หลักการและความหมายของอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา
คณะกรรมการอำนวยการสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ภายใต้สังกัดมูลนิธิ
14 ตุลา ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจาก กทม. ญาติวีรชน และองค์กรที่เกี่ยวข้อง
โดยมีศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้วเป็นประธาน ได้มอบหมายให้ผู้ชนะการประกวดแบบอนุสาวรีย์สำหรับวีรชน
14 ตุลา เมื่อปี 2518 (นายเทอดเกียรติ ศักดิ์คำดวง) เป็นผู้พัฒนาแบบเดิมให้เหมาะกับยุคสมัย
ตามแนวคิด 2 ประการ ได้แก่
1) เคารพความจริงของประวัติศาสตร์
2) ให้ประชาชนส่วนต่าง ๆ เช่น เด็ก ผู้หญิง ศิลปิน กวี ชาวบ้าน มีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง
และให้มีความหมายกับสาธารณชนที่จะเป็นบทเรียน เป็นเครื่องจูงใจให้คนไทยมุ่งแก้ปัญหาและต่อสู้เพื่อสิ่งดีงามให้กับสังคมไทย
จากแนวคิดดังกล่าว สถาปนิกได้นำไปพัฒนาแบบอนุสรณ์สถานฯ ให้เป็นอนุสรณ์สถานที่เน้นความสงบนิ่ง
โล่งกว้าง และเรียบง่าย เพื่อรำลึกและคารวะต่อวีรชน มีประติมากรรมรำลึกอยู่ใจกลาง
(ภายหลังจึงเรียกว่า สถูปวีรชน) อาคารประกอบด้วยสวนหย่อม ลานกิจกรรมสำหรับการอภิปราย
ฟังเพลง และการแสดงกลางแจ้ง มีส่วนที่เป็นห้องประชุม ห้องสมุด (ภายหลังเรียกว่า
ห้องอ่านหนังสือ) และพิพิธภัณฑ์แสดงประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย
สำหรับประติมากรรมรำลึกหรือสถูปวีรชนนั้น ประกอบด้วยฐานทรงสี่เหลี่ยมสูง
5 เมตร ช่วงกลางปลายสอบเข้ายาว 7 เมตร และยอดแหลมทรงสถูปสีทองสูง 2
เมตร รวมความสูงทั้งสิ้น 14 เมตร
ยอดสถูปเป็นรูปทรงสากลที่แสดงถึงจิตวิญญาณสูงส่งของมวลมนุษย์ ส่วนปลายยอดสถูปมีรอยหยักคล้ายสร้างไม่เสร็จ
เพื่อสื่อความหมายว่าภารกิจการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยังไม่สิ้นสุด ยอดปลายสถูปทำด้วยวัสดุโปร่งแสงเพื่อให้เห็นแสงไฟที่ส่องออกมาจากภายในตัวสถูป
แฝงนัยถึงไฟแห่งประชาธิปไตยที่เป็นอมตะ
ฐานสถูปทั้งสี่ด้านบุด้วยกระเบื้องดินเผาที่แข็งแกร่ง สลักรายชื่อวีรชน
14 ตุลา และรายล้อมด้วยแผ่นอิฐสลักบทกวีที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิเสรีภาพ
ความเสียสละ เด็กและผู้หญิง กรรมกรและชาวนา นอกจากนั้นยังจัดทำแผ่นอิฐแกะลายจากแบบภาพถ่ายหรือภาพศิลปะจากการสร้างสรรค์ของศิลปิน
เพื่อสื่อถึงการเติบโตงอกงามของสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย

|
|