บทสัมภาษณ์ -
ทองธัช เทพารักษ์ วันที่ 25 เมษายน 2552 เวลา : 14.10 น. สถานที่ True coffee , Khaosan road ผู้สัมภาษณ์ : โชติศักดิ์ อ่อนสูง , นภาวัลย์ สิทธิศักดิ์ ตามโครงการของมูลนิธิ 14 ตุลา ในการรวบรวมปากคำของคนที่อยู่ในเหตุการณ์ เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลเพื่อการศึกษาต่อไป ผู้สัมภาษณ์ : ผมขอเริ่มที่ช่วงชีวิตวัยเด็กของพี่ก่อนนะครับ ถ้าเป็นไปได้อยากให้เล่าความเป็นมา โตมาที่ไหนและเป็นอย่างไรนะครับ คุณทองธัช : ผมเกิดในครอบครัวข้าราชการ พ่อเป็นนายตำรวจยศร้อยตำรวจเอก ผมเกิดที่จังหวัดลำพูน โตและเรียนที่จังหวัดลำพูนนะครับ เรียนจบโรงเรียนสุดท้ายก็คือโรงเรียนชายประจำจังหวัดก็คือโรงเรียนจักรคำคณาทร พอจบแล้วก็เข้ามาเรียนต่อที่เพาะช่าง ประมาณปี 2514 ผู้สัมภาษณ์ : พี่เกิดปี พ.ศ.อะไรครับ คุณทองธัช : 2497 ครับ ผู้สัมภาษณ์ : เรียนอยู่ที่ลำพูนจนถึงปี 2514 เลยหรือครับ คุณทองธัช : ใช่ครับ ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นมันยังเป็น มศ.อยู่ใช่มั้ยครับ คุณทองธัช : ใช่ มศ.2 มศ.3 อะไรนี่ละครับ ผู้สัมภาษณ์ : ถ้าเทียบเท่าตอนนี้ละครับ คุณทองธัช : ก็เท่ากับ มัธยมศึกษา 6 ผู้สัมภาษณ์ : แล้วเพาะช่างนี่ก็คือเทียบเท่ามหาลัยหรือครับ คุณทองธัช : ไม่ครับ เป็น ปวช. เป็นอาชีวะก่อน ตอนนั้นมันชื่อโรงเรียนเฉยๆครับ โรงเรียนเพาะช่าง ต้องสอบเข้า ผู้สัมภาษณ์ : พี่มาเรียนมันเป็นสายทางด้านศิลปะหรือทางด้านไหนหรือครับ คุณทองธัช : สายครูครับ ผมเรียนสามปีนี่ได้ ปวช. เขาเรียกว่าประโยคครูประถม ก็เป็นครูสอนศิลปะประถมนะ แล้วก็เรียนต่ออีกสองปีก็จะจบ ปวส. ก็เป็นอนุปริญญานะ เขาเรียกประโยคครูมัธยมการช่าง จบสาขาจิตรกรรมสากล จะมีให้เลือกจิตรกรรมไทย ปั้น อะไรอย่างนี้นะครับ ผู้สัมภาษณ์ : ตอนอยู่ มศ.2-3 นี่สนใจทางด้านศิลปะอยู่ก่อนแล้วหรือว่าอย่างไรครับถึงได้มาเข้าเพาะช่าง คุณทองธัช : คือตอนเด็กๆครอบครัวผมนี่จะเป็นครอบครัวนักอ่าน พ่อก็อ่านหนังสือแม่ก็อ่านหนังสือ พี่ชายก็อ่านหนังสือ เราก็อ่านหนังสือเลยเป็นเด็กที่ชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก เชื่อหรือเปล่าครับว่าผมอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่สอง ผมได้เป็นบรรณารักษ์ห้องสมุดโรงเรียนวัด และก็เป็นนักอ่านเรื่อยมา ผมชอบวาดการ์ตูน ชอบวาดเหมือนเด็กๆทั่วๆไป ผมจะชอบวาดการ์ตูนหนังนะครับ และก็ชอบเรื่องวรรณกรรม วรรณคดีอะไรอย่างนี้นะครับ ก็เรียนค่อนข้างดีครับ ชอบอ่านหนังสือมาก ความรู้รอบตัวมาก สนใจแต่อ่านหนังสือครับ ของเล่นนี่ไม่สนใจ คือถ้าพ่อเข้าไปซื้อของในเชียงใหม่นี่ ก็จะซื้อของเล่น มีลูกชายอยู่สามคน คือผมจะมีน้องชายสองคน เขาก็จะขอของเล่นพ่อก็จะซื้อมาให้ แต่ผมนี่จะขอหนังสือการ์ตูน น้องผมก็แกะของเล่นเล่น คือมันเป็นอย่างนี้นะครับ ทุกวันนี้น้องชายผมก็กลายเป็นช่างกันหมดแล้ว ผู้สัมภาษณ์ : ตอนเรียนเพาะช่างนี่ครอบครัวสนับสนุนหรือว่าอย่างไรครับ คุณทองธัช : ไม่ครับ จริงๆแล้วครอบครัวผมไม่สนับสนุนหรอก ผมแทบจะหนีขึ้นรถไฟมาเรียนด้วยซ้ำ มีครูสอนวาดเขียนในโรงเรียนมัธยมที่ผมเรียนอยู่นะครับ มีครูอยู่คนหนึ่งชื่อครูต้อม เมธี ใจเหิม เป็นครูสอนศิลปะที่จบมาจากเพาะช่าง และเป็นเพื่อนกับพี่ชาย พี่ชายผมเขาอยากเรียนเพาะช่างมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว แต่เขาผิดหวัง เขาไม่ได้เรียน เพราะพ่อไม่ให้เรียนพ่อไม่อยากให้ไปไกลกว่าจังหวัดลำพูนนะครับ เพาะช่างอยู่กรุงเทพใช่มั้ยครับ และไม่มีญาติพี่น้องอยู่กรุงเทพเลย พ่อก็ไม่ให้ไป พี่ชายก็เลยหันเหชีวิตไปเป็นตำรวจตามพ่อ ส่วนผมนี่ถ้าบอกว่าโชคดีก็อาจจะใช่ เพราะว่าพ่อเสียก่อนที่ผมจะจบมัธยม ถ้าพ่ออยู่นี่เขาคงจะไม่ให้ผมเรียนแน่ เขาอยากให้ผมเรียนเป็นผู้พิพากษาเป็นทนายความ อะไรอย่างนี้นะครับตามประสาของเขานะ พอพ่อเสียผมก็มีโอกาส ครูที่โรงเรียนก็ให้คำแนะนำ ผมไม่รู้จักหรอกเพาะช่าง ครูก็แนะนำว่าเธอลองไปสอบเพาะช่างสิ ก็เห็นวาดเขียนได้คะแนนเต็มหมด แถมยังช่วยวาดให้เพื่อนในห้องด้วย คือผมจะแลกกันลอกเลขกับเพื่อนไง เราตกเลขครับ ตกเลขตกอะไรเราก็ลอกมัน คือแลกกันอย่างนี่นะครับ แล้วสุดท้ายก็ได้มาเรียน ทางบ้านก็ไม่สนับสนุนเท่าไหร่หรอก แต่ผมดื้อ ก็เข้ามาเรียนจนได้ ผมไม่เคยรู้จักกรุงเทพเลย ไม่เคยเข้ากรุงเทพ จะเล่าให้ฟังนะคือชีวิตมันเป็นอย่างนี้ครับ พอนั่งรถไฟมาถึงดอนเมือง ไฟข้างถนนมันส่องก็เห็นรถวิ่งอย่างนั้นนะครับ ผมก็คิดจะกลับบ้านแล้ว คือผมไม่รู้ว่าผมจะข้ามถนนอย่างไร เพราะรถมันวิ่งเร็วเหลือเกิน คือสมัยก่อนมันไม่มีสะพานลอยนะ ผมกลัวมากเลย ผู้สัมภาษณ์ : คือมากรุงเทพครั้งแรกในชีวิตหรือเปล่าครับ คุณทองธัช : ใช่ พี่ชายคนโตผมมาส่ง ผมก็บอกว่ากลับเถอะ พี่ชายก็ถามว่าทำไม ผมบอกว่าผมไม่รู้จะข้ามถนนอย่างไร รถวิ่งเร็วมากเลย นี่ความกลัวของเด็กชนบทนะ พอผมเข้ามาสมัครเพาะช่างเป็นวันสุดท้ายนี่ ปรากฏว่ามันมีขายชีท ติวสอบอะไรพวกนี้นะครับเหมือนกับทั่วไปนี่แหละ ผมไม่รู้เรื่องหรอกก็ซื้อมาอ่าน แล้วก็เข้าไปสอบ การสอบของผมปรากฏว่าผมสอบติดรอบบ่ายไม่ได้ติดรอบเช้า พอเข้าไปในห้อง เพื่อนรุ่นเดียวกันที่สอบได้ส่วนใหญ่มันเรียนกวดวิชามาหมดแล้วไง สายศิลป์อย่างนี้ก็มีกวดวิชา ส่วนผมเด็กบ้านนอกนะครับก็ไม่รู้เรื่องเลย ผมอาศัยความที่อ่านหนังสือเยอะ อ่านชัยพฤกษ์อะไรอย่างนี้ มันมีคอลัมภ์รู้เรื่องศิลปะนะ อาจารย์ลาวัลย์ อุปอินทร์นี่ เมื่อก่อนเขาจะใช้นามปากกาว่าลาวัลย์ ดาวราย เขียนเกี่ยวกับเรื่องปิกัสโซ ศิลปะ ในชัยพฤกษ์การ์ตูนนะครับ ชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์อะไรอย่างนี้ ผมก็อาศัยอ่านอย่างนี่แล้วก็มีความรู้เอามาสอบ ไม่น่าเชื่อว่าความรู้ของอาจารย์ลาวัลย์ อุปอินทร์ที่ให้ไว้ในชัยพฤกษ์นี่ ทำให้ผมซึ่งเป็นเด็กบ้านนอกอ่านหนังสือพวกนี้แล้วสอบได้ รู้จักดาวินชี่ รู้จักไมเคิลแองเจโล รู้จักตรงนี้เลย พอตอนหลังก็รู้ว่าเพื่อนที่เข้ามาเรียนด้วยกวดวิชามาแล้วกันทั้งนั้นเลย พวกที่จบทางด้านทวีธาภิเษก ไพศาลศิลป์ อำนวยศิลป์อะไรอย่างนี้นะ พวกเด็กกรุงเทพจะรู้กันก่อน ผมไม่รู้เรื่องหรอก และก็มาเรียน มาเรียนนี่ก็เหมือนทั่วๆไป ยุคนั้นนี่ผมอ่านหนังสือเยอะมาก อ่านนิยายประโลมโลก อ่านของนักเขียนทุกคนเลย รพีพร ทมยันตีนี่อ่านหมด และที่เขาทำเรื่องเมียหลวงเมียน้อย ของกฤษณา อโศกศิลป์ อ่านเรียบจนมาถึงยุคๆหนึ่งผมก็มาอ่านสังคมศาสตร์ปริทรรศน์ ตอนนั้นไม่รู้จักพี่สุชาติเลย ก็อ่านพวกนี้แหละครับ ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นอยู่กรุงเทพแล้วใช่มั้ยครับ คุณทองธัช : ครับเริ่มเข้ากรุงเทพ อยู่กรุงเทพแล้ว พอเริ่มอ่านหนังสือพวกนี้ พวกนิยายประโลมโลก พวกโกวเล้งนี่ทิ้งไปเลย คือมันมาอ่านเรื่องนี้แล้ว คุณเข้าใจมั้ยคือความเติบโตในการอ่านหนังสือของเรามันเติบโตไปไกลจนกระทั่งเราไม่อ่านพวกนั้นแล้วและก็พัฒนามาอ่านพวกปรัชญา อ่านไปเรื่อย ช่วงนั้นเป็นยุคแสวงหา พอดีเพื่อนร่วมรุ่นที่มาจากที่เดียวกันก็คือมาจากลำพูนนี่ส่วนหนึ่งมาเรียนรามคำแหง เรียนนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ครับ ผมก็ไปนอนกับเพื่อน เพื่อนเรียนอะไรผมก็รื้อหนังสือเขามาอ่านหมดนะ ไม่ว่าจะเป็นปรัชญา เศรษฐศาสตร์อะไรอย่างนี้ อันนี้คือสิ่งที่ผมคิดว่าผมได้นะ ผมไม่ได้คิดว่าผมจะได้ประโยชน์อะไร คือผมเป็นหนอนไง อ่านอย่างเดียว เงินที่พ่อแม่ส่งมาให้ก็กินน้อยใช้น้อย มีกางเกงยีนส์เก่าๆสองตัว ตัวดีๆก็จะเก็บไว้ เอาไว้จำนำเวลาธนาณัติไม่มา ผมจำได้จำนำตัวละ 15 บาทนะ ซื้อหนังสืออย่างเดียว หนังสือกองเต็ม ไปไหนก็จะมีสมบัติคือมีหนังสืออย่างเดียว คือนี่แหละครับวิทยากร เชียงกุลหรือกระทั่งอาจารย์ชัยนันท์ ชัยศิริ อะไรพวกนี้ พี่ปุ๊ รงค์ วงษ์สวรรค์ ได้เงินผมทั้งนั้นนะครับ ตอนหลังผมก็มาล้างแค้นเขาด้วยการทำปกนะครับเอาเงินคืนบ้าง คือผมซื้อหนังสือของพวกเขามาไม่รู้เท่าไหร่ หนังสือผมมากมายมหาศาล ไปไหนไม่มีสมบัติอะไรหรอก มีแต่หนังสือ คือความที่เราเป็นนักอ่าน หลายๆอย่างที่เราเห็น อย่างที่เพาะช่างตอนนั้นมันมีกระแสเหมือนทั่วๆไป ก็มีกระแสของธีรยุทธ บุญมี นำเรื่องผ้าฝ้ายดิบปลุกกระแสความเป็นไทยต้านภัยเหลืองญี่ปุ่นนะครับ กระแสก่อนสิบสี่ตุลา ปีหนึ่งหก ตอนนั้นกระแสเริ่มต่อต้านแล้ว เรื่องทุ่งใหญ่นเรศวรนี่มันมีอยู่แล้ว เรื่องวิสา คัญทัพมีอยู่แล้วนะครับ ที่จริงเราอยู่รุ่นๆที่ใกล้เคียงกันนะ นึกออกมั้ยมันก็เลยเคลื่อน มันหนักอยู่แล้วครับ มันก็เลยสนใจแต่เรื่องแบบนี้เรื่องอื่นเราไม่สนใจแล้ว พอสนใจเรื่องนี่ปั๊บนี่ คิดดูแล้วกันทั้งห้องผมมีอยู่ประมาณ 40-50 คนนี่นะครับในรุ่น ปีหนึ่งทั้งปีนะมีผมคนเดียวครับที่เข้าห้องสมุด นอกนั้นมันไม่เข้ากันเลย จะเข้าก็ต่อเมื่อทำรายงานอย่างนี้ครับ แต่ผมเข้าอย่างเดียว มันเห็นจุดอ่อนของคนที่เรียนด้วยนะ แต่เด็กบ้านนอกอย่างผมไม่รู้จะไปเที่ยวไหนไง คือพวกนั้นก็จะชวนไปเที่ยวกัน ก็จะมีหลังวัง จิ๊กโก๋ เพลินจิตอย่างนี้นะ ตังค์ก็ไม่ค่อยมี ผมเด็กบ้านนอกครับไม่ได้ไปเที่ยวกับเขา เที่ยวไม่เป็นนะ ก็อ่านหนังสือ วาดรูปอย่างเดียว ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นที่เรียนเพาะช่างต้องเรียนทุกอย่างหรือเปล่าครับ มีแยกสาขาลงไปหรือเปล่า คุณทองธัช : ไม่ครับ เรียนวาดรูป ปั้นอะไรอย่างนี้ แต่เรียนวาดรูปเป็นหลัก คือพวกที่เรียนวาดรูปนี่ต้องฝีมือดีนะ ส่วนเรียนปั้นนี่มันเหนื่อยนะ มันต้องนวดดิน และงานหัตถกรรมต้องตอกเหล็กนะครับ อันนี้ฝีมือจะไม่ค่อยดีซักเท่าไหร่ แต่พวกวาดรูปนี่จะต้องฝีมือเจ๋งๆ ส่วนนี้ก็เรียนเก่งนะ จิตรกรรมก็ดี งานปั้นก็ดีตอนหลังผมเลยได้มาเรียนจิตรกรรมสากล เฉลิมชัย นี่รุ่นเดียวกับผมนะครับ ผู้สัมภาษณ์ : รุ่นเดียว หมายถึงเรียนเพาะช่างด้วยกันหรือครับ คุณทองธัช : ใช่ แต่อยู่คนละห้อง ผู้สัมภาษณ์ : บรรยากาศในโรงเรียนมีการจับกลุ่ม หรือมีชมรมอะไรบ้างหรือเปล่าครับ คุณทองธัช : ไม่ ไม่ค่อยมีเท่าไหร่ น่าจะมีรุ่นๆผมนี่แหละ พอดีมันมีพรรคพวก คนสองคนนี่แหละชวนออกหนังสือ จุลสารนะครับ ออกในโรงเรียน เขารู้ว่าผมเป็นคนชอบอ่านชอบเขียน เขาก็เลยมาชวนผมไป ผมก็ไปเขียน ผู้สัมภาษณ์ : หมายถึงเพื่อนอีกห้องหนึ่งหรือครับ คุณทองธัช : ครับ เพื่อนอีกห้องหนึ่ง ตอนนั้นผมเขียนด่าถนอม ประภาสเลย ผู้สัมภาษณ์ : ประมาณปีไหนครับ คุณทองธัช : น่าจะปีก่อนหนึ่งสี่นะ ผมน่าจะอยู่ปีหนึ่งห้า ปีหนึ่งสี่นี่ผมอยู่ปีสองนะครับ ก็จับกลุ่มกัน ผู้สัมภาษณ์ : ตอนปีหนึ่ง ก่อนสิบสี่ตุลาอีกหรือครับ คุณทองธัช : ครับ ก่อนสิบสี่ตุลาอีก ตอนนั้นมันมีกระแสไง เพราะก่อนสิบสี่ตุลานี่ ณรงค์เขาจะตั้งหน่วยที่มีสารวัตร ตำรวจ ทหารร่วมกันนะครับ แค่ผมยาวเขาก็พกกรรไกรจะเอาไว้ตัดแล้ว สห.นะ ตอนนั้นเพาะช่างกับศิลปากรนะที่ไว้ผมยาว ที่อื่นไม่ไว้ ไม่ใช่เหมือนเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่นะ สาเหตุอย่างหนึ่งที่คนมาเรียนที่นี่ส่วนหนึ่ง ไม่ว่าใช้เส้นใช้อะไร หรือไม่ใช่ว่าเก่งนะ มันอยากไว้ผมยาวแค่นั้นเอง มีแค่เพาะช่างกับศิลปากรเท่านั้นจริงๆที่ได้ไว้ ช่างศิลป์ยังไม่ได้ไว้เลย ช่างศิลป์นี่ยังนุ่งกางเกงขาสั้นอยู่เลย มันก็บอกว่าพวกที่ไว้ผมยาวพวกนี้นะที่เริ่มก่อหวอด พวกฮิบปี้ตอนนั้นมันบอกว่าอะไรนะ ห้ายอคือกางเกงยีนส์ เสื้อผ้ายับ รองเท้ายาง ผมยาว อะไรนี่นะ ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนี้ก็ยังมีอยู่นะค่ะ คุณทองธัช : ครับใช่ แต่ตอนนี้ยังดี ดีกว่าเมื่อก่อนเยอะ ผมขึ้นรถไฟกลับบ้านนี่ก็โดนตำรวจรถไฟมันเมาหาเรื่องจะซ้อมนะ ก็บอกว่าเป็นนักศึกษาหรือ ทำไมไว้ผมยาว เรื่องรีดผ้าก็ไม่ได้อะไรหรอก ผมไม่ใช่พวกสำอาง เตารีดก็ไม่ค่อยจะมี ใส่ๆก็ใส่ไป กางเกงก็ธรรมดา ใช่มั้ยครับ ใส่สบายนะไม่ได้คิดอะไรมากหรอก คือไม่ได้คิดว่าหล่อ เท่ห์ เซอร์ ไม่ได้คิดหรอกครับ ผมยาวก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้ตัดผมมาสี่ห้าปี มันก็ดีนะมันไม่เปลือง ไม่ได้คิดแบบนี้นะ ไม่เหมือนวัยรุ่นเดี๋ยวนี้ มีเงินก็เอาไปซื้อหนังสืออ่าน แต่มีเพื่อนบางคน ส่วนใหญ่ก็หลายคนนะเป็นกลุ่ม ก็มีไปทำกระเป๋าหนัง ทำอะไรขายอยู่หน้าเพาะช่าง ตลาดพาหุรัด ในจำนวนนี้ก็มี ชาติ กอบจิตติด้วย มันไม่สนใจการเมืองนะพวกนี้ บางพวกก็สนใจแต่รุ่นน้อง เหล่ผู้หญิงอย่างเดียว นี่คือความเป็นจริงในชีวิตแหละ ผมก็กลายเป็นพวกที่มีกลุ่ม ที่เป็นกลุ่มของผม ผู้สัมภาษณ์ : เมื่อสักครู่พี่บอกว่าทำนิตยสารร่วมกับเพื่อน นิตยสารนี่ชื่ออะไรครับ คุณทองธัช : ผมจำไม่ได้ครับ มันนานมาแล้วผมจำชื่อไม่ได้จริงๆ ผู้สัมภาษณ์ : ออกบ่อยแค่ไหน อย่างไรครับ คุณทองธัช : ออกรายสะดวกนะครับ เป็นนักศึกษา ไม่มีเงินหรอกครับ ผู้สัมภาษณ์ : ออกเป็น A4 พับครึ่งอย่างนี้หรือครับ คุณทองธัช : ครับ อย่างนั้นเลย ผมก็เขียนบทความใช้นามปากกาว่า เสิร์ด สลิม (มาจากคำว่า แอ๊บเสิร์ด สลิม คือ ผอมบาง) เขียนวิพากษ์วิจารณ์จอมพลถนอม ประภาสนี่แหละ คิดดูนะตอนนั้นก่อนสิบสี่ตุลา คือแรงครับ คือเราอ่านมากไง แต่จริงๆเพื่อนๆในห้องมันก็ไม่รู้เรื่องหรอก มัวแต่อ่านหนังสือดาราครับ ผู้สัมภาษณ์ : ผลตอบรับในโรงเรียนเป็นอย่างไรบ้างครับ ออกเฉพาะในโรงเรียนใช่มั้ยครับ คุณทองธัช : ครับ ก็ตั้งขึ้นมาเป็นกลุ่มนะครับ พอสิบสี่ตุลามันก็เต็มที่เลย ผู้สัมภาษณ์ : ก่อนสิบสี่ตุลานี่ หนังสือเรามีเนื้อหาแบบนี้ มีอาจารย์หรือมีใครออกมาเซ็นเซอร์บ้างหรือเปล่าครับ คุณทองธัช : ยังไม่ค่อยเท่าไหร่ จริงๆพวกอาจารย์เขาก็ไม่ได้ชอบหน้าพวกผมซักเท่าไหร่ เขาก็เฉยๆนะมันยังไม่มีการโฆษณาชวนเชื่อเหมือนเดี๋ยวนี้นะ เดี๋ยวนี้มันเลวร้ายกว่าเยอะ ผู้สัมภาษณ์ : นอกจากหนังสือพี่ยังมีอย่างอื่นอีกหรือเปล่าครับ คุณทองธัช : ไม่มีเลยครับ อย่าลืมว่าพวกผมเป็นเด็กอาชีวะนะครับ ไม่เหมือนเด็กมหาวิทยาลัยนะ แล้วคนมันน้อย คือคนที่จะสนใจเรื่องรู้การเมืองมันน้อยนะครับ จุดสนใจจะอยู่ที่ธรรมศาสตร์อยู่ที่อะไรทางนั้นนะครับ แล้วเราก็เรียนอาร์ทนะ อาร์ทนะอะไรก็จุ๋มจิ๋ม อะไรก็เย็นชาบ้าง มันไม่ใช่เรื่องอะไร พวกนี้มันตื่นตัวเรื่องการเมืองน้อย มันเรียนปรัชญามันยังหลับเลย มันไม่สนใจจริงๆพวกนี้นะ ไม่สนใจ แล้วผมก็ไม่พอใจระบบบริหารของโรงเรียนด้วย หลายๆเรื่องนะ ระบบอาจารย์ ระบบการเรียนการสอน มันมีหลายๆ อย่างที่ประกอบกันครับ มันเป็นทางการเมืองด้วยนะเท่าที่ผมรู้ เราเห็นว่าอาจารย์ก็ไม่ได้รับผิดชอบสอน เราเป็นเด็กต่างจังหวัดที่ตั้งใจมาเรียนนะ อาจารย์ก็มัวแต่ไปทำงานขายแกลอรี่ เข้าใจมั้ยคือใช่เด็กให้ทำ มันทุจริตต่อหน้าที่นะครับ คือต้องเข้าใจความรู้สึกก่อนว่า เรารับรู้เรื่องนี้มามากมันจะกลายเป็นว่าขวางหูขวางตา เราจะกลายเป็นพวกหัวรุนแรงโดยไม่ได้มีอะไรเลย แค่เราเป็นพวกเสรีนิยมอ่อนๆแค่นั้นเอง มันทำให้ผมตัดสินใจพอสิบสี่ตุลาผมก็ไปร่วมกับเขาเลยในเครื่องแบบนะ ใส่ชุดนักศึกษานี่แหละไป ผู้สัมภาษณ์ : ก่อนสิบสี่ตุลา เข้าใจว่าตอนนั้นที่ธรรมศาสตร์ได้มีกิจกรรมอะไรขึ้นมาแล้ว ได้มาร่วมได้มาดูหรือเปล่าครับ คุณทองธัช : ก็ไปเข้าดูนะครับ แต่มาดูเฉยๆ ตอนนั้นไม่มีเพื่อนไม่มีใครที่รู้จักที่อยู่ในธรรมศาสตร์เลย ผู้สัมภาษณ์ : พอจะจำได้มั้ยครับว่ามาดูอะไรบ้าง คุณทองธัช : ก็นิทรรศการพวกจีนแดง ตอนนั้นฮือฮามาก ของใครนี่ผมจำไม่ได้แล้วนะครับ น่าจะเป็นพวก อมธ.สมัยนั้น จีนแดงนี่เป็นเรื่องต้องห้ามเลยแต่คนมาดูเยอะนะครับที่หอใหญ่ ผมเป็นนักศึกษาก็ไปดู และที่สำคัญมันมีหนังสือขายเยอะเลย คือหนังสือมันลดราคา ผมก็ซื้อพวกนี้แหละไปอ่านก็อ่านได้ไม่นาน ตอนแรกพอเปิดขึ้นมาอ่านก็แปลกใจ คาร์ล มาร์กซ์นี่เมื่อก่อนผมไมเคยรู้จักเลยนะครับ แต่ผมก็อ่านหนังสือปรัชญามาเยอะนะครับ วันหนึ่งผมก็ไปเจอคำๆหนึ่งมันพูดว่า นักปรัชญาอธิบายโลกแตกต่างกัน สำคัญอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงโลก คาร์ล มาร์กซ์ ผมก็ตามหาคนนี้เลย คนนี้นี่พูดดี คือผมอ่านมาเยอะครับ แต่คนนี้พูดถูกใจ พวกปรัชญานี่อธิบายโลกอะไรสารพัด แต่สำคัญอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงโลก จะว่าอะไรก็ว่าไปเถอะ จะเป็นอภิปรัชญาอะไรผมก็ตามหาคนนี้แหละ ตอนนั้นก็อ่านแต่เรื่องซ้ายอย่างเดียวเลยครับ อ่านแต่พวกนี้หนังสือก็เต็มไปหมดครับ ผู้สัมภาษณ์ : พอสิบสี่ตุลา พี่รู้ข่าวอะไรก่อนหรือเปล่าครับ คุณทองธัช : ก็ตามอยู่แล้ว ตามอยู่ตลอดเวลา ผู้สัมภาษณ์ : อ่านหนังสือพิมพ์อะไรเป็นพิเศษหรือเปล่าครับ คุณทองธัช : ก็อ่านทั้งหมดครับ ตอนนั้นก็เป็นแฟนประจำของหอใหญ่ ธรรมศาสตร์ อยู่แล้วครับ ผู้สัมภาษณ์ : รู้ข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรบ้างครับ คุณทองธัช : ก็ทั่วๆไปครับ ข่าวตั้งแต่โดนจับ เรื่องทุ่งใหญ่ การจับกุม ทุ่งใหญ่นี้ก็ตอนที่เฮลิคอปเตอร์ตกแล้วมีหัวกระทิงอะไรนี้นะครับ เราก็อ่านหนังสือนี้อยู่แล้ว ทั้งสังคมศาสตร์ฯ เป็นหนังสือที่นักศึกษาจะซื้ออ่านกันหมดนะ พออ่านแล้วมันก็รู้สึกว่าสังคมไทยมันห่วยนะครับ ทหารอะไร แล้วเราก็เห็นอยู่แล้ว เพราะตอนั้นทหารมันเพ่นพ่านทั่วเมือง อุปกรณ์ก็พร้อม คิดดูว่าพกกรรไกรเพื่อตัดผมคนผมยาวนะครับ เดี๋ยวนี้มันหมู มันไม่ใช่อย่างนี้ เมื่อก่อนผมโดนตรวจ ผมพักอยู่แถวลาดพร้าวแล้วยืนอยู่แถวสะพานควาย ต้องเอามือกางครับ เพื่อให้มันตรวจ เข้าใจหรือเปล่าคือมีลักษณะเป็นอย่างนี้ แค่ไว้ผมยาวนะ ผู้สัมภาษณ์ : พี่รู้ข่าวตอนชุมนุมมั้ยครับ คือตอนนั้นรู้ข่าวแล้วเรื่องโดนจับ แล้วพี่ได้มาร่วมชุมนุมที่ไหนอย่างไรครับ คุณทองธัช : ผมจำไม่ได้แล้วนะครับ แต่ผมจำได้ว่าชุมนุมกันในลานโพธิ์ ผมก็มาร่วมแล้ว มาร่วมตั้งแต่วันแรกๆแล้ว ก็ใหม่ๆ ตอนแรกก็มาแล้วก็กลับ ตอนหลังก็มีมานอนครับ ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นพักอยู่แถวไหนครับ คุณทองธัช : อยู่แถวลาดพร้าว ตอนนั้นลาดพร้าวไม่ใช่อย่างนี้นะ แค่ไปรามก็มีแต่โคลน ควายยังวิ่งอยู่เลย ผู้สัมภาษณ์ : ตอนแรกก็ไปกลับนะครับ แล้วบรรยากาศมีอะไร เป็นอย่างไรบ้างครับ คุณทองธัช : ก็เป็นนักศึกษา ผมก็ไม่รู้จักใครหรอก และก็มีเพื่อนบางคนมาเจอกันที่นั่น เพื่อนทางเหนือ ตอนนั้นนักศึกษาอาชีวะทางเหนือก็เข้ามาร่วมด้วย สมัยนั้นมันยังไม่มีกระทิงแดง แรกๆนะยังไม่มีกระทิงแดง พวกเชียงใหม่อะไรก็มาเข้าร่วม ผู้สัมภาษณ์ : ประมาณวันที่เท่าไหร่ครับ คุณทองธัช : ก่อน 14 ตุลา ประมาณ 12-13 นี่ก็มีกลุ่มนักศึกษาต่างจังหวัด เหมือนกับพวกเสื้อแดงตอนนี้นะครับ มาร่วมแต่เป็นนักศึกษาใส่ชุดใส่เครื่องแบบมาเลย ผมยังไปเจอเพื่อนที่มันเรียนแถวเชียงใหม่ มาเจอกัน มันมานั่งดักรอเพราะคิดว่าผมต้องเดินผ่านหอใหญ่นี่นะครับ มานั่งดักรอและก็เจอผมวันที่สิบสี่ก็เดินขบวนด้วยกัน ก็กินนอนกันอยู่ในสนามนะ ผู้สัมภาษณ์ : คืนแรกที่นอน ที่ค้างนี่ พอจะจำได้มั้ยครับว่าวันที่เท่าไหร่ คุณทองธัช : ผมจำไม่ได้ ก่อนวันที่สิบสี่นะ 12-13 นี่น่าจะเริ่มแล้วนะครับ ไปชุดเดียวแล้วก็ไม่กลับแล้วไง ผู้สัมภาษณ์ : เดี๋ยวผมขอย้อนไปก่อนหน้านั้นนิดนึงนะครับ ก่อนหน้านั้นก่อนที่จะมานอนนี่มาฟังเฉยๆ หรือว่าเข้าไปร่วมครับ คุณทองธัช : ไม่มีอะไรเลยครับ เป็นนักศึกษาเฉยๆ ไม่ได้เป็นอาสาสมัครอะไรเลย เพราะผมมาคนเดียว ทั้งห้องผมมาคนเดียวนะ ผู้สัมภาษณ์ : ไม่ได้ไปเขียนกลอน เขียนรูปอะไรเลยหรือครับ คุณทองธัช : ไม่ครับไม่มี ไม่ได้ทำอะไรเลย แค่เป็นนักศึกษาคนหนึ่งเท่านั้นเอง เพราะว่าถึงผมจะตื่นตัวอย่างไร ผมก็เป็นเด็กบ้านนอกอยู่ดีนะ แต่พวกมหาวิทยาลัยมันมีอะไรที่มากกว่า เราคิดแค่ได้เข้าร่วมเฉยๆ ยังไม่ได้แสดงบทบาทอะไร ไม่ได้ถึงขนาดนั้น ผู้สัมภาษณ์ : ก่อนหน้าที่คนจะเยอะนะครับ เพื่อนที่อยู่เพาะช่างที่รู้จักกัน มาร่วมบ้างมั้ยครับ คุณทองธัช : ไม่มีครับไม่มา ถึงเขามาก็มากับกลุ่มอื่นแต่ผมรับรองว่าในเพาะช่างไม่มีอะไร การจัดตั้ง หรือการมาเป็นส่วนตัว ผมไม่เจอเลยแต่ห้องผมนี่ไม่มีเลยครับ ผมก็มาเดี่ยวๆนี่แหละไม่ได้นัดกับใคร ผู้สัมภาษณ์ : ตอนที่พี่มาค้างคืนแล้วเดินออกไป ตอนนั้นมุ่งหน้าไปทำเนียบ ลานพระรูป เป็นอย่างไรบ้างครับ คุณทองธัช : ตอนนั้นที่ผมไปก็มีเพื่อนจากเทคนิคพายัพสองคนครับที่เคยเรียนด้วยกันที่ลำพูน เขาก็มา ก็เดินไปกับประชาชน ไปกับนักศึกษาทั้งหลาย แล้วก็ทหารมีตำรวจ เราก็หักไม้ที่อยู่ตรงราชดำเนินนะครับ ที่มันเป็นรั้วที่เขากำลังล้อมต้นไม้อยู่ เราก็หักและถอดไม้มาถือคนละอันสองอันนะ ผู้สัมภาษณ์ : พี่อยู่ประมาณช่วงไหนของขบวน คุณทองธัช : น่าจะอยู่กลางๆ ผมไปเรื่อยๆครับ แต่ผมไปไม่ถึงสวนจิตรฯ ไปถึงเขาดินแล้วก็แตกฮือถอยกลับมา ผู้สัมภาษณ์ : ผมรู้สึกว่าเดินออกจากธรรมศาสตร์เที่ยงวันที่สิบสามหรือเปล่าครับ คุณทองธัช : ผมไม่แน่ใจนะ ผมจำไม่ได้แต่บ่ายๆนี่แหละครับ แดดเปรี้ยงๆเลย ผู้สัมภาษณ์ : มีการไปค้างคืนบนราชดำเนิน หลังจากออกไปจากธรรมศาสตร์หรือเปล่าครับ คุณทองธัช : รู้สึกจะค้างนะครับ ผมก็นอนอยู่แถวนั้น ยังจำได้ว่าเขามาแจกมีไข่ต้มใบนึง แล้วก็แบ่งกับเพื่อนคนละครึ่งใบก็กินกัน ผู้สัมภาษณ์ : จำได้มั้ยครับ ว่านอนแถวไหน อย่างไร คุณทองธัช : แถวถนนราชดำเนิน หน้าสนามมวยอะไรนี่แหละ บนถนนหรือเขาดินผมจำไม่ค่อยได้นะครับ คนมันเยอะมาก ผู้สัมภาษณ์ : มีการจัดการอย่างไรบ้างครับ คุณทองธัช : ครับ มันมีอยู่คืนหนึ่ง ตอนแรกนอนตรงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเลย ล้อมวงนอนกันอยู่ตรงนั้นด้วย ผมนอนตรงนั้นคืนหนึ่ง ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นมีทหารมากวนหรือเปล่าครับ มีการตั้งด่านหรือเปล่า คุณทองธัช : ไม่มีครับ ผมอยู่วงในนะ ผมจะไม่ค่อยรู้เหตุการณ์วงนอก เพราะพวกอาชีวะก่อนที่มันจะเป็นกระทิงแดง มันเป็นพวกการ์ด พวกบู๊ พวกช่างกลอะไรนี่นะครับ ตอนนั้นก็เห็นเสาวนีย์ ลิมมานนท์, จีระนันท์, เสกสรร อะไรพวกนี้ และก็พอมีข่าวปะทะก็มีการเอาศพขึ้นไปวางบนพาน อะไรประเภทนี้ เราก็อยู่แถวนั้นในตอนนั้น ผู้สัมภาษณ์ : รถเครื่องเสียงตอนนั้นมีเป็นช่วงๆ หรือเปล่าครับ คุณทองธัช : ครับ มีเป็นช่วงๆ มีรถเล็กๆด้วยเป็นรถบัญชาการนะ บางทีก็มีเสาวนีย์ขึ้นไปบนเวทีตรงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้วย ผู้สัมภาษณ์ : แล้วทีนี้กระบวนก็ทยอยเคลื่อนไปเรื่อยๆ พอพี่รู้ข่าวปะทะ ตอนนั้นพี่อยู่เขาดินใช่มั้ยครับ คุณทองธัช : ครับพอปะทะก็ถอยมา ตอนถอยมาการปะทะมันก็หนัก ผมถอยร่นมาจนถึงสนามหลวงนะและก็มาปักหลักอีกทีก็ตรงเฉลิมชัย ที่ยังไม่มีอะไรนะ ไม่อย่างนั้นตำรวจมันยิง ผู้สัมภาษณ์ : ระหว่างทางนี่มีอะไรมั้ยครับ คุณทองธัช : มีกองเลือด มีอะไรแล้ว เลือดนี่ตามถนนเป็นลิ่มเหมือนวุ้นนะ เวลามันแข็งตัว อันนี้คือเส้นราชดำเนินเลยครับ ผู้สัมภาษณ์ : หมายถึงว่ามันมีการปะทะอยู่ข้างหลังด้วยหรือครับ คุณทองธัช : ใช่ครับ มันบุกมาทางด้านหลัง ตอนนี้คนก็เริ่มมีแก๊สน้ำตา ก็แสบตากันบ้างอะไรบ้างนะ คนแถวสนามหลวงก็กระจายกัน วิ่งกันมารวมใหม่ ทำนองนั้นครับ ผู้สัมภาษณ์ : หมายถึงว่ามีการสลายเป็นจุดๆ และคนก็แตก พอทหารไปคนก็เข้ามารวม ใช่มั้ยครับ คุณทองธัช : ใช่ครับ ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นเป็นทหารหรือตำรวจครับ คุณทองธัช : น่าจะทั้งตำรวจและก็ทหาร ตอนเผากองสลากนี่ผมมานึกทบทวนแล้ว ตอนแรกนี่ผมเผาด้วยนะ ตอนนั้นผมนึกไม่ถึงแล้วก็มาทบทวนและคุยกับเพื่อนๆตอนหลัง เขาก็บอกว่าคนที่เอาน้ำมันก๊าดใส่ถุงพลาสติกมาให้นี่มันตัดผมเกรียนใส่กางเกงใส่เสื้อน่าจะเป็นทหาร แต่ตอนนั้นความแค้นนะครับประชาชน ไม่ฟังแล้วใครเอามาให้ก็ทำ นี่คือเรื่องจริง ผู้สัมภาษณ์ : เขามาบอกว่าให้เผากองสลากเลยหรือเปล่า หรืออย่างไรครับ คุณทองธัช : ไม่รู้ว่าใครเผาก่อนนะครับ ก็มีคนมาแจกบอกว่า เผาๆ ผมก็โอเคเผาก็เผา ผู้สัมภาษณ์ : ทำไมต้องเป็นกองสลาก มันมีศูนย์อะไรนะครับ กตป. ไม่ใช่หรือครับ คุณทองธัช : กตป. ก็โดนเผาครับ เป็นศูนย์บัญชาการของณรงค์ใช่มั้ยครับ กตป.นี่คือคณะกรรมการปราบปรามทุจริตอะไรทำนองนั้นนะ โดนเผาด้วย ผู้สัมภาษณ์ : ตรงนั้นจะเป็นเหมือนฐานการเมืองของกลุ่มนั้น แต่กองสลากเกี่ยวอะไรด้วยครับ คุณทองธัช : ครับ ใช่ กองสลากนี่เป็นผลประโยชน์ของจอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอมอะไรนี่ครับ ไม่รู้ใครคิดว่าอย่างไร แต่คิดว่ากองสลากนี่มันเหมือนต้มตุ๋นประชาชนอะไรอย่างนี้นะ เพราะว่าพวกทหารนี่มันมากินอยู่ตรงนั้นเยอะ ผู้สัมภาษณ์ : มันเป็นผลประโยชน์หรือส่วนแบ่งหรือครับ คุณทองธัช : ใช่ครับมันเป็นรูปธรรมมาก เพราะว่าพวกเผด็จการมันเป็นกรรมการอยู่ตรงนั้นเยอะนะครับ และมันก็อยู่ใกล้ๆกรมประชาสัมพันธ์ พอเผากองสลาก กรมประชาสัมพันธ์ก็ถูกเผาไปด้วย เพราะว่ากรมประชาสัมพันธ์มันเป็นกระบอกเสียง เขาเรียกกันว่ากรมกร๊วกนะครับในตอนนั้น เผาก็เผานะ ผมถึงเข้าใจว่าทำไมในตอนหลังถึงมีเหตุการณ์การจลาจลขึ้นมา อารมณ์คนมันไม่สามารถควบคุมได้นะ คนที่มีความเคียดแค้นในหลายๆเรื่อง เรื่องความยุติธรรมอะไรอย่างนี้นะครับ มันก็ไม่ฟังอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุปทานหมู่อะไรก็แล้วแต่ นั่นแหละม็อบ ผู้สัมภาษณ์ : ระหว่างที่อยู่ในม๊อบนี่มันมีการสื่อสารทางอื่นหรือเปล่าครับ เช่นทางวิทยุ ทางหนังสือพิมพ์ มีอะไรอย่างนี้หรือเปล่าครับ คุณทองธัช : มีหนังสือพิมพ์ที่ส่งๆมานะครับ แต่หนังสือพิมพ์เมื่อก่อนนี่เป็นธรรมกว่าในสมัยนี้นะ มันยังรู้สึกว่าให้ข่าวสารแบบอะไร คนมันอาจจะเกลียดทรราชมากก็ได้ มันไม่มัวๆเมาๆแบบนี้ และก็ฟังวิทยุบ้าง เขียนประกาศบนเวที ก็ให้การศึกษา โจมตี ปราศรัยอะไรอย่างนี้นะครับ ก็เหมือนกับทุกทีนะ ผู้สัมภาษณ์ : โอเคครับ เมื่อสักครู่พี่เล่าถึงตอนที่กลับไปสนามหลวงแล้ว ตอนนั้นพอกลับไปสนามหลวงก็หมายถึงคนก็แตก แล้วพี่ก็ย้อนกลับไปปักหลักอยู่ที่เฉลิมไทย ตรงผ่านฟ้า คุณทองธัช : ตอนนั้นเฉลิมไทยมันฉายหนังของพี่เปี๊ยกนะ พี่เปี๊ยกก็คือเปี๊ยก โปสเตอร์ ชื่อเขาสมิง อุเทน บุญยงค์ เล่นเป็นพระเอก ที่จริงผมเกือบตายแล้วนะครับตอนนั้น ข้างล่างนี่พอนักศึกษาและประชาชนเขาฮือจะไปเผา บ.ช.น.กัน เมื่อก่อน บ.ช.น.มันจะอยู่สามเหลี่ยมตรงนั้นนะ ที่ติดรูปพระเทพอันใหญ่ๆนะครับ เมื่อก่อนอยู่ตรงนั้น ผู้สัมภาษณ์ : หลานหลวงหรือครับ คุณทองธัช : ครับ แยกนี้แหละ บ.ช.น.เดิม ตรงนี้มันจะเป็นตึกสูง ประชาชนก็ฮือจะเผา ตำรวจก็อยู่บนนั้น เอาปืนยิงกราดลงมา ไม่ให้ข้ามสะพานผ่านฟ้า ประชาชนก็เอาหนังสติ๊กบ้างอะไรบ้างยิงไปนะ ปาไปตรงป้อมพระกาฬนะ ปาไฟให้ดับ คล้ายๆว่าผมเห็นคนนอนจมกองเลือดอยู่ตรงสะพาน พวกนั้นก็ส่องมายิงทะลุโปสเตอร์ พวกเราก็เข้าไปหลบอยู่ในเฉลิมไทย ไม่มีอาวุธ พวกนักศึกษา พวกมหิดลหรือพวกพยาบาลเขาก็เอาในโรงหนังนั่นแหละครับทำโรงพยาบาล เขาลากคนเจ็บมา ผมก็ไปยืนแอบดูคือมันยิงสาดมาอย่างนี้เลยนะ ผมยืนพิงอยู่ที่โปสเตอร์หนังนี่ต้องนั่งลง ถ้ายืนอยู่ผมก็ตายแล้วครับ มันทะลุและก็สาดมาตอนหลังก็หลบๆ อยู่แถวนั้น พอชนะประชาชนก็เผากองบัญชาการ ผู้สัมภาษณ์ : ชนะนี่เป็นอย่างไรครับ คืออีกฝ่ายหยุดยิงหรือเปล่า คุณทองธัช : คือบุกเข้าไปเลยครับ บุกเข้าไปเผา ผู้สัมภาษณ์ : คนเยอะหรือเปล่าครับ คุณทองธัช : ใช่ คนเยอะมาก คือจริงๆ ตอนหลังเราคิดว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงกำลังภายในศูนย์อำนาจ มันไม่ใช่ม๊อบประชาชนแต่เป็นทหาร ทหารของกฤษ สีวะรานี่แหละที่เขาไม่ยอม คือยึดกำลังจากถนอม ประภาส และก็ยังมีคนที่อยู่เบื้องหลัง ที่เป็นมือที่มองไม่เห็นอยู่นะครับ ตอนแรกเราไม่รู้หรอกครับแต่ต่อมาก็มีการเช็คๆประสาน ต่อจิ๊กซอร์มาจนถึงปัจจุบันถึงได้รู้นะครับ มือที่มองไม่เห็นอยู่เบื้องหลังมาตลอด ผู้สัมภาษณ์ : ตอนที่พี่อยู่เฉลิมไทยพี่อยู่จนถึงเหตุการณ์ไหนบ้างครับ ตอนที่เขามีการเผา บชน. พี่ได้เข้าไปดูด้วยหรือเปล่าครับ หรือยังอยู่ที่เดิม คุณทองธัช : ก็อยู่แถวนั้นนะครับ ตระเวณอยู่ในบริเวณนั้น จนมันมืดค่ำ เผาจนวอด ตำรวจหนี ถอดเครื่องแบบหนีกันหมดเลยครับ ตอนนั้นก็เริ่มทั่วกรุงเทพแล้ว ผู้สัมภาษณ์ : ทั่วกรุงเทพหมายถึงอย่างไรครับ คุณทองธัช : ก็มีการทุบเสาไฟ ตู้โทรศัพท์อะไรทำนองนี้บ้าง ผมคิดว่าส่วนหนึ่งก็เป็นฝ่ายประชาชนแต่อีกฝ่ายน่าจะเป็นพวกทหารที่ต้องการจะล้มนะครับ ก็พวกมือที่สามนี่แหละครับ มือที่สามนี่ไม่ใช่อะไรก็พวกที่ร่วมแถวนี้แหละครับ นี่แหละที่ชัดเจน มันยังเหมือนเดิม ผู้สัมภาษณ์ : พอค่ำแล้วพี่ไปที่ไหนต่อ อย่างไรครับ คุณทองธัช : พอเขาประกาศว่ารัฐบาลลาออก ผมก็กลับ ผู้สัมภาษณ์ : ใครเป็นคนประกาศครับในตอนนั้น คุณทองธัช : ผมก็จำไม่ได้นะครับว่าจะเป็นทางโทรทัศน์หรือวิทยุ ผู้ประกาศข่าวก็ประกาศว่ารัฐบาลทรราชย์สามคนนั้นหนีออกนอกประเทศไปแล้ว ผู้สัมภาษณ์ : เราได้ยินข่าวจากไหนครับพี่ คุณทองธัช : จากการประกาศครับของแกนนำบนเวทีเหมือนม็อบนี่แหละครับ เราก็ชัยโยโห่ร้องกัน ผู้สัมภาษณ์ : แล้วก็กลับบ้านหรือครับ คุณทองธัช : ครับ กลับบ้าน แต่ตอนนั้นนี่อารมณ์ของประชาชนยังเคียดแค้นอยู่ บางพวกยังวนเวียนจะไปเผาที่นั่นที่นี่ มีอยู่ทั่วกรุงทำนองนั้นนะ อารมณ์ค้าง ประมาณสักสองวันได้ ตอนนั้นตำรวจนี่ทิ้งสถานีเลยนะครับ ตำรวจหนีกันหัวซุกหัวซุน คือถอดเครื่องแบบไม่กล้าแสดงตัวเป็นตำรวจ นี่คือสิบสี่ตุลานะ ผู้สัมภาษณ์ : หลังจากที่พี่กลับบ้าน ในวันรุ่งขึ้นได้ออกมาอีกหรือเปล่าครับ คุณทองธัช : ก็ไม่ได้ออกนะครับ เพราะว่าไม่มีอะไรแล้ว ผู้สัมภาษณ์ : น่าจะเป็นวันที่สิบห้าใช่มั้ยครับ คุณทองธัช : ไม่ครับ ก็ไม่มีอะไรแล้วไง จริงๆคือผมไม่ได้อยู่ในจัดตั้งหรืออยู่ในอะไรนะครับ เป็นแค่นักศึกษาหรือประชาชนธรรมดา มีคนอย่างผมเยอะนะครับตอนนั้น ก็เป็นหน้าที่ฝ่ายการเมือง ตอนนั้นเขาก็เจรจากัน เราก็ไม่ได้รู้เรื่องอะไรด้วย ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นได้ตามข่าวอะไรอย่างไรครับ คุณทองธัช : ก็ตามข่าวธรรมดาตามหนังสือพิมพ์ ผู้สัมภาษณ์ : หลังจากสิบสี่ตุลา ด้วยตัวของพี่เองพี่รู้สึกว่ามันเป็นชัยชนะอะไรหรือเปล่า คุณทองธัช : ก็รู้สึกนะครับ ตอนนั้นในส่วนตัวของผม ผมก็เริ่มไปจัดตั้งกลุ่มแล้ว เป็นกลุ่มศึกษา ผู้สัมภาษณ์ : หลังสิบสี่ตุลานานหรือเปล่าครับ คุณทองธัช : ไม่นานหรอก ก็คือทำหนังสือพิมพ์บ้างอะไรบ้าง ทำหนังสือพิมพ์กำแพง ก็จัดตั้งเป็นกลุ่มกันเลยครับ ผู้สัมภาษณ์ : กลุ่มนักศึกษาหรือตัวของพี่เองหลังจากผ่านสิบสี่ตุลาไปแล้ว รู้สึกว่าตัวเองทำอะไรได้เยอะมากขึ้นหรือเปล่าครับ คุณทองธัช : ใช่ครับ ก็จัดตั้งกลุ่มกัน ในกลุ่มหมู่ของเพื่อน และในปีนั้นปี 15-16 ผมขึ้นมาปีสี่พอดี ผมจึงจัดเลือกตั้งสภาบริหารนักศึกษา ก็จัดตั้งกันมาและผมก็ได้ครองเสียงข้างมาก ทำสภานักศึกษาเพาะช่างขึ้น ผมเป็นแกนนำทำเคลื่อนไหวทุกอย่างแล้วผมก็ไปร่วม เป็นแนวร่วมเพาะช่างไปรวมกับธรรมศาสตร์ ผู้สัมภาษณ์ : ประมาณปีไหนครับก่อนตั้งสภา คุณทองธัช : ปี 16-17 นะครับคาบเกี่ยวกันแล้ว หลังสิบสี่ตุลาก็เริ่มแล้วเพราะว่าผมสอบและก็เรียนต่อนะ ปีสี่ปีห้าของเพาะช่าง ผู้สัมภาษณ์ : หมายถึงว่ามีแบ่งอีกหรือครับ คุณทองธัช : ใช่ครับ จบปีสามมันต้องสอบต่อปีสี่ ผู้สัมภาษณ์ : สามปีแรกคือเทียบเท่า ปวช.หรือครับ คุณทองธัช : ใช่ และก็สอบต่ออีกเป็นปี 4-5 ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นก่อนที่จะรวมกันเป็นกลุ่มของสภานักศึกษานี่ มีเพื่อนเยอะไหมครับ หรือว่าเป็นกลุ่มหลากหลาย อย่างไร คุณทองธัช : เยอะครับ แนวศิลปะเพื่อชีวิตเลยครับ ศิลปะศิลปากร ศิลปะเพื่อชีวิตก็เริ่มเป็นแนวพวกซ้ายแล้ว และก็เริ่มไปทำงานกับพวกธรรมศาสตร์ เพื่อนรุ่นเดียวกันที่อยู่ธรรมศาสตร์นะ ก็มีแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน จัดกิจกรรมร่วมกัน ไปเขียนโปสเตอร์กัน ทำอะไรหลายๆอย่างก็กลายมาเป็นแนวร่วมเพาะช่าง ทำงานอาร์ตเป็นฝ่ายอาร์ตทำงานร่วมกับพวกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ องค์การนักศึกษานะครับ พวกนั้นก็รุ่นๆเดียวกัน ก็เข้าไปช่วยทำให้เขา งานออกแบบอะไรสารพัด ก็เข้าไปทำเป็นแนวร่วมเพาะช่างและแนวร่วมนี้ก็เข้าไปอยู่กับแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทยอีกที แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทยมันจะใหญ่ก็จะมีตั้งแต่ มศว.ประสานมิตร ศิลปากร เพาะช่าง อะไรพวกนี้นะครับ และก็ช่างศิลป์ ผมนำในกลุ่มแนวร่วมเพาะช่าง ผมเป็นตัวแทนนักศึกษาเพาะช่างในฐานะอะไรนะครับ คือในองค์กรนักศึกษาอาชีวะนะครับ ไม่ใช่นักเรียนนะ นักเรียนอาชีวะในตอนหลังนี่กลายมาเป็นกระทิงแดงแต่จะมีนักศึกษาอาชีวะอีกกลุ่มหนึ่ง ก็เข้าไปเป็นตัวแทนของเพาะช่าง คล้ายๆกับกรรมการกลางอะไรประมาณนี้ แกนนำเลยนะพูดง่ายๆ ผู้สัมภาษณ์ : สำหรับแนวร่วมศิลปินนี่มีเฉพาะนักศึกษาหรือเปล่าครับ หรือว่าเป็นอย่างไร คุณทองธัช : ก็มีอาจารย์นะครับ แต่ตอนนั้นดูเหมือนจะมีนักศึกษาเป็นแกนหลักนะครับ เพาะช่างนี่เป็นหลักเลยครับที่เป็นฝ่ายปฏิบัติงานนะ อย่างเช่น สินสวัสดิ์ เขาเป็นรุ่นน้องผมนะครับ พวกศิลปากรฯก็มีครับเป็นอาจารย์ เช่นอาจารย์ลาวัลย์ อุปอินทร์และอาจารย์อื่นๆอีกหลายคนนะ และก็แรงงานก็คือพวกเพาะช่าง กินนอนอยู่ในธรรมศาสตร์นะครับ บ้านช่องห้องหอก็ไม่กลับ ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นแนวร่วมศิลปินใช้ออฟฟิศที่ไหนครับ คุณทองธัช : ไปยึด ก.ต.ป.ได้ครับ และก็แบ่งกันนอนคนละห้องๆนะครับ มีห้องเพาะช่างอยู่นี่ แนวร่วมอยู่นี่ ศูนย์ครูอยู่นี่และตรงกลางก็จะมีโต๊ะอาหารเป็นโต๊ะประชุมอะไรอย่างนี้นะ พวกกระทิงแดงมันก็มาเขวี้ยงระเบิดบ้าง เวลาเรานอนเราก็กลัวความปลอดภัย เราก็จะเอาหัวซุกเข้าไปใต้โต๊ะประชุม นอนเอาหัวบังและก็เอาเท้ายืดออกไป ในนั้นมีใครบ้างนะ เกรียงกมล, สุธรรม แสงประทุม นั่นแหละครับ เราอยู่ตรงนั้นมาก่อน ผู้สัมภาษณ์ : ระหว่างปี17-18 พี่ก็ยังอยู่ในส่วนนี้หรือเปล่าครับ คุณทองธัช : ก็เรียนไม่เป็นร่ำเป็นเรียนนะ จากวาดรูปขนาดใหญ่ย่อลงมาเหลือเล็กนิดเดียวครับ มัวแต่ทำกิจกรรม อาจารย์ดุจนไม่รู้ว่าจะดุอย่างไรแล้ว คือผมนี่จะถูกไล่ออกอยู่แล้ว เขาจะไล่ผมออกในข้อหาหัวรุนแรง เขาไม่ให้ผมรับประกาศนียบัตรนะ เพราะผมก็ไปวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเพาะช่างเยอะ จนกระทั่งไปร้องเรียน ไปเรียกร้องให้เพาะช่างมีปริญญาตรีนะครับ นี่แหละผมเป็นคนทำเมื่อก่อนมันไม่มีปริญญาตรีนะครับ ผมต้องการให้มีปริญญาตรีให้มันเป็นระบบมาตรฐานเหมือนมหาวิทยาลัย ผู้สัมภาษณ์ : ปี5-6 นี่คือเทียบเท่า ปวส.หรือครับ คุณทองธัช : ใช่ พอปริญญาตรีก็มีต่ออีกสองสามปี มันถึงจะได้ปริญญาตรีใช่มั้ยครับ แต่เมื่อก่อนไม่มี กลุ่มผมต่อสู้จนมีเรียกร้องมา ก็ได้เปรียบไงครับ ตอนนั้นนักศึกษาแรง แต่มีการตั้งกลุ่มต่อต้าน มีพวกกระทิงแดงบุกมาเผาโปสเตอร์หน้าเพาะช่างอะไรอย่างนี้ เพราะเราทำโปสเตอร์ต่อสู้กับจักรวรรดินิยม เดี๋ยวมีไล่อเมริกาบ้างอะไรอย่างนี้ ทำตลอดนะครับไม่ว่างไม่เว้น ใครมีกิจกรรมอะไรก็ไปร่วมหมด อย่างที่บอกนะเขียนรูปเอบวกเหลือแค่นิดเดียวรูปใหญ่เท่าฝาบ้านเหลือเล็กนิดเดียวนะที่ส่งอาจารย์ เพราะว่าไม่มีเวลาไงครับ มัวแต่ทำกิจกรรม ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นคือมีการคุกคามจากพวกกระทิงแดงหรือครับ คุณทองธัช : มี พอหลังสิบสี่ตุลา พวกกลุ่มปฏิกิริยามันเริ่มก่อตั้งแล้วพวกกลุ่มขวาจัดนะ มันไม่ต่างจากพวกเสื้อน้ำเงินอะไรหรอก แต่เป็นการก่อตั้งโดยการเอาประชาชนมาชนประชาชน ตอนนั้นยังเป็นแค่กระทิงแดงอยู่ยังไม่ใช่ลูกเสือชาวบ้าน ที่ก่อตั้งโดยพวก ตชด. ผู้สัมภาษณ์ : แต่ก็ยังมีการดำเนินการต่อไป ยังมีการระวังตัวอย่างไรครับ คุณทองธัช : มีการแยกนักศึกษา อาจารย์ก็แบ่งฝ่าย บางฝ่ายก็เริ่มมีขวาจัดแล้ว และก็มีการเรียก พวกนี้เป็นพวกคอมมิวนิสต์ กล่าวหากันว่ารับเงินมา คอมมิวนิสต์อะไรอย่างนี้นะ ผมในสมัยก่อนเป็นนักกิจกรรมได้กินข้าวครบสามมื้อก็บุญแล้วนะครับ ตัวนี่ไม่ได้อ้วนอย่างนี้นะ ผอมกะหร่องกะแหร่ง มันยังบอกว่าไปรับเงินเคจีบีอะไรอย่างนี้แหละ คือยังน้ำเน่าอย่างไรก็ยังเหมือนเดิม เราพักผ่อนน้อยด้วยนะเดี๋ยวไปเขียนแถลงการณ์ เดี๋ยววาดรูป เดี๋ยวทำนั่นทำนี่บ้าง ไม่ค่อยได้นอนหรอก เดินก็ต้องเกาะรั้วเข้าโรงเรียนแทบจะเป็นลมอยู่แล้วครับ กว่าจะได้กินข้าว เขาก็ยังมากล่าวหากันอีก เรื่องนี้แหละครับที่ทำให้คนที่เป็นเพื่อน คนที่เข้าใจเรามันยิ่งรักเราไง คนที่เป็นตำรวจนี่มันเป็นการ์ดให้ผมเลย ใครจะมาท้าตีท้าต่อยกับผมนี่มันก็เป็นการ์ดให้ผมเลยนะ คือคนที่อยู่ใกล้เราก็จะรักความเป็นธรรมเลยนะ มีพวกที่เป็นทหารเป็นตำรวจมาเรียนเพื่อที่จะปรับวุฒิ เขาก็ไม่รู้จะเรียนอะไรไง ก็เข้ามาช่วยกัน ตอนแรกนี่เป็นศัตรูกัน พอมันรู้ว่าเราบริสุทธิ์ มันก็มาช่วยเรา ก็มีเยอะแยะเป็นธรรมดามาก ผู้สัมภาษณ์ : ทีนี้พอสถานการณ์มันแรงขึ้นๆจนถึงหกตุลา ตอนนั้นพี่ยังเป็นนักศึกษาอยู่หรือเปล่าครับ คุณทองธัช : ไม่ครับ ผมนี่พ้นจากการเป็นนักศึกษาปี 18 นะ ตอนนั้นมัน 6 ตุลา ปี 18 ผมก็ร่วมกับพวกนี้เต็มตัวแล้วครับ เป็นแนวร่วมเป็นอะไร ออกแบบปก แบบทำสารพัดแล้ว ผู้สัมภาษณ์ : หลังจากพี่จบแล้ว พี่ทำอะไรต่อครับ คุณทองธัช : ไปทำงานเป็นฝ่ายศิลป์หนังสือพิมพ์ หนังสือนิตยสารอะไรอย่างนี้นะครับ ตอนเย็นประท้วงเลิกงานก็ไปร่วมกับเขา เช้าทำงานเย็นก็เข้าร่วมกับเขา คงจะเหมือนคนเดี๋ยวนี้หลายๆคน เหมือนกัน วันที่ 6 ตุลา ผมก็พากลุ่มเพื่อนแนวร่วมเพาะช่างนี่แหละเข้าไป มีชาติด้วยนะ มีตลกชายเล็ก และพวกเด็กแนวร่วมเพาะช่างทั้งหลาย เข้าไปประท้วงการกลับมาของเณรถนอม นั่นแหละและก็โดนปราบ ผู้สัมภาษณ์ : พี่เข้าไปประมาณวันไหน อย่างไรครับ คุณทองธัช : หลายวันครับ เข้าไปอย่างนั้นแหละไปกินนอนอยู่ที่นั่นเลย กลับบ้านบ้างแต่แทบจะไม่ได้กลับเลยนะ ตอนนั้นเหมือนผมเป็นแกนนำในส่วนนี้นะ เป็นแกนนำส่วนแนวร่วมเพาะช่างนะ ผู้สัมภาษณ์ : พอเช้าวันที่หกนี่พี่ยังอยู่ในธรรมศาสตร์หรือเปล่าครับ หรือว่าอย่างไร คุณทองธัช : ก็หนีแล้วสิ เพราะมันยิงเข้ามาตั้งแต่กลางคืนแล้ว พวกผมบางคนก็เข้าไปสู้ แดงก็อยู่ด้วยกัน ก็เป็นแนวร่วมเพาะช่างด้วยคนหนึ่ง แดงที่ว่าเป็นรางวัล Dang awards นะ ที่โดนเอาผ้าขาวม้าลากคอนั่นนะครับ คือพวกของแดงมันเป็นจิ๊กโก๋ พวกดินแดงไง มันมาจากสลัมนะไม่สนใจทฤษฏีอะไรหรอก มันพร้อมจะลุยลูกเดียว บางคนก็เป็นแบบนี้นะพวกเพื่อนฝูงนะ ไม่สนใจหรอกทฤษฎีบ้าบอคอแตกอะไรนั่น แต่พวกเรามักจะชอบถกกันนะ อย่างนี้มันการเมืองนำหน้านี่ อย่างนี้นะครับ แต่พวกนี้จะชอบบู๊ไงครับ มันฆ่าเรา เราต้องลุยมันคือเป็นลักษณะแบบนี้ ผู้สัมภาษณ์ : พี่ออกจากธรรมศาสตร์ช่วงไหน ประมาณกี่โมงพอจะจำได้หรือเปล่าครับ คุณทองธัช : ตั้งแต่เช้ามืดนะครับ มันยิงเข้ามาแล้วนะตอนนั้น แล้วก็ต้านกันไม่ไหวผมออกไปเกือบจะเป็นกลุ่มสุดท้าย ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นออกกันไปทางไหน อย่างไรครับ คุณทองธัช : ทางท่าพระจันทร์นั่นแหละครับ มันเลาะรื้อประตู รื้อรั้วตาข่ายลงน้ำแล้วขึ้นไปตรงข้าวข้าวแกงที่เมื่อก่อนยังมีอยู่ ชื่อว่าร้านไอ้จั้ว เมื่อก่อนเราก็กินกันตรงนั้นนะครับ ผู้สัมภาษณ์ : คือลงน้ำจากธรรมศาสตร์แล้วอ้อมหรือครับ คุณทองธัช : ใช่ครับ มันปิดหมดไง โดนล้อม เราก็ต้องลงแม่น้ำเจ้าพระยาจากธรรมศาสตร์นะ และก็มีพวกที่ว่ายน้ำไม่เป็นนะ ผมว่ายน้ำไม่เป็นก็ไต่ๆ ตลิ่งและก็ขึ้นไปบนโป๊ะตรงท่าพระจันทร์ โป๊ะแรกเลยนะ และก็หนีกันไป บางคนเข้าไปอยู่บ้านของชาวบ้านที่เป็นประชาชนแถวนั้นนะครับ เขาเห็นใจเขาก็ให้เข้าไปซ่อน เอากุญแจล็อคไว้และก็เอากุญแจไป เหมือนกับไม่มีคนอยู่คือซ่อนไง แต่ผมเข้าไปซ่อนอยู่ในกุฏิวัดพระมหาธาตุ แต่กุฏิที่ผมไปซ่อนพระนั้นเป็นพวกกิตติพุทโธ มันก็ไปพาตำรวจมาลากคอจับไป ผู้สัมภาษณ์ : หมายถึงพี่ก็โดนจับไปเป็นสามพันคนนั้น หรือเปล่าครับ คุณทองธัช : ใช่ครับ คุณรู้หรือเปล่า ผมนอนพังพาบอยู่กับใครบนถนนท่าพระจันทร์ สมศักดิ์ เจียมธีระสกุล มันยังร้องไห้เลย ยังเด็กๆ กันอยู่ ผู้สัมภาษณ์ : มิน่าคุ้นๆ ครับ อยู่ในกุฏิเดียวกันใช่มั้ยครับพี่ คุณทองธัช : ครับ ไม่รู้ไงว่ากุฏิเดียวกัน แต่โตมันร้องไห้ คงสะเทือนใจ เพราะว่ามันเป็นเด็กไง โตกับธงชัยมันมาหลังแล้วนะ ธงชัยมันเป็นนายก อมธ. โตมันยังร้องไห้ ผมก็บอกว่าร้องไห้ทำไมโต อายเขาไม่ต้องร้องไห้ โตมันก็อึกอึกอึกอยู่นั่นนะ โตมันเด็กกว่าผมนะ ติดคุกก็อยู่คุกเดียวกันอีก ตั้งแต่ออกมาผมไม่เคยเจอกันเลย แต่พอไปอ่านฟ้าเดียวกัน ผมก็เออโตยังใช้ได้มันไม่เสียแรงนะ ไม่เหมือนกับพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ ผมก็เคยประชุมกับพวกมัน ผมก็ไม่รู้ว่ามันหนีไปไหนโผล่มาอีกทีเป็นขายเม็มเบอร์สนามกอล์ฟนะ ผมรับไม่ได้ครับ นี่ก็คือผมสัมพันธ์กับพวกนี้หมดเลยนะ ผมรู้จักเกือบทุกคนแหละ เพราะว่าผมเป็นแกนนำไงครับ ผมก็ทำพวกนี้นะติดต่อประสานงาน ผู้สัมภาษณ์ : หลังจากที่โดนจับเขาพาไปที่ไหนอย่างไร พอจะจำได้มั้ยครับ นั่งรถไปกับใครบ้างครับ คุณทองธัช : ผมจำไม่ได้หรอกครับ แต่จำได้ว่ามันมีตำรวจปราบจลาจล มันใส่หมวกสีทองนะครับ มันเอาไปหมดเลยนะใครพกสร้อย นาฬิกา กระเป๋าตังค์มันยึดไปหมดเลยนะ มันบอกว่าอันนี้จะพกทำไม คือปล้นนะครับ แต่ผมไม่มีอะไร ไม่มีสร้อย แหวน นาฬิกาอะไรเลย แต่พวกเด็กธรรมศาสตร์มันฐานะรวย พวกเด็กอาชีวะมันไม่มีอะไรหรอก อย่างผมนี่เป็นเด็กอาร์ตนะไม่มีสมบัติอะไร มันต้อนมาต้อนมา ผมก็เดินและมาหยุดยืนกางมืออยู่หน้าศิลปากรนะ ก็พอดีมีเด็กศิลปากรที่เป็นรุ่นน้องผม ตอนนี้มันเป็นอาจารย์ศิลปากร เด็กศิลปากรมันกินนี่นอนนี่ มันก็โผล่หน้ามาตอนผมโดนจับอยู่ตรงป้ายศิลปากรเลย แล้วพวกเด็กรุ่นน้องมันรู้จักผมใช่มั้ยครับ แต่มันก็ช่วยอะไรไม่ได้ ผมก็ถูกต้อนขึ้นรถเมล์ ตอนอยู่บนรถเมล์นี่คนที่ซวยที่สุดคือพวกที่นั่งริมสุด โดนพวกกระทิงแดง ประชาชนหรือว่าพวกลูกเสือชาวบ้านที่กำลังคลั่งเอาหินเขวี้ยงมา เอาไม้ตีบ้าง เอาหมัดชกอะไรอย่างนี้ และเอาไปขังที่บางเขน ตอนลงนะมันเกณฑ์พวกลูกหลานตำรวจในนั้นเตะเรา ซ้อมเตะเรียงแถวเลยตอนเดินขึ้นตึกนะ ผมไปวันแรกห้องนี่เล็กมาก มีห้องส้วมไม่มีที่กั้น เรานั่งได้อย่างเดียว นอนก็ไม่ได้ นั่งนี่ก็ต้องนั่งท่าไหนท่านั้น คนมีประมาณสองร้อยคนนะ โตเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในนั้นนะครับ ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นบางเขนนี่เรือนจำคลองเปรมหรือเปล่าครับ คุณทองธัช : ไม่ใช่ครับ เขาเรียกว่าเรือนจำพิเศษโรงเรียนพลตำรวจบางเขน ตอนนั้นมันเปลี่ยว ไม่ใช่อย่างนี้นะ ไม่ได้คับคั่งอย่างนี้ มันเป็นทุ่งหญ้า ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นที่นั่นก็คือมีแต่ผู้ต้องหาหกตุลาใช่มั้ยครับ ไม่มีผู้ต้องหาทั่วไป คุณทองธัช : ไม่ครับ ข้างบนจะมีผู้ต้องหาหนีเข้าเมือง เป็นคนจีนที่เป็นผู้ต้องหาต่างด้าวนะครับ ที่โดนปลดปล่อยไปครั้งหนึ่ง เป็นอาแป๊ะแต่ตอนนั้นอยู่กันเหมือนบ้านแล้วครับดูทีวีมีกิจกรรมกันอยู่ แล้วก็มีพวกเราที่เป็นชุดๆเข้าไปประมาณ 3-4 ห้อง ผู้สัมภาษณ์ : พี่อยู่ตรงนั้นนานหรือเปล่าครับ คุณทองธัช : ผมอยู่ประมาณเดือนกว่า เพราะผมไม่ได้เป็นนักศึกษาไง เพราะว่าตอนหลังมหาวิทยาลัยแต่ละมหาวิทยาลัยก็มาประกันนักศึกษาของตัวเองออก ปีนั้นผมหมดพอดีครับ ผมก็เลยเป็นประชาชนธรรมดา ผมก็ติดอยู่ในนั้น จนในที่สุดแม่ผมที่จากภาคเหนือ มาประกันตัวผมออกไป ผู้สัมภาษณ์ : ก็คือตอนนั้นนี่เหลือพี่คนเดียวแล้วที่เป็นนักศึกษา หรือครับ คุณทองธัช : ใช่ครับ เพราะพวกโตและก็เพื่อนนักศึกษาก็ประกันตัวออกกันไปหมดแล้ว หลานพลเอกสายหยุด เกิดผลก็ติดคุกห้องเดียวกับผม ชื่ออะไรผมจำไม่ได้แล้ว พ่อเขาเป็นทูตอยู่แถวประเทศบราซิล เขาทำงานอยู่กับ อมธ.นะ แล้วพ่อก็ส่งเงินมาให้ไม่รู้ตั้งกี่แสนให้ซื้อปลาส่งไปบราซิลแต่ดันเอาซุกไว้ในตู้ในตึกกิจกรรม แล้วเงินก็หายไปหมดเลย ตอนหลังตาของมันนะ สายหยุด เกิดผลก็มารับมันออกไป แต่มันไม่ยอมไป มันก็อยู่กับพวกเรา ตำรวจเขาอนุญาตให้ออกคือมันมีสิทธิ์ออกไปได้ แต่มันก็ยอมติดคุกกับพวกเรา สปิริตนะครับ นั่นแหละ ผมไม่เจอมันเลยตั้งแต่ออกจากคุกมา ผู้สัมภาษณ์ : หลังจากที่แม่ของพี่มาประกันตัวแล้ว เป็นอย่างไรต่อบ้างครับพี่ คุณทองธัช : ประกันตัวเสร็จแม่ก็พาผมกลับบ้าน พาญาติโกโหติกามาล้อมผมใหญ่เลยนะ แม่ผมเขาก็ร้องไห้กลัวผมจะหนีเข้าป่า แต่ผมก็รับปาก ไม่เข้าๆ ผู้สัมภาษณ์ : แต่ตอนนั้น นักศึกษาส่วนมากก็เข้าป่ากันหมดแล้ว คุณทองธัช : ก็ทยอยเข้า เพราะจริงๆเราไม่ใช่อยู่ในจัดตั้ง สำหรับผู้ที่จัดตั้งมีอะไรลับๆเขาก็บอกๆกันไปนะ ตอนหลังเพื่อนผมไปกันหมดเหลือผมคนเดียวทำงานอยู่ผมเบลอๆแบบเสียคิด เขาเรียกว่าเสียจริตนะ ทำงานเลิกมาไม่รู้จะไปไหน ยืนอยู่ป้ายรถเมล์เป็นชั่วโมงๆ ไม่รู้จะขึ้นรถไปไหน เพราะทุกทีจะไปขลุกอยู่ที่ธรรมศาสตร์ ผู้สัมภาษณ์ : หลังจากประกัน เรื่องคดีเป็นอย่างไรบ้างครับ คุณทองธัช : ก็ไปขึ้นศาลจนนิรโทษ ไม่มีโทษชำระ ผู้สัมภาษณ์ : นิรโทษวันนั้นใช่มั้ยครับ คุณทองธัช : ไม่ใช่นิรโทษปีนั้นนั่นนะ มันดำเนินคดีซักประมาณเดือนสองเดือนอะไรนี่นะ คือฟ้องศาล แต่มันไปตั้งศาลตรงโรงเรียนพลตำรวจ ไปขึ้นศาลกันตรงนั้นเลย เพื่อนผมบางคนก็ช๊อค มันไม่รู้การเมืองอะไรหรอกแต่เห็นเพื่อนเขาไปก็ไปร่วมด้วย ช๊อคกลายเป็นบ้า แม่เขาต้องจูงไป อย่างนี้นะน่าสงสารคือบางคนที่ถูกจับนี่นะ บางคนไม่ได้มีความคิดทางการเมืองหรอก คือบางคนขี้เหล้าไงนั่งกินเหล้าในบ้านแล้วฟังวิทยุ บอกเพื่อนในธรรมศาสตร์มีชุมนุม มีเพลงฟังด้วย ก็พากันมาตั้งวงกินเหล้านะ อย่างนี้ก็มีเข้าใจมั้ย เลยพลอยถูกจับด้วย มันไม่ได้รู้เรื่องอะไรกับเขาหรอก ตอนติดคุกมันก็บอกนะอย่าไปยุ่งกับมัน มันบอกว่าผมนะแดง มันไม่ได้แดงด้วยไง มันก็บอกว่าขอร้องละ ไม่ต้องมาคุยกับมันเลย ทำเป็นว่าไม่รู้จักกัน อะไรอย่างนี้เลยนะเป็นอย่างนี้เลย เห็นเยอะ แต่ชาติไม่ได้โดนจับนะ ชาติมันกลับก่อน ผู้สัมภาษณ์ : หลังจากเหตุการณ์หกตุลา พี่ได้รับการประกันตัวมา หลังจากนั้นพี่ก็มาทำงานเกี่ยวกับศิลปะอะไรประมาณนี้อยู่ ใช่มั้ยครับ คุณทองธัช : ใช่ครับ ทำงานอาร์ตอยู่และก็เข้าจัดตั้ง เคลื่อนไหวในเมือง เข้าเลยครับตอนนั้นมีสายจัดตั้งมีอะไรหมด มีการศึกษาทำอะไรหลายๆอย่าง เคลื่อนไหวแล้วนะตอนนั้น เคลื่อนไหวในนามพรรคเลย เพียงแต่ยังไม่ได้เข้าป่าเท่านั้นเอง ผู้สัมภาษณ์ : พี่พอจะเล่าอะไรได้บ้างเกี่ยวกับการทำงานในเมือง คุณทองธัช : ก็ไม่ได้มีอะไรมากนะผมว่า จริงๆแล้วแค่รวมกลุ่มศึกษาทฤษฎีแล้วไปในเชิงของการถกเถียงกันมากกว่า ในกลุ่มของผมนะมีนักเขียน นักแปลอยู่หลายคนที่มีชื่ออยู่ ทุกวันนี้ก็ยังมีชื่ออยู่ ถ้าเอ่ยชื่อไปก็คือรู้จักกันหมด บางคนเดี๋ยวนี้ก็กลายเป็นเสนาเหลืองไปแล้ว ก็ธรรมดา ตอนนั้นเราทำจนกระทั่งป่าแตกก็ยกเลิกกันไป แต่ผมถือว่าผมเป็นแค่เสรีนิยมเองไม่ใช่อะไรหรอก ผมก็แนวนี้มาตลอด คือผมเปลี่ยนไฟล์ไม่ได้แล้ว ถ้าพูดกันจริงๆนะ ผมก็เลยไม่มีอาชีพอื่นเลย นอกจากอาชีพทำหนังสือพิมพ์ทำอะไรพวกนี้นะ ออกแบบปกอะไรอย่างนี้แหละ วรรณกรรม ปกฝ่ายซ้าย พอรุ่นน้องมามันก็ใช่มั้ย ไม่ใช่เรื่องอะไรเลย เป็นแนวก้าวหน้า ผมตั้งโรงพิมพ์ พวก อมธ.รุ่นหลังๆก็มาพิมพ์งานที่ผม ผมก็เก็บเงินบ้างไม่เก็บบ้าง ช่วยทำใบปลิว จนโรงพิมพ์เจ๊งนะ ผู้สัมภาษณ์ : โรงพิมพ์ชื่ออะไรครับ คุณทองธัช : ชื่อพิมพ์วาด ภาพพิมพ์นี่ผมมีส่วนนะ จ๊อบนะพ่อเขาเป็นเพื่อนผมครับ โลโก้โรงพิมพ์ผมก็เป็นคนออกแบบ ผมเจอวันก่อน ผมเห็นเขามาตั้งแต่เด็กๆนะ พ่อเขานะผมเจอกันทีไรต้องถกเถียงทะเลาะกันทุกที ผมบอกลูกคุณนะดีแล้วดีกว่ามันไปเล่นเบรนด์เนม มันฉลาด พ่อเขายังเป็นประชาธิปปัตย์เหนียวแน่น พ่อมันบอกว่าทำหนังสืออ่านยาก จะขายได้หรอ ผมก็ไม่เข้าใจนะยังทะเลาะกันเรื่องแบบนี้อยู่ พ่อจ๊อบนี่เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับพิศิษฐ์ ลี้อาธรรม์ไง เรียนสวนกุหลาบมาด้วยกันครับ ผมก็อยู่อย่างนี้แหละทำโรงพิมพ์ก็เจ๊ง ช่วยทำหนังสือฝ่ายนี้ องค์กรนิสิตนักศึกษาธรรมศาสตร์ผมรู้จักเกือบทุกรุ่นนะ เด็กๆรุ่นหลังมาพิมพ์ติดเงินบ้าง ไม่จ่ายเงินบ้างจนเจ๊ง ใช่มั้ยคือเราไม่มีอย่างอื่นไง เหมือนที่โชติพูดวันนั้นนะ อย่าไปคิดว่าผมไม่รู้อะไร ผมรู้หมดแหละ ผมเป็นมาก่อนที่คุณจะเลี้ยวอีก บอกเลยคือถ้าเป็นนี่มันจะแรง เราต้องดูว่าอะไรเป็นอะไร แต่ตอนนี้ก็คงเอาเหมาะสมตามท้องเรื่อง ยุคนี้นะมันต้องดู แต่ว่าไปดูได้เลยอาชีพผมไม่เคยเปลี่ยน ผมไม่เคยเป็นอย่างอื่นเลย เพื่อนบางคนตอนธุรกิจที่ดินรุ่งๆมันก็ไปขายที่ดินบ้าง ฝ่ายซ้ายนะ ผมไม่เคยทำอะไรเลยทำอย่างนี้อย่างเดียวไม่ไปไหน เมื่อก่อนตอนผมทำการเมืองก็ไม่ได้เข้าอะไรนะ กับแนวร่วมบ้าง นิดๆหน่อยๆ พวกเพื่อนที่ทำมูลนิธิปรีดีมันเป็นทางการแล้วนะ มันเป็นรูปแบบ เป็นข้อมูลเป็นรายการแบบนั้นนะ ผมก็ไม่ค่อยไปอะไรกันเท่าไหร่ก็แล้วแต่ ไปร่วมกันเป็นบางครั้งบางคราว เมื่อก่อนผมทำเสื้อยืดออกแบบเป็น 50-60 แบบนะ ตั้งแต่สมัยชวน ผมก็พิมพ์หนังสือออกมากับพรรคพวก ออกมาขายอะไรบ้าง ผมว่าในเมืองไทยนี่นะผมออกแบบเสื้อยืดทางการเมืองมากที่สุด มากกว่าวสันต์และใครต่อใคร ผมทำด้วยตัวผมเองในเรื่องขายนี่เสื้อนายผี เสื้อคาราวานเมื่อก่อนผมทำทั้งนั้นนะครับ คือทำแบบตัวของเราเราชอบของเรา ไม่จำเป็นต้องมีองค์กรต้องมีอะไร เวลาเคลื่อนไหวทางการเมืองทุกครั้งเราก็ดุเดือดทุกครั้งนะครับ เราก็มองเห็น คือมันเปลี่ยนไม่ได้แล้ว มันเข้าไปอยู่ในสายเลือดแล้ว ผู้สัมภาษณ์ : ตอนในยุคนั้นพี่คิดว่าหนังสืออะไรที่มันสมบูรณ์ที่สุดค่ะ คุณทองธัช : ผมไม่เชื่อเรื่องสมบูรณ์นะ ผมปฏิเสธเรื่องความสมบูรณ์ ผมไม่เชื่อเรื่องอภิปรัชญาเลย เวลาผมอ่านหนังสือผมอ่านเป็นเรื่องๆไป ผสมนิดผสมหน่อย แต่บางอันนี่มันเป็นที่ดี คือจริงๆความรู้ใหม่มันก็ของเก่าที่สะสมมานานนะครับ ผมเริ่มอ่านก็ของพี่วิทยากร เชียงกูล นะครับ เล่มฉันจึงมาหาความหมาย ปกขาวรักษาไว้ยิ่งกว่าอะไรอีกครับ เพื่อนยืมก็ไม่ให้ยืม เพื่อนยืมไปทำเปื้อนก็ว่ามัน รักมัน หนุ่มหน่ายคัมภีร์ ของพี่สุจิต วงษ์เทศอย่างนี้นะ เพราะฉะนั้นทุกวันนี้ผมเข้าร่วมงานกับพี่วิทยากรไม่ได้เลย ผมรับไม่ได้ครับ คือ นอกจากว่าตัวเองมาลืมแล้ว ตอนหลังยังกลายมาเป็นปฏิกิริยาไปอีก ยิ่งแก่ยิ่งเลอะเทอะ อย่างพวกพี่เนาว์นี่นะครับ ผมรับไม่ได้ ผมก็บอกว่าบอกไปเลยว่ามีสังฆกรรมนี่ผมไม่ร่วมกับพวกนี้ด้วยเด็ดขาด เพราะผมถือว่าเป็นพวกโมฆะบุรุษนะ เมื่อก่อนหนังสือเขามีอิทธิพลนะครับ บางคนไม่เรียนหนังสือเลยนะไม่เอาปริญญานะ หนังสือฉันจึงมาหาความหมายครับ ตอนหลังแกมีใบปริญญาทั้งสามใบนะ แกทำได้อย่างไร คนไทยเป็นอย่างนี้ ฝรั่งถึงดูถูกเอา เราไม่เคยมีความเป็นปัจเจกยืนหยัดในเรื่องที่เรามีเลย ตอนผมเรียกร้องปริญญาตรีผมประกาศเลยว่าจะไม่เรียนปริญญาตรีที่นี่ พวกอาจารย์และก็เพื่อนผมทั้งหลายที่ด่าผมนะ ตอนนี้เรียนปริญญาตรีที่นั่นหมดแหละ คือเรียนปริญญาตรีเพื่อปรับวุฒิ ผมไม่เคยเรียนและทุกวันนี้ผมไม่เรียนเลยปริญญาตรี เพราะผมไม่เคยเอาปริญญาตรีไปทำมาหากินเลย อาศัยความสามารถอย่างเดียว ผมว่าคนไทยมันห่วยตรงนี้นะ ไม่มีอหังการไม่มีความเป็นอินดิวิดวล ยังด้อยพัฒนา ผมรับไม่ได้คนหลายๆคน จะพูดไปมีศาสตราจารย์ตั้งหลายคน พวกปรัชญาทั้งหลาย แม้กระทั่งอย่างพี่อนุชนะ ผมรับไม่ได้นะ คนอย่างพี่อนุชนะป่าแตกต้องคว้านท้องตาย ทำอย่างนี้ไม่ได้เขียนชีวทัศน์เยาวชนนี่ เด็กๆคือเข้าร่วม ยอมตายยอมอะไรกัน แล้วแกกลับออกมาไปอยู่กับใคร ไปอยู่กับเต็กเฮงหยู ไปกินเงินเดือนแพงๆ แล้วตอนนี้กลับมาเขียนอภิปรัชญาจักรวาลพระเจ้า จะเขียนทำไมครับ ผมไม่นับถือนะ เพราะผมถือว่าคุณรอดชีวิตมาได้แล้วทำอย่างนี้ ผมนับถือนายผีนะ นายผีนี่ยอมตาย มันต้องอย่างนี้คุณต้องรับผิดชอบต่อชีวิตคนที่มีอิทธิพล คุณทำอย่างนี้ได้อย่างไร ผมไม่รักผมไม่เคยอ่านเลย สุวินัยนี่ตอนแรกผมออกแบบหน้าปกให้เขานะ แต่ตอนหลังนี่ผมรับไม่ได้ จริงบางคนที่นับถือกันเป็นพี่เป็นน้องก็เลิกนับถือเลิกยกมือไหว้ ไม่ร่วมสังฆกรรม มูลนิธิเด็กชวนผมไปเข้าร่วมผมก็ไม่ไปนะครับตราบใดที่พิภพ ธงชัยยังอยู่นี่ผมก็ไม่ไปนะ มันชัดเจนคือไม่ได้หรอก ผมรังเกียจ ผมว่าไม่ตายนี่บุญเท่าไหร่แล้วแต่เพื่อนผมที่ไม่รอดตายนี่ตั้งเยอะ เพื่อนผมโดนจับไว้ท้ายรถนะแล้วเลือดมันไหลผ่านร่องก้นนะ ศพนะ คุณลืมเรื่องนี่ได้อย่างไร มันเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานเอง ถ้าไปดูจิ๊กซอร์จริงๆนะคุณน่าจะรู้ว่ามันเกิดขึ้นจากอะไร มันมีที่มาที่ไป ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ผู้สัมภาษณ์ : อยากให้พี่ให้ประโยคที่จะสื่อถึงความรู้สึกและอธิบายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คุณทองธัช : เหตุการณ์นองเลือดที่เกี่ยวกับการเมืองในประเทศไทยนะ ผมพูดได้เลยว่า ผู้ร้ายตัวจริงยังอยู่ ผมพูดได้แค่นั้นนะ จอมบงการ ผู้ร้ายตัวจริงยังอยู่ แผนดินมันเป็นอาสัตย์อาธรรม มันถึงเดือดร้อนไม่สิ้นสุด ประชานโดนต้มตลอดมา จบการสัมภาษณ์ |