Hollister France

Hollister France

Hollister France

Hollister France

Hollister France

Hollister

Hollister

Hollister

Hollister

Hollister

Hollister

Hollister

Woolrich Outlet

Woolrich

hogan

hogan

hogan

Hogan Sito Ufficiale Hogan Scarpe Hogan Outlet Hogan Scarpe Hogan Hogan Scarpe Hogan Interactive Hogan Donna Scarpe 2013 Hogan Scarpe Outlet Hogan Vendita Hogan Hogan Scarpe 2013 Hogan Scarpe Hogan Scarpe Hogan Hogan Outlet Hogan Scarpe Outlet Hogan Scarpe Donna Hogan Scarpe Hogan Outlet Scarpe Hogan Hogan Sito Ufficiale Scarpe Hogan2013 Hogan Hogan Scarpe Donna Hogan Scarpe Donna Hogan Interactive Hogan 2013 Hogan Online Hogan Italia Hogan Scarpe
woolrich ASK Hollister Hollister abercrombie abercrombie abercrombie abercrombie woolrich parka Hollister Holliter France Hollister Hollister France Magasin Vetement Hollister Hollister Soldes Hollister Pas Cher Pas Cher Hollister Hollister Vente Hollister En ligne Hollister 2013 Hollister France Hollister France 2013 Hollister Hollister Hollister Magasin Hollister Vente Hollister Homme Hollister Pas Cher Hollister T Shirts Hollister Paris Boutique Hollister Vetements Boutique Hollister Pas Cher Pas Cher Hollister Hollister Hommes Hollister France Vente Hollister Hollister sortie 2013 Pas Cher Hollister Hollister Pas Cher
บทสัมภาษณ์ - วโรดม ปรีชาวนิช
วันที่ 19 พฤษภาคม 2552 เวลา 13.13 น.
สถานที่
สำนักงาน ปปส. บริเวณภาค 1
ผู้สัมภาษณ์ : เทวฤทธิ์ มณีฉาย , วาสิฏฐี บุญรัศมี , เบญจา พิพัฒน์วัชรนนท์
ตามโครงการของมูลนิธิ 14 ตุลา ในการรวบรวมปากคำของคนที่อยู่ในเหตุการณ์ เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลเพื่อการศึกษาต่อไป


ผู้สัมภาษณ์ : สอบถามเรื่องภูมิหลังของพี่ครับ คือครอบครัวของพี่มีทั้งหมดกี่คนครับ
คุณวโรดม : ครอบครัวตอนนั้นหรือตอนนี้

ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นครับ
คุณวโรดม : ตอนนั้นครอบครัวใหญ่ มีอยู่ประมาณซักสิบกว่าคน

ผู้สัมภาษณ์ : มีพี่น้องกี่คนครับ
คุณวโรดม : มีพี่น้องรวมทั้งผมด้วย 6 คน

ผู้สัมภาษณ์ : ขอโทษครับพี่เกิดปีไหนครับ
คุณวโรดม : 28 กันยายน 2492

ผู้สัมภาษณ์ : พี่เป็นคนกรุงเทพฯเลย..
คุณวโรดม : กรุงเทพฯครับ

ผู้สัมภาษณ์ : อยู่แถวไหนครับ
คุณวโรดม : ตอนนั้นอยู่สวนพลู แต่ตอนเกิดเหตุนั้นมาอยู่บางนาแล้ว บ้านอาจารย์คึกฤทธิ์ (ปราโมช) ติดกัน เพื่อนบ้านกัน

ผู้สัมภาษณ์ : ครอบครัวพี่ประกอบอาชีพอะไรครับ
คุณวโรดม : คุณพ่อเป็นสถาปนิก คุณแม่เป็นครู

ผู้สัมภาษณ์ : ก็ถือว่ามีฐานะทางการเงิน
คุณวโรดม : ปานกลางครับ

ผู้สัมภาษณ์ : การศึกษาล่ะครับ พี่เริ่มศึกษาระดับประถมที่ไหน เริ่มต้นศึกษาเลยครับ
คุณวโรดม : ที่โรงเรียนศรีอักษร เดี๋ยวนี้เขายุบไปแล้ว แล้วก็ไปต่อมัธยมที่โรงเรียนแม่พระฟาติมา ตรงดินแดง

ผู้สัมภาษณ์ : แล้วก็เข้ามหาวิทยาลัย
คุณวโรดม : เข้าเรียนที่วิทยาลัยครูจันทรเกษม แล้วก็มาจบปริญญาตรีที่ปทุมวัน มศว.ปทุมวันเดี๋ยวนี้ เมื่อก่อนเป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษา

ผู้สัมภาษณ์ : นี่คือจบ (วุฒิการศึกษา) สูงสุดของพี่หรอครับ
คุณวโรดม : ปริญญาโท ที่นิด้า คณะพัฒนาสังคม เรียนรัฐประศาสนศาสตร์แล้วไม่จบ คือไม่ได้ทำ thesis ตอนหลังก็มาเรียนใหม่

ผู้สัมภาษณ์ : สภาพสังคมการเมืองสมัยนั้น สมัยพี่เด็กๆอ่ะครับ เป็นยังไงบ้าง
คุณวโรดม : เราไม่ได้รู้สึกอะไรนะ เพียงแต่พอเราเริ่มเรียนมหาวิทยาลัยเราก็มีความรู้สึกว่า เอ๊ะ ทำไมทหารปกครองประเทศเรานานเหลือเกิน แล้ววิธีการของเขาก็คือ มันอยู่ในเครือญาติ แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันเลวร้ายเท่าไรนะ ก็รู้สึกเฉยๆ

ผู้สัมภาษณ์ : นอกจากทหารแล้วเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆล่ะครับ ตำรวจ..
คุณวโรดม : ตำรวจนี่ไม่ได้เรื่องเลย (หัวเราะ) ตำรวจนี่น่ารังเกียจยิ่งกว่าทหารนะ (หัวเราะดังขึ้น) ไม่ชอบเลย คือเขาไม่ค่อยมีความเมตตาสักเท่าไร เขาก็คิดว่าเขาใหญ่กว่าเรา อย่างเราทำอะไรผิดนิดๆหน่อยๆ โดยเฉพาะเราเป็นวัยรุ่น บางทีเราก็ดื่มเหล้ามั่ง บางทีเดินๆมาก็เตะเรามั่ง (หัวเราะ) เขกหัวบ้างอะไรบ้าง คือก็ไม่ได้รุนแรงอะไรนะ แต่เราไม่ชอบ การข่มขู่

ผู้สัมภาษณ์ : สภาพการคมนาคมเป็นยังไงบ้างครับ
คุณวโรดม : รถก็สะดวกนะ ไม่ติด

ผู้สัมภาษณ์ : แล้วการสื่อสารล่ะครับ รับข้อมูลข่าวสารจากอะไรมากบ้าง
คุณวโรดม : หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ก็ไม่ค่อยเท่าไร วิทยุนี่จะฟังเยอะ โดยปกติเป็นคนชอบฟังวิทยุ ชอบอ่านหนังสือพิมพ์

ผู้สัมภาษณ์ : มีแฟนคลับวิทยุ..
คุณวโรดม : ไม่มีๆ ก็ฟังเพลงอะไรไปเรื่อย ดูหนัง ฟังเพลง เพลงพวกเอลวิส พวกอะไรสมัยก่อนนั้น

ผู้สัมภาษณ์ : แล้วหนังสือพิมพ์นี่ส่วนใหญ่เป็นของ...
คุณวโรดม : หนังสือพิมพ์ก็จะอ่านสมัยโน้นมันจะเป็นพวก.. (นึกๆ) ไทยรัฐ อะไรอย่างเนี้ย แต่ที่บ้านซื้อหลายฉบับ คุณพ่ออ่านหลายฉบับ พี่อ่าน.. จำไม่ได้ว่าเสียงอ่างทองยังมีอยู่หรือเปล่านะ .. แล้วมันเปลี่ยนเป็นไทยรัฐ ตอนนั้นโตแล้วรู้แล้วว่าเขามีจัดงานเปลี่ยนหนังสือพิมพ์

ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นกำลังเรียน..
คุณวโรดม : เรียนมัธยม มัธยมประมาณซัก... ถ้าเกิดเป็นเดี๋ยวนี้ก็ประมาณซัก ป.6-7

ผู้สัมภาษณ์ : ประมาณ พ.ศ. ...
คุณวโรดม : ประมาณปี ’07 ’08 ‘09

ผู้สัมภาษณ์ : มาสู่ช่วงเกิดเหตุการณ์นี่พี่ทำกิจกรรมอะไรในมหาวิทยาลัย
คุณวโรดม : สมัยก่อนกิจกรรมมันก็ไม่ค่อยมีอะไร คือผมอยู่ในวิทยาลัยครู กิจกรรมก็ไม่ค่อยมีอะไร กิจกรรมของเราก็คืองานกุศล อย่างเช่นฉายหนังตอนเช้า ตอน 6 โมงเช้า มีดนตรีเล่น เก้าโมงเลิกกัน หาเงิน อะไรอย่างนี้ หนังมันฉายสัก 9-10 โมง เราก็เช่าโรงหนังก่อน เด็กวัยรุ่นก็ทำกิจกรรมพวกนี้เยอะสมัยก่อน กิจกรรมการเมืองก็ยังไม่ค่อยมีเท่าไร รู้สึกยังไม่ค่อยรู้เรื่องการเมืองเท่าไร คือรู้ แต่ไม่ได้สนใจ

ผู้สัมภาษณ์ : กลุ่มที่จัดนี้คือเป็นเพื่อนกัน..
คุณวโรดม : เพื่อน เพื่อนข้างนอกบ้าง ต่างวิทยาลัย ต่างโรงเรียนบ้าง

ผู้สัมภาษณ์ : สภาพสังคมก่อนหน้าเกิดเหตุการณ์เป็นอย่างไรครับ
คุณวโรดม : ผมว่าถ้าเปรียบเทียบกับสมัยนี้มันน่าจะเรียบร้อยกว่าสมัยนี้ คือหนึ่ง มันอาจจะคนยังน้อย สอง คนของเรายังเรียนเกี่ยวกับเรื่องศาสนา บาป บุญ คุณ โทษ มากกว่าคนปัจจุบันนี้ ยาเสพติดมันก็ไม่ค่อยมีเท่าไร จะมีก็มี เฮโรอีน มีกัญชา กัญชาเราก็สูบกัน กินเหล้าสูบกัญชา สมัยเป็นนักเรียนก็เฮฮากันไป อย่างหนักที่สุดก็สูบกัญชา สูบบุหรี่ แต่สังคมโดยทั่วไป ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมันค่อนข้างดี ดีกว่าเยอะเลย การเมืองเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ เราไม่ค่อยรู้เท่าไร ถ้าไม่พอใจก็เขียนโปสเตอร์ด่า กระแนะกระแหนกันบ้าง เล่นละครกัน

ผู้สัมภาษณ์ : โปสเตอร์คือพี่ได้ไปทำบ้างหรือเปล่าครับ
คุณวโรดม : ผมไม่ค่อยได้ทำ แต่ก็อยู่ในกลุ่มเขา ไปช่วยเขาทำนู่นทำนี่

ผู้สัมภาษณ์ : โปสเตอร์ล้อเลียนการเมือง
คุณวโรดม : เล็กๆน้อยในมหาวิทยาลัย อาจารย์เขาก็มาปลดบ้าง (หัวเราะ)

ผู้สัมภาษณ์ : คนที่โดนล้อเลียนคือใครครับ
คุณวโรดม : พวกนักการเมือง พวกรัฐมนตรี หรือนายกฯโดนมากกว่า สฤษดิ์ (ธนะรัชต์) ก็โดนแต่ก็ไม่เท่าไร หรือ ถนอม (กิตติขจร) ก็โดนแต่ก็ไม่ได้รุนแรงเหมือนสมัยนี้ ก็เป็นคำพูดเหน็บแนม

ผู้สัมภาษณ์ : แล้วช่วง 14 ตุลา พี่เข้าไปร่วมวันไหน อะไรยังไง..
คุณวโรดม : ตั้งแต่เริ่มแรกเลยในธรรมศาสตร์ คือหลังจากที่มีการจับกุม 13-14 ผู้นำ ก็เลยมีการบอกกันต่อๆ ก็รู้กัน .. สมัยก่อนเพื่อนบอก ก็ไปอยู่ตอนกลางคืน ตั้งแต่วันแรกที่ลานโพธิ์ ธรรมศาสตร์

ผู้สัมภาษณ์ : รู้จากเพื่อนบอกต่อ เขาบอกอะไรมา
คุณวโรดม : ทหารจับกุมนักศึกษา รัฐบาลจับกุมนักศึกษาไปขัง เราไปแจกใบปลิวกัน เราไม่ชอบใจ ไปจับมันไม่ถูกต้อง ทุกคนก็ไปกัน เหตุการณ์ต่างๆจะมาจากการเล่าสู่กันฟัง กับฟังข้อมูลจากบนเวที

ผู้สัมภาษณ์ : พอพี่ทราบว่าถูกจับกุม พี่ก็เลยไปเลย
คุณวโรดม : ก็ไปกัน ชักชวนไปกัน ทั้งหมดเลย ในมหาวิทยาลัยก็ไปกัน ไปเจอกัน คนนู้นก็ไป คนนี้ก็ไป

ผู้สัมภาษณ์ : ช่วงที่พี่เข้าไปมันมีเหตุการณ์อะไรบ้าง ลองไล่..
คุณวโรดม : ก็มีการปราศรัยกัน มีการเล่นละครกันบนเวที ปราศรัยโจมตีผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมา ก็มีกิจกรรมแค่นี้ ไม่ได้มีกิจกรรมอะไรมากมาย ก็อาจมีอาสาสมัครมาช่วยดูแล

ผู้สัมภาษณ์ : นอกจากที่ธรรมศาสตร์แล้ววันถัดมาพี่ไปไหนครับ
คุณวโรดม : ก็อยู่ตรงนี้แหละ หรือก็ออกมาอยู่ถนนราชดำเนินกัน

ผู้สัมภาษณ์ : ค้างคืนที่นั่นเลยหรอคะ
คุณวโรดม : ก็ค้างคืนก็มี กลับกันก็มี ส่วนมากเราก็จะค้างคืนกัน

ผู้สัมภาษณ์ : ค้างยังไงล่ะครับ
คุณวโรดม : เราก็นอนกันอยู่อย่างนั้น ที่ลานโพธิ์ หรือในมหาวิทยาลัยตรงไหนก็นอน ตามตึกบ้าง ใต้ตึกบ้าง แต่ส่วนมากจะไม่ค่อยหลับกัน ก็สนุกกันทั้งคืน ก็ร้องรำทำเพลงกันบ้าง

ผู้สัมภาษณ์ : เยอะไหมครับ เมื่อเทียบกันคนที่อยู่กับคนที่กลับล่ะครับ
คุณวโรดม : ส่วนมากคนก็จะผลัดเปลี่ยนกันมา ปริมาณก็ไม่ลดลงเท่าไร

ผู้สัมภาษณ์ : ส่วนใหญ่ที่รู้ก็เป็นนักศึกษา
คุณวโรดม : นักศึกษาทั้งนั้น ชาวบ้านยังไม่ค่อยเท่าไร ตอนนั้นนักศึกษาอย่างเดียว นักศึกษาเต็มไปหมด ทั้งผู้หญิง ทั้งผู้ชาย นักศึกษาธรรมศาสตร์เขาก็นอนในห้องเรียนบ้าง เราก็นอนตามตึกบ้าง

ผู้สัมภาษณ์ : มหาวิทยาลัยพี่ได้มีส่งตัวแทนมาเป็นแกนนำบ้างไหมครับ
คุณวโรดม : ตอนนั้นไม่มี ตอนนั้นก็นำโดยกลุ่มของมหาวิทยาลัย ศนท.

ผู้สัมภาษณ์ : แล้วหลังจากนั้นล่ะครับ นอกจากบริเวณธรรมศาสตร์แล้วพี่ได้ไปที่ไหนหรือเปล่า
คุณวโรดม : ก็ไปนะ ก็อยู่ข้างนอก ไปผ่านฟ้า อะไรอยู่แถวนี้ เดินขบวน

ผู้สัมภาษณ์ : วันที่ 13 หรือเปล่าคะ ที่เดินขบวนออกมา
คุณวโรดม : ช่วงที่คนแรกตายน่ะ จิระ (บุญมาก) ตายคนแรก ตอนนั้นอยู่กันหน้ากรมประชาสัมพันธ์ อยู่ใกล้ๆกันเลย เขาถือธง รู้สึกเขาจะเข้าไปพูดกับทหาร หรือไปเจรจาอะไรกับทหาร แล้วก็ถูกยิง

ผู้สัมภาษณ์ : เอาส้มไปให้ทหาร นี่เป็นปากคำที่ได้มาทีหลัง
คุณวโรดม : เอาส้มไปให้ทหารใช่ไหม ไม่รู้เหมือนกัน แต่รู้ว่าเขาถือธงเข้าไป แล้วเข้าไปคล้ายๆกับเจรจากับทหาร

ผู้สัมภาษณ์ : พี่เห็นเลยหรือเปล่าครับ
คุณวโรดม : ตอนยิงไม่เห็น แต่พอได้ยินเสียงก็เข้าไปช่วยกัน วงก็แตก คนก็ฮือกัน

ผู้สัมภาษณ์ : หลังจากนั้นเป็นอย่างไรบ้างครับ
คุณวโรดม : เราก็อยู่กันบนถนนนะ ก็มีการต่อต้านกัน คล้ายๆกับเหตุการณ์มันวุ่นวายนะ ตอนเช้า รู้สึกว่าวันที่ 13 ก็มีเฮลิคอปเตอร์บินมานะ ตอนนั้นอยู่ที่สนามหลวง จะมีเฮลิคอปเตอร์บินอยู่ หลังจากนั้นที่บอกว่ายิงกันเราก็ไม่เห็นว่าเขายิง เหมือนเขาบินตรวจการณ์ มาตอนเย็นจีระถูกยิงก็อยู่

ผู้สัมภาษณ์ : ตอนเย็นของวันนั้นใช่ไหมครับ
คุณวโรดม : ตอนช่วงเช้า ประมาณ 8 โมงเช้าตอนนั้นก็ไม่ได้คิดอะไร
ผู้สัมภาษณ์ : เฮลิคอปเตอร์มากี่โมงครับ
คุณวโรดม : ประมาณสักแปดโมง

ผู้สัมภาษณ์ : คนบริเวณสนามหลวงเยอะไหมครับ
คุณวโรดม : คนที่สนามหลวงไม่เยอะ แต่คนทยอยเข้ามหาวิทยาลัยเยอะ กำลังทยอยเข้ามหาวิทยาลัยกัน ตอนนั้นยังไม่ออกมา พอตอนสายถึงจะออกมา

ผู้สัมภาษณ์ : ตอนที่จีระโดนยิงคนบริเวณนั้นเยอะไหมครับ หลักหมื่นได้ไหมครับ
คุณวโรดม : เยอะครับ เราเริ่มเดินขบวนแล้ว คนออกมากันเยอะเลย คนทยอยออกมาเรื่อยๆ

ผู้สัมภาษณ์ : แล้วหลังจาก จิระ ถูกยิง คนมีทยอยกลับกันบ้างไหม
คุณวโรดม : ไม่มีครับ ไม่มี มันก็หนีกันแล้วก็เข้ามาใหม่ลักษณะอย่างนั้น พอทหารเขายิงก็หลบวิ่งหนีกัน หลบตามซอกมุม พอเขาหยุดยิงเราก็ออกไปใหม่

ผู้สัมภาษณ์ : ทหารมาเยอะไหมครับ
คุณวโรดม : ก็เยอะเหมือนกัน แต่มันก็กระจายอยู่ตามที่ต่างๆ แต่มันก็ไม่ได้เยอะมาก ก็น่าจะสักเป็นร้อย

ผู้สัมภาษณ์ : คือถือ m16 มาเลย
คุณวโรดม : เออ ปืนยาว

ผู้สัมภาษณ์ :  ไม่มีแบบเอาแก๊สน้ำตา มีอะไรไหมครับ
คุณวโรดม : สมัยก่อนไม่มีแก๊สน้ำตา ไม่มีครับ (หัวเราะ) ก็เริ่มเผา เขายิงก็เผา ยึดรถ เผารถ ตอนนั้นรู้สึกมันสนุกกันมากกว่า ยึดรถเมล์ก็นั่งกันเต็มก็เฮๆ ขับรถโบกธงกัน

ผู้สัมภาษณ์ : วันที่จีระถูกยิง
คุณวโรดม : เริ่มจากจีระมาก่อน มันก็เริ่มมีเรื่องกันปะทะกัน ตอนกลางคืนก็ปะทะกันอีกที ตรงสวนจิตฯ แต่ตอนนั้นผมไม่ได้อยู่แล้ว

ผู้สัมภาษณ์ : หลังจากนั้นพี่ไปไหนต่อครับ
คุณวโรดม : ก็กลับมาบ้าน มาเปลี่ยนเสื้อผ้า

ผู้สัมภาษณ์ : กลับมาบ้านวันที่ 13 ตอนเย็นหรอคะ / วันที่จีระถูกยิงหรอครับ
คุณวโรดม : ครับๆ ครับๆ

ผู้สัมภาษณ์ : หลังจากนั้นก็ไม่ได้เข้าไปที่ชุมนุมใช่ไหมครับ
คุณวโรดม : ก็เข้าไป ก็วนเวียนกันอยู่นั่นแหละ เขายิงทีก็หนีที จนมาถึงน่าจะเป็นสักวันที่ 15 นะ ก็เลิกกัน ทุกคนกลับกันหมด รู้สึกจะวันที่ในหลวงมาพูดตอนกลางคืนหรืออะไรเนี่ย แล้ววันรุ่งขึ้นก็ทุกคนหยุดกันหมด แล้ววันนั้นผมกลับบ้านไปอีกทีเขาก็ประกาศแต่งตั้งนายก

ผู้สัมภาษณ์ : เป็นสัญญา ธรรมศักดิ์?
คุณวโรดม : สัญญา ธรรมศักดิ์ใช่ๆ ตอนบ่ายๆรู้สึก เท่าที่รับข่าวฟังวิทยุนะตอนบ่าย เราก็นั่งคุยกันอย่างเนี้ยแล้วก็วิทยุประกาศ

ผู้สัมภาษณ์ : พี่ได้เห็นเหตุการณ์การปะทะกันอะไรระหว่างเดินขบวนบ้างหรือเปล่าคะ นอกจากเรื่องคุณจีระ
คุณวโรดม : เห็นกันอยู่ตลอดแหละ

ผู้สัมภาษณ์ : เกิดอะไรขึ้นบ้างคะ
คุณวโรดม : เขาก็ยิงเอา พอเขากั้นไว้ ถ้าเข้าไปเขาก็ยิงเอา พอยิงผู้คนก็แตกกระจายเป็นหย่อมๆ ตรงนั้นมีเรื่อง ตรงนี้มีเรื่อง ก็มีเรื่องยิงกัน

ผู้สัมภาษณ์ : มีเจอใกล้ๆตัวบ้างหรือเปล่าคะ
คุณวโรดม : เจอใกล้ๆตัวอยู่ตรงโรงแรมรอยัล โรงแรมรัตนโกสินทร์ ก็ที่มีเห็นคาตาก็มีไอ้ประภัทร (ปัญญาชาติรักษ์) (หัวเราะ) มันบ้า เขาหนีกันหมดแล้ว (หัวเราะ) เขาหนีกันแล้วมันบ้าอยู่คนเดียว มันถือไม้แล้วเขาก็ยิงขามัน เขายิงมันตายก็ตายไปแล้ว

ผู้สัมภาษณ์ : ยิงขาแล้วยังไงต่อครับ
คุณวโรดม : มันก็ล้มลงไปกลิ้ง (หัวเราะ) คนก็มาช่วยเอาขึ้นรถไป ถ้าเขายิงก็ตายไปแล้ว

ผู้สัมภาษณ์ : รอดค่ะ ยังอยู่ค่ะ ยังอยู่ (หัวเราะ)
คุณวโรดม : ยังอยู่ เป็นรัฐมนตรีนี่ไง (หัวเราะ)

ผู้สัมภาษณ์ : นี่เป็นภาพที่ติดตาเลย
คุณวโรดม : ใช่ๆ ก็เห็นกันอยู่ ภาพที่มีคนเจ็บก็เห็นกันอยู่เยอะ แต่เราไม่รู้ว่าใครยิง บางทีโดนลูกกระสุนล้มไป ก็เข้าไปช่วยกัน

ผู้สัมภาษณ์ : ส่วนใหญ่พี่ทำหน้าที่อะไร คือเป็นผู้ชุมนุมเฉยๆหรือว่า..
คุณวโรดม : เป็นผู้ชุมนุม ไม่ค่อยได้ไปยุ่งกับเขาเท่าไร ก็คอยช่วยกัน มีอะไรก็ช่วยเขา ช่วยกันเท่าที่จะช่วยกันได้

ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นพี่อายุเท่าไรละครับ
คุณวโรดม : ตอนนั้น 21-22 เรียบจบจันทรเกษมแล้ว จบพอดี ตอนนั้นอายุยังไม่เกิน 23 ช่วงนั้น

ผู้สัมภาษณ์ : แต่ยังทำกิจกรรมอยู่
คุณวโรดม : ก็ทำกิจกรรมอยู่ ยังไปๆมาๆ ยังจบใหม่ๆ

ผู้สัมภาษณ์ : แล้วเหตุการณ์ที่จำติดตามาถึงวันนี้ในช่วงนั้นคือเหตุการณ์อะไรครับ
คุณวโรดม : ก็ไอ้ประภัทรเนี่ย (หัวเราะ-ผู้สัมภาษณ์ก็หัวเราะด้วย) นึกได้อยู่ เห็นหน้ามันมาเล่นการเมืองก็ยังนึกถึง เข้าใจว่ายิงขานะ เพราะมันล้มไป ถ้ายิงหลายนัดมันตาย ลูกกระสุน m16 น่ะ

ผู้สัมภาษณ์ : วันสุดท้ายที่ไปก็คือวันที่เขาเลิกคือวันที่ในหลวงออกมาพูด?
คุณวโรดม : กลับวันที่ 15 คืนที่ในหลวงพูดยังอยู่ ยังไม่กลับ แต่อีกวันก็กลับตอนเช้า เพราะมันจบแล้ว รถเมล์ไม่มีวิ่งแล้วตอนนั้น ก็เดินๆกัน เดินจากสนามหลวงก็เดินกลับบ้านที่บางนา (หัวเราะ)

ผู้สัมภาษณ์ : เดินจากสนามหลวงไปบางนา.. โห.. (หัวเราะ) เดินมาคนเดียวหรอครับ
คุณวโรดม : ก็เดินมากับพรรคพวกเพื่อนๆกันเดินคุยกันมาเรื่อยๆ เจอกันก็คุยกัน

ผู้สัมภาษณ์ : ไม่มีพวกดักตี
คุณวโรดม : สมัยนั้นจบก็จบ เลิกกันเลย ไม่มีพวกไหน รุ่นนั้นกระทิงแดงก็ไม่มี รู้สึกตอนนั้นกระทิงแดงก็อยู่กับพวกเรานี่แหละ อย่างสมศักดิ์ ขวัญมงคล ตอนหลังไปเจอกันอีกทีเมื่อไม่กี่ปีนี้แกขับรถเบ๊นซ์ 500 มีที่ที่ปราจีนฯอยู่หมื่นไร่ มีรีสอร์ทอยู่ที่ชัยภูมิ เดี๋ยวนี้รวยแล้ว

ผู้สัมภาษณ์ : รู้จักกันไหมครับ
คุณวโรดม : มาเจอกันยังทักกัน เขาจำผมไม่ได้หรอก แต่ผมจำเขาได้ ก็คุยกัน พอดีเขามาหาอาจารย์ปรีดา พัฒนถาบุตร เขาเข้ามารู้สึกจะเสนอขายที่มั้ง ประมาณสักหมื่นไร่

ผู้สัมภาษณ์ : แล้วมีภาพเหตุการณ์อะไรอื่นที่จำได้นอกจากประภัทรก้านยาวแล้ว
คุณวโรดม : ที่จำมันก็ไม่มีอะไร มันก็มั่วๆกันอยู่ เราก็สนุกกัน หรือมันอาจจะนานแล้วบางทีเราก็นึกไม่ได้ บางทีเห็นอะไรหลายๆอย่าง

ผู้สัมภาษณ์ : คือเจตนาที่เราไปชุมนุมก็คือเพื่อให้เขาปล่อยตัวคนที่ถูกจับ
คุณวโรดม : จริงๆ เจตนาตอนนั้นมันก็ไม่ได้คิดอะไรกันหรอก ผมคิดว่าคนส่วนมากก็ไม่ได้คิดอะไร คล้ายๆว่าความเป็นพวกไง นักศึกษาถูกรังแกก็เข้าไป จริงๆเรื่องมันไม่ได้ใหญ่โตแต่มันก็ค่อยๆพัฒนาไปเรื่อยๆ คือถ้าวันนั้นเขาไม่จับ 13 คนนั้นก็คงไม่มีปัญหาอะไร ประท้วงกันเดี๋ยวก็เลิกกันไปเอง พอมีเหตุการณ์นี้แล้วมันก็เลยไปกัน

ผู้สัมภาษณ์ : ยกระดับเจตนาไปไล่รัฐบาล
คุณวโรดม : มันเริ่มจากคนตายน่ะ คือประท้วงกันในมหาวิทยาลัยมันก็เรื่องปกติ ปราศรัยด่ากัน มันก็เป็นเรื่องปกติ ถ้าเขาไม่ยุ่งเขาเฉยๆก็จบ พอดีเกิดคนตาย จีระที่ตาย เท่าที่จำได้ว่าเป็นศพแรกที่ตาย ยังนึกภาพอยู่ว่าเขานอนตายมีคนเอาธงชาติมาคลุม





ผู้สัมภาษณ์
: แล้วหลังจาก 14 ตุลา พี่ทำกิจกรรมอะไรอีกไหมครับ
คุณวโรดม : กิจกรรมทางการเมืองหรอ ก็ไม่นะ เรามีความรู้สึกว่าสู้ไปก็.. คือหลังจาก 14 ตุลา นักศึกษาชักจะเป็นใหญ่ อะไรๆก็นักศึกษา คล้ายๆพวกเรามันฮึกเหิมเกินไปแล้วล่ะ มันเริ่มเข้าไปยุ่งบทบาทของผู้ใหญ่เขามากเกินไป แล้วอีกอย่างหนึ่งมันก็มีกิจกรรมหลายๆอย่างหลังจากนั้น อย่างประท้วงสินค้าญี่ปุ่น เราก็ดูแล้วมันก็ดี เวลาประท้วงก็จะใส่เสื้อผ้าดิบ

ผู้สัมภาษณ์ : หลังจากนั้นก็ไม่ได้ยุ่งอะไรเท่าไร คือมองว่าบทบาทนักศึกษาคือมากไปหรือเปล่า
คุณวโรดม : คือมันควรจะยุติได้แล้ว ควรจะหยุดได้แล้ว จริงๆมันต้องหันมาพัฒนามาให้ความรู้กับประชาชน พวกผมมีแนวคิดแบบนี้นะว่าหนึ่งคือเราต้องเข้าไปคุยกับประชาชนแล้ว คือการไปออกค่ายกัน ให้ความรู้ประชาธิปไตยที่ถูกต้อง เหมือนกับว่าเขาต้องทันต่อเหตุการณ์

ผู้สัมภาษณ์ : เหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญอย่าง 6 ตุลา หรือ พฤษภาทมิฬ พี่ได้เข้าร่วมไหมครับ
คุณวโรดม : ไม่ๆ 6 ตุลารับฟังข้อมูลอย่างเดียว

ผู้สัมภาษณ์ : แล้วพี่รับรู้ 6 ตุลาอย่างไรบ้าง
คุณวโรดม :  6 ตุลา รับรู้จากกลุ่มเพื่อนฝูงคุยกัน คือหนึ่งรับรู้จากทางวิทยุ ทางหนังสือพิมพ์ คือทางเราก็รู้สึกว่ามันต้องมีเลศนัยอะไรสักอย่างเกี่ยวกับการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง อย่างสถานีวิทยุยานเกราะ เราก็ฟังยานเกราะกัน เราก็คิดว่ามันหนักหนาขนาดนั้นหรอ ตอนนั้นหนังสือพิมพ์ดาวสยามก็ออกรูปมา คือรูปนั้นคือตอนนั้นที่นักศึกษาเล่นละครล้อเลียนที่พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคถูกแขวนคอ แต่พอภาพออกมาหน้าตากลายเป็นฟ้าชาย ทุกคนก็โกรธกันมากเลย แต่พวกเราจับกลุ่มคุยการเมืองกันเราก็บอกต้องดูให้ดีๆนะ เพราะบางทีเราก็เชื่อเขาไม่ได้ บางทีมันก็แรงไป ตอนหลังก็เป็นที่รู้กันว่าแต่งภาพ ไอ้ตอนนั้นน่ะปลุกระดมแล้ว คือปลุกระดมจากวิทยุยานเกราะซึ่งเราฟังแต่เราก็ไม่เห็นด้วย แต่ถามว่าเราโน้มเอียงไหม เราก็โน้มเอียงเพราะเราฟังข้อมูลฝ่ายเดียว เราไม่มีข้อมูลให้เราคิดด้านอื่น อย่างอินเตอร์เน็ตมันก็ไม่มี แล้วก็จากกระแสการปล่อยข่าวกันออกมาเช่น มีพวกญวนเข้ามา ตอนนั้นเราก็ไม่ชอบญวน เพราะมันมีสงคราม

ผู้สัมภาษณ์ : ทำไมไม่ชอบญวนครับ
คุณวโรดม : เพราะมันมีสงครามเข้ามา มันมีคอมมิวนิสต์ สมัยพวกผมเด็กๆ จะถูกสอนเรื่องคอมมิวนิสต์ ก็มีโปสเตอร์เปรียบเทียบเด็กในสังคมคอมมิวนิสต์กับเด็กในสังคมประชาธิปไตย เด็กในสังคมคอมมิวนิสต์ก็เหมือนพวกเราน่ะใส่เสื้อผ้าสกปรก รองเท้าก็ไม่ค่อยมี ผอมโซ แต่เด็กในสังคมประชาธิปไตยมันก็ดูอ้วนท้วนสมบูรณ์

ผู้สัมภาษณ์ : โปสเตอร์นั้นสมัยไหนครับ
คุณวโรดม : สมัยนั้นจอมพล ป. ยังเรียนประถมหนึ่ง ประถมสอง ยังจำได้กันอยู่ เด็กสังคมคอมมิวนิสต์มันผอมแห้งแรงน้อย นี่มันพวกเรานี่หว่า (หัวเราะ)

ผู้สัมภาษณ์ : ทำให้พี่รู้สึกว่าสังคมนี้มันไม่น่าปรารถนา
คุณวโรดม : มันกลัวกันมาก เราจะกลัวกันมาก กลัวคอมมิวนิสต์ แล้วก็กลัวตำรวจมากด้วย สมัยก่อนเนี่ยมีอยู่วันนึงที่ผมต้องไปหาแม่ แม่เป็นครูที่โรงเรียน วันนั้นก็ใส่เสื้อสีแดงก็กลัวตำรวจจับ

ผู้สัมภาษณ์ : ใส่เสื้อสีแดงยังไม่ได้เลย..
คุณวโรดม : ต้องคอยหลบตำรวจ (หัวเราะ) กลัวตำรวจที่สุดเลย กลัวถูกตำรวจจับ ตอนเด็กๆสัก ป.2 ก่อนหน้านั้นเรื่องคอมมิวนิสต์น่ากลัวมาก ใส่เสื้อสีแดงไม่ได้เพราะเป็นสีคอมมิวนิสต์ กับกลัวซีอุย สมัยผมนั้นมีเรื่องซีอุย มีเรื่องกลัวซีอุยจับ ซีอุยน่ากลัวมากผ่าท้องเด็กเอาไส้มากิน

ผู้สัมภาษณ์ : สมัยผมเรื่องรถตู้จับเด็ก
คุณวโรดม : เขย่าขวัญยิ่งกว่ารถตู้จับเด็ก (หัวเราะ) มันน่ากลัวจริงๆ ผู้ใหญ่ก็บอกออกไปแล้วซีอุยกินตับ ก็กลัว

ผู้สัมภาษณ์ : พี่มีเสื้อแดงไหมครับ
คุณวโรดม : ก็วันนั้นมันสีเสื้ออยู่ตัวเดียว เสื้อแดง กลัวว่าเขาหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ โตขึ้นยังขำ (หัวเราะ) สังคมมันถูกหล่อหลอมแบบนี้ 6 ตุลา เราก็มีความรู้สึกว่ามันมีการปลุกระดม ตอนหลังก็ มันก็เป็นจริงอย่างที่พวกเราคิด...

ผู้สัมภาษณ์ : ตอนแรก พี่คิดไหมว่าจะเกิดเหตุการณ์ตามมา หรือไม่ได้คิดเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น
คุณวโรดม : เราคิดว่าเกิดแน่นอน ตอนนั้นเราก็เริ่มโตกันแล้ว

ผู้สัมภาษณ์ : หมายถึงว่านองเลือดแน่นอนหรอคะ
คุณวโรดม : ไม่คิดถึงว่านองเลือด แต่เราคิดว่าพวกในธรรมศาสตร์ถูกจับแน่นอน เพราะตำรวจล้อมไว้หมดแล้ว แล้วพวกกระทิงแดงมันก็ล้อมอีกที แล้วตอนหลังผมก็มาเจอพวก 6 ตุลา ก็คุยกัน มันก็เล่าให้ฟัง หนีไปอยู่ต่างประเทศก็มี หนีเข้าป่าก็มี

ผู้สัมภาษณ์ : แล้วเหตุการณ์ 6 ตุลา พี่ดูจากสื่อใช่ไหมครับ
คุณวโรดม : ฟังจากวิทยุแล้วก็คุยวิเคราะห์กันในกลุ่ม วิเคราะห์ตามข้อมูลที่เราได้ คือพวกกลุ่มผมจะคุยจะวิเคราะห์เรื่องการเมืองกัน

ผู้สัมภาษณ์ : หนังสือพิมพ์พี่อ่านอะไรคะ
คุณวโรดม : ที่ดังๆก็มี ดาวสยาม ไทยรัฐ เดลินิวส์ มันก็จะลงไปในทางเดียวกันหมด

ผู้สัมภาษณ์ : แล้วการปราบปราม 6 ตุลา รับรู้ไหมครับ
คุณวโรดม : รับรู้ คือขณะนั้นคือผมฟังจากที่เขาเล่า คือไม่ได้ไปเห็นด้วยตัวเอง ดูจากโทรทัศน์ก็เห็นบางส่วน แต่ฟังจากคนที่เล่าให้ฟังก็คือคนที่นำในการเข้าไปปราบนักศึกษา อย่าไปเอ่ยชื่อก็แล้วกัน พล.ต.อ. สล้าง บุนนาค ก็หลอกถามกันไปหลอกถามกันมา แกก็ยังคิดว่าพวกในนั้นเป็นคอมมิวนิสต์อยู่ดี ยังเชื่อว่ามีอุโมงค์อะไรอยู่ดี มีอะไรต่างๆ เหมือนเดิมอยู่ ยังข้อมูลเดิมยังไม่เปลี่ยน มีเรื่องรับเงินจากพวกญวน ที่นื่ ปปส. มีพวก 6 ตุลา เยอะ ก็ถามว่าเป็นไงบ้าง เขาก็บอกไม่เอาแล้วพี่ บางคนมาออกดอกเงินกู้ก็มี  

ผู้สัมภาษณ์ : ภาพรับรู้คือจากหนังสือพิมพ์ใช่ไหมครับ
คุณวโรดม : ใช่ครับ หนังสือพิมพ์กับวิทยุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทยุบางช่วงมันตัดถ่ายทอดไปยานเกราะหมดเลย พันเอกอุทาร สนิทวงศ์ นั่นแหละ ตอนนั้นชาวบ้านชาวช่องเนี่ยเชื่อหมด ลูกเสือชาวบ้าน คนเฒ่าคนแก่ เชื่อหมดว่าคอมมิวนิสต์จะมา

ผู้สัมภาษณ์ : เพื่อนในสมัย 14 ตุลา ที่ไปร่วมในเหตุการณ์ 6 ตุลา มีไหมครับ ที่ยังติดต่อหรือแลกเปลี่ยนกัน
คุณวโรดม : พวก 14 ตุลาที่ไปร่วม 6 ตุลา หรอ ไม่มีนะ ไม่ค่อยจะไปข้องเกี่ยวกัน จะมีแต่พวกแอคทิวิสต์ที่เข้าไปเกี่ยวข้องหรือพวกที่ยังไม่เลิก แต่อย่างพวกเราก็จะถอยไปแล้ว

ผู้สัมภาษณ์ : ก่อนหน้า 6 ตุลา ตำรวจจะมีนักศึกษานั่งไปด้วย
คุณวโรดม : หลัง 6 ตุลา นักศึกษาเสร็จเลย นักศึกษาไม่เหลือหรอก ตอน 14 ตุลา เนี่ย ตำรวจทหารแต่งเครื่องแบบเดินตามถนนไม่ได้ แต่หลัง 6 ตุลา นักศึกษาเดินตามถนนไม่ได้

ผู้สัมภาษณ์ : บทบาททางการเมืองของนักศึกษาก็หมดไปเลย
คุณวโรดม : มันหนีกันหมด ตอนนั้นหนีกันหมด มันเริ่มจากถนอมบวชเข้ามา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐลง แต่ตอนนั้นจริงๆเรามาคิดกันตอนหลังว่าจริงๆแล้วถ้าเผื่อเฉยๆซะมันก็จบนะ จริงๆมันอาจมีการวางแผนเพื่อจะกลับมาสืบทอดอำนาจเหมือนกับตอนพฤษภาทมิฬ

ผู้สัมภาษณ์ : เฉยๆหมายถึงใครเฉยๆครับ
คุณวโรดม : นักศึกษาน่ะ ถ้าเฉยๆมันคงไม่รุนแรงเท่าไร พอดีมันได้จังหวะเขาก็สวมรอยกันพอดี ต้องการจะยึดอำนาจ การเมืองเป็นเรื่องผลประโยชน์ทั้งนั้น.. คนที่อยู่ 14 ตุลา, คนที่อยู่ 6 ตุลา, คนที่อยู่พฤษภาทมิฬ วันนึงเข้าสู่อำนาจก็เปลี่ยนไปหมดแล้ว ไม่เปลี่ยนก็มีแต่มีน้อยมาก

ผู้สัมภาษณ์ : อันนี้คือพี่วิเคราะห์ตอนหลังใช่ไหมครับ
คุณวโรดม : วิเคราะห์ตอนหลัง ตอนที่เข้าร่วมยังไม่ได้คิด ตอนนั้นเราก็คิดว่าประเทศเราต้องเป็นประชาธิปไตย แต่เราไม่รู้หรอกว่าประชาธิปไตยคืออะไร ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ทหารมาปกครองได้ยังไง (หัวเราะ)

ผู้สัมภาษณ์ : คือพี่เข้าใจว่าประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ตอนที่เข้าร่วมเหตุการณ์ 14 ตุลา
คุณวโรดม : ครับๆ ประชาชนต้องเป็นใหญ่สิ ตำรวจมันข่มเหงเรา ตำรวจจะเป็นใหญ่ได้ไง เราก็คิดตามที่เราอ่านหนังสือ เราก็คุยกัน ลัทธินั้น มีมาร์กซ์บ้าง คุยเหมาบ้าง แต่เราก็ไม่หลุดโลกนะ พวกหลุดโลกมันยังมีอยู่ ปัจจุบันนี้มันก็ยังมี

ผู้สัมภาษณ์ : ประชาธิปไตยนี่คือได้จากการคุยกัน การอ่านหนังสือ ในมหาวิทยาลัย..
คุณวโรดม : ในมหาวิทยาลัยมันก็ไม่ค่อยได้สอนเท่าไร

ผู้สัมภาษณ์ : มีการเอาแนวคิดแบบมาร์กซ์ แบบเหมา มาพูดด้วยในวงคุยกันด้วยใช่ไหมครับ
คุณวโรดม : คุยกันมันก็ดีนะ ลัทธินี้มันจะไปแบบนี้ได้แบบนั้นได้ แต่เราคิดแบบเด็ก คือคิดแบบช่องเดียว เราไม่คิดว่ามันจะมีอะไรมาข้างๆ สิ่งที่มันจะมากระทบอีก แต่ตอนหลังเราก็เห็นว่ามันมีชนชั้น คอมมิวนิสต์มันก็มีชนชั้น อย่างในรัสเซียผู้นำก็อยู่ในพระราชวังเครมลินเหมือนกัน ชาวไร่ชาวนาก็ยังอยู่เหมือนเดิม สตาลินน่ะ เหมาเจ๋อตุงอะไรพวกนี้ก็อยู่ในคฤหาสน์อย่างดี พวกชาวไร่ชาวนาก็อยู่เหมือนเดิม มันไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ผมดูการเมืองมาตั้งแต่ก่อน 14 ตุลา มาจนถึงปัจจุบันนี้ ไม่เปลี่ยนเลย.. ไม่มีใครนึกถึงประชาชนอย่างที่เรานึกถึงกัน

ผู้สัมภาษณ์ : ที่พี่ศึกษาพวกมาร์กซ์นี่ช่วงหลัง 14 ตุลาใช่ไหมคะ
คุณวโรดม : ก่อนหน้าครับ คุยกันมาแต่แรกเลย

ผู้สัมภาษณ์ : ทำให้พี่มองภาพที่ จอมพล ป. เสนอว่าสังคมคอมมิวนิสต์มีลักษณะขาดวิ่นนี่คิดยังไงครับ
คุณวโรดม : มันไม่ใช่แล้ว แต่ตอนนั้นเราก็มีความรู้สึกว่ามันใช่นะ คือเวลาดูข่าวประเทศคอมมิวนิสต์ก็จะมีแต่ภาพความยากจน มีแต่ความลำบาก มีแต่อะไรทั้งสิ้นเลย

ผู้สัมภาษณ์ : สมัยนั้นภาพที่รับรู้ประเทศคอมมิวนิสต์คือ จีน รัสเซีย
คุณวโรดม : จีน รัสเซีย พอเริ่มโต เราเริ่มคุยเริ่มเห็นอะไรเยอะขึ้น ความเจริญทางการสื่อสารมันทำให้มองว่าไม่ใช่แล้ว มันมีข้อโต้แย้งแล้ว

ผู้สัมภาษณ์ : กลับมาสู่ 6 ตุลา คือหลัง 6 ตุลา คือนักศึกษาเข้าป่า พี่ได้รับรู้เรื่องกิจกรรมของนักศึกษาที่ไปอยู่ในป่าบ้างไหมครับ
คุณวโรดม : ผมมีเพื่อนอยู่คนหนึ่ง ตอนนั้นเรียนอยู่ปีสาม เพื่อนคนนี้เขารุ่นพี่ เขาจบไปแล้วไปเป็นครูทางใต้ ที่นครศรีธรรมราช เพื่อนคนนี้ครอบครัวเขาเป็นครอบครัวใหญ่มีชื่อเสียง คือไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังแต่เหมือนผู้นำธรรมชาติ ได้รับความเคารพนับถือพ่อแม่ครอบครัวเขา เวลาประชุมที่อำเภอที นายอำเภอก็พูดว่าข้าราชการที่ไปเข้าข้างกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ระวังตัวให้ดีนะ เขาอยู่ไม่ได้แล้วก็ลาออกมา ก็มาสมัครเป็นผู้ไหญ่บ้าน ก็ได้เป็นผู้ใหญ่บ้านแล้วก็มาเป็นกำนัน พอตอนหลังมันเกิดภาวะอย่างหนึ่งก็คือ อันนี้มันก็ไม่ได้มีหลักฐานนะ แต่ในกลุ่มคนจะรู้กันว่ามันมีสองตระกูลคือตระกูลเขา กับตระกูลของ ก็จะรู้จักกันดี ทางตำรวจก็ไปยิงญาติฝ่ายนู้นตาย แล้วก็บอกทางด้านเขายิง แล้วก็มายิงญาติฝ่ายเขา ยิงไปยิงมา ผมเคยไปงานศพกับเขาทีหนึ่งสมัยเรียนหนังสือด้วยกัน เขาก็บอกว่ารีบกลับเถอะเดี๋ยวจะถูกตำรวจยิง ก่อนหน้าที่เขารู้จักกับผม เขามาเข้าปีสามที่ปทุมวันก็สนิทกันก็คุยกัน แล้วก็ชีวิตในป่าเขาก็เล่าให้เราฟัง เขาก็เคยชักชวนผมว่าไปไหม ไปเข้าป่ากัน ผมก็บอกไม่ไปหรอก

ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้น พ.ศ. อะไรครับ
คุณวโรดม : ประมาณสักปี 2522 หรือ 23 ประมาณนั้น ก็เรียนหนังสือด้วยกัน เรียนเรื่องประวัติศาสตร์เอเชียเราก็โกรธแค้นฝรั่งที่มายึดประเทศก็เหมือนคุยปรับทุกข์กัน คนมันเหมือนกันก็เลยคุยไปคุยมา เขาเขียนจดหมายมาชวนว่าไปไหม ผมก็ถามเขาว่าถามพรรคพวกดูซิว่าเมื่อไรจะเป็นคอมมิวนิสต์ซักทีประเทศไทยเนี่ย เพื่อนเขาบอกอีกร้อยปีก็ไม่เป็นหรอก พูด (หัวเราะ) อีกร้อยปีก็เป็นไม่ได้หรอกประเทศไทย (หัวเราะ) คนไทยมันดื้อ

ผู้สัมภาษณ์ : มีรับรู้จากที่อื่นไหมครับเรื่องขบวนการนักศึกษาที่เข้าไปในป่าครับ
คุณวโรดม : ก็มีเพื่อนๆคุยกัน มีเพื่อนที่อยู่ในกลุ่มเขาก็มีญาติพี่น้องอะไรก็คุยกัน หรือเพื่อนที่ไปเป็นตำรวจบ้าง คนที่ไม่ได้เรียนต่อไปเป็นตำรวจชายแดน อะไรก็คุยกัน ส่วนมากก็เล่าเรื่องในเชิงลบของนักศึกษา มารู้รายละเอียดจริงๆ ก็อยู่ ปปส. มาเจอพวกที่เคยไปเข้าป่าหลัง 6 ตุลา พวกนี้ระดับผู้นำเยอะ ระดับมีเงินเดือน เขาก็เล่าสู่กันฟัง ไปอยู่ป่าเป็นยังไง ลำบากยังไง

ผู้สัมภาษณ์ : หลังจากนั้นพี่ทำอะไรครับ
คุณวโรดม : ผมออกมาเป็นครูได้ 9 ปี สมัยก่อนอยู่มหาดไทย เขาเรียกครูประชาบาล โรงเรียนประชาบาลคือโรงเรียนที่ขึ้นกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย อยู่เขตบางกะปิ อะไรแบบนี้ แต่มันเข้าไปลึก โรงเรียนประชาบาลนี่คือ หนึ่ง ต้องนั่งเรือเข้าไปในคลอง สอง ต้องเดินผ่านทุ่งนาอะไรไกลๆเนี่ย สมัยก่อนรามอินทรานี่ไกลมาก

ผู้สัมภาษณ์ : ประมาณปีไหนครับ
คุณวโรดม : จบมาประมาณปี 2515 แล้วก็เข้ามาเป็นครูมาทำเหมือนมาใช้ทุน ช่วงนี้ก็ยังวิ่งไปวิ่งมาอยู่ในมหาวิทยาลัย ตอนนั้นก็เริ่มทำงานแล้ว แล้วหลังจากนั้นก็มาเรียนต่อที่ มศว.

ผู้สัมภาษณ์ : หลังจบจาก มศว. ไปไหนครับ
คุณวโรดม : ผมโอนมาอยู่ ปปส. ปี 2524

ผู้สัมภาษณ์ : หลังจากนั้นมาพฤษภาทมิฬ
คุณวโรดม : ไม่ได้ร่วมครับ (หัวเราะ) เพื่อนก็ไม่มีร่วม ตอนนั้นผมไปอยู่ต่างจังหวัด ไปอยู่ทางใต้ตลอด

ผู้สัมภาษณ์ : รับรู้เหตุการณ์ไหมครับ
คุณวโรดม : ก็รู้จากดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ มันก็ได้รับรู้เหตุการณ์ที่มันไม่สมบูรณ์ แต่ก็รับรู้จากเพื่อนนักข่าวคนหนึ่ง เขาเป็นนักข่าวแล้วเขาก็ไปชุมนุม เขาออกมาพูดให้ฟังอยู่เรื่องๆ เขาก็ทำงาน ตอนเย็นก็ไปร่วมชุมนุม เขาก็เล่าบรรยากาศการชุมนุม แต่ก็ฟังกันเฉยๆ ตอนนั้นก็ไม่ได้สนใจแล้ว พอดีงานมันยุ่ง ทำงานต่างจังหวัด สถานการณ์มันก็รุนแรงหลายเรื่อง

ผู้สัมภาษณ์ : ขออนุญาตย้อนกลับมาหลัง 14 ตุลานิดนึงครับ คือบรรยากาศทางการเมืองคือนักศึกษาเข้าไปมีบทบาทมาก บทบาทเกี่ยวกับกลไกของรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ คือนักศึกษาเข้าไปประกบติดเลยหรือเปล่าครับ
คุณวโรดม : อย่างตำรวจจราจร ตำรวจสายตรวจ ก็จะมีนักศึกษา.. คือคล้ายๆตำรวจก็กลัวประชาชนทำร้าย นักศึกษาก็จะมีการประกาศ มีการพูดไมโครโฟนออกจากรถตำรวจเลย คล้ายๆคนช่วยเคลียร์ให้เวลามีอะไร

ผู้สัมภาษณ์ : กิจกรรมอื่นๆของนักศึกษาช่วงหลัง 14 ตุลา ช่วงที่เสรีภาพเบ่งบาน
คุณวโรดม : ก็มีเดินขบวน.. เขาก็เดินขบวน ไม่พอใจก็ประท้วงนั่น ไม่พอใจก็ประท้วงนี่.. คือไปเดือดร้อนกับเขาทุกงาน มีชาวนามา คล้ายๆไปเป็นตัวลีดเลยไปนำเขา ใครๆก็จะชอบนักศึกษา กรรมกร ชาวนา ใครก็มาหานักศึกษา

ผู้สัมภาษณ์ : แล้วช่วงเหตุการณ์นั้นพี่มองผู้นำอย่าง เสกสรรค์ ธีรยุทธ ยังไงครับ
คุณวโรดม : ตอนช่วงมีเหตุการณ์ก็มองเขาเหมือนเป็น idol ก็มองว่าเขากล้าจริง แน่จริง อะไรแบบนี้

ผู้สัมภาษณ์ : idol ตอนนั้นคือใคร
คุณวโรดม : ตอนนี้ก็จะมี ธีรยุทธ (บุญมี), เสกสรรค์ (ประเสริฐกุล), เสาวนีย์ (ลิมมานนท์), เกรียงกมล (เลาหไพโรจน์) แต่เกรียงกมลก็ไม่ค่อยมีบทบาทเท่าไร หรืออย่างเมียเสกสรรค์ ก็ไม่ค่อยมีบทบาทเท่าไร ก็เป็นนักศึกษาธรรมดา จีระนันท์ พิตรปรีชา ตอนหลังก็มาเดินแบบแล้วนี่ (หัวเราะ)

ผู้สัมภาษณ์ : แล้วหลังจากเหตุการณ์พี่เปลี่ยนมุมมองต่อผู้นำนี้ไหมครับ
คุณวโรดม : ก็รู้สึกไม่ค่อยดีเท่าไร แต่ไม่ใช่เกลียดเขานะ แต่รู้สึกว่าอย่างนี้มันใช่หรือเปล่า ทำไมเปลี่ยนอย่างนี้ เราก็ไม่รู้เขาเปลี่ยนยังไง แต่เราก็ฟังจากเพื่อนแล้วก็เห็นอะไรบางอย่าง ว่าไปรับเงินเขาหรือเปล่า คนพวกนี้เขาก็ไปเรียนเมืองนอก ก็ไปอะไรกัน แต่อย่างพวกเราก็ยังอยู่เหมือนเดิม

ผู้สัมภาษณ์ : พี่มองถึงกระบวนการเหตุการณ์ช่วง 14 ตุลา มันยุ่งเหยิง ไม่มีการจัดกระบวนการที่ดี พอมีทหารปราบปุ๊บก็หายกันไป
คุณวโรดม : ที่หายหมายความว่าวิ่งหลบมุมซอกตึก แล้วก็ออกมาใหม่ อะไรอย่างนี้ แต่ไอ้กระบวนการจัดการที่มีรูปแบบ มันจะไม่มีแล้ว มันกระจายไปทั่วเมืองเลย กรุงเทพฯตรงนั้นก็มีเรื่องตรงนี้ก็มีเรื่อง เดี๋ยวทหารยิงตรงนู้น เดี๋ยวทหารก็ยิงตรงนี้

ผู้สัมภาษณ์ : เหตุการณ์วันที่ 13-14 กระจายกันทั่วเลยใช่ไหมครับ
คุณวโรดม : กระจายไปทุกมุมแล้ว แล้วตอนนี้โทรทัศน์ก็จะเริ่มมีถ่ายทอดแล้ว มันก็จะมีข่าวเรื่องการต่อสู้ระหว่างนักศึกษากับทหาร ตอนนั้นข่าวก็จะเริ่มมีเยอะแล้ว

ผู้สัมภาษณ์ : แล้วพอมาเหตุการณ์ปัจจุบัน พี่มองเหตุการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นปัจจุบันอย่างไรบ้าง
คุณวโรดม : ผมว่ามันแย่กว่าเก่าเยอะ แย่กว่าสมัย 14 ตุลา เยอะนะ ถ้ามองนักการเมืองนะ นักการเมืองแย่มากๆเลย คือนักการเมืองรุ่นเก่าเนี่ย ยังไงๆ ความที่รู้จักหยุดบ้างมันมี ไม่ว่าจะทั้งกลุ่มสายทหาร หรือกลุ่มรัฐบาลก็ตาม คือยังไงผมว่าเขาก็ยังฟังเสียงประชาชนมากกว่า คือถ้าประชาชนเสียงดังกันจริงๆ ไม่ถึงกับต้องลุกฮือนะ แค่เพียงจับกลุ่มกันจะเดินขบวน เขาก็จะหยุด และเขาก็ไม่ทำอะไรในสิ่งที่ขัดหูขัดตามากนัก สิ่งที่คนส่วนใหญ่มองว่าไม่ใช่ เขาก็ไม่ทำ ผมคิดว่าเท่าที่ดูคือจริยธรรมน่าจะดีกว่า ตอนนี้มันแย่สุดๆ

ผู้สัมภาษณ์ : แล้วสมัยพรรคไทยรักไทยรุ่งเรือง พี่มองอย่างไรครับ ทั้งพรรคและตัวคุณทักษิณ
คุณวโรดม : กรณีเรารู้ข้อมูลเขาเยอะ เราก็ไม่เอาแต่แรก แล้วพอมาเจอคดีซุกหุ้นครั้งแรกเราก็รู้ว่ามีปัญหาแล้ว เราคุยกันในกลุ่มเพื่อนฝูงที่สนิท ที่ทำงานด้วยกัน ที่เราพอรู้ข้อมูลเยอะก็คือเพราะเราทำงานเรื่องการข่าว ถึงแม้เราทำข่าวยาเสพติดจริงแต่ทุกข่าวมันจะมารวมอยู่ด้วยกัน เวลาเราเข้าไปในพื้นที่ เวลาเช็คข้อมูลหรือไปหาข่าว ข่าวทุกอย่างมันก็จะมาหมด ไม่ว่าจะข่าวก่อการร้าย ข่าวอะไรก็ตาม ทุกวันนี้ผมทำยาเสพติดอย่างเดียวแต่ทางใต้ (สามจังหวัดชายแดนภาคใต้) ข่าวก่อการร้ายเราผมเชื่อว่าในส่วนของพวกผมน่าจะดีกว่าของหลายๆหน่วยที่อยู่ในพื้นที่ เพราะฉะนั้นเราจะรู้ข้อมูลเยอะ

ผู้สัมภาษณ์ : แล้วพี่มองรัฐประหารที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาอย่างไรครับ
คุณวโรดม : รัฐประหารทุกครั้งเป็นเรื่องการแย่งผลประโยชน์ ผลประโยชน์ไม่ลงตัว หรือไม่ก็ไปทำให้ทหารเกิดหวาดกลัวว่าจะเสียอำนาจเขาก็จะปฏิวัติ อย่างช่วง รสช. ก็เรื่องจะไปปลดนายกชาติชาย  มาเที่ยวนี้มันก็ขัดแย้งกันเรื่องผลประโยชน์ ระหว่างกลุ่มของทักษิณกับกลุ่มทหาร เพราะทหารในกลุ่มทักษิณเขารุ่น 10 สาเหตุจริงๆมันอาจมาจากเรื่องการที่จะเอาพลเอกพรชัย กรานเลิศ มาเป็น ผบ.ทบ. จะเอาบิ๊กบัง (สนธิ บุณฯ) ไป.. ก็เลยหาสาเหตุจากการที่มีการประท้วงกัน เรื่องเลือกตั้ง เรื่องกลุ่มพันธมิตรฯ อะไรกัน ก็ปฏิวัติไป มันเรื่องผลประโยชน์ทั้งนั้นบ้านเมืองเรา ทุกอย่างผลประโยชน์หมด

ผู้สัมภาษณ์ : แล้วเรื่องผลผลิตของรัฐประหาร เรื่องรัฐธรรมนูญ 50 พี่มองอย่างไรครับ
คุณวโรดม : มันมองได้หลายมุมนะ คือถ้าเรามองในแง่ว่ามันเป็นรัฐธรรมนูญที่เข้มงวด หรือว่าอาจไม่เป็นประชาธิปไตยร้อยเปอร์เซ็นต์เราก็มองอย่างนั้นได้ แต่ถ้าเราศึกษารัฐธรรมนูญหลายๆประเทศ ก็จะรู้ว่าประเทศเราก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าประเทศอื่นหรอก เราจะมองเฉพาะประเทศเราไม่ได้ แต่ถ้าเราสังเกตประเทศอื่นอะไรต่างๆมันหนักกว่าเรานะ ผมทำงานอยู่กับพวกอเมริกันประชาธิปไตยของมันหนักกว่าเราเยอะ ในเรื่องการใช้กฎหมาย อย่างเวลาขับรถไปถ้าเกิดโดนเรียกหยุดนี่ออกจากรถไม่ได้นะ ถ้าเราเปิดประตูจราจรยิงเราตายได้เลยนะ ถือว่าเขาป้องกันตัวเผื่อเราไปทำร้ายอะไรเขา ไม่มีความผิด กฎหมายเขาแรงมากกว่าเรา รัฐธรรมนูญ 50 ถ้าเราดูในแง่ความเป็นจริง อย่างที่ผมว่า คือนักการเมืองมันแย่สุดๆ คือต้องจัดการให้อยู่ ไม่งั้นประเทศชาติเสียหายไปเยอะ  คือผมดูตรงนี้นะ จากการที่เราทำข่าว คือเรื่องยาเสพติด มันก็เป็นเรื่องต้นทุนของนักการเมือง ผมไปอยู่ชายแดนทางภาคเหนือช่วงก่อนเลือกตั้งจะมีนักการเมืองหลายคนไปอยู่ในบ่อนการพนัน ไปคุมเรื่องต่างๆที่ทำให้เขาได้เงิน ธุรกิจต่างๆ แม้แต่ ปตท. ไปดูสิครับ เราไปซื้อหุ้นเขาไม่ได้หรอก มีอยู่สิบตระกูลเอง แล้วประชาชนได้อะไรล่ะ มันก็ต้องมียาแรงต้องล่อไปก่อนแล้วค่อยว่ากันทีหลัง คือเราไปสอนให้รู้จักประชาธิปไตยในลักษณะที่ว่าทำอะไรก็ได้ อย่าง 13 เมษา ก็ไปโทษเขาไม่ได้ ชาวบ้านก็รู้สึกว่าเขาต้องทำอะไรได้ 13 เมษามันเหมือน 6 ตุลาตรงที่มีการปลุกระดมกัน แต่คืออาจปลุกระดมจากหลายฝ่ายนะ ใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือ

ผู้สัมภาษณ์ : แล้วอย่างนโยบายปราบปรามยาเสพติดในสมัยทักษิณพี่ว่าเป็นอย่างไรครับ
คุณวโรดม : ผมเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์ แล้วผมเป็นอีกคนหนึ่งที่หลังจากเหตุการณ์ก็อยู่ในเหตุการณ์ คือเป็นกรรมการในเรื่องฆ่าตัดตอน อย่างว่านะครับ ผมทำงานมาเนี่ย ไม่เคยมีหรอกครับในวงการค้ายาเสพติดหักหลังกันแล้วจะฆ่ากันตาย ตั้งแต่ผมทำมามีอยู่รายเดียว อันนั้นมันรายใหญ่ทำผิดในต่างประเทศแล้วคนจากข้างนอกมันเข้ามาฆ่าตาย แล้วก็อาจมีเรื่องธุรกิจที่ผิดกฎหมายอื่นด้วย.. คือตำรวจยิงครับ

ผู้สัมภาษณ์ : ที่ตัดตอนจริงๆมีครั้งเดียว
คุณวโรดม : (หัวเราะ) ครับ ปกติไม่มี มันจะไม่หักหลังกัน คือถ้ายาเสพติดอยู่กับเราตำรวจจับเราก็มีความผิด แต่ถ้ามันไม่อยู่กับตัวเรา ถึงแม้ตำรวจจะรู้ว่าเราเพิ่งไปค้ายามาก็เอาผิดไม่ได้เพราะไม่มีของกลางอยู่ในมือ สมมติผมถูกโกงผมจ้างคนไปยิงตายอายุความมันจะติดตัวเราอยู่ 20 ปี แต่นี่มันไม่มีอายุความนี่ มันจบไปแล้ว เขาไม่ฆ่ากันหรอกครับ เดี๋ยวมันก็ได้ตังค์กัน เยอะแยะไป เงินมหาศาล ในกลุ่มผู้ผลิตต่างประเทศเขาไม่นับกันหรอก เขาใช้ชั่งกิโลเอา (หัวเราะ) แล้วมันจะฆ่ากันหรอ ไม่มีหรอก

ผู้สัมภาษณ์ : พี่มอง “สีเหลือง” กับ “สีแดง” อย่างไรครับ
คุณวโรดม : “สีแดง” มันมีกลุ่มอยู่กลุ่มหนึ่งที่พวก 14 ตุลา บ้าง 6 ตุลา บ้าง พวกนี้ติดยึดกับอำนาจ ติดยึดกับผลประโยชน์ แล้วอุดมการณ์มันก็ทิ้งไป อีกอย่างหนึ่งคือมันไปคบกับทักษิณ ทักษิณเขาอยู่ในวัฒนธรรมตำรวจ คือต้องเข้าใจวัฒนธรรมตำรวจว่า หนึ่งคือความเป็นพวก ถ้าเป็นพวกเดียวกันแล้วยังไงๆต้องช่วยกัน อันที่สอง พวกกันก็จริงแต่ผลประโยชน์ขัดกันไม่ได้ ผลประโยชน์ต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง ตำรวจพูดกันด้วยเงิน แล้วนิสัยคือแพ้คนไม่เป็น ต้องเอาชนะให้ได้ เพราะฉะนั้นเขาถึงบอกว่าใต้ฟ้าไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ ทำได้ทุกอย่าง อย่างผมหมั่นไส้ใครเนี่ยก็จับมา เอาไขควงให้อันหนึ่ง จับไปโรงพักแล้วผมก็บอกว่าเนี่ยข้อหาซ่องโจร ซึ่งมันต้องห้าคนใช่ไหม ผมก็บอกว่าพร้อมกับเพื่อนอีกสี่คนที่หนีไป ก็เห็นๆกันอยู่ พอดีทักษิณเขามีเงิน ใหม่ๆผมเชื่อว่าเขารวยแล้วอาจจะไม่โกง คือเขาคุยกับเพื่อนผมคนหนึ่ง พลตรีไพโรจน์ ธีระภาพ ที่เรื่องคาร์บอมบ์ จำได้ไหม ทักษิณ เคยคุยกับเขาเลยว่า พี่ไม่เอาแล้ว รวยพอแล้ว จะเอาเงินส่วนหนึ่งแบ่งไว้ให้ลูกให้เมียใช้ เขาก็เชื่อ คนนี้เป็นคนที่ชอบทักษิณมาก แต่ตอนหลังเกลียดทักษิณมากเลย เพราะแกโดนใส่ร้ายเรื่องขู่วางระเบิด นี่คือวัฒนธรรมตำรวจคือถ้าเผื่อไม่พอใจก็จะใส่ร้าย.. มีใครจะไประเบิดตรงนั้น แล้วไอ้จ่ายักษ์ก็อยู่กับผมมา ผมรู้จักมันดี สติมันบ๊องๆ ใช้มันไปซื้อขนม ขนมไอ้นี่ไม่มีมันซื้อขนมจีนมาให้กิน แล้วไอ้ตี๋ด้วย เขาสร้างเรื่องขึ้นมา เขาต้องการล้มพัลลภ ปิ่นมณี คือจริงๆแล้วเหตุผลที่มันมีเรื่องขึ้นมาประชาชนส่วนมากไม่รู้ ก็จะแบ่งข้างชอบคนนั้นไม่ชอบคนนี้ พอกลุ่ม 14 ตุลา 6 ตุลา มันเข้ามาอยู่ก็ติดยึดอำนาจ ผมเห็นมีคนเดียวที่ไม่ติดก็คือไอ้ประภัทรนั่นแหละคือพอเขาให้ทำในสิ่งไม่ถูกต้องมันก็ออก เพราะฉะนั้น คนพวกนี้มันติดยึดอำนาจหวังเงินหวังทองมันก็ไปกันใหญ่

ผู้สัมภาษณ์ : แล้วประชาชนที่เข้าร่วมล่ะครับ
คุณวโรดม : คือมันจะมีแบ่งเป็นสองพวก คือพวกที่ไม่รู้เรื่องจริงๆ พวกที่อยู่กันจนวันสุดท้ายนั่นแหละ คือไม่ใช่ไม่รู้เรื่อง คือมันก็เหมือนกับเราตอน 6 ตุลา ตอน 14 ตุลา ที่ฟังอะไรเราก็เชื่อ ก็ถูกกล่อมอยู่อย่างเดียว ประชาธิปไตยๆ แล้วทักษิณประชาธิปไตยตรงไหน ตัดสินปัญหาโดยการฆ่าคนตาย 2500 กว่าศพ ผมทำคดีมาเนี่ย ผมเห็นหลายๆเรื่อง บางทีจะไปยิงไอ้คนนี้ แต่ขับรถผ่านมาเจอครูสองคน ตำรวจก็ยิง ยิงครูด้วย ก็ถือว่าปิดปากไปในตัว หรือมีคดีบางคดี เด็กผู้หญิงที่พี่สาวขายยา ขายยารายย่อยๆก็ไม่ใช่รายใหญ่อะไรหรอก เด็กคนนั้นช่วยพี่รีดเสื้อผ้า พี่ก็ให้ตังค์ค่าขนมไปโรงเรียน ตำรวจก็ไปยิงตาย คดีอย่างนี้เยอะแยะ หรือคดีพ่อนักข่าว แม่นักข่าว มันสูบกัญชากัน ไม่ได้ทำอะไรเลย ไปซื้อกัญชาสูบแบ่งกัน พอกัญชาไม่มีก็ไปซื้อยาบ้ามาสูบ ไม่มีอย่างหนึ่งก็เอาอย่างอื่น ตำรวจเรียกไปรายงานตัว ลงมาจากโรงพักมันขับรถไปตาย.. คือเราอยู่เรารู้ แต่คนที่ไม่ได้อยู่ในวงการเขาก็ไม่รู้ เขาก็ไม่เชื่อเรา

ผู้สัมภาษณ์ : แล้ว “สีเหลือง” ล่ะครับ
คุณวโรดม : ผมก็มองดูว่าลักษณะก็คล้ายๆกัน ผมไม่รู้ว่าเขาจะเข้าสู่อำนาจกันหรือเปล่า แต่ดูจากการที่เขาต่อสู้การมีอุดมการณ์มันจะมีอุดมการณ์ มันเป็นชนชั้นกลางไง จะรับข้อมูลเยอะๆอะไรต่างๆ ผมก็เข้าไปอยู่ทั้งสองกลุ่มแหละ เวลาไปทำข่าวมันก็ต้องเข้าไปอยู่ใกล้ชิดเหตุการณ์ คนที่มามันก็มาด้วยใจบริสุทธิ์นะ แต่ผู้นำเราก็ไม่แน่ใจนะ คือเรามีประสบการณ์จาก 14 ตุลามาเราก็รู้สึกว่า มันจริงหรือเปล่าวะ เรื่องตั้งพรรคการเมืองอีก คือก็คิดว่าถ้าไม่ตั้งพรรคการเมืองก็จะไปสู้ในสภาไม่ได้ก็ว่าไป คือทุกคที่มาร่วมส่วนมากทุกคนรักชาติทั้งนั้น ไม่ว่าจะสีเหลือง สีแดง สีอะไรก็รักชาติทั้งนั้น ยกเว้นสีน้ำเงินบางกลุ่มพวกไอ้เนวินนี่ (หัวเราะ) รักชาติซะปากห้อย (หัวเราะ) เวลาเรามองพวกนี้ต้องมองเบื้องหลัง มองวาระซ่อนเร้น ซ่อนเร้นเพื่ออะไร อย่างบิ๊กบังปฏิวัติเพราะอะไร ก็เพราะมันกลัวจะถูกปลด ตอนนี้ก็จะเล่นการเมืองแล้ว ไปหาพวกผมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ช่วยหาเสียงให้ พวกนี้มันอยู่วังวนของอำนาจทั้งนั้น ประชาชนก็เป็นเครื่องมือเขา เป็นเหมือนหมากให้เขาเดิน ไม่ว่าสีอะไรก็ถูกจับให้เดินทั้งนั้น

ผู้สัมภาษณ์ : แล้วพี่คิดว่าทางออกของสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไรครับ
คุณวโรดม : มองไม่เห็นเลย ผมบอกตรงๆมองไม่เห็นเลย (หัวเราะ) ผมว่ามันเหมือนตอนกรุงศรีอยุธยาจะแตก เป็นสมัยก่อนพม่าล้อมเมืองแล้ว แล้วจริงๆทุกวันนี้พม่าล้อมเราไหม พม่าล้อมเราหมดนะ ตามปั๊มน้ำมันตามอะไรต่างๆ จุดไม้ขีดคนละก้านเผาเมืองเราหมดแล้ว พวกหลบหนีเข้ามาทำงานไม่เท่าไร แต่ไอ้พวกหลบหนีเข้ามาค้ายาหรือมาประกอบอาชญากรรมอย่างอื่นน่ากลัวเยอะ ก็รู้จักเยอะนะพวกนี้ บางคนคุยไปคุยมามีความรู้นะ เป็นคอมมานโด แล้วจำไว้อย่างนะว่าพม่าการข่าวเขาเป็นอันดับสองในโลกเลยนะ อเมริกายังสู้ไม่ได้ อันดับหนึ่งคืออิสราเอล อันดับสองพม่า การข่าวดีมากนะ เขาเรียกพวก mi พวกนี้จะเก่งมาก ทั้งเก่ง ทั้งอดทน เราเนี่ยเรียนเดือนหนึ่ง สามเดือน อย่างเก่งหกเดือน แต่เขาเรียนกันสามปี ประเทศไทยน่ากลัวผมบอกได้เลย ดูให้ดีๆเหอะ ไม่มีทางออก เมื่อก่อนเรามีอะไรเนี่ยสถาบันฯมาพูดก็หยุดกัน 14 ตุลาในหลวงพูดทีเดียวหยุด , พฤษภาในหลวงพูดทีเดียวหยุด เดี๋ยวนี้ในหลวงพูดยังไม่หยุดเลย ต่างคนต่างไม่กลัวกันแล้ว แล้วเรามามองว่าประเทศอื่นเขาไม่มีสถาบันเขาก็อยู่กันได้ เรามองอย่างนั้นมันไม่ใช่ วัฒนธรรมองค์กรแต่ละอันมันก็ไม่เหมือนกัน อย่างน้อยๆมันก็ยังเป็นศูนย์รวมที่พอจะมีผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองได้ เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้วป๋าเป๋อหมด ด่าเกลี้ยง (หัวเราะ)

ผู้สัมภาษณ์ : ตอนที่เข้าร่วมในครั้งนั้นพี่คิดว่าเหตุการณ์ตอน 14 ตุลา มีใครอยู่เบื้องหลังไหมครับ
คุณวโรดม : คิดว่าไม่มีนะ จนทุกวันนี้เราก็ไม่เชื่อว่ามีคนอยู่เบื้องหลัง ตอน 14 ตุลานะ เป็นการต่อสู้ด้วยความบริสุทธิ์ของนักศึกษาจริงๆ ฝ่ายทหารเขาครองอำนาจมานานเขาก็คิดว่านักศึกษาแค่นี้ไม่มีปัญหาหรอก จับมาติดคุกเดี๋ยวมันก็กลัวแล้ว แต่ปรากฏว่ามันไม่กลัวขึ้นมา แต่เรื่อง 6 ตุลา เริ่มมีเบื้องหลังแล้ว กลุ่มอำนาจกับกลุ่มอำนาจแย่งชิงกัน เห็นได้จากพฤติกรรมนักการเมือง มีการปลุกระดมลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มแม่บ้าน มีการเข้าไปบีบบังคับให้รัฐบาลต้องลาออก แม้แต่ในที่ประชุมครม. ยังมีการบุกที่ประชุมครม. คือเป็นการแย่งชิงอำนาจ พอทหารยึดได้กลุ่มที่เป็นคนนำในการยึดอำนาจก็กลับเข้ามาเห็นง่ายๆก็ สมัคร สุนทรเวช เขานำกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มต่อต้านพวกญวนอะไรต่างๆ เยอะแยะไปหมด แล้วกลุ่มพวกนี้ก็เข้ามามีอำนาจ แล้วเขาก็ถูกปฏิวัติโดยกลุ่มอำนาจอีกกลุ่มหนึ่ง มันเป็นเรื่องของการแย่งอำนาจกัน ทุกวันนี้ก็ยังแย่งอำนาจกันอยู่

ผู้สัมภาษณ์ : นักการเมืองมีดีๆบ้างไหมครับ
คุณวโรดม : คนดีจะไม่พูด คนดีจะอยู่เฉยๆ ผมว่ามันก็มีนะ ก็ยังมีอยู่หลายๆคน แต่เราก็ไม่รู้ดีจริงหรือเปล่านะ เพราะดูอย่างบางทีตุลาการ ศาล อัยการ ยังมีการรับเงิน กกต.ยังรับเงิน เราก็เห็นๆกันอยู่ มันแพ้เงินหมด แม้แต่ 6 ตุลาที่มาอยู่ด้วยกันเนี่ย (หัวเราะ)

ผู้สัมภาษณ์ : การที่พันธมิตรจะตั้งพรรค พี่คิดว่ามันเป็นทางที่ดีไหมครับ การมีพรรคการเมือง
คุณวโรดม : การต่อสู้ทางการเมืองถ้าสู้โดยภาคประชาชนอย่างเดียวไปไม่รอด สังเกตไหม คือเขาไม่ฟังเราสักอย่าง อย่างที่พันธมิตรชุมนุม 193 วัน ไล่รัฐบาลสมัคร ถามว่ารัฐบาลสมัครไปเพราะพันธมิตรฯไล่หรือเปล่า ก็ไม่ใช่ ต่อมาสมชาย สมชายออกเพราะพันธมิตรฯไล่ใช่ไหม ก็ไม่ใช่ ถ้าเผื่อสู้ไม่ได้ก็ต้องมีส่วนหนึ่งไปสู้ในสภา เพราะ ส.ส.คนหนึ่งพูดเสียงดัง แต่เราสิบคนพูดก็ไม่ดัง ต้องทั้งสองอันคือ ทั้งในสภาและนอกสภาที่ต้องผนึกกำลังกัน ไม่งั้นตามประเทศต่างๆเขาจะมีพวกพรรคกรีน พวกสีเขียว พวกที่เข้าไปต่อสู้ ไม่ใช่การเมืองผูกขาดอยู่ในคนกลุ่มเดียว ผัวเล่นไม่ได้ ให้เมียเล่น เมียเล่นไม่ได้ให้ลูกเล่น

ผู้สัมภาษณ์ : พี่ชอบแนวทางของพรรคกรีน พรรคทางเลือก
คุณวโรดม : พรรคทางเลือกใหม่ผมเห็นด้วย คือพรรคอะไรก็ได้ แต่ขอให้คนที่เข้ามามันเป็นคนดีจริงๆ ต้องมาจากกลุ่มสาขาอาชีพไม่ใช่จากกลุ่มการเมือง ผมไปออสเตรเลีย ไปดูงานที่รัฐสภา ไปเจอผู้หญิงคนหนึ่งอายุสักยี่สิบกว่าๆ เขาก็มาเดินอธิบายให้ผมฟังก็คุยไปคุยมา ผมก็คิดว่าเขาเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการแน่เลย ก่อนจะกลับ ผมก็ขอบคุณเขาแล้วผมก็ถามเขาว่าทำงานที่นี่หรอ เขาบอกว่าใช่ ถามว่าเป็นอะไรทำหน้าที่อะไร เขาบอกเขาเป็นวุฒิสมาชิก อายุยี่สิบกว่าๆ เด็กผู้หญิง เขามาจากกลุ่มอาชีพเขา พ่อแม่เขาทำไร่ทำนา มีกลุ่มใหญ่โต มีการคัดเลือกแล้วเขาได้เข้ามา เขาได้เรียนหนังสือ ถามว่าคนพวกนี้เข้ามาแล้วต่อสู้เพื่อใคร เขาก็ต่อสู้เพื่อญาติพี่น้องเขาใช่ไหมล่ะ ประเทศไทยต้องมีแบบนี้

ผู้สัมภาษณ์ : กลุ่มอาชีพต้องคำนึงถึงสัดส่วนประชากรไหมครับ
คุณวโรดม : ไม่ต้อง อย่าเอาสัดส่วนประชากรมาไม่งั้นเราได้ ส.ส.แบบนี้ เราต้องเอากลุ่มสาขาอาชีพ แล้วก็ต้องดูความใหญ่โตของกลุ่มสาขาอาชีพด้วยนะ สมมติอย่างชาวนาชาวไร่เป็นกลุ่มใหญ่ ควรจะมีเสียงมากกว่าหน่อย เพราะเวลาลงคะแนนเสียง หรือเวลาจะพูดอะไรกัน พวกนี้เขาจะเสียงดัง เพราะกลุ่มอาชีพเขาสำคัญนี่ จะให้เสียงเขาเท่ากับกลุ่มแพทย์ซึ่งมีอยู่ไม่กี่คนได้ยังไง

ผู้สัมภาษณ์ : นักการเมืองที่เป็น idol ของพี่
คุณวโรดม : ไม่มีเลย (หัวเราะ) ผมไม่ค่อยชอบนะ ผมเฉยๆ มันไม่มีคนที่จะทำงานเก่งๆ แต่ผมสนใจพวก ศรีลังกา อินเดีย พวกผู้หญิงนะ ลิธัวเนีย หรืออย่างฝรั่งเศสที่แข่งกับซาโกซีผมก็เชียร์นะ แต่ก็ไม่ถึงกับเป็น idol

ผู้สัมภาษณ์ : หนังสือที่พี่ชอบอ่าน
คุณวโรดม : ชอบอ่านประวัติศาสตร์บวกการเมืองบวกสังคม เศรษฐกิจ หนังสือประวัติศาสตร์ผมจะซื้อมาเยอะเลย อย่างซื้อมาเล่มหลังเรื่องพระเจ้าตากสินเป็นหนังสือที่คนฝรั่งเศสที่เข้ามาในยุคนั้นเขียน เป็นทหารแล้วก็มีคดีอะไรสักอย่าง แล้วตัวคนนี้เขารู้จักกับรุ่นหลานของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์แล้วก็รู้จักพระเจ้าตากสิน เขาอยู่จนวาระสุดท้ายที่พระเจ้าตากสินถูกจับประหารชีวิต แล้วก็ไปตายที่มะละกา

ผู้สัมภาษณ์ : นักวิชาการประวัติศาสตร์ไทยที่พี่ชอบอ่าน
คุณวโรดม : ผมไม่ได้อ่านเจาะจง อย่าง รุ่งมณี เมฆโสภณ ก็อ่าน นักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ อ่านทุกคน เพียงแต่จะดูจากเรื่อง

ผู้สัมภาษณ์ : ธงชัย วินิจจะกูล?
คุณวโรดม : ไม่ได้อ่าน

ผู้สัมภาษณ์ : ย้อนกลับไปตรงเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่พี่มีโอกาสได้เข้าร่วม มีโอกาสได้รับรู้ข่าวสารโดยตรงด้วย พี่ให้คำจำกัดความสั้นๆ หรือเรียกมันได้ว่าอย่างไร
คุณวโรดม : มันเป็นการเริ่มต้นของการต่อสู้ของประชาชนเพื่อที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม ความเป็นธรรมไม่ได้หมายถึงทุกคนต้องเสมอกันนะ แต่ว่าทำให้คนส่วนใหญ่ดีขึ้น

ผู้สัมภาษณ์ : แล้วสำหรับเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่พี่ได้มีโอกาสรับรู้ข่าวสาร ถึงแม้จะเป็นจากในหนึ่งฟาก พี่จะจำกัดความสั้นๆเหตุการณ์นี้ได้ว่า
คุณวโรดม : เป็นเหตุการณ์ที่ทำลายมนุษยชาติอย่างร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย เหตุการณ์นี้ทำร้ายจริงๆ ทำร้ายหนักเลย คือเราเห็นหลายๆอย่าง ก็มีโอกาสได้เห็นหลังจากนั้น มันรับไม่ได้ มันเหมือนกับการดูหมิ่นศักดิ์ศรีของมนุษย์อย่างเต็มที่เลย อย่างเช่นนักศึกษาหญิงถูกสั่งให้ถอดเสื้อเหลือแต่เสื้อชั้นใน แล้วก็นอนราบคลานไปกับพื้น มันไม่ใช่คนไทยทำกัน คนไทยจะไม่ทำแบบนั้น นั่นแหละเป็นเหตุการณ์ที่ทำร้ายมนุษยชาติอย่างร้ายแรงในประวัติศาสตร์เลย แล้วหลังจากนั้นมันก็ไม่มี แม้แต่พฤษภาทมิฬมันก็ไม่ถึงขนาดนั้น ก็เลยเกลียดเต็มที่เลย (หัวเราะ)

ผู้สัมภาษณ์ : แล้วพี่มีอะไรอยากจะฝากบ้างไหมครับ
คุณวโรดม : ฝากเกี่ยวกับเรื่องคนไทยเนี่ย ในสังคมไทย เราไม่ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่บอกเราได้อย่างดีที่สุด ถ้าเราไม่รู้ประวัติศาสตร์เราจะไม่รักชาติละ เราจะไม่รู้จักว่าชาติพันธุ์เรามายังไง อนาคตเราจะไม่ได้ทำเพื่อชาติละ อย่างคนรุ่นคนเก่าๆเขาจะได้เรียนประวัติศาสตร์ ถึงแม้ว่าประวัติศาสตร์ที่เรียนมันจะเป็นการต่อสู้ ไทยรบกับพม่ามีแต่สงคราม ซึ่งจริงๆประวัติศาสตร์ที่เรียนใหม่มันควรจะเป็นประวัติศาสตร์ที่ปรับ คือถึงไทยจะรับกับพม่าก็จริงแต่ควรจะพูดในแง่ว่ารบกันแล้วมันเกิดพัฒนาการอะไรขึ้นมา ใครแพ้ใครชนะอะไรช่างมัน ไม่สำคัญ แต่เราเรียนแล้วรู้สึกว่าเราไม่ชอบพม่ามากเลย เหมือนกับเราเรียนประวัติศาสตร์เอเชีย เราจะเรียนรู้เลยว่าฝรั่งมาทำอะไรให้กับประเทศเราบ้าง เราจะมีความรู้สึกว่ามันเกลียดเขามากเลย แต่ความเกลียดก็ไม่ได้ถึงขั้นไปทำลายล้างเขา แต่ต้องดูว่าหลังจากฝรั่งเข้ามามันมีส่วนดี ส่วนเสียอะไรอย่างไร เข้ามาทำให้เราอะไรต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดูพัฒนาการของคนเวียดนาม เขามาดูงานที่โรงเรียนบางกะปิ เขามาดูงานเสร็จแล้วเขากลับไปปรับการศึกษา ตอนนี้การศึกษาเขานำหน้าเราไปได้ แต่เราไปมัวแต่มองว่าเด็กเรียนหนังสือเก่ง สอบเคมีได้ที่หนึ่ง สอบได้เหรียญทอง ไร้สาระเลย แล้วทำไมเราไม่เห็นว่าคนอีกตั้งเยอะแยะอ่านหนังสือยังไม่ออกอะไรเลย ก็ไม่รู้เรื่องประวัติศาสตร์ สังคมต้องเรียนประวัติศาสตร์ และอีกอันหนึ่งก็คือเรื่องศาสนา ต้องเข้าใจเรื่องศาสนา เราถูกสอนเรื่องศาสนา เดี๋ยวนี้ไม่มีเลย สวดมนต์ยังสวดไม่เป็นเลย ตอนผมเรียนต้องสวดมนต์ทุกวันศุกร์ ต้องฟังครูอบรมสั่งสอน กล่าวคำไหว้ครูอะไรพวกนี้ ผมเรียนทั้งพุทธศาสนาเรียนทั้งคริสต์ศาสนา ใครๆก็เรียนมา แล้วภาวะจิตใจอะไรต่างๆมันต่างกันเยอะ เช่นเด็กสมัยนี้กับสมัยก่อนต่างกันเยอะ เดินผ่านผู้ใหญ่ยังก้มหลังไม่เป็นเลย สังเกตเด็กบ้านเรา ลูกผมเดินยังไม่ก้มหลังเลย (หัวเราะ) สมัยเราเรียนพอปิดหนังสือเราก็กราบหนังสือสามครั้ง บางคนบอกมันล้าสมัย แต่ผมรู้สึกว่าสิ่งนี้มันมีคุณค่านะ หนังสือเป็นสิ่งมีคุณค่านะ แม้แต่ทุกวันนี้ พอนอนไป .. ต้องรีบหยิบหนังสือออก เรื่องศาสนา เรื่องประวัติศาสตร์นี่ต้องเรียน แล้ววิชาบางอย่างที่มันไม่ควรก็เลิกๆไปเหอะ การงานพื้นฐานอาชีพไร้สาระมากเลย แล้วอย่าไปเรียนมาก เรียนพิเศษสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย

ผู้สัมภาษณ์ : ทราบว่าพี่เป็นสมาชิกของวารสารฟ้าเดียวกันด้วยใช่ไหมครับ
คุณวโรดม : เดี๋ยวนี้ไม่ได้เป็นแล้ว คือพอดีไม่มีเวลาอ่าน ก็ชอบอ่าน ก็อ่านไปเรื่อยๆ ไม่ได้อ่านเพราะว่าเชื่อทุกอย่างอยู่แล้วนะ แต่เอาหลายด้าน ประวัติศาสตร์มันอาจไม่ค่อยตรงเท่าไร คือประวัติศาสตร์มันจะเขียนยังไงก็ได้ เขียนว่ารักใครชอบใครยังไงก็ได้


จบการสัมภาษณ์