ายมาอยู่ที่วัดตะกล่ำตรงซอยอุดมสุขนี่ ผู้สัมภาษณ์ : หมายถึงว่าย้ายที่...? คุณสุวัฒน์ : บ้าน ผู้สัมภาษณ์ : ย้ายบ้าน อ๋อ คุณสุวัฒน์ : พอดีอย่างพี่สาวจบแล้ว เราก็ฐานะเริ่มดีขึ้น ก็มาซื้อหมู่บ้านจัดสรร ตอนนั้นบ้านแฝด 2 ชั้น ที่ 60 ตารางวา ก็ตกแสนเก้าเก้า ผู้สัมภาษณ์ : อ๋อ ไม่ถึงล้าน คุณสุวัฒน์ : ราวแสนเก้าเก้า ไม่ถึง 2 แสนด้วย ผู้สัมภาษณ์ : (หัวเราะ) คุณสุวัฒน์ : ดาวน์ 10% ก็หมื่นเก้า รวมค่ามิเตอร์น้ำ-มิเตอร์ไฟ สองหมื่นห้าก็ move in ได้เลย ผู้สัมภาษณ์ : อืม สมัยโน้นทางนี้มันยังไม่เจริญใช่ไหมครับ? คุณสุวัฒน์ : ใช่ ผู้สัมภาษณ์ : อีกนิดเดียวนะครับ (หัวเราะ) ถ้าในมุมมองคิดว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นนี่ โดยการวิเคราะห์นี่พี่คิดว่าเหตุการณ์นั้นมีใครอยู่เบื้องหลังอะไรยังไงหรือเปล่า? หรือว่ามันเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ?เพราะว่ามันมีอยู่ช่วงหนึ่งที่เขาบอกว่าความจริงแล้วแกนนำวันที่ 14 คือเย็น 13 หรือยังไงนี่แหละ แกนนำกับทหารนี่คุยกันเรียบร้อยแล้ว แล้วพอดีเช้ามืดวันที่ 14 นี่เกิดมีการปะทันกัน ก็เลยไม่รู้ว่า... คุณสุวัฒน์ : อืม อันนี้ผมไม่ทราบข้อมูลทั้งนั้น ไม่ทราบครับ ในมุมมองผมแล้วผมคิดว่าตกลงกันเรียบร้อย เราไม่รู้ว่าตกลงอะไรกันยังไงใช่ไหมครับ สมมติว่าถ้าตกลงในลักษณะที่ว่ามันไม่เป็นที่พอใจของผู้ชุมนุม ผมคิดว่ามันก็คงไม่จบ ผู้สัมภาษณ์ : ไม่จบ คุณสุวัฒน์ : ไม่จบ เพราะว่าพวกที่ไปตกลงเอง ผมก็ไม่แน่ใจว่ามีสิทธิ์ขาดยังไงใช่ไหมครับหนึ่ง แล้วสองก็อาจจะเป็นรุ่น 2 รุ่น 3 อะไรแบบสมัยนี้ใช่ไหมครับ เห็นด้วยหรือไม่อะไรยังไงใช่ไหม ถ้าเผื่อว่ารุ่นแรกได้ตกลงกันแล้ว รุ่น2 รุ่น 3 ไม่เห็นด้วย รุ่น2 รุ่น 3 ก็อาจจะปลุกกระแสขึ้นมาใหม่ใช่ไหมครับ ผู้สัมภาษณ์ : ครับ คุณสุวัฒน์ : แต่นาทีนั้นผมคิดว่ายังไงๆ มันคงคุยกันไม่รู้เรื่องหรอก ไม่น่าจะคุยกันรู้เรื่อง เพราะมันคนละขั้ว ตกลงยังไงก็ไม่มีทาง แต่ก็แปลกใจเหมือนกันว่าพวกแกนนำสมัยนั้น ปัจจุบันนี้ก็มาอยู่ในคณะรัฐมนตรีกันหลายคนจริงๆ ผู้สัมภาษณ์ : (หัวเราะ) ใช่ครับ คุณสุวัฒน์ : อืม ผู้สัมภาษณ์ : คำถามสุดท้ายแล้วครับ ก็คือหลังเหตุการณ์นี่มันมีผลกระทบอะไรครับ? คือเมื่อกี้ผมถามไปแล้วเรื่องทางสังคม ก็คือหมายถึงธรรมศาสตร์เป็นยังไง เมื่อกี้ตอบไปแล้ว คุณสุวัฒน์ : ครับ ผู้สัมภาษณ์ : แต่นี่เหลือเรื่องส่วนตัวครับ ว่ากระทบกับเราไหม? ยังไงครับ? หนึ่งนะครับ แล้วก็ครอบครัว ทางครอบครัวเขาห้ามเรามากขึ้นไหม? เขาเฝ้าระวังเราไหม? อะไรยังไงครับ คุณสุวัฒน์ : ในส่วนของครอบครัวก่อนแล้วกันนะครับ ส่วนของครอบครัวนี่ก็เป็นลักษณะแบบว่าผมค่อนข้างที่จะ... อย่างที่บอกก็คืออิสระเต็มที่อยู่แล้วใช่ไหมครับ กลับบ้านบ้าง ไม่กลับบ้านบ้างอะไรอย่างนี้ ก็ช่วงนั้นถ้ารับผิดชอบเรียนจบมาได้ ทางพ่อแม่ก็คงสบายใจไปเปลาะหนึ่งแล้ว เลิกเป็นห่วงเราอะไรต่างๆ นะครับ ส่วนทางด้านอื่นนี่ ผลกระทบเห็นๆ เลย โอเค ผมจบมาผมก็ไปทำงานที่การบินไทย ซึ่งการบินไทยนี่ก็อย่างที่รู้ว่าสมัยนั้นก็ประมาณ... ลูกท่านหลานเธอทั้งนั้นน่ะพูดง่ายๆ ใช่ไหมครับ เข้าไปพอเขารู้ว่าเราจบจากธรรมศาสตร์จากอะไรอย่างนี้ ผ่าน 14 ตุลา อะไรมาพวกนี้ ก็จะมองเราแบบแปลกๆ ผู้สัมภาษณ์ : แบบแปลกๆ นี่คือบวกหรือลบครับ? คุณสุวัฒน์ : ลบๆ ผู้สัมภาษณ์ : ลบ (หัวเราะ) ครับ คุณสุวัฒน์ : ซึ่งเคยเจอเลยน่ะ ผมก็ด้วยความที่ไฟแรง จบมาธรรมศาสตร์มาด้วยอะไรด้วย ไม่ได้ว่า หยิ่งเว้ยกู จบปริญญาตรีมหาวิทยาลัยน่ะนะ แต่ด้วยความมีเลือดธรรมศาสตร์ ก็ไปเจอพวกไฮโซน่ะ พวกลูกท่านหลานเธออย่างนี้ เขาก็มองเราแปลกๆ เหมือนกับเราเป็นหัวเอียงซ้ายอะไรอย่างนี้ใช่ไหม ผมพูดกับเขาเลยนะว่า จุดกึ่งกลางอยู่ตรงนี้ ผมอาจจะอยู่ตรงนี้อาจไม่ถึงซ้ายด้วยซ้ำ แต่พี่น่ะมันอยู่ตรงนี้ ขวาสุดกู่ มองมาทางซ้ายทีไรก็เจอผมทุกที อย่างนี้น่ะครับ ผู้สัมภาษณ์ : (หัวเราะ) เข้าใจครับ คุณสุวัฒน์ : ก็ โอเค อาจจะด้วยนิสัยส่วนตัวด้วยอะไรด้วยนะครับ เราก็ได้รับการสั่งสอนอบรมมาว่าอย่าเกลียด อะไรอย่างนี้ใช่ไหมครับ มันก็ทำให้เราไม่ใช่ว่าก้าวร้าวถึงขนาดนั้น ผู้สัมภาษณ์ : ครับ คุณสุวัฒน์ : ก็อย่างที่ผมบอกตอนต้นว่า สมัยผมอยู่ต่างจังหวัดกับอยู่กรุงเทพฯ นี่ต่างกันเยอะมากเลย เพราะต้องอยู่ตัวคนเดียวต้องอะไรอย่างนี้ใช่ไหมครับ รับผิดชอบ มันก็เลยทำให้ต้องแกร่ง ต้องกร้าว ต้องกล้าไปโดยปริยาย เพราะไม่อย่างนั้นอยู่ไม่ได้ใช่ไหมครับ ผู้สัมภาษณ์ : ครับ คุณสุวัฒน์ : ก็โอเค โชคดีไปอยู่ธรรมศาสตร์มา ก็หลายอย่าง ซึมซับอะไรมาหลายอย่าง ผ่านเหตุการณ์พวกนั้นด้วยอะไรด้วยนะครับ ตอนนั้นพอมาทำงานมันก็เลยยังติดอยู่ ทุกอย่างก็เลยยังติดอยู่นะครับ ก็ทำให้บางทีก็วางตัวลำบากเหมือนกัน ต้องไปอยู่ในสังคมของการบินไทย คือเป็นพวก... ผู้สัมภาษณ์ : ทำนานไหมครับ? คุณสุวัฒน์ : ย้อนไป ก็เหมือนๆ กับตอนเข้าเซนต์คาเบรียลใหม่ๆ คือ apply กันน่ะนะ ก็อยู่ 4 ปีครับ ผู้สัมภาษณ์ : 4 ปีก็ออกมา? คุณสุวัฒน์ : ก็ออกมา ก็ยังเหมือนเดิม ความคิดความอ่านตอนนั้นก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงอะไรมากมายเท่าไหร่ ดูแล้วมัน เฮ้ย ผมเข้าไปนี่อาจจะเหมือนกันอีกน่ะ เหมือนกับสอบเอนทรานซ์เข้ามหาลัย อีก ตอนเข้าการบินไทย ก็ไปสอบแล้วได้ติด stand by อันดับหนึ่ง รออยู่ครึ่งปีมั้ง ผู้สัมภาษณ์ : อันดับหนึ่งนี่นะครับ? คุณสุวัฒน์ : Stand by คนที่ได้ไปนี่ก็คือเส้นเอาอะไรอย่างนี้ ผมไม่มีเส้นไม่มีอะไร ก็ได้สำรองอันดับหนึ่ง หกเดือนหลังจากนั้นตำแหน่งนี้ว่างอีก เขาก็ขี้เกียจจะจัดสอบใหม่ก็เลยเรียกสำรองอันดับหนึ่งมา ผมก็เลยได้ไปโดยปริยาย ซึ่งตอนไปสอบครั้งแรกนี่ โอ้โห แม่ง ปริญญาโทมาจากฟิลิปปินส์โว้ย จบมาจากเมืองนอกโว้ย มีนามสกุลแม่งดังๆ ทั้งนั้นเลยอย่างนี้ โห แล้วกูจะได้เหรอวะเนี่ย ก็เป็นความโชคดี แต่ก็พอเข้าไป 3-4 ปี แล้วก็มีความรู้สึกว่ามันไม่ใช่ หนึ่ง เข้าไปไม่มีเส้น เราทำดีก็ไม่มีใครส่งเสริม เราทำผิดก็ไม่มีใครคอยมาคุ้มครองให้เรา ก็ดูแล้วคิดว่าอยู่ต่อไปก็คงจะไม่ไหว ก็คงก้าวหน้าลำบาก ก็เลยตัดสินใจออกมา มันหลายเรื่องน่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงนั้นก็มีเพื่อนร่วมงานในแผนกมาทำก็ มึงไม่ได้เก่งกว่ากูเลย แต่ตำแหน่งมึงสูงกว่ากู เงินเดือนมึงดีกว่ากู แล้วก็แบบอะไรอย่างนี้ ผู้สัมภาษณ์ : (หัวเราะ) อ่า ครับ คุณสุวัฒน์ : สมัยนั้น แค่นามสกุล เอาง่ายๆ หรือคือลองมาดูแล้วนามสกุลกู มันก็ไม่มีใครรู้จัก เส้นก็ไม่มีอะไร แต่ด้วยความที่เราทำงาน เราก็ทำจริงอะไรอย่างนี้ ความจริง 4 ปี ผม 4 ปี 3 แผนก ด้วยความที่... ผู้สัมภาษณ์ : อืม ย้าย (หัวเราะ) คุณสุวัฒน์ : เออ เขาก็เห็น เฮ้ย ดึงตัวไปๆ อะไรอย่างนี้ ความจริงผมก็ไปสมัครตำแหน่ง... คือเราไปสมัครนี่เรา... คือเขา Required แค่ ม.ศ.5 แต่เอาปริญญาตรีไปสมัคร คล้ายกับว่ามัน Back Start ดูแล้ว โห มันอีกไกลว่ะ แล้วเราจะข้ามก้าวกระโดดก็ลำบาก ความจริงด้วยปริญญาตรีนี่สามารถเป็นตำแหน่ง Supervisor ได้เลย ผู้สัมภาษณ์ : ครับ คุณสุวัฒน์ : แต่ผมเข้าไปในตำแหน่ง Clerk ธรรมดาพวกนี้ มันมี Clerk, Senior Clerk, Supervisor ใช่ไหม ผู้สัมภาษณ์ : ครับ คุณสุวัฒน์ : ก็เข้าไปก่อน นึกว่า เออ เข้าไปก่อน เดี๋ยวค่อยหาอีกที แต่พอเข้าไปจริงๆ แล้วจะโดดมันก็ไม่ง่ายอีก ผู้สัมภาษณ์ : ยาก คุณสุวัฒน์ : ไม่ง่าย เอ้า ประกาศรับสมัครตำแหน่งนี้เป็นการภายใน คุณวุฒิเป็นยังไง Qualification จบการศึกษามาอย่างนี้ สอบโน่นสอบนี่ ผมก็เป็นหนึ่งในสองคนที่เข้ารอบสุดท้าย พอถึงเวลาขึ้นมาเขาเลือก เขาก็เลือกคนที่มีเส้นมีอะไรอย่างนี้ ผมก็เลย อ๋อ อย่างนี้คงยาก ผู้สัมภาษณ์ : ก็เลยออกดีกว่า? (หัวเราะ) คุณสุวัฒน์ : อืม แต่ถ้าคิดไปจริงๆ ถามว่าเสียใจไหม นาทีนี้เสียใจนะที่ได้ลาออก ถ้าอยู่ป่านนี้ก็สบาย คือตอนนั้นก็เหมือนเดิมกับที่สอบเข้ามหาลัย อีกก็คือ ไม่รู้ว่ารัฐวิสาหกิจคืออะไร คือไม่รู้เรื่องน่ะเอาง่ายๆ จะไปโทษคนอื่นก็ไม่ได้ ผมคงต้องโทษตัวเองที่ไม่รู้จัก ผู้สัมภาษณ์ : (หัวเราะ) คุณสุวัฒน์ : ไม่มีคนให้คำแนะนำ คำปรึกษา พูดง่ายๆ ไม่รู้ว่ารัฐวิสาหกิจมันเป็นยังไง มีสวัสดิการ มีเงินสะสม มีอะไรอย่างนี้ ตอนนั้นก็เงินเดือนอย่างเดียวใช่ไหมครับ ผู้สัมภาษณ์ : อืม ครับ คุณสุวัฒน์ : เด็กๆ ด้วยอะไรด้วยไง ไม่มีใครแนะนำด้วยอะไรด้วย ก็เสียดายโอกาสเหมือนกัน ถ้าอยู่จนป่านนี้ก็พอก๊อกแก๊กมาได้เรื่อยๆ มันก็คง... ผู้สัมภาษณ์ : เยอะๆ (หัวเราะ) คุณสุวัฒน์ : ใช่ เกษียณมาแล้วมีเงินสะสมมีอะไรใช่ไหม ผู้สัมภาษณ์ : ครับ ก็โอเคครับ ผมรบกวนเวลามากเลยครับ คุณสุวัฒน์ : ยินดีครับ ยินดี จบการสัมภาษณ์ |