บทสัมภาษณ์ - กิตติ จัยวัฒน์
วันที่ 20 พฤษภาคม 2552 เวลา 14.40 น.
สถานที่ บริษัท เอ ที พี เอ็นเตอร์ไพร์ส ( ATP Enterprise )จังหวัดนนทบุรี
ผู้สัมภาษณ์ : โชติศักดิ์ อ่อนสูง
ชัชชล อัจนากิตติ
เบญจา
ตามโครงการของมูลนิธิ 14 ตุลา ในการรวบรวมปากคำของคนที่อยู่ในเหตุการณ์ เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลเพื่อการศึกษาต่อไป
ผู้สัมภาษณ์ : พี่เกิดพ.ศ.อะไรครับ
คุณกิตติ : เกิด พ.ศ.2493 ตอนนี้ก็อายุ 59 ปีกว่าละ
ผู้สัมภาษณ์ : เกิดที่ไหนครับ
คุณกิตติ : เกิดที่กรุงเทพครับ ถนนเยาวราช
ผู้สัมภาษณ์ : โตในเยาวราชเลย ใช่ไหมครับ
คุณกิตติ : ครับ ตอนเด็กๆ อยู่ที่เยาวราช
ผู้สัมภาษณ์ : คุณพ่อ คุณแม่ก็เป็นคนจีน หรือครับ
คุณกิตติ : คุณแม่เป็นคนจีน ส่วนคุณพ่อมีเชื้อไทยด้วย
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วตอนที่เกิด มีปัญหาเรื่องสัญชาติไหมครับ หรือคุณแม่เกิดในไทย
คุณกิตติ : คุณแม่เกิดในไทย ไม่มีปัญหาเรื่องสัญชาติ
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วครอบครัวของพ่อแม่ทำอะไรครับตอนนั้น
คุณกิตติ : พ่อผมขายเหล็ก พวกเหล็กเส้น เหล็กฉาก อยู่แถวโอเดียน
ผู้สัมภาษณ์ : อ๋อ คือพักที่เยาวราชเฉยๆ แต่ที่ทำงานอยู่อีกที่หนึ่ง
คุณกิตติ : ใช่ คุณพ่อก็เป็นลูกจ้าง เป็นพนักงานเก็บเงิน แล้วก็ดูแลหน้าร้าน ส่วนคุณแม่ก็เย็บเสื้อผ้า คือทีแรก ตอนที่อยู่เยาวราชคุณแม่ไม่ได้ทำ แล้วก็ย้ายมาอยู่สวนพลู ซอย 1
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นอายุประมาณกี่ขวบครับ ที่ย้าย
คุณกิตติ : ก็ยังเด็กฮะ ประมาณสัก 3 ขวบมั้ง
ผู้สัมภาษณ์ : อ๋อ แสดงว่าตอนอยู่เยาวราชก็จำอะไรไม่ได้
คุณกิตติ : จริงๆ จำอะไรไม่ค่อยได้ แต่ว่าเราต้องกลับไปหาคุณยาย อาม่า อากง อาอี๊ อากู๋ ก็ยังอยู่ที่เยาวราช ก็จะต้องไปๆ มาๆ มันก็จำภาพได้หมดว่าที่นั่นเป็นยังไงบ้าง
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วบ้านเมืองสมัยนั้น เยาวราชเป็นยังไงบ้าง
คุณกิตติ : สมัยนั้นคนเยาวราช เขาจะเรียกสวนพลูว่าบ้านนอก เพราะว่าไม่มีความเจริญเลย แล้วก็ไม่ค่อยมีคนรู้จัก สมัยนั้นไม่ค่อยมีคนรู้จัก จะมีก็คนใหญ่ๆ โตๆ เขาจะไปซื้อบ้านใหญ่ อย่างเช่น หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านก็อยู่ในซอยสวนพลูนั่นนะฮะ เป็นบ้านใหญ่
ผู้สัมภาษณ์ : สมัยนั้นเป็นบ้านนอก
คุณกิตติ : ยังเป็นบ้านนอก ครับ
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วที่ว่าไม่เจริญ หมายถึงเรื่องถนน รึ ไฟฟ้า? สมัยนั้นเยาวราชนี่คือมีไฟฟ้าแล้ว ใช่ไหมฮะ?
คุณกิตติ : ใช่ๆ เยาวราชมีไฟฟ้าแล้ว แต่ว่าที่ซอยสวนพลู ตอนนั้นต้องเอาตะเกียงเจ้าพายุมาใช้ ซื้อน้ำมันก๊าดมา อัดน้ำมัน จุดไฟ กว่าจะมีไฟฟ้าเข้าไปก็นานหน่อย
ผู้สัมภาษณ์ : พอจำได้ไหมครับว่า อยู่ที่สวนพลูนานแค่ไหน?
คุณกิตติ : ก็อยู่มาจนเป็นหนุ่ม อายุประมาณสัก เรียนมศ.5 สมัยผมเรียน สมัยนั้น ของผมมันไม่มีป.7 ไม่มีป.6 สมัยนั้นผมเรียนแค่ป.4 พอจบป.4 แล้วก็ขึ้นม.1 แล้วก็ม.1 เรียนมาจนกระทั่งถึงม.3 แล้วก็กลับไปเรียนมศ.1 คือพอดีเค้าเปลี่ยน ไม่มีม.4 เริ่มมศ.1 ใหม่ แล้วก็เรียนไปกระทั่งถึงมศ.5 ก็เรียนต่อระดับอุดมศึกษา ทีนี้ตอนที่อยู่ซอยสวนพลูรู้สึกจะอยู่ถึงประมาณแค่สักม.6 หรือ มศ.5 แล้วหลังจากนั้นก็ย้ายไปอยู่ตลาดน้อย
ผู้สัมภาษณ์ : ความเปลี่ยนแปลงที่ซอยสวนพลูเป็นยังไงบ้างครับ ตั้งแต่เข้าไปอยู่แรกๆ จนถึง...?
คุณกิตติ : อ๋อ ก็เปลี่ยนไปเยอะเลย ตั้งแต่เข้าไปใหม่ๆ สมัยนั้นก็ ที่ผมอยู่ตรงนั้นก็ เป็นตัวตลาด จนกระทั่งต่อมาความเจริญมันเริ่มไป มีตลาดใหม่ ซึ่งห่างไปประมาณสักป้ายรถเมล์กว่าๆ ต้องวิ่งไปไกลขึ้น แล้วก็เมื่อก่อนก็ เพื่อนที่เรียนหนังสือด้วยกันก็จะมีทุ่งนา ซึ่งเวลาตอนช่วงบ่ายๆ โรงเรียนเลิกแล้ว ผมก็ไปเที่ยวในนา เป็นทุ่งนา มีควาย
ผู้สัมภาษณ์ : อยู่ในซอยสวนพลู?
คุณกิตติ : อยู่ในซอยสวนพลู อยู่ไม่ไกลจากบ้าน เราก็เดินไป เพราะฉะนั้นมันก็เป็นบ้านนอกจริงๆ ที่คนเยาวราชเขาว่า
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วตอนหลังเริ่มมีไฟฟ้า มีอะไรเข้าไป
คุณกิตติ : ครับ เริ่มมีไฟฟ้า สมัยแรกตอนนั้นเป็นไฟ 110 โวลต์ แล้วค่อยมาเปลี่ยนเป็น 220 โวลต์ เริ่มมีถนนที่ดีขึ้น เป็นลาดยาง จนกระทั่งมีรถเมล์เข้าไปหนึ่งสาย สาย 67
ผู้สัมภาษณ์ : ประมาณพ.ศ.ไหน
คุณกิตติ : เอ่อ พ.ศ.นี่ ผมจำพ.ศ.ไม่ได้แล้วล่ะ รถเมล์สาย 67 มันจะมีรถไอ้โม่งๆ หัวเป็นแบบไอ้โม่งอะไรอย่างนี้ฮะ นั่นละเป็นรถเมล์สายแรกที่วิ่งไปเทคนิคกรุงเทพ สมัยนั้นเป็นเทคนิคกรุงเทพ
ผู้สัมภาษณ์ : มหาวิทยาลัย
คุณกิตติ : ไม่ใช่มหาวิทยาลัยฮะ เดี๋ยวนี้เป็นราชมงคลวิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพ
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วเรื่องการเมืองสมัยนั้น พอจะจำได้ไหม
คุณกิตติ : คุณพ่อผมก็สนใจเรื่องการเมือง เราก็ฟังข่าว ติดตามข่าวกันอยู่เรื่อยๆ มีการเลือกตั้ง มีการปฏิวัติ อะไรอย่างนี้นะฮะ ก็ติดตามอยู่
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนเลือกตั้งปี 2500(ไม่แน่ใจ) ตอนที่เขามีรัฐประหาร ตอนนั้นพอจะจำบรรยากาศได้ไหมครับ
คุณกิตติ : คือถ้าปี 2500 นี่ ยังเด็กมาก เพิ่งจะอายุ 7 ขวบเอง ก็ยังไม่ค่อยรู้เรื่องอะไร
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วช่วงจอมพลสฤษดิ์ตายละครับ?
คุณกิตติ : โอ ช่วงนั้นเริ่มสนใจ สนใจตั้งแต่ตอนจอมพลสฤษดิ์ยังมีชีวิตอยู่ มีบางครั้ง บางครา บางที ท่านก็โผล่มาแถวซอยสวนพลู เป็นที่ฮือฮาเหมือนกัน เวลามาที พวกนักเลง ก็วิ่งหนี เพราะว่าในซอยบ้านผมจะมีนักเลงเยอะ นักเลงสมัยก่อนนะ เวลาตีกันมันจะตีกันเป็นกลุ่มๆ อย่างของผมอยู่ตลาดเก่า แล้วก็พวกตลาดใหม่ ถ้าพวกตลาดใหม่มาล่ะ เดี๋ยวก็มีเรื่อง ต้องไล่ตีกัน เขาก็จะวิ่งไล่ตีกัน ดาบยาวๆ ไล่ฟันกัน ฟันกลางหลัง อะไรอย่างนี้ ผมก็ยังเด็กนะ เวลาเขาฟันกันที เอ้า ปิดประตูๆ ปิดประตู แล้วก็วิ่งขึ้นไปดูบนหน้าต่าง ไปดูเขา บางคนก็วิ่งหนีไม่ทัน มาสู้กันอยู่ต่อหน้า ตรงช่องหน้าต่าง มันหลบมีด มันหลบดาบ ฟุ้บฟั้บๆ อะไรอย่างนี้ แล้วถ้าฝ่ายเราชนะ ก็จะวิ่งไล่ไปถึงถนนใหญ่ ไล่ไปจนเกือบถึงตลาดใหม่เลย เวลาที่จอมพลสฤษดิ์มา ตำรวจมา ทหารมา พวกนั้นก็จะวิ่งหลบ เข้ามาในซอยและตะโกนบอกพรรคพวก เฮ้ยๆ เร็วๆ หนีๆ อะไรอย่างนี้
ผู้สัมภาษณ์ : ทำไม จอมพลสฤษดิ์ไปทำอะไรครับ
คุณกิตติ : ท่านออกตรวจ ตรวจพื้นที่ทุกคืน เท่าที่ผมรับทราบนะฮะ กลางค่ำกลางคืนท่านก็จะออกมา พวกที่เป็นพวกนักเลงที่ชอบนั่งบนราวสะพาน คือ จากซอยสวนพลู ออกมาที่ถนนสาธร ที่ถนนสาธร ก็จะมีคลองสาธร แล้วก็จะมีสะพาน สะพานข้ามคลองสาธรที่ข้ามถนนคอนแวนต์ ทีนี้สะพานสมัยโบราณก็จะมีด้านราวสะพานข้างๆ ให้นั่งได้ ทีนี้พวกนักเลงในหมู่บ้าน ในซอยบ้านผมก็ไปนั่งกันที่ราวสะพาน อะไรอย่างนี้ ฉะนั้น พอเวลาทางทหาร ทางตำรวจมา (หัวเราะ) พวกนี้ก็วิ่งกัน หนีกลับเข้าบ้าน เป็นกิโลเลยฮะ วิ่งจากสาธรเข้ามา เป็นกิโล
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วอย่างนักเลงในหมู่บ้าน พี่ก็รู้จักหมด?
คุณกิตติ : ก็รู้จักกันทั้งหมด เพราะว่าผมก็ขายพวกขนมเล็กๆ น้อยๆ ขายมันแกว ขายสับปะรด แล้วบางทีเขาก็มาซื้อขนมแล้วนั่งดูทีวี อันนี้เริ่มโตแล้วนะฮะ
ผู้สัมภาษณ์ : ดูทีวีที่ไหน?
คุณกิตติ : ที่บ้านผม
ผู้สัมภาษณ์ : อ๋อ ตอนนี้พี่เป็นคนขาย
คุณกิตติ : อืม เป็นคนขายของ แล้วก็เปิดทีวีให้เขานั่งดู
ผู้สัมภาษณ์ : ที่บ้านขายของชำ เหรอฮะ?
คุณกิตติ : ไม่เชิงขายของชำ ก็แค่ของกิน ของกินที่เป็นข้าวตู่, ข้าวเกรียบ,ครองแครงกรอบพวกของขบเคี้ยว ที่นั่งกินไป ดูทีวีไปได้ แล้วก็ต่อมาเราก็พัฒนาเป็นแบบว่า ให้เด็กๆ ที่ตอนนั้นยังไม่มีทีวี สมัยก่อนคนที่มีทีวีก็มีน้อยมาก เราก็ ถ้าใครซื้อขนม ก็เข้ามานั่ง แล้วเราก็มีเก้าอี้เตี้ยๆ เล็กๆ เป็นเก้าอี้ยาวๆ นะ นั่งกับพื้นเตี้ยๆ ก็นั่งกันเยอะแยะ พวกผู้ใหญ่ๆ หน่อย เป็นนักเลงมั่ง เป็นอะไรมั่ง ที่ผู้ใหญ่หน่อยนะ เราให้เก้าอี้นั่ง ดูทีวี ดูหนังเป็นรอบๆ พอหนังจบ เราก็บอก เอ้า จบแล้ว ซื้อหนมต่อ(หัวเราะ) ซื้อหนมใหม่ก็อยู่ต่อได้
ผู้สัมภาษณ์ : อันนั้นคือช่วงโต
คุณกิตติ : ครับ ก็เริ่มอายุสัก 10 กว่าขวบแล้ว
ผู้สัมภาษณ์ : เมื่อกี้ตอนสมัยจอมพลสฤษดิ์ พี่ก็รู้จักจอมพลสฤษดิ์แล้ว เอ่อ...พอจอมพลสฤษดิ์ตาย ตัวพี่เอง หรือคนในชุมชน หรือครอบครัวพี่ มีความเห็นอย่างไรบ้างครับ
คุณกิตติ : ก็ทุกคนก็สรรเสริญนะฮะ สรรเสริญในคุณงามความดีที่ทำให้กับประเทศชาติ ท่านก็มองการณ์ไกล ท่านก็คงรู้ตัวท่านเองว่า อายุคงไม่ยาว ท่านก็พยายามทำทุกอย่าง ในช่วงที่ท่านอยู่ ก็ประเทศชาติก็เจริญขึ้น ผิดหูผิดตาเลย พวกนักเลง พวกที่ชอบไปหาเรื่องอะไรต่ออะไรก็ลดน้อยลง
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วพอจอมพลสฤษดิ์ตาย หมายถึงว่ามีปฏิกิริยา จะเรียกว่าอะไรล่ะ จากคน จากประชาชน ความเห็น จะเรียกว่าอะไรล่ะ(ไม่แน่ใจ)
คุณกิตติ : ผมรู้สึก ผมจำ ไม่รู้ถูกหรือเปล่านะ ตอนนั้นใกล้ๆ กับช่วงที่ประธานาธิบดีของอเมริกาเสียชีวิตด้วย จะอยู่ในช่วงใกล้ๆ กัน ใช่มั้ย ผมก็รู้สึกว่า เออ ทางโน้นเขาก็สูญเสียประธานาธิบดีเคนเนดี้ ทางนี้เราก็สูญเสียจอมพลสฤษดิ์ ประชาชนส่วนใหญ่ที่ผมสัมผัสด้วยก็เสียใจนะฮะ เสียใจ แล้วก็เสียดายคนที่มีความกล้าหาญ จอมพลสฤษดิ์ท่านก็กล้าหาญมาก แล้วเวลาท่านประกาศ ท่านก็ประกาศด้วยตัวของท่านเอง
ผู้สัมภาษณ์ : หมายถึงประกาศอะไร?
คุณกิตติ : ประกาศ อย่างเช่น ตอนที่ประหารชีวิตใครสักราย ก็จะมีออกข่าวมา ซึ่งพ่อผมก็จะต้องเปิดเสียงดังให้เพื่อนบ้านได้ยิน เปิดทีวีให้ดัง ใครรู้ก็วิ่งมา มานั่งฟังกัน คดีอย่างนี้ๆ ประกาศให้ยิงเป้า สนามหลวง
ผู้สัมภาษณ์ : จอมพลสฤษดิ์จะเป็นคนประกาศเอง?
คุณกิตติ : อืม ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียว (หัวเราะ) อันนี้ก็เป็นสำนวนของท่านที่เราก็ใช้ เอามาล้อเลียนอยู่เรื่อย ในบางครั้งเวลาที่เรา ที่บ้าน (หัวเราะ) เราก็บอก ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียว
ผู้สัมภาษณ์ : คือตอนนั้นก็ประมาณ 2506 พี่ก็อายุประมาณ ก็คือน่าจะอยู่ประมาณ ม.2 ม.3 ?
คุณกิตติ : 13 ปี 14 ปี
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วปกติ แล้วหลังจากจอมพลสฤษดิ์ตายมันมีความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทางการเมืองอย่างไรบ้าง เอาเรื่อง เขาเรียกอะไร สภาพแวดล้อมทางการพัฒนาอะไรก่อน
คุณกิตติ : คือ ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงเท่าไหร่ แต่มันก็เปลี่ยนนะ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนเร็ว หรือไม่ได้เปลี่ยนมาก สมัยต่อมา ตอนนั้นก็จะเป็นจอมพลถนอม กิตติขจร ก็จอมพลถนอม กิตติขจร ผมก็รู้จัก หรือ เคยได้ยินชื่อตั้งแต่สมัยท่านร่วมคณะปฏิวัติกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชน์ ก็จะมีจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งตอนนั้นเนี่ย ผมเนี่ย ชื่อกิตติ แล้วตอนก็มีน้องชายผมซึ่งมาเกิดทีหลัง คุณพ่อก็มาถามว่าชื่ออะไร ก็เลยบอกชื่อ ขจรศักดิ์(หัวเราะ) ก็เอาง่ายๆ เพราะว่าผมจำได้ ตอนนั้นท่านยังไม่เป็นจอมพลนะ แต่ก็ได้ยินพันเอก หรืออะไรเนี่ย ตอนที่ร่วมปฏิวัตินั่นล่ะ ถนอม กิตติขจร เราก็เลยบอก เอาขจรศักดิ์แล้วกัน พ่อผมก็เอาด้วย ก็เลยมีน้องชายชื่อขจรศักดิ์(หัวเราะ)
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วหลังจากเปลี่ยนจอมพลสฤษดิ์ เป็นถนอม ความรู้สึกของคน หรือ ความขาดหวังของคน ต่างกันไหม คือจอมพลสฤษดิ์ เขาจะมี IMAGE ของเขา พี่เองหรือคนในครอบครัวคาดหวังต่อจอมพลถนอม อย่างไรบ้างครับ?
คุณกิตติ : ก็มีบางอย่าง บางเรื่องที่เริ่มรู้สึกว่า ไม่ค่อยจะรวดเร็ว ช้า บางคนเขาก็ยังพูดกันว่าสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม ท่านทำให้เกษตรกรอยู่กับที่ ราคาพืชผล หรือแม้กระทั่งราคาข้าว หยุดอยู่กับที่ จะไม่ได้ขยับสูงขึ้น ซึ่งก็ถ้ามองในแง่ดี ท่านก็ช่วยอะไรทุกอย่าง แต่ถ้ามองในแง่หนึ่งที่ว่า ในขณะที่โลก สังคมต่างประเทศ เขาขยับกันขึ้นไปแล้ว ของเรา เกษตรกรยังถูกกดอยู่ ซึ่งอันนี้ จริงไม่จริงผมก็ไม่ทราบนะฮะว่า กลไกของรัฐบาลไปกดจริงหรือเปล่า ที่มันเกิดขึ้น หรือว่าความจริงมันอยู่อย่างนั้น
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วทีนี้ เมื่อกี้พี่อยู่ที่พักที่ซอยสวนพลูจนถึงมศ.5 หรือพอจะจำเป็นพ.ศ.?
คุณกิตติ : พ.ศ.นี่จำไม่ค่อยได้ น่าจะอยู่ประมาณม.6 หรือ มศ.5 นั่นแหล่ะ
ผู้สัมภาษณ์ : คือม.1-3 ไปแล้วรอบหนึ่ง เป็นมศ.3 อีกรอบหนึ่ง?
คุณกิตติ : ใช่ๆสมัยนั้นมี ป.1 ถึงป.4แล้วขึ้นม.1ถึงม.3 แล้วก็มศ.1-3 อีกรอบหนึ่ง แล้วก็มศ.4-5 ซึ่งรวมกันก็เป็น 12 ปี เหมือนสมัยนี้ ป.1-6 และ ม.1-6 ก็12 ปีเท่ากัน ตอนมศ.4-5 ผมมาเรียนอยู่ที่ผะดุงศิษย์พิทยา ที่บางซื่อ ตอนก่อนหน้ามาผะดุงศิษย์พิทยา ผมอยู่ที่ศิริทรัพย์ ที่ถนนทรัพย์ ก็จบมศ.3 ผมอยู่มศ.4-5 ที่ผะดุงศิษย์พิทยา ที่บางซื่อ ซึ่งตอนนั้นเนี่ย สถานที่เรียนก็ไกลขึ้นนะฮะ ตัวบ้านก็ย้ายไปไกลขึ้นเหมือนกัน คือย้ายไปตลาดน้อย
ผู้สัมภาษณ์ : ทำไมถึงย้ายบ้าน?
คุณกิตติ : ทำไมถึงย้ายบ้าน ก็ หาทำเลที่มันทำการค้าได้ เพราะตอนที่อยู่ในซอยสวนพลู คุณพ่อก็ไม่ได้ทำการค้าที่บ้าน ก็เป็นแค่หลงจู๊ที่โอเดียน ทีนี้เมื่อย้ายมาที่ตลาดน้อย เราอยู่ริมถนนเลย ถนน ซอยพิทยลาภ แยกจากถนนเจริญกรุง ซึ่งก็เปิดหน้าร้าน ก็เอาเหล็ก เอาอุปกรณ์ที่เขาขายกันมาไว้ที่นี่ วันไหนผมหยุดอยู่กับบ้าน ผมก็มาช่วยเขาขาย
ผู้สัมภาษณ์ : ช่วงนั้นเป็นรัฐบาลของถนอม?
คุณกิตติ : ใช่ ช่วงนั้นยังเป็นรัฐบาลจอมพลถนอมอยู่ แล้วก็มีการปฏิวัติตัวเอง นะฮะ คศ.1971 ปี2513 เขามีปฏิวัติตัวเองเดือนพ.ย. มีการปฏิวัติตัวเอง ผมอยู่ที่ญี่ปุ่น แล้วก็เพื่อนชาวจีน เขาอ่านหนังสือพิมพ์ แล้วเขาก็มาบอกผม เฮ้ย กิตติ กลับบ้านไม่ได้แล้ว ทำไมเหรอ? เฮ้ย ที่บ้าน ที่ประเทศไทยเขาปฏิวัติแล้ว เหรอ ใครล่ะ? เขาก็เอ่ยชื่อออกมา แต่พูดเป็นภาษา คือเขาอ่านภาษาอังกฤษ แต่เขาอ่านแล้วออกเสียงเนียงจีน ผมเลยไม่รู้เรื่องเลย ตกลงใครปฏิวัติกันเนี่ย (หัวเราะ) แต่มีอยู่ตัวหนึ่ง เขาบอกว่า คล้ายๆ กับนายเนี่ย มันมีกิตติด้วย เราก็เลย อ๋อ ถนอม กิตติขจรแน่เลย งั้นไม่มีปัญหาหรอก เรากลับได้
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วตอนนั้นพี่ไปเรียน หรือ ไป ?
คุณกิตติ : ก็ตอนนั้นบริษัทส่งไป ตอนนั้นผมอยู่บริษัทเคี่ยนหงวน แผนกคอมพิวเตอร์ เอ็นซีอาร์
ผู้สัมภาษณ์ : คือจริงๆ พี่จบมศ.5 แล้วก็ทำงาน?
คุณกิตติ : ยัง ฮะยัง แล้วก็ไปเรียนต่อที่โทรคมนาคม นนทบุรี ซึ่งสมัยนั้น เขามีชื่อว่าวิทยาลัยโทรคมนาคมนนทบุรี ซึ่งต่อมาเขาก็เปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ชื่อใหม่ยาวเหยียดเลย
ผู้สัมภาษณ์ : อยู่ที่นนทฯ
คุณกิตติ : ใช่ๆ นนทบุรี ตรงต.ตลาดขวัญ ข้างๆ วัดลานนาบุญ ถนนประชาราษฎร์
ผู้สัมภาษณ์ : พระรามเจ็ด?คุณกิตติ : ไม่ใช่ อันนั้น ถ้าตรงสะพานพระรามเจ็ดนั่น สถานับเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ของผมนี่ นนทบุรีเลย ใกล้สะพานพระราม 5
ผู้สัมภาษณ์ : แต่ถ้าลาดกระบัง มันก็อยู่ลาดกระบัง?
คุณกิตติ : เดี๋ยวนี้อยู่ลาดกระบัง แต่ก็ยังมีบางสาขา มาเรียนอยู่ที่นนทบุรี
ผู้สัมภาษณ์ : อ๋อ แล้วคือเรียน เรียนอยู่ที่นี่กี่ปีครับ
คุณกิตติ : เรียนอยู่ที่นนทบุรีนะฮะ ผมเรียนอยู่ 3 ปี แล้วก็ที่นนทบุรีนี่ สถานที่คับแคบมาก ไม่มีสนาม ฉะนั้นเวลาเราฝึกรด. นี่ ต้องไปฝึกในวัดข้างๆ วิทยาลัย ก็คือวัดลานนาบุญ
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นเรียนเกี่ยวกับ อะไร?
คุณกิตติ : เกี่ยวกับโทรคมนาคมฮะ ก็คือ หลักสูตรก็จะมีโทรทัศน์ โทรศัพท์ วิทยุ ดาวเทียม อะไรที่มันขึ้นด้วย โทร ทั้งหลาย
ผู้สัมภาษณ์ : เกี่ยวกับการสื่อสาร?
คุณกิตติ : เกี่ยวกับการสื่อสาร โดยมีอาจารย์จากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาช่วยสอน เป็นโครงการที่ได้รับทุนจากประเทศญี่ปุ่น สนับสนุนการสอนที่ประเทศไทย
ผู้สัมภาษณ์ : พี่ไปญี่ปุ่น คือเรียนที่นั่นจบ ทำงาน แล้วก็ไปที่ญี่ปุ่นเลย
คุณกิตติ : พอผมเรียนจบที่นี่ ก็ไปทำงานที่บริษัทเคี่ยนหงวน แผนช่างเอ็นซีอาร์(นาทีที่ 17:25) เอ็นซีอาร์นี่เป็นบริษัทของอเมริกา เขาทำคอมพิวเตอร์ แล้วก็เครื่องคิดเงิน เครื่องเก็บเงินตามซุปเปอร์มาร์เกต ทุกวันนี้ เครื่องแบบนั้นน่ะ
ผู้สัมภาษณ์ : อ๋อ ที่เรียกว่า แคชรีจิสเตอร์
คุณกิตติ : นั่นแหล่ะ เขาเรียกว่าแคชรีจิสเตอร์ ทีนี้ เอ็นซีอาร์ เขามีสาขาอยู่ที่ญี่ปุ่น อยู่ที่ออสเตรเลีย แล้วก็ประเทศไทยเราไม่ได้เป็นสาขา แต่เป็นตัวแทนจำหน่าย ทีนี้เวลาเราจะไปเรียน เราก็ต้องไปเรียนที่ญี่ปุ่น หรือออสเตรเลีย หรืออเมริกา 3 แห่งนะฮะ ซึ่งตอนนั้นเขาก็เอาอาจารย์จากออสเตรเลียมา เพื่อจะมาทำการสอบว่าใครจะได้ไปเรียนต่อที่ออสเตรเลีย ไปเรียนต่อไอ้เครื่องเอ็นซีอาร์ ซึ่งผมก็ผ่านที่หนึ่ง เขาก็จะให้ไปออสเตรเลีย ผมก็ไม่ค่อยอยากจะไป อิดๆ ออดๆ แต่พอ ทำไปทำมา อยู่ๆ เขาก็บอกว่า เปลี่ยนละ ผมไปออสเตรเลียไม่ทันละ เพราะผมมัวแต่อิดๆ ออดๆ ไม่ยอมเซ็นสัญญาที่จะไป เขาก็บอกว่าไปญี่ปุ่น ไปญี่ปุ่น ปรึกษาพ่อบอกว่า ไป ญี่ปุ่นก็ไป ผมก็เลยเซ็นสัญญา ทำสัญญา
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นทำ ถึงปีหรือยัง?
คุณกิตติ : ปีนิดๆ
ผู้สัมภาษณ์ : ประมาณปีพ.ศ.ไหน
คุณกิตติ : ตอนที่ไปก็ ที่จริงทำงานไม่กี่เดือนเลยนะ เพราะว่า คือจบนี่ก็จบปี 1970 หรือพ.ศ.2513ผมขอใช้ปีค.ศ. เพราะว่าบริษัทเคี่ยนหงวน หรือ เอ็นซีอาร์ที่ผมทำงานเนี่ย เขาใช้ภาษาอังกฤษ ผมทำก็ต้องใช้ตลอด ผมก็มาเริ่มทำงานตั้งแต่เดือนมิถุนาของ 1970 แล้วก็เรียนเครื่องต่างๆในไทยเรียน 1 เดือน แล้วออก ภาคสนาม 1 เดือน แล้วเรียนเครื่องใหม่อีกเดือน สลับไปมาจน ไปญี่ปุ่นตอนเดือนกันยา 1971 เพราะนั้นมันอยู่ในช่วง กันยา ถึง ธันวา 2514 นั่นแหล่ะฮะ ที่มีการปฏิวัติ
ผู้สัมภาษณ์ : แต่ว่า พอรู้ข่าวว่าเกิดการปฏิวัติของจอมพลถนอมก็ไม่ได้มีปฏิกริยา
คุณกิตติ : ก็ไม่ได้ตื่นเต้นอะไร เพราะเขาบอกว่าก็เหมือนเดิม เพียงแต่ว่าเขายุบสภา แล้วก็ปฏิวัติเพื่อที่จะให้มีการเลือกตั้งใหม่
ผู้สัมภาษณ์ : ผมย้อนนิดหนึ่ง ว่าช่วงไหน พี่อยู่ที่ไหน คือ ช่วงที่ย้ายไปตลาดน้อย คือ มศ.5 ประมาณพ.ศ.2509-25010 ประมาณนั้น แล้วตอนนั้นก็คือเป็นสมัยถนอม แล้วก็ตอนเรียนโทรคมนาคม ก็ปี 2510 เรียนสามปี
คุณกิตติ : ใช่ครับ ช่วงเรียน มศ.5 ใกล้จบย้ายไปตลาดน้อย แล้วเรียนโทรคมนาคม 3 ปี พอจบก็ย้ายไปตลาดพลู
ผู้สัมภาษณ์ : เอ่อ พอจะจำบรรยากาศช่วงนั้นได้ไหมครับ ช่วงเรียนมศ.4-5 หรือช่วงที่เรียนที่นนทฯ บรรยากาศทางการเมือง ตอนนั้นก็เป็นสมัยจอมพลถนอมละ
คุณกิตติ : สมัยนั้นก็ยังอยู่ในลักษณะที่ไม่ค่อยมีเรื่องของกิจกรรมทางการเมือง คนก็ไม่ค่อยได้สนใจเรื่องของการเมืองเท่าไหร่ เขาก็มีการปฏิวัติตัวเขาเองด้วย ก็ไม่ได้ตื่นเต้นอะไร ก็ไม่ค่อยมีใครสนใจเรื่องการเมืองสักเท่าไหร่
ผู้สัมภาษณ์ : ช่วงที่มีการประกาศรัฐธรรมนูญปี 11 แล้วมีการเลือกตั้งเทศบาลปี 11 แล้วก็ พ.ศ.อะไร ประมาณ 1968 แล้วก็เลือกตั้งทั่วไป ปี 12 ก็ 69 ตอนนั้น
คุณกิตติ : โอเค ถ้าพูดถึงการเลือกตั้งปี 69 หรือ 2512 เนี่ย ผมเข้าไปเป็นอาสาสมัคร เขาเรียกว่าอะไรนะ นิสิตนักศึกษาอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้ง
ผู้สัมภาษณ์ : เข้าใจว่า ถ้างั้นคงได้ชื่อพี่มาจากหนังสือนี้แหล่ะ
คุณกิตติ : อ๋อ ครับ ผมไปเป็นนิสิตนักศึกษาอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้ง แล้วก็ไปอยู่หน่วยเลือกตั้ง แต่จำไม่ได้แล้วละว่าไปอยู่หน่วยที่ไหน
ผู้สัมภาษณ์ :งั้นเดี๋ยวพี่ช่วยเล่าเกี่ยวกับเรื่องการจัดตั้งนี้หน่อย เอาตั้งแต่เข้าไปร่วมได้อย่างไร เข้าใจว่ามีหลายมหาลัยมาก หลายสถาบัน
คุณกิตติ : อืม เข้าไปร่วมยังไงนี่ มันมีการเชิญชวนกันผ่านเข้ามาทางสโมสรนักศึกษา แล้วก็ทางรุ่นพี่เขาเอาสิ่งที่ นักศึกษาต่างสถาบัน หลายๆ สถานบัน แล้วก็มาทำงานร่วมกัน ทำสังเกตการณ์ นี่ฮะ
ผู้สัมภาษณ์ : ไม่ได้อยู่ในสโมฯ ไม่มีตำแหน่งในสโมฯ
คุณกิตติ : ผมมี ผมเองก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกรรมการนักศึกษานะฮะ ตำแหน่งจะเป็นสาราณียกร ทำหนังสือ ก่อนที่จะมาเป็นสาราณียกร ก็ ตอนปีต้นๆ ก็เป็นผู้ช่วยสาราณียกร คือมีรุ่นพี่เขาดึงเข้าไปให้ทำหนังสือ ผมก็เลยทำหนังสือตั้งแต่ปี 1 จนถึง ปี 3
ผู้สัมภาษณ์ : ทำไมถึงสนใจหนังสือล่ะพี่ ทำไมถึงอยู่ฝ่ายนี้
คุณกิตติ : ผมว่าเป็นเรื่องที่จะ บังเอิญ บังเอิญรุ่นพี่คนนั้น เขาเกิดอยากจะได้ ทำนองนี้มากกว่า ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน อาจจะเนื่องจากเขาก็คงมองๆ ว่า เออ นายคนนี้ชอบขีดๆ เขียนๆ อะไรอย่างนี้มั้ง
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วหนังสือที่พี่ทำส่วนใหญ่ เป็นประมาณไหน?
คุณกิตติ : อ๋อ ก็เป็นวารสารประจำเดือน วารสารของวิทยาลัย ประจำเดือน
ผู้สัมภาษณ์ : (เปิดหนังสือ) อันนี้ ชื่อ กรรมการการเลือกตั้ง?
คุณกิตติ : อ๋อ ใช่ พิจารณ์ ฟูอมรสวัสดิ์ เพื่อนผม รุ่นเดียวกัน วัฒนา ทิพาวรรณ อ๋อ สงกรานต์ แก้วกำเนิด ไพโรจน์ ......... พวกนี้รู้จักหมด เฉลิมเกียรติ แช่มชมดาว อ๋อ นี่ประธานกรรมการเหรอเนี่ย โอ นี่ผมเพิ่งเห็นนะ เพราะว่าเฉลิมเกียรตินี่ ผมไม่ได้รู้จักกับเขา ณ เวลานั้น จนกระทั่งมาทำงาน ก็ถึงมารู้จักกันที่ทำงาน โอ้ แล้วก็ไม่รู้ เพราะเขานี่เป็นรุ่นพี่นะ เฉลิมเกียรตินี่เขารุ่นพี่ วัฒนานี่ก็รุ่นพี่ ใช่ พวกนี้ พวกรุ่นพี่ อ้าว นี่ ประธานกรรมการ หรือว่า กรรมการ อ๋อ กรรมการ อ๋อ ประธาน ธีรยุทธ หรือ ไม่รู้ จำไม่ได้ละ ประธาน อ๋อ นี่ ผมไงไปอยู่เหรัญญิก ผมยังจำไม่ได้เลย(หัวเราะ) จำไม่ได้ อาจจะใช่มั้ง ต้องคอยรับเงิน จ่ายเงิน เพราะว่ามันจะต้องมีค่าใช้จ่าย เช่น ค่าใช้จ่ายรถที่วิ่งไปวิ่งมาในการที่จะตระเวนเอาข้อมูลนะฮะ เพราะว่าพอเวลาที่ปิดหีบแล้วมีการนับคะแนน ถ้านับคะแนนเสร็จก็ต้องจด จดเสร็จก็ต้องวิ่งไปอีกหน่วยหนึ่งไปจดต่อ ซึ่งตอนนั้นก็มันส์จริงๆ เลย ฝีมือคนขับนี่มันสุดยอด ขับเร็วจริงๆ เลย ปื๊ดๆ ปื๊ดๆ จอดปึ๊บ ลง จดๆ จดๆ เสร็จ กระโดดขึ้นรถ ปื๊ดๆ ปื๊ดๆ ไปอีกหน่วย
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นพอจะจำได้ไหม รถนี่เป็นรถเช่า รถยืม หรืออะไร
คุณกิตติ : เช่า แต่ว่าไม่ใช่รถผมนะ หมายความว่าผมทำหน้าที่เป็นเหรัญญิก คอยจ่ายสตางค์ให้เค้า แล้วผมก็คอยควบคุมเรื่องรถต่างๆ รถคันไหนจะต้องไปหน่วยไหน
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นพี่ประจำที่
คุณกิตติ : ก็นี่ ผมจำไม่ได้ว่าอยู่หน่วยไหน ผมยังนึกไม่ออก ลืมไปละ มันอาจจะเนื่องจาก ไปหลายที่มากในวันนั้น ไปหลายที่มาก
ผู้สัมภาษณ์ : งั้นก็เป็นไปได้ว่าพี่จะอยู่กับรถคันใดคันหนึ่ง แล้วก็
คุณกิตติ : ใช่ๆ จะมีรถอยู่คันหนึ่ง ซึ่งมันก็พูดติดตลก โอ้ย พี่ ไม่ต้องกลัวหรอก ผมขับเร็ว เพราะ ไม่ใช่รถผม เราก็ยิ่งตกกะใจใหญ่(หัวเราะ)
ผู้สัมภาษณ์ : อันนี้คนขับ (หัวเราะ)
คุณกิตติ : คนขับๆ ไม่ใช่รถผมหรอก ผมก็ตกกะใจ เฮ้ย พูดอย่างนี้ พูดเล่นน่า รถผมพี่ รถคนอื่นผมไม่กล้าขับอย่างนี้หรอก
ผู้สัมภาษณ์ : เดี๋ยว ผมย้อนมานิดหนึ่ง เรื่องการทำหนังสือสโมฯ ตอนนั้นเป็นวารสารรายเดือน ที่แจกจ่ายภายในสถาบัน
คุณกิตติ : ใช่ แล้วก็มีอาจารย์ที่ปรึกษา แล้วก็มีฉบับหนึ่งที่ผมไปล้อเลียนอาจารย์ที่ปรึกษา(หัวเราะ) เขาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาทำหนังสือ แต่ผมไม่ได้ไปปรึกษา แล้วผมก็ทำหนังสือเสร็จออกมา แล้วผมก็ส่งให้ท่านอ่านเป็นคนแรก แต่พอส่งอ่านเสร็จปุ๊บ สำเนาอื่นๆ ก็แจกไปด้วย ท่านก็เลยโกรธมากเลย ยังไม่ทันได้อ่านเลย แล้วก็มาใช้ในการเขียนอย่างนี้ ไม่สมควร ก็รีบไปดึงหนังสือกลับ เอามาแก้ใหม่
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วหนังสือ เนื้อหาส่วนมากจะเกี่ยวกับเรื่องอะไรครับ
คุณกิตติ : ส่วนมากเกี่ยวกับภายในรั้ว ภายในร่มรั้วชงโค เพราะว่าตอนนั้นเราก็มาปลูกต้นชงโคเอาไว้ แล้วก็เลยเริ่มเป็นสัญลักษณ์ แล้วก็มีเพลง ซึ่งเพื่อนผม ก็รุ่นเดียวกันนี่แหล่ะ เค้าเป็นคนแต่ง ร่มรั้วชงโค แต่งเสร็จแล้วก็เอาไปให้กับครูเอื้อ สุนทรสนาน ผู้ก่อตั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์ ให้ท่านใส่ทำนอง ใส่เพลง แล้วท่านก็ตกแต่งคำนิดๆ หน่อย ๆ แล้วก็เอามาร้องประจำสถาบันทุกวันนี้
ผู้สัมภาษณ์ : โอเค ทีนี้พอพี่อยู่ในสโมฯ แล้วก็มีการประกาศงานจากมหาลัย ไปสังเกตการณ์การเลือกตั้ง พี่ก็ไปเป็นกรรมการ เป็นเหรัญญิก เดี๋ยวช่วงหลังอาจจะให้พี่ช่วยทวนอีกทีว่า พอจะรู้จัก ใครบ้างที่มี connection ตอนนี้
คุณกิตติ : อ๋อ ได้ๆ
ผู้สัมภาษณ์ : ทีนี้เกี่ยวกับการเลือกตั้งปี 12 นะครับ พี่พอจะจำ มีอันไหนที่ยังจำได้บ้างเกี่ยวกับการสังเกตการณ์การเลือกตั้งครั้งนั้น
คุณกิตติ : ทั่วๆ ไป ก็เรียบร้อยดี เราส่งนักศึกษาไปอยู่ ทุกหน่วยเลือกตั้ง มีบัตรเสียเยอะ เพราะชาวบ้านไม่เข้าใจวิธี ตัดกระดาษปะ เพื่อลงคะแนนเสียง
ผู้สัมภาษณ์ : พี่มีหนังสือ เล่มนี้ยัง เก็บไว้บ้างไหม
คุณกิตติ : ไม่มี ไม่มีเลย นี่ เพิ่งจะเห็นเนี่ย เพราะว่าสมัยนั้น คือพอทำงานแล้วไม่ได้สนใจเรื่องเอกสารเท่าไหร่ สมัยนั้น ไอ้เรื่องพวกนี้นะฮะ ก็ทั่วๆ ไปก็เรียบร้อยนะฮะ ไม่ค่อยมีเหตุการณ์อะไรที่ตื่นเต้น แต่ว่ามีเพื่อนผมที่ทำงานอยู่ที่หน่วยอยู่คนหนึ่ง แต่ไม่มีชื่อในนี้ ไม่รู้ว่าอยู่หน้าอื่นหรือเปล่า นามสกุล ปูชิดเสถียร มันก็หัวแตก ในนี้มีมั้ย ชื่อ สุนทร เท่าที่จำได้ คือหัวแตก แต่ไม่รู้หัวแตกเพราะเดินไปชนอะไร ไม่มั่นใจ สุนทร ปูชิดเสถียร ตัวสูงๆ ไม่เจอชื่อ หัวแตกก็เลยพาส่งโรงพยาบาล แค่นั้นเอง
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วหลังจากนั้นละครับ ก็คือที่ว่าเรียน แต่คือการไปทำงานส่วนนี้ ก็คือไม่มีผลกระทบ กับชีวิต หรืออะไร?
คุณกิตติ : ไม่มี
ผู้สัมภาษณ์ : อันนี้ คือ เป็นช่วงก่อนที่จะมีรัฐประหารปี 14
คุณกิตติ : ใช่ๆ
ผู้สัมภาษณ์ : ก็เนี่ยครับ รัฐประหารตัวเอง
คุณกิตติ : อ๋อ รัฐประหารตัวเอง ใช่มั้ย 17 พฤศจิกา 14
ผู้สัมภาษณ์ : 17 พฤศจิกา 14
คุณกิตติ : อ๋อ
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วผลการเลือกตั้งอันนี้เป็นยังไงครับ
คุณกิตติ : ผลการเลือกตั้งก็ฝ่ายรัฐบาล ก็ชนะ
ผู้สัมภาษณ์ : เพื่อนพี่นามสกุลอะไรนะครับ
คุณกิตติ : อ่า สุนทร ปูชิดเสถียร ใช่แล้ว ฝ่ายแผนที่ เพื่อนผมก็อยู่หน่วยเลือกตั้งเดียวกัน แล้วก็หัวแตก
ผู้สัมภาษณ์ : พอเลือกตั้ง ฝ่ายรัฐบาลก็ชนะ ก็เป็นจอมพลถนอมเป็นนายกต่อ
คุณกิตติ : ใช่ๆ
ผู้สัมภาษณ์ : ทีนี้ พอปี 13 พี่ก็เรียนจบ มาทำงาน ไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น ทีนี้รู้ข่าวรัฐประหารปี 14 ก็คือจากเพื่อนที่ญี่ปุ่น
คุณกิตติ : ใช่ ตอนนั้นอยู่ที่ญี่ปุ่น ใช่ พฤศจิกาใช่ไหม ใช่ งั้นอยู่ในช่วง ที่ว่าผมอยู่กันยา ถึง ธันวา
ผู้สัมภาษณ์ : ทีนี้ พี่อยู่ญี่ปุ่นถึงปีอะไรครับ
คุณกิตติ : อยู่ปีนั้นปีเดียวละครับ ตอนนั้นก็อยู่แค่กันยา สิ้นปีก็กลับละ
ผู้สัมภาษณ์ : ก็คือไปประมาณต้นปี พฤศจิกา ก็กลับละ
คุณกิตติ : ไม่ๆ อยู่ 4 เดือน กันยา ตุลา พฤศจิกา ธันวา ไปปี 1971
ผู้สัมภาษณ์ : ก็คือพอรู้ข่าว ตอนแรก เพื่อนญี่ปุ่นก็กลัวว่า จะกลับบ้านไม่ได้
คุณกิตติ : เพื่อนชาวจีน ไม่ใช่เพื่อนญี่ปุ่น คนไต้หวัน สมัยนั้น อเมริกา เขาแอนตี้แผ่นดินใหญ่ แล้วเขาก็คบกับจีนไต้หวัน ก็มีเพื่อนเป็นชาวไต้หวัน
ผู้สัมภาษณ์ : เขาก็กลัวว่าพี่จะกลับบ้านไม่ได้
คุณกิตติ : ใช่ แต่ก็ไม่มีปัญหาอะไร
คุณกิตติ : เขาไม่เข้าใจ เพราะประเทศเขาไม่มีอย่างนี้ เขาก็เลยคิดว่ามีการยึดอำนาจ สถานการณ์ไม่สงบแล้ว อะไรอย่างนี้ เพราะว่าตอนเวลาที่เขายึดอำนาจ เค้าก็อาจจะปิดสนามบิน เขาก็เลยกลัวว่าผมจะกลับบ้านไม่ได้
ผู้สัมภาษณ์ : พี่ก็กลับบ้านอีกประมาณเดือนกว่าๆ
คุณกิตติ : โอ ใช่ หลังจากนั้นอีกนาน
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วทีนี้ พอกลับมาก็คือ ทำงานอยู่ที่บริษัทเดิม
คุณกิตติ : ใช่ครับ ทำงานที่เดิม ทำงานใช้หนี้ ที่เขาส่งเราไปเรียน
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วทีนี้ หลังการรัฐประหาร บรรยากาศทางการเมือง รึว่า ความรู้สึกของประชาชน ตอนนั้นเป็นยังไงบ้าง
คุณกิตติ : คนก็ไม่ค่อยพอใจ แล้วก็มีความรู้สึกว่า เขาพยายามที่จะรักษาอำนาจของเขาไว้ตลอดเวลา แล้วก็ปัญหาเรื่องของคอรัปชั่น อีกตัวหนึ่งที่พูดกันมาก ตอนนั้นมีคอรัปชั่น อย่างเช่น ตอนนั้นเขาก็ทำถนน ถนนตัดจากดินแดงไปอโศก ชื่อถนนอโศกดินแดง แล้วก็จะมีโค้งหักศอกเลย
ผู้สัมภาษณ์ : อ๋อ ที่หลบที่ของ
คุณกิตติ : เออ ทำนองนั้น ก็ไม่รู้ล่ะ จะหลบที่ หรือ อะไรไม่รู้ หรือว่าจะพุ่งเข้าไปหาที่เค้า แล้วค่อยหักออกไปทำนองนี้ จนกระทั่ง ตอนหลัง ไม่มีละไอ้โค้งนี้ กลายเป็นสี่แยกไปละ มีเยาฮันอยู่ ใกล้สี่แยกอสมท. มันเป็นรัชดาภิเษกตัดสายอโศกดินแดง เขาเรียกอะไร สี่แยกพระรามเก้า (ดูแผนที่กัน)
ผู้สัมภาษณ์ : อ๋อ ตรงฟอร์จูน
คุณกิตติ : เออ ฟอร์จูน ตรงนั้นน่ะ มันจะโค้ง หักข้อศอกเลย แล้วคนตายก็เยอะ อุบัติเหตุก็เยอะ พอต่อมาหลังจากที่มีการเปลี่ยน จอมพลถนอม ไปต่างประเทศ จอมพลประภาส ไปต่างประเทศแล้ว โค้งนี้เค้าก็เลยเรียกกันว่า โค้งทรราช เดี๋ยวนี้ทำเป็นสี่แยกไป ก็เลยไม่มีโค้งทรราชให้เหลือ ให้มาด่า มาว่า กันอีกแล้ว
ผู้สัมภาษณ์ : หลังจากนั้น คือ พี่ก็ยังทำงานที่บริษัทเดิม
คุณกิตติ : ใช่ครับ อยู่บริษัทเคี่ยนหงวน
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนเกิด 14 ตุลา นี่ยังอยู่ต่างประเทศ
คุณกิตติ : ตอนนั้นมัน 1973 ตอนนั้นอยู่ออสเตรเลีย 1973 ก็คือ 2516 ก็ไปเรียนที่ออสเตรเลีย พฤษภาถึงกันยา แล้วตุลาก็กลับมาบ้าน
ผู้สัมภาษณ์ : อันนี้ คือกลับมาก่อนที่จะมีเหตุการณ์
คุณกิตติ : ก่อนจะมีเหตุการณ์
ผู้สัมภาษณ์ : ก็คือไปคล้ายๆ กับที่ไปญี่ปุ่น
คุณกิตติ : ก็ใช่ ไปคล้ายๆ กับที่ไปญี่ปุ่น ก็ไปเรียนช่วงเลือกตั้ง แป๊บเดียวก็จบ แล้วก็กลับมาสอนรุ่นน้องต่อ แต่สมัยก่อนเรียนเครื่องหนึ่งเนี่ย ใช้เวลานานนะ สมัยก่อนที่ผมไปญี่ปุ่น ก็ไปเรียนเครื่อง เครื่องเดียวนะเครื่องบันทึกเทปแม่เหล็ก เครื่องเดียวนั่นน่ะ เรียน 4 เดือนนะฮะ ทีนี้พอตอนที่ไปออสเตรเลีย ไอ้เครื่องจากเดิมที่เคยเรียน 4 เดือน เดี๋ยวนี้มันก็สั้นลง คือเรียนแค่เดือนเดียวก็จบ ทีนี้ผมก็มาเรียนอะไรที่มันใหญ่ขึ้น คือ คอมพิวเตอร์ แต่ก็ต้องใช้เวลาอีก 4 เดือน แต่ว่าหลังจากที่จบจากออสเตรเลียไป แล้วก็ ต่อมา ผมไปอเมริกาอีกทีหนึ่ง ก็ปรากฏว่า ไอ้เครื่องที่ผมเคยเรียนที่ญี่ปุ่นนะ มันเหลือเรียนวันเดียว(หัวเราะ) มันค่อยสั้นลงๆ
ผู้สัมภาษณ์ : หมายถึงอันนี้คือล่าสุด นานหรือยังครับที่มันเหลือวันเดียว ที่พี่ไป
คุณกิตติ : ก็หมายความว่า ไอ้เครื่องรุ่นนั้น ปี 1977 ที่ไปเรียนที่อเมริกา อาจารย์เขาจะไม่สอนลงไปลึกๆ เลยว่า ถ้าจะใส่ INPUT เข้าไปอย่างนี้ แล้วมันไปทำงานยังไง ไอ้ตัวไหนทำ ตัวที่สองทำ แล้วตัวที่สามเป็นยังไง สี่เป็นยังไง ห้าเป็นยังไง หกเป็นยังไง เขาไม่พูดนะ เขาจะพูดว่าใส่ INPUT เข้าไปแล้ว OUTPUT ออกมาเป็นอะไร จบ เพราะนั้น ไอ้ข้างในเขาไม่สอน ก็บอกว่า อะ ถ้ายังนี้ ถ้าเสีย ผมทำยังไง ก็คือ เปลี่ยนทั้งบอร์ดเลย ก็คือเปลี่ยนทั้งแผงเลย ตอนไปเรียนญี่ปุ่นนี่ ในแผงหนึ่งมีอะไร ต้องซ่อมลงไป ถึงตัวมัน ไดโอด ตัวเล็กๆหรือ ทรานซิสเตอร์ ตัวหนึงก็ต้องซ่อม แต่พอไปถึงอเมริกานี่ไม่เอา เปลี่ยนทั้งแผงเลย แผงนี้มีกี่ตัว โยนทิ้งไป เอาแผงใหม่ใส่ มันก็เลยทำให้วิธีเรียนสั้นลง เร็วขึ้น
ผู้สัมภาษณ์ : ทีนี้พอกลับมาถึงบ้าน ก็คือก่อนเกิดเหตุการณ์14 ตุลา
คุณกิตติ : ก่อนเล็กน้อย แต่ว่ามันเริ่มครุกรุ่นมาแล้ว คือจะมีการจับพวกประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย
ผู้สัมภาษณ์ :คือตอนรู้ข่าวว่ามีการจับนี่ ตอนนั้นอยู่ที่ไทยแล้ว หรือเปล่าครับ
คุณกิตติ : ยัง ตอนนั้นอยู่ที่โน่น
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วตอนนั้นก็รู้ข่าว
คุณกิตติ : ใช่
ผู้สัมภาษณ์ : กลับมานี่ ด้วยเหตุผลเรื่องนี้หรือเปล่าครับ
คุณกิตติ : อ๋อ ไม่ๆ พอดีกำหนดต้องกลับพอดีด้วย
ผู้สัมภาษณ์ : ทีนี้พอกลับมาถึงแล้ว ตอนนั้นมีการชุมนุมรึยังครับ ตอนมาถึง
คุณกิตติ : ยังไม่เยอะฮะ แต่ก็เริ่มมีการชุมนุม ก็ค่อยๆ มากขึ้นๆ จนกระทั่ง
ผู้สัมภาษณ์ : พอจะจำวันแรกที่ได้ไปร่วมชุมนุม ได้ไหม
คุณกิตติ : อ๋อ ผมไปร่วมอยู่แค่คืนสุดท้ายวันเดียว พอผมไปร่วมแล้วก็วงแตกเลย(หัวเราะ)
ผู้สัมภาษณ์ : คืนวันที่ 13
คุณกิตติ : คืนวันที่ 13 คืนเดียวนั่นแหล่ะ
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นอยู่ที่ไหน ที่ไปนี่คือไปที่ธรรมศาสตร์
คุณกิตติ : ไป จะไปที่ธรรมศาสตร์ แต่ว่าไปไม่ถึงธรรมศาสตร์ คือว่ารถก็เข้าไม่ได้ ก็ไปได้ถึงแค่ถนนราชดำเนิน ตรงหน้ากรมประชาสัมพันธ์
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นคือ คนออกมาแล้ว
คุณกิตติ : คนกำลังเริ่มออกมา เริ่มออกมาจากธรรมศาสตร์
ผู้สัมภาษณ์ : เขาเดินขบวนตอนเที่ยงวันที่ 13 เริ่มเคลื่อนขบวนวันที่ 13
คุณกิตติ : 13 นั่นแหล่ะ แต่ผมจำเวลาไม่ได้ ไม่รู้ ผมไปถึงนั่น แต่ว่ามันอยู่ในช่วงบ่าย
ผู้สัมภาษณ์ : ผมย้อนนิดหนึ่งละกัน คือ กลับมาถึงแล้ว ทำไม โอเค กลับมาถึงแล้วเรารู้ข่าวมากขึ้น ข่าวที่ไทยเป็นยังไง ตอนนั้น คือ เท่าที่พี่รู้ รู้จากสื่อ หรือ จาก
คุณกิตติ : ก็มีสื่อด้วย ดูทีวีด้วย ดูวิทยุด้วย ฟังจากเพื่อนๆ คุยกันบ้าง แล้วก็ จากการที่เราเอง เราก็ได้ไปเปิดหูเปิดตา ทั้งญี่ปุ่น ทั้งออสเตรเลีย ก็คิดว่าประเทศเราก็น่าจะมีประชาธิปไตย เราว่า เราก็คิดในใจเรานะ ว่าถ้ามีประชาธิปไตย แสดงความคิดเห็นอะไรกันออกมา แล้วก็ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับ เรื่องของโทรคมนาคมที่ผมไปเรียนนะฮะ ผมก็รู้สึกว่า ของเรานี่ถูกบีบบังคับมากๆ ไม่เหมือนต่างประเทศ
ผู้สัมภาษณ์ : บีบบังคับ ยังไงครับ
คุณกิตติ : ก็ เราไม่สามารถจะมี พวก WALKY TALKY มีอะไรที่มันเอามาใช้ สื่อสารส่วนตัว อันนี้ ต้องไปขออนุญาต ในขณะที่ต่างประเทศนี่ เราจะไปหาซื้อ แล้วก็เอาไปใช้ได้เลย แต่ของเราไม่ได้ อย่างพวกเครื่อง หรือแม้กระทั่ง อย่างโทรศัพท์ เอาง่ายๆ ต่างประเทศ เขาขอปุ๊บก็ได้ปั๊บ ของเราทำไมมันต้องไปเข้าคิวกัน ต้องรอกัน เป็นปีๆ เลยนะ แล้วก็แพงด้วย พวกนี้คือสิ่งที่มีความรู้สึกว่า
ผู้สัมภาษณ์ : ความเป็นประชาธิปไตยมันไม่เกิด
คุณกิตติ : เออๆ คนไทย ความเป็นประชาธิปไตยยังไม่เกิด ทุกอย่างนี่รัฐจะคุมไว้หมด ก็เลยคิดว่ามัน น่าจะเกิด น่าจะเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้
ผู้สัมภาษณ์ : คิดว่าจะไปร่วม
คุณกิตติ : ก็เลยคิดว่าจะไปร่วม
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วได้ชวนใครไหม ชวนเพื่อน ญาติพี่น้อง
คุณกิตติ : ไม่ชวนใครเลย ตอนนั้นคิดแค่ว่าจะไปดูว่าเป็นยังไง แล้วก็คิดว่าไปแล้วจะไปช่วยอะไรเขาได้หรือเปล่า ยังไม่มั่นใจ
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้น บ้าน พักอยู่ที่ไหน ก่อนที่จะเดินทางออกมา
คุณกิตติ : ปีนั้นน่ะนะ ปี 1973 เดือนพฤษภาคม ผมก็ย้ายบ้าน จากตลาดพลู ย้ายไปที่เมืองทอง 1 แจ้งวัฒนะ พอย้ายมาอยู่ที่เมืองทอง 1 โทรศัพท์ก็ไม่มี อย่างที่บอก ขอก็ไม่ได้ ต้องเข้าคิวด้วย ต้องเสียสตางค์ด้วย อะไรด้วย ก็เลยไม่ได้โทรบอกใคร ไม่โทรหาใคร ทีนี้ก็ ที่บอกว่า ก่อนไปออสเตรเลีย ผมขายรถไป ก็ไม่มีรถใช้ ก็เลยยืมรถพ่อ รถปิ๊กอัพ ก็ขับไป
ผู้สัมภาษณ์ : ขับมาจากบ้านเมืองทอง
คุณกิตติ : ขับจากบ้านเมืองทอง 1 เนี่ย แล้วก็ไปจนกระทั่งถึงที่หน้ากรมประชาสัมพันธ์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยอยู่ที่นั่น ตอนนั้นมันเป็นศูนย์ ที่มันโดนไฟไหม้ในเหตุการณ์นั้นน่ะ มันมาอยู่ตรงหัวโค้ง โค้งๆ จากถนนราชดำเนิน แล้วคุณจะเลี้ยวขวาไปพระปิ่นเกล้า นั่นแหละมันอยู่ตรงนั้น
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วพี่ขับมาจากเส้นไหน จากพระปิ่นเกล้า
คุณกิตติ : ไม่ฮะ ผมไม่ได้ใช้ปิ่นเกล้า ขับมาจากราชดำเนิน ขับมาจากทางสะพานมัฆวาน ขับผ่านหน้าโรงหนังเฉลิมไทย ผ่านหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนกระทั่งมาถึงตรงหน้ากรมประชาสัมพันธ์
ผู้สัมภาษณ์ : ก็มาติดคน
คุณกิตติ : ก็มาติดคน ติดอะไร ต่ออะไร ผมก็จอดรถกลางถนนเลยนะ ก็คือกึ่งกลาง ขอให้รถมันสวนกันได้ ใช่มั้ย จอดมันตรงนั้นแหละ เสร็จแล้วก็เลยร่วมขบวนกับเขา แล้วก็เดินไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผมก็เดินไปถึงอนุสาวรียประชาธิปไตย ก็ไปหยุดที่อนุสาวรียฯ เขาบอกให้หยุดตรงนั้นนะ ก็ปราศรัยกันไป ความรู้สึกตอนนั้น มันก็เกิดความรู้สึกว่า พรุ่งนี้มันไม่ปลอดภัยแน่ละ พรุ่งนี้ มันต้องมีเหตุการณ์ที่ไม่ดีแน่เลย มันเกิดความรู้สึกขึ้นมา ว่าเหตุการณ์อย่างนี้มันไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย แล้วก็เหตุการณ์อย่างนี้เราเอง เราก็มานั่งวิเคราะห์ว่า ถ้าเราเป็นรัฐบาลเราจะจัดการอย่างไร แล้วฝ่ายที่กำลังเดินขบวนอยู่เนี่ย เขาก็ต้องเดินทางออกของเขา จนกว่าจะมีประชาธิปไตย ตรงนี้มันต้องเกิดการปะทะ เกิดจากความรู้สึกส่วนตัว พอเริ่มตกดึกเข้าๆ มันเริ่มมืดๆ เนี่ย ผมเริ่มออกไปชักชวนให้พวกผู้หญิงกลับบ้าน ที่ผมไม่รู้จักละนะ เห็นเด็กผู้หญิง เห็นนักศึกษาสาว เห็นใครเด็กๆเนี่ยนะ ก็บอกเขาว่ากลับไปบ้านเถอะ ไปอยู่ที่บ้าน ไปดูข่าวที่บ้าน ถ้าจะมาไว้พรุ่งนี้ตอนกลางวันค่อยมา กลางคืนนี่อันตราย ไล่เขากลับไปเยอะมาก จำไม่ได้ ตรงที่อนุสาวรียประชาธิปไตย เสร็จแล้วเขาก็เปลี่ยนแผน เดินไปต่อที่พระรูป พอจากอนุสาวรีย์ก็ไปที่พระบรมรูปทรงม้า ตอนกลางคืนละ ตอนนี้เริ่มมืดละ ผมก็ไม่รู้ว่า ผมอยู่ได้ยังไงนะ โดยไม่ต้องกินข้าวไม่ต้องกินน้ำ
ผู้สัมภาษณ์ : แต่ตอนที่พี่ไปแนะนำให้ผู้หญิงกลับบ้าน พี่ก็ไม่ได้คิดจะกลับ
คุณกิตติ : ไม่ได้คิดกลับ ผมไม่ได้คิดกลับ แต่คิดจะไล่พวกผู้หญิงกลับ พวกผู้ชายปล่อยมันไว้ ไม่เป็นไร มันเอาตัวมันรอด แล้วก็ไม่ได้กินน้ำ แต่ว่าพอเดินไปสักพักก็จะมีหน่วยแจกน้ำมา เราก็เริ่มได้กินน้ำ แต่ก็ต้องระมัดระวังเหมือนกัน เพราะว่ามันจะมีคนแอบใส่อะไรบางอย่างลงไปในน้ำ ผมก็ต้องเลือกดู บางทีถ้าน้ำมาแบบไม่มั่นใจ ฝาปิดไม่แน่น ผมก็ไม่เอา บางอันที่อันนี้น่าจะแน่นดี น่าจะโอเค ก็กิน แล้วก็เดินไป จนกระทั่งมาถึง เกือบๆ จะถึงพระรูปละ ผมก็อยู่ติดกับฟันเฟือง
ผู้สัมภาษณ์ : ฟันเฟือง หมายถึงหน่วยการ์ด
คุณกิตติ : หน่วยการ์ด ถ้าสมัยนี้เขาก็เรียกว่าการ์ดพันธมิตร หรือว่าการ์ดนปช. การ์ดเสื้อแดง ทีนี้พวกฟันเฟือง พวกนี้ ที่เราใช้คำว่า ฟันเฟือง เพราะว่าเขานี่เป็นพวกอาชีวะ ช่างกล เขาใช้ฟันเฟือง แล้วเขาก็ล้อมรถที่คุณเสกสรร เขาอยู่บนรถ เขาล้อมโดยการเอามือคล้องมือ อย่างนี้เขาเรียกฟันเฟือง พวกนี้ก็จะเดินไป รถก็จะค่อยๆ เคลื่อนอยู่ ในวงล้อมอย่างนี้ แล้วรถก็จะเคลื่อนไปเรื่อยๆ ไปช้าๆ เพราะข้างหน้าก็มีคน ข้างหลังก็มีคน เดินไปจนกระทั่งถึงวังสวนมิกสกวัน วังปารุส ใกล้ๆ ตรงนั้นมันจะมีสถานีวิทยุสวนมิกสกวัน
ผู้สัมภาษณ์ : ห้าแยกมิกสกวันมันจะอยู่ตรงก่อนถึงลานพระรูป
คุณกิตติ : เออ ก่อนถึงลานพระรูป ก็คือเส้นทางที่เดินมาจากราชดำเนิน มาถึงแถวนั้น ก็มีฟันเฟืองคนหนึ่งที่ยืนอยู่ ก็เดินๆ ไป คุยกันไป เขาก็ถามผม พี่ใช่คนแถวนี้มั้ย ผมบอกว่า ก็ไม่ใช่คนแถวนี้หรอก แต่ผมก็คนกรุงเทพ พี่รู้มั้ย ไอ้นั่นอะไร อ๋อ ไอ้นั่นสถานีวิทยุสวนมิกสกวัน นั่นเสาอากาศ เครื่องส่ง พี่ แถวนี้มันมีห้องน้ำมั้ย มีห้องน้ำมันมี แต่ว่าคุณก็ต้องเดินไปไกลหน่อยนะ ต้องไปขอเค้า พี่ช่วยเข้ามาแทนผมหน่อยได้ไหม ผมปวดท้องเหลือเกิน แทนเดี๋ยวเดียว เดี๋ยวผมไปแล้วเดี๋ยวผมกลับมา อ๋อ ได้ๆ ก็เข้าไปแทนเลย
ผู้สัมภาษณ์ : ไปแทนฟันเฟือง
คุณกิตติ : แทนฟันเฟือง ตั้งแต่ตอนนั้นแหล่ะ แล้วไอ้หมอนั่นก็หายไปไหนก็ไม่รู้(หัวเราะ) เค้าอาจจะกลับมาแต่หาผมไม่เจอ ใช่ไหมฮะ เพราะว่ามันเดินเป็นร้อยคนเลย รอบ อาจจะหาผมไม่เจอ มันคงจำไม่ได้ว่าตอนออก มันออกตรงไหน นั่นก็ทำให้ผมต้องเดินไปตลอดทาง
ผู้สัมภาษณ์ : นี่คือล้อมคนไปทั้งหมด รึล้อมเฉพาะรถ
คุณกิตติ : ล้อมเฉพาะรถ รถที่นายเสกสรรเขาอยู่ข้างบน แล้วก็นายเสกสรรเขาก็ไม่มีแรงละ เพราะเขาอดข้าวอดน้ำประท้วงมาหลายวัน
ผู้สัมภาษณ์ : หมายถึงดูอาการ ดูอะไร ก็คือสังเกตเห็น
คุณกิตติ : คืออาการก็นอนอยู่ แต่ว่าบางช่วงบางคราว เขาก็ต้องขอหมอเลย หมอครับ ช่วยฉีดยาให้อีกสักเข็ม ผมจะต้องต่อสู้ต่อไปจนกว่าจะได้ประชาธิปไตย ถึงผมจะตายผมก็ไม่เสียดาย พี่น้อง เราพร้อมที่จะตายใช่ไหม เฮ ดูเขามีพลังในการปลุกเร้า แม้กระทั่งเขาไม่มีแรง แล้วก็พอได้ข่าวว่าทหารไปยันอยู่ข้างหน้า (เสกสรรพูด) ก็ ให้มันรู้ไปว่าจะมีการฆ่าคนไทยเกิดขึ้น ให้หนังสือพิมพ์ลงข่าวพรุ่งนี้ ว่าคนไทย จำนวนมหาศาล ต้องตายด้วยฝีมือทหาร เลือดจะทาแผ่นดินที่อยู่ต่อหน้าพระพักตร์รัชกาลที่ 5 พวกเราจะไม่ถอยไปไหน เราพร้อมที่จะตายอยู่ที่นี่ ทุกคนก็ เฮๆ ก็อยู่ตรงพระรูป จนกระทั่งดึกมากขึ้นอีก ก็บอกว่า เราจะเคลื่อนทัพไปร้องเรียนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระบารมีให้ท่านช่วย ให้ประเทศไทยได้มีประชาธิปไตย ให้ประเทศไทยสงบสันติ งั้นเราจะเคลื่อนไปเพื่อที่จะขอเข้าเฝ้า เพราะฉะนั้นก็เลยมีการเดินหน้าไปที่พระราชวัง สวนจิตรลดา ซึ่งทางผู้เดินขบวนไม่ได้มีวัตถุประสงค์อื่น มีวัตถุประสงค์เดียว คือไปถวายฎีกา แต่ว่า เท่าที่ผมได้ยินข่าวมาทีหลัง หลังจากวันนั้นแล้วก็คือ มีการบิดเบือนข่าวกันว่า กลุ่มประชาชนที่เดินขบวน จะไปทำร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะมีการไปปิดล้อมวัง ซึ่งจริงๆ แล้วไปไม่ได้ตั้งใจจะไปปิดล้อมวัง แต่ว่าขบวนนี่เมื่อเดินไป ถนนมันเริ่มแคบละ มันไม่กว้างเหมือนราชดำเนิน พอมันแคบปั๊บ คนก็เริ่มเบียดกัน คนก็เริ่มเป็นลม ก็มีการช่วยกันเอา แบกขึ้นข้างบนหัว แล้วก็ปลดไว้ข้างทาง ทีนี้เมื่อเคลื่อนไปจนกระทั่งถึงวัง เนื่องมันแคบด้วย แล้วคนมันเยอะด้วย ก็เลยต้องปีน อาจจะมีการแบ่งสายหลบออกไปอีกทางหนึ่ง ใช่ไหม โน่นมันเดินออกไปได้ มันก็ไป แล้วจนกระทั่งมันไปชนกัน เพราะวัตถุประสงค์คือจะไปวัง แล้วทุกคนก็จะไปล้อมวัง โดยไม่ได้มีความตั้งใจว่าจะไปโอบล้อมวัง แต่เหตุการณ์มันบังคับไว้อย่างนั้น แล้วเมื่อหัวแถวกับหัวแถวมันไปยันกันเข้าแล้วเนี่ย อะไรจะเกิดขึ้น มันไม่มีทางออก ออกไม่ได้ ข้างหลังก็ดันเดินเข้ามาอีก ไอ้ตรงกลางก็เลยต้องปีนต้นไม้ ปีนต้นไม้บ้าง หนีลงคลอง คลองฝั่งหนึ่งก็เป็นสวนสัตว์ดุสิต อีกฝั่งหนึ่งก็เป็นทางประตูเข้า คือผมอยู่กับฟันเฟือง ผมต้องอยู่ตรงที่เป็นจุดสำคัญ คือ ตรงประตูเข้าวัง
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นพี่อยู่จุดไหนครับ ก็คือมาจากราชดำเนิน แล้วก็น่าจะเลี้ยงขวา เข้าเส้น ศรีอยุธยา
คุณกิตติ : จากราชดำเนิน เลี้ยวขวาเข้า ศรีอยุธยา เลี้ยงซ้าย เข้าพระราม 5 ขวามือเป็นวัง ซ้ายมือเป็นสวนสัตว์ดุสิต เพราะฉะนั้นอยู่ตรงนี้ กลางนี้เลย ระหว่างวังกับสวนสัตว์ดุสิต เพราะว่าตรงนี้จะมีประตูใหญ่ที่จะเข้าไปในวัง เป็นประตูหลักเลย ประตู MAIN เลย นั่นละ รถหัวขบวนก็จะมาอยู่ตรงนี้อยู่ทางทิศตะวันตกของวัน ทีนี้ประชาชนส่วนหนึ่งก็เดินออกไปทางด้านนี้ ทีนี้เราก็หยุดรออยู่ คนข้างหลังมันก็ดัน เมื่อมันดัน เราก็ต้องดันออกไป ทีนี้ประชาชนส่วนหนึ่งก็เดินออกไปทางด้านนี้ เข้ามาทางนี้ ออกไปทางนี้ คือไปทางทิศใต้ของวังแล้วเลี้ยวซ้ายมา ทางทิศตะวันออกของวัง แล้วเลี้ยวซ้าย มาทิศเหนือของวัง แล้วเลี้ยวซ้ายอีกที มาทิศตะวันตกของวัง ก็มาเจอกับรถหัวขบวนที่จอดอยู่ แล้วทีนี้เมื่อมันมาชนกันแล้ว ไอ้ข้างหลังจะดันอยู่ มันก็ไปไม่ได้ มันก็ดันอยู่อย่างนี้ ก็เลยล้นลงไปในคลอง ขึ้นไปบนต้นไม้
ผู้สัมภาษณ์ : คือตอนนั้นรถนำขบวน ก็ไปถึงหน้าวังตั้งแต่กลางคืนแล้ว
คุณกิตติ : กลางคืน
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วก็จอดอยู่ที่นั่น
คุณกิตติ : จอดอยู่ที่นั่น
ผู้สัมภาษณ์ :แล้วระหว่างนั้น
คุณกิตติ : เราก็เจรจากับทางทหารที่รักษาพระราชวัง ที่จะขอเข้าเฝ้า แล้วในช่วงนั้นเนี่ย ผมก็สาละวนกับการช่วยคนป่วยละช่วงนี้
ผู้สัมภาษณ์ : คนที่เป็นลม
คุณกิตติ : คนที่เป็นลม คนที่โดนเบียด จนเจ็บ จนไม่ไหว ใครตัวเตี้ย ก็จะไม่มีอากาศหายใจ โอ้ย เยอะมากเลย ก็สาละวนกัน ช่วยกัน ไม่รู้จะทำยังไง แล้วก็ทางลีดเดอร์ที่อยู่บนรถ ก็ลงจากรถเข้าไปในวัง ก็ไม่มีใครควบคุมสถานการณ์ ณ เวลานั้น ก็อยู่ในท่ามกลางความโกลาหลอยู่นานเลย จนกระทั่งเกือบจะเช้ามั้ง ก็มีการ ออกมา แล้วประกาศว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงให้ข้อคิดว่า ประเทศชาติก็ต้องมีรัฐบาล รัฐบาลก็จะเป็นผู้ที่มีความอาวุโส มีประสบการณ์ นิสิตนักศึกษาก็เป็นคนที่มีสติปัญญา มีสมอง มีความหนุ่มแน่น มีความตั้งใจ ถ้าทั้งสองฝ่ายนี้มาร่วมมือร่วมใจกัน ประเทศชาติก็จะไปได้ดีขึ้น ขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ ต้องไปด้วยกัน ก็ขอให้ยุติเรื่องนี้
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนนั้นคือจอมพลถนอมก็ยังไม่ได้ลาออก
คุณกิตติ : ยัง ก็ยัง ทุกคนก็ยุติ ก็ไม่รู้จะทำยังไง คือถวายฎีกาแล้ว พระองค์ท่านก็ให้ปรองดอง ก็เลยบอกว่า ก็ให้สลายตัว ให้กลับ เพราะว่าก็เหนื่อยกันมามาก ก็ค่อยๆ สลายตัว แล้วก็สลายตัวจริงๆ กลับจริงๆ แยกย้ายกันไป ตอนสักตีห้ามั้ง เกือบๆ เช้าละ ผมก็เดินกลับเพื่อจะไปเอารถ ใจก็นึกในใจว่า ดีละ จบละ สบายใจว่าไม่มีเหตุการณ์รุนแรง แต่ก็ยังงงๆ อย่างนี้แล้ว มันจะยังไงต่อ
ผู้สัมภาษณ์ : รัฐบาลก็ยังอยู่
คุณกิตติ : ก็ยังอยู่ รัฐบาลยังอยู่
ผู้สัมภาษณ์ : ก็คือเดินกลับทางเดิม ทางราชดำเนิน
คุณกิตติ : อ่า ผมก็เดินกลับ จากวังสวนจิตร เดินมาราชดำเนิน เดินมาจนกระทั่งถึงศาลาเฉลิมไทย ก็มีพวกที่ตามข้างหลังมา วิ่งมากันใหญ่เลย กลับๆ พวกเรา กลับๆ กลับไปไหน? พวกเราข้างหลังน่ะโดนโจมตี ตอนนี้ตำรวจมันตีพวกเรา ตำรวจมันตีนะ มันยิงแก๊สน้ำตา แล้วก็ตีผู้หญิง โดนตีตกคลองเลย ตกคลองไหน? คลองข้างวังเลยเหรอ โอ้ มันขนาดนั้นเลยเหรอ กลับๆ เร็วๆ พวกมันก็วิ่งมา แล้วก็เรียก พวกที่เดิน เดินอยู่ข้างหน้าผมก็เยอะ เรียกให้กลับไปช่วย
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วตอนนั้นพี่กลับไปช่วยไหม
คุณกิตติ : ผมก็มา คิดระยะทาง จากเฉลิมไทยไปพระราชวังสวนจิตร จากเฉลิมไทยไปเอารถ เอารถแล้วขับรถไปจะเร็วกว่า ตอนนั้นรถมง รถเมล์ไม่มีแล้วนะ เช้านั้นยังไม่วิ่ง ตอนช่วงนั้นยังไม่มี ผมก็ต้องเดินไปเอารถ พอขึ้นรถได้ก็รีบวิ่งไป ขับไปข้างวัง ไปถึงถนนศรีอยุธยา ตรงมุมวัง โอ้โห้ ฝั่งตะวันตกของวังมันมีแต่แก๊สน้ำตา มันพร่า มืดมากเลย
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วก็มีควันที่ออกมาจากแก๊ส
คุณกิตติ : เออ มันยังยิงกันอยู่ ผมขับไปถึงสุดทางทิศใต้ของวังนู้น แล้วขับกลับมาหลายนาทีนะ มันยิงไม่หยุดเลย ก็จะฝ่าเข้าไปด้านตะวันตกของวัง จะฝ่าไอ้แก๊สน้ำตาเข้าไปให้มันเห็นว่าเกิดอะไรกันแน่ แต่พอเข้าไปนิดนึง ก็มีพวกนักศึกษาก็วิ่งขึ้นมาที่รถผม บอก พี่ๆ ช่วยพาผมออกไปข้างนอกหน่อย แสบตามากเลย รถผมมันติดกระจก เปิดแอร์ไง มันก็เลยไม่ค่อยรู้ ใช่มะ เขาก็ขึ้นมากระบะหลัง บอก พี่ๆ ช่วยพาผมออกไปข้างนอกหน่อย เออๆ ก็ได้ ก็กลับรถมันกลางถนนพระราม 5นั่นเลย แล้วก็พาออกมาตรงขอบถนน คือไม่ใช่ตรงช่วงที่อยู่ศูนย์กลางกับราชวัง ก็มาถึงตรงสนามม้า ส่งพวกนี้ลง ถามว่าแล้วจะไปทำยังไงต่อ พวกเขาก็ว่า เดี๋ยวผมจะกลับไปบ้าน ไปเอาปืนมาสู้กับมัน ผมก็มานั่งคิดต่อว่าแล้วผมจะทำยังไงดี เด็กมันก็บอกว่า พี่ พี่อย่าเข้าไปเลย สู้มันไม่ได้ พี่ต้องมีปืน รอพวกผมก่อน ผมก็หยุด รออยู่ตรงนั้น เอ รอแล้วเมื่อไหร่มันจะมาก็ไม่รู้ มันจะเหมือนกับเมื่อคืนไหม บอกไปเดี๋ยวเดียวแล้วก็จะกลับมา ก็จอดรถรออยู่ 5 นาที 10 นาที มันก็ไม่มีอะไรนะ แก๊ส เกิ๊ด มันก็ค่อยๆ จางลงนะ เปิดวิทยุฟัง วิทยุก็บอกว่า เกิดการปะทะกันระหว่างนักศึกษากับตำรวจ มีการยิงแก๊สน้ำตา ขอให้ทุกคนกลับบ้าน อะไรอย่างนี้นะนั่งๆ ดูก็ไม่เห็นมีใครวิ่งออกมาอีกแล้ว เออ ก็คงไม่มีใครแล้วละ ข้างในนั้น ถนนไม่มีละ ก็ขับรถไปเรื่อยๆ ขับมาเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงศูนย์การค้าสยาม ก็นึกขึ้นได้ว่า เออ มันมีร้านสีฟ้า อยู่ในสยามเคยไปกิน ร้านสีฟ้าเวลาหิว เออตอนนี้กำลังหิว ก็ไม่ได้กินข้าวตั้งแต่เมื่อคืน มื้อเย็นก็ไม่ได้กินนะ มื้อเช้า ต้องกินละ ก็เลยแวะที่ร้านสีฟ้า ถามว่าเปิดร้านยัง เขาบอก ก็ยังไม่เปิดดี แต่จะสั่งอะไร ก็เดี๋ยวทำให้ ก็เลยนั่ง กิน กินเสร็จเค้าก็เปิดวิทยุฟังนะ กลุ่มนิสิตนักศึกษาจะไปทำร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะไปลอบ คล้ายๆ พูดในเชิงไม่ดีทุกอย่างเลยนะ แล้วก็ยังทำร้ายตำรวจ ตำรวจจึงต้องสลาย ผมลุกเลยนะ ผมนั่งอยู่ในร้าน ผมลุกขึ้นมา บอก มันโกหกๆ ไม่จริง พวกเราไม่มีอาวุธ พวกเราไม่มีอะไร พวกเราไม่เคยทำร้ายใคร แล้วผมก็เดินออกไป พี่ๆ พี่ยังไม่ได้จ่ายสตางค์(หัวเราะ) อายเขาฉิบหายเลย ขอโทษๆ ผมไม่ได้เจตนาอะไร ก็จ่ายตังค์ไป แล้วก็เลยขับรถกลับไปที่เก่า ที่เด็กพวกนั้นบอกให้รออยู่ที่นั่น มันจะกลับมา ขับไป ไม่มีอะไร ก็เงียบหมดทุกอย่าง ก็เลยฟังข่าวต่อไป เขาก็บอกว่าเกิดการปะทะกัน มีการยึดสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ผมบอกก็สมน้ำหน้า มันออกข่าวว่า นักศึกษาไม่ดี ใช่มั้ย
ผู้สัมภาษณ์ : ที่แยกมิกสกวัน
คุณกิตติ : ไม่ใช่ ที่รถผมจอดเมื่อคืนนี้ ผมก็เลยขับรถมา ที่ราชดำเนิน แต่ก็มาได้แค่ สี่แยก คอกวัว ซึ่งเลยอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปอีกสี่แยกนึง เขาห้ามรถเข้าไปละ
ผู้สัมภาษณ์ : ใครเป็นคนปิด นักศึกษาหรือว่าทหาร
คุณกิตติ : ไม่ได้มีใครปิด แต่มีคนมาบอกว่าเข้าไปไม่ได้ ข้างในเขากำลังยิงกัน มีทหารข้ามมาจากฝั่งปิ่นเกล้า ผมก็เลยจอดรถ จอดรถเสร็จ ผมก็เลยไปช่วยเขา ประกาศให้รถอื่นกลับบ้าน บอก กลับบ้านๆ ไป ตรงนี้เป็นเขตอันตราย สักพักหนึ่ง จนกระทั่งมีคนอื่นมาช่วยผมทำตรงนี้ ผมก็เลยออกมาได้ ผมก็เดินไปที่ ที่ตรงที่ว่าสถานีวิทยุเนี่ย
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วพี่ไปห้ามคนอื่น แล้วพี่ก็เข้าไป
คุณกิตติ : เออ ผมเดินเข้าไป รถผมก็จอดไว้ตรงสี่แยกคอกวัว จอดตรงกลางถนนราชดำเนินเหมือนเดิม แล้วผมก็เดินเข้าไป แล้วทีนี้ก็ คือสถานีวิทยุมันก็เป็นกระจก กระจกทั้งนั้นเลย เพราะนั้นเรายืนอยู่ฝั่งโน้น เราก็จะเห็นข้างในฝั่งนี้ ในกรมประชาสัมพันธ์ แล้วเราก็จะเห็นนักศึกษาที่เข้าไปอยู่ข้างใน แล้วก็หลบทหารอยู่ เราก็เห็น แล้วไอ้ทหารมันถือปืนเดินเข้าประตู เราก็เห็น เราก็อยากจะตะโกนบอก อย่าโผล่ขึ้นมาเชียวนะ มันยืนอยู่ตรงโน้นนะ เดี๋ยวมันเห็นนะ เราก็บอกไม่ได้ แล้วไอ้นี่มันก็โผล่ขึ้นมาดู แล้วก็ ปังๆ ปังๆ ลงไปนอนดิ้นเลย คือเราก็เห็นภาพ คนโดนยิงจะๆ อยู่ตรงนั้น แล้วก็คนแล้วคนเล่าที่ถูกลำเลียงออกมา รถหวอก็วิ่งมา แล้วก็มารับไป ลำเลียงออกมาทีละคน ทีละชั้นๆ หามออกมา ทหารขึ้นไปกวาดทีละชั้น ยิงๆ ก็จะได้ยินแต่เสียงปืน แล้วก็จะเห็นคนที่ถูกลำเลียงออกมามีเลือดอาบ เราก็วิ่งมาที่รถพยาบาล ก็ช่วยอะไรกันไม่ได้ ไม่รู้จะทำยังไง แล้วสักพักก็จะมีเสียงฮ.บินมา พั่บๆ แล้วก็จะมีเสียงบอกหลบๆ หลบเร็ว เดี๋ยวมันจะทิ้งระเบิด เราก็วิ่งหลบหนีมัน จนกระทั่งมันน่าจะเที่ยงได้แล้วมั้ง ก็ยังยิงอยู่อย่างนั้น ก็ยังปราบกันไม่หมด จนกระทั่งผมเห็นผู้ชายคนหนึ่ง อ้วนๆ หัวล้านๆ เหมือนพ่อผมเลย ถูกหามลงมา มองแต่ไกล พ่อรึเปล่านะ เป็นไปได้เพราะเราเอารถพ่อมา พ่อคงมาตามรถ วิ่งไปเลยที่รถ วิ่งเข้าไปถึงรถพยาบาล เข้าไปดูให้ได้ว่าใช่พ่อเรารึเปล่า ไปดูใกล้ๆ แล้วไม่ใช่ แต่ใจก็นึกขึ้นมา เอ พ่อมาตามเรามั้ยนะ รถของเค้านี่ เอาไงดี เอารถไปคืนเค้าก่อน แล้วมาใหม่ ก็เลยขับรถกลับตอนเวลานั้นเลย แต่กลับมาถึงบ้านปรากฏว่า
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วเอารถไปส่งที่ไหน บ้านที่
คุณกิตติ : คือพ่อผมก็ยังอยู่ที่บ้านเมืองทอง พ่อผมอยู่กับผมที่เมืองทอง ผมอยู่กันสามคน มีพ่อ มีผม แล้วก็มีน้องชาย อยู่ด้วยกันสามคนแค่นี้ พอผมกลับไปถึงบ้าน ปรากฏว่าที่บ้านผม มีพี่สาว มีใครต่อใครหลายคน ทุกคนมารอผมอยู่ที่บ้าน ก็เลยนึกในใจ โชคดีละที่กลับมาให้เขาเห็นหน้า เขาจะได้สบายใจเสร็จแล้วผมก็เลยขอนอน
ผู้สัมภาษณ์ : คือตอนออกมา พ่อ หรือ น้องชาย ก็ไม่ได้รู้ใช่มั้ย ว่าจะออกมาร่วมชุมนุม
คุณกิตติ : ไม่รู้ ไม่บอก บอกแต่ขอยืมรถออกไปข้างนอก ซึ่งมันเคยยืมอยู่แล้วไง ยืมเค้า เค้าก็บอก โอเค ไปได้ ได้ เราก็ไป เราก็เลยนอนหลับเลย ข้าวกลางวันก็ไม่ได้กิน จนกระทั่ง ได้ยินเสียงทีวี พูดว่าในหลวงจะออกทีวี ก็เลยได้ตื่นขึ้นมา ตื่นขึ้นมาก็เห็นในหลวงออกทีวี ท่านขึ้นประโยคว่า วันนี้เป็นวันมหาวิปโยค ที่คนไทยฆ่ากันเอง พระองค์ท่านทรงร้องไห้ ผมเองก็ร้องไห้อยู่หน้าจอ
ผู้สัมภาษณ์ : เมื่อคืนนั้น เป็นคืนที่ในหลวงประกาศตั้ง สัญญา
คุณกิตติ : ตั้งอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ผู้สัมภาษณ์ : อันนั้นก็คือ หลังจากที่ 3 คน ลาออกไปแล้ว แล้วหนีออกประเทศไปแล้ว
คุณกิตติ : หนีออกไปแล้ว ใช่ ลาออกแล้วก็บินหนีไปต่างประเทศ ก็คือช่วงที่ผมหลับละ ผมก็เลยไม่รู้เหตุการณ์อะไร หลังจากที่ผมกลับมาแล้วหลับ ไม่รู้ว่า มีการเผา เผอ อะไรกัน
ผู้สัมภาษณ์ : ก็คือคืนหลังจากในหลวงประกาศตั้งอ.สัญญาเป็นนายกแล้ว พี่ก็ไมได้ออกข้างนอก
คุณกิตติ : ก็เงียบ ออกฮะ วันรุ่งขึ้นผมก็ออกไปช่วยเขาเก็บกวาดถนน
ผู้สัมภาษณ์ : ตอนเช้า
คุณกิตติ : ตอนเช้า
ผู้สัมภาษณ์ : หมายถึงออกมาที่ราชดำเนิน
คุณกิตติ : เออ ออกมาที่เก่า
ผู้สัมภาษณ์ : ทำไมถึงออกมา
คุณกิตติ : ก็ ไม่รู้ว่าเพราะอะไรฮะ ผมไม่รู้จะไปไหน เพราะว่ามันยังหยุดอยู่ ไม่รู้จะไปไหน แล้วก็อยากจะมาดูว่า มันเป็นยังไง มันเสียหายอะไร ตรงไหนบ้าง
ผู้สัมภาษณ์ : พอมาเจอสภาพเป็นยังไงบ้าง
คุณกิตติ : ก็ไม่ได้ไปไหนเท่าไหร่นะ รู้สึกผมจะออกมาแล้ว มาเก็บกวาดถนนราชดำเนินรู้สึกหดหู่ แล้วผมก็กลับ ผมก็จำไม่ได้ละ เพราะเพลียมาก
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วหลังจากเหตุการณ์ตรงนั้น มีความเปลี่ยนแปลงในชีวิตยังไงบ้าง เอาชีวิตพี่ก่อน
คุณกิตติ : ชีวิต ไม่ได้เปลี่ยนแปลง ตัวเราเองก็ มันไม่ได้อะไรอย่างที่เราอยากจะได้นะ หลังจากนั้นอีกนานเลยฮะ เรื่องโทรศัพท์ก็เหมือนกัน เพื่อนๆ ผมที่จบมารุ่นเดียวกัน แล้วก็ไปทำงานอยู่ที่องค์การโทรศัพท์ก็เยอะ ผมก็ได้แต่บอกกับเขาว่าอเมริกาเป็นยังไง ที่ออสเตรเลียเป็นยังไง อะไรบางอย่างที่เราคิดว่าเราดีกว่าเขามันก็มี ในความรู้สึกผมนะ ที่ออสเตรเลียปี 1976 หรือ ปี 16 ที่อยู่ที่นั่น เขาไม่มีสถานีวิทยุ FM มีแต่วิทยุ AM เขาก็คล้ายๆ ยังปักใจเชื่อว่า FM เนี่ยความถี่มันไปได้ไม่ไกล มันสู้ AM ไม่ได้ ประเทศไทยเรามี FM นั่นเราดีกว่า แต่ไอ้เรื่องโทรศัพท์นี่ผมพยายามผลักดันกับเพื่อนมากเลย ก็บอกเขาว่า องค์การโทรศัพท์ทำเกินหน้าที่ เป็นห่วงเป็นใยประชาชนมากไป คือพอเวลาคนเค้าขอโทรศัพท์ องค์การโทรศัพท์จะต้องมาเดินสายในบ้านให้เค้า แล้วก็เอาโทรศัพท์ไปติดในบ้านให้เค้า ทดสอบว่ามันทำงานได้แล้วค่อยกลับ บอก คุณไม่ต้องทำอย่างนี้หรอก อเมริกาเค้าไม่ทำอย่างนี้หรอก หน้าที่ภายในบ้านเป็นหน้าที่ของเจ้าของบ้าน องค์การโทรศัพท์แค่เชื่อมมานอกบ้านก็พอแล้ว ยังงี้ก็บอกเค้าไป ซึ่งเดียวนี้เป็นอย่างนั้นแล้ว องค์การโทรศัพท์ไม่เข้ามาในบ้านละ เวลาขอโทรศัพท์ก็ติดอยู่ข้างนอกละ ผมก็บอกว่าที่นู่นเนี่ย ขอเช้าได้บ่าย แล้วเราสามารถกำหนดได้ด้วยว่าเราต้องการโทรศัพท์เริ่มเวลากี่นาฬิกา สัญญาณมาตรงเวลาเป๊ะ กำหนดได้ ที่นี้ โหย ยุ่งยากเหลือเกิน ที่นู่นเนี่ย สมมติว่าผมย้ายบ้าน แต่ว่าบ้านยังอยู่ในอาณาบริเวณที่มันเป็นเขตโทรศัพท์เดียวกัน ผมสามารถบอกเขาได้เลยว่า เวลา 11.00 น. คุณตัดจากที่เก่า แล้วไปใช้ที่ใหม่ เพราะนั้นพอผมออกจากบ้านเก่า ขนของหมด ออกจากบ้านเก่า 11.00 น. ผมขับรถไปถึงบ้านใหม่ ผมยกโทรศัพท์ใช้ได้เหมือนเดิมละ อย่างนี้ เขาทำกันอย่างนี้ ปีนั้น สมัยนั้นยังไม่ได้อย่างนี้ อะไรก็ยังไม่ได้ จะเอาโทรศัพท์มือถือ ไม่ใช่โทรศัพท์มือถือ เขาเรียกอะไรสมัยนั้น พวก walky talky ก็ไม่ได้ อเมริกานี่ได้ walky talky ได้ละ สมัยก่อนเครื่องแฟกซ์ รู้จักแฟกซ์ใช่มั้ย
ผู้สัมภาษณ์ : ครับ
คุณกิตติ : ในไทยต้องขออนุญาตนะครับ เป็นเครื่องมืออันตรายนะครับ ราชการไทย เขาบอกว่าแฟ็กซ์มันมีตัวกำเนิดความถี่ อะไรที่มีตัวกำเนิดความถี่ได้ สามารถเอาไปดัดแปลงทำเป็นเครื่องส่ง อันตรายต่อความมั่นคงของประเทศ ต้องขออนุญาต ผมก็ยังงงเลย อะไรวะ แฟ็กซ์ก็ต้องไปขออนุญาต นี่เรื่องจริง
ผู้สัมภาษณ์ : พอหลังจาก 14 ตุลา แล้ว นักศึกษามีการเคลื่อนไหวมากขึ้นไหม ที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม ทางการเมือง การเรียกร้อง
คุณกิตติ : คือหลังจาก 14 ตุลา ผมไม่ได้ไปเดินขบวนอีก จริงๆ แล้วชีวิตผมเดินขบวนครั้งเดียว ครั้งนั้นครั้งเดียว แล้ววงแตก ผมก็เลยไม่เดินละ ผมเลยเปลี่ยน เปลี่ยนตัวเอง ไปเป็นผู้ห้ามทัพ สนุกกว่า เช่นมันมีการปฏิวัติรัฐประหารอยู่ครั้งหนึ่ง ซึ่งมันกลายเป็นกบฏไป พลเอกฉลาด เขาทำการปฏิวัติ แล้วเขาก็ยึดสถานีวิทยุที่สวนรื่นฯ เขาเอาทหารมาจากต่างจังหวัดมาล้อมที่สวนรื่นฯ เอาไว้ ผมก็เลยไปที่สวนรื่น มีรถถัง 3-4 คัน อยู่บนถนน พอรถถังหมุนเอาปากกระบอกปืน หันมาทางที่พวกไทยมุง ยืนอยู่ ทุกคนก็วิ่งหนีไปหลบ พอเขาหมุนปากกระบอกปืน หันรถถังไปทางอื่น เราก็ออกมาจากที่ซ่อน แล้วค่อยๆ เดินจนประชิด ด้านข้าง สัมภาษณ์ทหารที่อยู่บนรถถัง เขาก็บอกว่ามีวิทยุบอกว่า คอมมิวนิสต์เนี่ยบุกกรุงเทพ ให้เข้ามาช่วย เขาก็เลยเข้ามา พวกนี้ก็เลยผูกผ้าพันคอเป็นสีเดียวกัน ให้เป็นสัญลักษณ์
ผู้สัมภาษณ์ : ปีสองพันห้าร้อยยี่สิบกว่าๆ ?
คุณกิตติ : เออ นั่นสิ มันอยู่ในช่วงระหว่างปี 16 ไป ปี 26 นี่แหล่ะ น่าจะเป็น 2520 น่าจะเป็น 2520 ช่วงนั้นผมยังทำงานอยู่ในบริษัทเคี่ยนหงวน ผมกำลังทำงานอยู่ แล้ววิทยุก็ประกาศออกมาอย่างนี้ ผมก็เลยวิ่งไปที่สวนรื่นฯ เข้าไปสัมภาษณ์ทหารที่ถูกหลอกมา ก็ถามเขาว่า แล้วมาตั้งแต่เมื่อไหร่ เขาบอกมาตั้งแต่เมื่อวานเย็น ขับรถถังมาถึงกรุงเทพ แล้วก็ตอนที่ผมสัมภาษณ์นั่นก็เป็นเวลาสายละ เกือบๆ 11 โมงแล้วมั้ง แล้วกินข้าวเช้ายัง ตั้งแต่เมื่อคืนยังไม่ได้กินเลย น้ำล่ะ ยังเลย ผมก็เลยวิ่งไปซื้อน้ำ รู้สึกผมจะให้แต่น้ำมั้ง ผมคงจะไม่ให้อาหาร เพราะกลัวเขาจะไม่กล้ากิน ซื้อน้ำมา แล้วผมก็เปิดให้เขากิน แล้วผมก็บอกว่า เดี๋ยวผมขอทดสอบให้คุณก่อนนะ กรอกปากนิดหนึ่ง ให้เขาดูว่า ไม่ได้วางยา ให้เขากิน เขาก็กิน กินแล้วผมก็ฟังวิทยุในรถ แล้วก็คอยเดินมาประสานงาน แล้วก็มาบอกว่า ตอนนี้ที่อื่นเขาวางอาวุธกันหมดแล้ว เขาเลิกแล้ว เหลือที่นี่ที่เดียวนี่ เชื่อผมสิ ไม่มีหรอก ไม่มีคอมมิวนิสต์ แล้วทุกคนเขาก็ก็ยังมีความสุขกันอยู่ ก็ไม่ตื่นเต้น ไม่ตกอกตกใจอะไร ขอบคุณมากเลยนะ ที่มาช่วย แล้วก็บอกพวก (ไม่รู้จักหรอก ) พวกเราช่วยกันปรบมือทหารหน่อย ก็ตบมือกันใหญ่
ผู้สัมภาษณ์ :ก็มีคนมาดูด้วย
คุณกิตติ : ก็มีคนมามุงดูด้วย ผมเข้าไปก็มีคนมามุง พอผมให้น้ำไป แล้วเดี๋ยวสักพัก ก็มีคนเอาอาหารไปให้ ตามมา คือพอเราทำแล้ว ก็มีคนทำตาม ก็บอกเขาว่า กลับเหอะ เขาบอก ไม่ผิด? ไม่ผิด นี่วิทยุเค้าประกาศแล้ว ถ้าผิดแล้วคุณเอาเรื่องกับผมได้ ผมให้นามบัตร ผมเป็นคนบอกว่าให้กลับได้ เชื่อผมสิ กลับเถอะ ขอบคุณมากเลยที่อุตส่าห์เข้ามา เอ้า พวกเราปรบมืออีกทีหนึ่ง ปรบมือกันใหญ่ ก็กลับจริงๆ ผมก็ภูมิใจ(หัวเราะ) ผมไม่ต้องเดินขบวนละ
ผู้สัมภาษณ์ : ระหว่างที่พี่เดินขบวน 14 ตุลา เนี่ย รู้จักใครที่ ยังมีชีวิตอยู่ถึงปัจจุบัน หมายถึงรู้จักในเหตุการณ์นั้นเลยนะ
คุณกิตติ : อ๋อ ตอนที่เดิน ไม่รู้เลย คนมาจากไหน ไม่รู้เลย ไม่รู้จักเลย ไม่เจอคนรู้จัก
ผู้สัมภาษณ์ : พี่คิด หรือว่า รู้สึกอย่างไรบ้าง ที่ปัจจุบันคนที่มีบทบาทช่วงตุลา ที่เรียกว่าคนเดือนตุลา คือตอนนี้มีสีเหลือง สีแดง แล้วคนกลุ่มนี้ก็อยู่ในทั้งสองสี มีพวกคุณพิภพ ธงไชย ก็เป็นคนเดือนตุลา ฝั่งสีแดง พวกอ.จรัล หมอเวง ก็เป็นคนเดือนตุลา มองปรากฏการณ์ตรงนี้ยังไง
คุณกิตติ : คือ คนพวกนี้เขาจริงจังกับชีวิตมาก แล้วเค้าก็จริงจังกับเป้าหมายของเขา แล้วก็เขามีความอดทนสูง ผมทำไม่ได้อย่างพวกเขา
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วมองที่คนสองกลุ่มนี้เห็นต่าง คือเมื่อก่อนเป็นกลุ่มเดียวกัน เห็นเหมือนๆ กัน คล้ายกัน แต่ปัจจุบันเป็นขั้วคนละขั้ว มองความขัดแย้งนี้ยังไง
คุณกิตติ : มันเป็นเรื่องที่เป็นปกติ จะหาคนที่มีความคิดที่จะเหมือนกันเป๊ะๆ จริงๆ ไม่มี แม้กระทั่งเวลานี้ที่เห็นเหมือนกับสอง แต่ข้างในอาจจะเป็นยี่สิบ สี่สิบ ก็ไม่รู้นะ เพราะว่าต่างคนต่างคิด เพียงแต่ว่ามันมีบางข้อที่เหมือนกันอยู่ที่ ทำให้ไปอยู่ด้วยกันได้ แต่ถ้าเกิดว่า ลึกๆ จริงแล้ว มันมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่ แม้กระทั่งพวกที่อยู่กับพวกเสื้อเหลือง เขาก็บอกว่า ถ้าเผื่อว่า จะให้เค้าตามเสื้อเหลืองทุกอย่าง เขาก็ไม่ตามนะ เขาบอกว่า มีบางอย่างที่เหมือนกัน ซึ่งเขาต้องการตรงจุดนั้น เท่านั้นเอง
ผู้สัมภาษณ์ : ที่ เรื่องเหตุการณ์ 6 ตุลา ปี 19
คุณกิตติ : อ๋อ 6 ตุลา 19 ผมไม่อยู่นะ เอ
ผู้สัมภาษณ์ : ปี 76
คุณกิตติ : 76 เหรอ เอ ปีนั้นผมอยู่ไหนไม่รู้ ผมไม่ได้ไปเกี่ยว ตรงปีนี้ผมไม่รู้ละ เอ...อ๋อ ผมรู้ละ ผมเชื่อฟังหลวงพ่อฤษีลิงดำ หลวงพ่อฤษีลิงดำ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี เพราะตอนนั้นผมไปหาท่านบ่อยทุกเดือน เคยไปที่วัดก็มี แล้วในกรุงเทพก็บ่อย เทศน์ทุกเดือน ท่านจะมาที่ซอยสายลม แล้วก็ตั้งแต่เดือนสิงหา ท่านบอกเตือนเอาไว้ก่อนแล้วว่าเดือนตุลาปีนี้จะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ดีกับประเทศไทย แต่ว่าอาตมาก็เช็คให้แล้วว่าทุกคนที่อยู่ที่นี้นี่ไม่มีใครเป็นอะไร ทุกคนไม่มีเคราะห์ เพราะนั้นก็ขอให้เชื่ออาตมาว่าอย่าไปยุ่ง แล้วพอถึงเดือนกันยา ท่านก็พูดอีกทีหนึ่งว่าเดือนหน้าแล้วนะที่จะเกิด เหมือนกับ ท่านพูดถึงนิมิต ในนิมิตของอาตมาก็คือคลื่นใหญ่ๆ 2 คลื่นชนกัน ความหมายก็คือฝูงชน 2 ฝูง เนี่ย ชนกัน แต่ว่าจะมีคนทางน้ำมาช่วยให้เหตุการณ์สงบ ไม่ต้องตุนอาหาร ไม่ต้องวิตกกังวล ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไร ว่าจะต้องย้ายที่อะไรมั้ย ไม่ต้อง ทุกอย่างจะเรียบร้อย เพราะพวกมาทางน้ำเขาจะจัดการให้ทุกอย่างสงบเรียบร้อย
ผู้สัมภาษณ์ : คนมาทางน้ำ นี่หมายถึง
คุณกิตติ : คนมาทางน้ำ สุดท้าย ก็คือ พลเรือเอกสงัด ชะลออยู่ คนมาทางน้ำ คือท่านเตือน สมัยนั้น ช่วงนั้น ผมเข้าหาท่านอยู่เรื่อยๆ ผมก็ต้องเชื่อฟังท่าน เพราะท่านรู้นี่ เดี๋ยวเกิดเราไป ท่านรู้นี่ไม่ได้ ไม่กล้า พวกลูกศิษย์ลูกหามานั่งสมาธิกันบ่อย ท่านก็บอกว่าท่านดู ท่านก็ใช้คำว่าอาตมาได้เดินสำรวจแล้ว แต่ว่าจริงๆ ท่านนั่งสมาธิอยู่นะ ไม่รู้ว่าท่านหมายถึงยังไง(หัวเราะ) เราก็นั่งสมาธิของเรา ท่านก็นั่งสมาธิของท่าน แล้วก็ปีถัดมาอีกปี เหมือนกันนะ ก็มีเหตุการณ์ปฏิวัติปี 20 ใช่มะ ผมก็ไม่ตกอกตกใจอีก เพราะท่านบอกไว้ล่วงหน้าละ ปี 20 ผมอยู่อเมริกา ก็คล้ายๆ กับตอนอยู่ญี่ปุ่น ก็มีเพื่อนมาถามผม เฮ้ย เกิดเหตุการณ์ไม่ดีที่ประเทศไทย ผมบอก รู้ เขาบอก เฮ้ย มันมีคูเดต้า นะ ผมบอกรู้ เฮ้ย ทำไมมึงรู้ล่ะ รู้อยู่แล้ว ก็ยิ้มในใจ ไม่รู้จะอธิบายยังไง หลวงพ่อบอกเราไว้เรียบร้อยแล้ว เพื่อนมันก็งง มึงไปรู้ได้ไง ก็เลยไม่ตื่นเต้น ปี 1977 ก็เป็นอีกปีที่ไม่ตื่นเต้น เพราะนั้นปี 19 กับ ปี 20 ผมไม่ตื่นเต้นเลย สองปีนี้เฉยๆ อยู่กับ บ้าน ไม่ใช่อยู่กับบ้าน ปี 19 อยู่กับบ้าน ปี 20 อยู่ทีอเมริกา ไม่รู้สึกอะไร
ผู้สัมภาษณ์ : แล้วช่วงนั้นบ้านเมือง ที่พี่ได้ ติดตามข่าวโทรทัศน์ ความตึงเครียดของทั้งสองฝ่ายแสดงออกมายังไงบ้างเป็นยังไงบ้าง
คุณกิตติ : พูดถึงปีไหน
ผู้สัมภาษณ์ : ปี 19 ช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา บรรยากาศโดยทั่วไป
คุณกิตติ : คือเหมือนเหตุการณ์อย่างตอนปี 19 ก็รู้สึกนะ สงสารพวกนักศึกษา ไอ้เราก็ทำอะไรไม่ได้ กำลังมันน้อย แล้วก็รวมตัวกันไม่ได้ จริงๆ ตอนนั้นนักศึกษารวมตัวไม่ค่อยได้ ในปีโน้นนะ ตอนพฤษภาทมิฬ ผมก็ไม่ไป เออ ไม่ใช่ ไม่ไปนะ ไปนิดเดียว ผมก็ ด้วยความ เอ พฤษภาทมิฬ ผมไม่แน่ใจว่าหลวงพ่อท่านเสียแล้ว หรือยังไง หลวงพ่อลิงดำเสียแล้ว ไม่มีคนเตือนผมก็เลยไป(หัวเราะ) เพราะว่าเรื่องแบบนี้ เป็นเรื่องส่วนบุคคลนะ ความเชื่อของแต่ละบุคคล แต่ผมก็มีความเคารพและก็มีความเชื่อท่านมาก ตั้งแต่ผมเจอครั้งแรกเลย ไม่มีใครเค้าบอกเลยว่า โอกาสที่จะเจอหลวงพ่อได้นี่ยาก แล้วเพื่อนผมก็พาไปที่วัด ไปที่วัดเสร็จปุ๊บ ก็กำลังไหว้ ไหว้หลวงพ่ออีกองค์ที่เป็นรูปปั้นอยู่ข้างนอกนะ เสร็จแล้วก็มีผู้ชายเดินมา เพื่อนผมก็ถามว่า วันนี้หลวงพ่อฤษีลิงดำ อยู่มั้ย บอกไม่อยู่หรอก ท่านไม่อยู่ออกไปข้างนอก แต่พอผู้ชายคนนี้เดินออกไปปุ๊บ ก็มีเสียงออกมาจากข้างในเลย โยมๆ เข้ามาได้นะโยม โยมจะมาหาอาตมาใช่มั้ย อย่างนี้เลยนะ ซึ่งผมก็ไม่ตำหนิ(ผู้ชาย)คนนี้นะ เพราะเท่าที่ผมรู้หลวงพ่อท่านจะปุ๊บปั๊บ ไม่อยู่ประจำ แล้วผมก็เข้าไปนั่ง ผมเนี่ยเป็นคนที่ สมัยนั้นนะ ณ เวลานั้น เป็นคนที่ห่างไกลพระ แล้วก็ไม่กล้าเข้าใกล้พระ เพราะฉะนั้น สมมติ พระนั่งอยู่นี่ ไอ้เพื่อนผมคนที่พาไปนั่งอยู่นี่ เพื่อนคนที่ขับรถนั่งอยู่นี่ นั่งใกล้พระ (หัวเราะ) ไอ้ผมก็ไม่รู้จะเข้าไปใกล้ๆ ทำไม ทีนี้หลวงพ่อก็ถาม จะไปไหน ไอ้เพื่อนผมก็บอกว่า กลับบ้านครับ มาจากกรุงเทพ กำลังจะกลับบ้าน ก็เลยแวะมาหา หลวงพ่อก็บอกว่า นี้ ไม่ดีนะ ตีนชี้ฟ้า ไปบ้านๆ ไม่ต้องกลับบ้าน คืนนั้นเนี่ย เพื่อนผมขับรถมาครึ่งทาง มันหยุดรถนะ แล้วมันก็เรียกให้เพื่อนผมอีกคนหนึ่งมาขับแทนมัน แล้วมันก็นอนไม่หลับ คือไปสามคน ผมตีตั๋วนอนยาวอยู่ข้างหลังคนเดียว สองคนนี้นั่งข้างหน้าคนขับ เพื่อนผมมันขับไปได้สักพักหนึ่ง หยุด บอก ไอ้ติ มึงเลิกนอนได้แล้ว มึงมาขับ อ้าวเหรอ กูไม่รู้ทาง เออ มึงมาขับ เดี๋ยวกูบอกทาง ผมก็ขับจนกระทั่งกลับมาถึงบ้าน มันบอกว่า ทำไมรู้มั้ย กูกลัวโว้ย เพราะหลวงพ่อบอก ถ้าคืนนี้กลับตีนชี้ฟ้า มันเลยไม่กล้าขับ แล้วพออีกหนึ่งอาทิตย์ต่อมา มันโทรมาบอกว่า ไอ้ติ กูรถคว่ำว่ะ หงายแบบหลวงพ่อว่าเลยว่ะ เพราะกูขับเอง เนี่ยคือสัมผัสแรกที่ผมเจอกับหลวงพ่อนะ
เออ เมื่อกี้นี้ ตอบคำถามรึยัง พฤษภาทมิฬนี่ผมไป ก็แค่ไปดูๆ นิดๆ หน่อยๆ ผมไปที่ข้างทำเนียบ ไปถึงปุ๊บปั๊บก็ เดินๆ อยู่ก็ เอ๊ะ เจอผู้ชายคนหนึ่งนั่งมอเตอร์ไซด์ซ้อนท้ายมา แล้วก็ลงจากรถปั๊บ แกก็เดินเข้าไป ที่ตรงจุดศูนย์กลางที่ท่านมหา(จำลอง) นั่งอยู่ คือแกตั้งใจเดินดิ่งเข้าไป พุ่งเข้าไปตรงนั้นเลย ผมก็ทักเลย พี่ตั๊บ แกก็สะดุ้งเลย ทำไม? ก็มาดูอ่ะ พี่ก็มาดูเหมือนกัน แกใส่หมวกนะ ใส่แว่นนะ สนธิ ลิ้มทองกุล ผมจำแกได้ แต่สมัยนั้นแกเป็นนักข่าว แกก็ไม่ว่าอะไร มีคนทักแก อุตส่าห์ปลอมตัวแล้ว ใส่หมวก ใส่แว่น นั่งมอเตอร์ไซด์ คือผมไม่ใช่พวกเสื้อเหลือง เสื้อแดง ที่เล่านี่คือให้รู้ว่า รู้จัก ก็รู้จักหมด รู้ความคิด รู้วิธีการ บางอย่างที่เขาดี เราก็ว่าดี อันไหนที่เขาดี เราสามารถทำได้ ก็เป็นสิ่งที่ดี คือ ถ้าพูดถึงเรื่องทฤษฎีใหม่ การเมืองใหม่ ถ้ามันทำได้จะดี แต่มันทำยาก เพราะว่าการเมืองใหม่ ก็ต้องเป็นนักการเมืองใหม่ นักการเมืองเก่าปรับตัวไม่ทัน ยาก เหมือนอย่างสมัยนี้ ทุกวันนี้ ปรับตัวไม่ทันนะกับเทคโนโลยี ถ้าาพูดถึงว่าอายุ 50 กว่า 60 กว่า ถามเรื่องใช้คอมพิวเตอร์ ยังงูๆ ปลาๆ กันเยอะเลยนะ ใช่ไหมฮะ ปรับตัวไม่ทัน แต่พูดถึงสิงคโปร์นี่ อายุ 60 ยังใช้คอมพิวเตอร์ปร๋ออยู่ 70 ก็ยังใช้คอมพิวเตอร์สบาย คือเขาใช้ภาษาเดียวกัน ใช้ภาษาอังกฤษ อะ เขาก็สบาย แต่ของเรานี่ ใช้คอมพิวเตอร์ไม่ค่อยเป็น คนขายเขาบอกว่า ทำอะไรไม่ได้ ให้กด HELP เราก็กด Help รอ ไม่เห็นมีใครมาช่วยสักที ใช่มะ(หัวเราะ) เออ อุตส่าห์กด Help แล้ว เออ ใครจะมาช่วย นั่งรอ
จบการสัมภาษณ์
|